จมูกปลาหลด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

จมูกปลาหลด งานวิจัยและสรรพคุณ 14 ข้อ

ชื่อสมุนไพร จมูกปลาหลด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สะอึก, สอึก (ภาคกลาง), กระพังโหม (ราชบัณฑิต), ผักไหม (เชียงใหม่), ตะมูกปลาไหล (โคราช), จมูกปลาไหลดง (เพชรบูรณ์), เครือไส้ปลาไหล (มหาสารคาม)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Oxystelma esculentum (L.f.) Sm หรือ Sarcostemma secamone(L.) Bennett
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Periploca secamone L., Periploca esculenta L.f., Oxystemma esculentum (L.f.) R.Br.ex Schult, Sarcostemma esculentum (l.f.) R.W.Holm
ชื่อสามัญ Rosy milkweed
วงศ์ ASCLEPIADACEAE

ถิ่นกำเนิดจมูกปลาหลด

จมูกปลาหลด จัดเป็นไม้เถาที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชียตั้งแต่เอเชียใต้ถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิเช่น อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับประเทศไทยมักจะพบในภาคกลางและภาคตะวันออกบริเวณที่ชื้นแฉะหรือตามริมบึง และริมน้ำทั่วไป ส่วนภาคอื่นๆ พบขึ้นประปราย

ประโยชน์และสรรพคุณจมูกปลาหลด

  1. รักษาอาการอักเสบบริเวณปากและคอ
  2. แก้บิด
  3. แก้ไข้รากสาด
  4. แก้ประจำเดือนผิดปกติ
  5. รักษาบาดแผล
  6. รักษาแผลสด
  7. เป็นยาขับน้ำนม
  8. แก้คอเจ็บ
  9. ช่วยลดความร้อนในร่างกาย
  10. ช่วยลดไข้
  11. เป็นยาระบายอ่อนๆ
  12. รักษาโรคดีซ่าน
  13. แก้โรคตัวเหลือง ตาเหลือง
  14. ใช้ชำระล้างแผลที่เป็นหนอง

รูปแบบขนาดวิธีใช้จมูกปลาหลด

ใช้แก้ไข้รากสาด แก้บิด แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ โดยใช้ทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่ม หากจะใช้เพื่อรักษาคออักเสบในช่องปาก และคอให้นำมาอมกลั้วคอ ใช้แก้ไข้ลดความร้อนในร่างกาย ใช้เป็นยาระบายในเด็ก โดยใช้ใบจมูกปลาหลด และเถามาต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาโรคดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง โดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ล้างแผลที่เป็นหนองโดยใช้น้ำยางจากต้นมาล้างแผลบริเวณที่เป็น ใช้ล้างแผลสดโดยใช้ทั้งต้นมาต้มกับน้ำแล้วนำน้ำที่ได้มาล้างแผลสดบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปจมูกปลาหลด

จมูกปลาหลด จัดเป็นไม้เถาขนาดเล็กเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น โดยเถาสามารถเลื้อยได้ไกลกว่า 5 เมตร มีลักษณะกลม สีเขียว ภายในเถามียางสีเขียวอยู่ ส่วนบริเวณยอดอ่อนจะมีขนเล็กน้อย แต่เมื่อแก่จะค่อนข้างเกลี้ยง หากนำเถามาขยี้จะมีกลิ่นเหม็น

           ใบ เป็นใบเดี่ยว มีสีเขียว ออกเรียงกันตรงข้ามเป็นคู่ๆ ลักษณะเรียว ยาว แคบ กว้างประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร โคนใบมนปลายใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ เนื้อใบบางเรียบ มีเส้นใบโค้งจรดกันใกล้ๆ ก้านใบเล็กสั้น มีความยาวประมาณ 0.5-1.3 เซนติเมตร

           ดอก เป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อสั้น ออกบริเวณง่ามใบโดยช่อหนึ่งอาจมี 2-3 ดอก แต่บางครั้งก็เป็นช่อใหญ่ที่มี 6-9 ดอก ซึ่งขนาดของดอกจะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 ซม. มีกลีบเลี้ยงที่กว้างประมาณ 1 มม. ยาว 2.3 มม. อยู่ 5 กลีบ ส่วนกลีบดอกมีลักษณะปลายกลีบดอกแหลม โคนเชื่อมติดกัน กว้าง 4-6 มม. ยาว 3-5 มม. ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ริมขอบมีขน ด้านนอกของกลีบดอกมี สีขาวอมชมพู ส่วนด้านในมีเส้นสีม่วงเข้มอยู่ตอนโคนกลีบที่ติดกัน มีเกสรเพศผู้ที่อับเรณูติดกันเป็นคู่จำนวน 5 คู่ ฝังอยู่ตรงเส้าเกสรรูปห้าเหลี่ยมหุ้มเกสรเพศเมีย รังไข่มี 2 ส่วน ปลายติดกัน

           ผล เป็นฝัก รูปไข่ ปลายฝักแหลมโค้งเรียว เปลือกนิ่ม โคนฝักกว้าง ภายในพองลม ขนาดกว้างผระมาณ 1 ซม. และยาวประมาณ 4-7.5 ซม. เมื่อแก่ฝักจะแตกออก และจะเห็นเมล็ดติดอยู่กับไส้กลางผลเป็นจำนวนมาก

           เมล็ด เป็นรูปไข่ สีน้ำตาล ยาว 2 มิลลิเมตร มีขนสีขาว ยาวประมาณ 1.5-2 ซม. ติดอยู่เป็นกระจุกตรงส่วนปลายของเมล็ด

ต้นจมูกปลาหลด

จมูกปลาหลด

การขยายพันธุ์จมูกปลาหลด

จมูกปลาหลดสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำเถา สำหรับการเพาะเมล็ดและการปักชำเถาจมูกปลาหลด ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการปักชำไม้เถาอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมีจมูกปลาหลด

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของจมูกปลาหลด พบว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น รากประกอบด้วย preghane ester oligoglycoside, calogenin-3-o-β-D-oleandropyranosyl (1→4)-0-β-D-thevetopyranosyl (1→4) -o-β-D-cymaropyranosyl (1→4)- o-β-D-o-digitoxopyranoside (oxysine), a triglycoside-sarcogenin-3-o-β-D-thevetopyranosyl-(1→4)-o-β-D-cymaropyranosyl-(1→4)-o-β- D-oleandropyrano-side (esculentin), cardenolide tetraglyco-side, viz. 3-epi-uzarigenin-3-o-β-D-cymaropyranosyl (1→4) -o-β-D-theveto-pyranosyl-(1 →4)-o-β-D-cymaropyrano-syl(1→4)-o-β-d-digitoxopyranoside (oxyline) และ 12-o-cinnamoyl-desacyl-metaplexi-genin-3-o-β-D- ไซยามาโรไพราโนซิล-(1→4)-o-β-D-thevetopyra-nosyl (1→4)-o-β-D-pyranosyl (1→4)-o-β-D-cymaro-pyranosyl (1→4) -o-β-D-digitoxopyrano-side (oxystine) เป็นต้น

โครงสร้างจมูกปลาหลด

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของจมูกปลาหลด

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของจมูกปลาหลดระบุว่า สารสกัดจากทั้งต้นของจมูกปลาหลด แบบบดผง แสดงฤทธิ์ต้านจุลชีพสูงสุดต่อเชื้อ S. aureus รองลงมาคือ S. aureus, Streptococcus agalactiae, Klebsiella spp., Staphylococcus hyicus, Aeromonas hydrophila, Staphylococ-cus intermedius, Pseudomonas aeruginosas ที่มีความเข้มข้นน้อยที่สุด 6.07±68.32, 9.63±50.33, 12.14±67.51, 17.14±66.45, 17.14±66.45, 34.30±60.01 และ 48.50±51.44 ไมโครกรัม/มล. ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีรายงานฉบับอื่นๆระบุว่าสารสกัดจมูกปลาหลด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ คลายเครียด และมีฤทธิ์ฟื้นฟูความผิดปกติของไต อีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของจมูกปลาหลด

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ทุกส่วนของจมูกปลาหลด จะมีน้ำยางสีขาว ดังนั้นผู้ที่มีประวัติแพ้น้ำยางจากพืช ควรระมัดระวังในการใช้อีกทั้งเถา และใบของจมูกปลายหลดมีกลิ่นเหม็นดังนั้นในการเตรียมเถา และใบของจมูกปลาหลดเป็นยาสมุนไพร จึงควรเตรียมโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ รวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนจะใช้ปลาหลดเป็นยาสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง จมูกปลาหลด
  1. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. จมูกปลาหลด. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 107.
  2. มัณฑนา นวลเจริญ. พรรณไม้ป่าชายหาด. ปทุมธานี.สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2552 หน้า 38.
  3. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. จมูกปลาหลด. หนังสทอพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 218-219.
  4. หนังสือราชบัณฑิตยสถาน.2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
  5. อาริณี ชัชวาลชลธีระ และคณะ. การศึกษาผลการต้านจุลชีพของสารสกัดจากต้นกระพังโหม และต้นตดหมูตดหมาในการยับยั้งแบคทีเรีย และเชื้อยีสต์. วารสารสัตวแพทย์ศาสตร์ มข. ปีที่ 30. ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2563. หน้า 63-69.
  6. Pandya DJ, Anand S. 2011. A Complete review on Oxystelma escu-lentum  R. Br. Pharmacogsy Journal. 3(19),87-90.
  7. Savitha G, Balamurugan S. 2014.  Pharmacognostical studies on Oxystelmaesculentum (L.F) R.Br. exSchltes, a medicinal plant. Int Lett Nat Sci22(14),51-57.
  8. Devi MK, Yogananth N. 2016. In vitro antimicrobial activity of crude and chromatographic fractions of Oxystelma esculentum(L.F) R. Br. exSchltes. Int J Adv Res Biol Sci 3(12),183-187.
  9. Pandya DJ, Anand S. 2011. Anti-ulcer potential of Oxystelma escu-lentum. Int J Green Pharm 5(1),65-68.
  10. Durairaj A, Shok KV, Thamil SM, Upal KG, Malaya. 2009. Antineo-plastic  and  antioxidant  activities  of  Oxystelma  esculen-tum on Swiss albino mice bearing Ehrlich’s ascites carci-noma. Pharm Biol 47(3),195-202.
  11. Savitha G, Balamurugan S. 2016. Preliminary phytochemical and antimicrobial  activities  of  differentsolvent  leaf  extracts  of Oxystelma  esculentum  R.  Br.  J  Chem  Pharm  Res 8(1),447-451.