โรคโปลิโอ (Poliomyelitis)

โรคโปลิโอ (Poliomyelitis)

โรคโปลิโอคืออะไร โรคโปลิโอค้นพบครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1840 โดย Jakob Heineส่วนไวรัสโปลิโอซึ่งเป็นสาเหตุของโรคถูกพ้นพบเมื่อ ค.ศ. 1908 โดย Karl Landsteinerโรคโปลิโอ หรือ ไข้ไขสันหลังอักเสบ  เป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานแก่เด็กทั่วโลก ซึ่งมีผู้ป่วยในอดีตมากกว่า 350,000 รายต่อปี เนื่องจากก่อให้เกิดความพิการ ขา หรือ แขนลีบ และเสียชีวิต ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดงของโรค ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการนั้นส่วนใหญ่จะมีอาการเพียงเล็กน้อยอย่างไม่จำเพาะและหายได้เองภายในเวลาไม่กี่วัน แต่จะมีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยที่จะมีอาการของกล้ามเนื้ออ่อนแรงและเมื่อผ่านไปหลาย ๆ ปีหลังการรักษา ผู้ป่วยที่เคยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงนี้อาจจะเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงซ้ำขึ้นมาอีก รวมทั้งอาจเกิดกล้ามเนื้อฝ่อลีบและเกิดความพิการของข้อตามมาได้ ในปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มียารักษา แต่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคได้

โรคโปลิโอ นับเป็นโรคที่มีความสำคัญมากโรคหนึ่ง ทั้งนี้เพราะเชื้อ ไวรัสโปลิโอ จะทำให้มีการอักเสบของไขสันหลังทำให้มีอัมพาตของกล้ามเนื้อแขนขา ซึ่งในรายที่อาการรุนแรงจะทำให้มีความพิการตลอดชีวิต และบางรายอาจถึงเสียชีวิตได้ ในปี พ.ศ. 2531 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ทุกประเทศร่วมมือกวาดล้างโรคโปลิ โอ ทำให้อัตราการป่วยทั่วโลกลดลงไปมากถึง 99% โดยลดลงจาก 350,000 ราย (จาก 125 ประเทศทั่วโลก) ในปี พ.ศ. 2531 เหลือเพียง 820 รายใน 11 ประเทศในปี พศ. 2550 ซึ่งประ เทศที่ยังพบโรคมากอยู่คือ อินเดีย (400 กว่าราย) ปากีสถาน ไนจีเรีย และอัฟกานิสถาน 

ส่วนในประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยโรคโปลิโอมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยพบรายสุดท้ายในปี พ.ศ. 2540 ที่ จ. เลย แต่เด็กทุกคนยังคงต้องได้การฉีดรับวัคซีนตามมาตรการกวาดล้างโรคโปลิโอร่วมกับนานาประเทศทั่วโลก เนื่องจากโปลิโอเป็นโรคร้ายแรงที่สร้างความสูญเสียทั้งทางด้านร่างกายและเศรษฐกิจ และปัจจุบันถึงแม้ว่า องค์การอนามัยโลก CWHO ได้ประกาศรับรองให้เป็นประเทศที่ปลอดโรคโปลิโอแล้วเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557 แต่ประเทศไทยยังที่มีความเสี่ยงต่อโรคโปลิโออยู่ เพราะมีอาณาเขตติดกับประเทศที่มีการระบาดของโรคโปลิโออย่างพม่าและลาวที่เพิ่งพบเชื้อโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธ์ไปเมื่อปี พ.ศ. 2558

สาเหตุของโรคโปลิโอ โรคโปลิโอเกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ single-stranded RNA virus ไม่มีเปลือกหุ้มจัดอยู่ใน Family Picornaviridae, Genus Enterovirus มี 3 ทัยป์ คือ ทัยป์ 1, 2 และ 3 โดยแต่ละชนิดอาจจะทำให้เกิดอัมพาตได้ พบว่า type 1 ทำให้เกิดอัมพาตและเกิดการระบาดได้บ่อยกว่าทัยป์อื่นๆ และเมื่อติดเชื้อชนิดหนึ่งแล้วจะมีภูมิคุ้มกันถาวรเกิดขึ้นเฉพาะต่อทัยป์นั้น ไม่มีภูมิต้านทานต่อทัยป์อื่น ดังนั้น ตามทฤษฎีนี้แล้ว คน 1 คน อาจติดเชื้อได้ถึง 3 ครั้ง และแต่ละทัยป์ของไวรัสโปลิโอ จะแบ่งย่อยได้อีก 2 สายพันธุ์ คือ

  1. สายพันธุ์รุนแรงก่อโรค (Wild strain) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ระหว่างการเฝ้าระวังและกวาดล้าง โดยปัจจุบันยังพบสายพันธุ์รุนแรงนี้ใน 2 ประเทศ คือ อัฟกานิสถานและปากีสถาน
  2. สายพันธุ์วัคซีน (Vaccine strain หรือ Sabin strain) เป็นการทำให้เชื้อไวรัสโปลิโอทั้ง 3 ชนิดย่อยอ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ แล้วนำมาใช้เป็นวัคซีนชนิดหยด หรือที่เรียกกันว่า OPV (Oral polio vaccine) เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย แต่อย่างไรก็ตาม ไวรัสโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนอาจมีการเปลี่ยนแปลงในระดับโมเลกุลจนสามารถทำให้เกิดสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์ และก่อให้เกิดโรคโปลิโอได้ ซึ่งการเกิดนี้มักจะเกิดในชุมชนที่มีระดับความครอบคลุมของวัคซีนโปลิโอค่อนข้างต่ำเป็นระยะเวลานาน

โดยเชื้อโปลิโอนี้จะอยู่ในลำไส้ของคนเท่านั้น ไม่มีแหล่งรังโรคอื่นๆ เชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้ในลำไส้ของคนที่ไม่มีภูมิต้านทานและอยู่ภายในลำไส้ 1-2 เดือน เมื่อถูกขับถ่ายออกมาภายนอก จะไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ และเชื้อจะอยู่ภายนอกร่างกายในสิ่งแวดล้อมไม่ได้นาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตร้อน อายุครึ่งชีวิตของไวรัสโปลิโอ (half life) ประมาณ 48 ชั่วโมง

อาการของโรคโปลิโอ  เมื่อเชื้อโปลิโอเข้าสู่ร่างกายของผู้ที่ไม่มีภูมิต้านทาน ไวรัสจะเข้าไปเพิ่มจำนวนในบริเวณ pharynx และลำไส้ สองสามวันต่อมาก็จะกระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอที่ทอนซิล และที่ลำไส้และเข้าสู่กระแสเลือดทำให้มีอาการไข้เกิดขึ้น ส่วนน้อยของไวรัสจะผ่านจากกระแสเลือดไปยังไขสันหลังและสมองโดยตรง หรือบางส่วนอาจผ่านไปไขสันหลังโดยทางเส้นประสาท เมื่อไวรัสเข้าไปยังไขสันหลังแล้วมักจะไปที่ส่วนของไขสันหลังหรือสมองที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ เมื่อเซลล์สมองในส่วนที่    ติดเชื้อมีอาการอักเสบมากจนถูกทำลายไป กล้ามเนื้อที่ควบคุมโดยเซลล์ประสาทนั้นก็จะมีอัมพาตและฝ่อไปในที่สุด

      ทั้งนี้สามารถแบ่งผู้ป่วยโปลิโอตามกลุ่มอาการได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

1.  กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีประมาณ 90 – 95% ของผู้ติดเชื้อโปลิโอทั้งหมด มีความสำคัญทางด้านระบาดวิทยา เพราะเชื้อไวรัสโปลิโอที่เข้าไปจะไปเพิ่มจำนวนในลำไส้ และขับถ่ายออกมาเป็นเวลา 1-2 เดือน นับเป็นแหล่งแพร่โรคที่สำคัญในชุมชน

2.  กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการน้อยมาก (Abortive poliomyelitis) หรือที่เรียกว่า abortive case หรือ minor illnessซึ่งจะพบได้ประมาณ 5-10% ของผู้ติดเชื้อโปลิโอทั้งหมด มักจะมีอาการไข้ต่ำๆ เจ็บคอ อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร และอ่อนเพลีย อาการจะเป็นอยู่ 3-4 วัน ก็จะหายเรียบร้อยโดยไม่มีอาการอัมพาต ซึ่งจะวินิจฉัยโรคแยกจากโรคติดเชื้อไวรัสอื่นไม่ได้

3.  กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสโปลิโอ (Nonparalytic poliomyelitis)กลุ่มนี้จะพบได้เพียง 1% ของผู้ติดเชื้อโปลิโอทั้งหมด จะมีอาการเช่นเดียวกับที่เกิดจากเชื้อไวรัสอื่นๆ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้าย abortive case แต่จะตรวจพบคอแข็งชัดเจน มีอาการปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อ เมื่อตรวจน้ำไขสันหลังก็จะพบผิดปกติแบบการติดเชื้อไวรัส มีเซลล์ขึ้นไม่มากส่วนใหญ่เป็นลิมโฟซัยท์ ระดับน้ำตาลและโปรตีนปกติ หรือเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย

4.  กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Paralytic poliomyelitis)เป็นอัมพาตกลุ่มนี้พบได้น้อยมากจะมีอาการแบ่งได้เป็น 2 ระยะ ระยะแรกคล้ายกับใน abortive case หรือเป็น minor illness เป็นอยู่ 3-4 วัน หายไป 3-4 วัน เริ่มมีไข้กลับมาใหม่ พร้อมกับมีอาการปวดกล้ามเนื้ออาจมีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อก่อนที่จะมีอัมพาตเกิดขึ้น กล้ามเนื้อจะเริ่มมีอัมพาตและเพิ่มจำนวนกล้ามเนื้อที่มีอัมพาตอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่จะเกิดเต็มที่ภายใน 48 ชั่วโมง และจะไม่ขยายเพิ่มขึ้นภายหลัง 4 วัน เมื่อตรวจดูรีเฟลกซ์บางครั้งจะพบว่าหายไปก่อนที่กล้ามเนื้อจะมีอัมพาตเต็มที่

          ลักษณะของอัมพาตในโรคโปลิโอมักจะพบที่ขามากกว่าแขนและจะเป็นข้างเดียวมากกว่า 2 ข้าง (asymmetry) มักจะเป็นกล้ามเนื้อต้นขา หรือต้นแขนมากกว่าส่วนปลาย เป็นแบบอ่อนปวกเปียก (flaccid) โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระบบความรู้สึก (sensory) ที่พบบ่อยคือเป็นแบบ spinal form ที่มีอัมพาตของแขน ขา หรือกล้ามเนื้อลำตัว ในรายที่เป็นมากอาจมีอัมพาตของกล้ามเนื้อส่วนลำตัวที่หน้าอกและหน้าท้อง ซึ่งมีความสำคัญในการหายใจ ทำให้หายใจเองไม่ได้ อาจถึงตายได้ถ้าช่วยไม่ทัน

ปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคโปลิโอ โรคโปลิโอมักพบได้ในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสติดเชื้อนี้ได้เท่ากัน และมีโอกาสติดเชื้อโปลิโอได้ง่าย แต่มีผู้ป่วยน้อยมากที่จะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เชื้อไวรัสชนิดนี้จะเจริญเติบโตอยู่ในลำไส้ เชื้อจึงถูกขับออกจากร่างกายมากับอุจจาระและแพร่ไปสู่ผู้อื่นผ่านการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งเกิดจากการขับถ่ายที่ไม่ถูกสุขลักษณะและไม่ล้างมือก่อนกินอาหาร โรคนี้จึงมักพบมากในประเทศที่ด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาที่ขาดการดูแลเรื่องสุขอนามัยที่ดี

อีกทั้งผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโปลิโอนั้น จะยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อยิ่งขึ้นหากอยู่ในภายในกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้

  • หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และเด็กเล็กซึ่งจะมีความไวต่อการได้รับเชื้อโปลิโอ
  • เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโปลิโอหรือเพิ่งเกิดการระบาดของโรคเมื่อไม่นานมานี้
  • เป็นผู้ดูแลหรืออาศัยอยู่กับผู้ติดเชื้อโรคโปลิโอ
  • ทำงานในห้องปฏิบัติการที่สัมผัสใกล้ชิดกับเชื้อไวรัส
  • ผู้ที่ผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออกไป

แนวทางการรักษาโรคโปลิโอ แพทย์จะวินิจฉัยโรคโปลิโอด้วยการสอบถามอาการจากผู้ป่วยว่ารู้สึกเจ็บปวดบริเวณหลังและคอ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนหรือหายใจหรือไม่ ตรวจดูปฏิกิริยาสะท้อนกลับของร่างกาย รวมถึงการตรวจทางน้ำเหลือง โดยเก็บตัวอย่างในช่วงระยะเฉียบพลันและระยะแฝงของโรค ตรวจสารภูมิคุ้มกัน IgM หรือ IgG นอกจากนี้เพื่อยืนยันให้แน่ใจอาจมีการตรวจหาเชื้อไวรัสโปลิโอด้วยการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากลำคอ อุจจาระ หรือน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้ออัมพาตแบบอ่อนปวกเปียก (acute flaccid paralysis : AFP) แพทย์จะดำเนินการสอบสวนโรค พร้อมกับเก็บอุจจาระส่งตรวจเพื่อ    แยกเชื้อโปลิโอ การวินิจฉัยที่แน่นอนคือ แยกเชื้อโปลิโอได้จากอุจจาระ และทำการตรวจว่าเป็นทัยป์ใดเป็นสายพันธุ์ wild strain หรือ vaccine strain (Sabin strain)

       การเก็บอุจจาระส่งตรวจจะเก็บ 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ต้องเก็บให้เร็วภายใน 1-2 สัปดาห์ภายหลังที่พบมีอาการ AFP ซึ่งเป็นช่วงที่มีจำนวนไวรัสในอุจจาระมากกว่าระยะอื่นๆ การจัดส่งอุจจาระเพื่อส่งตรวจจะต้องให้อยู่ในอุณหภูมิ 4-8๐ ซ ตลอดเวลา มิฉะนั้นเชื้อโปลิโออาจตายได้ ปัจจุบันโรคโปลิโอยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แพทย์สามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยตามอาการ  และขณะนี้ก็ยังไม่มียารักษาโรคโปลิโอโดยเฉพาะ การรักษาจะเป็นแบบประคับประคอง เช่น ให้ยาลดไข้ และลดอาการปวดของกล้ามเนื้อ ในรายที่มีอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อแขน ขา การทำกายภาพ บำบัดจะช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้อให้ดีขึ้น

สำหรับการรักษาผู้ป่วยกลุ่มอาการหลังเกิดโรคโปลิโอ (Post-polio syndrome – PPS) การรักษาหลักจะเน้นไปที่การทำกายภาพบำบัดมากกว่า เช่น การใส่อุปกรณ์ช่วยยึดลำตัว อุปกรณ์ช่วยในการเดิน อุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันข้อบิดผิดรูปหรืออาจใช้การผ่าตัดช่วย การฝึกพูดและฝึกกลืนในผู้ป่วยที่มีปัญหา การออกกำลังกายที่เน้นการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อภายใต้คำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด การใช้เครื่องช่วยหายใจในขณะหลับหากผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการหยุดหายใจในขณะหลับ รวมทั้งการดูแลทางด้านอารมณ์และจิตใจของผู้ป่วยร่วมด้วย

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคโปลิโอ

1.  ถ้าได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโปลิโอไม่ว่ามีอาการอยู่ในกลุ่มใด ถ้าแพทย์ให้กลับไปอยู่บ้านญาติต้องระวังการแพร่เชื้อสู่บุคคลในบ้าน เพราะผู้ป่วยจะสามารถขับเชื้อออกมาทางอุจจาระได้นานถึงประมาณ 3 เดือนหลังติดเชื้อ และถ้าหากผู้ป่วยมีภาวะภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรคบกพร่องด้วยแล้วจะสามารถแพร่เชื้อได้นานถึงประมาณ 1 ปี โดยให้ญาติดูแลเรื่องการขับ ถ่ายของผู้ป่วยให้ถูกสุขลักษณะ การล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำและก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก การกินอาหารปรุงสุกใหม่เสมอ การล้างผักผลไม้ให้สะอาดและปอกเปลือกผลไม้ก่อนกิน และหากบุคคลในบ้านคนใดยังไม่เคยรับวัคซีนโปลิโอ ก็ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับวัคซีนให้ครบ

2.  ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่

3.  หากผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงให้ญาติช่วยทำกายภาพบำบัดเพื่อส่งเสริมทักษะการเคลื่อนไหว และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัด

4.  ญาติควรดูแลและเอาใจใส่ผู้ป่วย รวมถึงดูแลทางด้านสภาวะจิตใจ สภาวะทางอารมณ์ของผู้ป่วยและให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยด้วย

5.  ญาติควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด หรือ หากมีอาการผิดปกติที่เป็นอันตราย ก็ควรพาไปพบแพทย์โดยด่วน

การป้องกันโรคโปลิโอ

1.  โรคโปลิโอสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งวัคซีนที่มีใช้ทั่วโลกมี 2 ชนิด คือ

·         วัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน (Oral Poliomyelitis Vaccine: OPV, Sabin) การกวาดล้างในประเทศไทยโรคโปลิโอ H T กลุ่มโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน สำนักโรคติดต่อทั่วไป Albert Bruce Sabin M.D. Jonas Edward Salk M.D. เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (attenuated live oral poliomyelitis vaccine) สายพันธุ์ Sabin คิดค้นโดย Albert Bruce Sabin ชาวอเมริกัน เมื่อปี พ.ศ. 2504 วัคซีนประกอบด้วยเชื้อไวรัสโปลิโอ 3 ทัยป์ คือ ทัยป์ 1, 2 และ 3 ให้วัคซีนโดยการรับประทานเป็นการเลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ ที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่เยื่อบุลำคอและลำไส้ของผู้รับวัคซีน และสามารถแพร่เชื้อวัคซีนไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับผู้สัมผัสใกล้ชิดได้อีกด้วย ปัจจุบันวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทานนี้นับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการกวาดล้างโรคโปลิโออย่างยิ่ง เพราะสามารถป้องกันและกำจัดเชื้อโปลิโอสายพันธุ์ก่อโรคได้เป็นอย่างดี มีราคาถูกและมีวิธีการให้วัคซีนง่าย แต่มีข้อเสีย คืออาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงคล้ายโรคโปลิโอ (Vaccine Associated Paralytic Polio: VAPP) ซึ่งเกิดขึ้นน้อยมาก ประมาณ 1 ใน 2.7 ล้านโด้ส หรืออาจเกิดการกลายพันธุ์ (Vaccine Derive Polio Virus: VDPV) จนก่อโรคได้ในพื้นที่ที่มีความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนต่ำ วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด (Inactivated Poliomyelitis Vaccine: IPV, Salk) เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อไวรัสโปลิโอที่ตายแล้ว (kill vaccine) คิดค้นโดย Jonas Edward Salk ชาวอเมริกัน เมื่อปี พ.ศ. 2498 วัคซีนชนิดนี้ประกอบด้วยเชื้อโปลิโอ 3 ทัยป์ ให้วัคซีนโดยการฉีด ในปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้วัคซีนโปลิโอในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยให้วัคซีน OPV 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน 1 ปีครึ่ง และ 4 ปี และให้วัคซีน IPV 1 ครั้ง เมื่ออายุ 4 เดือน

2.  ป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อโปลิโอ ด้วยการรับประทานอาหารและดื่มน้ำสะอาดถูกสุขลักษณะ รวมทั้งการถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะทุกครั้ง

3.  ภายหลังเข้าไปคลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วยโรคโปลิโอ หรอเข้าไปดูแลเปลี่ยนผ้าให้แก่ผู้ป่วยควรล้ามือด้วยสบู่ทุกครั้ง

4.  เมื่ออยู่ในพื้นที่มีการระบาดของโรคโปลิโอ ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติให้เคร่งครัด

สมุนไพรที่ใช้รักษา/บรรเทาโรคโปลิโอ เนื่องจากโรคโปลิโอเป็นโรคที่ติดต่อจากเชื้อไวรัสที่มีการติดต่อได้ง่าย และในผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคนั้นอาจทำให้เสียชีวิตหรือพิการได้ ซึ่งในปัจจุบันนั้นยังไม่มียาที่ใช้รักษาโรคโปลิโอให้หายได้ รวมถึงยังไม่มีข้อมูลว่ามีสมุนไพรชนิดไหนที่ใช้รักษาหรือบรรเทาอาการของโรคโปลิโอได้เช่นกัน

 

เอกสารอ้างอิง

1.      การกวาดล้างโรคโปลิโอในประเทศไทย.กลุ่มโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนสำนักโรคติดต่อทั่วไป.วารสาร ดร.สัมพันธ์.ปีที่ 3.ฉบับที่ 4.เมษายน-พฤษภาคม 2559.หน้า 2-3

2.      โปลิโอ.อาการ,สาเหตุ,การรักษา.พบแพทย์.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com

3.      หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  โปลิโอ (Poliomyelitis)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 571-572.

4.      Paul JR (1971). A History of Poliomyelitis. Yale studies in the history of science and medicine. New Haven, Conn: Yale University Press. pp. 1618. ISBN 0-300-01324-8.

5.      Cohen JI (2004). "Chapter 175: Enteroviruses and Reoviruses". In Kasper DL, Braunwald E, Fauci AS, et al. (eds.). Harrison's Principles of Internal Medicine (16th ed.). McGraw-Hill Professional. p. 1144. ISBN 0-07-140235-7.

6.      โรคโปลิโอ(Poliomyelitis).ความรู้เรื่องโรคติดต่อ.สำนักโรคติดต่อทั่วไป.กรมควบคุมโรค.กระทรวงสาธารณสุข

7.      Ryan KJ, Ray CG (eds.) (2004). "Enteroviruses". Sherris Medical Microbiology (4th ed.). McGraw Hill. pp. 5357. ISBN 0-8385-8529-9.

8.      Jeffrey I. Cohen, enteroviruses and reoviruses, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001

9.      โรคโปลิโอ(Polio).สำนักโรคติดต่อทั่วไป.กรมควบคุมโรค.กระทรวงสาธารณสุข.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.thaigcd.dde.moph.go.th/uploads/pdf/polio/โรคโปลิโอ.doc.