กวาวเครือแดงกับการศึกษาวิจัยสมัยใหม่

กวาวเครือแดงกับการศึกษาวิจัยสมัยใหม่

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า กวาวเครือแดง เป็นสมุนไพรยอดนิยมของไทยในปัจจุบันนี้ อีกทั้งยังเป็นสมุนไพรพื้นถิ่นของไทย ที่มีหลักฐานการใช้มาตั้งแต่ยุคโบราณ โดยในอดีตนั้นก็ใช้กัน เพื่อเป็นยาอายุวัฒนะแก้ปวดเมื่อย แต่ก็ไม่ได้มีการศึกษาวิจัยกันในสมัยนั้นเพราะวิทยาการต่างๆ และความสนใจของนักวิจัยทั้งหลายที่มีต่อสมุนไพรยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากพอ จนเมื่อประมาณปี 2478 บริษัทเชอริง-คาลบอม ได้นำหัวกวาวเครือขาว ไปทำการศึกษาในห้องปฏิบัติการที่เบอร์ลิน เพื่อแยกสารออกฤทธิ์เอสโตรเจนิก หลังจากนั้น กวาวเครือขาวก็ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการค้นพบกวาวเครือแดง จึงทำให้นักวิจัยทั้งหลายหันมาศึกษากวาวเครือขาวและกวาวเครือแดงกันอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งนักวิจัยต่างประเทศจดสิทธิบัติของกวาวเครือทั้งสองชนิดนี้ได้ก่อนประเทศไทย (น่าเจ็บใจไหมครับ ของดีอยู่ใต้แผ่นดินไทย แต่ต่างประเทศเป็นเจ้าของสิทธิบัติ) สำหรับกวาวเครือแดงนั้นจากผลการวิจัยสมัยใหม่นี้ ฤทธิ์ทางเภสัชที่โดดเด่นเป็นพิเศษ คือ ฤทธิ์ต่อระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย เช่นเดียวกับโสมคน (โสมเกาหลีที่เรารู้จักกัน) กล่าวคือ มีการทดลองป้อนกวาวเครือแดงผงละลายน้ำแก่หนูทดลองเพศผู้ 5 มก./กก. เป็นเวลา 21 วัน พบว่า หนูมีน้ำหนักและจำนวนอสุจิเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีพฤติกรรมการสืบพันธุ์มากขึ้น

ส่วนการศึกษาวิจัยสมัยใหม่ ทางพิษวิทยาของกวาวเครือแดงนั้นได้ ป้อนผงกวาวเครือแดงขนาด 200 มก./กก./วัน เป็นเวลา 90 วัน พบว่า มีเม็ดเลือดขาว ชนิดต่างๆ ลดลง และมีข้อสรุปที่ได้คือ ในการใช้สมุนไพรกวาวเครือขาวนั้น ต้องระมัดระวังในเรื่องของขนาดการใช้และระยะเวลาในการใช้ เพราะอาจทำให้เป็นพิษต่อตับได้

ทั้งนั้นผู้เขียนยังเชื่ออีกว่ายังมีความลับเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆและสรรพคุณดีๆ ของสมุนไพรกวาวเครือแดงรวมไปถึงสมุนไพรต่างๆ ของไทย ที่ยังรอให้นักวิทยาศาสตร์/นักวิจัย มาทดลองวิจัย เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พี่น้องชาวไทยและคนทั้งโลก ที่สำคัญอย่างที่ได้เกริ่นไปแล้วว่า ของดีๆ ที่อยู่เมืองไทยคนไทยจะได้จดสิทธิบัติให้เป็นสมบัติของชาติสืบไป ไม่ใช่ให้ต่างชาติที่ไม่มีสมุนไพรเหล่านั้นเป็นเจ้าของสิทธิบัติ ซึ่งฟังดูแล้ว เหมือนเขามาหยิบชิ้นปลามันจากคนไทยเราเลยครับ.

 

 

กวาวแดง กวาวขาว แปะก๊วย