สารสกัดกระชายดำ

สารสกัดกระชายดำ

ชื่อสามัญ Kaempferia parviflora extract

สารสกัดกระชายดำ

ประเภทและข้อแตกต่างสารสกัดกระชายดำ

สารสกัดกระชายดำ คือ สารต่างๆ ที่มีอยู่ในเหง้ากระชายดำที่ถูกสกัดแยกออกมาเป็นสารบริสุทธิ์ที่พร้อมนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งทำให้ง่ายต่อการนำไปใช้และยังสามารถเลือกใช้สารสำคัญที่อยู่ในเหง้ากระชายดำได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับสารอื่นโดยไม่จำเป็นอีกด้วย สำหรับในปัจจุบันนั้นพบว่าประเภทของสาระสำคัญที่นิยมสกัดจากเหง้ากระชายดำเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ นั้นมีอยู่ 3 ประเภท คือ 5,7-Dimethoxyflavone , 5,7,4’-Trimethoxyflavone และ 3,3’,4’,5,7-Pentamethoxyflavone
           นอกจากนี้โดยปกติแล้วกรรมวิธีในการสกัดสารแต่ละชนิดนั้นจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับกลุ่มสารที่ต้องแยกออกมา และตัวทำละลายที่เลือกใช้ ที่จะต้องเหมาะกับความเป็นขั้วของสารที่ต้องการสกัด อีกทั้งตัวทำละลายก็ควรจะละลายสารที่ต้องการสกัดได้มาก มีจุดเดือดไม่สูงนัก ไม่ติดไฟง่าย และต้องไม่ทำปฏิกิริยากับสารหรือกับตัวทำละลายอื่นที่จะใช้ร่วมกัน และไม่มีพิษ

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสารสกัดกระชายดำ

สำหรับแหล่งที่ใช้ในการสกัดสารสกัดกระชายดำ คือ ส่วนเหง้าของกระชายดำ ซึ่งเป็นส่วนของกระชายดำที่มีการใช้ในทางการแพทย์แผนโบราณมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว โดยมีสรรพคุณที่โดดเด่นต่างๆ มากมาย ดังนั้นจึงมีการนำมาสกัดเอาสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ออกมา โดยส่วนใหญ่แล้วการสกัดจะนิยมนำเอาพันธุ์ที่มีเนื้อในเหง้าสีเข้มมาสกัดเพราะจะมีปริมาณสารสำคัญสูงกว่าพันธุ์ที่มีเนื้อในเหง้าสีจาง ส่วนพันธุ์ที่มีเนื้อในเหง้าสีจาง มักจะมีปริมาณน้ำมันหอมระเหยสูงกว่าพันธุ์ที่มีสีเข้ม
           ทั้งนี้มีข้อมูลว่ากระชายดำปลูกในไทยจัดเป็นกระชายดำที่มีคุณภาพมากที่สุด และในปัจจุบันจึงมีผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกระชายดำ มากขึ้น ทั้งการแปรรูปขั้นต้น เช่น อบแห้ง ผง จนถึงในระดับการสกัดสารสกัดกระชายดำซึ่งเป็นการนำกระชายดำมาพัฒนาแปรรูปให้ตรงกับความต้องการ สามารถรับประทานได้ง่าย เป็นต้น

สารสกัดกระชายดำ 

ปริมาณที่ควรได้รับสารสกัดกระชายดำ

สำหรับปริมาณและขนาดการใช้สารสกัดกระชายดำ นั้น ในปัจจุบันเป็นการใช้ตามคำแนะนำของการศึกษาวิจัยในแต่ละสถาบันที่ได้รับ ทำการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาแต่ละด้านของสารสำคัญชนิดต่างๆ ที่สกัดได้จากกระชายดำ แต่ทั้งนี้ในปัจจุบันตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องรายชื่อพืชที่ใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ได้ระบุไว้ว่าได้อนุญาติให้ใช้เหง้ากระชายดำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งในการสกัดให้ใช้วิธีบดผงหรือสกัดด้วยน้ำโดยมีปริมาณและขนาดการใช้ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน

ประโยชน์และโทษสารสกัดกระชายดำ

สารสกัดกระชายดำ ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมายหลายประเภท เช่น ในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยาและอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อีกทั้งยังมีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกด้วย นอกจากการสกัดสารสกัดกระชายดำแล้วการแปรรูปขั้นต้นจากเหง้ากระชายดำยังมีการนำเหง้ากระชายดำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กระชายดำในรูปแบบยาสมุนไพรที่เป็นยาใช้ภายใน เช่น ยาเม็ดลูกกลอนกระชายดำ แคปซูลกระชายดำ ชากระชายดำ ยาเม็ดผงกระชายดำ กาแฟกระชายดำ ยาน้ำกระชายดำ และเครื่องดื่มสมุนไพรกระชายดำ เป็นต้น

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารสกัดกระชายดำ

มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดกระชายดำมากมายหลายฉบับทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในที่นี้จะยกมานำเสนอเฉพาะรายงานการวิจัยที่เด่นๆ ดังนี้
           ฤทธิ์ป้องกันเซลล์ประสาท มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดเฮกเซนจากเหง้ากระชายดำ ที่ประกอบด้วยอนุพันธุ์ของ methoxyflavone 5 ชนิด และเมื่อนำสารดังกล่าวที่ความเข้มข้น 0.1, 1 และ 10 ไมโครโมล มาทดสอบฤทธิ์ในการป้องกันเซลล์ประสาท โดยทดลองในเซลล์ประสาทเพาะเลี้ยง (cortical cells) ของหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดพิษด้วยกลูตาเมท พบว่าสาร 5-Hydroxy-3,7,3',4'-tetramethoxyflavone มีฤทธิ์ดีในการป้องกันเซลล์ประสาท
           ฤทธิ์ลดการเสื่อมของข้อเข่า มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ลดอาการข้อเข่าเสื่อมของสารสกัดกระชายดำ ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดข้อเข่าอักเสบด้วยกรดโมโนไอโอโดอะซิติก (monoiodoacetic) โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเหง้ากระชายดำด้วย 60% เอทานอล ขนาด 100 มก./กก. น้ำหนักหนู และกลุ่มที่ได้รับยา diclofenac ขนาด 10 มก./กก. น้ำหนักหนู เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นในวันที่ 8 ทำการวัดระดับการทนต่อความเจ็บปวด (pain threshold) ด้วย von Frey algesiometry เปรียบเทียบผลกับกลุ่มควบคุม พบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดกระชายดำ และยา diclofenac จะสามารถทนต่อความเจ็บปวดได้เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และในการตรวจพยาธิสภาพและการประเมินด้วย Mankin score พบว่าสารสกัดมีผลลดความรุนแรงของการเสื่อมของกระดูกอ่อนในข้อของหนูได้
           พิษต่อเซลล์มะเร็ง (cytotoxicity) และฤทธิ์ช่วยลดการดื้อยา chemotherapy มีรายงานการศึกษาในเซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยงพบว่าสารสกัดกระชายดำด้วยเอทานอล หรือสารกลุ่ม methoxyflavones เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งหลายชนิดและ ทำให้เกิด [Human cholangiocarcinoma cell lines (HuCCA-1 & RMCCA-1 cells)] เซลล์มะเร็งเยื่อบุช่องปาก (KB cell line) เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด myeloblastic leukemia (HL-60 cells) และเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Hu-man leukemic U937 cell line
           ฤทธิ์ต้านการแพ้ (anti-allergy activity) สารสกัดกระชายดำด้วยเอทานอลแสดงฤทธิ์ต้านการแพ้โดยยับยั้งการหลั่ง β-hexosaminidase จากการยับยั้งการแตกของแกรนูล (degranulation) จากเซลล์ RBL-2H3 (ซึ่งเป็นโมเดลของ mast cell) ที่ถูกกระตุ้นด้วย allergen โดยมีค่า IC50=10.9 มคก./มล.สารสำคัญที่มีฤทธิ์ต้านการแพ้แรงที่สุด คือ 5-hyclroxty-3,7,3’4’-totramothoxtflavono มีค่า IC50=8.0 µg/ml โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการเคลื่อนของแคลเซียม เข้าเซลล์
           ฤทธิ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศ สำหรับการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับฤทธิ์ทางชีวภาพและเภสัชวิทยาของกระชายดำที่สนับสนุนสรรพคุณที่เกี่ยวข้องกับสมรรถภาพทางเพศของกระชายดำ พบว่าสารสกัดเอทานอลจากเหง้ากระชายดำมีผลทำให้พฤติกรรมทางเพศของสัตว์ทดลองดีขึ้น และมีผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์โดยเพิ่มน้ำหนักของท่อพักเชื้ออสุจิ ถุงน้ำอสุจิ ต่อมลูกหมาก และกล้ามเนื้อก้นของหนู และสารสกัดจากเหง้ากระชายดำยังสามารถเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังอวัยวะเพศของสัตว์ทดลอง และมีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบองคชาต (carvernosum) ของหนูแรท และกล้ามเนื้อเรียบอวัยวะเพศผู้ของคนที่ได้จากการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อคลายตัว เลือดจึงไหลเวียนเข้าสู่อวัยวะเพศได้ดี ทำให้อวัยวะเพศเกิดการแข็งตัว นอกจากนี้สารสกัดเอทานอลและสารกลุ่มฟลาโวนอยด์มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ phosphodiesterase ทำให้กล้ามเนื้อหลอดเลือดคลายตัวและขยาย เลือดจึงไหลเวียนเข้าสู่อวัยวะเพศได้ดี
           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในอาสาสมัครเพศชายที่มีสุขภาพดี อายุเฉลี่ย 65.05±3.5 ปี ที่รับประทานแคปซูลสารสกัดเอทานอลจากกระชายดำ ขนาด 25 และ 90 มก./วัน เป็นเวลา 2 เดือน พบว่าสารสกัด ขนาด 90 มก./วัน มีผลเพิ่มการตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางเพศ (erotic stimuli) ของอาสาสมัครได้ โดยเพิ่มขนาดและความยาวขององคชาติ ลดระยะเวลาในการหลั่งน้ำกาม และเพิ่มความพึงพอใจต่อการแข็งตัว (erection satisfaction) และผลยังคงอยู่จนถึง 2 เดือน ที่ได้รับสารสกัดอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อหยุดให้สารสกัดก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่แคปซูลกระชายดำไม่มีผลต่อระดับของฮอร์โมน testosterone, FSH, LH, cortisol และ prolactin
           ฤทธิ์ต้านอักเสบ สาร 5,7 –ไดเมธอกซีฟลาโวน (5,7-DMF) ที่แยกได้จากเหง้ากระชายดำ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และมีฤทธิ์ลดไข้จากการศึกษาฤทธิ์ต้านอักเสบของสารนี้ในสัตว์ทดลองด้วยวิธีการต่างๆ พบว่าสาร 5,7-DMF สามารถต้านการอักเสบแบบเฉียบพลันได้ดีกว่าแบบเรื้อรัง โดยแสดงฤทธิ์ยับยั้งการบวมของอุ้งเท้าหนูขาวจากสารคาราจีแนน (carrageenan) และคาโอลิน (kaolin) ได้ 16.0-48.0% และ 43.7-80.9% ตามลำดับ นอกจากนี้ พบว่า สาร 5,7-DMF มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสาร prostaglandin G อย่างมีนัยสำคัญ
           ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์  สาร 5,7,4’-trimethoxyflavone และ 5,7,3’,4’ –tetramethoxyflavone แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Plasmodium falciparum ที่เป็นสาเหตุของโรคมาลาเรีย ส่วนสาร 3,5,7,4’-tetramethoxyflavone และ 5,7,4’-trimethoxyflavone แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Candida albicans และแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Mycobacterium อย่างอ่อน
           ส่วนการศึกษาพิษเรื้อรังของสารสกัดกระชายดำด้วย 95% เอทานอลในหนูแรตสายพันธุ์วิสตาร์กลุ่มละ 24 ตัว (เพศละ 12 ตัว) โดยกรอกสารสกัดที่เตรียมในทรากาคานท์ 1% ในขนาด 5, 50 และ 500 มก./กก.วัน ทางปากหรือเทียบเท่ากับ 1, 10 และ 100 เท่าของขนาดที่คนกิน นาน 6 เดือน เทียบกับกลุ่มควบคุม 2 กลุ่ม ที่ได้รับน้ำและทรากาคานท์ พบว่าสารสกัดขนาด 500 มก./กก./วัน ทำให้หนูเพศผู้ที่ได้รับสารสกัดขนาดสูงสุดมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าและกินอาหารน้อยกว่ากลุ่มควบคุมทั้งสองกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ

โครงสร้างสารสกัดกระชายดำ

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ในการใช้สารสกัดกระชายดำ ควรระมัดระวังในการใช้โดยควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมที่ระบุไว้ ไม่ควรใช้ในปริมาณมากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ อีกทั้งผู้ที่แพ้พืชในวงศ์ขิงควรหลีกเลี่ยงการใช้สารสกัดกระชายดำ นอกจากนี้ เด็ก สตรีมีครรภ์รวมถึงผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับตับก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารสกัดกระชายดำ เนื่องจากยังขาดข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ และควรระวังการเกิดอันตรกิริยากับยาแผนปัจจุบัน เช่น ยา sildenafil (ยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ) เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้

เอกสารอ้างอิง สารสกัดกระชายดำ

⦁ สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. (2552) . สมุนไพร น่ารู้ (4) กระชายดำ Kaempferia parviflora Wall. ex Baker. กรุงเทพฯ โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
⦁ อรัญญา ศรีบุศราคัม.กระชายดำกับสมรรถภาพทางเพศชาย.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ อัญชลี จูฑะพุทธิ.กระชายดำ:สมุนไพร Champion product.วารสารการแพทย์ทางเลือก ปีที่ 11 .ฉบับที่ 1มกราคม-เมษายน 2556.หน้า 4-16
⦁ ผลป้องกันเซลล์ประสาทของกระชายดำ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ บังอร ศรีพานิชกุลชัย,บรรณาธิการ (2553).กระชายดำ:การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ขอนแก่น:โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.
⦁ ผลของสารสกัดกระชายดำ ต่อโรคข้อเข่าเสื่อม.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ พนารัช ปรีดากรณ์.เติมธรรม สิทธิเลิศ.กลยุทธิ์การพัฒนากระชายดำและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกระชายดำ.การประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานวิชาการระดับชาติ UTCC Academic Day ครั้งที่ 2 หน้า  646-661
⦁ การสกัดกระชายดำ.กระดานถาม-ตอบ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6286
⦁ กระชายดำ.ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก ⦁ http://www.thaicrudedug.com/main.php?action=viewpage⦁ &⦁ pid=4
⦁ Banjerctpongchai R. Suwannachot K. Rattanapanone V.Sripandkulchai B.Ethanolic rhizome from Kaempferiaparbftora Wall ex. Baker induces apoptosis in HL-60 cells Asian Pac J Cancer Prev 2008,9.595-600.
⦁ Leardkamolkam V, Tiamyuyen S, Sripanidkulchai 80.Pharmacolgical activity of Kaempferiaparvflora extract against human bile duct cancer call lines. Asian Pac J Cancer Prev 2009;10.695-8.
⦁ Tewtrakul S, Subhadhiradakul S. Kummee S-Ant-allergic activity of compounds from Kaempferiaparvflara. J Ethnophamacol 2008.116:191-3
⦁ Banjerdpongchai R, Chanwikruy Y,Rattanpenone V. Sripanidkulchai B lnduction of apoptosis in the human Leukemic U937 cell line by Kaempferiaparviflora Wall.ex.Baker extract and effects of paclitaxel and camptothecin Asian Pac J Cancer Prev 2009:10:1137-40.
⦁ Chivapat S Chavalittumrong P Attawish A Rungsppat A Chronic toxicity study of Kaempfeniaparviflora Wall ex. Extract Thai J Vat Med 2010;40:377-83.
⦁ Wanich S Yerjai C Amino and nitro derivatives of 5.7-simethoxtflavone from Kaempferiaparviflora and cytotoxicity against KB cell Arch Pharm Res 2009;32:1185-9.
⦁ Tewtrakul S,Subhadirasakul S Anti-allergic activity of some selected plants in the Zingiberaceae family J Ethnopharmacol 2007:109:535-8.