มะเดื่อฝรั่ง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะเดื่อฝรั่ง งานวิจัยและสรรพคุณ 31 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร มะเดื่อฝรั่ง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะเดื่อญี่ปุ่น, ลูกฟิก (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus carica L.
ชื่อสามัญ Fig, Common fig 
วงศ์ MORACEAE

ถิ่นกำเนิดมะเดื่อฝรั่ง

เป็นพืชพื้นเมืองในประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันตกและแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในยุโรปรวมถึงในแอฟริกาเหนือ โดยจัดเป็นพืชในวงศ์เดียวกันกับขนุน และจัดอยู่ในสกุลเดียวกับมะเดื่อไทย ต้นโพธิ์ และต้นไทร ต่อมามีการแพร่กระจายในประเทศเขตร้อนในทุกทวีป แต่พบมากในยุโรปและเอเชีย เช่น ตุรกี, กรีช, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, รวมถึงในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย ได้มีการนำมะเดื่อฝรั่ง มาทดลองปลูกครั้งแรกที่ดอยอ่างขางเมื่อ พ.ศ.2524 โดยมูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่นต่อมาจึงได้ขยายพื้นที่การปลูกไปในภาคอื่นๆ จนในปัจจุบันสามารถปลูกและให้ผลผลิตได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยสามารถปลูกในสภาพพื้นที่ราบ และมีอากาศร้อนก็ได้


ประโยชน์และสรรพคุณมะเดื่อฝรั่ง

  • ใช้สำหรับทำกระดาษ
  • ใช้ทำผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มหรือของใช้
  • ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  • ช่วยลดปริมาณการใช้อินซูลินในผู้ป่วยเบาหวาน
  • ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยขับถ่าย เป็นยาระบาย
  • ช่วยฟอกตับและม้ามแก้กามโรค
  • แก้อาการท้องร่วง
  • ใช้เป็นยาแก้ไอ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • แก้อาการฟกช้ำ
  • ใช้ล้างบาดแผล
  • ใช้ทารักษาแผล
  • ช่วยสมานแผล
  • ช่วยรักษาฝี
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้บิด
  • แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • ช่วยห้ามเลือด
  • ช่วยบำรุงน้ำดี
  • ช่วยต้านโรคมะเร็ง
  • รักษาโรคเบาหวาน
  • ต้านโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
  • ช่วยลดความดันโลหิต
  • ช่วยส่งเสริมการซ่อมแซมเซลล์ประสาท กระตุ้นความทรงจำ
  • ช่วยต้านโรคอัลไซเมอร์
  • ช่วยป้องกันหลอดเลือดแดงแข็ง
  • ช่วยต้านการอักเสบ
  • ช่วยให้ความเป็นกรดเป็นด่างในร่างกายเกิดการสมดุล
  • ช่วยป้องกันโรคนิ่ว
  • ช่วยป้องกันและยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็งในลำไส้ 


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

มะเดื่อฝรั่ง เป็นผลไม้ที่มีเส้นใยอาหารสูง จึงนิยมนำผลสุกมารับประทานสดๆ เพื่อจึงช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยในการขับถ่าย กำจัดของเสียออกจากร่างกาย และยังช่วยป้องกันอาการท้องผูก

           นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ประโยชน์ตามตำรายาไทยดังนี้

  • ช่วยบำรุงน้ำดี โดยใช้ใบแห้งบดละเอียดนำมาผสมกับน้ำผึ้งรับประทาน
  • เปลือกและลำต้น ใช้ต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการปวดท้อง แก้อาการโรคบิด แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย

 

ลักษณะทั่วไปของมะเดื่อฝรั่ง

มะเดื่อฝรั่งจัดเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดกลางมีอายุนานหลายปี ลำต้นแตกกิ่งมากเป็นทรงพุ่มแผ่กว้าง ลำต้นสูงประมาณ 3-10 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมน้ำตาล และมียางสีขาว โดยมะเดื่อฝรั่งจัดเป็นไม้เนื้ออ่อน ไม่นิยมใช้เนื้อไม้ในการก่อสร้างหรือแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์

           ใบแตกใบออกเดี่ยว เรียงสลับกันตามปลายกิ่ง มีความกว้าง 20-25 เซนติเมตร และยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา และค่อนข้างแข็ง โดยแผ่นใบขรุขระสากมือ แผ่นใบด้านล่างมีขนปกคลุม ส่วนขอบใบหยักลึก 3-7 หยัก ส่วนของก้านใบมีสีเหลืองอมเขียว

           มีดอกขนาดเล็ก ออกตามข้อบริเวณซอกใบ ประกอบไปด้วยดอกตัวเมียที่มีก้านเกสรยาวและดอกตัวเมียที่มีก้านเกสรสั้น และดอกตัวผู้

           มะเดื่อฝรั่ง มีดอกคล้ายผล ที่ทำให้มองเห็นเป็นดอกเดี่ยว แต่แท้จริง คือ ดอกรวมที่เจริญจากส่วนของก้านช่อดอกบริเวณฐานรองดอกพัฒนามาหุ้มดอกไว้

           ผลมีรูปทรงและขนาดที่แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ บางสายพันธุ์อาจเป็นรูปทรงกลม ทรงระฆัง หรือ ผลกลวงโบ๋ ซึ่งเนื้อผลมีรสหวานอมเปรี้ยว ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็ก ที่มีลักษณะแบน แข็ง เป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาลอ่อนจำนวนมากมาย ซึ่งเป็นเมล็ดที่มีผนังชั้นในของผลห่อหุ้มอยู่

มะเดื่อฝรั่ง

มะเดื่อฝรั่ง

การขยายพันธุ์มะเดื่อฝรั่ง

            มะเดื่อฝรั่ง สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งจากการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำ หรือ จากการเสียบยอด และพันธุ์ของมะเดื่อฝรั่งที่นิยมปลูกในบ้านเรามักจะเป็นพันธุ์ญี่ปุ่นพันธุ์บราวน์ตุรกี, พันธุ์ออสเตรเลียเพราะเป็นพันธุ์ที่ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนได้ดี และให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี ส่วนวิธีที่นิยมขยายพันธุ์ในปัจจุบันได้แก่วิธีการขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง เมื่อกิ่งมีรากที่เจริญเต็มที่แล้วจึงค่อยย้ายลงไปปลูกในกระถางขนาด 5 นิ้ว ผสมดินปลูกด้วยกาบมะพร้าวและขุยมะพร้าวก่อนนำกิ่งพันธุ์ลงปลูก รดน้ำพอชุ่มเช้า-เย็น อย่างสม่ำเสมอทุกวัน รอจนกว่ารากขยายออกจนทั่วกระถางจึงค่อยย้ายไปปลูกในบ่อปูนขนาด 80 ซม. ก่อนย้ายปลูกควรใส่วัสดุปลูกที่เป็นกาบมะพร้าว ขุยมะพร้าว และปุ๋ยคอก ผสมคลุกเคล้ากับดินให้เข้ากันดีเสียก่อนเช่นกัน ซึ่งการปลูกในบ่อ หรือกระถาง จะทำให้ง่ายต่อการดูแลบำรุงรักษา

            ทั่งนี้ควรตัดแต่งกิ่ง และทรงพุ่มอยู่เสมอเพื่อไม่ให้มีลำต้นที่สูงเกินไป หลังจากทำการตัดแต่งกิ่งได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ มะเดื่อฝรั่ง จะมีการติดผล และใช้เวลาต่อไปอีกราว 2-3 เดือน ก็สามารถทยอยให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวต่อไปได้นานหลายเดือน 


องค์ประกอบทางเคมี

ในส่วนต่างๆของมะเดื่อฝรั่ง พบสาร Quercetin, Rutin, Kaempferol, Catechin, Gallic acid, Syringic acid, Ellagic acid, Chlorogenic acid นอกจากนี้ยังพบสาร Luteolin-8- C-glucoside, Cyanidin-3-glucoside, Cyanidin 3,5-diglucoside, Pelargonidin 3-O-glucoside, Peonidin 3-O-rutinoside และสำหรับคุณค่าทางโภชนาการนั้น ในผลมะเดื่อยังมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหลายชนิด เป็น ที่ มีคุณค่าทางอาหารสูงอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลกอีกด้วย  ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของมะเดื่อฝรั่ง อบแห้ง ต่อ (100 กรัม)

           -พลังงาน                           249       กิโลแคลอรี

           -คาร์โบไฮเดรต                 63.87    กรัม

           -น้ำตาล                            47.92    กรัม

           -เส้นใย                             9.8        กรัม

           -ไขมัน                              0.93      กรัม

           -โปรตีน                             3.3        กรัม

           -วิตามินบี 1                     0.085    มิลลิกรัม

           -วิตามินบี 2                      0.082    มิลลิกรัม

           -วิตามินบี 3                      0.619   มิลลิกรัม

           -วิตามินบี 5                    0.434    มิลลิกรัม

           -วิตามินบี 6                      0.106    มิลลิกรัม

           -วิตามินบี 9                      9           ไมโครกรัม

           -โคลีน                            15.8      มิลลิกรัม

           -วิตามินซี                         1.2       มิลลิกรัม

           -วิตามินเค                        15.6    ไมโครกรัม

           -ธาตุแคลเซียม               162     มิลลิกรัม

           -ธาตุเหล็ก                         2.03   มิลลิกรัม

           -ธาตุแมกนีเซียม               68      มิลลิกรัม

           -ธาตุแมงกานีส                0.51   มิลลิกรัม

           -ธาตุฟอสฟอรัส                 67      มิลลิกรัม

           -ธาตุโพแทสเซียม             680    มิลลิกรัม                                      

           -ธาตุโซเดียม                    10     มิลลิกรัม

           -ธาตุสังกะสี                       0.55   มิลลิกรัม

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของมะเดื่อฝรั่ง

โครงสร้างมะเดื่อฝรั่ง
ที่มา : Wikipedia

 การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะเดื่อฝรั่ง

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยพบว่า ในผลมะเดื่อฝรั่งประกอบไปด้วยสารต่างๆที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ เช่น สารโพลิฟินอล (Polyphenols) ฟลาโวนอยล์

           ฤทธิ์รักษาหูดจากการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพการรักษาหูดโดยการจี้ด้วยความเย็นกับการใช้ยางของมะเดื่อฝรั่งทาบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าการรักษาหูดด้วยยางของมะเดื่อฝรั่ง ส่งผลดีในหลายด้าน ทั้งช่วยลดระยะเวลาในการรักษา ใช้งานง่าย ไม่พบผลข้างเคียง และมีอัตราการเกิดหูดซ้ำต่ำ

           ฤทธิ์ต่อผิวหนัง มีการศึกษาหนึ่งชี้ว่า ครีมที่มีส่วนผสมของมะเดื่อฝรั่งส่งผลต่อผิวหนังหลายด้าน เช่น ลดเม็ดสีและรอยแดง เพิ่มความชุ่มชื้น ปรับสมดุลไขมันใต้ผิวหนัง และมีประสิทธิภาพช่วยต่อต้านริ้วรอย กระ สิว และจุดด่างดำได้

           ฤทธิ์อื่นๆ มีรายงานว่าในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้นำเอนไซม์ฟิซินในรูปของยางมะเดื่อฝรั่งไปใช้เป็นยาขับหนอนพยาธิแทนการใช้ตัวยาสังเคราะห์ทางด้านเภสัชกรรมพบว่า เอนไซม์ฟิซินช่วย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของยาช่วยลดคอเลสเตอรอล และระดับน้ำตาลในเลือดได้ 


การศึกษาทางพิษวิทยาของมะเดื่อฝรั่ง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรเฝ้าระวังและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอ เนื่องจากการรับประทานมะเดื่อฝรั่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินมาตรฐานได้
  2. มะเดื่อฝรั่งมีวิตามินเค สูง ซึ่งเป็นวิตามิน ช่วยให้เลือดแข็งตัว ดังนั้น ผู้ที่กำลังใช้ยารักษาที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (warfarin) ควรระมัดระวังในการบริโภค
  3. มะเดื่อฝรั่งช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย หากรับประทานในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้ท้องเสียได้
  4. การบริโภคมะเดื่อฝรั่ง อาจทำให้เกิดอาการแพ้ หรือ อาจมีปฏิกิริยากับยาบางตัวได้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการบริโภค
  5. ผู้ที่แพ้ผลไม้ในวงศ์ขนุน (Moraceae) เช่น ขนุน หรือ น้อยหน่า อาจเกิดการแพ้มะเดื่อฝรั่งได้ เพราะพืชเหล่านี้อยู่ในวงศ์เดียวกัน

เอกสารอ้างอิง มะเดื่อฝรั่ง
  1. ธิดารัตน์ จันทร์ดอน.ผลไม้เพื่อสุขภาพจากโครงการหลวง. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมิดล.
  2. นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. มะเดื่อฝรั่ง ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 149
  3. Mawa S, Husain K, Jantan I. Ficus carica L. (Moraceae): phytochemistry, traditional uses and biological activities. Evid-Based Compl Alt 2013;2013:974256.
  4. The Fig: its History, Culture, and Curing, Gustavus A. Eisen, Washington, Govt. print. off., 1901
  5. Barolo MI, Ruiz Mostacero N, López SN. Ficus carica L. (Moraceae): an ancient source of food and health. Food Chem 2014;164:119-27.
  6. Badgujar SB, Patel VV, Bandivdekar AH, Mahajan RT. Traditional uses, phytochemistry and pharmacology of Ficus carica: a review. Pharm Biol 2014;52(11):1487-503.
  7. มะเดื่อฝรั่ง มีผลดีต่อสุขภาพจริงหรือ.พบแพทย์ดอทคอม(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
  8. มะเดื่อ/มะเดื่อฝรั่ง(Fig)สรรพคุณและการปลูกมะเดื่อฝรั่ง .พืชเกษตรดอทคอมเว็บพืชเกษตรไทย(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.puechkaset.com