อีเหนียว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

อีเหนียว งานวิจัยและสรรพคุณ 32 ข้อ

ชื่อสมุนไพร อีเหนียว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น อีเหนียวเล็ก, นางเหนียว, หนาดอ่อน (ภาคกลาง), หญ้าตืดแมว (ภาคเหนือ), หนูพระผู้ (ภาคใต้, ตรัง), อ้ายเหนียว (กาญจนบุรี), กระตืดแป (เลย), นอมะช่วย (กะเหรี่ยง), หงหมู่จีเฉ่า (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Desmodium gangeticum (L.) DC.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Desmodium gangeticum ver. Maculatum (L.) Baker,Meibomia gangetica (L.) Kuntze.
ชื่อสามัญ Salparni
วงศ์ FABACEAE-LEGUMINOSAE


ถิ่นกำเนิดอีเหนียว

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของอีเหนียวยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าอยู่ในภูมิภาคใด เพราะมีข้อมูลหลายแหล่งที่ยังขัดแย้งกัน เช่น บางข้อมูลระบุว่าเป็นพืชเมืองของไทยรวมถึงภูมิภาคอินโดจีน แต่บางข้อมูลระบุว่า ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของอีเหนียว อยู่ในเขตร้อนของทวีปแอฟริกา แต่อย่างไรดีในปัจจุบันสามารถพบเขตการกระจายพันธุ์ของอีเหนียวในเขตร้อนของทวีปเอเชีย และแอฟริกา  สำหรับในประเทศไทยสามารถพบอีเหนียวได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณป่าโปร่งทั่วไป ป่าเบญจพรรณที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 1900 เมตร และตามที่รกร้างว่างเปล่า หรือตามสองข้างทางก็สามารถพบเห็นได้เช่นกัน

ประโยชน์และสรรพคุณอีเหนียว

  • แก้ไข้
  • แก้ปวดศีรษะ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้ท้องเสีย
  • แก้ลำไส้อักเสบ
  • แก้ปวดฟัน
  • ช่วยขับพยาธิไส้เดือนในเด็ก
  • ใช้เป็นยาสุขุมออกฤทธิ์ต่อตับ
  • ช่วยแก้เส้นเลือดอุดตัน
  • ช่วยขับความเย็นชื้นในร่างกาย
  • ช่วยกระจายลมชื้น
  • แก้ลมขึ้นศีรษะทำให้ปวดศีรษะ
  • แก้ปวดกระเพาะ
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้ฝีเย็นทั้งภายใน และภายนอก
  • แก้ปวดข้อ หรือ ลมจับโปง
  • แก้อาการปวดข้ออันเนื่องมาจากลมขึ้น
  • แก้เหน็บชา
  • แก้อัมพฤกษ์ อัมพาต
  • แก้ปวดขา ปวดเอว
  • แก้อาการฟกช้ำ
  • แก้ปวดบวม
  • ใช้แก้นิ่วในท่อน้ำดี และไต
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • แก้ตัวร้อน
  • ลดความดันโลหิต
  • ลดไขมันในเลือด
  • ช่วยลดระดับน้ำตาล
  • ใช้รักษาแผล
  • แก้โรคผิวหนัง
  • รักษากลากเกลื้อน

           อีกทั้งยังมีการนำกิ่งก้าน และใบของอีเหนียว มาใช้เป็นอาหารสัตว์อีกด้วย

อีเหนียว

รูปแบบและขนาดวิธีใช้อีเหนียว

ใช้เป็นยาช่วยบำรุงโลหิต บำรุงกำลัง แก้ปวดศีรษะ ตัวร้อน ลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด และช่วยลดระดับน้ำตาล แก้ลำไส้อักเสบ ขับพยาธิไส้เดือนในเด็ก โดยใช้ทั้งต้น และใบประมาณ 1 กำมือ มาต้มกับน้ำดื่ม เช้า-เย็น ใช้ขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย แก้ไข้ แก้ปวดฟัน ขับพยาธิ แก้ลำไส้อักเสบ โดยใช้รากอีเหนียว แห้ง 15-30 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ลดนิ่วในท่อน้ำดี และไต โดยใช้ใบสด 1 กำมือ ต้มกับน้ำดื่ม เช้า-เย็น ใช้รักษาแผล แก้อาการปวด บวมช้ำ ฟกช้ำ แก้โรคผิวหนัง และกลากเกลื้อน


ลักษณะทั่วไปของอีเหนียว

อีเหนียว จัดเป็นไม้พุ่ม กึ่งเลื้อยขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 30-150 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านที่ปลาย ต้นลักษณะของกิ่งก้านอ่อน ตามลำต้นมีขนยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ปกคลุมหนาแน่นถึงปานกลาง และกิ่งก้านมีลายเส้นเป็นทางตลอดจนถึงปลายกิ่ง ใบเป็นใบประกอบ ออกแบบเรียงสลับ (แต่จะมีใบย่อยใบเดียว) ลักษณะของใบกว้าง 3.5-7 เซนติเมตร และยาว 5-15 เซนติเมตร เป็นรูปวงรีกว้างถึงรูปไข่ หรือ รูปไข่แกมขอบขนาน โคนใบมน หรือ กลม ปลายใบมน หรือ เรียวแหลม เนื้อใบบาง ขอบใบเรียบ หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ท้องใบเป็นสีเขียวอมเทา มีขนสั้นๆ ขึ้นปกคลุม และจะมีก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง และซอกใบ โดยช่อดอกจะยาวประมาณ 14-30 เซนติเมตร และในหนึ่งช่อจะมีดอกย่อยเป็นกระจุกหลายกระจุก ซึ่งในกระจุกหนึ่งจะมีดอกประมาณ 2-6 ดอก ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีเขียวอมขาว หรือ สีชมพู กลีบดอกเป็นรูปดอกถั่วมีขนปกคลุม ซึ่งกลีกดอกจะยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร และมีเกสรเพศผู้ 10 อัน เชื่อมติดกัน แกนกลางของดอกมีขนรูปตะขอโค้ง มีใบประดับ และกลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังกว้าง ปลายแยกเป็นแฉก 4 แฉก กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ผลออกเป็นฝักรูปแถบ ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร ยาว 1-2 เซนติเมตร แบนโค้งงอเล็กน้อย โดยฝักจะแบ่งเป็นข้อๆ 5-9 ข้อ ส่วนเมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไต

อีเหนียว

อีเหนียว

การขยายพันธุ์อีเหนียว

อีเหนียว สามารถขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด ซึ่งการขยายพันธุ์ส่วนมากกว่า 95% เป็นการขยายพันธุ์ทางธรรมชาติไม่ค่อยพบการนำอีเหนียวมาปลูกเพื่อใช้ประโยชน์แต่อย่างใด เพราะอีเหนียวจัดเป็นพืชชนิดหนึ่งของไทย สำหรับการกระจายพันธุ์อีเหนียวนั้นจะอาศัยฝักที่มีขนรูปตะขอติดไปกับขนของสัตว์ หรือ เสื้อผ้าของมนุษย์ไปกระจายพันธุ์ไปยังสถานที่ต่างๆ


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของอีเหนียว ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ทั้งต้นพบสาร acetophenone, chrysanthemin, tyvamine, iridin glucoside, tryptamine และ harman รากพบสาร Hypapphorine, Hordenine, N-Dimethyltryptamine และ N-Methyltyramine ลำต้น และใบ พบสาร Nb-Methyltetrahydrohardon, 6-Methoxy-2-methyl-b-carbolinium ส่วนเมล็ดพบสารกลุ่ม Alkaloid และสารกลุ่ม fatty acid เป็นต้น

โครงสร้างอีเหนียว

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของอีเหนียว

มีการนำสารสกัดจากใบของอีเหนียว ที่ความเข้มข้น 10% ให้กระต่ายที่ทำการทดลองกิน พบว่ามีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต ต้านการเกิดแผลในกระเพาะ และทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว การศึกษาวิจัยสารสกัดจากฝักของผลของอีเหนียวเกี่ยวกับฤทธิ์ลดไขมันในเลือด โดยได้ทำการทดลอง กับหนูทดลอง โดยการให้สารสกัดดังกล่าวในหนูจำนวน 25 และ 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบว่าระดับไขมัน และระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองลดลง

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยโดยให้หนูขาวกินสารสกัดน้ำจากรากอีเหนียว ขนาด 3 มล./100 ก.นน. ทุกวัน นาน 30 วัน ก่อนที่จะถูกเหนี่ยวนำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายด้วย isoproterenol พบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถช่วยลดการเกิดภาวะดังกล่าวได้ โดยการไปลดเอนไซม์ creatinine phosphokinase, lactate dehydrogenase, alkaline phosphatase และ serum glutamate oxaloacetate transaminase ในกล้ามเนื้อหัวใจ เนื้อเยื่อตับ และซีรัม ลดคอเลสเตอรอลในเลือด LDL และเพิ่ม HDL โดยผ่านการทำงานชองเอนไซม์ 3-hydroxy 3-methyl glutaryl Co-enzyme (HMG CoA) reductase และ lecithin cholesterol acyl transferase (LCAT) ในกล้ามเนื้อหัวใจ นอกจากนี้ยังต้านการเกิดอนุมูลอิสระโดยจับกับอนุมูลอิสระ เพิ่มการทำงานของเอนไซม์ glutathione reductase และ catalase อีกด้วย

           ส่วนการศึกษาวิจัยสารสกัด 50% อัลกอฮอล์ จากส่วนเหนือดิน ที่ความเข้มข้น 0.25-2 มก./มล. มีฤทธิ์เพิ่มการหลั่งอินซูลิน เมื่อทดลองในเซลล์ MIN6 และเมื่อป้อนสารสกัด 50% อัลกอฮอล์ จากส่วนเหนือดิน ขนาด 200 มก./กก. แก่หนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptpzotocin เป็น 15 วัน พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูได้ นอกจากนี้สารสกัดยังมีผลลดระดับคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอร์ไรด์ แต่จะเพิ่มระดับของของ HDL ในเลือด แสดงว่าฤทธิ์ลดเบาหวานของสารสกัดส่วนหนึ่งเกิดจากการเพิ่มการหลั่งอินซูลิน


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของอีเหนียว

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาจากสารสกัดทั้งต้นของอีเหนียว ระบุว่ามีการ ทดสอบความเป็นพิษ ของอีเหนียว โดยป้อนสารสกัดแอลกอฮอล์ และน้ำ จากทั้งต้นของอีเหนียว ในอัตราส่วน 1:1 ให้หนูถีบจักร พบว่าในขนาดที่หนูทนได้ คือ 1 กรัมต่อกิโลกรัม


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้อีเหนียวเป็นยาสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็ก และสตรีมีครรภ์ ไม่ควรใช้อีเหนียวเป็นสมุนไพร เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยเพียงพอ ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนจะใช้อีเหนียว เป็นยาสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง


เอกสารอ้างอิง อีเหนียว
  1. วิทยา บุญวรพัฒน์. “อีเหนียวเล็ก”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 650.
  2. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “อีเหนียว” หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. หน้า 217-218.
  3. ผลของสารสกัดจากอีเหนียวต่อการหลั่งอินซูลิน และระดับน้ำตาลในเลือดของหนูขาว. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยามหิดล.
  4. รากอีเหนียว ลดการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. Makar, A. B.; McMartin, K. E.; Palese, M.; Tephly, T. R. (June 1975). "Formate assay in body fluids: application in methanol poisoning". Biochemical Medicine. 13 (2): 117–126. doi:10.1016/0006-2944(75)90147-7. ISSN 0006-2944. PMID 1.
  6. "Pleurolobus gangeticus". Germplasm Resources Information Network (GRIN). Agricultural Research Service (ARS), United States Department of Agriculture (USDA).
  7. Bose, K. S.; Sarma, R. H. (1975-10-27). "Delineation of the intimate details of the backbone conformation of pyridine nucleotide coenzymes in aqueous solution". Biochemical and Biophysical Research Communications. 66 (4): 1173–1179. doi:10.1016/0006-291x(75)90482-9. ISSN 1090-2104. PMID 2.