ตะลิงปลิง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ตะลิงปลิง งานวิจัยและสรรพคุณ 26 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร ตะลิงปลิง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ลิงปลิง, หลิ้งปิ้ง, มะเฟืองตรน, หลิงปลิง, เฟืองเทศ, หลิ้งติ้ง (ภาคใต้), กะลิงปลิง, ปลีมิง (ระนอง), มูม้ง (สมุย-สุราษฎ์ธานี), บลีมิง (นราธิวาส, มาเลเซีย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Averrhoa bilimbi Linn.
ชื่อสามัญ Bilimbi, Bilimbing, Tree Sorrel, Cucumber Tree
วงศ์ Oxalidaceae

ถิ่นกำเนิดตะลิงปลิง

ตะลิงปลิง เป็นพืชตระกูลเดียวกับมะยม ที่ขึ้นในเขตร้อน มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ แถบชายฝั่งของประเทศบราซิล แล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปสู่เขตร้อนต่างๆ โดยเฉพาะเขตร้อนในทวีปเอเชียที่สามารถพบได้มากกว่า เขตร้อนอื่นๆ โดยสามารถพบได้ในประเทศ มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ไทย, พม่า, กัมพูชา เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยว่ากันว่าในอดีตตะลิงปลิง ถูกนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซียเป็นครั้งแรก และเกิดการแพร่กระจายพันธุ์ในประเทศ ทำให้ปัจจุบันสามารถพบตะลิงปลิง ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่จะพบมากในภาคใต้เพราะนิยมนำไปใช้ประกอบอาหารมากกว่าภาคอื่นๆ


ประโยชน์และสรรพคุณตะลิงปลิง

  • แก้พิษร้อนใน
  • แก้กระหายน้ำ
  • ใช้ฝาดสมาน
  • บำรุงกระเพาะอาหาร
  • แก้เลือดออกตามกระเพาะอาหาร ลำไส้
  • แก้ดับพิษร้อนของไข้
  • แก้ริดสีดวงทวาร
  • แก้คางทูม
  • แก้ไขข้ออักเสบ
  • รักษาสิว รอยฟ้า กะ และรอยผิวด่างดำ
  • รักษาซิฟิลิส
  • บรรเทาโรคเก๊าต์
  • ใช้พอกแก้คัน
  • รักษาอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่ (นำมาต้มดื่ม)
  • แก้ไอ
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • ลดไข้
  • แก้เสมหะเหนียว
  • ช่วยฟอกโลหิต
  • ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย
  • แก้ปวดมดลูก
  • แก้ลักปิดลักเปิด 
  • ช่วยขับเหงื่อในผู้มีอาการซึมเศร้า (กินผลร่วมกับพริกไทย)
  • รักษาโรคข้อรูมาตอยด์
  • รักษาอาการคัน
  • ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ

           ตะลิงปลิงถูกนำมาใช้เป็นอาหารมาตั้งแต่อดีตแล้ว และในปัจจุบันก็ยังนิยมนำมาทำเป็นอาหารต่างๆ ใช้แทนมะนาว ในเมี่ยงคำ นอกจากนี้ยังมีการนำเอาผลตะลิงปลิงมาแปรรูปเป็นน้ำตะลิงปลิง ตะลิงปลิงดอง ตะลิงปลิงแช่อิ่ม หรือ ไวน์ตะลิงปลิง เป็นต้น ส่วนดอกตะลิงปลิงนำมาบดผสมน้ำ และคั้นเอาน้ำสำหรับใส่ทำขนม ซึ่งจะให้สีแดงม่วง หรือ สีม่วง สามารถนำไปย้อมกระดาษเพื่อทำกระดาษสีได้ด้วย และน้ำคั้นจากผลตะลิงปลิง ยังนำมาเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง อาทิ ครีมบำรุงผิว แชมพู และสบู่ได้อีกด้วย


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้เป็นยาฝาดสมาน บำรุงกระเพาะอาหาร ลดไข้ แก้ไขข้ออักเสบ และโรคเก๊าต์ ช่วยรักษาโรคซิฟิลิส แก้กระหายน้ำ โดยนำรากแห้งของตะลิงปลิง มาต้มกับน้ำใช้ดื่ม เช้า-เย็น ใช้แก้ไอโดยการนำดอกแห้งของตะลิงปลิงมาต้ม หรือ ชงแบบชารับประทาน ผลใช้รับประทาน บำรุงร่างกาย บำรุงกระเพาะอาหาร แก้เสมหะเหนี่ยวข้น ช่วยฟอกโลหิต แก้ไอ แก้ลักปิดลักเปิด รักษาอาการคัน และคางทูมโดย ใช้ใบสด 1 กำมือ ตำให้ละเอียด ผสมน้ำเล็กน้อย พอกบริเวณที่เป็น พอกวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เปลี่ยนยาใหม่ทุกครั้ง ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ ด้วยการรับประทานผล 5-10 ผล และดื่มน้ำตามมากๆ ช่วยรักษาสิว รอยฟ้า กะ และรอยผิวด่างดำ โดยการนำผลมา 2-3 ผล มาฝานเป็นแผ่นบางๆ ก่อนใช้วางประคบบนใบหน้า


ลักษณะทั่วไปของตะลิงปลิง

"ตะลิงปลิง" จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงประมาณ 5-10 เมตร มีเปลือกต้นสีชมพูแตกกิ่งก้านสาขามากกิ่งก้านเปราะหักง่ายมีขนนุ่มตามกิ่ง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกมีใบย่อยเรียงตัวกันเป็นคู่ ใบย่อยรูปหอก ปลายใบแหลม โคนมน จะเรียงจากขนาดเล็กไปหาขนาดใหญ่ ที่โคนจะมีขนาดเล็ก ใบกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาว 2-5 เซนติเมตร มีสีเขียวอ่อนมีขนนุ่มๆ ปกคลุมอยู่ ดอกออกเป็นช่อตามลำต้นและกิ่ง (ดอกขนาดเล็กหลายช่อ) แต่ละช่อยาวราว 6 นิ้ว ดอกมี 5 กลีบ มีสีแดงเข้ม มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอมชมพู เกสรกลางดอกมีสีเขียวแดง ดอกมีกลิ่นหอม ผลกลมยาวเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ผลมีสีเขียวลักษณะกลมยาวปลายมน ยาว 3-6 เซนติเมตร และเป็นพูตามความยาวผล 5 ร่อง ออกเป็นช่อห้อย เมื่อสุกมีสีเหลือง ฉ่ำน้ำ เมล็ดแบนสีขาว ผลมีรสเปรี้ยวจัดเพราะมีกรดออกซาลิกอยู่สูง

ต้นตะลิงปลิง

ผลตะลิงปลิง

ดอกตะลิงปลิง

การขยายพันธุ์ตะลิงปลิง

ตะลิงปลิง สามารถขยายพันธุ์ได้โดย วิธีการเพาะเมล็ดการเสียบยอด และการตอนกิ่ง แต่วิธีที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ด เพราะจะได้ต้นสูงปกติ และแตกกิ่งมาก ส่วนการปลูกด้วยวิธีอื่น เช่น การตอนกิ่ง และการเสียบยอด จะได้ต้นค่อนข้างเตี้ย แต่แตกกิ่งน้อย ผลผลิตอาจน้อยกว่าการปลูกด้วยเมล็ด สำหรับการปลูกด้วยการเพาะเมล็ดนั้นมีวิธีการ คือ การนำเมล็ดตะลิงปลิงจากผลที่สุกมาตากให้แห้งแล้วนำมาเพาะใส่ถุงเพาะชำรดน้ำให้ชุ่มแล้วนำไปวางไว้ที่ร่มๆ รดน้ำเช้า-เย็น ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ต้นจะพร้อมที่จะนำไปปลูก แล้วนำไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้โดยเว้นระยะห่างประมาณ 4x6 เมตร ทั้งนี้ ตะลิงปลิง เป็นพืชปลูกเลี้ยงง่าย ชอบดินร่วนปนทราย ที่ระบายน้ำดี แต่ไม่ทนน้ำท่วมขังเป็นเวลานานชอบแสงแดด โดยจะใช้เวลา 2-3 ปี จึงจะมีดอกมีผล และหลังจากปลูกได้นาน 3-4 เดือน ควรหมั่นตัดแต่งกิ่งให้เป็นพุ่ม ถ้าไม่ต้องการให้ต้นสูงมากก็ตัดส่วนยอดออกเพื่อให้แตกกิ่งข้างๆ จะช่วยให้เก็บผลได้ง่าย 


องค์ประกอบทางเคมี

จากการศึกษาวิจัยพบว่าในผลตะลิงปลิงประกอบไปด้วยสาร flavonoid, Quercetin, Alkaloid สารประกอบกลุ่ม Phenolic Compound และ ยังพบ Citric acid อีกด้วย นอกจากนี้ส่วนต่างๆ ของตะลิงปลิงยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้     

            คุณค่าทางโภชนาการของผลตะลิงปลิง (100 กรัม)

  • พลังงาน                         11                    กิโลแคลลอรี่            
  • เส้นใย                            0.3                   กรัม
  • วิตามิน  เอ                     276                  หน่วยสากล
  • วิตามิน บี1                    0.03                 มิลลิกรัม
  • วิตามิน บี2                     0.09                 มิลลิกรัม
  • วิตามิน บี3                     0.7                   มิลลิกรัม
  • วิตามิน ซี                      2                     มิลลิกรัม
  • แคลเซียม                      1                      มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส                     6                      มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                     0.2                   มิลลิกรัม

           คุณค่าทางโภชนาการของผลตะลิงปลิง (100 กรัม)

  • โปรตีน                           0.61                กรัม
  • แคโรทีน                        0.035              มิลลิกรัม
  • วิตามินบี                        10.010            มิลลิกรัม
  • วิตามินบี                        20.026            มิลลิกรัม
  • วิตามินบี                        30.302            มิลลิกรัม
  • วิตามินซี                        15.5                มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม             3.4                  มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                      1.01                มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส            11.1                มิลลิกรัม

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของตะลิงปลิง

โครงสร้างตะลิงงปลิง

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของตะลิงปลิง

ฤทธิ์ลดน้ำตาลและไตรกลีเซอไรด์ งานวิจัยที่ประเทศสิงคโปร์ทำการทดสอบคุณสมบัติ ในการลดน้ำตาลและลดไขมันของสารสกัดเอทานอลของ ใบตะลิงปลิงในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน ขั้นแรกพบว่าเมื่อได้รับสารสกัดเอทานอล 125 มก./กก. วันละ 2 เวลา 14 วัน เปรียบเทียบกับยาเมตฟอร์มิน (metformin) 500 มก./กก. เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมพบว่า

           หนูที่ได้สารสกัดเอทานอลของใบตะลิงปลิงมีน้ำตาลในเลือดลดลงครึ่งหนึ่ง มีไตรกลีเซอไรด์ลดลงร้อยละ 130 มีปริมาณไขมันที่ดี (เอชดีแอลคอเลสเตอรอล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 และลดระดับไลพิดเพอร์ออกซิเดชั่นของไต ผลดังกล่าวมีทิศทางเดียวกันกับหนูที่ได้รับเมตฟอร์มิน เห็นชัดว่าสารสกัดดังกล่าวมีผล ลด anti-atherogenic index และสัดส่วนเอชดีแอลคอเลสเตอรอลทั้งหมดในสัตว์ทดลอง และเมื่อนำสารสกัดเอทานอลของใบตะลิงปลิงข้างต้น ไปแยกต่อเป็นสารสกัดน้ำ บิวทานอล และเอทิลอะซีเทต โดยทดสอบเป็นเวลานานในหนูเบาหวานที่เหนี่ยวนำด้วยสเตร็ปโทโซโทซิน ที่ได้รับอาหารไขมันสูง พบว่า หนูที่ได้รับสารสกัดน้ำและบิวทานอล (125 มก./กก. วันละ 2 ครั้งนาน 14 วัน) จากใบตะลิงปลิงมีปริมาณกลูโคส และไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดต่ำกว่าในหนูกลุ่มควบคุม หนูที่ได้รับสารสกัดน้ำมีไกลโคเจนในตับสูงกว่าหนูกลุ่มควบคุม 

           โดยหนูที่ได้รับสารสกัดน้ำ และบิวทานอลไม่มีการเปลี่ยนแปลง ระดับของคอเลสเตอรอล และเอชดีแอลคอเลสเตอรอลแต่อย่างใด เมื่อตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือด (fasting blood glucose) ในหนูทดลองพบว่า ในวันที่ 7 และ 14 หนูที่ได้รับสารสกัดน้ำและบิวทานอล มีค่าน้ำตาลในเลือดลดลง โดยหนูทั้ง 2 กลุ่ม มีปริมาณอินซูลินสูงขึ้นในวันที่ 14 อย่างมีนัยสำคัญ สรุปว่าสารสกัดน้ำของสารสกัดเอทานอลของใบตะลิงปลิง มีผลในการลดปริมาณน้ำตาล และไขมันในเลือดสัตว์ทดลองได้ดี

          ฤทธิ์แก้คัน สารสกัดเอทานอลของใบตะลิงปลิงลดอาการผื่นแดงของผิวหนังในสัตว์ทดลอง โดยมีการศึกษาที่ประเทศฟิลิปปินส์ใช้สารสกัดเอทานอล 10% ของใบตะลิงปลิงผสมในสูตรขี้ผึ้ง การทดสอบภาวะแพ้ที่ผิวหนัง ในหนู ที่มีผื่นแดงเทียบกับยาทาแก้แพ้ พบว่าขี้ผึ้งตะลิงปลิงลดอาการบวมแดงได้ใน 7 ชั่วโมง กลุ่มทายาอาการหายไปใน 14 ชั่วโมง ส่วนกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับอะไรอาการผื่นแดงหายไปใน 23 ชั่วโมง

           ฤทธิ์คุมกำเนิด มีผลการศึกษาวิจัยที่ฟิลิปปินส์ ระบุว่าเมื่อให้น้ำคั้นจากผล 200 กรัม (ได้ 15 มิลลิลิตร) กับหนูอายุ 8 เดือน ทุกวัน 10 วัน ก่อนผสมพันธุ์ 10 วัน ระหว่างผสมพันธุ์ และหลังผสมพันธุ์ พบว่าร้อยละ 60 ของหนูที่ได้รับสารจากผลตะลิงปลิงไม่ติดลูก ทั้งนี้พบสเตอรอยด์ไกลโคไซด์และกรดออกซาลิกในน้ำคั้นที่ใช้ จึงเชื่อว่าสารทั้งสองมีส่วนในการออกฤทธิ์คุมกำเนิดดังกล่าว

           ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษากับหนูทดลองเช่นกัน โดยให้หนูทดลองบริโภคผลตะลิงปลิงปริมาณ 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 60 วัน พบว่าสารเควอซิทินซึ่งเป็นสารประกอบกลุ่มฟีนอลที่พบได้ในตะลิงปลิง อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และลดความเสี่ยงการเกิดเบาหวานในหนูทดลองได้

           ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ มีผลรายงานการศึกษาวิจัยหนึ่งพบว่า สารสกัดจากใบตะลิงปลิงปริมาณ 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus Cereus) ที่อาจก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ และเชื้อแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas Hydrophila) ที่อาจก่อให้เกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน หรือ โรคเนื้อเน่าได้ และยังมีงานวิจัยที่ศึกษาในห้องทดลองอีกชิ้นหนึ่งพบว่า ผลตะลิงปลิงและน้ำปั่นตะลิงปลิง ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลลา ไทฟิมูเรียม (Salmonella Typhimurium) ที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย โรคไข้ไทฟอยด์ และต้านเชื้อแบคทีเรียลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria Monocytogenes) ที่อาจปนเปื้อนอยู่ในอาหารและก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้


การศึกษาทางพิษวิทยาของตะลิงปลิง

มีการศึกษาวิจัยพบว่าในผลตะลิงปลิง พบสาร Oxalic acid ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่งในไตและอาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ โดยมีข้อมูลพบว่าในโรงพยาบาลที่ประเทศอินเดียมีการรับผู้ป่วยที่เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน จากการดื่มน้ำตะลิงปลิงในปริมาณ 100-400 มิลลิกรัม/วัน มาแล้ว


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ในการบริโภคตะลิงปลิงควรรับประทานแต่พอดี ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป รวมถึงไม่ควรรับประทานเป็นระยะเวลาติดต่อกันนาน เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้
  2. ในผลตะลิงปลิง มีกรดอินทรีย์ที่ทำให้มีรสเปรี้ยว เช่น กรดซิตริด กรดมาลิก ซึ่งหากรับประทานมากอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือ เกิดอาการฟันผุร่อนได้
  3. ผู้ป่วยโรคนิ่วในไต หรือ ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงการรับประทานตะลิงปลิงเพราะในตะลิงปลิงมีกรดออกซาลิก (Oxalic acid) ที่อาจทำให้เกิดนิ่วในไตและอาการไตวายได้
     
เอกสารอ้างอิง ตะลิงปลิง
  1. รศ.ดร.สุธาทิพ ภาประวัติ ตะลิงปลิง.คอลัมน์ เรื่องเด่นจากปก.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 352.สิงหาคา.2551
  2. อุไร จิรมงคลการ. 2547.ผักพื้นบ้าน 1. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์บ้านและสวย. 224 หน้า
  3. วุฒิ วุฒิธรรมเวช.2540.สารานุกรมสมุนไพร. 618หน้า (207)
  4. วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์.2541.ผลไม้พื้นเมือง (ภาคใต้) ความสุขที่คุณเด็ดไต้. นิตยสารสารคดี.14(166):71.
  5. วิทย์ เที่ยวบูรณธรรม.2539.พจนานุกรมสมุนไพรไทย.กรุงเทพ:สำนักพิมพ์สุริยบรรณ
  6. ตะลิงปลิง.กลุ่มยารักษาตา คางทูม แก้ปวดหู.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant_data/herbs/herbs_29_1.htm
  7. ตะลิงปลิง เปรี้ยวดีมีประโยชน์.พบแพทย์ดอทคอม (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
  8. ตะลิงปลิง สรรพคุณและการปลูกตะลิงปลิง.พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com