แป๊ะตำปึง ประโยชน์ดีๆ สรรพรคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

แป๊ะตำปึง งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ

ชื่อสมุนไพร แป๊ะตำปึง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น จักรนารายณ์ (ไทย, ภาคกลาง), ว่านกอบ, ใบเบก, ผักพันปี (ภาคเหนือ), แปะตำปึง (ไทยลื้อ), ชั่วจ่อ (ม้ง), เอียเตาะเอี้ย, อูปุยไฉ่, จิยฉีเหมาเยี่ย (จีน), ไป๋ตงเฟิง, ไป๋เป้ยซันชิ (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gynura Divaricata (L.) DC.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gynura sarmer tosa DC., Gynura auriculata Cass., Gynura glabrata Hook.f., Gynura hemsleyana H.Lev., Gynura incana Druce, Gynura procumbens (Lour.) Merr. Senecio divaricatus Cacalia hieraciodes Wild., Cacalia ovalis Ker Gawl.
ชื่อสามัญ Purple passionvine, Purple velvel plant
วงศ์ Compositae-Asteraceae

 

ถิ่นกำเนิดแป๊ะตำ

แป๊ะตำปึง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศจีน โดยมักจะพบในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 2800 เมตร ขึ้นไป จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังภูมิภาคต่างๆ สำหรับในประเทศไทยพบได้มากทางภาคเหนือที่มีความสูง และมีอากาศเย็น ในปัจจุบันก็มีการนิยมนำมาปลูกกันมากเพื่อใช้เป็นไม้ประดับ และใช้เป็นสมุนไพร

ประโยชน์และสรรพคุณแป๊ะตำ

  1. ใช้พอกปิดฝี
  2. แก้ปวดทำให้เย็น
  3. ช่วยดับพิษไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
  4. แก้ฟกบวม
  5. แก้พิษอักเสบทุกชนิด
  6. แก้ปวดหัวสำมะลอก
  7. แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
  8. ช่วยดูดถอนพิษ เป็นยาถอนพิษทุกชนิด
  9. ช่วยฟอกโลหิต ฟอกน้ำเหลือง
  10. ช่วยลดความดันโลหิต
  11. แก้ร้อนใน
  12. แก้ปวดฟัน ปวดเหงือก
  13. รักษาปากเป็นแผล
  14. แก้ไอ
  15. แก้คออักเสบ
  16. ช่วยขับลม
  17. รักษาโรคกระเพาะ
  18. แก้เริม
  19. รักษางูสวัด
  20. แก้เบาหวาน
  21. แก้อาการตกเลือด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

ใช้ฟอกโลหิต แก้เบาหวาน แก้ความดันโลหิต แก้ร้อนใน ขับลม รักษาโรคกระเพาะ ให้นำใบมารับประทานสด หรือ นำมาประกอบอาหารรับประทานก็ได้ ใช้แก้ปวดเหงือก ปวดฟัน แก้ปากเป็นแผล คออักเสบ โดยใช้ใบแป๊ะตำปึง สดนำมารับประทานกลางคืนหลังแปรงฟันโดยค่อยๆ เคี้ยวแล้วอมทิ้งไว้สักระยะหนึ่งแล้วค่อยกลืนลงไป  แก้งูสวัดและเริม โดยนำใบมาตำกับน้ำตาลทรายแดง แล้วนำมาพอก หรือ ประกบตรงรอยแผลทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที หรือ จะนำใบมาคั้นเอาแต่น้ำใช้ทาสดๆ หรือ ใช้ตำพอกก็ได้ ใช้แก้ไอ คออักเสบ โดยใช้ใบ และก้านประมาณ 10 กรัม ใส่ไข่น้ำตาลเล็กน้อย รับประทาน ใช้แก้ปวดอักเสบ ใช้แก้ปวดหัวลำมะลอก แก้ฝี แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แก้ฟกช้ำบวม แก้พิษอักเสบทกชนิด แก้พิษตะขาบ พิษจากแมลงป่อง พิษจากแมงสัตว์กัดต่อย โดยนำใบสดนำมาตำให้แตกผสมกับสุราขาว ใช้สำลีชุบให้เปียกแล้วนำไปปิด หรือ พอกบริเวณที่มีอาการ ประมาณวันละ 2-3 ครั้ง ใช้รักษาโรคเบาหวานโดยรับประทานใบสดก่อนอาหารประมาณ 2-5 ใบ ในช่วงตีห้าถึงเจ็ดโมงเช้า และให้รับประทานอีกครั้งในช่วงหลังอาหารเย็นประมาณ 2-3 ชั่วโมง หรือ ใช้กินก่อนนอนทุกวัน โดยให้ทำเช่นนี้ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ แล้วหยุดดูอาการอีก 2-3 วัน แล้วจึงรับประทานต่อ


ลักษณะทั่วไปแป๊ะตำ

แป๊ะตำปึง จัดเป็นไม้ล้มลุก ทรงเป็นพุ่มเตี้ยเลื้อยสูง 30-60 เซนติเมตร มีอายุหลายพันปี ต้นฉ่ำน้ำตั้งตรง หรือ โค้งตั้งแต่โคนต้นแล้วค่อยตั้งตรงเป็นส่วนยอด ลำต้นเรียบหรือมีขนนุ่มสั้นๆ ลำต้นมีสีเขียว หรือ สีเขียวมีลายสีม่วง

           ใบ เป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ ความยาวประมาณ 9-15 เซนติเมตร และกว้าง 8 เซนติเมตร ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ หรือ รูปหอกกลับ ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก รูปคลื่น แผ่นใบหนา ฉ่ำน้ำ และนุ่มคล้ายกำมะหยี่ หลังใบเป็นสีเขียว ท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน หรือ สีม่วงแดงหรือสีขาวออกหม่นๆ มีก้านใบยาว 0.5-4 เซนติเมตร

           ดอก ออกเป็นช่อแบบกระจุก โดยจะออกบริเวณปลายยอดลำต้น ใน 1 ช่อดอก จะมีดอกย่อยหลายดอกลักษณะคล้ายดอกดาวเรือง แต่เล็กกว่า มีสีเหลือง เป็นเส้นฝอยมีเส้นผ่านศูนย์กลางดอก 1.5-2 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นและใบประดับเล็กๆ รูปแถบ หรือ เป็นเส้นรูปกรอบเกลี้ยหลายอัน มีวงใบประดับรองรับช่อดอกรูปคล้ายระฆังขนาด 8-10x6-8 มิลลิเมตร มีก้านช่อดอกยาว 1-15 เซนติเมตร

           ผล เป็นแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงกระบอกสีน้ำตาล ขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตร มีขนประปราย มี pappus สีขาว ลักษณะเป็นขนอ่อนนุ่มคล้ายเส้นไหม ขนาด 10-12 มิลลิเมตร

แป๊ตำปึง
ดอกแป๊ะตำปึง

การขยายพันธุ์แป๊ะตำ

แป๊ะตำปึง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดแบะการปักชำ แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การปักชำ เพราะทำได้ง่ายประหยัดเวลา ได้ต้นกล้าเร็ว และสามารถมีอัตราการรอดสูง โดยมีวิธีการ คือ ใช้มีดตัดบริเวณใต้ข้อกิ่งที่จะใช้ปักชำเล็กน้อย ซึ่งจะหั่นเป็นท่อนยาวท่อนละประมาณ 5-6 นิ้ว จากนั้น นำไปชำในถุง หรือ กระถางที่ผสมวัสดุปักชำที่เตรียมไว้ แล้ววางไว้ในที่ร่ม รดน้ำเช้าเย็น ประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนของรากก็จะงอกกิ่งชำ ก็จะแตกใบอ่อน แล้วจึงนำไปลงดิน หรือ แยกลงกระถางได้เลย

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของแป๊ะตำปึง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญดังนี้ ในใบแป๊ะตำปึงพบสารแอลคาลอยด์ เช่น pyrrolizidine, spirostanol และ coumarins

           ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่าพบสารในกลุ่ม 1,2-bis-dodecanoyl-3-alpha-D-glucopyranosyl-sn-glycerol, dicaffeoyl quinic acids, sitosteryl , stigmasteryl glucosides ในส่วนเหนือดินมีรายงานว่าพบสาร กลุ่มฟลาโวนอยด์หลายชนิดได้แก่ kaempferol ในรูปอิสระและกลัยโคไซด์ quercetin ในรูปอิสระและกลัยโคไซด์ นอกจากนี้ สารสกัด N-hexane พบสาร lupeol beta-amyrin, stigmast-4,22-dien-3-one,stigmasterol ส่วนสารสกัด Ethyl acetate พบสาร stigmast-5,22-diene-3-o-beta-D-glucooyranosit เป็นต้น

โครงสร้างแป๊ะตำปิง

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของแป๊ะตำปึง

มีรายงานการศึกษาวิจัยของแป๊ะตำปึง เอาไว้ดังนี้

           ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง  ทดสอบในหลอดทดลองโดยใช้สารสกัดน้ำจากส่วนเหนือดินของจักรนารายณ์ พบว่าสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ angiotensin converting enzyme ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.37+-0.07 mg/ml (เอนไซม์ ACE ทำหน้าที่เปลี่ยนสารในร่างกายที่ชื่อ angiotensin I ให้เป็น angiotension II ซึ่งสาร angiotension II จะทำให้หลอดเลือดหดตัวทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และแสดงฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ระดับปานกลาง โดยสามารถยับยั้งเอนไซม์ a-amylase (เอนไซม์ที่ใช้ย่อยแป้ง และไกลโคเจน ให้เป็นน้ำตาลมอลโทส และกลูโคส) ได้ 47.5% ที่ความเข้มข้น 1.25 mg/ml ยับยั้งได้ 54%) และยับยั้งเอนไซม์ a-glycosidase (เอนไซม์ที่ย่อยน้ำตาลที่มีพันธะ a-glycosidic ให้ได้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว) ได้ 38.9% ที่ความเข้มข้น 1.25 mg/ml โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 2.17+-0.09 mg/ml (ยามาตรฐาน acarbose ขนาด 0.2 mg/ml ยับยั้งได้ 47%) ซึ่งการยับยั้งเอนไซม์ทั้งสองชนิดนี้ จะทำให้ชะลอการดูดซึมกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือด และชะลอการเพิ่มของระดับน้ำตาลในเลือด โดยสรุปสารสกัดน้ำจากส่วนเหนือดินของจักรนารายณ์ มีผลระดับน้ำตาลในเลือด และลดความดันโลหิตได้เมื่อทดสอบ ในหลอดทดลอง

           ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสารสกัดแป๊ะตำปึง สารสกัดแป๊ะตำปึง ขนาด 200 มิลลิกรัม/น้ำ น้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูขาวจนอยู่ในระดับ ที่ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุมได้ภายใน 1 สัปดาห์ แล้วจึงเริ่มมีระดับไม่คงที่ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 เชื่อว่าสารสกัดแป๊ะตำปึงที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นสารสกัดหยาบ ไม่ละลายในน้ำต้องใช้ Tween 80 ในปริมาณที่จำกัดเป็นตัวทำละลาย เพื่อไม่ให้ไหม้ปริมาตรมากจนเกินความจุของกระเพาะอาหารของหนูขาว จึงทำให้การแตกตัวของสารสกัดในตัวทำละลาย Tween 80 ไม่สม่ำเสมอ เป็นผลให้ฤทธิ์การลดระดับ น้ำตาลในเลือดของหนูขาวที่เหนี่ยวนำ ให้เป็นเบาหวานไม่คงที่ ตลอดระยะเวลาการทดลอง และยังมีรายงานว่าสารสกัด Gynura procumbens ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส แบบแข่งขันซึ่งงแอลฟากลูโคซิเดส เป็นเอนไซม์ที่ใช้ในตอนสุดท้ายของการย่อยสลายคาร์โบไฮเดรต ทา ให้ชะลอการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือด ระดับน้ำตาลในเลือดจึงลดลง เช่นเดียวกับอีกการศึกษาหนึ่งรายงานว่า สารสกัดในน้ำ ของ Gynura divaricata (L.) สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ α-amylase และ α-glycosidase ในการศึกษา in vitro ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ย่อยคาร์โบไฮเดตที่ปั้นน้ำตาลกลูโคส Gynura divaricata จึงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดขาดอินซูลินได้ (type II Diabetic Melitus)

           นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งเอนไซม์ Angiotensin-1 converting enzyme (ACE) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกิดโรดความดันโลหิตสูง อีกด้วย ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งพบว่าสารสกัดในน้ำของ Gynura proccumbens สามารถลดการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสที่ผนังลำไส้ และเพิ่มการใช้กลูโคสของเซลล์กล้ามเนื้อ เพิ่มจำนวน beta cell และ insulin granules ใน islet of Langerhans ขณะเดียวกันการศึกษาโดยใช้สารสกัดในเอทธานอลของ Gynura proccumbens พบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดหนูขาวที่เหนี่ยวนำ ให้เป็นเบาหวานและให้ผลเช่นเดียวกับยาลดน้ำตาลในเลือกลุ่ม biguanide

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ  การศึกษาฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระและต้านไกลเคชั่นของชาที่ทำจากสมุนไพรไทย 15 ชนิด ได้แก่ หญ้าหนวดแมว ตะไคร้ กระเจี๊ยบแดง มะขามแขก หม่อน ดอกคำฝอย ดายขัด ช้าพลู ชุมเห็ดเทศ ย่านาง ชะเอมเทศ มะรุม หญ้าหวาน ฝาง และแป๊ะตำปึง เปรียบเทียบกับชา (Camellia sinensis ) 3 ชนิด คือ ชาเขียว ชาดำ และชาอู่หลง พบว่าชาเขียว ชาดำ และชาอู่หลง จะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าชาสมุนไพร เมื่อทดสอบด้วยวิธี ABTS และ FRAP assays ยกเว้นชาหญ้าหวานซึ่งจะมีฤทธิ์ดีกว่าชาดำและชาอู่หลง

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการทดลองใช้เจลต้านอักเสบที่มีสารสกัดแป๊ะตำปึง 2.5% เป็นตัวยา ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด ซึ่งมักจะมีอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบ (chemotherapy related mucositis) พบว่าสามารถป้องกัน และลดความรุนแรงของอาการได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ สมุนไพรแป๊ะตำปึงยังมีฤทธิ์ต้านไวรัสเริมในหลอดทดลอง ซึ่งสารกลุ่มที่แสดงฤทธิ์ดังกล่าว ได้แก่ กลุ่ม dicaffeoyl quinic acids, sitosteryl- และ stigmasteryl glucosides และ 1, 2-bis-dodecanoyl-3-alpha-D-glucopyranosyl-sn-glycerol ได้มีการทดลองใช้เจลต้านอักเสบที่มีสารสกัดแป๊ะตำปึงเป็นตัวยาในผู้ป่วยที่เป็นเริมที่ริมฝีปาก พบว่า ปริมาณไวรัสมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับยาหลอก

           ฤทธิ์ต้านการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีการทดสอบฤทธิ์ต้านการเกิดเซลล์มะเร็งในลำไส้ใหญ่ (aberrant crypt foci; ACF) จากการเหนี่ยวนำด้วยสาร azoxymethane (AOM) ในหนูแรทเพศผู้ ของสารสกัด 95% เอทานอลจากส่วนใบแป๊ะตำปึง (Gynura procumbens) โดยการแบ่งหนูเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 (กลุ่มควบคุม) ได้รับการฉีดน้ำเกลือ (sterile normal saline) ขนาด 15 มก./กก. เข้าใต้ผิวหนังสัปดาห์ละครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และได้รับการป้อน 10% Tween 20 (น้ำกระสายยา) ขนาด 5 มล./กก. วันละครั้ง เป็นเวลา 10 สัปดาห์ กลุ่มที่ 2 ได้รับการฉีด AOM ขนาด 15 มก./กก. เข้าใต้ผิวหนังสัปดาห์ละครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และได้รับการป้อน 10% Tween 20 ขนาด 5 มล./กก. วันละครั้ง เป็นเวลา 10 สัปดาห์ กลุ่มที่ 3 และ 4 ได้รับการฉีด AOM ขนาด 15 มก./กก. เข้าใต้ผิวหนังสัปดาห์ละครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และได้รับการป้อนสารสกัดขนาด 500 หรือ 250 มก./กก. ตามลำดับ วันละครั้ง เป็นเวลา 10 สัปดาห์ และกลุ่มที่ 5ได้รับการฉีด AOM ขนาด 15 มก./กก. เข้าใต้ผิวหนังสัปดาห์ละครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และได้รับการฉีดยาต้านมะเร็ง fluorouracil (5-FU) เข้าทางช่องท้องในขนาด 35 มก./กก. วันละครั้ง เป็นเวลา 5 วัน จากผลการทดลองพบว่า ผลรวมของจำนวนการเกิด ACF ในหนูที่ได้รับสารสกัดแป๊ะตำปึงขนาด 500, 250 มก./กก. (กลุ่มที่ 3 และ 4) หนูที่ได้รับ 5-FU (กลุ่มที่ 5) และหนูที่ได้รับเฉพาะ AOM (กลุ่มที่ 2) คือ 21, 23, 32 และ 130 ตามลำดับ และในหนูที่ได้รับสารสกัดแป๊ะตำปึงขนาด 500, 250 มก./กก. ยังมีจำนวนการเกิดคริพท์ (crypts) หรือ เซลล์ที่ผิดปกติจากการเหนี่ยวนำด้วย AOM ลดลง 83.6 และ 82.2% ตามลำดับเมื่อเทียบกับหนูที่ได้รับเฉพาะ AOM การตรวจสอบในระดับเนื้อเยื่อพบว่าสารสกัดแป๊ะตำปึงสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ในลำไส้ใหญ่และการแสดงออกของยีน Bcl-2 จากการเหนี่ยวนำด้วย AOM ได้ นอกจากนี้ยังทำให้การทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ เช่น glutathione-S-transfarase และ superoxide dismutase เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับหนูที่ได้รับเฉพาะ AOM ทำให้สามารถสรุปได้ว่าแป๊ะตำปึงสามารถยับยั้งการเกิด ACF จากการเหนี่ยวนำด้วย AOM ได้ โดยคาดว่ากลไกการออกฤทธิ์น่าจะเกี่ยวข้องกับฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวของเซลล์และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

แป๊ะตำปีง

การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของแป๊ะตำปีง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของแป๊ะตำปึง ระบุว่า จากการศึกษาพิษเฉียบพลันและค่า LD 50 ของสารสกัดแป๊ะตำปึงในหนูถีบจักรเพศผู้ และเพศเมียด้วยวิธีป้อนทางปาก และวิธีการฉีดเข้าช่องท้อง พบว่า ค่า LD 50 ของสารสกัดแป๊ะตำปึงในหนูถีบจักรทั้งเพศผู้ และเพศเมียด้วยวิธีการป้อนทางปากมีค่ามากกว่า 8 กรัม/กิโลกรัม เนื่องจากไม่พบหนูถีบจักรตายภายใน 14 วันทั้งกลุ่มควบคุม และกลุ่มทดลอง (ป้อนสารสกัดขนาด 8 กรัม/กิโลกรัม) และไม่พบการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักลักษณะขน การกินอาหาร การดื่มน้ำ ปริมาณปัสสาวะ และพฤติกรรมของหนูถีบจักรทั้งสองกลุ่ม และเพศ แต่พบว่าทั้งหนูถีบจักรกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองอาการถ่ายเหลวในระยะ 3-4 วันแรก หลังจากนั้นจึงกลับคืนเป็นปกติภายใน 1 สัปดาห์ทั้งเพศผู้และเพศเมีย

           ส่วนการศึกษาพิษเฉียบพลัน และค่า LD 50 ของสารสกัดแป๊ะตำปึงในหนูถีบจักรเพศผู้ และเพศเมียด้วยวิธีฉีดเข้าช่องท้อง พบว่ากลุ่มควบคุมทั้งเพศผู้ และเพศเมียซึ่งก็ตายภายในเวลา 1-3 ชั่วโมง ทั้งหมดเช่นเดียวกับกลุ่มทดลองที่ฉีดสารสกัด 800 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทั้งเพศผู้ และเพศเมียตายภายในเวลา 1-3 ชั่วโมงทั้งหมด ส่วนกลุ่มทดลองที่ฉีดสารสกัด 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตาย 3 ตัว เป็นเพศผู้ 2 ตัว ที่เวลา 1 และ 3 ชั่วโมงหลังฉีด และเพศเมีย 1 ตัว ที่เวลา 1 ชั่วโมงหลังฉีด ในขณะทดลองที่กลุ่มที่ฉีดสารสกัด 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทั้งเพศผู้และเพศเมียมีชีวิตรอดทั้งหมด

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในตำรายาจีนระบุว่าสำหรับผู้ที่ธาตุไฟอ่อนมีไข้ และร่างกายอ่อนแอ ไม่ควรรับประทานสมุนไพร ชนิดนี้ ส่วนตำรายาไทยระบุว่าอาหารที่แสลงกับแป๊ะตำปึงคือ เนื้อ กุ้ง ปู ปลาทู ปลาหมึก หลาร้า ของดอง กะปิ แตงกวา หน่อไม้ เผือก หัวผักกาด สาเก ชาหรือกาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงไม่ควรรับทานร่วมกัน แต่หากจำเป็นต้องรับประทานก็ให้รับประทานก่อน หรือ หลังที่รับประทานแป๊ะตำปึงประมาณ 2 ชั่วโมง
 

เอกสารอ้างอิง แป๊ะตำปึง
  1. วิทยา บุญวรพัฒน์. “จักรนารายณ์”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 178.
  2. วงศ์สถิต ฉั่วกุล. แป๊ะตำปึง. จุลสารข้อมูลสมุนไพร ปีที่ 26. ฉบับที่ 1 ตุลาคม 2551. หน้า 20
  3. รศ.ดร. วีณา จิรัจฉริยากุล, แป๊ะตำปึง . บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “จักรนารายณ์”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 222.
  5. สมิทชัย สุกปลั่ง. 2559. พฤศจิกายน.แป๊ะตำปึง ยอดสมุนไพรครอบจักรวาล. (เทคโนโลยีชาวบ้าน). 29 หน้า 58.
  6. ฤทธิ์ต้านการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ของแป๊ะตำปึง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  7.  วรวุฒิถาวรผลของสารสกัดจากจักรนารายณ์ (Gynura divaricata DC.) ต่อระดับน้ำตาลในเลือดหลอดทดลอง ภาควิชาชีววิทยาคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แหล่งที่มา สสวท.
  8. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ. และต้านไกลเคชั่นของชาสมุนไพรไทย. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพรไทย. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  9. ผศ.ดร. ศศมล ผาสุข, รศ.ดร. ประเสริฐ มีรัตน์. การลดระดับน้ำตาลในเลือด พิษกึ่งเฉียบพลัน และพิษเฉียบพลันของสารสกัดแป๊ะตำปึงในหนูขาวที่เป็นเบาหวาน. รายงานผลการวิจัย โครงการวิจัยกลุ่มที่ 7 การป้องกันและรักษาสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2554. 19 หน้า
  10. จักรนารายณ์. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php? Action=viewpage&pid=136
  11. Khanit Suwanborirax. Alphaglucosidase inhibitors from Gynura procumbens Thesis DegreeName: Master of Science in Pharmacy , Chulalongkorn University, Chulalongkorn University. Center of Academic Resources Address: BANGKOK
  12. Zurina Hassan, Mun Fei Yam, Mariam Ahmud, Ahmad Pauzi M. Yusof, Antidiabetics properties and mechanism of action of Gynura proccumbens water extract in streptozotocin induced diabetic rat. , Molecules, 2010, 15, 9008-9023.
  13. Wu T, Zhou X, Deng Y, Jing Q, Li M, Yuan L. In vitro studies of Gynura divaricata (L.) DC extracts as inhibitors of key enzymes relevant for type 2 diabetes and hypertension.. J Ethnopharmacol. 2011, 22;136(2):305-8.