มะอึก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

มะอึก งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะอึก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะเขือปู่, มะเขือขน (ภาคเหนือ), บักเอิก (ภาคอีสาน), ลูกอึก, อึก (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum stramoniifolium Jacg
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Solanum ferox Linn.
ชื่อสามัญ Hairy fruited eggplant
วงศ์ SOLANACEAE

ถิ่นกำเนิดมะอึก

มะอึก เป็นพืชที่มีการสันนิษฐานกันว่ามีถิ่นกำเนิดบริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย ลาว พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซียจากนั้นจึงได้กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ในทวีปอเมริกาใต้และแอฟริกา สำหรับประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วภูมิภาคของประเทศแต่มักพบได้มากในภาคเหนือและภาคอีสาน เพราะมีการนำไปประกอบอาหารและใช้ประโยชน์มากกว่าภาคอื่นๆ โดยมักจะพบอยู่ในสวนหลังบ้านเช่นเดียวกันกับมะเขือพวง ส่วนในพื้นที่รกร้างว่างเปล่าตามธรรมชาติ ก็มีมะอึกอยู่บ้างเช่นกัน แต่พบไม่มากเท่ามะแว้งต้น และไม่นิยมปลูกในเชิงการค้า

ประโยชน์และสพรรคุณมะอึก

  1. แก้ไอ
  2. แก้น้ำลายเหนียว
  3. แก้ดีพิการ
  4. แก้ไข้สันนิบาต
  5. ช่วยลดไข้
  6. แก้ร้อนใน
  7. แก้ดีฝ่อ
  8. แก้ดีกระตุก
  9. แก้นอนสะดุ้งผวา หลับๆ ตื่นๆ
  10. แก้ปวด
  11. ขับเสมหะ
  12. แก้กระทุ้งพิษไข้หัวทุกชนิด
  13. แก้ปวดบวม
  14. แก้อาการท้องเสีย
  15. แก้พิษฝี
  16. แก้ผดผื่นคัน
  17. แก้อาการฟกช้ำ
  18. ลดอาการบวม
  19. แก้อาการปวดฟัน
     

รูปแบบและขนาดวิธีใช้มะอึก

ใช้แก้ดีกระตุก ขับเสมหะ แก้ไอ น้ำลายเหนียว กระทุ้งพิษไข้หัว แก้ไข้สันนิบาต แก้ไข้ร้อนใน โดยใช้รากมะอึก มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไอฟอกเสมหะในลำคอ แก้ดีพิการ โดยนำมะอึกทั้งผลสด และผลสุกมาประกอบอาหารรับประทาน หรือ นำมาตากแห้งต้มกับน้ำดื่มก็ได้ ใช้แก้พิษฝี แก้ผดผื่นคัน ลดอาการบวม โดยใช้ใบมะอึกมาตำพอกบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปมะอึก

มะอึก จัดเป็นพุ่มไม้ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 50-150 ซม. มีอายุ 2-3 ปี แตกกิ่งก้านสาขาออกเป็นพุ่มคล้ายมะเขือพวง ลำต้น กิ่ง และก้านใบมีหนามแหลม และมีขนนุ่มละเอียดสีน้ำตาลปกคลุมหนาแน่น
           ⦁ ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ มีก้านใบยาว 3-5 เซนติเมตร ใบมีรูปไข่ โคนใบกว้าง แผ่นใบมีสีเขียว กว้าง 8-15 เซนติเมตร ยาว 15-25 เซนติเมตร มีขนอ่อนปกคลุมทั้งด้านบน และด้านล่าง ขอบใบเว้าเป็นร่องตรงกลาง ระหว่างเส้นแขนงใบมีเส้นกลางใบสีขาว หรือ สีม่วงชัดเจน และมีเส้นแขนงใบแตกออกด้านข้างเป็นคู่ๆ เยื้องกัน 4 คู่ แผ่นใบด้านล่างมีเส้นกลางใบ และเส้นแขนงนูนชัดเจน
          ⦁ ดอก ออกเป็นช่อซึ่งจะออกเป็นกระจุกตามบริเวณซอกใบและมีดอกย่อย 3-5 ดอก ลักษณะดอกคล้ายดอกมะเขือโดย กลีบดอกจะเป็นสีขาว หรือ สีม่วงอ่อน มี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน แต่ละกลีบมีขนาดเล็กปลายแหลม ตรงกลางมีถุงเกสรตัวเมียสีเหลือง และเมื่อบานกลีบจะโค้งลง
          ⦁ ผล เป็นผลเดี่ยวแต่จะออกเป็นกระจุก มีลักษณะทรงกลม ขนาดผลประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร มีขนสีขาวยาวปกคลุมผลอ่อน หรือ ผลดิบมีสีเขียว เมื่อสุกมีสีเหลือง และเมื่อสุกจัดจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้ม ด้านในผลจะมีเมล็ดจำนวนมากที่แทรกอยู่ตามเยื่อที่ฉ่ำน้ำ โดยเนื้อผลมีรสเปรี้ยว เฝื่อน และมีกลิ่นเฉพาะตัว
         ⦁ เมล็ด จะมีลักษณะกลมเล็กๆ ซึ่งจะมีอยู่จำนวนมาก เปลือกเมล็ดของผลอ่อนมีสีขาว แต่เมื่อแก่เปลือกเมล็ดจะมีสีเหลืองอมขาว

มะอึก

ดอกมะอึก

ใบมะอึก

การขยายพันธุ์มะอึก

มะอึก สามารถขยายพันธุ์ได้โดยใช้เมล็ดมาเพาะเป็นต้นคล้ายกับพืชผักในตระกูลมะเขืออื่นๆ ส่วนวิธีอื่นๆ ไม่ค่อยนิยม เนื่องจากลำต้นและกิ่งเป็นไม้เนื้ออ่อนทำให้การขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นไม่ค่อยได้ผล ซึ่งการนำเมล็ดพันธุ์มะอึกมาใช้เพาะ จะต้องเป็นเมล็ดที่ได้จากผลมะอึก ที่สุกจัดเต็มที่และควรเป็นผลที่มีขนาดใหญ่ ไม่มีรอยแมลงหรือสัตว์กัดกินจากนั้น ให้นำผลมาขยี้ด้วยผ้าเพื่อกำจัดขนออกให้หมด ก่อนผ่าผลให้เป็น 2 ซีก แล้วใช้ช้อนตักควักเมล็ดแยกออกตักใส่ผ้าขาวบาง พร้อมเกลี่ยเมล็ดให้กระจายออกแล้วจึงนำมาแผ่ตากแดดจนเมล็ดแห้ง 5-7 วัน หลังจากนั้น ห่อผ้าขาวบางหรือใส่ถุงเก็บไว้ในที่ร่มประมาณ 1 เดือน เพื่อให้เมล็ดเข้าสู่ระยะพักตัว หลังจากคัดแยกเมล็ด และพักไว้แล้ว ให้นำเมล็ดมาหว่านลงแปลงเพื่อเพาะกล้า ซึ่งจะคล้ายกับการเพาะกล้ามะเขือทั่วไป โดยการโรยเมล็ดลงแปลงเพาะให้ห่างกันประมาณ 2-5 เซนติเมตร ก่อนจะรดน้ำให้ชุ่ม หลังจากนั้น รดน้ำเป็นประจำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง พอชุ่ม จนผ่านไปประมาณ 5-7 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก แล้วดูแลต่อจนต้นกล้าแตกใบจริง 3-5 ใบ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ก่อนย้ายลงปลูกในหลุม ต่อไป

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของมะอึก ระบุว่ามีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น สารกลุ่มไฟโตสเตอรอล อาทิ campesterol สารกลุ่มฟีนอลิก อาทิ protocatechuic acid, chlorogenic acid สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ อาทิ isorhamnetin, kaempferol, rutin, nicotiflorin, astragalin, narcissin อีกทั้งยังพบกรดไขมัน linoleic acid อีกด้วย นอกจากนี้มะอึกยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

โครงสร้างมะอึก    

           คุณค่าทางโภชนาการของผลมะอึก (100 กรัม)
พลังงาน 53 กิโลแคลลอรี่, คาร์โบไฮดดรต 9.5 กรัม, เส้นใย 3.6 กรัม, ไขมัน 0.8 กรัม, โปรตีน 1.9 กรัม, แคลเซียม 26 มิลลิกรัม, เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 41 มิลลิกรัม, วิตามินเอ 181 Re, วิตามินบี 1 0.07 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.05 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 4.9 มิลลิกรัม, วิตามินซี 3 มิลลิกรัม

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะอึก

มีรายงานการศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาจากส่วนต่างๆ ของมะอึก ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ดังนี้ มีการวิจัยสารสกัดจาก ใบ รากและลำต้นของมะอึก Solanum (stramoniifolium Jacq.) ด้วยเอทานอล 80% ซึ่งได้ทำการทดสอบในหลอดทดลองพบว่ามีฤทธิ์ต้านอนมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านจุลชีพ และมีความเป็นพิษต่ออเซลล์เนื้องอก โดยสารสกัดจากรากมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุด และเป็นสารสกัดเดียวที่ยับยั้งการผลิตไนตริกออกไซด์ในเซลล์มาโครฟาจของหนู ซึ่งแสดงความสามารถในการยับยั้งการเติบโตของเซลล์เนื้องอกมนุษย์ที่ทดสอบทั้งหมด ส่วนสารสกัดจากใบมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ ดีที่สุด

การศึกษาทางพิษวิทยาของมะอึก

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้มะอึก เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ตามตำรับตำรายาไทยนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ขนาด และปริมาณที่พอเหมาะที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็ก และสตรีมีครรภ์ ไม่ควรใช้มะอึกเป็นสมุนไพรเพราะยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เพียงพอ ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนใช้มะอึกเป็นสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง มะอึก

⦁ เต็ม สมิตินันทน์. 2523. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง). กรมป่าไม้ 379 หน้า.
⦁ สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2542. ผักพื้นบ้านภาคอีสาน 302 หน้า.
⦁ เดชา ศิริภัทร. มะอึก :มะเขือป่าอุดมผลและผลโต. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยาสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 236. ธันวาคม. 2541.
⦁ กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. 2535. คุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย. 97 หน้า.
⦁ ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา. 2539. ผักไทย-ยาไทย คู่มือการปรุงอาหารจากผักพื้นบ้านไทย. 77 หน้า.
⦁ สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2538. ผักพื้นบ้าน : ความหมายและภูมิปัญญาของสามัญชนไทย 261 หน้า.
⦁ มะอึก. กลุ่มยาขับเสมหะ แก้ไอ. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_08_10.htm
⦁ มะอึก สรรพคุณ และการปลูกมะอึก. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก ⦁ http://www.puechkaset.com
⦁ Svobodova, B.; Barros. L.: Sopik, T: Calhelha, R.C.; Heleno, S.A.; Alves, M... Walcott, S.; Kuban, V.; Ferreira, I.C.F.R. Non-edible parts of Solanum stramoniifolium Jacq.-A new potent source of bioactive extracts rich in phenolic compounds for functional foods. Food Funct. 2017, 8, 2013-2021.
⦁ L. Barros, M. Dueñas, A. M. Carvalho, I. C. F. R. Ferreira and C. Santos-Buelga, Food Chem. Toxicol., 2012, 50, 1576- 1582.
⦁ P. Wetwitayaklung and T. Phaechamud, Res. J. Pharm., Biol. Chem. Sci., 2011, 2, 146-154.
⦁ W. Samee, M. Engkalohakul, N. Nebbua, P. Direkrojanavuti, C. Sornchaithawatwong and N. Kamkaen, Thai Pharm. Health Sci. J., 2006, 1, 196-203.