มะยม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะยม งานวิจัยและสรรพคุณ 24 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะยม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะยม, บะยม (ภาคเหนือ), หมากยม (ภาคอีสาน), ยม (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus acidus (Linn.) Skeels.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Phyllanthus distichus Müll.Arg. Cicca acida Merr. Cicca disticha L. Averrhoa acida L.
ชื่อสามัญ Star-goose berry
วงศ์ PHYLLANTHACEAE (EUPHOBIACEAE)

ถิ่นกำเนิดมะยม

เชื่อกันว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของมะยมอยู่ในบริเวณ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า มาเลเซีย ลาว อินโดนีเซีย แล้วมีการกระจายพันธุ์ไปสู่อินเดีย, มอร์เซียส, อเมริกากลาง, อเมริกาใต้ รวมไปถึงฮาวาย ด้วย สำหรับในประเทศไทยอาจถือได้ว่ามะยม เป็นพืชท้องถิ่นเลยก็ว่าได้ และในปัจจุบันยังสามารถพบเห็นมะยมได้ทั่วทุกภาคของประเทศ เพราะโดยส่วนมาก คนไทยนิยมปลูกไว้บริเวณหน้าบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะคำว่า มะยม ใกล้กับคำว่า นิยม จึงถือว่ามะยมเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง และในตำราพรหมชาติได้กำหนดให้ปลูกต้นมะยมไว้ในบริเวณ บ้านด้านทิศตะวันตก ร่วมกับมะขาม และพุทรา

ประโยชน์และสรรพคุณมะยม

  • แก้โรคผิวหนัง
  • แก้ผดผื่นคัน
  • ช่วยขับน้ำเหลืองให้แห้ง
  • แก้ประดง
  • ช่วยดับพิษเสมหะ
  • แก้ไข้ทับระดู (ประจำเดือน)
  • แก้ไข้
  • แก้ดับพิษไข้
  • ช่วยบำรุงประสาท
  • แก้คัน
  • แก้ไข้หัด
  • แก้เหือด
  • แก้อีสุกอีใส
  • แก้โรคในตา
  • ช่วยชำระล้างในตา
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้ไอ
  • ใช่เป็นระบายท้อง
  • แก้เลือดออกตามไรฟัน
  • ใช้เป็นยาบำรุงเลือด
  • ใช่บำรุงธาตุ
  • ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ
  • ช่วยลดความดันโลหิต
  • แก้พิษคัน

           ประโยชน์ของมะยมในด้านผัก และอาหาร คือ คนไทยใช้ยอดอ่อน และใบอ่อนของมะยมเป็นผัก หรือ ที่นิยมมาก คือ เป็นเหมือดกินกับขนมจีน นอกจากนี้ยังใช้ทำลาบ และยำบางตำรับอีกด้วย ผลดิบของมะยมใช้ตำได้ และผลมะยม นำมากินได้หลากหลายรูปแบบ แม้แต่นำมาจิ้มเกลือกินเล่นก็ได้ ใช้ผลมะยมสุกที่นำมาตากแดด กินแทน ผลมะยมดอง อาจเลือกทำแยม หรือ เชื่อม ใช้ทำไวน์มะยม และคุณค่าทางด้านสุขภาพ ไม่ด้อยกว่าไวน์นำเข้าราคาแพงจากต่างประเทศ ส่วนในฟิลิปปินส์ใช้ทำน้ำส้มสายชู กินดิบ หรือ ดองในเกลือ และน้ำส้มสายชู มาเลเซียนิยมนำไปเชื่อม อินเดีย และอินโดนีเซีย นิยมนำใบมะยมไปประกอบอาหาร ในด้านความเชื่อ คนไทยจะเชื่อว่ามะยมเป็นพืชมงคล มีผลทางด้านโชคลาภ เมตตามหานิยมแล้ว ยังเชื่อว่าช่วยป้องกันและขจัดสิ่งชั่วร้ายได้ด้วย จึงนำมาใช้ในพิธีปัดรังควาน และใช้สำหรับพระสงฆ์ประพรมน้ำมนต์แทนหญ้าคาโดยนิยมใช้ใบมะยม (ทั้งก้าน) 7 ใบ มัดรวมกัน

มะยม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงธาตุ บำรุงโลหิตด้วยการใช้ผลแก่นำมาดองในน้ำเชื่อมจนครบ 3 วัน (น้ำ 1 ส่วน / น้ำตาล 3 ส่วน) แล้วนำมารับประทานวันละ 1 ช้อนโต๊ะ
  • แก้ไข้ทับระดู ระดูทับไข้ ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม 
  • แก้เบาหวาน ด้วยการใช้ใบสดและรากใบเตย พอประมาณนำมาใส่หม้อ เติมน้ำแล้วต้มเอาน้ำดื่ม
  • ลดความดันโลหิต ด้วยการใช้ใบแก่พร้อมก้านประมาณ 1 กำมือ นำมาใส่หม้อเติมน้ำพอท่วม ใส่น้ำตาลเล็กน้อยเพื่อดับรสเฝื่อน ต้มให้เดือดประมาณ 5 นาที แล้วนำมาดื่มจนความดันเป็นปกติแล้วจึงหยุดรับประทาน
  • บรรเทาอาการปวดศีรษะ ด้วยการใช้ใบมะยม แก่รวมก้าน 1 กำมือนำมาต้มกับน้ำ ใส่น้ำตาลกรวดพอประมาณ (ไม่ให้หวานมาก) นำมาต้มจนเดือด ดื่มครั้งละ 1 แก้ว เช้า-เย็น
  • แก้ไข้ แก้ไอ ใช้เป็นยาระบาย โดยรับประทานผลสด (อาจจิ้มกับเกลือ เพื่อแก้รสเปรี้ยวก็ได้) ใช้แก้ไข้ ใช้เป็นยาระบาย ช่วยขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ โดยใช้รากมะยม ต้มกับน้ำใช้ดื่ม เช้า-เย็น
  • แก้โรคประดง แก้พิษไข้หัว แก้หัด เหือด อีสุกอีใส แก้ผดผื่นคัน ด้วยการใช้รากประมาณ 1 กิโลกรัมนำมาต้มกับน้ำ 10 ลิตร ต้มให้เดือดประมาณ 10 นาที ทิ้งไว้ให้อุ่นแล้วนำมาอาบ

ต้นมะยม

ดอกมะยม

มะยม

ลักษณะทั่วไปของมะยม

มะยมจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง มีความสูงประมาณ 3-10 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกต้นเป็นปุ่มปมอันเกิดจากแผลเป็นของก้านใบที่ร่วงหล่นไปแล้ว กิ่งก้านมักจะเปราะและหักง่าย ใบเรียงสลับกันอยู่บริเวณปลายกิ่ง ใบเป็นประเภทขนนก คือ มีใบย่อยเรียงอยู่ 2 ด้าน ของก้านใบรวมขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ใบย่อย มี 20-30 คู่ เป็นรูปไข่เบี้ยว ปลายใบแหลม ก้นใบค่อนข้างกลม ด้านบนใบสีเขียวอ่อน ด้านล่างสีขาวนวลอมเขียว

           ดอกมะยม ออกเป็นช่อ แทงออกตามกิ่ง และลำต้น แต่ส่วนมากออกตามปลายกิ่งจนถึงยอด มักแทงงอกบริเวณด้านล่างของใบ เป็นดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียในต้นเดียวกัน มีก้านดอกยาว 1-2 มม. กลีบดอกมีรูปร่างคล้ายไต มีสีเขียว หรือ สีแดงเรื่อ กลีบดอกยาวประมาณ 1.5 มม. ดอกตัวผู้มีเกสรตัวผู้ 4 อัน ดอกตัวเมียมีรังไข่ 3-4 ห้อง บางครั้งอาจพบเกสรตัวผู้ 1-3 อัน บริเวณฐานรังไข่

           ผลมะยม มีลักษณะค่อนข้างกลม ก้นแบน จุกด้านบนบริเวณก้านผลบุ๋มลงไปด้านข้าง เป็นพูเว้านูนรอบผล ประมาณ 6-8 พู (เหลี่ยมนูน) ผลกว้างประมาณ 1-3 ซม. มีขั้วผลสั้นประมาณ 0.5 ซม. ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีเหลืองอมเขียวเล็กน้อย และแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวล เนื้อผลมีรสเปรี้ยวฉ่ำน้ำ ผล 1 ผล เมล็ดมี 1 เมล็ด มีลักษณะเป็นพูคล้ายพูผล เมล็ดมีสีนวลอมน้ำตาล เนื้อเมล็ดแข็งมาก

           ทั้งนี้ต้นมะยมอาจแบ่งเป็นต้นตัวผู้ และต้นตัวเมีย โดยต้นตัวผู้จะมีลักษณะสูงใหญ่ แตกกิ่งก้านน้อย ใบใหญ่ ออกดอกเป็นสีแดงม่วง ไม่ติดผล หรือ ติดผลน้อย เพราะเป็นต้นที่ดอกมีเกสรตัวผู้มากกว่าเกสรตัวเมีย แต่ก็ติดผลบ้าง เพราะยังมีดอกเกสรตัวเมียบ้าง ส่วนต้นตัวเมียมักมีลักษณะลำต้นเตี้ยกว่า ออกใบเล็ก แต่ใบดก แตกกิ่งก้านมาก ดอกมีสีเหลืองเขียว ออกดอกดก ติดผลดกทั่วลำกิ่ง เพราะต้นตัวเมียจะมีเกสรตัวเมียมากกว่าเกสรตัวผู้ ซึ่งตามตำรายาไทย และตำรายาพื้นบ้าน มักจะนิยมใช้ราก และใบมะยมตัวผู้มากกว่าตัวเมีย เพราะมีสรรพคุณทางยามากกว่า

การขยายพันธุ์มะยม

มะยมสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง สำหรับการปลูกมะยม โดยวิธีการเพาะเมล็ด สามารถทำได้โดยการนำผลมะยมที่แก่จัด และหล่นจากต้น (ควรเลือกต้นแม่ที่มีกิ่งมาก ให้ผลดก ผลมีขนาดใหญ่สม่ำเสมอ ส่วนผลที่นำมาเพาะ ควรเป็นผลมีลักษณะอวบใหญ่) ให้ปอกเนื้อมะยมออกให้หมดจนเหลือแต่เมล็ด แล้วนำเมล็ดมาตากแดดจนแห้ง

           หลังจากได้เมล็ดมะยม แห้งแล้ว ให้นำมาแช่ในน้ำร้อนประมาณ 1 นาที ก่อนลงเพาะในถุงเพาะชำ เพื่อเพาะเป็นต้นกล้าก่อนนำไปปลูก หรือ อาจจะนำเมล็ดฝังดินบริเวณที่ต้องการ ซึ่งให้ใส่เมล็ดประมาณ 2-3 เมล็ด/หลุม เมื่อกล้ามะยมเกิดแล้วค่อยถอนต้นออกให้เหลือต้นที่สมบูรณ์ที่สุดเพียงต้นเดียว แต่ในปัจจุบันพบว่า การตอน เป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากมีจากการทดลองตอนต้นขนาดใหญ่อายุประมาณ 10 ปี ยังสามารถออกรากได้ และออกดอก ติดผลได้ในปีแรกหลังการปลูกกิ่งตอน ส่วนวิธีการเพาะเมล็ด เป็นวิธีการที่ทำได้ง่าย แต่ต้องใช้เวลาในการให้ผลผลิตยาวนานกว่าการตอน


องค์ประกอบทางเคมี

จากการศึกษาวิจัยพบว่าในส่วนต่างๆ ของมะยม มักพบสารสำคัญต่างๆ ดังนี้ ผล มี tannin, dextrose, levulose, sucrose, vitamin C ราก มี beta-amyrin, phyllanthol, tannin saponin, gallic acid, phyllanthusols A , phyllanthusols B

           นอกจากนี้ยังพบน้ำมันหอมระเหยในผลมะยม ประมาณ 77 ชนิด ดังตารางต่อไปนี้ ปริมาณสารระเหยที่พบในผลมะยม (mg/kg)

   

                                          และในผลมะยม ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้ ปริมารสารอาหาร แร่ธาตุ และวิตามินที่พบในผลมะยม (ผลสด 100 กรัม)

 

โครงสร้างมะยม

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะยม

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากส่วนต่างๆ ของมะยม พบว่าทั้งใบและผลมะยมมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดีแตกต่างกันไป โดยพบว่าสารสกัดเมทานอล เอทธิลอะซีเอท และปิโตเลียมอีเธอร์ จากใบมะยม มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่างกันดังนี้ สารสกัดเอทธิลอะซีเตทมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH ดีที่สุด มีค่า IC50 = 28.6±0.72 µg/ml, สารสกัดเมทานอลต้านอนุมูลอิสระที่ดีที่สุดเมื่อทดสอบด้วยวิธีซุปเปอร์ออกไซด์แอนอิออน (superoxide anion assay), ไฮดรอกซิล (hydroxyl radical scavenging assay), ไนตริกออกไซด์(nitric oxide radical scavenging assay), ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์(hydrogen peroxide scavenging assay), การประเมินความสามารถในการจับกับโลหะ (metal chelating assay), และลิปิดเปอร์ออกซิเดชัน (lipid peroxidation assay) มีค่า IC50 = 21.7±0.09, 17.2±0.13, 13.0±0.06, 230.0±3.03, 121.7±1.39 และ 58.9±0.77 µg/ml ตามลำดับ ส่วนสารสกัดปิโตเลียมอีเธอร์มีฤทธิ์น้อยทีสุด สารสกัด 70% เอทานอลจากผลมะยมมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH ที่ดี โดยมีค่า IC50 = 68.2 µg/m

           ฤทธิ์ปกป้องตับ การศึกษาฤทธิ์ปกป้องตับของสารสกัด 70% เอทอนอลจากผลมะยม โดยกาเรหนี่ยวนำให้เซลล์ตับเกิดความเป็นพิษด้วยสารคาร์บอนเตตระคลอไรด์ (carbon tetrachloride, CCI4) ในหนูWistar albino rat และ Swiss albino mice พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ปกป้องตับ โดยพบว่าผลกายวิภาคของตับในหนูที่ได้รับสารสกัดและยา silymarin แสดงให้เห็นว่าเซลล์ตับเกือบทั้งหมดมีความปกติ ขณะที่กายวิภาคของตับในหนูกลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย CCI4 แต่ไม่ได้รับยาหรือสารสกัดพบก้อนเนื้อ และไขมันพอกบริเวณตับ และเกิดการซึมผ่านของ lymphocyte จำนวนมากในทำนองเดียวกัน ค่าเอนไซม์ในตับ (AST, ALT, ALP, total bilirubin) ของหนูกลุ่มที่ได้สารสกัดมีค่าลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม การศึกษาฤทธิ์ปกป้องตับ ของสารสกัด70% เอทานอลและสารสกัดน้ำจากใบมะยม ในหนู Wistar albino rats และ Swiss albino mice ที่ถูกเหนี่ยวนำจากการใช้ยา acetaminophen และ thioacetamide โดยเปรียบเทียบฤทธิ์กับยา silymarin ซึ่งเป็นสารมาตรฐานในการป้อกันการทำลายเซลล์ตับ โดยดูผลจากค่าเอนไซม์ในตับ (AST, ALT, ALP, total bilirubin) พบว่าสารสกัดน้ำมีประสิทธิภาพในการปกป้องตับได้ทีกว่าสารสกัด 70% เอทานอล และสารกสัดน้ำขนาด 400mg/kg มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับยา silymarin

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ สารสกัดเมทานอล เอทธิลอะซีเตท และ ปิโตเลียมอีเธอร์จากใบมะยม แสดงฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้อุ้งเท้าบวมด้วยสารคาราจีแนน (Carrageenan-induced paw edema in rats) พบว่าสารสกัดเมทานอล ที่ขนาด 500 mg/kg มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดีที่สุด โดยยับยั้งการอักเสบได้ถึง 90.91% เมื่อเวลาผ่านไป 5 ชั่วโมง ซึ่งให้ผลใกล้เคียงกับ indomethacin ขนาด 5 mg/kg ที่ใช้เป็นสารมาตรฐาน และในการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วยวิธีเหนี่ยวนำที่หลังหนูให้เกิดการอักเสบด้วยการฝังก้อนสำลี (Granuloma formation induced by cotton pellet in rats) ให้ผลในทางเดียวกันว่าสารสกัดเมทานอลมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดีที่สุด ในขณะที่สารสกัดเอทธิลอะซีเตท และปิโตเลียมอีเธอร์ที่ขนาด 250 mg/kg ไม่สามารถยับยั้งการเกิด granuloma ได้และเมื่อนำสารสกัดไปทดสอบเพื่อดูผลต่อความคงตัวของผนังเม็ดเลือดแดง (Membrane stability activity) โดยการเหนี่ยวนำให้เม็ดเลือดแตกตัวด้วยการให้ความร้อนและสารละลายไฮโปโทนิค (hypotonic solution) พบว่าสารสกัดจากเมทานอล ที่ความเข้มข้น 100 และ 200 µg/ml มีฤทธิ์ในการต้านการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงได้ดีว่ายาแอสไพริน (aspirin) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มลดปวดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal-Anti-Inflammatory-Drug, NSAIDs)

           ฤทธิ์ขับปัสสาวะการศึกษาฤทธิ์ขับปัสสาวะของสารสกัดเอทานอลจากใบมะยม ในหนูเพศเมีย โดยวัดผลจากปริมาณปัสสาวะที่ขับออกและวัดระดับโซเดียม และโพแทสเซียมในปัสสาวะ พบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดขนาด 22.5, 45, และ 90 mg/kg มีฤทธิ์ขับปัสสาวะมากกว่ากลุ่มควบคุม และกลุ่มที่ได้รับ furosemide เมื่อเวลาผ่านไป 6 ชั่วโมง และเมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมง สารสกัดยังมีฤทธิ์มากกว่ากลุ่มควบคุม แต่มีฤทธิ์น้อยกว่ายา furosemide เพียงเล็กน้อย และระดับโซเดียม และโพแทสเซียมในปัสสาวะสูงกว่ากลุ่มควบคุม แต่น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยา furosemide อย่างมีนัยสำคัญ

           ฤทธิ์ลดอาการปวด สารสกัดเมทานอล เอทธิลอะซีเตท และปิโตเลียมอีเธอร์จากใบมะยม แสดงฤทธิ์ลดอาการปวดในการทดลองด้วยวิธีเหนี่ยวนำให้หนูดิ้นจากความเจ็บปวดจากกรดแอซีติก (Writhing reflex induced by acetic acid in mice) พบว่าสารสกัดทั้งสามชนิดที่ขนาด 500 mg/kg มีฤทธลิ์ดความจ็บปวดที่ 85.12, 59.99 และ 26.81% ตามลำดับ ในขณะที่ indomethacin ขนาด 5 mg/kg มีฤทธิ์ความเจ็บปวดที่ 83.84%

           การทดสอบฤทธิ์ลดอาการปวดจาการเหนี่ยวนำด้วยวิธีการจุ่มหางหนูในน้ำร้อน (Tail immersion test) พบว่าสารสกัดเมทานอลมีฤทธิ์ดีที่สุด รองลงมา คือ เอทธิลอะซีเตท และปิโตเลียมอีเธอร์ ตามลำดับโดยหนูแสดงความเจ็บปวดลดลงหลังจากกินสารสกัดไปแล้ว 1-3 ชั่วโมง และฤทธิ์ของสารสกัดลดลงหลังจากเวลาผ่านไป 5 ชั่วโมง โดยสารสกัดเมทานอล ที่ขนาด 500 mg/kg มีฤทธิ์ในการลดอาการปวดเทียบเท่ากับ morphine

           ฤทธิ์ต้านเชื้อราสารสกัดเมทานอลจากใบมะยม มีฤทธิ์ต้านเชื้อราที่ความเข้มข้น 125 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร (µg/ml) มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Candida albicans และ Arthrobotrys oligospora และที่ความเข้มข้น 250, 500 และ 1000 µg/ml มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Aspergillus niger, Monilinia fructicola, Auricularia polytricha, Chaetomella raphigeraและ Arthrobotrys oligospora โดยมีฤทธิ์น้อยกว่า Amphotericin B ที่ใช้เป็นสารมาตรฐานในการเปรียบเทียบที่ความเข้มข้นเดียวกัน (1000 µg/ml)

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดเมทานอลจากใบมะยมมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Bacillus lichenformis, Escherichiae coli, Micrococcus flavum, Micrococcus leuteum, Proteus mirabilis, Rhodococcus terrae, Salmonella typhi, Shigella sonnei และ Staphylococcus aureus ที่ความเข้มข้นมากกว่าหรือเท่ากับ 125 µg/ml, เชื้อแบคทีเรีย Brevibacterium luteum, Klebsiella pneumoniae, Shigella boydii และ Staphylococcus faecalis ที่ความเข้มข้นมากกว่าหรือเท่ากับ 250 µg/ml, เชื้อแบคทีเรีย Flavobacterium devorans ที่ความเข้มข้นมากกว่า หรือ เท่ากับ 500 µg/ml, และ เชื้อ Shigella flexneri ที่ความเข้มข้นมากกว่า หรือ เท่ากับ 1,000 µg/ml สารสกัดที่ทุกความเข้มขันมีฤทธิ์น้อยกว่า oxytetracycline ที่ใช้เป็นสารมาตรฐาน และเมื่อนำสารสกัดดังกล่าวมาทดสอบการเสริมฤทธิ์ (synergistic activity) ในการต้านเชื้อแบคทีเรียกับสารมาตรฐาน oxytetracycline โดยใช้วิธี disc diffusion พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียแบบเสริมฤทธิ์กัน

           ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด การศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสารสกัดน้ำจากผลมะยมในหนูซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วยสาร alloxan พบว่าสารสกัดมะยมมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด และเพิ่มระดับอินซูลินใกล้เคียงกับกลุ่มควบคุมได้อย่ามีนัยสำคัญ ในทำนองเดียวกันกับผลการศึกษาฤทธิ์การลดระดับน้ำตาลในเลือด ของสารสกัดเอทานอลจากใบมะยมในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวานด้วยสาร streptozotocin พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ

           แต่ยังมีรายงานอีกฉบับหนึ่งมีผลการศึกษาแย้งกันในฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด คือ มีข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของหนูแรทเพศผู้ทั้งที่เป็นเบาหวานและไม่เป็นเบาหวาน โดยการป้อนสารสกัดน้ำใบมะยมให้แก่หนูขนาด 2 4 และ 8 กรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว ทำการเก็บเลือด และวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากป้อนสารสกัดที่เวลา 15 30 และ 40 นาที ซึ่งไม่พบการเปลี่ยนแปลงค่าเลือดแต่อย่างใดเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แสดงให้เห็นว่าสารสกัดน้ำใบมะยมไม่มีฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือด


การศึกษาทางพิษวิทยาของมะยม

การทดสอบความเป็นพิษ การศึกษาความเป็นพิษของสารสกัด 80% เอทานอลจากใบมะยมในหนูแรท โดยป้อนสารสกัด ขนาด 1,000, 1,500 และ 2,000 มก./กก. เพียงครั้งเดียว สำหรับความเป็นพิษเฉียบพลัน และป้อนติดต่อกันทุกวันนาน 14 วัน สำหรับความเป็นพิษกึ่งเฉียบพลัน รวมทั้งการทดสอบความทนต่อกลูโคส (oral glucose tolerance test, OGTT) โดยป้อนสารสกัด ขนาด 250 มก./กก. เป็นเวลา 30 นาที ก่อนให้กลูโคส ขนาด 2 ก./กก. ซึ่งวัดระดับน้ำตาลในเลือดที่เวลา -30, 0, 30, 60, 120 และ 240 นาที เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยา glibenclamide และกลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำกลั่น ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดทุกขนาดไม่ทำให้เกิดอาการของความเป็นพิษ และไม่ทำให้หนูตาย และพบว่าค่าน้ำหนักตัว, เม็ดเลือดขาว, ปริมาตรของเม็ดเลือดแดงเฉลี่ย (mean corpuscular volume), เกล็ดเลือด, ปริมาตรเกล็ดเลือดอัดแน่น (plateletcrit), ปริมาตรของเกล็ดเลือดเฉลี่ย (mean platelet volume), ความกว้างของการกระจายขนาดเกล็ดเลือด (platelet distribution width), ค่าเคมีของเลือด, blood urea nitrogen (BUN), creatinine, alkaline phosphatase และน้ำหนักของตับของกลุ่มที่ได้รับสารสกัดมีค่าไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม แต่สารสกัดที่ขนาด 1,500 มก./กก. มีผลทำให้เม็ดเลือดแดง ฮีมาโตคริต (Hematocrit) เม็ดเลือดขาวชนิด lymphocyte และฮีโมโกลบิน (hemoglobin) น้อยกว่าในกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุปได้ว่าสารสกัด 80% เอทานอลจากใบมะยม ที่ขนาดต่ำไม่มีพิษ และสารสกัดลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่แตกต่างจากยา glibenclamide แต่ไม่มีผลลดน้ำตาลในเลือดของหนูปกติ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ผลมะยมมีรสเปรี้ยวจัด ถ้าหากรับประทานเข้าไปในปริมาณมากอาจทำให้ท้องเดิน ท้องร่วง เข็ดฟันและเสียวฟันได้
  2. น้ำยางจากเปลือกของรากมะยม จะมีพิษเล็กน้อย จากสาร Phyllanthusols A และ B เมื่อรับประทานเข้าไปอาจจะมีอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ และมีอาการง่วงซึมได้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการใช้
  3. ในการใช้มะยมเพื่อหวังสรรพคุณทางยานั้นควรใช้ในปริมาณที่พอดี ไม่ควรใช้มากเกินที่ตำรายาต่างๆ ระบุเอาไว้ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ส่วนเด็กสตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังรวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ ก่อนจะใช้มะยมในการรักษาอาการของโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง มะยม
  1. เดชา ศิริภัทร. มะยม : ความเปรี้ยวที่เป็นมงคลของชาวไทย.คอลัมน์พืชผัก.ผลไม้.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 241.พฤษภาคม.2542
  2. นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. มะยม ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 179
  3. การทดสอบความเป็นพิษ และความทนต่อกลูโคสของสารสกัดจากใบมะยม. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. มะยม.กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant_data/herbs/herbs_02_9.htm.
  5. มะยม. สรรพคุณและการปลูกมะยม. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จากhttp://www.puechkaset.com
  6. ใบมะยม.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก. http://www.medplant.mahidol.ac.th/active/shownews.asp?id=1425
  7. Devi SS, Paul SB. An overview on Cicca acida (Phyllanthus acidus). Assam Univ J Sci& Tech 2011;7(1):156-60.
  8. Kumar S, Bhattacharjee C, Debnath S, Chandu AN. In-vitro antimicrobial synergistic and anti-TB activities of Phyllanthus acidus methanolic extract. Indo American J Pharmaceut Res 2011;1(1):18-25.
  9. Modilal RD, D P. Hypoglycemic and hypolipidemic effects of Phyllanthus (Euphorbiaceae) fruits in alloxan induced diabetic rats. Int J Pharm Inf J Biotechnol Biother 2011;1(5):35-9.
  10. Vikasari SN, Sukandar EY, Sutjiatmo AB, Riyanti S. Diuretic effect of the ethanol extracts of Phyllanthus acidus L (skeels) leaves in Wistar rats. Int J Pham Pharm Sci 2015;7(1):120-3.
  11. Jain NK, Singhai AK. Protective effects of Phyllanthus acidus (L.) Skeels leaf extracts on acetaminophen and thioacetamide induced hepatic injuries in Wistar rats. Asian Pacific J Trop Med 2011;4(6):470-4.
  12. Suriyavathana MPS. Proximate analysis on biochemical study of Phyllanthus acidus, Phyllanthus emblica and Citrus limon. Int J Pharm & Life Sci 2011;2(6):801-4
  13. Chakraborty R, Biplab D, Devanna N, Sen S. Antiinflammatory, antinociceptive and antioxidant activities of Phyllanthus acidus L. extracts. Asian Pacific J Trop Biomed 2012;2(2, Suppl):953-61
  14. Yanadaiah JP, Lakshmi SM, Jayaveera KN, Sudhakar Y, Reddy KR. Assessment of antidiabetic activity of ethanol extracts of Phyllanthus acidus Linn and Basella rubra Linn leaves against streptozotocin induced diabetes in rats. Int J Univl Pharm and Bio Sci 2012;1(2):77-87
  15. Jain NK, Lodhi S, Jain A, Nahata A, Singhai AK. Effects of Phyllanthus acidus (L.) skeels fruit on carbon tetrachloride-induced acute oxidative damage in liver of rats and mice. J Chin Integr Med 2011;9(1):49-56.