โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever)

1.  โรคไข้เลือดออกคืออะไร รคไข้เลือดออก คือ โรคติดเชื้อซึ่งมีสาเหตุมาจาก ไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหนะนำโรคอาการของโรคนี้มีความคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดในช่วงแรก (แต่จะไม่มีอาการน้ำมูลไหล คัดจมูก หรือไอ) จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าตนเป็นเพียงโรคไข้หวัด และทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องในทันที โรคไข้เลือดออกมีอาการและความรุนแรงของโรคหลายระดับตั้งแต่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยไปจนถึงเกิดภาวะช็อกซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต สถิติในปี พ.ศ. 2554 รายงานโดย กลุ่มโรคไข้เลือดออก สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีอัตราป่วย 107.02 และอัตราป่วยตาย 0.10 ซึ่งหมายความว่า ในประชากรทุก 100,000 คน จะมีผู้ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกได้ถึง 107.02 คน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 0.1 คน เลยทีเดียว ทั้งนี้โรคไข้เลือดออกยังเป็นโรคระบาดที่พบมากแถบบ้านเราและประเทศใกล้เคียง มีการระบาดเป็นระยะๆ ทั่วทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด  มักพบการระบาดในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่มียุงลายชุกชุม จากสถิติในปี พ.ศ. 2556 ของสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีผู้ป่วยจำนวน 154,444 ราย (คิดเป็นอัตราป่วย 241.03 ต่อประชากร 100,000 ราย) และมีจำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวน 136 ราย (คิดเป็นอัตราเสียชีวิต 0.21 ต่อประชากร 100,000 ราย)

2.  สาเหตุของโรคไข้เลือดออก โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่าไวรัสเดงกี  Dengue 4 ชนิดคือ Dengue 1, 2, 3 และ 4 โดยปกติไข้เลือดออกที่พบกันทั่ว ๆ ไปทุกปีมักจะเกิดจากเชื้อไวรัสDengue ชนิดที่ 3 หรือ 4 แต่ที่มีข่าวมาในระยะนี้จะเป็นการติดเชื้อในสายพันธ์2เป็นสายพันธ์ที่พบได้ประปรายแต่อาการมักจะรุนแรงกว่าสายพันธ์ที่ 3, 4 และต้องเป็นการติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 (Secondaryinfection) ไวรัสเดงกี่ เป็น single strandcd RNA ไวรัส อยู่ใน familyflavivirida มี4 serotypes (DEN1, DEN2, DEN3, DEN4) ซึ่งมีantigen ของกลุ่มบางชนิดร่วมกัน จึงทำให้มีcross reaction กล่าวคือ เมื่อมีการติดเชื้อชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชนิดนั้นอย่างถาวรตลอดชีวิต และจะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกี่อีก 3 ชนิด ในช่วงระยะสั้น ๆ ประมาณ 6 - 12 เดือน (หรืออาจสั้นกว่านี้) ดังนั้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีไวรัสเดงกี่ชุกชุมอาจมีการติดเชื้อ 3หรือ 4 ครั้งได้  การติดเชื้อไวรัสเดงกีมีอาการแสดงได้ 3 แบบ คือ ไข้เดงกี (Denque Fever – DF),มักจะเกิดกับเด็กโตหรือผู้ใหญ่อาจจะมีอาการไม่รุนแรงและไม่สามารถจะวินัจฉัยได้การอาการทางคลินิกได้แน่นอนต้องอาศัยการตรวจทางน้ำเหลืองและแยกเชื้อไวรัสไข้เลือดออก หรือ ไข้เลือดออกเดงกี (Dengue hemorrhagic fever – DHF) และไข้เลือดออกเดงกีที่ช็อก (Denque Shock Syndrome – DSS) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นต่อจากระยะ DHF คือมีการรั่วของพลาสมาออกไปมากทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะช็อก และสามารถตรวจพบรระดับอีมาโตคริต    (Hct) สูงขึ้นรวมถึงมีน้ำในเยื่อหุ้มช่วงปอดและช่องท้องอีกด้วย

3.  อาการของโรคไข้เลือดออก ระยะที่ 1 (ระยะไข้สูง) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอย (รับประทานยาลดไข้ไข้ก็จะไม่ลด) ไข้39 - 41 องศาเซลเซียส ประมาณ 2 - 7 วันทุกรายจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ไข้อาจสูงถึง 40 - 41 องศาเซลเซียสได้ซึ่งบางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้น ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง (Flushed face) อาจตรวจพบคอแดง (Injected pharynx) ได้แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหล หรืออาการไอ ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคจากหัดในระยะแรก และโรคระบบทางเดินหายใจได้ เด็กโตอาจบ่นปวดศีรษะปวดรอบกระบอกตาในระยะไข้นี้อาการทางระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย คือเบื่ออาหาร อาเจียน บางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งในระยะแรกจะปวดโดยทั่วไป และอาจปวดที่ชายโครงขวาในระยะที่มีตับโต ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว กระหายน้ำ ซึม ในบางรายอาจมีอาการปวดท้องในบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงด้านขวา หรืออาจมีอาการท้องผูกหรือถ่ายเหลว ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี อาจพบอาการไข้สูงร่วมกับอาการชักได้ ระยะที่ 2 (ระยะช็อกและมีเลือดออก หรือ ระยะวิกฤติ) มักจะพบในไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อเดงกีที่มีความรุนแรงขั้นที่ 3 และ 4 อาการจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 3-7 ของโรค ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่วิกฤติของโรค โดยอาการไข้จะเริ่มลดลง แต่ผู้ป่วยกลับมีอาการทรุดหนัก มีอาการเลือดออก : อาการเลือดออกที่พบบ่อยที่สุดที่ผิวหนังโดยจะตรวจพบว่าเส้นเลือดเปราะ แตกง่าย การทำ torniquet test ให้ผลบวกได้ตั้งแต่ 2 - 3 วันแรกของโรค ร่วมกับมีจุดเลือดออกเล็ก ๆกระจายอยู่ตามแขน ขาลำตัว รักแร้อาจมีเลือดกำเดา หรือเลือดออกตามไรฟันในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียน ปวดท้อง และถ่ายอุจจาระเป็นเลือดซึ่งมักจะเป็นสีดำ (Malena) อาการเลือดออกในทางเดินอาหารมีความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด หรือช็อก:มักจะเกิดช่วงไข้จะลดเป็นระยะที่มีการรั่วของพลาสมาซึ่งจะพบทุกรายในผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี่ โดยระยะรั่วจะมีประมาณ 24 - 28 ชั่วโมงประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงมีภาวะการไหลเวียนล้มเหลวเกิดขึ้น เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอด/ช่องท้องมาก เกิด hypovolemic shock ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาเร็ว(อาจมากกว่า 120 ครั้ง/นาที) ปัสสาวะน้อย ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงตรวจพบ pulse pressure แคบ เท่ากับหรือน้อยกว่า 20 มม.ปรอท (ค่าปกติ30-40มม.ปรอท) ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการเลวลงรอบปากเขียวผิวสีม่วง ๆ ตัวเย็นชืด จับชีพจรและ/หรือวัดความดันไม่ได้ (Profound shock) ภาวะรู้สติเปลี่ยนไป และจะเสียชีวิตภายใน 12-24ชั่วโมงหลังเริ่มมีภาวะช็อกหากว่าผู้ป่วยได้รับการรักษาอาการช็อกอย่างทันท่วงทีและถูกต้องก่อนที่จะเข้าสู่ระยะ profound shock ส่วนใหญ่ก็จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว  ระยะที่ 3 (ระยะฟื้นตัว) ในรายที่มีภาวะช็อกไม่รุนแรง เมื่อผ่านวิกฤติช่วงระยะที่ 2 ไปแล้ว อาการก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกรุนแรง เมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีก็จะฟื้นตัวเข้าสู่สภาพปกติ โดยอาการที่แสดงว่าดีขึ้นนั้น คือ ผู้ป่วยจะเริ่มอยากรับประทานอาหาร แล้วอาการต่าง ๆ ก็จะกลับคืนสู่สภาพปกติ ชีพจรเต้นช้าลง ความดันโลหิตกลับมาสู่ปกติ ปัสสาวะออกมากขึ้น

4.  ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคไข้เลือดออก เนื่องด้วยโรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่มียุงลายเป็นพาหนะนำโรคดังนั้น ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกนั้น อาจจะแบ่งได้เป็น 2 กรณี 1.การถูกยุงลายกัด ด้วยความที่เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่ายุงตัวไหนมีเชื้อหรือไม่มีเชื้อดังนั้น เมื่อถูกยุงลายกัด จึงมีความเป็นไปได้เสมอว่าเราอาจจะได้รับเชื้อไวรัสเดงกีที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะเมื่อเราถูกยุงลายกัดในพื้นที่ที่การระบายของโรคไข้เลือดออก หรือ อยู่ในพื้นที่ที่มีความชุกชุมของยุงลายสูง 2.แหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ในเมื่อยุงลายเป็นพาหนะนำโรคไข้เลือดออกแล้วนั้น จึงเท่ากับว่าหากยุงลายมีจำนวนมากก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคไข้เลือดออกมากตามมา และหากยุงลายมีจำนวนน้องลง ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคไข้เลือดออกก็น่าจะลดลงตามไปด้วย ดังนั้นการควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จึงน่าจะเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไข้เลือดออกได้ และหากชุมชนสามารถช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ก็จะทำให้ชุมชมนั้น ปลอดจากโรคไข้เลือดออกได้

5.  แนวทางการรักษาโรคไข้เลือดออก การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกได้จากอาการทางคลินิก โดยเฉพาะอาการไข้สูง 39-41 องศาเซลเซียส หน้าแดง เปลือกตาแดง อาจคลำได้ตับโต กดเจ็บ มีผื่นแดง หรือจุดแดงจ้ำเขียว โดยไม่มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ หรือเจ็บคอ ร่วมกับการมีประวัติโรคไข้เลือดออกของคนที่อาศัยอยู่บริเวณเดียวกัน หรือมีการระบาดของโรคในช่วงนั้น ๆ และการทดสอบทูร์นิเคต์ให้ผลบวก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรคนี้ได้  นอกจากนี้ การส่งตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) จะตรวจพบเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวค่อนข้างต่ำและความเข้มข้นของเลือดสูง เพียงเท่านี้ก็สามารถวินิจฉัยโรคได้เป็นส่วนใหญ่แล้ว แต่ในบางราย หากอาการ ผลการตรวจร่างกาย และผลเลือดในเบื้องต้นยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ ในปัจจุบันก็มีวิธีการส่งเลือดไปตรวจหาภูมิคุ้มกันต้านทานต่อเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งจะช่วยทำให้การวินิจฉัยโรคนี้ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

เนื่องจากยังไม่มีการพัฒนายาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่การรักษาโรคนี้จึงเป็นการรักษาตามอาการเป็นสำคัญ กล่าวคือ มีการใช้ยาลดไข้เช็ดตัว และการป้องกันภาวะช็อก ยาลดไข้ที่ใช้มีเพียงชนิดเดียว คือยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ขนาดยาที่ใช้ในผู้ใหญ่คือพาราเซตามอลชนิดเม็ดละ500มิลลิกรัมรับประทานครั้งละ1-2เม็ด ทุก 4 - 6 ชั่วโมง โดยไม่ควรรับประทานเกินวันละ 8 เม็ด (4 กรัม)ส่วนขนาดยาที่ใช้ในเด็กคือ พาราเซตามอลชนิดน้ำ 10-15มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อครั้ง ทุก 4 - 6 ชั่วโมง โดยไม่ควรรับประทานเกินวันละ5ครั้ง หรือ2.6กรัม ผลิตภัณฑ์พาราเซตามอลชนิดน้ำสำหรับเด็กมีจำหน่ายในหลายความแรงได้แก่ 120 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนชา (1 ช้อนชา เท่ากับ 5 มิลลิลิตร), 250 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนชา, และ 60 มิลลิกรัมต่อ 0.6 มิลลิลิตร ส่วนใหญ่เป็นยาน้ำเชื่อมที่ต้องรินใส่ช้อนเพื่อป้อนเด็ก ในกรณีทารก การป้อนยาทำได้ค่อนข้างยากจึงมีผลิตภัณฑ์ยาที่ทำจำหน่ายโดยบรรจุในขวดพร้อมหลอดหยด เวลาใช้ก็เพียงแต่ใช้หลอดหยดดูดยาออกจากขวดและนำไปป้อนเด็กได้เลย ด้วยเหตุที่ผลิตภัณฑ์พาราเซตามอลชนิดน้ำสำหรับเด็กมีหลายความแรง จึงควรอ่านฉลากและวิธีใช้ให้ดีก่อนนำไปป้อนเด็ก กล่าวคือ หากเด็กหนัก 10 กิโลกรัม และมียาน้ำความแรง 120 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนชา ก็ควรป้อนยาเด็กครั้งละ 1 ช้อนชาหรือ 5 มิลลิลิตร และป้อนซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมงแต่ไม่ควรป้อนยาเกินวันละ 5 ครั้ง หากไม่มีไข้ก็สามารถหยุดยาได้ทันที ยาพาราเซตามอลนี้เป็นยารับประทานตามอาการ ดังนั้นหากไม่มีไข้ก็สามารถหยุดยาได้ทันทีส่วนยาแอสไพรินและไอบูโปรเฟนเป็นยาลดไข้เช่นกัน แต่ยาทั้งสองชนิดนี้ห้ามนำมาใช้ในโรคไข้เลือดออก เนื่องจากจะยิ่งส่งเสริมการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติจนอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ในส่วนการป้องกันภาวะช็อกนั้น กระทำได้โดยการชดเชยน้ำให้ร่างกายเพื่อไม่ให้ปริมาตรเลือดลดต่ำลงจนทำให้ความดันโลหิตตกแพทย์จะพิจารณาให้สารน้ำตามความรุนแรงของอาการ โดยอาจให้ผู้ป่วยดื่มเพียงสารละลายเกลือแร่ โออาร์เอส หรือผู้ป่วยบางรายอาจได้รับน้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือดดำ  ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติจนเกิดภาวะเสียเลือดอาจต้องได้รับเลือดเพิ่มเติมอย่างไรก็ตาม จะต้องเฝ้าระวังภาวะช็อกดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นเนื่องจากภาวะนี้มีความอันตรายต่อชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

6.  การติดต่อของโรคไข้เลือดออกการติดต่อของโรคไข้เลือดออก  โรคไข้เลือดออก มักติดต่อจากคนไปสู่คน ซึ่งมียุงลายตัวเมีย (Aedes aegypt)  เป็นตัวพาหะที่สำคัญ โดยยุงตัวเมียจะกัดและดูดเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี จากนั้นเชื้อจะเข้าไปฟักตัวและเพิ่มจำนวนในตัวยุงลาย ทำให้มีเชื้อไวรัสอยู่ในตัวของยุงตลอดระยะเวลาอายุขัยของมันประมาณ 1 - 2 เดือน แล้วถ่ายทอดเชื้อไปสู่คนที่ถูกกัดได้ในรัศมี 100 เมตร ยุงลายเป็นยุงที่อาศัยอยู่ในบริเวณบ้าน มักออกกัดเวลากลางวัน มีแหล่งเพาะพันธุ์ คือ น้ำนิ่งที่ขังอยู่ในภาชนะเก็บน้ำต่างๆ อาทิ โอ่ง แจกันดอกไม้ ถ้วยรองขาตู้ จาน ชาม กระป๋อง หม้อ ยางรถยนต์ หรือกระถาง เป็นต้น  โรคไข้เลือดออก พบโดยมากในฤดูฝน เนื่องจากในฤดูนี้เด็กๆ มักจะอยู่กับบ้านมากกว่าฤดูอื่นๆ อีกทั้งยุงลายยังมีการแพร่พันธุ์มากในฤดูฝน ซึ่งในเมืองใหญ่ๆ ที่มีประชากรหนาแน่น และมีปัญหาทางกายภาพเกี่ยวกับขยะ อย่าง กรุงเทพฯ อาจพบโรคไข้เลือดออกนี้ได้ตลอดทั้งปี 

รู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นไข้เลือดออกข้อสังเกตบางประการที่อาจจะช่วยให้สงสัยว่าอาจจะเป็นไข้เลือดออก เช่น  มีไข้สูง อ่อนเพลียเป็นเกิน 2 วัน  ถ้ามีปวดหัวมากหรืออาเจียนมากร่วมด้วย  หลังเป็นไข้ 2 ถึง 7 วัน แล้วไข้ลดลงเอง เมื่อไข้ลดแล้วมีอาการเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งอาจจะเป็นไข้เลือดออกได้ ปวดศีรษะมาก อ่อนเพลียมาก อาเจียนมาก กินอาหารไม่ได้ ปวดท้อง มีจ้ำเลือดเล็กๆ บริเวณแขน ขา หรือลำตัว มีเลือดออกตามอวัยวะเช่น เลือดกำเดา ถ่ายเป็นเลือด ประจำเดือนมาก่อนกำหนด เป็นต้น

7.  การปฏิบัติตนเมื่อเป็นไข้เลือดออก ในระยะ 2 - 3 วันแรกของการเป็นไข้ถ้ายังรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ ไม่อาเจียน ไม่ปวดท้อง ไม่มีจ้ำเลือดขึ้นและยังไม่มีอาการเลือดออกหรือภาวะช็อกเกิดขึ้น ควรปฏิบัติดังนี้ให้ผู้ป่วยพักผ่อนมากๆหากมีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆและให้ยาลดไข้พาราเซตามอล ผู้ใหญ่กิน 1-2 เม็ด เด็กโต ½ - 1 เม็ด เด็กเล็กใช้ชนิดน้ำเชื่อม 1- 2 ช้อนชา ถ้ายังมีไข้รับประทานซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง ห้ามให้ยาแอสไพริน โดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้ง่ายขึ้นถ้าเป็นผู้ป่วยเด็กและเคยชัก ควรให้รับประทานยากันชักไว้ก่อนรับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก และดื่มน้ำมากๆเฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดหมั่นดื่มน้ำ หรือเกลือแร โออาร์เอส ให้มากๆ เพื่อป้องกันการช็อกจากการขาดน้ำ และหากมีอาการดังต่อไปนี้ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว  ซึมลงอย่างรวดเร็ว อ่อนเพลียอย่างมากมีจ้ำเลือดตามร่างกายมากอาเจียนมาก กินอาหารและดื่มน้ำไม่ได้มีเลือดออกตามร่างกายเช่น เลือดกำเดา อาเจียนเป็นเลือดถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือเลือดออก ช่องคลอดปวดท้องมาก

8.  การป้องกันตนเองจากโรคไข้เลือดออก แม้ว่าในปัจจุบันกำลังมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ แต่ก็ยังไม่มียาที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ได้ ดังนั้นคำตอบที่ดีที่สุดของโรคไข้เลือดออกในปัจจุบันนี้ คือ การป้องกันไม่ให้เป็นโรคโดยการควบคุมยุงลายให้มีจำนวนลดลงซึ่งทำได้โดยการควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายและการกำจัดยุงลายทั้งลูกน้ำและตัวเต็มวัย และป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด ทั้งนี้การป้องกันทำได้ 3 ลักษณะ คือ

การป้องกันทางกายภาพ ได้แก่ปิดภาชนะเก็บน้ำด้วยฝาปิด เช่น มีผาปิดปากโอ่งน้ำ ตุ่มน้ำ ถังเก็บน้ำ หรือถ้าไม่มีฝาปิด ก็วางคว่ำลงหากยังไม่ต้องการใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นที่วางไข่ของยุงลายเปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้สดบ่อยๆ อย่างน้อยทุกๆ 7 วันปล่อยปลากินลูกน้ำลงในภาชนะเก็บน้ำ เช่น โอ่ง ตุ่ม ภาชนะละ 2-4 ตัว รวมถึงอ่างบัวและตู้ปลาก็ควรมีปลากินลูกน้ำเพื่อคอยควบคุมจำนวนลูกน้ำยุงลายเช่นกันใส่เกลือลงน้ำในจานรองขาตู้กับข้าว เพื่อควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยใส่เกลือ 2 ช้อนชา ต่อความจุ 250 มิลลิลิตร พบว่าสามารถควบคุมลูกน้ำได้นานกว่า 7 วัน

การป้องกันทางเคมี ได้แก่ เติมทรายทีมีฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้และรับรองความปลอดภัย เหมาะสมกับภาชนะที่ไม่สามารถใส่ปลากินลูกน้ำได้  การพ่นสารเคมีหรือยากันยุงเพื่อกำจัดยุงตัวเต็มวัย มีข้อดีคือ ประสิทธิภาพสูง แต่ข้อเสียคือ มีราคาแพง และเป็นพิษต่อคนและสัตว์เลี้ยง จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการฉีดพ่นและฉีดเฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น เพื่อป้องกันความเป็นพิษต่อคนและสัตว์เลี้ยง ควรเลือกฉีดในเวลาที่มีคนอยู่น้อยที่สุดและฉีดพ่นลงในแหล่งที่คาดว่าเป็นแหล่งเกาะพักของ เช่น ท่อระบายน้ำ เป็นต้น การใช้สารเคมีเพื่อกำจัดยุงในบ้านเรือน ที่ใช้กันมี 2 ชนิด คือ ยาจุดกันยุง และสเปรย์ฉีดไล่ยุง โดยสารออกฤทธิ์อาจเป็นยาในกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroids), ดีท (DEET, diethyltoluamide) เป็นต้น เมื่อก่อนมียาฆ่ายุงด้วย มีชื่อว่า ดีดีที แต่สารนี้ถูกยกเลิกการใช้ไปแล้วเนื่องจากเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตและตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นระยะเวลานานมาก อย่างไรก็ตาม สารเคมีไม่ว่าจากยาจุดกันยุงหรือสเปรย์ฉีดไล่ยุง ก็มีความเป็นพิษต่อคนและสัตว์ ดังนั้นเพื่อลดความเป็นพิษดังกล่าวควรจุดยากันยุงในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัส ส่วนยาฉีดไล่ยุงจะมีความเป็นพิษมากกว่า ดังนั้นห้ามฉีดลงบนผิวหนัง และควรปฏิบัติตามวิธีใช้ที่ระบุข้างกระป๋องอย่างเคร่งครัด

การปฏิบัติตัว ได้แก่ นอนในมุ้ง หรือนอนในห้องที่มีมุ้งลวดเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด โดยจะต้องปฏิบัติเหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน หากไม่สามารถนอนในมุ้งหรือนอนในห้องที่มีมุ้งลวดได้ ควรใช้ยากันยุงชนิดทาผิวซึ่งมีสารสำคัญที่สกัดจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันตะไคร้หอม (oil of citronella), น้ำมันยูคาลิปตัส (oil of eucalyptus) ซึ่งมีความปลอดภัยสูงกว่ามาทาหรือหยดใส่ผิวหนังใช้เป็นยากันยุง แต่ประสิทธิภาพจะต่ำกว่า DEET

9.  สมุนไพรชนิดไหนที่ช่วยรักษาป้องกันโรคไข้เลือดออกได้     โดยจากการศึกษาข้อมูล พบว่า สามารำใช้ใบมะละกอสดมาคันน้ำดื่มควบคู่กับการรักษาแผนปัจจุบัน จะทำให้เกล็ดเลือดของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นได้ภายใน 24 – 48 ชม. ช่วยลดอัตราการตายลงได้ มีงานวิจัยรอบรับในหลายประเทศ มีการทดลองในคนใช้แล้วได้ผล เช่น ประเทศอินเดีย ปากีสถาน มาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีการจดสิทธิบัตรน้ำใบมะละกอในต่างประเทศด้วย ไม่ได้ใช้เฉพาะผู้ป่วยเกล็ดเลือดต่ำจากไข้เลือดออกเพียงอย่างเดียว แต่ใช้ในกรณีอื่นด้วย ขั้นตอนการรักษาโรคไข้เลือดออกด้วยใบมะละกอสด คือ ใช้ใบมะละกอสดพันธุ์ใดก็ได้ประมาณ 50 กรัม จากต้นมะละกอ จากนั้นล้างให้สะอาด และทำการบทให้ละเอียด ไม่ต้องเติมน้ำ กรองเอากากออก ดื่มน้ำใบมะละกอสดแยกกาก วันละ ครั้งแก้ว หรือ 30 ซีซี ติดต่อกัน 3 วัน โดยวิธีนี้มีการวิจัยมาแล้วว่าไม่เป็นอันตราย

สมุนไพรที่สามารถไล่ยุงได้ ตะไคร้หอม ช่วยในการไล่ยุงเพราะกลิ่นแรงๆ ของมันไม่เป็นมิตรกับยุงร้าย ในปัจจุบันมีการทำออกมาในรูปของสารสกัดชนิดต่างๆ ไว้สำหรับป้องกันยุงโดยเฉพาะ แต่ถ้าอยากให้ได้ผลดีสุดๆ ควรใช้ตะไคร้หอมไล่ยุงชนิดที่สกัดน้ำมันเพียวๆ จากต้นตะไคร้หอมจะดีที่สุด นอกจากกลิ่นจะช่วยขับไล่ยุงแล้ว ยังช่วยไล่แมลงอื่นๆ ได้อีกด้วยล่ะ เปลือกส้ม ยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรไล่ยุงได้อีกด้วย วิธีการไล่ยุงด้วยเปลือกส้มนั้น เพียงแค่ใช้เปลือกส้มที่แกะออกจากผลส้มแล้วมาผึ่งให้แห้ง จากนั้นนำมาเผาไฟ ควันที่เกิดขึ้นและน้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในเปลือกส้มมีสรรพคุณเป็นอย่างดีในการไล่ยุง  มะกรูด ถือได้ว่าเป็นสมุนไพรที่มากมายไปด้วยประโยชน์ และยังสามารถนำมาเป็นสมุนไพรไล่ยุงได้เป็นอย่างดี วิธีการคือ นำผิวมะกรูดสดมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ มาโขลกกับน้ำเท่าตัวจนแหลกละเอียด จากนั้นให้กรองเอาเฉพาะน้ำ สามารถนำมาทาผิวหรือใส่กระบอกฉีดเพื่อฉีดตามจุดต่างๆของบ้านได้ โหระพา กลิ่นหอมแรงของโหระพายังเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ช่วยในการไล่ยุงและแมลง ทำให้มันไม่สามารถทนทานกับกลิ่นฉุนของโหระพาได้ สะระแหน่ ถือเป็นอีกหนึ่งสมุนไพรที่ให้กลิ่นหอม แต่กลิ่นหอมๆ ของมันไม่ค่อยถูกกันกับยุงนัก วิธีการไล่ยุงเพียงแค่นำใบสะระแหน่มาบดขยี้ให้กลิ่นออกมา จากนั้นนำไปวางตามจุดต่างๆ ที่มียุงเยอะๆ หรือสามารถนำใบสะระแหน่มาบดแล้วทาลงบนผิวหนังจะทำให้ผิวหนังชุ่มชื่นและยังช่วยกันยุงได้อีกด้วย 

 

เอกสารอ้างอิง

1.   กลุ่มโรคไข้เลือดออก สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการประเมินผลตามตัวชิ้วัดงานป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกระดับจังหวัด ปี 2553. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: 2543.1-12.

2.  (ภกญ.วิภารักษ์ บุญมาก).”โรคไข้เลือดออก”ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th.

3.  สิวิกา แสงธาราทิพย์ ศิริชัย พรรณธนะ(2543).โรคไข้เลือดออก.(พิมพ์ครั้งที่2).พิมพ์ที่บริษัท เรดิเอชั่น จำกัด สำนักงานควบคุมโรคไข้เลือดออก กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข

4.  สำนักพัฒนาวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการวินิจฉัยและรักษาไข้เลือดออกในระดับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด; 2548.8-33.

5.  แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคไข้เลือดออกเดงกี กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวจสาธารณสุข.(2544).กระทรวจสาธารณสุข

6.  Sunthornsaj N, Fun LW, Evangelista LF, et al. MIMS Thailand. 105th ed. Bangkok: TIMS Thailand Ltd; 2006.118-33.

7.  นพ.สมชาญ เจียรนัยศิลป์.ไข้เลือดออก.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่267.คอลัมน์โรคน่ารู้.กรกฎาคม.2544

8.  คู่มือวิชาการโรคติดเชื้อเดงกีและโรคไข้เลือดออกเดงกีด้านการแพทย์และสาธารณสุข.สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลงกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข.2558

9.  กันยา ห่านณรงค์.โรคไข้เลือดออก.จดหมายข่าว R&D NEWSLETTER.ปีที่23.ฉบับที่1 ประจำเดือนมกราคม-มีนาคม2559.หน้า 14-16

10.  รักษา”ไข้เลือดออก”แนวใหม่ใช้ใบมะละกอคั้นน้ำกินเพิ่มเกล็ดเลือด.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.dailinews.co.th*politics/232509

11.  World Health Organization Regional Office for South-East Asia. Guidelines for treatment of Dengue Fever/Dengue Hemorrhagic Fever in Small Hospitals,1999:28. Available from: http://www.searo.who.int/linkfiles/dengue_guideline-dengue.pdf Accessed May 10, 2012.

12.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.”ไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever/DHF)หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.

13.  สถานการณ์โรคไข้เลือดออก พ.ศ.2554.กลุ่มโรคไข้เลือดออก สำนักงานโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

14.  Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp, Inc; 2011,27-9.

15.  สุจิตรา นิมมานนิตย์.(2542).โรคไข้เลือดออก.(พิมพ์ครังที่2).กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ชุชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย

16.  World Health Organization. Dengue hemorrhagic fever: diagnosis, treatment, prevention and control,1997:84. Available from: http://www.who.int/csr/resources/publications/dengue/Denguepublication/en/ Accessed May10, 2012.