มะสัง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะสัง งานวิจัยและสรรพคุณ 12 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะสัง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กระสัง (ภาคกลาง), หมากสัง, ผักสัง (ภาคอีสาน), กะสัง (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Feroniella lucida (Scheff.) Swingle
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Citrus lucida (Scheff.) Mabb
วงศ์ Rutaceae

ถิ่นกำเนิดมะสัง

มะสังจัดเป็นพืชในวงศ์ส้ม (Ruraceae) เช่นเดียวกันกับมะขวิด และมีลักษณะทั่วไปคล้ายๆ กันแต่จะต่างกันตรงผล โดยมะสัง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิเช่น ไทย พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว และกัมพูชา เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วภูมิภาคของประเทศ แต่จะพบมากได้ทางภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ บริเวณป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และตามชายป่า หรือ ตามทุ่งนาต่างๆ


ประโยชน์และสรรพคุณของมะสัง

  • แก้ไข้
  • แก้พิษ
  • แก้ท้องอืด
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • แก้ไอ
  • แก้เจ็บคอ
  • บำรุงร่างกาย
  • แก้ท้องเดิน
  • แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • ช่วยสมานแผล
  • ใช้แก้ผิดกระบูน (ผัดสำแดง) สำหรับสตรีหลังคลอด
  • บำรุงร่างกายสตรีอยู่ไฟ

           มะสัง จัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำนิดในประเทศไทยชนิดหนึ่งที่มีการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มาตั้งแต่ในอดีตแล้ว เช่น มีการใช้ผลดิบของมะสังแทนมะนาว เนื่องจากมีรสเปรี้ยว โดยนำใช้ปรุงนำพริก ยำต่างๆ หรือ แกงส้ม ยังใช้กินสดๆ จิ้มพริกเกลือได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังนำมาแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารอย่างอื่นเช่น ไวน์มะสัง แยมมะสัง วุ้นมะสัง และเยลลี่มะสัง เป็นต้น ส่วนยอดอ่อนและใบอ่อน มีรสฝาดมัน สามารถใช้กินเป็นผักสดหรือนำไปปิ้งไฟให้หอมแล้วนำมารับประทานร่วมกับลาบ ก้อย และซุปหน่อไม้ และในปัจจุบันยังมีการปลูกเลี้ยงต้นมะสังเป็นไม้ดัด หรือ บอนไซเนื่องจากมีรูปทรงของต้นที่สวยงาม กิ่งก้านมีความเหนียวและใบดก


รูปแบบและขนาดวิธีใช้มะสัง

ใช้แก้ไข้ แก้พิษ โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ไอ เจ็บคอ แก้ไข้ ใช้เป็นยาระบายโดยใช้ผลอ่อนมะสัง มารับประทานสด ใช้บำรุงร่างกาย แก้ท้องเดิน ท้องอืด ท้องเฟ้อ โดยใช้ใบมาต้มดื่ม หรือ ตากแห้งชงแบบชาก็ได้ ใช้แก้ผิดกระบูน (ผิดสำแดง) โดยใช้แก่นไม้มาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้สำหรับบำรุงร่างกายสตรีอยู่ไฟ โดยนำแก่นไม้มาต้มรวมกับแก่นมะขาม แล้วใช้ดื่ม


ลักษณะทั่วไปของมะสัง

มะสัง จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงประมาณ 5-12 เมตร ทรงพุ่มหนาเป็นรูปร่มโดยจะตั้งฉากกับลำต้นออกเป็นทรงพุ่ม ลำต้นแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ สีน้ำตาลอมเทาแต่เมื่อลำต้นแก่เต็มที่จะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลอมดำ กิ่งก้านแตกเป็นหนามยาวแข็ง ยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร ส่วนกิ่งอ่อนมีขนปกคลุม

           ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเป็นแบบชั้นเดียวหรือสองชั้น ออกตามกิ่งเป็นกระจุก 1-3 ก้านใบ โดยออกเวียนรอบสลับตำแหน่งกันตามความยาวของกิ่ง โดยแต่ละก้านใบยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ประกอบด้วยใบย่อย 3-11 ใบ ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ 2-5 คู่ ส่วนใบที่อยู่ปลายก้านเป็นใบเดี่ยว มีก้านใบสั้น ส่วนใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ สีเขียวเข้ม ฐานใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ เป็นมันวาว มีต่อมน้ำมันตามผิวใบ โคนใบสอบแคบ กลางใบกว้าง ปลายใบมน ขนาดใบประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร

           ดอก ออกเป็นช่อแยกแขนงบริเวณซอกใบเป็นปุยๆ สีขาว คล้ายดอกกระถิน ลักษณะของกลีบดอกมี 5 กลับ เป็นรูปไข่กลับ หรือ รูปใบหอก ปลายกลีบแหลม โคนกลีบสอบแคบ มีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ติดกันที่ฐานมีสีเขียวแกมเหลือง ส่วนปลายกลีบแยกเป็น 5 แฉก ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 15-20 อัน ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 ก้าน โดยก้านเกสรอวบ ปลายยอดเกสรจะเรียวเล็กกว่าก้านเกสรเล็กน้อย มีรังไข่ 5-6 ห้อง มีออวุลจำนวนมาก

           ผล มีลักษณะกลมคล้ายกับผลมะนาว ผิวค่อนข้างเรียบมีขนาดผลประมาณ 4-8 เซนติเมตร เปลือกผลเมื่อยังอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่มีสีน้ำตาล เปลือกผลแข็งและมีความหนาประมาณ 1 เซนติเมตร เปลือกมีกลิ่นหอม เนื้อมีลักษณะเป็นวุ้นใส มีรสเปรี้ยวและเมล็ดจำนวนมากอยู่ภายใน

           ส่วนเมล็ด รูปไข่ หรือ รี มีขนาดเล็กประมาณ 3-4 มิลลิเมตร เปลือกเมล็ดแข็งมีสีเหลือง ภายในเมล็ดเป็นเนื้อสีขาว

มะสัง

มะสัง

การขยายพันธุ์มะสัง

มะสังสามารถขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดหรือการปักชำกิ่ง แต่เนื่องจากมะสัง เป็นกิ่งที่มีหนามจังปักชำค่อนข้างลำบาก ดังนั้นวิธีการที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ด โดยเลือกผลสุกที่หล่นจากต้น จากนั้น นำมาคว้านเมล็ดออก แล้วนำไปตากแห้ง 3-5 วัน ก่อนห่อด้วยผ้า นำเมล็ดเก็บไว้ในที่ร่มนาน 1-2 เดือน เพื่อปมเมล็ด จากนั้น จึงนำมาเพาะในถุงเพาะชำ หรือ แปลงต้นกล้า เมื่อต้นกล้ามีอายุได้ 30-45 วัน จึงนำไปปลูกตามจุดที่ต้องการได้


องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของรากมะสัง ซึ่งเป็นส่วนที่นิยมใช้เป็นยาสมุนไพร ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น xanthotoxin, psolaren, bergamottin, bergapten, isoimoeratorin, anisolactone, marmsin, lucidafuranocurmarin A, xanthyletin, demethylsuberosin, 8-geranyloxy-7-hydroxycoumarin, osthenol, N-4-methoxyphynyl benzamide, terbamide, 6-acetonyldihydrochelelerythrine, 8-geranyloxypsolaren, 8-acetonyldihydronitidien, 2,3-dihydroxyanisolactone, feroniellin A,B,C, feroniellides A,B และ Feroniellic acid A,B,C เป็นต้น

โครงสร้างมะสัง

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะสัง

ฤทธิ์ต้านมะเร็ง มีการศึกษาวิจัยสารสกัดจากรากมะสัง ต่อเซลล์มะเร็งโดยเซลล์มะเร็งที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย 3 cell lines คือ human epidermoid carcinoma of oral cavity, breast adenocarcinoma และ human small cell lung cancer พบว่าสาร 8-acetonyldihydronitidine แสดงฤทธิ์ต้านมะเร็งทั้ง 3 เซลล์ ได้ดีที่สุด โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.637, 4.48 และ 0.094 ug/ml ตามลำดับ

           ฤทธิ์ต้านมาลาเรีย มีการศึกษาสารสกัดจากรากมะสังต่อเชื้อมาลาเรียชนิด Plasmodium falciparum ที่ถูกเลี้ยงในหลอดทดลอง อาหารเลี้ยงเชื้อพบว่า สาร 8-acetonyldihydronitidine แสดงฤทธิ์ต้านมาลาเรีย (Plasmodium falciparum) ได้ระดับดีมาก โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.336 ug/ml

           ฤทธิ์ต้านวัณโรค  มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านวัณโรคขอสารสกัดจากรากมะสัง โดยใช้วิธีการทดสอบฤทธิ์ต้านวัณโรคโดยเทคนิค microtiter-plate alamar blue assay ในการทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อไมโคแบคทีเรีย โดยเฉพาะ Mycobacterium tuberculosis พบว่า สาร8-acetonyldihydronitidine แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อก่อโรควัณโรค ได้ในระดับดี โดยมีค่า MIC เท่ากับ 6.25 ug/ml

           ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ  มีการศึกษาฤทธิ์สารสกัดจากน้ำมันหอมระเหย จากราก เปลือกลำต้น เปลือกผล เนื้อในผล และใบของมะสัง ต่อการต้านจุลินทรีย์พบว่า น้ำมันหอมระเหยดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพต่างๆ ดังนี้

  • เชื้อแบคทีเรียแกรมบวก 3 ชนิด ได้แก่ Staphylococcus aureus, Enterrococcus faecalis, Bacilus subtilis
  • เชื้อแบคทีเรียแกรมลบ 3 ชนิด ได้แก่ Salmonella typhimurium Escherichia coli, Serratia marcescens
  • และเชื้อรา 3 ชนิด ได้แก่ Candida albicans, Aspergillus niger, Saccharomyses cerevisiae

นอกจากนี้ ยังมีรายงานการศึกษาจากต่างประเทศระบุว่าสารสกัดจากมะสังยังมีฤทธิ์ต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือดอีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของมะสัง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ผลของมะสัง มีรสเปรี้ยวในการนำมารับประทานสดเพื่อเป็นอาหาร หรือ เพื่อสรรพคุณทางยานั้นควรระมัดระวังในการใช้หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้ปวดในท้อง ท้องเสียได้ และยังมีรายงานการศึกษาต่างประเทศระบุว่ามะสังมีฤทธิ์ต้านการเกาะตัวของเลือด ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด หรือ ผู้ที่กำลังใช้ยาด้านการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin หรือ heparin ไม่ควรรับประทานมะสัง เพราะอาจเสริมฤทธิ์กันได้


เอกสารอ้างอิง มะสัง
  1. 180 ตำรับ ผักพื้นบ้านอาหารไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: แสงแดด. 2551.
  2. พญ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “มะสัง”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 158.
  3. ยอดแต้ว อักษรา. ฟูดอัพเดต: มะสังความเปรี้ยวที่เก็บได้นานข้ามปี. ครัว. ปีที่ 18 ฉบับที่ 214 เมษายน 2555 หน้า 14.
  4. ผศ.ดร. สุรัตน์ ละภูเขียว. การค้นหายาจากพืชสมุนไพรไทยวงศ์ Rutaceae ที่มีศักนภาพต้านมะเร็งหรือจุลชีพ. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ประจำปีงบประมาณ 2554. 55 หน้า.
  5. มะสัง. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มห่วิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=96
  6. มะสัง ประโยชน์สรรพคุณและการปลูกมะสัง. พืชเกษตรดอทคอมเวปเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้ตาก http://www.puechkaset.com
  7. Phuwapraisirisan,P., Surapinit S., Siripong P., Tip-pyeng, S. and kokpol, U. Tetrahedron Letter, 2007, 48, 527-530.
  8. Trager W. and Jensen J.B., Science 1976, 193, 673-675.
  9. Phuwapraisirisan,P., Surapinit S., Sombund S., Siripong P. and Tip-pyang S. Tetrahedron Letter, 2006,47,3685-3688.
  10. Collins L.A. and Franzblau S.G. Antimicrob. Agents Chemother. 1997,41, 1004-1009.
  11. Phuwapraisirisan,P., Surapinit S., Jeenapongsa S., Tip-pyang S and kokpol U. phytotherapy Research, 2007,21,485-487.