กรรณิการ์ ประโยชน์ดีๆ สรรพรคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

กรรณิการ์ งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กรรณิการ์
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กณิการ์, กรณิการ์, กันลิกา (ภาคกลาง), สบันงา (ภาคเหนือ), ปาริชาติ(อินเดีย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Nyctanthes arbor-tristis Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Nyctanthes dentate Blume, Nyctanthes tristis Salisb., Parilium arbor-tristis (L.) Gaertn., Bruschia macrocarpa Bertol., Scabrita scabraL., Scabrita triflora
ชื่อสามัญ Night Blooming Jasmine, Coral jasmine, Night jasmine
วงศ์ OLEACEAE

ถิ่นกำเนิดกรรณิการ์

กรรณิการ์มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเอเชียใต้ บริเวณตอนกลางของประเทศอินเดีย (แต่มีอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่บริเวณแถบตอนเหนือของปากีสถานไปจนถึงตอนกลางของอินเดีย รวมถึงตอนเหนือของเนปาล) สำหรับในประเทศไทยนั้นมีการสันนิษฐานว่ากรรณิการ์ เข้ามาในประเทศไทยปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ถึงตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และพบชื่อปรากฏในวรรณคดียุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์เรื่องอิเหนา ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) และเรื่องลิลิต ตะเลงพ่าย ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และชื่อกรรณิการ์ที่คนไทยใช้เรียกต้นไม้ชนิดนี้สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่ากรรณิการ์ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต ซึ่งหมายถึงช่อฟ้า กลีบบัว ดอกไม้ ตุ้มหู และเครื่องประดับหู เพราะกากสังเกตรูปทรงของดอกกรรณิการ์แล้ว จะเห็นว่า มีหลอดที่ใช้สอดในรูที่เจาะใส่ตุ้มหูได้ และกลีบเล็กๆ ที่มีปลายแฉก เหมาะจะใช้เป็นเครื่องประดับหูได้ดี

ประโยชน์และสรรพคุณกรรณิการ์

  1. แก้ปวดศีรษะ
  2. แก้ปวดข้อ
  3. แก้ไข้
  4. ช่วยเจริญอาหาร
  5. บำรุงน้ำดี
  6. แก้โลหิตตีขึ้น
  7. แก้ตานขโมย
  8. แก้ไข้ผอมเหลือง
  9. แก้ไข้ไม่รู้สติ
  10. แก้พิษทั้งปวง
  11. แก้ตาแดง
  12. แก้ลมวิงเวียน
  13. เป็นยาอายุวัฒนะ
  14. บำรุงผิวหนังให้สดชื่น
  15. แก้ลมวิงเวียน
  16. แก้ไอ
  17. แก้ท้องผูก
  18. บำรุงธาตุ
  19. บำรุงกำลัง
  20. บำรุงเส้นผมให้ดกดำ
  21. แก้ผมหงอก
  22. เป็นยาขับประจำเดือน

กรรณิการ์

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ปวดศีรษะ ปวดข้อ โดยใช้เนื้อไม้หรือเปลือกต้นชั้นในมาต้มกับน้ำดื่ม ช่วยเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี ขับน้ำดี แก้ไข้ โดยใช้ใบสดประมาณ 1 กำมือ เติมน้ำคั้นลงไปแล้วคั้นเอาแต่น้ำ 1 ถ้วยแก้ว ใช้แบ่งรับประทาน 4 ครั้ง หากกินมากจะมีฤทธิ์เป็นยาระบาย ใช้แก้พิษทั้งปวง ช่วยเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี แก้ปวดข้อ แก้ไข้ผอมเหลือง แก้ลมวิงเวียน แก้ตามขโมย โดยใช้ดอกมาตากแห้ง แล้วนำมาต้มน้ำดื่มหรือนำมาชงแบบชาก็ได้ ใช้แก้ท้องอืด ท้องผูก แก้ไอ บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงผิวหนังโดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงเส้นผม แก้ผมหงอก โดยใช้ใบนำไปแช่กับน้ำมันมะพร้าวประมาณ 1-2 คืน นำมาใช้ทาหมักผมก่อนนอน


ลักษณะทั่วไปกรรณิการ์

กรรณิการ์ จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง หรือ ไม้ต้นขนาดเล็กไม้พลัดใบ สูง 2-4 เมตร มีเรือนยอดเป็นทรงพีระมิด เปลือกต้นมีสีขาว ผิวหยาบ ลำต้น และกิ่งก้านเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสาก ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน เป็นคู่ๆ ตามข้อ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ หรือรูปหอกเป็นสีเขียว แผ่นใบหนา ปลายใบแหลม โคนใบมน ใบกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ส่วนขอบใบเรียบหรืออาจจะหยักแบบห่างๆ กัน หลังใบมีขนแข็ง สากมือ ปกคลุมอยู่ทั่วไป ส่วนท้องใบมีขนแข็งสั้นๆ และมีเส้นแขนงของใบข้างละ 3-4 เส้น ปลายเส้นจรดกันก่อนถึงขอบใบ ดอก ออกเป็นช่อแบบแยกแขนงบริเวณซอกใบ หรือปลายกิ่ง ออกดอกประมาณช่อละ 3-7 ดอก มีลักษณะโคนดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีส้มแดง ยาว 1.50 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นกลีบดอกสีขาว 5-8 กลีบ บิดเวียนคล้ายกังหัน ขอบกลีบจักหรือเว้า ขนาดดอกเมื่อบานเต็มที่มีขนาด 1.5-2 เซนติเมตร และกลีบเลี้ยงมี 4 กลีบสีเขียวอ่อน โคนเชื่อมติดกัน ก้านช่อดอกมีใบประดับเล็กๆ 1 คู่ ทั้งนี้ดอกกรรณิการ์ มีกลิ่นหอมแรง จะเริ่มบานในช่วงเย็นและร่วงในช่วงเช้า ผล มีลักษณะค่อนข้างแบน เป็นรูปไข่กลับมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ปลายผลเป็นมนและมีติ่งแหลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะแตกอ้าออกเป็น 2 ซีก ด้านในผลมีเมล็ดซีกละ 1 เม็ด โดยมีลักษณะกลมแบนสีน้ำตาล

กรรณิการ์
กรรณิการ์

การขยายพันธุ์กรรณิการ์

กรรณิการ์ เป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีเช่น การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำ แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันคือการปักชำกิ่ง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายประหยัดเวลาและออกรากได้ง่าย แต่จะต้องใช้กับกิ่งที่มียอดอ่อนเท่านั้น สำหรับวิธีการปักชำก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับการปักชำ ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของกรรณิการ์ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญดังนี้

            ใบ พบสารกลุ่มไกลโคไซด์ ได้แก่ irridoid glycosides-arborsides A, B, และ C,desrhamnosylverbacoside, 6 beta-hydroxyloganin, 6,7-di-O-benzoylnycthanoside,  6-O-trans-cinnamoyl-6 beta-hydroxyloganin และ 7-O-trans-cinnamoyl-6 beta-hydroxyloganin นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ เช่น nicotiflorin เป็นต้น

            ดอก พบสารกลุ่มไดเทอร์ปีน เช่น nyctanthin สารกลุ่มไกลโคไซด์ เช่น irridoid glycosides arbortristoside C, nyctanthoside, 6-O-trans-acetyl-7-O-cinnamoyl-6 beta-hydroxyloganin, isoarborside C, 6 beta-hydroxy loganin สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ apigenin,quercetin, kaemferol, anthocyanin ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากดอกพบ สาร α-pinene และ p-cymene

            ในเมล็ด พบสารเทอร์ปีน เช่น nyctanthic acid และ triterpenes-3,4-secotriterpene acid สารกลุ่มไกลโคไซด์ ได้แก่ irridoid glycosides arbortristosides A, B, C, D และ E เป็นต้น ส่วนหลอดกลีบดอกพบสาร nyctanthin

โครงสร้างกรรณิกา

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกรรณิการ์

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกรรณิการ์หลายฉบับระบุว่ามีฤทธิ์ที่สำคัญดังนี้

            ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมีการศึกษาวิจัยการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากสารสกัดกรรณิการ์ หลายวิธีได้แก่ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl), hydroxyl, superoxide radicals และ H2O2 scavenging assays พบว่า สารสกัด acetone ที่ละลาย จากสารสกัด ethyl acetate ของใบกรรณิการ์สด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดี นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งการเกิด lipid peroxidation ของ liposomes ที่เกิดจากการเหนี่ยวนำของ Fe2+ และยับยั้งการทำลาย DNA จากรังสีแกมมาได้ ทั้งนี้เนื่องจากสารสกัดมี phenolics และ flavonoids เป็นส่วนประกอบ จึงทำให้มีความสามารถในการเป็นตัวรีดิวซ์ที่แรง ผลการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH ของสารสกัดจากใบกรรณิการ์แห้งพบว่า สารสกัดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH ได้แก่ สารสกัด butanol, ethyl acetate, สารมาตรฐาน butylated hydroxytoluene (BHT) และ สารสกัด petroleum ether มีเปอร์เซ็นต์การยับยั้ง เท่ากับ 97.42% , 94.61%, 84.63% และ 82.04% ตามลำดับ

            สำหรับสารสกัดน้ำจากกลีบเลี้ยงของดอกกรรณิการ์ ออกฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ดีกว่าสารสกัดจากดอก และกลีบดอก การประเมินฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของดอกแห้ง และดอกสดโดยใช้หลายวิธี ได้แก่ lipid peroxidation assay, reducing activity และ H2O2 scavenging assay และการทดสอบทั้งในระบบที่ใช้เอนไซม์และไม่ใช้เอนไซม์ พบว่าการสกัดดอกแห้งด้วย methanol มีองค์ประกอบของสารกลุ่ม phenolics สูง และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่แรง ในขณะที่สารสกัดดอกแห้งด้วยน้ำ ออกฤทธิ์ดีในระบบการทดสอบที่ใช้เอนไซม์ และสารสกัดเอทานอลจากลำต้นยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีในหลายการทดสอบ โดยสรุปสารสกัดจากต้นกรรณิการ์พบว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ทั้งจากส่วนของใบ ลำต้น และดอก

            ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด มีการทดสอบสารสกัดคลอโรฟอร์มจากใบ และดอกกรรณิการ์ และสารสกัดจากใบด้วย ethanol 50% พบว่าสามารถเพิ่มระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ SOD (superoxide dismutase ) และเอนไซม์ catalase ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และลดระดับเอนไซม์ตับ ได้แก่ SGPT (serum glutamate pyruvate transaminase;  Alanine aminotransferase [ALT]) และ SGOT (serum glutamic-oxaloacetic transaminase; Aspartate aminotransferase [AST]) ในเลือด ลดระดับโคเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ได้เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม นอกจากนี้สารสกัด ethanol จากเปลือกต้นกรรณิการ์ แสดงฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อทดสอบในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin-nicotinamide พบว่าสารสกัดจากเปลือกต้นสามารถลดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดได้ขึ้นกับขนาดยาที่ได้รับ

            ฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง มีการทดสอบฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ของสารสกัดส่วนที่ละลายน้ำจากการสกัดใบด้วยแอลกอฮอล์ เมื่อป้อนให้หนูขาว ในขนาด 4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ 8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในหนูแต่ละกลุ่ม พบว่า มีฤทธิ์ทำให้สงบ (sedative effect) อย่างมีนัยสำคัญ และมีผลเพิ่มเวลานอนของหนูที่ได้รับยานอนหลับ phenobarbitone อย่างมีนัยสำคัญ และจากการค้นหาฤทธิ์อื่นๆ ได้แก่ การนอนหลับ, ฤทธิ์ทำให้สงบ, ฤทธิ์ชาเฉพาะที่, ฤทธิ์ลดอุณหภูมิร่างกาย และฤทธิ์กันชัก พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์เด่นในการทำให้สงบ ตามด้วยฤทธิ์ลดอุณหภูมิของร่างกาย

            ฤทธิ์ลดการเกิดไขข้อเสื่อม มีการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดแอลกอฮอล์จากใบ ผล และเมล็ดกรรณิการ์เพื่อยับยั้งโรคไขข้อเสื่อมในหนูทดลองที่ถูกทำให้ติดเชื้อวัณโรคจนเกิดอาการไขข้ออักเสบ จากนั้นได้ทำการป้อนสารสกัดให้กับหนูทดลองทางช่องปาก 25 มก./กก. เป็นเวลา 47 วัน พบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถช่วยยับยั้งการเกิดไขข้อเสื่อมได้ โดยจะช่วยลดการตายปริมาณของเซลล์ที่เกิดการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางคลินิกพบว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญคือ

            ฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย มีการศึกษาฤทธิ์ต้านมาลาเรียในผู้ป่วยโรคมาลาเรียจำนวน 120 คน โดยใช้ใบสดขนาดกลางจำนวน 5 ใบ มาบดจนมีลักษณะคล้ายแป้งเปียก (fresh paste) รับประทานวันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 7-10 วัน พบว่า ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น 92 คน (76.7%) ภายใน 7 วัน อีก 20 คน มีอาการดีขึ้นภายใน 10 วัน มีเพียง 8 คน ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา และผู้ป่วย สามารถทนต่อยาได้ดี และไม่มีรายงานการพบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง นอกจากนี้พบว่าสารสกัด methanol และสารสกัด chloroform จากใบ สามารถกำจัดตัวอ่อนยุงก้นปล่องที่เป็นสาเหตุของไข้มาลาเรียได้ โดยสามารถฆ่าตัวอ่อนของลูกน้ำยุงก้นปล่องได้ โดยมีค่า LC50 เท่ากับ 244.4 และ 747.7 ppm ตามลำดับ และมีการศึกษาวิจัยอีกหลายฉบับระบุว่าสารสกัดกรรณิการ์ มีฤทธิ์ดังนี้

            สารสกัดเอทานอล จากส่วนหลอดดอก มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ 5 ใบ มีฤทธิ์เสริมภูมิต้านทาน และสารสกัดเอทานอล มีฤทธิ์ลดไข้ และลดอาการปวด 4 ส่วนสารสกัดเอทานอลเปลือกต้น มีฤทธิ์ลดอาการอักเสบและแก้ปวด เป็นต้น


การศึกษาทางพิษวิทยาของกรรณิการ์

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกรรณิการ์ ระบุว่า สารสกัด ethanol จากใบ เมื่อป้อนให้หนูแรท พบว่าขนาดที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง (LD50) คือ 16กรัม/กิโลกรัม แต่เมื่อให้ในขนาด 2 กรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบสัตว์ทดลองตาย และเมื่อป้อนสารสกัดเอทานอลจากใบในขนาด 1, 2 และ 4 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ในแต่ละกลุ่ม เป็นเวลา 6 วันต่อเนื่องกัน พบว่าทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร และเกิดแผลในกระเพาะอาหารหนูแรท โดยขึ้นกับขนาดสารสกัดที่ได้รับ และทำให้หนูถีบจักรถ่ายเหลวเนื่องจากออกฤทธิ์เป็นยาถ่าย (purgative effect)

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ควรระวังการใช้กรรณิการ์ ในสตรีมีครรภ์ เนื่องจากมีการใช้เป็นสมุนไพรพื้นบ้านในหลายประเทศ ใช้ส่วนหลอดดอกเป็นสมุนไพร ขับประจำเดือน และการนำใบกรรณิการ์มาใช้ประโยชน์ควรระมัดระวังในการเก็บเนื่องจากใบค่อนข้างกระด้างอาจทำให้เกิดผื่นคันให้กับผิวหนังกับผู้ที่มีอาการแพ้ได้ ส่วนการใช้ใบตามสรรพคุณทางยา โดยการนำมาตำค้นเอาน้ำรับประทานควรรับประทานแต่พอดีเพราะหากรับประทานมากจะมีฤทธิ์ระบายอาจทำให้มวนท้องและไซท้องได้

เอกสารอ้างอิง กรรณิการ์
  1. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “กรรณิการ์”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.หน้า 81.
  2.  ร.ต.อ.เปี่ยม บุณยโชติ. ตำรายาผงแพทย์แผนโบราณ. กทม.: ห้างหุ้นส่วนจำกัดเกษมบรรณกิจ, p 206.
  3. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คพับลิเคชั่น. 2546. 1,488 หน้า.
  4. กรรณิการ์ Night Jasmine. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหดล. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. หน้า 151.
  5. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับ. 2542 หน้า 3.
  6. กองประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข. ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป. กทม.
  7. เดชา ศิริภัทร. กรรณิการ์ คุณค่าที่คู่ควรจมูกตา (และหู). คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 268. สิงหาคม 2544.
  8. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. กรรณิการ์ (Kanni Ka). หนังสทอสมุนไพรเล่มที่ 1. หน้า 16.
  9. ชยันต์ พิเชียรสุนทร, ศุภชัย ติยวรนันท์ และ วิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 6 เภสัชกรรม. กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พัลลิชชิ่ง. 2555. หน้า 314.
  10. ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา. 2549. พฤกษชาติสมุนไพร. หน้า 27.
  11. กรรณิการ์. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=302
  12. Abhishek Kumar Sah1* and Vinod Kumar Verma. Phytochemicals and Pharmacological Potential of Nyctanthes arbortristis: A Comprehensive Review. International Journal of Research in Pharmaceutical and Biomedical Sciences 2012; 3(1) : 420-6.
  13. Jain PK and Pandey A. The wonder of Ayurvedic medicine – Nyctanthes arbortristis. International Journal of Herbal Medicine. 2016; 4(4): 9-17.
  14. Champa Rani Sunaina Chawla Manisha Mangal, Anupam K Mangal, Subhash Kajla. Nyctanthes arbor-tristis Lnn. (Night Jasmine): A sacred ornamental plant with immense medicinal potentials. Indian Journal of Traditional Knowledge 2012; 11(3):427-435.
  15. Gulshan B, KA S, Parul G. A Comprehensive review on Nyctanthes arbortristis. Int J Drug Dev & Res. 2015;7(1):183-193.
  16. Rangika, B.S., Dayananda, P.D. & Peiris, D.C. Hypoglycemic and hypolipidemic activities of aqueous extract of flowers from Nycantus arbor-tristis L. in male mice. BMC Complement Altern Med 15, 289 (2015).