ประยงค์ป่า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ประยงค์ป่า งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ประยงค์ป่า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สังเครียด, สังเครียดเลือด, สังเครียดหลังขาว (ทั่วไป), มะตี (ภาคเหนือ), กีนะ (ภาคใต้), นวลแป้ง, ขี้เห็น
ชื่อวิทยาศาสตร์  Aglaia odoratissima Blume
วงศ์  MELIACEAE

ถิ่นกำเนิดประยงค์ป่า

ประยงค์ป่า จัดเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียบริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้นสำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคขอประเทศแต่จะพบมากในภาคใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าพรุ ที่ระดับความสูง 100-800 เมตร

ประโยชน์และสรรพคุณประยงค์ป่า

  1. ใช้ถอนพิษเบื่อเมา
  2. บำรุงร่างกาย
  3. แก้เลือดและกำเดา
  4. แก้พิษสุนัขบ้า
  5. เป็นยาถอนเสมหะ
  6. แก้พิษทั้งปวง
  7. แก้ไข้ทั้งปวง
  8. ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  9. แก้ผอมแห้งแรงน้อย
  10. ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ
  11. แก้ไอ
  12. แก้หอบหืด
  13. ช่วยแก้ลมจุกเสียด
  14. แก้ริดสีดวงในท้อง
  15. ช่วยลดอาการอึดอัดแน่นหน้าอก
  16. ช่วยรักษาปอดพิการ
  17. ช่วยฟอกปอด
  18. ใช้เป็นยากวาดคอเด็ก
  19. ช่วยรักษากามโรค
  20. ช่วยเร่งการคลอด
  21. ช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ
  22. ช่วยแก้อัมพาต

           ประยงค์ป่า จัดเป็นพันธุ์ไม้ป่าหายากที่มีการนำมาใช้ประโยชน์หลากหลาย เช่น มีการนำส่วนของดอกที่มีกลิ่นหอมแรงมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยสำหรับแต่งกลิ่นใบชา ในประเทศจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย อีกทั้งยังนำมาใช้ทำน้ำหอมได้อีกด้วย เนื้อหอม หรือ เนื้อเมล็ดของผลสุกมีรสหวานหอมสามารถนำมารับประทานได้ เนื้อไม้สีแดงสดมีความแข็ง สามารถนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีการนำมาปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับตามอาคารบ้านเรือน สวนสาธารณะ หรือ ตามวัดวาอารามต่างๆ เนื่องจากช่อดอกมีความสวยงาม และมีความหอมชื่นใจ

ประยงค์ป่า

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ประยงค์ป่า 

ใช้ถอนพิษเบื่อเมา แก้เลือดและกำเดา โดยใช้รากแห้งมาต้มน้ำดื่ม ใช้ถอนพิษสุนัขบ้ากัด โดยใช้รากประยงค์ป่า แห้งฝนบริเวณที่ถูกกัด ใช้แก้ไข้ แก้พิษ แก้ไอ ขับเสมหะ แก้ไอ โดยใช้ปุ่มของเนื้อไม้ ไปปรุงเป็นยาตามตำรับตำรายาต่างๆ ใช้เป็นยากวาดคอเด็กโดยใช้ปุ่มของเนื้อไม้ฝานกวาดบริเวณคอของเด็ก


ลักษณะทั่วไปของประยงค์ป่า

ประยงค์ป่า จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กสูง 8-20 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกเรียบสีเขียวอมเทาถึงน้ำตาลแดง เปลือกในสีส้มหรือสีน้ำตาลแดงกิ่งอ่อนมีเกล็ดสีน้ำตาลเข้มและขนรูปดาวขึ้นปกคลุม และเมื่อโตเต็มที่เนื้อไม้จะแข็งและมีสีแดงสดและมียางไม้สีใส

           ดอก ออกเป็นแขนงบริเวณง่ามใบออกใกล้ใบกิ่ง โดยช่อดอกเพศผู้แตกแขนงยาว 7-35 ซม. มีดอกจำนวนมาก ดอกเพศเมียออกแบบช่อแคบไม่แตกแขนง ยาว 3.5-12 ซม. มีดอกได้ถึง 20 ดอก ส่วนดอกย่อยจะยาว 1.5-2 ซม. ดอกเพศผู้กลมแบน ดอกเพศเมียเป็นรูปไข่กลับโดยดอกจะมีสีเหลืองอมครีมถึงส้มอ่อน มีกลิ่นหอมคล้ายน้ำผึ้งหรือตะไคร้หอม และมีก้านดอกยาวประมาณ 1 มม. กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปรีถึงไข่กลับ มีหลอดเกสรเพศผู้เป็นรูปถ้วยยาวไม่ถึงครึ่งกลีบดอก ปลายจักรเป็นพูติ้น 5 พู อับเรณู 5 อัน ติดได้

           ผล เป็นรูปไข่กลับ ดอกเป็นช่อยาว 10-20 ซม. รูปรีหรือไข่กลับโคนเรียวแหลมปลายกลมสีเหลือง เมื่อสุกเต็มที่จะเป็นสีส้ม

           ผล เมื่อแก่จะไม่แตก ผลมี 2 เสี่ยง แต่ละเสี่ยงมี 1 เมล็ดที่หุ้มด้วยเนื้อใสหรือชมพูอมเหลืองอ่อน รสหวานกินได้

ประยงค์ป่า 

การขยายพันธุ์ประยงค์ป่า

ประยงค์ป่า สามารถขยายพันธุ์ได้เช่นเดียวกับประยงค์บ้าน โดยมีวิธี3 วิธี คือ การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำ ซึ่งแต่ละวิธีก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับไม้พุ่มและไม้ยืนต้นอื่นๆ แต่ทั้งนี้มีเทคนิคการตอนกิ่งและการปักชำที่ให้ได้ผลดีคือ การตอนกิ่งเลือกกิ่งน้ำตาลที่มีความอวบแต่ไม่ควรเลือกกิ่งแก่ที่มีความหยาบแห้ง ส่วนวัสดุควรเลือกกิ่งมะพร้าวที่ได้จากการขยี้เท่านั้น จากนั้นนำมาหมักด้วยน้ำ 1-2 วัน นำใส่ถุงพลาสติก และรัดด้วยเชือกฟางก่อนฝาหุ้มบริเวณตอนกิ่ง สำหรับการตอนกิ่งจะใช้เวลา 1.5-2 เดือน จึงจะเกิดราก และควรให้รากมีสีน้ำตาลก่อนจึงตัดกิ่งลงปลูกลงดิน

           สำหรับการปักชำ ควรเลือกกิ่งสีน้ำตาลที่มีความอวบ จากนั้นตัดเป็นท่อนยาว 15-25 ซม. ส่วนวัสดุในการปักชำควรเป็นดินร่วนผสมกับวัสดุอินทรีย์ เช่น แกลบดำ อัตราที่ 1:2 สำหรับการปักชำจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน กิ่งประยงค์ก็จะแทงยอดใหม่ และรอให้มีใบ 3-5 ใบจึงนำลงปลูกต่อไป

องค์ประกอบทางเคมีประยงค์ป่า

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆของประยงค์ป่า พบว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น Caryophyllene, Beta Caryophyllene, Beta-sitosterol, n-hexane, longifolene, oleic acid, linoleic acid, palmitic acid, stearic acid, pentan-2-one

โครงสร้างมะยงค์ป่า

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของประยงค์ป่า

มีรายงานผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของสารสกัดประยงค์ป่า จากส่วนต่างๆ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้ ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งเชื้อรา ยับยั้งยีสต์ ฤทธิ์ยับยั้งเนื้องอก ฤทธิ์ยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนที่ผนังมดลูก ฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ฤทธิ์ขับพยาธิ และเสริมฤทธิ์ของยาบาร์บิทูเรท และลดพฤติกรรมธรรมชาติของสัตว์ทดลอง เป็นต้น

 

การศึกษาทางพิษวิทยาของประยงค์ป่า

มีการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของประยงค์ป่า ระบุว่า จากการทดสอบความเป็นพิษพบว่าสารสกัดเอทานอล 50% จากส่วนเหนือดินมีขนาดที่ฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักรและทำให้หนูถีบจักรตาย 50% มากกว่า 1 ก/กก. ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากประยงค์ป่าเมื่อฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักรมีขนาด LD50 เท่ากับ 6.75 มล./กก.

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ประยงค์ป่า เป็นยาสมุนไพร เนื่องจากมีรายงานการศึกษาพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการฝังตัวอ่อนที่ผนังมดลูก ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ ส่วนบุคคลกลุ่มอื่นก็ควรระมัดระวังในการใช้ประยงค์ป่าเป็นยาสมุนไพรเช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยใช้ในขนาดและปริมาณที่พอเหมาะที่ได้กำหนดไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณ ที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

เอกสารอ้างอิง ประยงค์ป่า
  1. ไซมมอน การ์ดเนอร์,พิมพา สิทธิสุนทร, ก่องกานดา ชยามฤต. ไม้ป่าภาคใต้. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ:โครงการจัดพิมพ์คบไฟ. 2559.
  2. ชวลิต นิยมธรรม และคณะ2543 พันธุ์ไม้ในป่าฮาลา-บาลา โครงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าสวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ พื้นที่ส่วน 2 จังหวัดยะลา และนราธิวาส 151 หน้า.
  3. สุรพงษ์ เก็งทอง. สมุนไพร พื้นบ้านในหมู่เกาะแสมสาร. รายงานวิจัยโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 29-30.
  4. สวนพฤกษศาสตร์ กรมป่าไม้ 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) 810 หน้า.
  5. เมธินี ตาฬุมาศวัสดิ์. พรรณไม้ห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี สำนักหอพรรณไม้กรมอุทธยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพรรณพืช. ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด 2549.
  6. ประยงค์ป่า. พรรณไม้ป่า ฮาลา-บาลา. โดยการสำรวจและรวบรวมพันธุ์ไม้ประดับป่าภาคใต้จังหวัดนราธิวาส-ยะลา. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. หน้า 188.
  7. Mabberley D.J. 1989. MELIACEAE. Tree Flora of Malaya 4: 199-259. Forest Research Institute, Ministry of Primary Industries, Malaysia.
  8. Santiak T and Laesen K. Flora of Thailand Vol. 8 part 1 The Forest Herbarium, Royal Forest Department Bangkok 2005.