โรคหูน้ำหนวกอักเสบเรื้อรัง/หูน้ำหนวก.( Chronic Otitis media)

โรคหูน้ำหนวกอักเสบเรื้อรัง/หูน้ำหนวก.( Chronic Otitis media)

โรคหูชั้นกลางอักเสบคืออะไร ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โรคหูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media) นั้น เรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่า โรคหูน้ำหนวก เกิดจากการติดเชื้อในหูชั้นกลาง ซึ่งหูชั้นกลาง (middle ear) เป็นส่วนของช่องหูที่อยู่ถัดจากเยื่อแก้วหูเข้าไป มีกระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโกลนบรรจุอยู่ ทำหน้าที่รับคลื่นเสียงที่ผ่านมาทางหูชั้นนอก และส่งต่อไปยังหูชั้นในซึ่งมีเส้นประสาทหูรับรู้เสียง (การได้ยิน)

            ส่วนล่างของหูชั้นกลางมีท่อเล็กๆ เชื่อมต่อกับคอหอย เรียกว่า ท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) เมื่อมีการติดเชื้อของคอหอย เชื้อโรคสามารถเดินทางผ่านท่อยูสเตเชียนเข้าไปในหูชั้นในได้ ถ้าหากท่อยูสเตเชียนเกิดการอักเสบบวม ก็จะเกิดการอุดตัน ทำให้เชื้อโรคถูกกักไว้ในหูชั้นกลางจนเกิดการติดเชื้อของหูชั้นกลาง และอาจอักเสบเป็นหนองขังอยู่ในหูชั้นกลาง มีอาการไข้สูง ปวดหู หูอื้อได้ในระยะแรก โรคนี้จึงมักพบร่วมกับโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด คออักเสบ ทอนซิลอักเสบ เป็นต้น โดยเชื้อก่อโรคอาจเป็นไวรัส หรือแบคทีเรียก็ได้

โดยโรคหูชั้นกลางอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากในเด็กนั้น ท่อปรับความดันหูชั้นกลางหรือท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางและหลังโพรงจมูก ยังไม่พัฒนาสมบูรณ์เต็มที่ ประกอบกับเด็กเกิดภาวะติดเชื้อ เช่น โรคหวัดได้บ่อย ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการอักเสบต่อเนื่องไปยังรูเปิดของท่อปรับความดันหูชั้นกลาง ซึ่งอยู่หลังโพรงจมูก มีผลทำให้เกิดภาวะหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (Acute otitis media) ขึ้น ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา จะมีอาการไข้ หูอื้อ และปวดหูมาก จนกระทั่งเมื่อแก้วหูทะลุ อาการปวดหูและไข้จะเริ่มทุเลาลง แต่จะมีน้ำหนอง ซึ่งมีกลิ่นเหม็นไหลออกมาจากหู และถ้ายังไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอีก อาจกลายเป็น “โรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หรือหูน้ำหนวก (Chronic otitis media)” ต่อไป ซึ่งมีโอกาสเกิดผลข้างเคียง แทรกซ้อนต่างๆตามมาได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หูชั้นในอักเสบ ฝีในสมอง ฝีหลังหู ฝีที่คอ ใบหน้าเป็นอัมพาต ฯลฯ โรคหูชั้นกลางอักเสบมักจะเกิดอาการอักเสบภายในของบริเวณหูชั้นกลาง ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากการติดเชื้อที่เนื้อเยื่อหู จนก่อให้เกิดอาการบวมแดง อักเสบ และเกิดของเหลวที่บริเวณหลังแก้วหู

โดยระดับของการอักเสบแบ่งออกเป็น 3 ระดับดังนี้

หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (Acute otitis media – AOM) โดยปกติแล้วหากผู้ป่วยไม่มีอาการหูชั้นกลางอักเสบมาก่อน จะถือว่าเป็นหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน เนื่องจากอาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีภาวะ ดังนี้ ส่วนใหญ่มักเกิดร่วมกับการติดเชื้อในบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้น (คอและจมูก) ได้แก่ ไข้หวัด ทอนซิลอักเสบ และบางรายหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ ไอกรน หัด ทำให้เชื้อโรคบริเวณคอผ่านท่อยูสเตเชียน หรือท่อปรับความดันหูชั้นกลาง (Eustachain tube) เข้าไปในหูชั้นกลางได้ และเกิดการอักเสบขึ้นมา ทำให้เยื่อบุผิวภายในหูชั้นกลางและท่อยูสเตเชียนบวม และมีหนองขังอยู่ในหูชั้นกลาง เพราะไม่สามารถระบายผ่านท่อยูสเตเชียนที่บวมและอุดตันได้ ในที่สุดเยื่อแก้วหูซึ่งเป็นเยื่อบาง ๆ ที่กั้นอยู่ระหว่างหูชั้นกลางอักเสบกับหูชั้นนอกก็จะเกิดการทะลุเป็นรู หนองที่ขังอยู่ภายในก็จะไหลออกมากลายเป็นหูน้ำหนวกในเวลาต่อมา

  1. ภาวะน้ำคั่งในหูชั้นกลาง (Otitis media with effusion-OME) เมื่อเกิดการอักเสบที่หูชั้นกลางจะทำให้เกิดของเหลวภายในหู ซึ่งอาจส่งผลต่อการได้ยินในระยะสั้นกล่าวคือ เป็นภาวะที่มีนํ้าขังอยู่ในหูชั้นกลางโดยที่ไม่มีอาการแสดงของการอักเสบหรือติดเชื้อ ผู้ป่วยมักจะมีอาการหูอื้อ การได้ยินลดลง แต่ไม่มีอาการปวดหูและไม่มีไข้ เมื่อตรวจดูในหูจะไม่พบการบวมแดงของแก้วหู แต่จะมีการขยับของเยื่อแก้วหูลดลง (เพราะมีน้ำขังอยู่ด้านหลัง) ภาวะนี้มักพบในผู้ที่มีโครงสร้างใบหน้าที่ผิดปกติ
  2. หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หากแพทย์พบว่ามีการฉีกขาดของแก้วหูบ่อย ๆ และมีร่องรอยของการอักเสบ ก็อาจทำให้แพทย์วินิจฉัยได้ว่ามีการอักเสบอย่างเรื้อรังที่หูชั้นกลางได้โดยมีภาวะดังนี้ เป็นภาวะที่มีการทะลุของเยื่อแก้วหูและมีหูน้ำหนวกไหลแบบเรื้อรัง (โดยมากจะเริ่มเป็นมาตั้งแต่เด็ก) โดยอาจเป็นผลมาจากหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันหรือมาจากการได้รับบาดเจ็บจนแก้วหูทะลุก็ได้ และบางครั้งอาจพบร่วมกับผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง ทอนซิลอักเสบเรื้อรัง ผนังกั้นช่องจมูกคด และริดสีดวงจมูก

ซึ่งโรคหูชั้นกลางอักเสบนี้มักพบในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี เนื่องจากท่อยูสเตเชียนของเด็กสั้นกว่าและอยู่ในแนวระนาบมากกว่าในผู้ใหญ่ โดยในโรคหูชั้นกลางอักเสบนี้ ระยะของการอักเสบที่ทำให้มีน้ำหนองไหลออกมาจากรูหู (ภาษาชาวบ้านเรียกน้ำหนวก) นี้ มักจะพบในระยะหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรั้ง เป็นส่วนมาก ส่วนระยะอื่นมักพบได้ไม่บ่อยมาก และความรุนแรงของโรคก็ไม่มากเท่าระยะเรื้อรัง ดังนั้นในหัวข้อต่อไปผู้เขียนจึงจะขออธิบายเฉพาะในระยะหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังหรือโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังเพียงเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนของผู้อ่าน

สาเหตุของโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง สาเหตุของโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้องรังของ (COM) มักเกิดจาก

  1. หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (acute otitis media) ที่ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ทำให้หนองในหูชั้นกลางดันเยื่อแก้วหูทะลุออกมาก และหลังจากนั้นไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีทำให้เยื่อแก้วหูที่ทะลุนั้นไม่สามารถปิดได้เอง
  2. เยื่อแก้วหูทะลุจากการบาดเจ็บ (traumatic tympanic membrane perforation) เช่น ใช้ไม่พันสำลีปั่นช่องหู แล้วมีอุบัติเหตุกระแทกทำให้ไม้พันสำลีนั้น กระแทกเยื่อแก้หูจนทะลุเป็นรูและรูนั้นไม่สามารถปิดได้เอง หรือเกิดจากการผ่าตัดกรีดเยื่อแก้วหู (myringotomy) เพื่อระบายหนองออกจากหูชั้นกลาง ในผู้ป่วยที่มีหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันที่มีภาวะแทรกซ้อน หรือผ่าตัดเพื่อใส่ท่อระบายของเหลวหรือหนองในหูชั้นกลาง (ventilation tubes) และคาไว้ที่เยื่อแก้วหู แล้วหลุดออกไป แต่รูที่เกิดจากการผ่าตัดนั้นไม่สามารถปิดได้เอง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เยื่อแก้วหูที่ทะลุนั้นไม่สามารถปิดได้เองได้แก่
    1. มีการไหลของของเหลว เช่น มูกหรือหนองผ่านรูทะลุตลอดเวลา เนื่องจากยังมีการติดเชื้อในหูชั้นกลางอยู่
    2. เยื่อบุผิวหนังของหูชั้นนอก (squamousepithelium) เข้ามาคลุมที่ขอบของรูทะลุ  เมื่อเยื่อแก้วหูทะลุ ทำให้กลไกในการ Proteus species

ป้องกันการติดเชื้อของหูชั้น   

กลางเสียไปเมื่อเยื่อแก้วหูทะลุ ทำให้กลไกในการป้องกันการติดเชื้อของหูชั้นกลางเสียไป เชื้อโรงที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อและทำให้หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียและ  พบได้บ่อย คือเชื้อชนิดแกรมลบ  และPseudomonas aeruginosa, Proteus species, Klebsiella pneumoniae และเชื้อชนิดแกรมบวก เช่น Staphylococcus aureus และอาจพบเชื้อ anaerobes เช่น Bacteroides, Peptostrep-tococcus, Peptococcus ได้ ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดย

  1. เกิดจากการที่เชื้อโรคจากคอ หรือ จมูก ผ่านเข้าทาง Eustachian tube ไปสู่หูชั้นกลาง
  2. เกิดจากเชื้อโรคเข้าทางรูหู ผ่านแก้วหูที่ทะลุอยู่ก่อนแล้ว เข้าไปสู่หูชั้นกลาง และ mastoid air cell
  3. ผ่านทางกระแสเลือด

นอกจากนั้นยังอาจมีสาเหตุมาจาก  มีการอุดตันของรูเปิดของท่อยุสเตเชียนจากพยาธิสภาพในโพรงหลังจมูก เช่น มะเร็งโพรงหลังจมูก ต่อมอดีนอยด์โต, การอักเสบของโพรงจมูก ไม่ว่าจากการติดเชื้อ หรือไม่ใช่การติดเชื้อการอักเสบของโพรงหลังจมูก ซึ่งเกิดจากกรดไหลย้อนที่ขึ้นมาที่โพรงหลังจมูก หรือเกิดจากกรดไหลย้อนที่ขึ้นมาที่โพรงหลังจมูก หรือเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิดของท่อยูสเตเชียนทางกายวิภาคและสรีรวิทยา เช่น เพดานโหว่ (cleft palate) Down syndrome พยาธิสภาพดังกล่าว ทำให้มีการคั่งของของเหลวที่ผลิตจากหูชั้นกลาง และเกิดการอักเสบของเยื่อบุหูชั้นกลาง และทำให้ของเหลวดังกล่าวไหลออกจากหูชั้นกลางได้

อาการของโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หูชั้นกลางอักเสบชนิดเรื้อรัง  แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

          1. ชนิดไม่อันตราย (safe or uncomplicated ear) รูทะลุของเยื่อแก้วหู มักจะอยู่ตรงกลาง (central perforation) โอกาสที่เยื่อบุหูชั้นนอก (stratified squamous epithelium) หรือขี้ไคล (cholesteatoma) จะเข้าไปในหูชั้นกลางและโพรงอากาศมาสตอยด์ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย  หูน้ำหนวกชนิดนี้ คือ ชนิดที่ไม่มีขี้ไคลนั่นเองชนิดนี้ผู้ป่วยจะมีหนอง (mucopurulent discharge) ไหลจากหูเป็นๆ หายๆ อาจตรวจพบgranulation หรือ polyp ได้ มักไม่พบว่ามีอาการปวดหูร่วมด้วย หากมีอาการปวดหูแสดงว่าอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยมักเสียการได้ยินแบบการนำเสียงเสีย บางรายอาจมีเส้นประสาทหูเสื่อมร่วมด้วยจาก Bacterial Toxin

          2. ชนิดอันตราย (unsafe or complicated ear) มักจะมีรูทะลุของเยื่อแก้วหู อยู่ที่ขอบแก้วหู (marginal perforation) ทำให้โอกาสที่เยื่อบุหูชั้นนอก หรือขี้ไคลจะเข้าไปในหูชั้นกลางและโพรงกระดูกมาสตอยด์ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนสูง หูน้ำหนวกชนิดนี้ คือ ชนิดที่มีขี้ไคลนั่นเอง ชนิดนี้ผู้ป่วยจะมีอาการคือ  ผู้ป่วยจะมีอาการหนองไหลออกจากหูเป็นๆ หายๆ แม้ว่ารักษาด้วยยาเต็มที่แล้วอาการไม่ดีขึ้น  และมีอาการหูตึงจากการนำเสียงผิดปกติ (conductive hearing loss) หรือทำลายอวัยวะที่เกี่ยวกับการได้ยินในหูชั้นใน ทำให้หูตึงจากเส้นประสาทหูทำงานผิดปกติ (sensorineural hearing loss)มีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน  ทำให้เกิดอัมพาตของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7  เกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis), ฝีในสมอง (brain abscess), การติดเชื้อของหลอดเลือดในกะโหลกศีรษะ (sigmoid sinus thrombophlebitis) เกิดการอักเสบของกระดูกมาสตอยด์ (mastoiditis) เนื่องจากมีหนองขังอยู่ในส่วนของกระดูก มาสตอยด์ แล้วไม่สามารถระบายออกไปได้ ทำให้มีการทำลายของกระดูกส่วนที่เป็นโพรงอากาศมาสตอยด์ผู้ป่วยมีอาการปวดหูมากขึ้นเรื่อยๆ  มีหนองไหลออกจากหูมากขึ้นและมีกลิ่นเหม็น  เกิดฝีหนองหลังหู (subperiosteal abscess)


แนวทางการรักษาโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการซักประวัติอาการของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย และการใช้เครื่องส่องหู (Otoscope) ส่องดู ซึ่งจะพบเยื่อแก้วหูมีลักษณะผิดปกติ หากแก้วหูยังไม่ทะลุสามารถยืนยันการมีน้ำในหูชั้นกลางได้ด้วยการตรวจ pneumatic otoscope และการวัด tympanometry หากทะลุแล้วจะเห็นรูทะลุและมีน้ำอยู่ในรูหูชั้นนอก สามารถนำน้ำในหูไปย้อมสีและเพาะหาชนิดของเชื้อได้และการตรวจนับเม็ดเลือดจะช่วยยืนยันภาวะติดเชื้อหากยังไม่มีหนองไหล นอกจากนี้ยังมีการตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติมอีกเช่น

  1. การถ่ายรังสีกระดูกมาสตอยด์  (plan film of mastoid) มักพบว่าโพรงกระดูกมาสตอยด์ทึบ และบางส่วนของกระดูกมาสตอยด์อาจถูกทำลายไป
  2. การตรวจการได้ยิน เพื่อตรวจระดับของการได้ยินทีเสียไป ถ้าการอักเสบของหูชั้นกลางหรือ cholesteatoma  ทำลายกระดูกหู (ossicular destruction) จะทำให้มีการสูญเสียการได้ยินมาก (conductive hearing loss) หรืออาจมีการสูญเสียของประสาทหู (sensorineural hearing loss) ได้ถ้ามี inner ear involvement
  3. การเป่าลมเข้าไปในช่องหู เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะมากขึ้น หรือมีลูกตากระตุก (nystagmus) หรือ (fistula test) ถ้า cholesteatoma  ได้ทำลายกระดูกที่หุ้มอวัยวะควบคุมการทรงตัว จนเกิดทางเชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลาง และอวัยวะควบคุมการทรงตัว การเป่าลมดังกล่าวจะกระตุ้นอวัยวะควบคุมการทรงตัว ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะหรือลูกตากระตุกได้ ควรทำการทดสอบดังกล่าวในผู้ป่วยทุกรายที่มี cholesteatoma โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะ
  4. เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ของกระดูกเทมโพรอล (temporal bone) พิจารณาทำในรายที่ใช้ยารักษาเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น (สงสัย cholesteatoma เนื้องอก,สิ่งแปลกปลอม) หรือสงสัยว่าจะมีภาวะแทรกซ้อน (ossicular or fallopian canal erosion จาก cholesteoma, subperiostea  abscess)
  5. การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ของกระดูกเทมโพรอล พิจารรณาทำในรายที่สงสัยว่าจะมีภาวะแทรกซ้อน (dural inflammation, sigmoid sinus thrombosis, labyrinthitis, extra-craniai and intracranial abscess) 

สำหรับวิธีการรักษาโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังชนิดไม่อันตรายคือ ทำความสะอาด ดูดหนองในรูหู  ให้ยาหนอดหู fluoroquinolone ear drop 14-28 วัน

ถ้าหากอาการยังไม่ดีขึ้นให้ รับประทานยาปฏิชีวนะ ร่วมด้วย หลังจากให้การรักษาด้วย ยาปฏิชีวนะอย่างเต็มที่แล้วยังไม่ดีขึ้นจำเป็นต้องประเมินหา cholesteatoma และ mastoiditis

ในผู้ป่วยบางรายหลังการรักษาด้วย ยาปฏิชีวนะไปแล้ว ยังพบว่าแก้วหูทะลุอยู่ไม่สามารถปิดเองได้ซึ่งอาจพิจารณารับการผ่าตัดแก้วหู (tympanoplasty) วัตถุประสงค์หลักในการปะเยื่อแก้วหูคือ

  • เพื่อกำจัดการติดเชื้อในหูชั้นกลาง
  • เพื่อป้องกันการติดเชื้อผ่านเยื่อแก้วหูที่ทะลุเข้าสู่หูชั้นกลาง
  • เพื่อช่วยให้การได้ยินดีขึ้น

และวิธีการรักษาโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังชนิดอันตรายคือ กำจัดการติดเชื้อภายในหูชั้นกลางป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อภายในหูชั้นกลางอีก รักษาการได้ยินให้อยู่ในสภาพดี

นอกจากจุดหมายในการรักษาดังกล่าว 3 ข้อแล้ว ควรทำให้ cholesteatoma มีทางออก เพื่อป้องกันไม่ให้ cholesteatoma มีการขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนไปทำลายอวัยวะที่สำคัญต่างๆ

  1. การรักษาทางยา โดยอาจให้ยาต้านจุลชีพชนิดรับประทานและชนิดหยอดหู และให้ยาต้านจุลชีพชนิดฉีดเข้าหลอดเลือด ในผู้ป่วย ที่มีภาวะแทรกซ้อน และทำความสะอาดหู โดยนำหนองของเหลว และเนื้อตายในหูชั้นกลางออกให้หมด
  2. ทำการผ่าตัด mastoidectomy สำหรับผู้ป่วยที่มี cholesteatoma เก็กกักไว้ในส่วนของแก้วหูที่เป็นแอ่ง และแพทย์ไม่สามารถมองเห็นและทำความสะอาดเอา cholesteatoma โดยเฉพาะส่วนในสุดของแอ่งได้ ควรทำการผ่าตัด หลักการคือเอา cholesteatoma ออกมาให้หมด โดยทำ tympanomastoid surgery และเปิดช่องให้ choleseatoma  ที่อยู่ภายใน มีทางออกสู่ภายนอก เพื่อป้องกันไม่ให้ cholesteatoma มีการขยายขนาดจนไปทำลายอวัยวะที่สำคัญต่างๆ และเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

ปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อภายในหูชั้นกลางจนกลายเป็นการอักเสบเรื้อรังได้ ซึ่งได้แก่

  • อายุ หูชั้นกลางอักเสบมักเกิดขึ้นในเด็กอายุ 6 เดือน-2 ปี เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากท่อยูสเตเชียนของเด็กอยู่ในลักษณะแนวราบทำให้เกิดการระบายของเหลวไม่ดีพอเหมือนผู้ใหญ่
  • ปัญหาสุขภาพ เด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่มีความเสี่ยงที่จะเกิดติดเชื้อในหูชั้นกลาง เนื่องจากความผิดปกติดังกล่าวจะส่งผลให้เชื้อโรคเข้าสู่ท่อยูสเตเชียนและเข้าสู่หูชั้นกลางได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป นอกจากนี้ ผู้ป่วยกลุ่มดาวน์ซินโดรม (Down's Syndrome) ที่มีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างจากเด็กคนทั่วไปจะมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดหูชั้นกลางอักเสบได้มากขึ้น
  • การดื่มนมแม่ เด็กที่ไม่ได้ดื่มนมแม่ตั้งแต่กำเนิดจะทำให้มีภูมิคุ้มกันในช่วงแรกเกิดน้อยกว่าเด็กที่ดื่มนมแม่ เนื่องจากในน้ำนมแม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีและช่วยป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ได้
  • การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ไข้หวัดมักเป็นกันมากในฤดูฝน และฤดูหนาว ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยติดเชื้อที่หูได้ง่ายขึ้นเมื่อเป็นไข้หวัด นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อากาศก็ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อได้อีกด้วย
  • การดูแลเด็ก เด็กที่ต้องได้รับการดูแลในสถานรับเลี้ยงมีความเสี่ยงที่จะเป็นไข้หวัดและเกิดการติดเชื้อที่หูได้ง่าย เนื่องจากภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่พัฒนา และสถานรับเลี้ยงเด็กมักเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคที่ทำให้เด็กป่วยได้มากที่สุด
  • มลพิษทางอากาศ ฝุ่นควันในอากาศรวมถึงควันบุหรี่ อาจกระตุ้นให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และหูได้ง่ายขึ้น
  • การสั่งน้ำมูกแรงๆ การดำน้ำ การว่ายน้ำ ในขณะที่มีการอักเสบในโพรงหลังจมูกจะทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในหูชั้นกลางได้ง่ายขึ้น

การติดต่อของโรงหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง โรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้องรังหรือหูน้ำหนวกนี้ เป็นโรคที่เกิดจากาการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ในบริเวณหูชั้นกลางซึ่งไม่ได้เป็นโรคติดต่อและไม่ได้มีการติดต่อจากคนสู่คนหรือจากสัตว์สู่คนแต่อย่างใด

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง (หูน้ำหนวก)

  1. ไม่แคะ ปั่น เขี่ย หรือเช็ดขี้หูออก หรือทำความสะอาดหูโดยใช้ไม้พันสำลี นิ้วมือ หรือวัตถุใดๆก็ตามใส่เข้าไปในรูหู โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์และพยาบาล
  2. ป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู โดยใช้สำลีหรือวัสดุอุดรูหู (Ear plug) ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านกีฬา (เป็นที่อุดหูสำหรับการว่ายน้ำหรือดำน้ำ) และทุกครั้งขณะอาบน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู
  3. ในขณะที่มีหูน้ำหนวกไหลหรือเป็นโรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกต้องและต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงการดำน้ำหรือเล่นน้ำในสระหรือแม่น้ำลำคลอง
  4. ไม่ควรล้างหูด้วยสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อบ่อยๆ หรือซื้อยาหยอดหูมาใช้เอง
  5. ไม่ไอแบบปิดปากแน่น หรือสั่งน้ำมูก จามรุนแรงแบบปิดจมูกแน่น
  6. ป้องกันตนเองไม่ให้เป็นหวัด หรือโรคทางเดินหายใจอักเสบ
  7. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง แม้ว่าอาการจะทุเลาลงแล้วก็ตาม เพราะอาจทำให้การรักษาได้ผลไม่เต็มที่ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
  8. เมื่อมีอาการน่าสงสัย หรือเป็นหวัดยาวนาน หรือ เป็นหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (มีอาการไข้ หูอื้อ ปวดหู มีน้ำหนองซึ่งมีกลิ่นเหม็นไหลออกมาจากหู) ควรรีบไปพบแพทย์/แพทย์หู คอ จมูก

การป้องกันตนเองจากโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง (หูน้ำหนวก)

  1. การป้องกันในเด็กอาจทำได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยง เช่น สนับสนุนให้ทารกกินนมมารดา หลีกเลี่ยงการส่งเด็กไปเลี้ยงที่ศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีการสุขาภิบาลไม่ดี
  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้เป็นไข้หวัด และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ
  3. ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมค็อกคัส (pneumococcal vaccine) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคหูชั้นกลางอักเสบและปอดอักเสบ
  4. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ๆ มีควันบุหรี่
  5. ระมัดระวังอย่าให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุกับหู หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนบริเวณหูและบริเวณใกล้เคียง เพราะอาจทำให้แก้วหูทะลุและฉีกขาดได้
  6. หากป่วยเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันควรรีบทำการรักษาก่อนจะกลายเป็น ระยะหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง
  7. ทำให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ และหมั่นออกกำลังกาย
  8. เมื่อมีอาการน่าสงสัย หรือเป็นหวัดยาวนาน หรือ เป็นหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ควรรีบไปพบแพทย์

สมุนไพรที่ใช้ป้องกัน / รักษาโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง (หูน้ำหนวก)

  • หูเสือหรือเนียมหูเสือ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plectranthus amboinicus  สรรพคุณทางยาไทยพบว่า น้ำคั้นจากใบสามารถแก้ปวดหู พิษฝีในหู หูน้ำหนวกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งยีสต์ ยับยั้งเชื้อรา ฆ่าแมลง ยับยั้งการงอกของพืชอื่น ยับยั้งเอนไซม์ protease จากเชื้อ HIV และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ    สารสำคัญที่พบในใบ เช่น น้ำมันหอมระเหย thymol, carvacrol, γ-terpinene, cyperene เป็นต้น
  • กระชาย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Boesenbergia rotunda (L.) Mansf. มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ รูมาตอยด์ เกาท์ ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ปวดท้อง และโรคกระเพาะ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยพบว่าสารสกัดจากรากกระชายและสาระสำคัญที่พบมีฤทธิ์ลดการอักเสบในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่หูด้วย 12-O-tetradecanoylphorbol-13-acetate (TPA) นอกจากนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งสารสื่อกลางการอักเสบ ได้แก่ nitric Oxide (NO), prostaglandin E2 (PGE2), tumour Necrosis Factor Alpha (TNF-α), interleukin-1β (IL-1β), และ interleukin-6 (IL-6)
  • เพชรสังฆาต Cissus quadrangularis L.Cissus bifida Schumach. & Thonn., C. edulis Dalzell, C. quadrangula L., C. succulenta (Galpin) Burtt-Davy, C. tetragona Harv., C. องค์ประกอบทางเคมี:   ascorbic acid (vitamin C), lupeol, carotene, calcium oxalateสรรพคุณ:ตำรายาไทย: เถา รสร้อนขมคัน เป็นยาแก้ริดสีดวงทวารหนัก คั้นเอาน้ำดื่ม แก้โรคลักปิดลักเปิด แก้ประจำเดือนไม่ปกติ แก้กระดูกแตกหักซ้น ขับลมในลำไส้ ตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา: ใช้น้ำจากต้น หยอดหู แก้น้ำหนวกไหล

 

 

 เอกสารอ้างอิง

  1. พรเทพ เกษมศิริ.Otits Media. ศรีนครินทร์เวชสาร.ปีที่25.ฉบับที่2.เมษายน-มิถุนายน.2553.หน้า27-32.
  2. พัชรีพร แซเซียว. ปวดหูคันหูของเหลวไหลจากหู. ตํารา หูคอจมูก สําหรับนักศึกษาแพทยและแพทยเวชปฏิบัติทั่วไป2551; 69-115.
  3. Paparella MM, Schachern PA, et al: Temporal bone histopathology in chronically infected ears with intact and perforated tympanic membranes. Laryngoscope 1992; 102:1229-1236.
  4. หูชั้นกลางอักเสบ-อาการ,สาเหตุ,การรักษา,พบแพทย์ดอทคอม.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก https://www.pobpad.com
  5. Browning GG, Merchant SN, Kelly G, eds. Chronic otitis media In: Gleeson M, Browning GG, Burton MJ, Clarke R, eds. Scott-Brown’s Otorhinolaryngology, Head and Neck Surgery. 7th ed. London: Edward Arnold Publishers 2008; 3395-445.
  6. Hildmann H, Sudhoff H, ed. Middle Ear Surgery, New York: Springer Verlag; 2006.
  7. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 914-916.
  8. Chole RA, Sudhoff HH. Chronic otitis media, Mastoiditis and pretrositis In: Flint PW, Hayghey BH, Lund VJ, eds. Cumming Otolaryngology Head & Neck surgery. 5th ed.Philadephia: Mosby 2010;1963-78.
  9. รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน.หูชั้นกลางอักเสบหรือหูน้ำหนวก ชนิดเรื้อรัง (Chronic Otitis Media).ภาควิชาโสต นาสิกลาริซ์วิทยา.คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.
  10. Bluestone CD. Defi nition of otitis media and related diseases. In: Alper CM, Bluestone CD, Casselbrant ML, eds. Advance therapy of otitis media. Hamilton: BC Decker Inc 2oo4; 1-8.
  11. Paraya Arsanasen: Public Knowledge for Thai population. The Royal College of Otolaryngologist-Head and Neck Surgeons of Thailand; 2011
  12. หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่371.คอลัมน์สารานุกรมทันโรค.มีนาคม.2553
  13. ใบหูเสือ.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.medplant.mahido/ac.th/user/reply.asp?id=5439
  14. เพชรสังฆาต.ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudrug.com/main.php?action=viewpage&pid=95
  15. นพ.ประชา ลีลายนะ,นพ.พรชัย อรพินท์. โรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่14.คอลัมน์โรคน่ารู้,กรกฎาคม 2523.
  16. ประโยชน์ของกระชาย.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6631