ผักบุ้งทะเล ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ผักบุ้งทะเล งานวิจัยและสรรพคุณ 24 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ผักบุ้งทะเล
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักบุ้งขน, ผักบุ้งต้น (ทั่วไป), ผักบุ้งเล (ภาคใต้), ละบูเลาห์ (มลายู), หม่าอาน (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ipomoea pes-caprae (L.) R.Br.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ipomoea biloba Forssk. subsp. Pescaprae, Convolvulus pes-caprae  L.
ชื่อสามัญ beach morning-glory, goat's foot creeper
วงศ์ CONVOLVULACEAE (วงศ์เดียวกับอัญชัน)

ถิ่นกำเนิดผักบุ้งทะเล

ผักบุ้งทะเลไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในถิ่นกำเนิด มีเพียงแต่ข้อมูลที่ระบุว่าผักบุ้งทะเล มีเขตการกระจายพันธุ์ไปอย่างกว้างขว้าง โดยพบได้ในแถบชายทะเลเขตร้อนทั่วโลก สำหรับในไทยพบผักบุ้งทะเล เฉพาะตามชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ (อ่าวไทย) ภาคตะวันตกเฉียงใต้ (ทะเลอันดามัน) และภาคใต้ โดยมักขึ้นตามชายหาด ที่โล่งแจ้งใกล้ชายฝั่งทะเล

ประโยชน์และสรรพคุณผักบุ้งทะเล

  • เป็นยาทาแก้โรคไขข้ออักเสบ
  • แก้ปวดไขข้ออักเสบมีหนอง
  • แก้แผลเรื้อรัง
  • ขับปัสสาวะในโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • แก้โรคเท้าช้าง
  • แก้ปวดฟัน
  • แก้พิษแมงกะพรุน
  • ช่วยถอนพิษลมเพลมพัด
  • แก้โรคคันตามผิวหนัง
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • แก้เหน็บชา
  • แก้ปวดเมื่อยตามข้อ
  • ช่วยป้องกันโรคตะคริว
  • เป็นยาถ่ายยาระบาย
  • แก้ปวดท้อง
  • ช่วยลดอาการปวดบวม
  • ช่วยลดอาการอักเสบ
  • ลดอาการแน่นท้อง และจุกเสียด
  • ช่วยล้างกระเพาะอาหาร
  • ช่วยล้างกระเพาะปัสสาวะ
  • ช่วยไล่ลมออกจากกระเพาะและลำไส้ 
  • แก้ผดผื่น
  • ช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ และอวัยวะภายใน
  • แก้ฝีหนองภายนอก และภายใน


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

นำใบมาโขลกให้ละเอียดคั้นเอาเฉพาะแต่น้ำ ใช้ทาบริเวณข้อ ช่วยลดอาการปวดบวม และอักเสบ หรือ นำใบต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเพื่อลดอาการแน่นท้อง และจุกเสียดใช้รากต้มกับน้ำดื่มเพื่อเป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยล้างกระเพาะอาหาร ช่วยล้างกระเพาะปัสสาวะ แก้โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เมล็ดทุบให้แตก ต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเพื่อแก้อาการปวดท้อง และกล้ามเนื้อเป็นตะคริว เถา หรือ รากใช้ต้มกับน้ำ ใช้อาบเพื่อแก้อาหารคันตามผิวหนัง แก้ผดผื่น หรือ นำลำต้นมาโขลกให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำ ใช้ทาแก้พิษแมงกะพรุน

           ส่วนอีกตำราหนึ่งระบุว่าแก้พิษแมงกะพรุนไฟ แก้แพ้พิษต่างๆ ใช้รากสด 1 ราก นำมาฝนกับน้ำส้มสายชูฝนให้ข้นๆ อาจใช้เหล้าโรง หรือ แอลกอฮอล์ผสมด้วยจะได้ผลดี ใช้ทาบ่อยๆ หรือใช้ใบผักบุ้งทะเล ขยี้กับน้ำส้มสายชู หรือ เหล้าขาวแล้วนำมาประคบผิวหนังบริเวณที่โดนพิษแมงกะพรุน และห่อด้วยผ้าขาวบางทิ้งไว้ ประมาณ 30-60 นาที อาการปวดแสบปวดร้อนจากพิษจะคลายลง แก้อาการปวดท้อง ลดอาการแน่นท้อง ช่วยไล่ลมออกจากกระเพาะ และลำไส้ ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ และอวัยวะภายใน แก้อาการเป็นตะคริว นำเมล็ดที่แก่จัดสัก 1 กำมือ ตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาบดให้เป็นผงละเอียด เวลาใช้นำมาชงกับน้ำร้อน ใช้ดื่ม 

           ส่วนตำรายาแก้ฝีหนองภายนอกระบุให้ใช้ต้นสดนำมาตำให้พอแหลก ผสมกับน้ำตาลทรายแดง หรือ น้ำผึ้ง แล้วนำมาพอกบริเวณที่มีอาการ หากเป็นการใช้เพื่อรักษาภายในถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม ส่วนยาสดให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน


ลักษณะทั่วไปของผักบุ้งทะเล

ผักบุ้งทะเล จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน เช่นเดียวกับผักบุ้งสามารถเลื้อยไปได้ยาวมาก ประมาณ 5-30 เมตร ลักษณะของลำต้น หรือ เถากลมเป็นสีเขียวปนแดง ผิวเกลี้ยงลื่น ตามข้อจะมีรากฝอย ภายในกลวง ทั้งต้นและใบมียางสีขาว

           ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปกลม รูปไข่ รูปไต หรือ รูปเกือกม้า ปลายใบเว้าบุ๋มเข้าหากัน โคนใบสอบแคบเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-11 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร เส้นใบเป็นแบบขนนก เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบมันเป็นสีเขียว หลังใบ และท้องใบเรียบ ก้านใบยาวมีสีแดง

           ดอกออกเป็นช่อแบบซี่ร่มตามง่ามใบ ในช่อดอกจะมีดอกประมาณ 2-6 ดอก และจะทยอยบานทีละดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปปากแตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ส่วนปลายดอกบานเป็นรูปปากแตร มี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกกลมรี แตกออกเป็นแฉก 5 แฉก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ก้าน ดอกเป็นสีม่วงอมชมพู สีม่วงอมแดง สีชมพู หรือ เป็นสีม่วง ผิวเกลี้ยง ด้านในของดอกส่วนโคนจะมีสีเข้มกว่าด้านนอก ส่วนกลีบดอกเลี้ยงเป็นสีเขียว และดอกจะเหี่ยวง่าย

           ผงมีลักษณะเป็นรูปมนรี หรือ รูปไข่มีเหลี่ยมคล้ายแคปซูล ผิวผลเรียบ พอผลแห้งจะแตกออกได้ มีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดลักษณะกลม เป็นสีเหลือง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 มิลลิเมตร มีขนสีน้ำตาลปกคลุม

ผักบุ้งทะเล

ผักบุ้งทะเล

การขยายพันธุ์ผักบุ้งทะเล

ผักบุ้งทะเล สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด และใช้ลำต้นแก่ปักชำ โดยเป็นพืชที่ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี และเป็นพืชที่ชอบดินร่วมปนทราย หรือ ดินทราย และยังเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ไม่ต้องการร่มเงา แต่เป็นพืชที่ไม่ค่อยมีผู้นิยมปลูกเพราะสามารถหาได้ง่ายพบขึ้นอยู่ทั่วไปตามริมหาดตามทะเลต่างๆ ในเขตร้อนสำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไปตามแนวหาดทั้งทะเลอันดามันและอ่าวไทย


องค์ประกอบทางเคมี

ทั้งต้น พบ Citric acid, Fumaric acid, Hyperoside, Malic acid, Isoquercitrin, Succinic acid, Tartaric acid,actinidol, actinidol 1A, actinidol 1B, a- amyrin acetate, b-amyrin acetate, betulinic acid, eugenol, glochidone, 2-hydroxy-4,4,7-trimethyl-1(4H)-naphthalanone, isoquercetrin, (-)-mellein, 4-vinylguaiacol, volatile ester

           ลำต้นเหนือดิน พบ Behenic acid, Benzoic acid, Butyric acid, Essential Oil, Potassium Chloride, Myristic acid, Sodium chloride, ß-Sitosterol, β-damascenone

           ใบพบสาร Citric acid, Curcumene, Ergotamine, Fumaric acid, Maleic acid, Succinic acid และในใบยังพบน้ำมันระเหย (Essential oil) ที่ประกอบไปด้วยสาร Behenice acid, Melissic acid, Myristic acid

           ส่วนในเมล็ดผักบุ้งทะเล จะพบ Indole Alkaloid เป็นอนุพันธ์ของ Lysergic acid และยังพบ Cacalol methyl ether, Dehydrocacalohastine, Ergotamine, Matorin, Matorin acetate

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของผักบุ้งทะเล

  โครงสร้างผักบุ้งทะเล 

โครงสร้างผักบุ้งทะเล                

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของผักบุ้งทะเล

           ฤทธิ์ต้านฮีสตามีน ส่วนสกัดที่ไม่ถูก saponified (unsaponifiable fraction) จากสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์จากใบ 4% มีฤทธิ์ต้านฮีสตามีนเมื่อทดสอบบนผิวหนัง ส่วนสกัดที่เป็น crude mucilage จากสารสกัดน้ำ 8.75% ไม่มีผลต้านฮีสตามีนเมื่อทดสอบบนผิวหนัง (skin test) สาร volatile ester จากผักบุ้งทะเลมีฤทธิ์ต้านฮีสตามีนที่เหนี่ยวนำให้ลำไส้เล็กของหนูตะเภาบีบตัว แต่ให้ผลน้อยกว่ายาต้านฮีสตามีน benadryl และ antistine โดย volatile ester, benadryl และ antistine ออกฤทธิ์ต้านฮีสตามีนได้ 90% ด้วยความเข้มข้นเท่ากับ 6X10-5, 1X10-6 และ 1X10-5 โมลาร์ ตามลำดับ สารสกัดน้ำจากใบ สารสกัดอีเทอร์จากใบ และน้ำมันหอมระเหยจากใบความเข้มข้น 62.5 มคก./มล. มีฤทธิ์ต้านฮีสตามีนที่เหนี่ยวนำให้ลำไส้เล็กหนูตะเภาบีบตัว

           ฤทธิ์แก้ผิวหนังอักเสบจากพิษแมงกะพรุนการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยผิวหนังอักเสบจากพิษแมงกะพรุน จำนวน 12 คน ได้รับการรักษาโดยทาครีมสารสกัดอีเทอร์จากใบเข้มข้น 1% (IPA 1%) ผู้ป่วย 5 คน ถูกแมงกะพรุนในวันแรก มีตุ่มแดงและคัน ทายา IPA ทันที ในวันแรกของการรักษาอาการคันลดลง และอาการจะหายในวันที่ 2 ของการรักษา ผู้ป่วยอีก 7 คน ถูกแมงกะพรุนมานาน 3-30 วัน มีผื่นแดง รอยไหม้หรือแผล หลังจากทายา IPA ผู้ป่วย 50% อาการจะดีขึ้นภายใน 7 วัน และหายดีภายใน 30-45 วัน โดยเหลือแผลเป็นเนื้อนูนน้อยมาก นอกจากนี้มีการนำครีมผักบุ้งทะเล ดังกล่าวมาทาผื่นที่เกิดจากแมลง Paederus 8 คน พบว่า ผื่นจะหายภายใน 5-7 วัน มีผลเท่ากับการใช้ corticosteroid cream และทดลองใช้กับผู้ป่วยที่เป็นตุ่มพุพองเรื้อรังจากการแพ้ยุง 3 คน พบว่า IPA ทำให้อาการหายได้ดีกว่าcorticosteroid cream

           ฤทธิ์แก้ปวดสารสกัดเอทานอลจากส่วนเหนือดิน ขนาด 10 มก./กก. ฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร สามารถลดการบิดตัวของหนูที่ถูกเหนี่ยวนำโดยกรดอะซิติก และลดอาการปวดที่อุ้งเท้าที่ถูกเหนี่ยวนำโดยฟอร์มาลิน สารที่ออกฤทธิ์ คือ glochidone, betulinic acid, a- และ b-amyrin acetate และ isoquercetrin สารสกัดเมทานอลจากส่วนเหนือดิน ฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรเพศผู้ (Swiss mice) ขนาด 10-60 มก./กก. 30 นาที ก่อนที่หนูจะได้รับกรดอะซิติก พบว่าจะลดการหดตัวของช่องท้องหนู ความเข้มข้นของสารที่ลดการหดตัวได้ 50% (ID50) เท่ากับ 33.8 มก./กก. ซึ่งผลการยับยั้งได้สูงสุด 58.7% ให้ผลใกล้เคียงกับยาแอสไพริน และพาราเซตามอล เมื่อให้สารสกัดดังกล่าวขนาด 200 มก./กก. ทางปากหนูถีบจักร พบว่าสามารถยับยั้งการหดตัวของช่องท้องหนูได้ 68.4±4% ส่วนสกัดที่แยกได้ละลายใน ethyl acetate และส่วนสกัดที่ละลายได้ในน้ำ ในขนาด 10 มก./กก. เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรมีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของช่องท้อง เท่ากับ 63.1±2 และ 71.0±4% ตามลำดับ เมื่อทดสอบด้วย formalin model พบว่า สารสกัดเมทานอลจากส่วนเหนือดิน ขนาด 10-60 มก./กก. ฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรที่ได้รับฟอร์มาลิน สามารถลดความเจ็บปวดโดยไปยับยั้งระบบประสาท (phase I) และกระบวนการอักเสบ (phase II) ID50 เท่ากับ 37.6 (20.5-68.7) และ 12.5 (6.8-22.9) มก./กก. ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับแอสไพรินจะมีค่า ID50 เท่ากับ 22.1 มก./กก. และจะให้ผลเฉพาะยับยั้งการอักเสบ และเมื่อให้สารสกัดดังกล่าวทางปากหนูถีบจักรขนาด 200 มก./กก. สามารถยับยั้งได้ทั้ง phase I และ phase II เท่ากับ 50.7±5.7 และ 60.3±7% ตามลำดับ ส่วนสกัดที่ละลายได้ใน ethyl acetate ขนาด 10 มก./กก. ฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรจะมีผลยับยั้งเฉพาะ phase II 44.8% แต่ส่วนสกัดที่ละลายในน้ำขนาดเดียวกันจะมีผลยับยั้งทั้ง phase I และ phase II เท่ากับ 52.0 และ 34.5% ตามลำดับ ทั้งนี้กลไกการออกฤทธิ์ของสารสกัด ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับ opioid receptors และไม่สามารถถูกยับยั้งด้วย naloxone

           ส่วนสารสกัดเมทานอลจากเมล็ด มีฤทธิ์ลดปวดในเซลล์เพาะเลี้ยง BKII receptor ใน CHO cells และ CGRP receptor ใน human neuroblastoma cell line แต่ไม่มีฤทธิ์ลดปวดในเซลล์เพาะเลี้ยง NKI receptor ใน human astrocytoma cell line 

           ฤทธิ์ลดการอักเสบ น้ำมันหอมระเหยจากใบ ลดการอักเสบที่หูหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำโดย arachinodic acid และลดการอักเสบที่อุ้งเท้าหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำโดยcarrageenan ความเข้มข้นของสารที่ลดการอักเสบได้ 50% (IC50) เท่ากับ 2.4 มก./หู และ 3.3 มก./อุ้งเท้า ตามลำดับ และที่ความเข้มข้น 1 มก./หู สามารถลดการอักเสบของหูหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำโดย ethyl phenylpropiolate สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์จากใบ ทาภายนอก สามารถลดการอักเสบของหูหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำโดย ethyl phenylpropiolate และ arachidonic acid และลดการอักเสบของอุ้งเท้าหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำโดย carrageenan ค่า IC50 เท่ากับ 1 มก./หู, 2.4 มก./หู และ 3.3 มก./อุ้งเท้า ตามลำดับ สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ความเข้มข้น 1.15% มีฤทธิ์ลดการอักเสบของอุ้งเท้าหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำโดย carrageenan และ arachidonic acid ลดการอักเสบของหูหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำโดย ethyl phenylpropiolate ผลในการลดการอักเสบขึ้นกับความเข้มข้นของสารที่ได้รับ โดยมีสารที่ออกฤทธิ์ คือ actinidols สาร actinidols 1a และ 1b จะลดการอักเสบของหูหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำโดย ethyl phenylpropiolate แต่ไม่มีผลต่อ prostaglandin


การศึกษาทางพิษวิทยาของผักบุ้งทะเล

การทดสอบความเป็นพิษเมื่อให้สารสกัดน้ำจากใบและสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ทางปากสุนัข ขนาด 2 ก./ตัว และ 1 ก./ตัว และเมื่อให้สารสกัดอีเทอร์จากใบทางปากหนูขาว ขนาด 7.5 ก./กก. ไม่พบพิษ เมื่อฉีดสารสกัดเอทานอล:น้ำ เข้าช่องท้องแมว ขนาด 4.3 ก./ตัว และให้ทางปาก ขนาด 1.8 ก./ตัว ไม่พบพิษภายใน 24 ชม. เมื่อฉีดสารสกัดเอทานอล:น้ำ (1:1) จากทั้งต้น เข้าช่องท้องหนูถีบจักร ความเข้มข้นของสารที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) มากกว่า 1,000มก./กก. และเมื่อฉีดสารสกัดเอทานอล 90% จากผลและใบ เข้าช่องท้องหนูถีบจักร ค่า LD50 เท่ากับ 0.562 และ 0.681 ก./กก. ตามลำดับ

           สำหรับการทดสอบความเป็นพิษเฉพาะที่ พบว่าสารสกัดจากใบผักบุ้งทะเล ไม่ระคายเคืองผิวหนังทั้งผิวหนังธรรมดา และผิวหนังที่ขูดถลอกของกระต่าย อีกทั้งสารสกัดอีเทอร์จากใบในรูปครีม 1% ทดสอบด้วยวิธี closed patch test ในคนปกติ 50 คน ไม่พบปฏิกิริยาการแพ้ภายใน 24 ชม.

           ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ สารสกัดอีเทอร์จากใบ และสารสกัดจากทั้งต้น ความเข้มข้น 400 มคก./จานเพาะเชื้อ ไม่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ของ Salmonella typhimurium TA98 และ TA100 พิษต่อเซลล์สารสกัดเอทานอล:น้ำ (1:1) จากทั้งต้น ความเข้มข้น 25 มคก./มล. ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ CA-9KB

           พิษต่อระบบสืบพันธุ์สารสกัดเอทานอล 90% จากผล ความเข้มข้น 2% ไม่มีผลฆ่าสเปิร์มในหนูขาวเพศผู้ และสารสกัดเอทานอล 90% จากใบและผล ขนาด 100 มก./กก. ไม่มีผลต้านการฝังตัวของตัวอ่อนในหนูขาวที่ตั้งท้อง เมื่อให้สารสกัดเหลวทางปากแก่แมวตั้งท้อง ขนาด 1 ก./กก. ไม่ทำให้แท้งภายใน 24 ชม.

           ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบการหายใจสารสกัดเอทานอล 90% จากใบ และผล ขนาด 50 มก./กก. ฉีดเข้าเส้นเลือดดำสุนัข พบว่าไม่มีผลต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือด ไม่ทำให้หัวใจเต้นช้าลง และไม่กดระบบการหายใจ 

           ผลต่อระบบประสาทส่วนกลางสารสกัดจากใบ ขนาด 1 ก./กก. ให้ทางสายยางให้อาหาร และฉีดเช้าช่องท้องหนูถีบจักร พบว่ามีผลอย่างอ่อนต่อระบบประสาทส่วนกลาง 


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ผักบุ้งทะเลแม้จะอยู่ในวงศ์เดียวกัน และมีลักษณะคล้ายกับผักบุ้งที่เราใช้รับประทาน แต่เป็นพืชคนละชนิดกัน ซึ่งยางจากต้น และใบของผักบุ้งทะเลมีพิษทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ หากได้รับพิษเข้าไปมากอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้นห้ามรับประทาน
  2. ถึงแม้ว่าผักบุ้งทะเล สามารถใช้รักษาแผลจากแมงกะพรุนได้ดีแต่ไม่มีที่ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเฉียบพลัน
  3. ในการใช้ใบผักบุ้งทะเลแก้พิษแมงกะพรุนควร ใช้ทรายขัดบริเวณที่โดนพิษแมงกะพรุนเพื่อเอาเมือกของแมงกะพรุนออกไปก่อน แล้วใช้ใบขยี้ทาลดการอักเสบจากพิษแมงกะพรุน
  4. การนำผักบุ้งทะเลมาใช้ให้ถูกวิธีนั้น ควรจะไม่มีสิ่งปนเปื้อนแ ละต้องล้างให้สะอาด นำใบมาตำ และคั้นเอาน้ำมาทาตรงแผลบ่อย
  5. การใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณแผล จากแมงกะพรุนยังเป็นสิ่งสำคัญมากและควรจะรีบทำก่อนใช้ผักบุ้งทะเล

 

เอกสารอ้างอิง ผักบุ้งทะเล
  1. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. หน้า 178. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ผักบุ้งทะเล”. 
  2. ศศิธร วสุวัต พัชรี สุนทรพะลิน. ข้อมูลงานวิจัยสมุนไพร ผักบุ้งทะเล Ipomoea pes-caprae (Linn.) Roth เป็นยาแก้แพ้พิษฮีสตามีนและพิษแมงกะพรุน. รายงานการวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย.
  3. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. หน้า 493-495.หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ผักบุ้งทะเล”. 
  4. ผักบุ้งทะเล.สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.วิทยา บุญวรพัฒน์. หน้า 346.
  5. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ผักบุ้งทะเล”. 
  6. พัชรี สุนทรพะลิน ศศิธร วสุวัต. การใช้ครีมผักบุ้งทะเลรักษาผิวหนังอักเสบที่เกิดจากแมงกะพรุน. สารศิริราช 1985;37(5):329-38.
  7. ผักบุ้งทะเล .สมุนไพรที่ใช้ในด้านสาธารณสุขมูลฐาน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. ผักบุ้งทะเล.กลุ่มพืชถอนพิษ.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant_data/herbs_20_2.htm
  9. ก. กุลฑล. ยาพื้นบ้าน. กรุงเทพฯ: ปรีชาการพิมพ์, 2524.
  10. Wasuwat S, Soonthornpalin P.  Investigation of pharmacologically active principles of Ipomoea pes-caprae (Linn.) Roth. (Phakbungtha-le).  Abstr 10th Conference of Science and Technology Thailand, Chiangmai Univ, Chiangmai, Thailand, 1984: 222-3.
  11. Christensen BV, Reese JA. A study on the leaves of Ipomoea pes-caprae. J Amer Pharm Ass 1938;27:195.
  12. Pongprayoon U, Bohlin L, Soonthornsaratune P, Wasuwat S. Antiinflammatory activity of Ipomoea pes-caprae (L.) R.Br. Phytother Res 1991;5(2):63-6.
  13. Krogh R, Kroth R, Berti C, et al. Isolation and identification of compounds with antinociceptive action from Ipomoea pes-caprae (L.) R.Br. Pharmazie 1999;54(6): 464-6.
  14. Ostraff M, Anitoni K, Nicholson A, Booth GM. Traditional Tongan cures for morning sickness and their mutagenic/toxicological evaluations. J Ethnopharmacol 2000; 71(1/2):201-19.
  15. Wasuwat S, Ddhama-Upakorn N. Preliminary investigation of pharmacologically active principles in Ipomoea pes-caprae (Linn.) Roth. (Phakbungtha-le). Applied Scientific Research Corporation of Thailand, 1967.
  16. Cwalina GE,Jenkins GL. A phytochemical study of Ipomea pes-caprae. J Amer Pharm Ass 1938;27:585.
  17. Pongprayoon U, Bohlin L, Baeckstrom P, Jacobsson U, Lindstrom M, Soonthornsaratune P, Wasuwat S. Anti-inflammatory activity of Ipomoea pes-caprae. Planta Med 1990;56:661.
  18. Cox PA, Sperry LB, Tuominen M, Bohlin L. Pharmacological activity of the Samoan ethnopharmacopoeia. Econ Bot 1989;43(4):487-97.
  19. De Souza MM, Madeira A, Berti C, Krogh R, Yunes RA, Cechinel-Filho V. Antinociceptive properties of the methanolic extract obtained from Ipomoea pes-caprae (L.) R.Br.  J Ethnopharmacol 2000;69:85-90.
  20. Aswal BS, Bhakuni DS, Goel AK, Kar K, Mehrotra BN, Mukherjee KC. Screening of Indian plants for biological activity: part X. Indian J Exp Biol 1984;22(6):312-32.
  21. Wasuwat S. Further investigation of pharmacologically active principles of Ipomoea pes-caprae (Linn.) Roth (Phakbungtha-le). Research Project No. 17/8, 1969.
  22. Sampson JH, Phillipson JD, Bowery NG, O’neill MJ, Houston JG, Lewis JA. Ethnomedicinally selected plants as sources of potential analgesic compounds: indication of in vitro biological activity in receptor binding. Phytother Res 2000;14(1):24-9.
  23. Bhakuni DS, Dhawan BN, Garg HS, Goel AK, Mehrotra BN, Srimal RC, Srivastava MN. Bioactivity of marine organisms: part VI-screening of some marine flora from Indian coasts.  Indian J Exp Biol 1992;30(6): 512-7.
  24. Pongprayoon U. Pharmacognostic studies on the Thai medicinal plant Ipomoea pes-caprae (L.) R.Br. (Pakbungta-lae). Dissertation-Ph.D., Univ Uppsala, 1990: 1pp.