กรวยป่า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กรวยป่า งานวิจัยและสรรพคุณ 31 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กรวยป่า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สีเสื้อหลวง, ผีเสื้อหลวง (ภาคเหนือ), ผ่าสาม, คอแลน, ขุนเหยิง (ภาคอีสาน), ตวย, ตวยใหญ่, ตานเสี้ยน (ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Casearia grewiaefolia Vent.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Casearia Kerri Craib, Casearia oblonga Craib.
วงศ์ SALICACEAE


ถิ่นกำเนิดกรวยป่า

กรวยป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นอีกชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเขตการกระจายพันธุ์ในพม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมีเขตการกระจายตัวในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น แต่จะพบมากในป่าเบญจพรรณ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง ประมาณ 800-1200 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณกรวยป่า

  • ช่วยบำรุงตับ
  • ช่วยบำรุงธาตุ
  • แก้ท้องร่วง
  • แก้ตับพิการ
  • แก้บิดมูกเลือด
  • แก้พิษกาฬ
  • แก้ผื่นคัน
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • ขับผายลม
  • ใช่เป็นยาคุมธาตุ
  • แก้อุจจาระร่วง
  • ใช่สมานแผล
  • แก้ไข้พิษ
  • แก้พิษอักเสบจากหัวกาฬ
  • แก้กลากเกลื้อน
  • ช่วยรักษามะเร็งลาม
  • แก้โรคผิวหนัง
  • แก้ไข้ตัวร้อน
  • ใช้ฟอกโลหิต
  • แก้บิดปวดเบ่ง
  • แก้เสมหะเป็นพิษ กัดเสมหะ
  • แก้ท้องลง
  • แก้น้ำลายเหนียว
  • แก้เลือดออกตาไรฟัน
  • แก้เมาเบื่อ
  • แก้ริดสีดวงทวาร
  • ขับพยาธิผิวหนัง
  • แก้ริดสีดวงจมูก
  • แก้บิดมูกเลือด
  •  รักษาโรคท้องร่วง

           กรวยป่า ถูกนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ ดังนี้ เนื้อไม้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องใช้ไม้สอยเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน และทำเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ส่วนเมล็ดนั้นมีการนำมาสกัดเอาน้ำมันไปใช้เป็นยาเบือปลา

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต บำรุงตับ แก้ตับพิการ แก้บิดมูกเลือด แก้ท้องร่วง โดยใช้เปลือกราก หรือ เปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม เป็นยาคุมธาตุ ใช้แก้พิษกาฬ แก้ไข้กาฬ แก้ไข้พิษ โดยใช้ราก ใบ หรือ ดอกมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้พิษ หรือ พิษไข้ตัวร้อนโดยใช้ดอกกรวยป่า หรือ ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ริดสีดวงจมูกโดยใช้ใบผสมกับยาสูบ มวนสูบ หรือ ใช้น้ำมันจากเมล็ดสูดดมก็ได้ ใช้เป็นยาแก้น้ำลายเหนียว แก้เสมหะเป็นพิษ กัดเสมหะ แก้เลือดออกตามไรฟัน โดยใช้ผลมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้กลั้วปากก็ได้ ใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง โรคผิวหนังผื่นคัน เช่น กลากเกลื้อน หิด โดยใช้ใบมาหุงเป็นน้ำมันใช้ทาบริเวณที่เป็น หรือ จะใช้น้ำมันจากเมล็ดมาทาก็ได้


ลักษณะทั่วไปของกรวยป่า

กรวยป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ทรงโปร่ง ไม่ผลัดใบ สูงตั้งแต่ 5-24 เมตร ลำต้นเปลาตรง ออกกิ่งตั้งฉากกับลำต้น ผิงลำต้นมีลาย สีขาวปนดำ เปลือกต้นสีเทาปนสีน้ำตาล ผิวเรียบ หรือ แตกเป็นสะเก็ด เล็กๆ มีขนสีน้ำตาลแดงทั่วไป เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อนเกือบขาว

           ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ เป็นรูปขอบขนาน หรือ รูปไข่แกมขอบขนานโคนใบมนเว้า ปลายใบเรียวแหลม ปลายใบสอบ แผ่นใบเรียบ ส่วนขอบใบหยัก เป็นคลื่นมนๆ แผ่นใบกว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาว 8-10 เซนติเมตร เนื้อใบหนาแผ่นใบเรียบเกลี้ยงเป็นมัน ส่วนท้องใบมีขนขึ้นปกคลุม เส้นกลางใบเรียบเป็นร่อง ด้านบนมีเส้นแขนงใบข้างละ 8-14 เส้น แผ่นใบมีต่อม และจุดเป็นขีดก้านใบยาวประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร ส่วนหูใบมีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ขนาดประมาณ 1.5 มิลลิเมตร

           ดอก เป็นแบบแยกเพศร่วมต้น โดยจะออกเป็นกระจุกเหนือแผลใบที่ร่วง ดอกมีสีขาว หรือ สีเหลืองอมเขียวจำนวนมาก และมีใบประดับจำนวนมาก มีขนสั้นนุ่ม มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปงองุ้ม ซึ่งแต่ละกลีบจะไม่ติดกัน ด้านนอกมีขนแน่น ด้านในเกลี้ยง ไม่มีกลีบดอก ส่วนก้านดอกย่อย ยาว 4-6 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 8-10 อัน

           ผล เป็นผลสดรูปรี หรือ รูปไข่กว้าง 1-2 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลดิบสีเขียวอมเหลือง สุกสีเหลือถึงสีส้ม และจะแตกเป็น 3 ซีก เมล็ดเป็นเหลี่ยม และมีเยื่อหุ้มจำนวนมาก และมีเยื่อหุ้มสดสีส้ม

กรวยป่า

กรวยป่า

การขยายพันธุ์กรวยป่า

กรวยป่าสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ดซึ่งในปัจจุบันการขยายพันธุ์ของกรวยป่าเป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติมากกว่าการนำมาปลูกโดยมนุษย์ เนื่องจากกรวยป่าเป็นพืชที่มีความสูงมาก (บางที่พบสูงได้ถึง 24 เมตร) จึงไม่นิยมนำมาปลูกบริเวณบ้าน สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด และการปลูกกรวยป่า นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และการปลูกไม้ยืนต้นทั่วไป ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากสารสกัดกรวยป่า ส่วนผล และเปลือกต้น ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญดังนี้ มีการศึกษาสารสกัดหยาบจากเฮกเซน และไดคลอโรมีเทนของเปลือกต้นกรวยป่า พบสารใหม่ในกลุ่ม Clerodane diterpenes 4 สารชื่อ caseargrewiins A-D ส่วนสารสกัดรากกรวยป่าพบสาระสำคัญ คือ Alkyl ester of ferfuric acid, 3-hydroxy-4-methyl-2-1-n-hexadecenyl-butanolide, 2,6-dimethoxy-p-benzoquinone, Beta-sitosterol, procesterol และสารสกัดสำคัญจากผลกรวยป่า คือ Caseargrewiins E-L, esculentin B นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของผลสุกกรวยป่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ คือ Caseargrewiin M,G อีกด้วย

โครงสร้างกรวยป่า

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกรวยป่า

มีรายงานผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาจากส่วนต่างๆ ของกรวยป่าระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้

           มีการศึกษาสารสกัดใบ และเปลือก ของกรวยป่าด้วยเมทานอล พบว่ามีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว ที่ระดับ 11.3,4.2, 1.6 ug/mL ตามลำดับ ส่วนฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระ มีค่าที่ระดับ 24.9,22.1, 55.7 ug/mL ตามลำดับ

           และมีการศึกษาวิจัยสารกลุ่มเซอโรเดนไดเทอร์พีนอยด์จากผลของกรวยป่า ซึ่งจากการศึกาวิจัยพบสารพบสารกลุ่มเซอโรเดนไดเทอร์พีนอยด์ใหม่ทั้งหมด 8 ชนิด คือ  Caseargrewiins E-L และได้นำสารทั้งหมดมาทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งทั้ง 3 ชนิด คือ เซลล์มะเร็งผิวหนัง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปอด พบว่าสารทั้ง 8 ชนิด มีค่า IC50 ในช่ว 0.20-6.00 ug/mL โดยเฉพาะสาร Caseaegrewiins E,G มีค่า IC50 กับเซลล์มะเร็งผิวหนังที่ดีที่สุดมีค่า IC50 0.66, 0.67 ug/mL ตามลำดับ ส่วนสาร Caseaegrewiins E,L แสดงความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดที่ระดับ Ic50 เท่ากับ 0.2,0.21 ug/mL ตามลำดับ

           อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยสารสกัดเมทานอลจากใบต่อการต้านเชื้อแบคทีเรีย ทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ Escherichia coli, Staphylocococcus aureus, Pseudomonas aeruginosa, Candida albicans พบว่า สามารถแสดงการต้านเชื้อแบคทีเรียโดยมีค่า MIC ของส่วนสกัดมากกว่า 5 mg/ml ของแบคทีเรียทุกสายพันธุ์ ที่ใช้ในการทดสอบ และยังมีการรายงานองค์ประกอบทางเคมีจากเปลือกต้นกรวยป่า ระบุว่าพบสารกลุ่มไซโรเดนไดเทอร์พีนอยด์ชนิดใหม่ทั้งหมด 4 ชนิด คือ Caseardrewiins A-D และเมื่อนำสารบริสุทธิ์ทั้ง 4 ชนิด ทดสอบการต้านเชื้อมาลาเรีย การต้านเชื้อแบคทีเรีย และการแสดงความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง พบว่าสารทั้ง 4 ชนิด มีการต้านเชื้อมาลาเรียชนิด Plasmodium falciparum ที่ระดับเท่ากับ 2.9, 2.4, 3.0, 3.3 mg/mL ตามลำดับ ส่วนการต้านเชื้อแบคทีเรียชนิด microbacterium tuberculosis H3 7 พบว่าสามารถต้านเชื้อดังกล่าวได้ที่ระดับ MIC 12.5, 25.0, 12.5 ug/mL ตามลำดับ สำหรับการแสดงคสามเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งทั้ง 3 ชนิด คือ เซลล์มะเร็งผิวหนัง มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด โดยสารทั้ง 4 ชนิด มีค่าอยู่ในช่วง 0.1-8.7 ug/mL โดยเฉพาะสาร Caseaegrewiins C,D มีค่ากับเซลล์มะเร็งชนิด NCI-H187 ที่ดีที่สุดมีค่า IC50 0.3,0.1 ug/mL ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากผลสุกของกรวยป่า พบสารชนิดใหม่ คือ Ccaseargrewiin M และสาร Caseargrewiin G ซึ่งเป็นสารกลุ่มไซเรอเดนไดเทอร์พีนอยด์ จากนั้นได้นำสารทั้ง 2 ชนิดมา มาทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ทั้ง 5 ชนิด คือ Hep-G2, SW620, Chago-K1, Kato-III และ BT474 พบว่าสารทั้งหมดแสดงความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งทั้ง 5 ชนิด โดยมีค่าในช่วง 0.90-6.30 ug/mL


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกรวยป่า

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่ากรวยป่า ถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพรตั้งแต่อดีตแล้วแต่สำหรับการนำมาใช้นำมาใช้นั้นควรใช้อย่างระมัดระวังเช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ และควรใช้โดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น อีกทั้งในการใช้ก็ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

เอกสารอ้างอิง กรวยป่า
  1. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. กรวยป่า. หนังสือสมุนไพร อุทยานแห่งชาติภาคกลา. หน้า 55.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
  3. ประนอม จัทรโณทัย; นิวัฒ เสนาะเมือง พรรณไม้ มข.; 1 Ed; มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2545.
  4. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. กรวยป่า (Kruai Pa). หนังสือสมุนไพรเล่มที่ 1. หน้า 17.
  5. ธเนศวร นวลใย, เบญจมาส ไชยลาภ. ปริมาณฟินอลิกทั้งหมด และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของส่วนแยกย่อยจากเปลือกลำต้นกรวยป่า. วารสารมหาวิทาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สาขาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ปีที่ 13. ฉบับที่ 26 กรกฎาคม-ธันวาคม 2564. หน้า 34-47.
  6. สันติ โถหินัง. องค์ประกอบทางเคมีจากรากกรวยป่า. การประชุมวิชาการแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนครั้งที่ 10. หน้า 2569-2467.
  7. ผ่าสาม. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phardarden.com/main.php?action=viewpage&pid=153
  8. Mosaddik, M.A., Banbury, L., Forster, P., Booth, R., Markham, J., Leach, D., Waterman, P.G. (2004). Screening of some Australian Flacourtiaceae species for in vitro antioxidant, cytotoxic and antimicrobial activity. Phytomedicine, 11, 461-466. DOI: 10.1016/j.phymed.2003.
  9. Kanokmedhakul, S., K. Kanokmedhakul, T. Kanarsa and M. Buayairaksa. 2005. New Bioactive Clerodane Diterpenoids from the Bark of Casearia grewiifolia. Journal of Natural Products 68(2): 183-188.
  10. Nuanyai, T., Chailap, B., Buakeaw, A., Puthong, S. (2017). Cytotoxicity of clerodane diterpenoids from fresh ripe fruits of Casearia grewiifolia. Songklanakarin Journal of Science and Technology, 39(4), 517-521.
  11. Kanokmedhakul,S; Kanokmedhakul,K. and Buayairaksa, M., cytotoxic clerodane diterpeniods from fruits of casearia grewiifolia J. Nat. Prod. 2007, 70, 1122-1126.
  12. Forest Herbarium-BKF. (2013). A Guide of Plant Selection for Flood Protection in the Northeast. Bangkok: Department of National parks Wildlife and Plant Conservation, p. 64.