งิ้ว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

งิ้ว งานวิจัยและสรรพคุณ 36 ข้อ

ชื่อสมุนไพร งิ้ว
ชื่ออื่น/ชื่อท้องถิ่น งิ้วบ้าน, งิ้วแดง (ทั่วไป), งิ้วหนาม, งิ้วปงแดง, งิ้วปง, ปองิ้ว (ภาคกลาง, ภาคตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bombax ceiba Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Bombax malabaricum DC., Gossampinus malabarica Merr.
ชื่อสามัญ Silk cotton tree, Cotton tree, Red cotton tree
วงศ์ BOMBACIDAE


ถิ่นกำเนิดงิ้ว

งิ้ว จัดเป็นพืชท้องถิ่นของไทยอีกชนิดหนึ่ง โดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมบริเวณเอเชียเขตร้อน ในภูมิภาคอินโดจีน และทางตอนใต้ ของจีน ได้แก่ บริเวณประเทศ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และมลฑลทางตอนใต้ของจีน สำหรับในประเทศไทยสามารถพบงิ้ว ได้ทั่วทุกภาคของประเทศแต่จะพบได้น้อยในภาคใต้ ซึ่งจะพบงิ้วในป่าเบญจพรรณ เชิงเขา และไหล่เขา หรือ ตามที่ราบที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-600 เมตร และในปัจจุบันงิ้วมีจำนวนน้อยมาก ส่วนมากจะพบตามภาคเหนือ


ประโยชน์และสรรพคุณงิ้ว

  1. ช่วยบำรุงระบบไหลเวียนโลหิต
  2. แก้ความดันโลหิตสูง
  3. ใช้ถอนพิษ
  4. แก้ไตพิการ
  5. แก้ไตชำรุด
  6. แก้ไตอักเสบ
  7. รักษากระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
  8. ช่วยบรรเทาอาการท้องเดิน
  9. แก้ท้องเสียลงท้อง
  10.  แก้บิดเลือด
  11. แก้บิดมูกเลือด
  12. ช่วยขับพยาธิ
  13. แก้อัมพาต
  14. แก้อาการบวม จากการกระแทก
  15. แก้เอ็นอักเสบ
  16. ช่วยแก้พิษไข้
  17. แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  18. ช่วยขับปัสสาวะ
  19. ใช้ห้ามเลือด
  20. รักษาแผล ใช้สมานแผล
  21. รักษาฝีหนอง
  22. รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
  23. ช่วยบำรุงกำลัง
  24. แก้ตกเลือด
  25. แก้ท้องเสีย
  26. ช่วยให้อาเจียน
  27. แก้กระเพาะอาหารอักเสบ
  28. รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
  29. ใช้รักษาแผลเรื้อรังในไต
  30. ใช้รักษาโรคหนองในเรื้อรัง
  31. แก้มะเร็ง
  32. แก้ฟกช้ำ
  33. แก้อักเสบ
  34. รักษาพิษไข้
  35. รักษาริดสีดวง
  36. แก้ท้องร่วง

          งิ้ว ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากมายหลายด้านตั้งแต่ในอดีตแล้ว โดยมีการนำมาใช้ประโยชน์ ดังนี้

  • เกสรตัวผู้จากดอกนำไปตากแห้ง ใช้เป็นส่วนประกอบในขนมจีนน้ำเงี้ยว และแกงแคได้
  • ดอกสดใช้ลวกจิ้มกับน้ำพริก
  • ปุยนุ่นของผลแก่สามารถนำมาใช้ทำเครื่องเรือนได้ ด้วยการนำมาใช้ยัดเบาะ ฟูก หมอน ตุ๊กตา ฯลฯ
  • เมล็ดนำมาตั้งเอาน้ำมัน นำมาใช้ปรุงอาหาร และใช้ทำสบู่
  • เปลือกต้นให้เส้นใยสามารถนำมาใช้ทำเชือก ส่วนเนื้อไม้ใช้ทำไม้จิ้มฟัน ก้านไม้ขีดไฟ ของเล่น กล่องใส่สินค้า หีบศพ ไม้พาเลท แจว และพาย เป็นต้น

           นอกจากนี้เปลือกต้นของงิ้ว ยังสามารถนำมาใช้ในการย้อมสีเส้นไหม โดยลอกเอาเฉพาะเปลือกต้น นำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มกับน้ำ นาน 1 ชั่วโมง โดยใช้อัตราส่วนต่อน้ำ 1:2 ต่อเส้นไหม 1 กิโลกรัม โดยจะต้องใช้เปลือกงิ้วสด 15 กิโลกรัม โดยจะให้สีเทาม่วง หรือ สีน้ำตาล

งิ้ว

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้อาเจียน ถอนพิษ ขับปัสสาวะ แก้ตกเลือด แก้กระเพาะอาหารอักเสบ แก้ท้องเสีย โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้รักษาความดันโลหิตสูง ใช้เปลือกต้นงิ้ว 1 กิโลกรัม หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปใส่ในหม้อต้ม เติมน้ำลงไป 5 ลิตร และต้มจนเดือด แล้วให้รินเอาแต่น้ำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว (250 มิลลิเมตร) วันละ 2 ครั้ง ทุกเช้า และเย็น
  • ใช้แก้พิษไข้ แก้บิดมูกเลือด แก้ร้อนในกระหายน้ำ โดยนำดอกแห้งมาต้ม หรือ ชงกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้บิด แก้บิดมูกเลือด แก้บิดเลือด โดยนำดอกมาต้มเป็นน้ำชาผสมกับน้ำตาลทรายแดง ใช้ดื่มตอนท้องว่างวันละ 3 ครั้ง
  • ใช้บำรุงระบบการไหลเวียนของโลหิต แก้ท้องเดิน ท้องเสีย แก้บิด อัมพาต เอ็นอักเสบ ไตพิการโดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ไตพิการ ไตชำรุด ไตอักเสบ ด้วยการใช้เปลือกต้นงิ้ว มาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ตากแดดให้แห้ง นำมาต้มกินต่างน้ำ
  • ใช้รักษาฝี และแผลที่มีหนอง ให้ใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำแล้วนำมาใช้ชะล้างทำความสะอาดแผล
  • ใช้แก้อาการฟกช้ำ แก้บวม มีอาการอักเสบ โดยนำใบแห้ง หรือ ใบสดมาตำทาบริเวณที่เป็น หรือ ใช้รากสดนำมาแช่เหล้า ถูทา หรือ ตำพอก


ลักษณะทั่วไปของงิ้ว

งิ้ว จัดเป็นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อนขนาดใหญ่ ทรงพุ่มเป็นรูปไข่ ลำต้นสามารถสูงได้ 15-25 เมตร ลำต้นงิ้ว มีลักษณะเปลาตรง ตอนต้นอ่อนมีสีเขียวแต่พอต้นมีอายุมากจะเปลี่ยนเป็นสีเทา มีหนามใหญ่แหลมคล้ายปีรามิดอยู่ทั่วลำต้นและกิ่ง

           ใบงิ้ว เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ซึ่งใน 1 ช่อใบ จะมีใบย่อยประมาณ 4-7 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีถึงรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 นิ้ว และยาวประมาณ 6-10 นิ้ว โคนใบสอบเรียว ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนาเกลี้ยง เป็นมัน ใบมีสีเขียว ก้านช่อใบยาว และมีก้านใบสีขาว ยาวประมาณ 1 นิ้ว

           ดอกงิ้ว เป็นดอกเดี่ยว แต่มักออกเป็นกระจุก บริเวณปลายกิ่งหรือปลายยอด ประมาณ 3-5 ดอก ดอกมีขนาดใหญ่ สีแดง หรือ สีแสด มีกลิ่นหอมเอียน มีฐานรองดอกมีสีเขียวเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ขนาดเล็ก ส่วนดอกมีขนาดใหญ่ กลีบดอกมี 5 กลีบ หนา และแข็งเป็นรูปขอบขนาน เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้าง 8-10 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกแผ่ออก และม้วนกลับมาทางขั้วของดอก ดอกมีเกสรตัวผู้ สีขาวปนสีชมพู เป็นเส้นยาวตรงกลางดอกจำนวนมาก ส่วนเกสรตัวเมียมี 1 ก้าน สีชมพู

           ผลงิ้ว มีลักษณะยาวรี รูปทรงกระบอก มีความยาว 6-8 นิ้ว ทั้งขั้วผล และปลายผลจะแหลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล เปลือกของผลก็จะแข็งด้วย และเมื่อแก่จัดจะแตกอ้าออกเป็น 5 พู ตามรอย ภายในผลมีปุยสีขาวและมีเมล็ดรูปทรงกลมสีดำ ขนาดเล็กถูกห่อหุ้มด้วยปุยฝ้ายสีขาว จำนวนมาก

งิ้ว

งิ้ว

การขยายพันธุ์งิ้ว

งิ้ว จัดเป็นไม้เนื้ออ่อนที่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด สำหรับงิ้ว ในปัจจุบันมีน้อยลง เพราะไม่นิยมนำมาปลูกเนื่องจากผลเล็ก ให้ปุยน้อย กว่า งิ้วดอกขาว อีกทั้งลำต้นยังสูง และมีหนามแหลมยากแก้การเก็บเกี่ยวผล ดังนั้นต้นงิ้วที่พบเห็นในปัจจุบันจึงเป็นต้นงิ้วในธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกงิ้ว นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการปลูก “งิ้วดอกขาว” ซึ่งได้กล่าวถึงมาแล้ว ในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของเปลือกต้น และดอกของงิ้ว ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่นในเปลือกต้นพบสาร shamimicin, lupeol, opuntiol, mangiferin, shamiminol, stigmasta-3,5-diene, lupenone และ (±)-lyoniresinol-2a-O-[beta]-D-glucopyranoside อีกการศึกษาหนึ่งยังระบุว่า สารสกัดจากเปลือกต้นยังพบสาร scopoletin, bomcibone, lupeol, glochidonol, rutin, alphitolic acid, gallic acid, quercetin, luteolin และ salicylic aldehyde ส่วนของดอกนั้นมีรายงานการพบสาระสำคัญ คือ quercetin, quercetin-3-O-β-D-glucopyranoside, rutin, vitexin, isovitexin, kaempferol-3-O-rutinoside, isomangiferin, mangiferin, esculetin, scopoletin, fraxetin, scopolin, blumenol C glucoside, phenylethyl rutinoside, protocatechulic acid, chlorogenic acid และ vanillic acid

โครงสร้างงิ้ว

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของงิ้ว

มีรายงานผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของสารสกัดงิ้ว จากส่วนต่างๆ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ดังนี้

           ฤทธิ์ยับยั้งอาการท้องผูก มีรายงานผลการทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดน้ำจากดอกงิ้ว (Bombax ceiba; silk cotton tree) ต่อการยับยั้งอาการท้องผูกในหนูเม้าส์ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มควบคุมที่ให้น้ำเกลือ กลุ่มที่เหนี่ยวนำให้เกิดอาการท้องผูกด้วย loperamide 10 มก./กก., กลุ่มให้น้ำเกลือ กลุ่มที่เหนี่ยวนำให้ท้องผูกด้วย loperamide 10 มก./กก., กลุ่มให้ phenolphthalein 10 มก./กก., กลุ่มทดสอบที่เหนี่ยวนำให้ท้องผูกด้วย loperamide 10 มก./กก. และให้สารสกัดน้ำจากดอกงิ้วขนาด 40, 80 และ 160 มก./กก. ตามลำดับ โดยให้ผ่านทางท่อผ่านกระเพาะอาหาร เป็นระยะเวลา 8 วัน และในวันที่ 8 หนูทุกตัวจะได้รับ activated carbon เพื่อประเมินผลการทดสอบจากปริมาณน้ำในอุจจาระ เวลาที่ถ่ายอุจจาระสีดำครั้งแรกหลังจากได้รับ activated carbon อัตราการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร และค่าทางชีวเคมีต่างๆ ผลการทดสอบพบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำจากดอกงิ้วขนาด 160 มก./กก. มีปริมาณน้ำในอุจจาระเพิ่มขึ้น (15.75%) จำนวนอุจจาระเพิ่มขึ้น (11.65%) อัตราการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารเพิ่มขึ้น (25.37%) และระยะเวลาที่ถ่ายอุจจาระสีดำครั้งแรกลดลง (24.04%) กลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำจากดอกงิ้วขนาด 80 มก./กก. มีผลเพิ่มระดับ motillin (30.62%) gastrin (54.46%) substance P (18.99%) และลดระดับ somatostatin (19.47%) นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดน้ำจากดอกงิ้วขนาด 160 มก./กก. มีผลลดการทำลายเยื่อเมือก (mucosal) ปรับปรุงการทำงานของเซลล์กอบเลท (goblet cell) ลดการแสดงออกของโปรตีน aquaporin 3 (AQP3) (33.60%) และเพิ่มการแสดงออกของโปรตีน c-kit (11.63%) อีกทั้งจากการทดสอบวิเคราะห์สารเคมีในสารสกัดน้ำจากดอกงิ้ว ด้วย UPLC-ESI-QTOF-MS/MS พบสาร 12 ชนิด ได้แก่ protocatechuic acid, 1-caffeoylquinic acid, 5-coumaroylquinic acid, neochlorogenic acid, chlorogenic acid, 4-coumaroylquinic acid, 3-coumaroylquinic acid, clovamide, rutin, isoquercetin, quercetin 3 - glucuronide และ kaempferol - 3 - glucuronide จากผลการทดสอบครั้งนี้นักวิจัยระบุว่าสารสกัดน้ำจากดอกงิ้วมีฤทธิ์บรรเทาอาการท้องผูก อย่างไรก็ตามเป็นเพียงการทดสอบในหนูทดลองเท่านั้น

           นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศระบุว่า สารสกัดจากเปลือกต้นมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตลดน้ำตาลในเลือด และต้านเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดจากราก มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านอาการท้องร่วง มีฤทธิ์แก้ปวด และปกป้องตับ สารสกัดจากใบมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และลดน้ำตาลในเลือด ส่วนสารสกัดจากผลอ่อน มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของงิ้ว

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

งิ้ว เป็นพันธุ์ไม้ที่เราคุ้นเคยกันดี และมีการใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ในนอดีตแล้ว แต่สำหรับในการใช้ส่วนต่างๆ ของงิ้ว เพื่อเป็นยาสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง งิ้ว

  1. เดชา ศิริภัทร. งิ้ว:ต้นไม้แห่งกามภูมิ. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 166. กุมภาพันธ์ 2536.
  2. ฉันท์ฐิดา ธีระวรรณ."งิ้วแดง" ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)
  3. การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของดอกงิ้วต่อการยับยั้งอาการท้องผูกในหนูทดลอง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. Wu J, Zhang XH, Zhang SW, Xuan LJ. (2008) Three novel compounds from the flowers of Bombax malabaricum. Helvetica Chemica Acta, 91, 136-143.
  5. Renata S, Piekut J, Lewandowski W. (2013) The relationship between molecular structure and biological activity of alkali metal salts of vanillic acid: spectroscopic, theoretical and microbiological studies. Spectrochimica Acta Part A, 100, 31–40.
  6. Yinrong L, Foo LY. (2000) Flavonoid and phenolic glycosides from Salvia officinalis. Phytochemsitry, 55, 263-267.
  7. Samuel, A.J.S.J., Kalusalingam, A., Chellappan, D.K., Gopinath, R., Radhamani, S., Husain, H. A., Muruganandham, V., Promwichit, P. 2010. Ethnomedical survey of plants used by the orang asli in kampong bawong, Perak, West Malaysia. Joutnal of Ethnobiology and Ethnomedicine. 6:5
  8. Said A, Aboutabl EA, Nofal SM, Tokuda H, Raslan M. (2011) Phytoconstituents and bioactivity evaluation of Bombax ceiba L. flowers. Journal of Traditional Medicine, 28, 55-62
  9. Kim BG, Lee Y, Hur HG, Lim Y, Ahn JH. (2006) Production of three O-methylated esculetins with Escherichia coli expressing Omethyltransferase from poplar. Bioscience Biotechnology and Biochemistry, 70, 1269-1272.
  10. Marelle GB, Vervoort J, Szymusiak H, Lemanska K, Tyrakowska B, Cenas N, Juan SA, Rietjens IMCM. (2000) Regioselectivity and reversibility of the glutathione conjugation of quercetin quinone methide. Chemical Research in Toxicology, 13, 185-191.