โรคออทิสติก (Autistic spectrum disorder)

โรคออทิสติก (Autistic spectrum disorder)

โรคออทิสติกคืออะไร “ออทิสติก” (Autism Spectrum Disorder) เป็นโรคที่มีชื่อเรียกหลากหลาย และมีการเปลี่ยนแปลงการเรียกชื่อเป็นระยะ เช่น ออทิสติก (Autistic Disorder), ออทิสซึม (Autism), ออทิสติก สเปกตรัม (Autism Spectrum Disorder), พีดีดี (Pervasive Developmental Disorders; PDDs), พีดีดี เอ็นโอเอส (PDD, Not Otherwise Specified) และแอสเพอร์เกอร์ (Asperger’s Disorder)  จนในปัจจุบันจึงมีการตกลงใช้คำว่า “Autism Spectrum Disorder” ตามเกณฑ์คู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชฉบับล่าสุด DSM-5 ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ซึ่งใช้อย่างเป็นทางการในระดับสากลตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 สำหรับในภาษาไทย ใช้ชื่อว่า “ออทิสติก”โรคออทิสติก(Autistic Disorder) หรือ ออทิสซึม(Autism) เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว  เป็นโรคที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของสมอง ทำให้มีความบกพร่องของพัฒนาการหลายด้าน คือ กลุ่มอาการความผิดปกติ 3 ด้านหลักคือ

  1. ภาษาและการสื่อความหมาย
  2. การสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล
  3. พฤติกรรมและความสนใจแบบจำเพาะซ้ำเดิมซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับกิจวัตรประจำวันและการเคลื่อนไหว ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดในช่วงต้นของชีวิต มักเริ่มมีอาการก่อนอายุ 3 ปี

คำว่า “Autism” มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก ว่า “Auto” ซึ่งแปลว่า Self หมายถึง แยกตัวอยู่ตามลำพังในโลกของตัวเอง เปรียบเสมือนมีกำแพงใส หรือกระจกเงา กั้นบุคคลเหล่านี้ออกจากสังคมรอบข้าง

ประวัติความเป็นมา ปี พ.ศ.2486 มีการรายงานผู้ป่วยเป็นครั้งแรก โดยนายแพทย์ลีโอ แคนเนอร์ (Leo Kanner) จิตแพทย์ สถาบันจอห์น ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา รายงานผู้ป่วยเด็กจำนวน 11 คน ที่มีอาการแปลกๆ เช่น พูดเลียนเสียง พูดช้า สื่อสารไม่เข้าใจ ทำซ้ำๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่สนใจคนอื่น เล่นไม่เป็น และได้ติดตามเด็กอยู่นาน 5 ปี พบว่าเด็กเหล่านี้แตกต่างจากเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญา จึงเรียกชื่อเด็กที่มีอาการเช่นนี้ว่า “Early Infantile Autism” ปี พ.ศ.2487 นายแพทย์ฮานส์ แอสเพอร์เกอร์ (Hans Asperger) กุมารแพทย์ ชาวออสเตรีย บรรยายถึงเด็กที่มีลักษณะเข้าสังคมลำบาก หมกมุ่นอยู่กับการทำอะไรซ้ำๆ ประหลาดๆ แต่กลับพูดเก่งมาก และดูเหมือนจะฉลาดมากด้วย เรียกชื่อเด็กที่มีอาการเช่นนี้ว่า “Autistic Psychopathy” ปี พ.ศ.2524 Lorna Wing นำมาอ้างอิงถึง ออทิสติกในความหมายของแอสเพอร์เกอร์ คล้ายคลึงกับของแคนเนอร์มาก นักวิจัยรุ่นหลังจึงสรุปว่า หมอ 2 คนนี้พูดถึงเรื่องเดียวกัน แต่ในรายละเอียดที่แตกต่างกัน ซึ่งในปัจจุบันจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน คือ “Autism Spectrum Disorder”

            จากการศึกษาระยะแรกพบอัตราความชุกของโรคออทิสติกประมาณ 4-5 รายต่อ 10000 ราย แต่รายงานในระยะหลังพบอัตราความชุกมากขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็น 20-60 รายต่อ 10000 ราย ความชุกที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความรู้เกี่ยวกับออทิสติกที่เพิ่มมากขึ้น การใช้เครื่องมือในการวินิจฉัยที่แตกต่างกัน รวมถึงจำนวนผู้ป่วยที่อาจมีเพิ่มมากขึ้น โรคออทิสติกพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงอัตราส่วนประมาณ 2-4:1 อัตราส่วนนี้สูงขึ้นในกลุ่มเด็กที่มีอาการน้อยและในทางกลับกันอัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิงต่ำลงในกลุ่มที่มีภาวะปัญญาอ่อนรุนแรงร่วมด้วย

สาเหตุของโรคออทิสติก มีความพยายามในการศึกษาถึงสาเหตุของออทิสติก แต่ก็ยังไม่ทราบสาเหตุของความผิดปกติที่แน่ชัดได้ ในปัจจุบันมีหลักฐานสนับสนุนชัดเจนว่าเกิดจากการทำงานของสมองที่ผิดปกติ มากกว่าเป็นผลจากสิ่งแวดล้อม

            ในอดีตเคยเชื่อว่าออทิสติก เกิดจากการเลี้ยงดูในลักษณะที่เย็นชา (Refrigerator Mother) (พ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องงาน จนความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกมีความเหินห่างเย็นชา ซึ่งมีการเปรียบเทียบว่า เป็นพ่อแม่ตู้เย็น) แต่จากหลักฐานข้อมูลในปัจจุบันยืนยันได้ชัดเจนว่า รูปแบบการเลี้ยงดูไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เป็นออทิสติก แต่ถ้าเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมก็จะช่วยให้เด็กพัฒนาดีขึ้นได้มาก

           แต่ในปัจจุบันนักวิจัย/นักวิทยาศาสตร์ พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านพันธุกรรมสูงมาก มีความเชื่อมโยงกับโครโมโซมหลายตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งที่ 15q 11-13, 7q และ 16p เป็นต้น และจากการศึกษาในฝาแฝด พบว่าแฝดเหมือน ซึ่งมีรหัสพันธุกรรมเหมือนกัน มีโอกาสเป็นออทิสติกทั้งคู่สูงกว่าแฝดไม่เหมือนอย่างชัดเจน

            และการศึกษาทางด้านกายวิภาคและสารสื่อประสาทในสมองของผู้ป่วยออทิสติก จากทั้งทางภาพถ่ายรังสี สัญญาณคลื่นสมอง สารเคมีในสมองรวมถึงชิ้นเนื้อ พบความผิดปกติหลายอย่างในผู้ป่วยออทิสติกแต่ยังไม่พบรูปแบบที่จำเพาะ ในทางกายวิภาคพบว่าสมองของผู้ป่วยออทิสติกมีขนาดใหญ่กว่าของคนทั่วไป และบางส่วนของสมองมีขนาดผิดปกติ ตำแหน่งที่มีรายงานพบความผิดปกติของเนื้อสมอง ได้แก่ brain stem, cerebellum, limbic system และบางตำแหน่งของ cerebral cortex

            นอกจากนี้การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ในผู้ป่วยออทิสติก พบความผิดปกติร้อยละ 10-83 เป็นความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมองแบบไม่จำเพาะ  (non-specific abnormalities) อุบัติการณ์ของโรคลมชักในเด็กออทิสติกสูงกว่าของคนทั่วไปคือ พบร้อยละ 5-38 นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับสารสื่อประสาทหลายชนิดโดยเฉพาะ  serotonin ที่พบว่าสูงขึ้นในผู้ป่วยบางราย แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดถึงความเกี่ยวข้องของความผิดปกติเหล่านี้กับการเกิดออทิสติก

            ในปัจจุบันนี้สรุปได้ว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของออทิสติกเกิดจากพันธุกรรมแบบหลายปัจจัย (multifactorial inheritance) ซึ่งมียีนที่เกี่ยวข้องหลายตำแหน่งและมีภูมิไวรับ (susceptibility) ต่อการเกิดโรคจากการสัมผัสสิ่งแวดล้อมต่างๆ

อาการของโรคออทิสติก การที่จะรู้ว่าเด็กคนใดเป็นหรือไม่เป็นออทิสติกนั้น  เริ่มแรกจะสังเกตได้จากพฤติกรรมในวัยเด็ก  ซึ่งสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ขวบปีแรก พ่อแม่อาจจะสังเกตเห็นตั้งแต่ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น  ด้านการสื่อความหมาย  มีพฤติกรรมที่ทำอะไรซ้ำๆ พฤติกรรมจะเริ่มแสดงชัดเจนมากขึ้นเมื่อเด็กอายุประมาณ 2 ขวบครึ่ง หรือ 30  เดือน  โดยมีลักษณะปรากฏเด่นชัดในเรื่องความล่าช้าด้านการพูดและการใช้ภาษา  ด้านปฏิสัมพันธ์กับสังคมสังเกตได้จากการที่เด็กจะไม่สบตา ไม่แสดงออกทางสีหน้าและท่าทางเหมือนไม่สนใจ  จะผูกสัมพันธ์หรือเล่นกับใคร  และไม่สามารถแสดงออกทางอารมณ์ให้เหมาะสมได้เมื่ออยู่ในสังคม  สามารถแยกเป็นด้าน ได้แก่

  1. ความบกพร่องในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม  (impairment in social interaction) ความบกพร่องในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเป็นอาการสำคัญของออทิสติก ซึ่งมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันไป แม้ว่าเด็กออทิสติกสามารถสร้างความผูกพันโดยพยายามที่จะอยู่ใกล้ผู้เลี้ยงดู แต่สิ่งที่ต่างจากเด็กทั่วไปคือ การขาดความรู้สึกและความสนใจร่วมกับผู้อื่น  (attention-sharing behaviours) ไม่สามารถเข้าใจหรือรับรู้ว่าผื่อนกำลังคิดหรือรู้สึกอย่างไร เป็นต้น

แม้เด็กออทิสติกที่มีระดับสติปัญญาปกติ ก็ยังมีความบกพร่องในด้านการเข้าสังคม เช่น ไม่รู้วิธีการเริ่มหรือจบทบสนทนา พ่อแม่บางคนอาจสังเกตเห็นความผิดปกติในด้านสังคมตั้งแต่ในขวบปีแรก และเมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียน อาการจะเห็นได้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ทางสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น กล่าวคือ เด็กจะไม่สามารถเข้าใจหรือรับรู้ว่าผู้อื่นกำลังคิดหรือรู้สึกอย่างไรเข้ากับเพื่อนได้ยาก มักถูกเด็กอื่นมองว่าแปลกหรือเป็นตัวตลก

  1. ความบกพร่องในการสื่อสาร (impairment in communication) เด็กออทิสติกส่วนใหญ่มีปัญหาพูดช้า ซึ่งเป็นอาการนำสำคัญที่ทำให้ผู้ปกครองพาเด็กมาพบแพทย์ การใช้ภาษาของเด็กออทิสติกมักเป็นในรูปแบบของการท่องจำซ้ำๆ และไม่สื่อความหมาย อาจมีการพูดซ้ำคำท้ายประโยค ใช้คำสรรพนามไม่ถูกต้องพูดจาวกวนอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือใช้น้ำเสียงท่วงทำนองการพูดที่ผิดปกติ

เด็กออทิสติดบางคนเริ่มพูดคำแรกเมื่ออายุ 2-3 ปี การใช้ภาษาในช่วงแรกจะเป็นการพูดทวนสิ่งที่ได้ยิน ส่วนในเด็กที่มีระดับสติปัญญาปกติหรือใกล้เคียงปกติจะมีพัฒนาการทางภาษาที่ค่อนข้างดี และสามารถใช้ประโยคในการสื่อสารได้เมื่ออายุประมาณ 5 ปี เมื่อถึงวัยเรียนความบกพร่องด้านภาษายังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการสนทนาโต้ตอบ อาจพูดจาวกวน พูดเฉพาะในเรื่องที่ตนสนใจ และมีปัญหาที่ภาษาที่เป็นนามธรรม หรือพูดไม่ถูกกาลเทศะ

  1. พฤติกรรมและความสนใจแบบจำเพาะซ้ำเดิมเพียงไม่กี่ชนิด  (restricted, repetitive and stereotypic behaviors and interests)พฤติกรรมซ้ำๆ เป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัด จึงช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ดี พฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นพฤติกรรมทางกายและการเคลื่อนไหวที่จำกัดอยู่กับความสนใจในกิจกรรมหรือสิ่งของไม่กี่ชนิด เช่น การสะบัดมือ หมุนข้อเท้า โยกศีรษะ หมุนวัตถุ เปิดปิดไฟ กดชักโครก และเมื่อมีความตื่นเต้นหรือมีภาวะกดดัน การเคลื่อนไหวซ้ำๆ มักพบได้มากขึ้น เด็กออทิสติกบางคนสนใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆที่คนอื่นๆมองข้าม

เด็กออทิสติกแบบ  high functioning ที่เป็นเด็กโตมีความสนใจบางเรื่องอย่างจำกัด โดยสิ่งที่สนใจนั้นอาจเป็นเรื่องที่เด็กทั่วๆ ไปสนใจ แต่เด็กกลุ่มนี้มีความหมกมุ่นกับเรื่องนั้นอย่างมาก เช่น จดจำรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งนั้นได้ และพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนั้นอยู่เสมอ ในเด็กกลุ่มนี้เมื่อโตขึ้นสิ่งที่สนใจอาจเป็นความรู้ทางวิชาการบางสาขา เช่น คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ซึ่งความรู้เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าเมื่อยู่ในโรงเรียน จึงช่วยให้เด็กออทิสติกเข้าร่วมสังคมในโรงเรียนได้ดีขึ้น

นอกจากนี้เด็กออทิสติกอาจจะซนมากและมีสมาธิสั้นต่อสิ่งที่ไม่ได้สนใจเป็นพิเศษ จนบางครั้งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเด็กซนสมาธิสั้น (Attention deficit and hyperactivity disorder หรือ ADHD) โดยเฉพาะเมื่ออาการของออทิสติกไม่ชัดเจน ในเด็กที่มีพัฒนาการช้าอย่างมากอาจพบพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง เช่น โขกศีรษะหรือกัดตัวเอง เป็นต้น

ในด้านสติปัญญา เด็กออทิสติกบางคนมีความสามารถพิเศษในด้านความจำหรือคำนวณโดยเฉพาะกลุ่ม high functioning อาจสามารถจำตัวอักษรและนับเลขได้ตั้งแต่อายุ 2-3 ปี เด็กบางกลุ่มสามารถอ่อนหนังสือได้ก่อนอายุ 5 ปี (hyperlexia)

แนวทางการรักษาโรคออทิสติก ในการตรวจวินิจฉัยว่าเด็กเป็นออทิสติกหรือไม่  ไม่มีเครื่องวัดที่เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์   แต่อาจมีการตรวจประกอบการวินิจฉัยจากพฤติกรรม 

            โดยเกณฑ์การวินิจฉัยโรคออทิสติกตามระบบ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DSM) เริ่มมีตั้งแต่ DSM-III (พ.ศ. 2523) และได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็น DSM-IIIR (พ.ศ. 2530) ในปัจจุบันใช้เกณฑ์การวินิจฉัยตาม DSM-IV (พ.ศ. 2537) โดยคำว่า pervasive developmental disorder (PDD) หมายถึงความผิดปกติในด้านพัฒนาการหลายด้าน ซึ่งแบ่งการวินิจฉัย PDD เป็น 5 ชนิด ได้แก่ autistic disorder, Rett’s disorder,childhood disintegrative disorder, Asperger’s disorder และpervasive developmental disorder not otherwise specified (PDD-NOS ในปัจจุบันได้รวมออทิสติกเป็นกลุ่มโรคที่มีความหลากหลายของลักษณะทางคลินิก (autistic spectrum disorder ASD) และมีคำที่เรียกกลุ่มออทิสติกที่มีความบกพร่องน้อยกว่า  high-functioning autism โดยแพทย์จะดูอาการเบื้องต้นว่ามีปัญหาด้านพัฒนาการหรือไม่ ซึ่งอาการของเด็กที่มีพัฒนาการช้าจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

โรคออทิสติก (Autistic disorder/Autism)  สามารถวินิจฉัยได้โดยการสังเกตพฤติกรรม ซึ่ง มีอาการครบ 6 ข้อ โดยมีอาการจากข้อ (1) อย่างน้อย 2 ข้อ และมีอาการ จากข้อ (2) และข้อ (3) อย่างน้อยข้อละ 2 อาการดังนี้ความผิดปกติของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างน้อย 2 ข้อ ดังต่อไปนี้

      1. ไม่สามารถใช้ภาษาท่าทางสื่อสารทางสังคมกับบุคคลอื่น เช่น การสบตา การแสดงอารมณ์ความรู้สึกทางสีหน้า และภาษาท่าทางอื่นๆ เพื่อการสื่อสาร
      2. ไม่สามารถสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลให้เหมาะสมตามวัย
      3. ขาดความสามารถในการแสวงหาการมีกิจกรรม ความสนใจ และความสนุก สนานร่วมกับผู้อื่น
      4. ขาดทักษะการสื่อสารทางสังคมและทางอารมณ์กับบุคคลอื่น
    1. ความผิดปกติด้านการสื่อสารอย่างน้อย 1 ข้อ ดังต่อไปนี้
      1. มีความล่าช้าหรือไม่มีการพัฒนาในด้านภาษาพูด
      2. ในรายที่สามารถพูดได้แล้วแต่ไม่สามารถที่จะเริ่มต้นบทสนทนาหรือโต้ตอบบทสนทนากับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม
      3. พูดซ้ำๆ หรือมีรูปแบบจำกัดในการใช้ภาษา เพื่อสื่อสารหรือส่งเสียงไม่เป็นภาษา (ภาษาต่างดาว) อย่างไม่เหมาะสม
      4. ไม่สามารถเล่นสมมุติหรือเล่นลอกตามจินตนาการได้เหมาะสมกับระดับพัฒนา การ
    2. มีพฤติกรรม ความสนใจ และกิจกรรมที่ซ้ำๆ และจำกัด อย่างน้อย 1 ข้อ ดังต่อไปนี้
      1. มีความสนใจที่ซ้ำๆ อย่างผิดปกติ
      2. มีกิจวัตรประจำวันหรือกฎเกณฑ์ที่ต้องทำโดยไม่สามารถยืดหยุ่นได้ ถึงแม้นว่ากิจวัตรหรือกฎเกณฑ์นั้นจะไม่มีประโยชน์
      3. มีการเคลื่อนไหวร่างกายซ้ำๆ เช่น สะบัดมือ เล่นมือ หมุนตัว
      4. สนใจเพียงบางส่วนของวัตถุ
  • พบความผิดปกติอย่างน้อย 1 ด้านดังต่อไปนี้ (โดยอาการเกิดก่อนอายุ 3 ขวบ)
    • ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
    • การใช้ภาษาเพื่อสื่อความหมาย
    • การเล่นสมมติหรือการเล่นตามจินตนาการ
  • ความผิดปกติที่พบไม่เข้าเกณฑ์วินิจฉัยของความผิดปกติจากโรคอื่นๆ เช่น กลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome)

การรักษา แม้ว่าในปัจจุบันนี้ยังไม่มียาหรือวิธีการรักษาออทิสติกให้หายขาดได้ แต่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าการได้รับการรักษาก่อนอายุ 3 ปี  (early intervention) โดยการกระตุ้นพัฒนาการปรับพฤติกรรมฝึกพูดและให้การศึกษาที่เหมาะสม ช่วยให้เด็กมีอาการดีขึ้น แต่ไม่มีวิธีใดที่ดีที่สุดหรือเหมาะสมสำหรับเด็กทุกคนดังนั้นจึงต้องเลือดและปรับการรักษาให้เหมาะสมในแต่ละราย  และการรักษาออทิสติกให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานเท่าไหร่ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด เพราะการรักษาให้ประสบผลสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างกันไปของผู้ป่วย เช่น ความรุนแรงของโรค ความผิดปกติซ้ำซ้อนที่เกิดกับเด็ก อาการเจ็บป่วยทางกายของเด็ก อายุที่เด็กเริ่มเข้ารับการรักษา รูปแบบการเลี้ยงดู  หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก เป็นต้น นอกจากนี้ แพทย์ต้องเฝ้าระวังอาการของเด็กร่วมด้วย เนื่องจากเด็กอาจมีความผิดปกติด้านพฤติกรรมเพิ่มขึ้นมาระหว่างรับการรักษา แพทย์จึงต้องปรับวิธีการรักษาให้เหมาะสมตลอดช่วงอายุของเด็กอยู่เสมอ

อีกทั้งการดูแลรักษาออทิสติก จำเป็นต้องอาศัยทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากสหวิชาชีพ (Multidisciplinary Team Approach) ซึ่งประกอบด้วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น (Child and Adolescent Psychiatrist) นักจิตวิทยา (Psychologist) พยาบาลจิตเวชเด็ก (Child Psychiatric Nurse) นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย (Speech Therapist) นักกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapist) ครูการศึกษาพิเศษ (Special Educator) นักสังคมสงเคราะห์ (Social Worker) ฯลฯ แต่หัวใจสำคัญของการดูแลรักษาไม่ได้อยู่ที่ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่อยู่ที่ครอบครัวด้วยว่าจะสามารถนำวิธีการบำบัดรักษาต่างๆ ที่ได้รับ มาประยุกต์ใช้ที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่องหรือไม่

โดยวิธีการรักษาที่เหมาะสมคือ บูรณาการ การรักษาด้านต่างๆเข้าด้วยกันตามความจำเป็นของเด็กแต่ละคน วิธีการรักษา ได้แก่

  • การปรับพฤติกรรมและฝึกทักษะทางสังคม เพื่อเพิ่มพฤติกรรมที่เหมาะสมและลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การลดพฤติกรรมซ้ำๆ การลดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งแนวคิดพื้น ฐานของพฤติกรรมบำบัดคือ ถ้าผลที่ตามมาหลังเกิดพฤติกรรมเป็นสิ่งที่ชอบก็จะทำให้พฤติกรรมเพิ่มขึ้น แต่ถ้าผลที่เกิดขึ้นหลังพฤติกรรมเป็นสิ่งที่ไม่ชอบก็จะทำให้พฤติกรรมลดลง โดยมีเทคนิคการปรับพฤติกรรมที่หลากหลาย เช่น การให้รางวัลหรือคำชมเมื่อมีพฤติกรรมที่เหมาะสม การเพิกเฉยเมื่อเด็กงอแง หรือการเบี่ยงเบนความสนใจเด็กไปยังสิ่งอื่นที่เด็กชอบในขณะที่เด็กงอ แงเป็นต้น
  • การฝึกพูด เป็นการรักษาที่สำคัญโดยเฉพาะในรายที่มีพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อความหมายล่าช้า การฝึกการสื่อสารได้เร็วเท่าไหร่จะทำให้เด็กเรียนรู้จากการใช้ภาษาได้เร็วเท่า นั้น และช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวที่เกิดจากการไม่สามารถสื่อสารความต้องการได้
  • การส่งเสริมพัฒนาการ ส่งเสริมพัฒนาการด้านอื่นที่ล่าช้าควบคู่กับการพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร สังคม และการปรับพฤติกรรม
  • การศึกษาพิเศษ มีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาทักษะสังคม การสื่อสาร และพัฒนาการด้านอื่นๆ ควรจัดบริการการศึกษาที่มีระบบชัดเจน ไม่มีสิ่งเร้าที่มากเกินไป และมีครูการศึกษาพิเศษดูแลโดยควรวางแผนการศึกษาร่วมกันระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียน ควรจัดกิจกรรมและการเรียนการสอนช่วงหยุดเรียนภาคฤดูร้อนเพื่อให้เด็กมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเด็กสามารถพัฒนาความสามารถด้านการช่วยเหลือตัวเอง ภาษา สังคม และจัดการกับปัญหาพฤติกรรมที่รบกวนได้แล้ว สามารถเรียนร่วมในชั้นเรียนปกติได้เพื่อพัฒนาความ สามารถทางสังคมต่อไป โดยมีการจัดแผนการสอนเฉพาะบุคคล (Individual Educational Plan; IEP) และนำกระบวนการส่งเสริมพัฒนาการและการปรับพฤติกรรมไปประยุกต์ใช้ร่วมกับการศึกษาด้วย

หากมีข้อจำกัดด้านพัฒนาการ หรือปัญหาพฤติกรรม ก็จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียนพิ เศษเฉพาะเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ชั้นเรียนปกติต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยยา เป็นการรักษาเพื่อลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและช่วยให้ฝึกเด็กได้ง่ายขึ้นแต่ควรคำนึงเสมอว่า การรักษาด้วยยานี้ ไม่ได้เป็นการรักษาอาการหลักของโรค

บรรดายาชนิดต่างๆ ที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการบางอย่างของโรคออทิสติกนั้น ส่วนใหญ่เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบสมอง เช่น ยากระตุ้นประสาทส่วนกลาง ยาต้านอาการซึมเศร้า ยาต้านลมชัก เป็นต้น ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นการสั่งจ่ายให้กับผู้ป่วยโดยที่ยังไม่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ให้รักษาโรคนี้ได้

ปัจจุบันมียาเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา แห่งสหรัฐอเมริกาให้ใช้ในผู้ป่วยออทิสติกได้คือ ยา risperidone (มีชื่อทางการค้าว่า Risperdal®) ซึ่งได้รับอนุมัติให้ใช้บรรเทาอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียว ก้าวร้าว หรือการทำร้ายตนเอง ของผู้ป่วยโรคออทิสติกที่มีอายุระหว่าง 5-16 ปี

ยาชนิดนี้เป็นยารักษาโรคจิตเภทมา 10 กว่าปีแล้ว และพบผลข้างเคียงได้บ้าง ตัวอย่างผลข้างเคียงที่พบได้แก่ ง่วงนอน ท้องผูก อ่อนเพลีย เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เจริญอาหารและน้ำหนักเพิ่ม น้ำลายไหล ปากแห้ง มือสั่น ซึม เป็นต้น

นอกจากนี้ บางคนอาจพบมีน้ำนมไหลออกมาจากเต้านม ขี้โมโหมากขึ้น หัวใจเต้นผิดปกติ และกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติได้โดยเฉพาะเรื่องน้ำหนักเพิ่มนี้พบได้บ่อย ทำให้เด็กเจริญอาหาร กินเก่ง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเด็กส่วนใหญ่เมื่อได้ใช้ยานี้แล้วมักจะช่วยให้นอนง่าย นอนเร็วขึ้น หลับตลอดทั้งคืน สมาธิและอารมณ์ดีขึ้น

ขนาดยาที่ใช้ เด็กที่มีน้ำหนักตัว 15-19 กิโลกรัม ควรเริ่มต้นด้วยขนาดยาวันละ 0.25 มิลลิกรัม และถ้าน้ำหนักตัวตั้งแต่ 20 กิโลกรัมขึ้นไป ควรใช้ยาวันละ 0.50 มิลลิกรัม โดยให้ใช้วันละ 1 ครั้ง ตอนเย็นหรือก่อนนอน และอาจเพิ่มขนาดยานี้ได้ทุกๆ 2 สัปดาห์ครั้งละ 0.25-0.50 มิลลิกรัม จนกว่าจะได้ผลดีที่สุด ซึ่งขนาดยาที่ได้ผลดี จะอยู่ระหว่าง 0.5-3.0 มิลลิกรัม/วัน

ประเทศไทยมีทั้งชนิดเม็ด ขนาดเม็ดละ 1 และ 2 มิลลิกรัม/เม็ด และมีชนิดน้ำ ขนาด 30 มิลลิลิตร (โดยมีความเข้มข้นของ 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร)

 ภาวะแทรกซ้อนของโรคออทิสติก  

  • ปัญญาอ่อน เด็กกลุ่มโรคออทิสติก 70% มีภาวะปัญญาอ่อนร่วมด้วยยกเว้น โรค Asperger’s disorder จะมีระดับเชาวน์ปัญญาปกติ
  • ชัก เด็กกลุ่มโรคออทิสติก มีโอกาสชักสูงกว่าประชากรทั่วไป และพบว่าการชักสัมพันธ์กับ IQ ต่ำ โดย 25% ของเด็กกลุ่มที่มี IQ ต่ำจะพบอาการชัก แต่พบอาการชักในกลุ่มมี IQ ปกติเพียง 5% ส่วนใหญ่อาการชักมักเริ่มในวัยรุ่น โดยช่วงอายุที่มีโอกาสชักมากที่สุดคือ 10 -14 ปี
  • พฤติกรรมก้าวร้าวและพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง พบบ่อย มีสาเหตุจากการไม่สามารถสื่อสารความต้องการได้ และกิจวัตรประจำวันที่ปฏิบัติเป็นประจำไม่สามารถทำได้ตามปกติ พบปัญหานี้บ่อยมากขึ้นในช่วงวัยรุ่น ส่วนพฤติกรรมทำร้ายตัวเองพบบ่อยในโรคกลุ่มที่มี IQ ต่ำ
  • พฤติกรรมซน/อยู่ไม่นิ่ง/หุนหันพลันแล่น/ขาดสมาธิ พบบ่อย ส่งผลกระทบต่อปัญ หาการเรียน และการทำกิจกรรมอื่นๆ
  • ปัญหาการนอน พบปัญหาการนอนได้บ่อยในเด็กกลุ่มโรคออทิสติกโดยเฉพาะปัญหานอนยาก นอนน้อย และนอนไม่เป็นเวลา
  • ปัญหาการกิน กินยาก/เลือกกิน หรือกินอาหารเพียงบางชนิด หรือกินสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร
  • เนื้องอก ทูเบอรัส สเคลอโรซิส (Tuberous Sclerosis) โรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม ถือเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้น้อย โดยทูเบอรัส สเคลอโรซิสทำให้เกิดก้อนเนื้อนิ่ม ๆ งอกขึ้นมาที่อวัยวะและสมองของเด็ก แม้จะไม่มีสาเหตุแน่ชัดว่าเนื้องอกเกี่ยวข้องกับอาการออทิสติกอย่างไร แต่จากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention) รายงานว่าเด็กออทิสติกมีอัตราการเป็นทูเบอรัส สเคลอโรซิสสูง

การติดต่อของโรคออทิสติก โรคออทิสติกเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่ชัดเจนแน่นอนแต่มีผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นระบุว่า เกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านพันธุกรรม และความผิดเปกติของสมอง ซึ่งโรคออทิสติกนี้ ไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นโรคติดต่อ เพราะไม่มีการติดต่อจากคนสู่คนหรือจากสัตว์สู่คนแต่อย่างใด

แนวทางการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยออทิสติก เนื่องจากโรคออทิสติกมักพบมากในเด็ก ดังนั้นจึงต้ออาศัยการรักษาแบบบูรณาการโดยใช้วิธีบำบัดหลายๆวิธี และใช้บุคคลหลายๆคนที่จะต้องมีความเกี่ยวพันในชีวิตประจำวันกับตัวเด็ก เช่น พ่อ แม่ บุคคลต่างๆ ในบ้าน คุณครู เพื่อที่โรงเรียนเป็นต้น ดังนั้นแนวทางการดูแลช่วยเหลือผู้ที่ป่วยเป็นโรคออทิสติก จึงมีแนวทางดังนี้

1) ส่งเสริมพลังครอบครัว (Family Empowerment) ครอบครัวมีบทบาทสำคัญที่สุดในกระบวนการดูแลช่วยเหลือเด็กออทิสติก ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน พลังครอบครัว คือ พลังแห่งความสำเร็จ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับออทิสติก มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ เพราะจะช่วยให้การดูแลช่วยเหลือเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ผู้ปกครองทุกคนเริ่มต้นที่ไม่รู้เหมือนกัน แต่ปลายทางแห่งความสำเร็จต่างกันตามการเรียนรู้ของแต่ละคน ทักษะต่างๆ จะสั่งสมตามประสบการณ์ในการดูแลช่วยเหลือที่ได้ลงมือทำไป ไม่ต้องกังวลว่าจะทำไม่ได้หรือทำได้ไม่ดี แต่ควรเริ่มต้นลงมือฝึกเด็กก่อนแล้วค่อยๆ พัฒนาวิธีการตามคำชี้แนะจากผู้เชี่ยวชาญ

 2) ส่งเสริมความสามารถเด็ก (Ability Enhancement) ถ้ามุ่งแก้ไขความบกพร่องเพียงด้านเดียว ก็จะยิ่งทำให้หมดพลังใจเร็ว เนื่องจากมองเห็นแต่ปัญหา แต่ถ้ามุ่งส่งเสริมความสามารถควบคู่ไปด้วย จะช่วยให้มีกำลังใจ เนื่องจากมองเห็นการเปลี่ยนแปลง ความสามารถในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นความสามารถพิเศษเสมอไป แต่คือสิ่งที่เด็กสามารถทำได้ เช่น ส่งเสียงอะไรได้บ้าง พูดคำว่าอะไรได้บ้าง เล่นอะไรเป็นบ้าง ดูแลช่วยเหลือตัวเองในเรื่องอะไรได้บ้าง แล้วขยายความสามารถที่ทำได้เหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำบ่อยๆ แล้วสอนเพิ่มในเรื่องที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เด็กทำได้ ก็จะยิ่งทำให้เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น และขยายขอบเขตความสามารถเพิ่มขึ้น การเสริมสร้างโอกาสให้เด็กได้เล่นของเล่นที่หลากหลาย ได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น ดนตรี กีฬา งานศิลปะต่างๆ ช่วยงานที่พ่อแม่ทำ ก็จะช่วยให้เด็กมีโอกาสแสดงความสามารถให้เห็นเพิ่มขึ้น

 3) ส่งเสริมพัฒนาการ (Early Intervention) การส่งเสริมพัฒนาการ คือการจัดกิจกรรมเพื่อใช้ในการส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการเป็นไปตามวัย โดยยึดหลักและลำดับขั้นพัฒนาการของเด็กปกติ ควรทำตั้งแต่อายุน้อย โดยต้องทำอย่างเข้มข้น สม่ำเสมอ และต่อเนื่องในระยะเวลาที่นานพอ การออกแบบการฝึกต้องให้เหมาะสมตามสภาพปัญหา ความสามารถ และความเร็วในการเรียนรู้ของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน ทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้ที่ควรเริ่มฝึกเป็นอันดับแรก เพื่อดึงเด็กออกจากโลกส่วนตัวของเขาเองมาเรียนรู้โลกภายนอก ควรเน้นในเรื่องการมองหน้าสบตา การมีสมาธิ การฟัง และทำตามคำสั่ง การฝึกทักษะเหล่านี้ในระยะเริ่มต้นจะใช้เวลานาน และเห็นการเปลี่ยนแปลงช้า ทำให้เกิดความเครียดทั้งกับผู้ปกครองและตัวเด็กเอง แต่เมื่อเด็กมีทักษะพื้นฐานเหล่านี้ดีแล้วการต่อยอดในทักษะที่ยากขึ้นก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

4) พฤติกรรมบำบัด (Behavior Therapy) โปรแกรมพฤติกรรมบำบัดประกอบด้วย การวิเคราะห์พฤติกรรมแบบประยุกต์ (Applied Behavior Analysis - ABA) และกระบวนการฝึกปรับพฤติกรรม (Behavioral Modification Procedure) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมให้คงอยู่ต่อเนื่อง หยุดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา และสร้างพฤติกรรมใหม่ที่ต้องการ nการทำพฤติกรรมบำบัด ตั้งแต่อายุน้อยๆ และทำอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะใช้โปรแกรมใดก็ตาม พบว่าช่วยเสริมสร้างทักษะด้านภาษา ด้านสังคม และทักษะอื่นๆ นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับความเครียดของผู้ปกครองด้วย เทคนิคที่ใช้มีพื้นฐานมาจากหลักการของทฤษฎีการเรียนรู้ เทคนิคที่ใช้ได้ผลดีคือ การให้แรงเสริม เมื่อมีพฤติกรรมที่ต้องการ แรงเสริมมีทั้งสิ่งที่จับต้องได้ เช่น ขนม ของเล่น สติกเกอร์ และสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น คำชมเชย ตบมือ ยิ้มให้ กอด เป็นต้น

 

5) การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ (Medical Rehabilitation) การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ประกอบด้วย

  • การแก้ไขการพูด (Speech Therapy) ถ้าเด็กพูดได้เร็ว โอกาสที่จะมีพัฒนาการทางภาษาใกล้เคียงปกติก็จะเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน การใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมก็ลดลงด้วย ดังนั้นการแก้ไขการพูด จึงมีความสำคัญ            
  • กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) เป็นการประยุกต์กิจวัตร หรือกิจกรรม มาใช้ในการตรวจประเมิน วินิจฉัย ส่งเสริม บำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้สามารถกลับไปดำรงชีวิตในสังคมได้ ช่วยเสริมสร้างสมาธิ ทักษะการคิด พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก และการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ

 6) การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา (Educational Rehabilitation) การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มทักษะพื้นฐานด้านสังคม การสื่อสาร และทักษะทางความคิด ซึ่งทำให้เกิดผลดีในระยะยาว โดยเนื้อหาหลักสูตรจะเน้นการเตรียมความพร้อม เพื่อให้เด็กสามารถใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ ได้ แทนการฝึกแต่เพียงทักษะทางวิชาการเท่านั้น

7) การฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคม (Social Rehabilitation) การฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคม ประกอบด้วยการฝึกฝนทักษะในชีวิตประจำวัน และการฝึกฝนทักษะสังคม เพื่อให้บุคคลออทิสติกสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้ตามปกติ

การฝึกฝนทักษะในชีวิตประจำวัน (Activity of Daily Living Training) ควรมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องกิจวัตรประจำวัน ให้เด็กสามารถทำได้ด้วยตนเองเต็มความสามารถที่เขามีอยู่ โดยต้องการความช่วยเหลือน้อยที่สุด ในการฝึกฝน เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้จนสามารถปฏิบัติได้ และเกิดเป็นความเคยชิน ติดตัวไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพื่อให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้ตามศักยภาพ ลดการดูแลของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง และเกิดความภาคภูมิใจ เมื่อเขาสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง

การฝึกฝนทักษะสังคม (Social Skill Training) ทักษะสังคม เป็นความบกพร่องที่สำคัญของเด็กออทิสติก ดังนั้นจึงต้องให้การฝึกฝนด้านนี้เป็นพิเศษ ซึ่งทำได้โดยจำลองเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ทางสังคมต่างๆ เพื่อให้ทดลองปฏิบัติจนเกิดความชำนาญ หรือการสอนโดยให้จดจำรูปแบบบทสนทนาในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อนำมาใช้โดยตรง

8) การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ (Vocational Rehabilitation) บุคคลออทิสติกสามารถประกอบอาชีพได้ปกติ ตามความถนัดของแต่ละคน ถ้ามีการเตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสม และสังคมมีความเข้าใจ เปิดโอกาสให้

การป้องกันโรคออทิสติก  ทางการแพทย์ยังไม่มีวิธีป้องกันออทิสติกหรือกลุ่มอาการออทิสติกไม่ให้เกิดในเด็กได้ เพราะแพทย์และนักวิจัยต่างเห็นว่าความผิดปกติของยีนที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดออทิสติกนั้นอยู่เหนือการควบคุมของพ่อแม่เด็ก บางรายอาจเกิดการติดเชื้อตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์หากผู้เป็นแม่ได้รับสารเคมีบางอย่างเข้าไปตอนที่ตั้งท้อง ซึ่งแพทย์ก็ไม่สามารถตรวจพบได้ว่าทารกในครรภ์จะเป็นออทิสติกเมื่อคลอดออกมา อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ต่างมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ลูกของตนมีแนวโน้มเป็นออทิสติกลดลงได้ โดยปฏิบัติดังนี้

  • รักษาสุขภาพ สตรีมีครรภ์ควรฝากครรภ์และรับการตรวจสุขภาพกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ควรรับประทานอาหารให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการและออกกำลังกาย รวมทั้งรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมตามคำแนะนำของแพทย์
  • งดใช้ยาขณะตั้งครรภ์ ขณะตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานยาเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้เป็นแม่ต้องรับประทานยาต้านโรคชัก
  • เลี่ยงสารเสพติดทุกชนิด งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์
  • ปรึกษาแพทย์เมื่อป่วย ในกรณีที่คุณแม่บางรายป่วยหรือได้รับการวินิจฉัยว่าป็นโรคแพ้กลูเตน (Celiac Disease) หรือโรคฟีนิลคีโตนูเรีย ( Phenylpyruvic Oligophrenia: PKU) ควรปรึกษาแพทย์และทำตามคำแนะนำในการรักษาอย่างเคร่งครัด

สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/รักษาโรคออทิสติก ในปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคออทิสติก แต่เชื่อกันว่าเกิดจากพันธุกรรมและความผิดปกติของสมองและยังไม่มีวิธีการรักษาไม่ว่าด้วยการใช้ยาหรือการบำบัดที่เป็นแบบเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นจึงยังไม่มีสมุนไพรใดที่จะใช้ป้องกันหรือรักษาโรคออทิสติกได้

 

 เอกสารอ้างอิง

  1. Rutter M, Bailey A, Simonoff E, Pickles A. Genetic influences in autism. In: Handbook of autism and pervasive developmental disorders, 2nded, Cohen DJ, Volkmar FR, eds. New York: Wiley, 1997: pp.370-387
  2. ออทิสติก (Autistic Disorder) ข้อมูลวิชาการ.กลุ่มโรคสำคัญ.สถาบันราชานุกูล.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://rajanukul.go.th/new/index.php?mode=academic&group=269&id=3230&date_start=&date_end=
  3. ออทิสติก(Autistic).พบแพทย์ดอทคอม.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก  https://www.pobpad.com
  4. American Psychiatric Association, Neurodevelopmental Disorders. In: American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and statistical manual of mental disorders 5th ed. (DSM-5). Washington DC: American Psychiatric Publishing; pp. 31-86.
  5. American Psychiatric Association. Diagnostic and statistical manual of mental disorders 4th- edition (DSM-    IV). Washington, DC: American Psychiatric Association, 1994: 63-65
  6. Chakrabarti S, Fombonne E. Pervasive developmental disorders in preschool children. JAMA 2001;285:3093-9
  7. จริยา จุฑาภิสิทธิ์ และจุฑามาส วรโชติกำจร.กลุ่มอาการออทิซึม (Autism Spectrum Disorders). ใน:ทิพวรรณ หรรษคุณาชัย, รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์, ชาคริยา ธีรเนตร, อดิศร์สุดา เฟื่องฟู, สุรีย์ลักษณ์ สุจริตพงษ์,พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์. บรรณาธิการ.ตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กสำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป.กรุงเทพฯ: บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์, 2554:324 – 48.
  8. สาวิตรี รุญเจริญ.มารู้จักเด็กออทิสติกกันเถอะ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการจัดการศึกษาพิเศษแบบเรียนรวมสำหรับเด็กออทิสติกโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น.
  9. เพ็ญแข ลิ่มศิลา. การวินิจฉัยโรคออทิซึม. สมุทรปราการ: ช.แสงงามการพิมพ์, 2545
  10. . Francis K. Autism interventions: a critical update. DevMed Child Neurol 2005;47:493-9.
  11. พญ.จุฑามาศ วิโรจน์อนันต์,พญ.จตุรพร แสงกูล,รศ.นพ.พรพรต ลิ้มประเสริญ,ออทิซีม.บทความปริทัศน์.วารสารสงขลานครินทร์เวชสาร.ปีที่24.ฉบับที่4.กรกฎาคม.สิงหาคม2549.หน้า325-332
  12. ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด.ผู้ป่วยออทิสติกกับการใช้ยา.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่358.คอลัมน์การใช้ยาพอเพียง.กุมภาพันธ์2552
  13. Tanguay RE. Pervasive developmental disorders : a 10-year review. J Am Acad Child Adolese Psychiatry, 2000, 39: 1079-1095
  14. Volkmar, F. R., Klin, A. (2000). Pervasive developmental disorders. In: Comprehensive textbook of psychiatry volume II, 7th ed, Sadock, B. J., Sadock, V. A., (eds). Baltimore: William & Wilkins, pp.2659-2678.
  15. Bauer S. Autism and the pervasive developmental disorders: part 1. Pediatr Rev 1995;4:130-6.
  16. ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2555). คู่มือออทิสติก สำหรับผู้ปกครอง. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  17. Volkmar, F R , Lord, C., Clin, A., Schultz, R., Cook, E. H. (2004). Autism and the pervasive developmental disorders. In: Lewis’s child and adolescent psychiatry: a comprehensive textbook, 4th ed, Martin A and Volkmar FR, eds. Baltimore: William & Wilkins, pp.384-422.
  18. American academy of pediatrics, committee on children with disabilities. The pediatrician role’s in the diagnosis and management of autistic spectrum disorder in children. Pediatrics 2001;107:1221-6.
  19.  Bertrand J, Mars A, Boyle C. Prevalence of autism in a United States population. Pediatrics 2001;108:1155-6.
  20. American Psychiatric Association, Neurodevelopmental Disorders. In: American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and statistical manual of mental disorders 5th ed. (DSM-5). Washington DC: American Psychiatric Publishing; pp. 31-86
  21. Marcus LM, Kunce LJ, Schopler E. Working with families. In: Handbook of autism and pervasive developmental disorders, 2nd ed, Cohen DJ, Volkmar FR, eds. New York: Wiley, 1997: pp.631-649
  22. . Allen G, Courchesne E. Differential effects of developmental cerebellar abnormalities on cognitive and motor functions in the cerebellum: an fMRI study in autism. Am J Psychiatry 2003;160:262-73.
  23. . Minshew NJ. Indices of neural function in autism:clinical and biologic implications. Pediatrics 1991;87(Suppl):774-80.