กระดอม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กระดอม งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระดอม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะนอยจา, มะกะดอม (ภาคเหนือ), ขี้กาเหลี่ยม (ภาคอีสาน), ผักแคบป่า (น่าน), มะนอย, ฮกฟ้า (แม่ฮ่องสอน), ขี้กาลาย (นครราชสีมา), ขี้กาน้อย, ขี้กาดง (สระบุรี), ดอม (นครศรีธรรมราช)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gymnopetalum chinensis (Lour.) Merr.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gymnopetalum cochinchinense (Lour.) Kurz
วงศ์ Cucurbitaceae

ถิ่นกำเนิดกระดอม 

กระดอม มีถิ่นกำเนิดในแถบเขตร้อนของเอเชียใต้ เช่น อินเดีย, ศรีลังกา แล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปสู่เขตร้อนของภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศบังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยนั้น สามารถพบได้ตามที่รกร้าง หรือ ชายป่าทั่วทุกภาคของประเทศโดยเฉพาะทางภาคเหนือที่นิยมนำมารับประทานเป็นอาหาร


ประโยชน์และสรรพคุณกระดอม

  • บำรุงน้ำดี
  • แก้ดีแห้ง ดีฝ่อ ดีเดือด
  • ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  • ทำให้โลหิตเย็น
  • ช่วยดับพิษโลหิต
  • บำรุงมดลูก
  • รักษามดลูกหลังแท้ง หรือ คลอดบุตร
  • แก้มดลูกอักเสบ
  • แก้ไข้
  • รักษาภาวะคลั่งเพ้อ คุ้มดีคุ้มร้าย
  • แก้สะอึก
  • แก้ถอนพิษผิดสำแดง
  • บำรุงโลหิต  
  • ขับน้ำลาย
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • ขับน้ำดี
  • บำรุงน้ำนม
  • ดับพิษร้อน
  • ใช้เป็นยานวดแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (กระดอมแห้ง บดผสมกับน้ำร้อน)
  • บำรุงธาตุ

            กระดอมสามารถนำมารับประทานได้ นิยมนำมาใช้ทำแกงที่เรียกว่าแกงป่าหรือแกงคั่ว หรือจะนำมาใช้ลวกจิ้มกินกับน้ำพริกก็ได้แต่ผลแก่หรือผลสุกที่เริ่มเป็นสีส้นหรือสีแดง ห้ามรับประทานเพราะมีพิษ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ไข้ โดยใช้ผลกระดอม แห้งครั้งละ 15-16 ผล หรือ หนักประมาณ 10 กรัม ต้มกับน้ำพอประมาณ เคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 เอาน้ำดื่ม ก่อนอาหารเช้า และเย็น หรือ เวลามีอาการ ใช้เป็นยาแก้พิษสำแลง เป็นยาถอนพิษจากการกิน โดยใช้เมล็ดต้มกับน้ำแล้วใช้ดื่มเมื่อมีอาการ และใช้แ บำรุงโลหิต บำรุงน้ำดี โดยนำผลกระดอม ต้มกับน้ำแล้วใช้ดื่ม เช้า-เย็น


ลักษณะทั่วไปของกระดอม

กระดอม จัดเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นเป็นเถาเป็นร่องรูปห้าเหลี่ยมมีขนปกคลุมมีมือเกาะบริเวณข้อลำต้นเลื้อยไปตามดิน หรือ เกาะพันขึ้นกับต้นไม้ต่างๆ ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนรูปร่างต่างๆ กันตั้งแต่รูปไต จนถึงรูปสามเหลี่ยม ห้าเหลี่ยม หรือ เป็นแฉกกว้าง 3-10 เซนติเมตร ยาว 4-10 เซนติเมตร โคนเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ ผิวใบสากทั้งสองด้าน ดอก เป็นแบบแยกเพศรวมต้น ใบประดับยาว 1.5-2 เซนติเมตร ดอยจักเป็นแฉกลึกแหลม ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อ ก้านช่อยาว 7-15 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็นแฉกรูปใบหอก 5 แฉก มีขนเป็นมันเลื่อม กลีบดอกมี 5 กลีบ สีขาวโคนติดกันเล็กน้อย เกสรเพศผู้มี 3 อัน ดอกเพศเมียออกเดี่ยว กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบมี 1 ช่องยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 3 แฉก ผล แบบผลมีเนื้อคล้ายกับตำลึง รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว 4-5 เซนติเมตร ผิวสาก มีสันโดนสันมีสีเขียว ผลดิบสีเขียวและเมือสุกจะเป็นสีส้มแดง ใบผลมีเมล็ดหลายเมล็ด รูปรี กว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร

กระดอม

กระดอม

การขยายพันธุ์กระดอม

กระดอม สามารถขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ซึ่งมีวิธีการเตรียมเมล็ดพันธุ์ คือ นำผลแก่ๆ นำมาทิ้งไว้ให้สุกงอม แล้วนำไปบี้กับน้ำแล้วกรองเอาแต่เมล็ดล้างนำให้สะอาด นำไปตากแดดให้แห้งแล้วจึงสามารถนำไปปลูกได้สำหรับขั้นตอนการปลูกเริ่มต้นด้วยการเตรียมดินโดยไถดะ 1 ครั้ง ไถแปร 1 ครั้ง แล้วจึงพรวนดินกำจัดวัชพืชออก และทำการยกร่องระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วมขัง ส่วนวิธีการปลูกกระดอม ก็เหมือนการปลูกพืชตระกูลแตงทั่วไป โดยนำเมล็ดแช่น้ำ 1 ชั่วโมง แล้วทำการหยอดหลุมเป็นแถว หลุมละ 4-5  เมล็ด ระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 30 เซนติเมตร และระหว่างแถว 50 เซนติเมตร และจะต้องปักหลักทำค้างให้ต้นกระดอมเกาะเลื้อยพันขึ้นมา ควรถอนให้เหลือหลุมละ 2-3 ต้น  เมื่อปลูกกระดอม 30-45 วัน นับจากวันปลูก จะเริ่มออกดอกแล้วติดผล พอลูกกระดอมโตเต็มที่แล้ว จะมีผลสีเขียวเข้มก็สามารถเก็บผลได้ ไม่ควรปล่อยให้สุกแดง เพราะจะทำให้ผลกระดอมมีพิษ รับประทานไม่ได้
           ทั้งนี้กระดอม สามารถปลูกได้ทุกฤดู แต่ช่วงที่เหมาะในการปลูกที่สุด คือ พฤษภาคม-กรกฎาคม แต่โดยทั่วไปแล้วกระดอมจะชอบพื้นที่ดอน น้ำไม่ท่วมขัง ระบายน้ำได้ดี แต่ก็สามารถขึ้นได้ทุกลักษณะพื้นที่และทุกสภาพดินฟ้าอากาศ เช่นกัน


องค์ประกอบทางเคมี

กระดอม ประกอบไปด้วย สารขม เช่น cucurbitanemonodesmodidic diglyceride และสารกลุ่มอื่นๆ เช่น neolignan, nucleic acids, terpenoids, cerebroside, สารกลุ่ม phenolic และกรดไขมันต่างๆ เช่น oleic acid, palmitic acid, linoleic  acid เป็นต้น

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของกระดอม

โครงสร้างกระดอม

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระดอม

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกระดอม พบว่า มีฤทธิ์ยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อเรียบหดตัวในสัตว์ทดลอง นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากการศึกษาวิจับทางพรีคลินิกพบว่า สารสกัดกระดอมมีฤทธิ์ลดไข้ได้ใกล้เคียงกับยาแอสไพริน


การศึกษาทางพิษวิทยาของกระดอม

มีการศึกษาทางด้านพิษวิทยาของกระดอม พบว่า เมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือ ป้อนสารสกัดผลแห้งด้วยแอลกอฮอล์:น้ำ (1:1) ในขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม แก่หนูถีบจักรปรากฏว่าไม่พบความเป็นพิษ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ในการนำกระดอมมาใช้รับประทานเป็นอาหาร หรือ นำมาเป็นยาสมุนไพรควรระมัดระวังในการนำมาใช้ เพราะในกระดอมแก่ หรือ กระดอมสุกมีสารที่ก่อให้เกิดพิษและเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้นไม่ควรนำกระดอมแก่ หรือกระดอม สุกมารับประทานโดยเด็ดขาด
  2. การรับประทานกระดอมเพื่อหวังผลในการรักษาโรคนั้น ควรรับประทานแต่พอดีไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ รับประทานติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะในกระดอมมีสารขมอยู่มากซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อตับ และไต หรือ อวัยวะภายในต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

เอกสารอ้างอิง กระดอม
  1. กระดอม.คู่มือการกำหนดพืชที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพร เพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทย.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข. สำนักพิมพ์องค์การสงเครื่องทหารผ่านศึก. กรุงเทพฯ.กันยายน 2558
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. 2538.อนุกรมวิธานพืชอักษร ก.กรุงเทพมหานคร. เพื่อพิมพ์
  3. กระดอม .ข้อมูลพันธุ์ไม้.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspgor.th/plants_data/plants_data/plantdat/cucardit/qcochi_1.htm.
  4. กระดอม.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrrudedruy.com/main.php?action=viewpage&pid=5