โกฐพุงปลา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

โกฐพุงปลา งานวิจัยและสรรพคุณ 36 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร โกฐพุงปลา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ปูดกกส้มมอ (อีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ โกศพุงปลาเป็นสมุนไพรที่ได้จากต้นสมอไท ดังนั้นโกฐพุงปลาจึงไม่มีชื่อ วิทยาศาสตร์เฉพาะตัว ทั้งนี้โกฐพุงปลาที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นคนละชนิดกันกับต้นโกฐพุงปลาที่เป็นไม้เถาเลื้อย ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dischidia major (Vahl) Merr.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dischidia rafflesiana Wall. หรือ ที่ทั่วไปเรียกว่า "จุกโรหินี" หรือ "บวบลม"
ชื่อสามัญ Terminalia Gall, Myrobalan Gall
วงศ์ COMBRETACEAE

ถิ่นกำเนิดโกฐพุงปลา 

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า โกฐพุงปลา เป็นสมุนไพร เครื่องที่ได้จากต้นสมอไทยที่เกิดจากส่วนต่างๆ ของสมอไทย เช่น ใบ กิ่ง ที่ถูกแมลงเจาะ และวางไข่ลงไป จากนั้นต้นสมอไทยแล้ววางไข่ ต้นสมอไทยจะสร้างสาร และปุ่มหูดห่อหุ้มไข่ของแมลงเหล่านั้นไว้ เมื่อแห้งจะมีลักษณะเป็นตุ่มปูดขึ้นมา ส่วนถิ่นกำเนิดของสมอไทยนั้นสามารถเข้าไปอ่านได้ที่บทความ “สมอไทย

ประโยชน์และสรรพคุณโกฐพุงปลา

  • แก้บิดมูกเลือด
  • ช่วยคุมธาตุ
  • แก้ไข้จากลำไส้อักเสบ
  • แก้ไข้พิษ
  • แก้พิษทำให้ร้อน
  • แก้อาเจียน
  • แก้เสมหะพิการ
  • แก้เม็ดยอดภายใน
  • ช่วยสมานแผล
  • แก้ฝีภายใน
  • แก้โรคอุจจาระธาตุลงอติสาร
  • แก้ลงแดง
  • แก้ไข้จับสั่น
  • แก้หืดไอ
  • แก้โรคในปอด
  • แก้ลมในกองธาตุ
  • ช่วยชูกำลัง
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • แก้ไข้เรื้อรัง
  • แก้หอบ
  • แก้สะอึก
  • แก้โรคในปากคอ
  • แก้ลมในกองธาตุ
  • ช่วยบำรุงกระดูก
  • แก้ไส้ด้วนไส้ลาม
  • ช่วยขับระดูร้าย
  • ช่วยรักษาระบบไหลเวียนโลหิต
  • แก้ลมวิงเวียน
  • แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น
  • แก้คลื่นเหียน อาเจียน
  • แก้ลมจุกแน่นในท้อง
  • ใช้บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ
  • อาการอุจจาระธาตุพิการ
  • ใช้บรรเทาอาการปวดท้อง
  • แก้อาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ
  • แก้ไข้เปลี่ยนฤดู

โกฐพุงปลา

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

การใช้โกฐพุงปลา เป็นยาเดี่ยวตามตำรายาโบราณ มักจะนำโกฐพุงปลาตากให้แห้งแล้วนำมาบด หรือ ต้มกับน้ำดื่มรักษาโรคต่างๆ แต่โดยมากแล้วมักจะนิยมนำมาเป็นส่วนผสมในตำรับยาต่างๆ มากกว่า โดยแต่ละตำรับจะมีขนาดการใช้ต่างกันไป และในปัจจุบันตาม บัญชีจากสมุนไพร ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยาได้ระบุการใช้ ยาตำรับต่างๆ ที่มีโกฐพุงปลาเป็นส่วนประกอบดังนี้

            ยาหอมเทพจิตร รูปแบบยาผง และยาเม็ด สูตรตำรับ ผงยา 366 กรัม ชนิดผงรับประทานครั้งละ 1-1.4 กรัม ละลายน้ำสุก เมื่อมีอาการทุก 3-4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง ชนิดเม็ด รับประทานครั้งละ 1-1.4 กรัม เมื่อมีอาการ ทุก 3-4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง

            ยาหอมนวโกฐ  รูปแบบ ยาผง ยาเม็ด สูตรตำรับ ผงยา 212 กรัม ชนิดผง รับลบประทานครั้งละ 1-2 กรัม ละลายน้ำกระสายเมื่อมีอาการ ทุก 3-4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง ชนิดเม็ด รับประทานครั้งละ 1-2 กรัม ทุก 3-4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง

            ยาธาตุบรรจบ รูปแบบยาแคปซูล ยาผง ยาลูกกลอน สูตรตำรับ ผงยา 104 กรัม ชนิดผง ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ละลายน้ำกระสายยา วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ เด็กอายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ละลายน้ำกระสายยา วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารเมื่อมีอาการ ชนิดลูกกลอน และชนิดแคปซูล ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ เด็ก อายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ

            ยาประสะกานพลู รูปแบบยาแคปซูล ยาผง ยาเม็ด สูตรตำรับ ผงยา 250 กรัม ชนิดผงรับประทานครั้งละ 1 กรัม ละลายน้ำกระสายยา วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร เมื่อมีอากร ชนิดเม็ด และชนิดแคปซูล รับประทานครั้งละ 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร เมื่อมีอาการ

            ยาจันทน์ลีลา ยาแคปซูล ยาผง ยาเม็ด สูตรตำรับ ผงยา 99 กรัม ชนิดผง ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-2 กรัม ละลายน้ำสุกทุก 3-4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ เด็กอายุ 6 -12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม- 1 กรัม ละลายน้ำสุก ทุก 3-4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ ชนิดเม็ด และชนิดแคปซูล ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-2 กรัม ทุก 3-4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ เด็ก อายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม- 1 กรัม ทุก 3-4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ

ลักษณะทั่วไปโกฐพุงปลา

โกฐพุงปลา มีลักษณะคล้ายกระเพาะปลาขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายถุงแบน กลวง ปากแคบคือมีคอคอดคล้ายมีขั้ว ก้นป่อง แบน ผิวสีน้ำตาลปนนวล บางตอนเรียบ บางตอนเป็นตะปุ่มตะป่ำ ส่วนที่เสมือนปลิ้นออกอาจมีสีแดงเรื่อ ผิวด้านนอกย่น สีน้ำตาล ผิวด้านในขรุขระสีดำ ความกว้างราว 1-3 ซม. ขนาดความยาว 1.5-3 ซม. ความหนา 0.4-1.5 ซม.  

การขยายพันธุ์โกฐพุงปลา 

โกฐพุงปลา เป็นสมุนไพรและเครื่องยาที่ได้จากวิธีการป้องกันตัวโดยธรรมชาติของต้นสมอไทย ดังนั้นจึงไม่สามารถขยายพันธุ์โกฐพุงปลา ได้ ส่วนการขยายพันธุ์สมอไทยสามารถเข้าไปอ่านได้ที่บทความ “สมอไทย”
 โกฐพุงปลา

องค์ประกอบทางเคมีโกฐพุงปลา

โกฐพุงปลา มีสารที่เป็นองค์ประกอบทางเคมี ได้แก่ สารกลุ่ม tannins : เช่น chebulinic acid, gallic acid, tannic acid เป็นต้น

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของโกฐพุงปลา
โครงสร้างโกฐพุงปลา 

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยา

ฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งเม็ดสีเมลานินการศึกษาฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ในการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ทำให้ผิวคล้ำ ของสารสกัดน้ำจากโกฐพุงปลา โดยแยกสารสำคัญจากสารสกัดน้ำได้ 6 ชนิด คือ gallic acid, punicalagin, isoterchebulin, 1,3,6-tri-O-galloyl-β-D-glucopyranose, chebulagic acid และ chebulinic acid ผลการทดลองพบว่าสารทั้ง 6 ชนิด ออกฤทธิ์แรงในการจับอนุมูลอิสระ 2,2-diphenyl-1-picrylhydrazyl (DPPH) โดยออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน ค่า EC50 ของสาร 6, 3, 2, 4, 5, 1 เท่ากับ 0.94, 0.97, 1.00, 1.07, 3.54 และ 5.17 μmol ตามลำดับ ค่า EC50 ของสารมาตรฐาน α-tocopherol, butylated hydroxytoluene (BHT) และ ascorbic acid เท่ากับ 11.86, 17.83 และ 24.41 μmol ตามลำดับ ผลการยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินพบว่า สาร 5 และ 6 ในขนาด 500 μmol ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสได้เท่ากับ 28.8±0.41% และ 46.8±2.86% ตามลำดับ โดยออกฤทธิ์ได้น้อยกว่าสารมาตรฐาน arbutin (IC50 เท่ากับ 170.0 μmol) และ kojic acid (IC50 เท่ากับ 16.2 μmol) ซึ่งยับยั้งได้เท่ากับ 54.7±1.08% และ 66.4±0.22% ตามลำดับ จากการศึกษานี้แสดงว่าสารสกัดของโกฐพุงปลา มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ และสามารถยับยั้งการสร้างเม็ดสีได้

           ฤทธิ์ชะลอวัย การศึกษาฤทธิ์ในการชะลอวัย (anti-aging) ในหลอดทดลอง โดยใช้สารสกัดพืช 15 ชนิด รวมทั้งสารสกัดของโกฐพุงปลา สกัดพืช 4 วิธี คือ hot aqueous processes (HW), cold aqueous processes (CW), hot methanol processes (HM) และ cold methanol processes (CM) และทำการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH โดยเปรียบเทียบกับวิตามินซี (ascorbic acid), วิตามินอี (α-tocopherol) และ BHT (butylated hydroxyl toluene), ฤทธิ์กระตุ้นการเจริญของเซลล์ fibroblast (ซึ่งทำหน้าที่สร้างคอลลาเจน องค์ประกอบสำคัญของผิวหนัง), ฤทธิ์ยับยั้ง gelatinase A (MMP-2) ในเซลล์ fibroblast ของผิวหนังมนุษย์ที่มีความชราในระยะเริ่มต้น ผลการทดลองพบว่าสารสกัดด้วยน้ำที่ไม่ผ่านความร้อน (CW) ของโกฐพุงปลา ขนาด 0.1mg/mL มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระDPPH สูงที่สุด เท่ากับ 84.64%±2.22% ในขณะที่ ascorbic acid, α-tocopherol และ BHT มีค่า 96.50%±0.1%, 35.74%±0.2% และ 27.43%±0.1% ตามลำดับ นอกจากนี้สารสกัด CW ยังสามารถกระตุ้นการเจริญของเซลล์ fibroblast ได้ดีกว่าวิตามินซี โดยมีค่า stimulation index (SI) เท่ากับ 1.441 และวิตามินซี SI เท่ากับ 1.21 และจากการทดลองยังพบว่าสารสกัดจากโกฐพุงปลาสามารถยับยั้ง MMP-2 ได้ดีกว่าวิตามินซี 1.37 เท่า ดังนั้นจากการทดลองนี้ จึงสรุปได้ว่าสารสกัดของโกฐพุงปลา มีฤทธิ์ในการชะลอวัยของเซลล์ได้ 

การศึกษาทางพิษวิทยาของโกฐพุงปลา

การทดสอบความเป็นพิษของสารสกัด petroleum ether, chloroform, ethanol และน้ำ ของโกฐพุงปลา ต่อไรทะเล (Brine shrimp : Artemia salina) ผลการทดลองพบว่า สารสกัดของ petroleum ether และ chloroformไม่เป็นพิษต่อไรทะเล ค่า LC50 เท่ากับ 4,356.76 และ 1,462.2 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ นอกจากนี้พบว่าสารสกัด ethanol มีความเป็นพิษต่อเซลล์สูง โดยมีค่า LC50 เท่ากับ 68.64 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร การตรวจสอบปริมาณของสาร phenolic และ flavonoids ของสารสกัดเอทานอล พบปริมาณสูงเท่ากับ 136±1.5 มิลลิกรัมของ gallic acid equivalent/g น้ำหนักแห้ง (dry weight) และ 113±1.6 มิลลิกรัมของ quercetin equivalent/g น้ำหนักแห้ง (dry weight)

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ตำรับยาต่างๆ ที่มีโกฐพุงปลา เป็นส่วนประกอบควรระมัดระวังในการใช้ในปริมาณที่ระบุไว้ในตำรับยาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ อีกทั้งในตำรับยาต่างๆ จะมีคำเตือน และข้อห้ามในการใช้แตกต่างกันไป ดังนั้นควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น

ยาหอมเทพจิตร

  1. ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)
  2. ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไตเนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูร และเกิดพิษได้
  3. ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้

ยาหอมนวโกฐ

  1. ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีไข้
  2. ควรระวังในการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นนิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)
  3. ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้

ยาธาตุบรรจบ

  1. ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีไข้
  2. ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (anticoagulant)
  3. ควรระวังการใช้ยาต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูร และเกิดพิษได้

ยาประสะกานพลู

  1. ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีไข้
  2. ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูร และเกิดพิษได้

ยาจันทน์ลีลา

  1. ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก
  2. หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

เอกสารอ้างอิง โกฐพุงปลา
  1. ชยันต์ พิเชียรสุนทร และวิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 5 คณาเภสัช. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2548. หน้า 110
  2. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555 ประกาศ ณ.วันที่ 21 สิงหาคม 2555 คัดจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 130 ตอนพิเศษ วันที่ 23 มกราคม 2556
  3. โกฐพุงปลา. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudruy.com/main.php?action=viewpage&pid=31
  4. Manosroi A, Jantrawut P, Akihisa T, Manosroi W, Manosroi J. In vitro anti-aging activities of Terminalia chebula gall extract. Pharmaceutical Biology. 2010;48(4):469-481.
  5. Manosroi A, Jantrawut P, Akazawa H, Akihisa T, Manosroi J. Biological activities of phenolic compounds isolated from galls of Terminalia chebula Retz. (Combretaceae). Natural Product Research. 2010;24(20):1915-1926.
  6. Eshwarappa RSB, Ramachandra YL, Subaramaihha SR, Subbaiah SGP, Austin RS, Dhananjaya BL. In vivo Toxicity Studies on Gall Extracts of Terminalia chebula (Gaertn.) Retz. (Combretaceae). Pharmacogn Res. 2016;8:199-201.