โรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

1.โรคไข้หวัดใหญ่คืออะไร  ไข้หวัดใหญ่ หรือ ฟลู (Influenza, Flu) เป็นโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกับโรคหวัด แต่เกิดจากไวรัสคนละชนิดและมีความรุนแรงสูงกว่าโรคหวัดธรรมดามาก และเป็นอีกโรคหนึ่งพบบ่อยในทุกกลุ่มอายุทั้งในเด็กจน ถึงผู้สูงอายุ และมีโอกาสเกิดโรคใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย โดยมีลักษณะทางคลินิกที่สำคัญคือ มีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ เนื่องจากเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) มาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเกือบทุกทวีป ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตนับล้านคน

2. สาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่  โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่มีชื่อเรียกว่า อินฟลูเอนซาไวรัส (Influenza virus) เป็น RNA ไวรัส อยู่ในตระกูล Orthomyxoviridae ที่พบอยู่ในสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ เป็นต้น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีทั้งหมด 3 ชนิด คือ เชื้อ influenza A, B และ C และ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A เป็นชนิดที่ท้าให้เกิดการระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก ชนิด B ท้าให้เกิดการระบาดในพื้นที่ระดับภูมิภาค ส่วนชนิด C มักเป็นการติดเชื้อที่แสดงอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ และไม่ท้าให้เกิดการระบาด เชื้อไวรัสชนิด A แบ่งเป็นชนิดย่อย (subtype) ตามความแตกต่างของโปรตีนของไวรัสที่เรียกว่า hemagglutinin (H) และ neuraminidase (N) ชนิดย่อยของไวรัส A ที่พบว่าเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในคนที่พบในปัจจุบันได้แก่ A(H1N1), A(H1N2), A(H3N2), A(H5N1) และ A(H9N2) ส่วนไวรัสชนิด B และ C ไม่มีแบ่งเป็นชนิดย่อย

3. อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ อาการจะเริ่มหลังได้รับเชื้อ 1-4 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูงแบบทันทีทันใด ( 38 ซ ในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กมักจะสูงกว่านี้) ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก ปวดกระบอกตาเวลาตาเคลื่อนไหว มีน้ำตาไหลเมื่อมีแสงสว่าง และอาจพบอาการคัดจมูก เจ็บคอ ถ้าป่วยเป็นระยะเวลานานอาจจะมีอาการไอจากหลอดลมอักเสบ (post viral bronchitis) อาการจะรุนแรงและป่วยนานกว่าไข้หวัดธรรมดา (common cold) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่มีบางรายที่มีอาการรุนแรง เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ปอดบวม ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

 

4. กลุ่มบุคคลเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่

§  บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่

§  ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย มะเร็งที่กำลังให้เคมีบำบัด เบาหวาน ธาลัสซีเมีย ภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ)

§  บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

§  หญิงมีครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป

§   ผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัมขึ้นไป

§   ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

§  เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี

5. แนวทางอาการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ การวินิจฉัยโรคโดยอาการทางคลินิกยังมีข้อจำกัด เนื่องจากอาการคล้ายโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัสชนิดอื่น การวินิจฉัยควรใช้ การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค อาทิเช่นตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในเสมหะที่ป้ายหรือดูดจากจมูกหรือลำคอ หรือ ตรวจพบแอนติเจนของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ใน epithelial cell จาก nasopharyngeal secretion โดยวิธี fluorescent antibody หรือ ตรวจพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อในซีรั่มอย่างน้อย 4 เท่าในระยะเฉียบพลันและระยะพักฟื้น โดยวิธี haemaglutination inhibition (HI) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน หรือ complement fixation (CF) หรือ Enzyme - linked immunosorbent assay (ELISA)และการใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยาช่วย เช่น ช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ให้การรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล ยาละลายเสมหะ เป็นต้นการให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ทันทีหลังจากที่มีอาการช่วยลดความรุนแรงและอัตราตายในผู้ป่วย ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) และซานามิเวียร์ (Zanamivir) การพิจารณาเลือกใช้ตัวไหนขึ้นอยู่กับข้อมูลความไวของยาต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในแต่ละประเทศส่วนการให้ยาต้านไวรัส amantadine hydrochloride หรือยา rimantidine hydrochloride ภายใน 48 ชั่วโมง นาน 3-5 วัน จะช่วยลดอาการและจำนวนเชื้อไวรัสชนิด A ในสารคัดหลั่งที่ทางเดินหายใจได้ ขนาดยาที่ใช้ในเด็กอายุ 1-9 ปี ให้ขนาด 5 มก./กก./วัน แบ่งให้ 2 ครั้ง สำหรับผู้ป่วยอายุ 9 ปีขึ้นไปให้ขนาด 100 มก. วันละ 2 ครั้ง (แต่ถ้าผู้ป่วยน้ำหนักน้อยกว่า 45 กก. ให้ใช้ขนาดเดียวกับเด็กอายุ 1-9 ปี) นาน 2-5 วัน สำหรับผู้ป่วยอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่การทำงานของตับและไตผิดปกติ ต้องลดขนาดยาลง ในช่วงหลังๆ ของการรักษาด้วยยาต้านไวรัส อาจพบการดื้อยาตามด้วยการแพร่โรคไปยังคนอื่นได้ กรณีนี้อาจต้องให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้เสี่ยงโรคสูงที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ถ้ามีอาการแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรียต้องให้ยาปฏิชีวนะด้วย และควรหลีกเลี่ยงยาลดไข้พวก salicylates เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค Reye's syndrome

6.การติดต่อของโรคไข้หวัดใหญ่ ระยะฟักตัวของโรค ระยะฟักตัวของโรคมักจะสั้น 1 - 4 วัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ เฉลี่ย 2 วัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปริมาณของไวรัสที่ได้รับ การติดต่อ เชื้อไวรัสที่อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยแพร่ติดต่อไปยังคนอื่นๆ โดยการไอจามรดกันโดยตรงหรือหายใจเอาฝอยละอองเข้าไปหากอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร บางรายได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา ปาก  และผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการและจะแพร่เชื้อต่อไปอีก 3-5 วันหลังมีอาการในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กอาจแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แต่ไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อในช่วงเวลานั้นได้เช่นกัน ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมามีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ทั่วโลก 4 ครั้งคือ

  1. พ.ศ. 2461 - 2462 Spanish flu จากไวรัส A(H1N1) เป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุด ประชากรทั่วโลกป่วยร้อยละ 50 และตายมากถึง 20 ล้านคน
  2. พ.ศ. 2500 - 2501 Asian flu จากไวรัส A(H2N2) โดยเริ่มตรวจพบในประเทศจีน
  3. พ.ศ. 2511 - 2512 Hong Kong flu จากไวรัส A(H3N2) เริ่มตรวจพบในฮ่องกง
  4. พ.ศ. 2520 - 2521 Influenza A (H1N1) กลับมาระบาดใหญ่อีกครั้ง แยกได้จากผู้ป่วยในสหภาพโซเวียต จึงเรียก Russian flu แต่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน

7.การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ การดูแลตนเอง เมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่ คือ เมื่อมีไข้ ควรหยุดโรงเรียนหรือหยุดงาน แยกตัวและของใช้จากผู้อื่น เพื่อพักผ่อนและป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น พักผ่อนให้มากๆ รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน  เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสเกิดโรคข้างเคียงหรือแทรกซ้อน พยายามกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ในทุกวันดื่มน้ำสะอาดให้มากๆอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม กินยาลดไข้พาราเซตามอล หรือตามแพทย์แนะนำ ไม่ควรกินยาแอสไพรินเพราะอาจเกิดการแพ้ ดังกล่าว ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ และทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ  ใช้ทิชชู่ในการสั่งน้ำมูกหรือเช็ดปาก ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดหน้า หลังจากนั้นทิ้งทิชชู่ให้ถูกสุขอนามัย  รู้จักใช้หน้ากากอนามัย งดบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุให้อาการรุนแรงขึ้น ควรรีบพบแพทย์เมื่อ ไข้สูงเกิน 39 - 40 องศาเซียลเซียส และไข้ไม่ลดลงหลังได้ยาลดไข้ภายใน 1 - 2 วัน  ดื่มน้ำได้น้อยหรือกินอาหารได้น้อย ไอมาก มีเสมหะ และ/หรือ เสมหะมีสีเหลืองหรือเขียว ซึ่งแสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เป็นโรคหืด เพราะโรคหืดมักกำเริบและควบคุมเองไม่ได้ อาการต่างๆเลวลง หอบเหนื่อยร่วมกับไอมาก อาจร่วมกับนอนราบไม่ได้ เพราะเป็นอาการแทรกซ้อนจากปอดบวมเจ็บหน้าอกมากร่วมกับหายใจขัด เหนื่อย เพราะเป็นอาการจากอาการแทรกซ้อนจากเยื่อหุ้มหัวใจ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบชัก ซึม สับสน แขน/ขาอ่อนแรง อาจร่วมกับปวดศีรษะรุนแรง และคอแข็ง เพราะเป็นอาการแทรกซ้อนจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ  หรือ สมองอักเสบ

8. การป้องกันเองจากโรคไข้หวัดใหญ่  รักษาร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิต้านทานโรคได้ดี โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก หลีกเลี่ยงความเครียด บุหรี่ สุราและยาเสพติดและระวังรักษาร่างกายให้อบอุ่นในช่วงอากาศหนาวเย็น หรืออากาศเปลี่ยนแปลง  รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผัก และผลไม้ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารและวิตามินเพียงพอ ในช่วงที่มีการระบาดของโรค ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง งานมหรสพ รวมถึงการใช้โทรศัพท์สาธารณะหรือลูกบิดประตู เป็นต้น แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่หรือชโลมมือด้วยแอลกอฮอล์เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมาจากการสัมผัสถูกเสมหะของผู้ป่วย และอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะไชจมูกหากยังไม่ได้ล้างมือให้สะอาด ผู้ป่วยควรแยกตัวออกห่างจากผู้อื่น อย่านอนปะปนหรือคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเสมอ เวลาเข้าไปในที่ที่มีคนอยู่กันมากๆ ควรสวมหน้ากากอนามัยด้วยทุกครั้ง ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่นั้น โดยทั่วไปแล้วถ้าไม่มีการระบาดโรค แพทย์จะไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนแก่ประชาชนทั่วไป ยกเว้นในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงดังที่กล่าวมาแล้ว ผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 65 ปี) ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปีที่ต้องกินยาแอสไพรินเป็นประจำ สตรีตั้งครรภ์ที่คาดว่าอายุครรภ์ย่างเข้าไตรมาสที่ 2 ขึ้นไปในช่วงที่มีการระบาดของโรค ผู้ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่ต้องเดินไปในถิ่นที่มีการระบาดของโรค ผู้ที่มีกิจกรรมจำเป็นที่ไม่อาจจะหยุดงานได้ (เช่น นักแสดง นักกีฬา นักเดินทาง ตำรวจ เจ้าหน้าที่บริการสังคม นักเรียนหรือนักศึกษาที่อยู่รวมกัน รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในสถานพักฟื้น สถานสงเคราะห์คนชรา) ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์ ผู้ป่วยรังสีรักษาหรือเคมีบำบัด) ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด โรคหอบหืด โรคตับ โรคไต โรคเลือด) ซึ่งบุคคลเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

9. สมุนไพรชนิดไหนที่สามารถช่วยบรรเทา/รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ได้

สมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Herbs with anti-influenza activity) ประกอบด้วยสมุนไพร

             พลูคาว / ผักคาวตอง (Houttuynia cordata) จากการศึกษาในหลอดทดลอง น้ำมันระเหยการกลั่นพลูคาวสดมีฤทธิ์ต้านไวรัส ไข้หวัดใหญ่ เริม (Herpes simplex virus type 1) เอชไอวี (HIV-1) โดยสารสำคัญในน้ำมันระเหยจากพลูคาวที่มีฤทธิ์ต้านไวรัสดังกล่าว ได้แก่ methyl n-nonyl ketone, laurly aldehyde, capryl aldehyde

            Epigallocatechin (EGCG) ในชาเขียวEGCG เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีมากที่สุดในชาเขียว EGCG ขนาดต่ำในหลอดทดลองมีฤทธิ์ ยับยั้งไม่ให้ไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้งชนิด A และ B เข้าเซลล์& ลดการติดเชื้อของเซลล์เพาะเลี้ยงจากไตสุนัขได้อย่างมีนัยสำคัญ

            ใบเตย (Pandanus amaryllifolius) ใบเตยมีสารจำพวกเลกติน (lectin) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นโปรตีน ชื่อ Pandanin ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อ ไข้หวัดใหญ่ชนิด A (H1N1) อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งเชื้อได้ 50% (EC50) เท่ากับ15.63 microM

            สาร Aloe emodinAloe emodin = สารแอนทราควิโนน (anthraquinone) ที่พบได้ในยางว่านหางจระเข้ เมื่อนำสาร Aloe emodin มาผสมกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ในหลอดทดลองนาน 15 นาที ที่ 37 องศาเซลเซียส สามารถยับยั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ นอกจากนี้ สาร aloe emodin ยังยับยั้งไวรัสที่ก่อโรคเริม และงูสวัดได้อีกด้วย

สมุนไพรกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Immunomodulator / Immunostimulant)

            กระเทียม

          Aged Garlic Extract (AGE) มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน AGEเป็นผลิตภัณฑ์กระเทียมเตรียมโดยการแช่กระเทียมที่หั่นหรือสับใน 15-20% แอลกอฮอล์แล้วทิ้งไว้นานมากกว่า 10 เดือน ที่อุณหภูมิห้องแล้วนำมาทำให้เข้มข้น เมื่อให้ AGE ทางปากแก่หนูถีบจักร 10 วันก่อนให้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แก่หนูโดยการหยอดทางจมูก มีประสิทธิผลในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ดีเท่าการให้วัคซีน

            ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกระเทียมที่มีสาร allicin มีการศึกษาวิจัยในอาสาสมัคร 146 คน โดยให้กลุ่มควบคุมได้รับยาหลอก และกลุ่มทดลองได้รับกระเทียมรับประทานวันละ 1 แคปซูล นาน 12 สัปดาห์ ระหว่างฤดูหนาว (พฤศจิกายน - กุมภาพันธ์) และให้คะแนนสุขภาพ และอาการหวัดทุกวัน พบว่า กลุ่มที่ได้รับกระเทียมมีโอกาสเป็นหวัดน้อยกว่ากลุ่มยาหลอก และเมื่อเป็นหวัดแล้วหายเร็วกว่า

            โสม (Ginseng) สารสกัดโสมอเมริกันที่จดสิทธิบัตรแล้ว (CVT-E002) โดยทดลองให้สารสกัดนี้ ขนาด 200 มก. วันละ 2 ครั้งหรือยาหลอกแก่ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่รวมกันหลายคน (institutional setting) จำนวนรวม 198 คน ระหว่างฤดูการระบาดของไข้หวัดใหญ่ (ฤดูหนาวปี 2543 -44) เพื่อศึกษาประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน (Acute Respiratory Illness, ARI) พบว่า อุบัติการณ์ของไข้หวัดใหญ่ที่ได้รับการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการของกลุ่ม ยาหลอกสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดโสมอย่างมีนัยสำคัญ (7/101 และ 1/97) และการลดลงของความเสี่ยงจากการป่วยด้วยโรค ARI ในกลุ่มที่ได้รับยา CVT-E002 เท่ากับ 89%

 

 

เอกสารอ้างอิง

1.      Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, D., Hausen, S., Longo, D., and Jamesson, J.(2001). Harrrison’ s:Principles of internal medicine. New York. McGraw-Hill.

2.      ”สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่-H1n1 (1 มกราคม – 26 ธันวาคม 2558)” สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข

3.      ดร.ภก.อัญชลี จูฑะพุทธิ.สรุปการบรรยายประชุมวิชาการกรมพัฒน์เรื่อง”สมุนไพร:ไข้หวัดใหญ่-ไข้หวัดนก.”ณ.ห้องประชุมเบญจกูล กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก.วันที่ 28 ธันวาคม 2548

4.      (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).”ไข้หวัดใหญ่(lnfluenza/Flu).หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป2.หน้า 393-396

5.      “ไข้หวัดใหญ่”คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล.(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก www.tm.mahidol.ac.th.

6.      ไข้หวัดใหญ่.กลุ่มระบาดวิทยา/โรคติดต่อ.สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข

7.      โรคไข้หวัดใหญ่แนวทางการดำเนินการให้บริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลปี2559.แนวทางการเฝ้าระวังโรคติดต่อในสถานศึกษา 2559 กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร