โรคไตเรื้อรัง

โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease)

1.  โรคไตคืออะไร"ไต" มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว ขนาดเท่ากำปั้น  ๒ ข้าง อยู่ด้านหลังช่องท้องข้างละ ๑ อัน ไตทำหน้าที่เกี่ยวกับการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ผ่านทางปัสสาวะ ข้างละประมาณ 1 ล้านหน่วย และยังช่วยรักษาสมดุลของน้ำ เกลือแร่ และสมดุลกรด-ด่างในร่างกาย สร้างฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมสมดุล แคลเซียม และฟอสเฟต (คือ วิตามินดี นั่นเอง) และฮอร์โมนกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดงการที่ไตมี 2 ข้างนับเป็นความฉลาดของธรรมชาติอย่างหนึ่ง คนเราอาจจะเสียไตไปข้างหนึ่ง แล้วก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ตามปกติ เพราะไตข้างที่เหลือจะทำงานแทนได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ และถ้าไตที่เหลืออีกข้างหนึ่งมีการเริ่มเสียไปอีกอย่างช้าๆ ร่างกายก็จะปรับตัวไปได้เรื่อยๆ ก็ยังไม่เกิดอาการอะไรเช่นกัน จนเมื่อไตเสียไปมาก ทำงานได้เพียงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์แล้วนั่นแหละ จึงจะเกิดมีอาการของโรคไต

โรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญของคนทั่วไป มีผลกระทบต่อประชาชนทุกอายุ เชื้อชาติ และทุกสถานะทางเศรษฐกิจ ความชุกและอุบัติการณ์ของโรคที่เพิ่มขึ้นเนื่องมาจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน ในสหรัฐอเมริกามีประชาชนมากกว่า 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 9 คนที่เป็นโรคไตเรื้อรัง และมีประชาชนกว่า 20 ล้านคนที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตเรื้อรัง เนื่องจากผู้ป่วนจะไม่มีอาการในระยะแรก อาการไตวายจะปรากฏเมื่อไตเสียหน้าที่ในการทำงานไปมากกว่าร้อยละ 70 – 80  โรคไตเรื้อรัง เป็นภาวะที่มีการเสื่อมการทำงานของไตอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเป็นเดือนหรือปี หรือมีตัวบ่งชี้ว่าไตถูกทำลายจากความผิดปกติของเลือดหรือปัสสาวะหรือการตรวจทางรังสี หรืออัตราการกรองของไตลดลงน้อยกว่า 60 มิลลิลิตร/นาที/พื้นผิวร่างกาย 1.73 ตารางเมตร เป็นเวลา 3 เดือน หรือมากกว่า 3 เดือน ซึ่งโรคส่วนใหญ่มักจะทำให้ไตเสื่อมลงอย่างถาวร ไม่สมารถกลับมาทำงานอย่างปกติได้ และปัจจุบันพบบ่อยขึ้นในประชากรไทยและอาจจะรุนแรงไปจนถึงการเกิดภาวะไตวายและเสียชีวิตได้ในที่สุด

การแบ่งระยะของโรคไตเรื้อรัง  โรคไตเรื้อรังแบ่งเป็น 5 ระยะ ตามระดับความรุนแรงดังต่อไปนี้

ระยะที่ 1 พบมีการทำลายไตเกิดขึ้น โดยพบความผิดปกติจากการตรวจเลือดปัสสาวะเอกซเรย์ หรือพยาธิสภาพของชิ้นเนื้อไต โดยที่อัตราการกรองของไตยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ กล่าวคือ มากกว่าหรือเท่ากับ 90 มล.ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตร.ม.

ระยะที่ 2 พบมีการทำลายไตร่วมกับเริ่มมีการลดลงของอัตราการกรองของไตเล็กน้อยคืออยู่ในช่วย 60 – 89 มล. ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตร.ม.

ระยะที่ 3 มีการลดลงของอัตราการกรองของไตรุนแรง คืออยู่ในช่วง 30 – 59 มล. ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตร.ม.

ระยะที่ 4 มีการลดลงของอัตราการกรองของไตรุนแรง คืออยู่ในช่วง 15 – 29 มล. ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตร.ม.

ระยะที่ 5 มีภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย (อัตราการกรองของไตน้อยกว่า 15 มล.ต่อนาทีต่อพื้นที่ผิวกาย 1.73 ตร.ม.)

2.  สาเหตุของโรคไตเรื้อรังคือ โรคไตเรื้อรังมีสาเหตุการเกิดโรคได้หลายสาเหตุ ซึ่งแบ่งสาเหตุการเกิดได้ดังนี้ สาเหตุนอกไต ได้แก่  โรคเบาหวาน พบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ที่พึ่งอินสุลิน 20-50% ที่ทำให้เกิดไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายภายในเวลา 20-30 ปี ที่เริ่มรักษาด้วยการให้อินสุลิน และเบาหวานยังทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังได้ถึงร้อยละ 30-40 และทำให้เกิดไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้ถึงร้อยละ 45 นอกจากนี้เบาหวานยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูงได้ เบาหวานทำให้มีความผิดปกติของหลอดเลือดหลอดฝอยไต ทำให้หลอดเลือดแข็งเพิ่มแรงต้านของหลอดเลือดที่ไต และระบบความดันโลหิตสูงขึ้น ไตได้รับเลือดน้อยลง และขาดเลือด จึงทำให้เกิดไตล้มเหลวตามมา  โรคความดันโลหิตสูง พบว่าความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้องรังได้ถึงร้อยละ 28 เนื่องจากไตจำเป็นต้องได้รับเลือดมาเลี้ยงเป็นจำนวนมากจากการบีบตัวของหัวใจ ซึ่งมีผลต่ออัตราการกรองและการทำหน้าที่ของไต ความดันดลหิตสูงทำให้เลือดมาเลี้ยง ไตลดลงจึงทำให้การทำหน้าที่ของไตผิดปกติเช่นกัน ความดันดลหิตสูงเกิดเนื่องจากหลอดเลือดแดงที่ไตตีบแข็ง หรือขาดเลือด ทำให้เลือดมาเลี้ยงที่ไตลดลง และกระตุ้นระบบเรนินแองจิโอเทนซิน อัลโดสเตอโรน ทำให้เพิ่มความดันดลหิต นอกจากนี้ ความดันโลหิตสูงยังเกี่ยวข้องกับโรคของเนื้อไต เช่น Glomerulonephritis, Polycystic Disease, Pyelonephritis เป็นต้น ทำให้ไตขับน้ำ และเกลือได้ลดลง มีการคั่งของน้ำและเกลือเพิ่มขึ้น ความดันโลหิตต่ำ ภาวะช็อคจากหัวใจและหลอดเลือด หรือความดันโลหิตต่ำมีผลต่อการทำหน้าที่ของไต ทำให้หลอดเลือดที่ไตหดตัว เลือดไปเลี้ยงที่ไตลดลง  โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด มีผลต่อปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจ และระบบไหลเวียนเลือด ซึ่งมีผลต่อการทำหน้าที่ไต ทำให้ไตลดการขับน้ำและโซเดียม มีการคั่งของน้ำในหลอดเลือด ทำให้เกิดอาการบวม โรคของหลอดเลือดส่วนปลาย ได้แก่ การเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด (Thromboembolic) ภาวะ Disseminated Intravascular Coagulopathy มีผลต่อระบบการไหลเวียนของเลือดที่ไต เป็นสาเหตุให้ไตขาดเลือด การติดเชื้อในกระแสเลือด อาจมีผลต่อการทำหน้าที่ของไต มีผลต่อระบบไหลเวียนเลือด ทำให้ความดันโลหิตต่ำและจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้เกิดGlomerulonepritis การตั้งครรภ์ มีผลต่อการทำหน้าที่ขอบงไต การตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก ทำให้ไตมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจจะคงอยู่ 9 -1 2 สัปดาห์ ทำให้อัตราการกรองของไตเพิ่มขึ้น 30 – 50 % ระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้ Creatinine Clearance เพิ่มขึ้น การขับกรดยูริกลดลง การตั้งครรภ์อาจทำให้โปรตีนในปัสสาวะเพิ่มขึ้น ปัสสาวะมากขึ้น และปัสสาวะบ่อยในตอนการคืน

สารที่มีพิษต่อไต จะทำลายเซลล์ของไต ทำให้ไตได้รับบาดเจ็บ เกิด  Acute Tubular Necrosis  Aminoglycosides, Tetacyclines, Amphoteracin B, Cephalosporin, Sulfonamide โลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท สารหนู ทองแดง แคดเมียม ทองลิเทียม พิษต่างๆ เช่น เห็ดพิษ แลงกัดต่อย สมุนไพรที่เป็นพิษ พิษจากงู ยาชา สารทึบแสง ยาแก้ปวด เช่น Salicylates, Acitaminophen, Phenacetin, NSAID เป็นต้น

โรคที่เกิดจากไตเอง นิ่ว ทำให้มีการเคลื่อนที่มาอุดตันได้ในระบบทางเดินปัสสาวะ และมีการทำลายเนื้อไต การอักเสบที่กรวยไต ทำให้มีการตอบสนองต่อการอักเสบ ทำให้เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น กระบวนการอักเสบทำให้เกิดการบวมของเนื้อเยื่อ เมื่อการอักเสบได้รับการรักษาก็จะทำให้เกิด fibrosis ทำให้มีการดูดกลับและการขับสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การทำหน้าที่ของไตลดลง ภาวะไตบวมน้ำ ทำให้มีการขยายของกรวยไต และ Calices ทำให้มีการอุดกั้นของปัสสาวะ การสะสมของน้ำปัสสาวะ ทำให้เกิดแรงดันในกรวยไตเพิ่มขึ้น และเป็นสาเหตุให้หน่วยไตถูกทำลาย มะเร็งในไต เนื้องอกที่โตขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เกิดการอุดกั้นของระบบทางเดินปัสสาวะ และทำให้เกิดไตบวมน้ำตามมา

3.  อาการของโรคไตเรื้อรัง  โรคไตเรื้องรังส่วนใหญ่ทำให้ไตผิดปกติทั้งสองข้าง ในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่มีอาการ เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้น อาจมีอาการต่างๆ เนื่องจากไตทำงานผิดปกติทำให้เกิดการคั่งของเกลือแร่น้ำส่วนเกินและของเสียในเลือด เช่น ปริมาณปัสสาวะลดลง ความดันโลหิตสูงขึ้น ซีด เหนื่อยง่ายขึ้น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน นอนไม่หลับ คันตามตัว มีอาการบวมที่หน้า ขา และลำตัว ความรู้สึกตัวลดลง หรือมีอาการชัก เป็นต้น

ซึ่งอาการของโรคไตเรื้อรัง สามารถแบ่งออกเป็น 5 ระยะตามระดับของค่าประเมินอัตราการกรองของไต (Epidermal growth factor receptor : eGFR) ซึ่งเป็นค่าที่ประมาณว่าในแต่ละนาทีไตสามารถกรองของเสียออกจากเลือดได้เท่าไหร่ โดยในคนทั่วไปจะมีค่านี้อยู่ประมาณ 90-100 มิลลิลิตร/นาที โดยระยะของโรคไตเรื้อรังนั้นมีดังนี้

ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ยังไม่มีอาการแสดงให้เห็นชัดเจน แต่ทราบได้จากการตรวจทางพยาธิวิทยา เช่น การตรวจเลือด การตรวจค่าประเมินอัตราการกรองของไต (eGFR) ซึ่งในระยะแรกนี้ค่า eGFR จะอยู่ที่ประมาณ 90 มิลลิลิตร/นาที ขึ้นไป แต่อาจพบอาการไตอักเสบหรือภาวะโปรตีนรั่วออกมาปะปนในเลือดหรือในปัสสาวะระยะที่ 2 เป็นระยะที่อัตราการกรองของไตลดลง แต่ยังไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็นนอกจากการตรวจทางพยาธิวิทยาดังกล่าว ซึ่งค่า eGFR จะเหลือเพียง 60-89 มิลลิลิตร/นาทีระยะที่ 3 เป็นระยะที่ยังไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมาให้เห็น นอกจากค่า eGFR ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะย่อย คือ ระยะย่อย 3A ซึ่งจะมีค่า eGFR อยู่ที่ 45-59 มิลลิลิตร/นาที และระยะย่อย 3B ซึ่งจะมีค่า eGFR อยู่ที่ 30-44 มิลลิลิตร/นาทีระยะที่ 4 อาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยจะค่อยแสดงในระยะนี้ นอกจากค่า eGFR จะลดลงเหลือเพียง 15-29 มิลลิลิตร/นาทีแล้ว จะสังเกตว่ามีปัสสาวะออกมากและปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ ขาดสมาธิ ความจำไม่ดี ปวดศีรษะ ตามัว ท้องเสียบ่อย ชาตามปลายมือปลายเท้า ผิวหนังแห้งและมีสีคล้ำ (จากของเสียเป็นสาเหตุทำให้เกิดสารให้สีของผิวหนังเปลี่ยนแปลง) คันตามผิวหนัง (จากของเสียที่คั่งก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง) บางรายอาจมีอาการหอบเหนื่อย สะอึก กล้ามเนื้อเป็นตะคริวบ่อย ใจหวิว ใจสั่น เจ็บหน้าอก มีอาการบวมตามตัว (โดยเฉพาะรอบดวงตา ขา และเท้า) หรือมีเลือดออกตามผิวหนังเป็นจุดแดงจ้ำเขียว หรืออาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด โลหิตจาง หรือรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัวตลอดเวลาระยะที่ 5 เป็นระยะสุดท้ายของภาวะไตวาย ค่า eGFR เหลือไม่ถึง 15 มิลลิลิตร/นาที นอกจากผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับระยะที่ 4 แล้ว ยังอาจมีภาวะโลหิตจางที่รุนแรงขึ้น และอาจตรวจพบการเสียสมดุลของแคลเซียม ฟอสเฟต หรือสารอื่น ๆ ที่อยู่ในเลือด นำมาสู่ภาวะกระดูกบางและเปราะหักง่าย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจจะเสียชีวิตได้

4.  กลุ่มบุคคลที่เสี่ยงที่จะเกิดโรคไตเรื้อรัง

·         ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน

·         ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง

·         ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ

·         ผู้ที่รับประทานยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด ได้แก่ Tetacyclines, Amphoteracin B ฯลฯ และยาแก้ปวด เช่น ยากลุ่ม NSAIDs, Acitaminophen Salieylates เป็นต้น

5.  แนวทางการรักษาโรคไตเรื้อรัง  การวินิจฉัยโรคไตเรื้อรังประกอบด้วยดังนี้  การประเมินอัตราการกรองของไตโดยใช้สูตร  Cockcroft-gault หรือสูตร Modification  of Diet in Renal Disease (MDRD) การประเมินปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ โดยใช้แถบตรวจปัสสาวะ  (Dipstick  Test) เมื่อแถบตรวจตรวจวัดผลได้ 1 บวกขึ้นไป ควรตรวจปัสสาวะยืนยันปริมาณโปรตีนด้วยการวัดค่าสัดส่วนของโปรตีนต่อครีเอตินิน  การตรวจอื่นๆ ด้วยการตรวจตะกอนปัสสาวะ  (Urine Sediment)

หรือใช้แถบ ตรวจวัดหาเม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาว การตรวจทางรังสี การตรวจทางรังสี การตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อดูว่ามีการอุดตัน มีนิ่ว และมี Polycystic Kidney Disease และยังมีการวินิจฉัยแยกโรคที่ทำได้ทางคลินิกจากอาการและอาการแสดงของโรค รวมทั้งตรวจเลือดหาระดับ BUN, creatinine และระดับฮอร์โมนไทรอยด์อื่นๆ การทำงานของตับ รวมทั้ง X-ray หัวใจ และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น

            การรักษาไตวายเรื้อรัง หากสงสัยว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรืออัลตราซาวนด์ หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ และบางรายอาจต้องทำการเจาะเก็บเนื้อเยื่อจากไตเพื่อส่งตรวจด้วย โดยการรักษานั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงใหญ่ ๆ ตามระยะของโรคด้วย คือ โรคไตเรื้อรังระยะที่ 1-3 (เป็นระยะที่ยังไม่ต้องทำการรักษา แต่จำเป็นต้องมาพบแพทย์เพื่อตรวจดูค่าประเมินอัตราการกรองของไต ซึ่งแพทย์อาจนัดมาตรวจทุก 3 เดือน หรืออาจนัดมาตรวจถี่ขึ้นเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิดถ้าค่าประเมินอัตราการกรองของไตลดลงมากขึ้น) และโรคไตเรื้อรังระยะที่ 4-5 (เป็นระยะที่ไตทำงานลดลงอย่างมาก ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาหลาย ๆ วิธีร่วมกันเพื่อประคับประคองอาการให้อยู่ในระดับคงที่เพื่อรอการปลูกถ่ายไต รวมทั้งการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ร่วมด้วย) สำหรับวิธีการรักษาต่าง ๆ นั้นจะแบ่งออกเป็น

การรักษาที่สาเหตุ ถ้าผู้ป่วยมีสาเหตุชัดเจน แพทย์จะให้การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ให้ยาควบคุมโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ ผ่าตัดนิ่วในไต เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องรักษาภาวะผิดปกติต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากภาวะไตวายด้วย

การล้างไต (Dialysis) สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อระยะท้าย (มักมีระดับยูเรียไนโตรเจนและระดับครีอะตินีนในเลือดสูงเกิน 100 และ 10 มก./ดล. ตามลำดับ) การรักษาด้วยยาจะไม่ได้ผล ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยฟอกล้างของเสียหรือล้างไต ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ซึ่งจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ซึ่งบางรายอาจอยู่ได้นานเกิน 10 ปีขึ้นไป แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างแพงอยู่ ทั้งนี้การจะเลือกล้างไตด้วยวิธีใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นหลัก เพราะการล้างไตจะมีผลข้างเคียงหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตต่ำ เวียนศีรษะ หน้ามืด อาเจียน อีกทั้งการล้างไตบางวิธีอาจไม่เหมาะกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยอีกด้วย ดังนั้น จึงต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและตัดสินใจว่าการล้างไตแบบใดจะเหมาะกับผู้ป่วยมากที่สุด)

การปลูกถ่ายไต (Kidney transplantation หรือ Renal transplantation) ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะท้ายบางราย แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งวิธีนี้นับว่าเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน เพราะถ้าการปลูกถ่ายไตได้ผลดีก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนคนปกติและมีอายุได้ยืนยาวขึ้นนานเกิน 10-20 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม การปลูกถ่ายไตก็เป็นวิธีการรักษาที่มีความยุ่งยากซับซ้อนหลายประการ มีราคาแพง และจะต้องหาไตจากญาติสายตรงหรือผู้บริจาคที่มีไตเข้ากับเนื้อเยื่อของผู้ป่วยได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งปริมาณของไตที่ได้รับการบริจาคก็ยังมีน้อยกว่าผู้ที่รอรับการบริจาค ผู้ป่วยจึงอาจต้องทำการล้างไตต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหาไตที่เข้ากันได้ (แม้จะได้รับการล้างไตแล้ว แต่อาการของไตวายเรื้อรังจะยังไม่หายไป ซึ่งผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเท่านั้น) นอกจากนั้น ภายหลังการปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยจะต้องกินยากดภูมิคุ้มกันทุกวันไปตลอดเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้านไตใหม่

6.  การติดต่อของโรคไตเรื้อรัง โรคไตเรื้อรังเป็นโรคที่เกิดจากภาวะที่ไตทำงานผิดปกติและเป็นโรคที่ไม่มีการติดต่อจากคนสู่คนและจากสัตว์สู่คน

7.  การปฏิบัติตนเมื่อเป็นโรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรัง ควรติดตามการรักษากับแพทย์อย่าได้ขาด ควรกินยาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรปรับขนาดยาเอง หรือซื้อยากินเอง เพราะยาบางอย่างอาจมีพิษต่อไตได้นอกจากนี้  ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัว ดังต่อไปนี้

จำกัดปริมาณโปรตีนที่กินไม่เกินวันละ ๔๐ กรัม โดยลดปริมาณของ ไข่ นม และเนื้อสัตว์ลง (ไข่ไก่ ๑ ฟอง มีโปรตีน ๖-๘ กรัม นมสด ๑ ถ้วยมีโปรตีน ๘ กรัม เนื้อสัตว์ ๑ ขีด มีโปรตีน ๒๓ กรัม) และกินข้าว เมล็ดธัญพืช ผักและผลไม้ให้มากขึ้น

จำกัดปริมาณน้ำที่ดื่ม โดยคำนวณจากปริมาณปัสสาวะต่อวันบวกกับน้ำที่เสียไปทางอื่น (ประมาณ ๘๐๐ มล./วัน) เช่น ถ้าผู้ป่วยมีปัสสาวะ ๖๐๐ มล./วัน น้ำที่ควรได้รับเท่ากับ ๖๐๐ มล. + ๘๐๐ มล. (รวมเป็น ๑,๔๐๐ มล./วัน)

จำกัดปริมาณโซเดียมที่กิน ถ้ามีอาการบวมหรือมีปัสสาวะน้อยกว่า ๘๐๐ มล./วัน ควรงดอาหารเค็ม งดใช้เครื่องปรุง (เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสทุกชนิด) ผงชูรส สารกันบูด อาหารที่ใส่ผงฟู (เช่น ขนมปังสาลี) อาหารกระป๋อง น้ำพริก กะปิ ปลาร้า ของดอง หนำเลี๊ยบ)

จำกัดปริมาณโพแทสเซียมที่กิน ถ้ามีปัสสาวะน้อยกว่า ๘๐๐ มล./วัน ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ผลไม้แห้ง กล้วย ส้ม มะละกอ มะขาม มะเขือเทศ น้ำมะพร้าว ถั่ว สะตอ มันทอด หอย เครื่องในสัตว์ เป็นต้น

ในรายที่มีระดับความดันโลหิตสูง ควรลดความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์น้อยกว่า 130/80 มม.ปรอท โดยการรับประทานอาหารที่ไม่เค็ม ออกกำลังกาย และรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ร่วมด้วยควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงปกติ โดยเฉพาะในรายที่ยังเริ่มมีโรคไตเรื้อรังระยะแรกๆ จึงจะสามารถป้องกันหรือชะลอการเสื่อมของไตได้ ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรังร่วมด้วย เช่น รักษาการอักเสบที่ไต กำจัดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ รักษาโรคเก๊าท์ หยุดยาที่ทำลายไต เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรได้รับการตรวจเลือดและปัสสาวะเป็นระยะ เพื่อประเมินการทำงานของไต และรักษาผลแทรกซ้อมที่เกิดจากโรคไตเรื้อรัง

8.  การป้องกันตนเองจากโรคไตเรื้อรัง  ตรวจเช็กดูว่า เป็นความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และโรคเกาต์ หรือไม่ ถ้าเป็นจะต้องรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่องจนสามารถควบคุมระดับความดันเลือด ระดับน้ำตาลและกรดยูริกในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ  เมื่อเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (เช่น) กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวมไตอับเสบ) หรือมีภาวะอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ (เช่น นิ่ว ต่อมลูกหมากโต) จะต้องทำการรักษาให้หายขาดควรรับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง รวมถึงการตรวจเลือดและปัสสาวะ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็ม หลีกเลี่ยงการใช้ยาและสารที่มีพิษต่อไต ติดต่อกันเป็นเวลานาน ไตจะเสื่อมสมรรถภาพจนเป็นไตวายได้ เช่น ยาแก้ปวดข้อปวดกระดูก ยาชุด ยาหม้อ และยาปฏิชีวนะบางชนิด หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะนานๆ เพราะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ และเกิดการอักเสบ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

9.  สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/บำรุงไตกระเจี๊ยบแดง  ส่วนที่นำมาใช้เป็นสมุนไพรฟอกเลือดบำรุงไตให้เน้นไปที่ดอกสีแดงสด ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย ขับปัสสาวะ บำรุงเลือด แก้โรคนิ่วในไต ใบบัวบก ใบบัวบกนับว่ามีประโยชน์โดยตรงสำหรับผู้ที่เป็นโรคไต เพราะมีสารสำคัญหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับระบบโลหิตโดยตรง อาทิเช่น ไตรเตอพีนอยด์(อะซิเอติโคไซ) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างคอลลาเจน เพิ่มความแข็งแรงของผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดมีความหยืดหยุ่นเพื่มมากขึ้น ช่วยลดความดันโลหิตสูง ใบบัวบกจึงมีสรรพคุณในการช่วยชะลอการเสื่อมของไต ในผู้ป่วยโรคไตได้เป็นอย่างดี ผู้ที่ดื่มน้ำใบบัวบกนอกจากจะไม่เครียดแล้วยังช่วยขยายหลอดเลือดทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนออกซิเจนในเส้นเลือดฝอยเพิ่มมากขึ้น ร่างกายจะสามารถจับออกซิเจนอิสระได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เลือดสะอาด เป็นการฟอกเลือดไปในตัวเห็ดหลินจือ อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ได้นำสรรพคุณของเห็ดหลินจือมาทดลองรักษาผู้ป่วยโรคไต ปรากฏว่าช่วยลดปริมาณไข่ขาวในปัสสาวะได้ และช่วยชะลออาการไตเสื่อมได้ดี ปัญหาของผู้ป่วยโรคไต คือจะมีสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบจะลดต่ำลง จากการศึกษาพบว่าเห็ดหลินจือ ช่วยลดการอักเสบของเยื้อเยื่อในร่างกายได้น้ำขิงร้อนๆใช้เป็นยากระจายเลือด ขับเลือดเสียได้อย่างดี  สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตดื่มบ่อยๆจะดี ดื่มเพื่อบำรุงไต เพราะช่วยลดการอักเสบภายใน ตลอดจนเป็นยาขับปัสสาวะอ่อนๆ ช่วยขับปัสสาวะที่คั่งค้างอยู่ภายใน สลายนิ่วและสิ่งอุดตัน ช่วยลดไขมันในหลอดเลือด ตลอดจนช่วยกำจัดพิษที่ตกค้างได้เก๋ากี้ฉ่าย ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงดื่มบ่อยๆจะช่วยลดความดันโลหิต ทำให้หัวใจแข็งแรง สำหรับผู้ป่วยโรคไต ชาเก๋ากี้จะช่วยลดภาระให้แก่ไต ไม่ว่าจะเป็นการลดไขมันในกระแสเลือด ช่วยดูดซึมน้ำตาล ช่วยขับปัสสาวะ ชะลอการเสื่อมของไต 

 

 

เอกสารอ้างอิง

1.  Porth, C. M. (2009). Disoder ot renal function. In C.M. Porth., G. Matfin, PathophysiologyConcept of Altered Health Status (8th ed., pp. 855-874). Philadelphia: Wolters Kluwer Health Lippincott Williams & Wilkins.

2.  K/DOQI clinical practice guidelines on hypertension and antihypertensive agents in chronickidney disease. Am J Kidney Dis 2004; 43:S1.

3.  ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ. Patient with chronic kidney diseases. ภาควิชาอายุรศาสตร์.คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.

4.  ศศิธร ชิดนายี.(2550).การพยาบาลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ไดรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม.กรุงเทพฯ:ธนาเพรส

5.  ธนนท์ ศุข.ไตวายเรื้อรังป้องกันได้!.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 295.คอลัมน์เรื่องเด่นจากปก.พฤศจิกายน.2547

6.  Ong-Ajyooth L, Vareesangthip K, Khonputsa P, Aekplakorn W.Prevalence of chronic kidney disease in Thai adults: a national health survey. BMC Nephrol 2009;10:35.

7.  National Kidney Foundation, (2002). K/DOQI Clinical Practice Guideline for chronic kidney disease: Evaluation, classification, and stratification. Retrieved October 15, 2009, from http://www. kidney.or/kdoqi/guideline-ckd/toc.htm.

8.  Chobanian AV, Bakris GL, Black HR, Cushman et al. The Seventh Report of the Joint NationalCommittee on Prevention, Detection, Evaluation, and Treatment of High Blood Pressure: The  JNC 7 Report. JAMA 2003; 289:2560.

9.  ผศ.นพ.สุชาติ อินทรประสิทธิ์.โรคไต.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 9.คอลัมน์โรคน่ารู้.มกราคม.2523

10.  Whaley-Connell, A. T. (2008). Diabetes mellitus in ckd: Kidney early evaluation program(KEEP) and national health and nutrition and examination survey (NHANES) 1999-2004.American Journal of Kidney Diseases, 51(4), S21-S29.

11.  National Kidney Foundation, K/DOQI Clinical practice guidelines for chronic kidney disease:evaluation, classification and stratification. American Journal of Kidney Diseases 2002;39supplement 1:S1–S266.

12.  Weigel, K. A., Potter, C. K., & Green, C. J. (2007). Kidney failure. In F. D. Monahan., J. K. Sans., M. Neighbors., J. F. Marek., & C. J. Green (Eds.), Phipps ,medical-Surgical Nursing: Health and Illness Perspectives(8thed., pp. 1003-1039). St.Louis: Mosby.

13.  สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย.แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคไตเรื้อรังก่อนการบำบัดทดแทนไต พ.ศ.2552.กรุงเทพ,2552,1-46.

14.  หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.”ภาวะไตวาย (Renal failure)”.(นพ.สุรเกียรต์ อาชานานุภาพ).หน้า 845-849.

15.  Perkovic V,Cass A,Patel AA, Suriyawongpaisal P, Barzi F, Chadban S, Macmahon S, Neal B; lnterASIA Collaborative Group. High prevalence of chronic kidney disease in Thailand. Kidney lnt 2008;73:473-9

16.  นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.ไตวายเรื้อรัง.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่387.คอลัมน์สารานุกรมทันโรค.มกราคม.2554