หญ้าไข่เหา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หญ้าไข่เหา งานวิจัยและสรรพคุณ 24 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หญ้าไข่เหา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หญ้านกเขา (ภาคกลาง), หญ้าตีนนก, สร้อยนกเขา (ภาคตะวันออก), หญ้าสะหลิ่น (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mollugo pentaphylla Linn.
ชื่อสามัญ Itch folwer, carpet weed
วงศ์ MOLLUGINACEAE


ถิ่นกำเนิดหญ้าไข่เหา

หญ้าไข่เหา จัดเป็นพืชในวงศ์สะเดาดิน (MOLLUGINACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดเป็นบริเวรกว้างในเขตร้อนของทวีปเอเชีย บริเวณภูมิภาคเอเชียใต้ ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ และเนปาล ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อน และเขตอบอุ่นทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบหญ้าไข่เหา ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณที่รกร้างว่างเปล่า สองข้างทาง หรือ ตามชายป่าทั่วไป โดยจัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งของไทย


ประโยชน์และสรรพคุณหญ้าไข่เหา

  1. ช่วยบำรุงธาตุ
  2. แก้ธาตุพิการ
  3. แก้รำมะนาด
  4. ใช้แก้ไข้
  5. แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  6. แก้ดีพิการ
  7. ใช้ระบายท้อง
  8. แก้ริดสีดวงทวาร
  9. ใช้เป็นยาไข้จับสั่น
  10. แก้โรคกระเพาะอาหาร
  11. ช่วยขับลม
  12. แก้ไอกรน
  13. แก้ปวดท้อง
  14. แก้อักเสบ
  15. แก้ตกขาว ในสตรี
  16. ใช้รักษาโรคตา
  17. รักษาโรคเกาต์
  18. รักษาโรคไขข้ออักเสบ
  19. ใช้แก้เจ็บขา
  20. แก้โรคตับอักเสบ
  21. ใช้ต้านมะเร็ง
  22. ใช้ต้านพิษ
  23. ช่วยขับปัสสาวะ
  24. แก้เหงือกบวม

           มีการนำยอดอ่อน ใบ และดอกอ่อน ของหญ้าไข่เหา มาใช้ปรุงเป็นอาหาร เช่น นำมาแกงใส่ปลาร้า และแกงป่า เป็นต้น


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ โดยใช้ทั้งต้นหญ้าไข่เหา มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ริดสีดวงทวาร
  • ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ โดยนำลำต้น หรือ ทุกส่วนของหญ้าไข่เหามาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ไข้จับสั่น โดยนำใบมาต้มกับน้ำ หรือ ใช้ใบมาตากแดดให้แห้งนำมาชงน้ำร้อนดื่มก็ได้
  • ใช้แก้รำมะนาด เหงือกบวม โดยนำใบ หรือ ทุกส่วนของหญ้าไข่เหา สดมาขยี้ผสมเกลือ ใช้อุดฟัน หรือ อมไว้สักครู่
  • ในอินเดียใช้หญ้าไข่เหาทั้งต้นบำรุงธาตุ แก้โรคกระเพาะอาหาร ขับลม ใช้เป็นยาระบาย แก้ไอกรน แก้ปวดท้อง แก้อักเสบ และแก้ตกขาว ในสตรี รากใช้รักษาโรคตา โรคเกาต์ และโรคไขข้ออักเสบ ใบใช้แก้เจ็บขา
  • ในไต้หวันใช้หญ้าไข่เหา ทั้งต้นแก้โรคตับอักเสบ ต้านมะเร็ง ต้านพิษ และขับปัสสาวะ
  • ในอินโดนีเซีย ยังมีการใช้หญ้าไข่เหาทั้งต้น แก้โรคริดสีดวงทวาร อีกด้วย


ลักษณะทั่วไปของหญ้าไข่เหา

หญ้าไข่เหา จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นเป็นปล้องสีเขียว มีความสูงได้ประมาณ 10-30 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านมาก โดยมักจะแตกกิ่งก้านเป็นคู่ตรงข้ามกัน กิ่งก้านมีสีแดง

           ใบหญ้าไข่เหา เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนรอบๆ ข้อ เป็นคู่กระจุกๆ ละ 2-4 ใบ ใบมีลักษณะเป็นรูปหอกยาวเรียว หรือ รูปรีขนาดเล็ก มีขนาดกว้าง 0.2-0.4 เซนติเมตร และยาว 2.5-3 เซนติเมตร โคน และปลายใบแหลมผิวใบมีสีเขียวแผ่นใบบาง ก้านใบสั้น

           ดอกหญ้าไข่เหา ออกเป็นช่อแบบแยกแขนง แต่ละช่อจะมีดอกย่อย 2-4 ดอก โดยจะออกบริเวณซอกใบและปลายกิ่ง โดยมักจะออกห่างๆ กัน ดอกย่อยเมื่อยังตูมจะเป็นตุ่มกลมเล็กๆ ขนาดยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร มีสีเหลืองอ่อน แต่เมื่อดอกบานจะมีกลีบดอกบาน 5 กลีบ เป็นสีขาวและมีก้านชูช่อดอกยาว

           ผลหญ้าไข่เหา เป็นผลแห้งรูปทรงค่อนข้างกลม มีขนาดประมาณ 0.2 เซนติเมตร เมื่อผลแก่แล้วมักจะแตกออกเป็น 3 เสี่ยงตามรอยด้านในผลมีเมล็ดรูปไต ขนาดเล็กสีน้ำตาลเข้าจำนวนมาก

หญ้าไข่เหา

หญ้าไข่เหา

การขยายพันธุ์หญ้าไข่เหา

หญ้าไข่เหา สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ซึ่งการขยายพันธุ์ในปัจจุบันโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติ ไม่นิยมนำมาปลูก เนื่องจากหญ้าไข่เหา จัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่มีการแพร่พันธุ์เร็วมาก จนเป็นวัชพืชในแปลงเกษตรกรรมต่างๆ ของเกษตรกร ดังนั้นในการนำมาใช้ประโพยชน์ส่วนใหญ่จะเป็นการเก็บจากธรรมชาติ มากกว่าการปลูกใช้เอง


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของส่วนเหนือดินของหญ้าไข่เหาระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น Apigenin, Mollupentin, Mollugogenol A, Mollugogenol B, Mollugogenol D, β-amyrin, Oleanolic acid และ Beta-Sitosterol เป็นต้น

           นอกจากนี้ยังมีอีกรายงานหนึ่งระบุว่า สามารถแยกสารอีก 4 สารจากส่วนเหนือดินของหญ้าไข่เหา ได้แก่สาร mollugoside E, raddeanin A, raddeanoside R8 และ oleanollc acid อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของหญ้าไข่เหา

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของหญ้าไข่เหา ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยต่างๆ ดังนี้

           มีรายงานผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศระบุว่าสารประกอบ 5 ชนิดที่พบได้ในหญ้าไข่เหา ได้แก่ mollugoside E, 3-O-[α-L-rhamnopyranosy1 (1 2)-α-L-arabinopyranosyl]-28-O-[β-D-glucopyranosyl (1 6)-β-D-glucopyranosgl] oleanolic acid, raddeanoside R8, reddeanin A, mollugogenol A มีฤทธิ์ยับยั้งต่อเซลล์ มะเร็งต่อมลูกหมากของมนุษย์ เซลล์มะเร็งปากมดลูกเซลล์ และมะเร็งเม็ดเลือดขาว ในหลายทดลอง โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 10.21, 38.43, 40.28, 20.59 และ 83.16 ไมโครโมล/ลิตร ตามลำดับ อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านเบาหวานของสารสกัดน้ำจากส่วนเหนือดินของหญ้าไข่เหา พบว่ามีฤทธิ์ต้านเบาหวาน โดยมีผลต่อการลดน้ำตาลในเลือด โดยสารสกัดที่ระดับ 200 มก./กก. ของน้ำหนักตัว แสดงฤทธิ์ในการต้านเบาหวาน ในหนูเผือกสายพันธุ์ Wistar ตัวผู้ที่เกิดจากการเหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวานจาก alloxan อย่างมีนัยสำคัญ

           นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารสกัดจากหญ้าไข่เหา ยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆอีกเช่น ฤทธิ์ต้านเชื้อรา ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ฤทธิ์แก้ปวด ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ปกป้องตับ และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของหญ้าไข่เหา

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้หญ้าไข่เหา เป็นสมุนไพรนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุว่าไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระบทต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง หญ้าไข่เหา
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “หญ้าไข่เหา”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 801-802.
  2. มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล.(2548) สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 5 สมุนไพรพื้นบ้านอีสาน หน้า 119.
  3. ดร.นิจศิริ เรืองรังสี, ธวัชชัย มังคละคุปต์, หญ้าไข่เหา (Ya Khai Hao) หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1,หน้า 314.
  4. Maiti NK, Misra PK, Roy SK, Nandy S. Assessment of antiulcer activity of Mollugo pentphylla L. in some experimental animal models. International Journal of Pharmaceutical Sciiences 2012; 4: 488- 496.
  5. Hamburger, M. Dudan, G., Ramachandran N.A.G. Jayaprakasam, R., Hostettmann, K. An antifungal triterpenoid from Mollugo pentaphylla. Phytochemistry, 28.6 (1989):1767-1768.
  6. Sahu SK, Das D, Tripathy NK, Kumar HKS, Banergee M. Anti-inflammatory, and antipyretic effects of Mollugo pentaphylla L. Rasayan Journal of Chemistry 2011; 4: 533 -538.
  7. Kirtikar, K.R., Basu, B.D. Indian Medicinal Plants. International book publishers, 2 (1999):1185.
  8. Lin CC, Ng LT, Yang JJ. Antioxidant activity of extracts of peh-hue-juwa-chi-cao in a cell free system. American Journal of Clinical Medicine 2004; 32: 339- 349.
  9. Jha, O.P., Ghosh, P.K., Singh, B.P. Chemical investigation of Mollugo pentaphylla. J.Ind. Chem.Soc.61.1(1984):93-94.
  10. Rajopadhye AA, Upadhye AS. Determination of phenolic content and in vitro antioxidant potential of ethanol extract of seven sources of Ayurvedic drug 'Pittapapda'. Indian Journal of Natural Products and Resources 2013; 4: 81-87.