เจนิสติน

เจนิสติน

ชื่อสามัญ Genistin, Genistein 7-O-beta-D-glucoside

ประเภทและข้อแตกต่างสารเจนิสติน

สารเจนิสติน(Genistin) จัดเป็นสารในกลุ่มกลัยโคไซด์ (glycoside) ชนิดหนึ่งของสารไอโซฟลาโวน (Isoflavone) ซึ่งสารกลุ่มไอโซฟลาโวนจะอยู่ในรูปกลัยโคไซด์เป็นหลัก และสารเจนิสตินนี้มีสูตรทางเคมี คือ C21H20O10 มีมวลโมเลกุล 432.37 g/mol โดยสารเจนิสตินถูกแยกได้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1931 สำหรับประเภทของสารเจนิสตินนั้นในทางเคมีอาจแยกได้เป็น 2 ชนิด คือ สารเจนิสติน (genistin) และ สารเจนิสติน (genistein) (สูตรทางเคมี C15H10O5 มวลโมเลกุล 270.24 g/mol) โดยมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงคือ เมื่อสารเจนิสตินซึ่งอยู่ในรูปไกลโคไซด์ (glycoside) เข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานจะถูกเปลี่ยนแปลงโดยกรดในกระเพาะอาหารและแบคทีเรียในลำไส้ซึ่งจะได้สารประกอบที่ปราศจากน้ำตาลในโมเลกุล ที่เรียกว่าสารกลุ่ม อไกลโคน (aglycone) คือ เจนิสเตอีน(genistein) นั่นเอง

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสารเจนิสติน

สารเจนิสติน (genistin) เป็นสารในกลุ่มไอโซฟลาโวน (isoflavone) ที่สามารถพบได้ในกวาวเครือขาว (Pueraria candollei Graham ex Benth. Varmirifica) และถั่วเหลือง (glycine max (L.) Merr.) โดย พบว่าถั่วเหลือง 1 กิโลกรัม จะมีปริมาณเจนิสตินประมาณ 330 ถึง 2000 มิลลิกรัม แต่ทั้งนี้ สารเจนิสตินซึ่งเป็นสารในกลุ่มไกลโคไซด์นี้จะละลายในน้ำได้ดี ซึ่งจะสูญเสียไปในระหว่างการแปรรูปถั่วเหลืองได้ ตัวอย่างเช่น สารเจนิสตินจะสูญเสียไปถึงร้อยละ 50 ในระหว่างการทำน้ำเต้าหู้ นอกจากนี้มีรายงานว่าถั่วเหลืองในธรรมชาติที่ไม่ผ่านการหมักจะมีปริมาณสารเจนิสติน ในปริมาณที่มากกว่าเจนิสเตอีน ในตรงกันข้ามเมื่อถั่วเหลืองผ่านกระบวนการหมัก จะทำให้ได้สารเจนิสเตอีนในปริมาณที่มากกว่าเจนิสติน

โครงสร้างเจนิสติน

ปริมาณที่ควรได้รับจากสารเจนิสติน

สำหรับขนาดและปริมาณของสารเจนิสติน ที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยต่อวันนั้น ในปัจจุบันยังไม่ได้มีการกำหนดขนาดและปริมาณของสารดังกล่าวในรูปแบบสารเดี่ยวเอาไว้มีเพียงแค่การกำหนดขนาดและปริมาณ การใช้หรือการบริโภคสารกลุ่มไอโซฟลาโวนซึ่งประกอบไปด้วยเจนิสติน เดดซีน และไกลซิติน โดยมีการกำหนดไว้ที่ 50-100 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็ได้มีการกำหนดให้มีการใช้เมล็ดถั่วเหลืองมาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ โดยมีเงื่อนไขในกรณีเพิ่มสารสกัดจากเมล็ดดังกล่าวมีไอโซฟลาโวนตามธรรมชาติ ต้องมีปริมาณไอโซฟลาโวนไม่เกิน 4%

ประโยชน์และโทษสารเจนิสติน

ในปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาถึงคุณประโยชน์ของสารเจนิสติน (genistin) ซึ่งเป็นสารในรูปแบบกลัยโคนของสารกลุ่มไอโซฟลาโวนโดยพบว่าสามารถช่วยป้องกันและรักษาโรคและอาการต่างๆ ดังนี้ ช่วยป้องกันและช่วยต้านภาวะกระดูกพรุน ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกรวมถึงปริมาณเพิ่มแคลเซียม และฟอสฟอรั ในกระดูก ป้องกันการฝ่อตัวของมดลูก ช่วยยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเต้านม ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ มีฤทธิ์ต้านโรต้าไวรัส (rota virus) เป็นต้น นอกจากนี้ยัง มีรายงานว่าสารเจนิสเตอีน ซึ่งเป็นสารในกลุ่มกลัยโคนจะมีฤทธิ์ทางชีวภาพที่ดีกว่าสารเจนิสติน ซึ่งเป็นสารในกลุ่มไกลโคไซด์ เนื่องจากสารประกอบในกลุ่มกลัยโคนสามารถถูกดูดซึมได้ดีกว่า และสามารถจับกับ blinding site ของเอนไซม์และรีเซปเตอร์ได้ดีกว่า โดยมีการศึกษาทางคลินิกเพื่อศึกษาเภสัชศาสตร์ของสารไอโซฟลาโวน พบว่าอาสาสมัครที่รับประทานเจนิสติน ต้องใช้เวลาถึง 9.3 ชั่วโมง เพื่อให้ระดับเจนิสเตอีนในเลือดอยู่ในระดับที่สูงมากพอเพื่อการรักษา ในขณะที่อาสาสมัครที่รับประทานเจนิสเตอีน ใช้เวลาเพียง 5.2 ชั่วโมง อีกทั้งยังพบว่าโปรตีนในถั่วเหลือง (soy protein) ยังช่วยส่งเสริมการดูดซึมเจนิสเตอีนโดยมีผลทำให้ระดับเจนิสเตอีนในเลือดสูงขึ้นอีกด้วย

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารเจนิสติน

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารเจนิสติ (genistin) และสารเจนิสเตอีน (genistein) ดังนี้

           ฤทธิ์ป้องกันโรคกระดูกพรุน มีการศึกษาวิจัยในหนูทดลองพบว่า เจนิสเตอีนซึ่งเป๋นไปโซฟลาโวนชนิดหนึ่ง ให้ผลคล้ายยาประเภทเอสโตรเจน ที่ชื่อ พรีมาริน (Premarin) โดยสามารถลดการสูญเสียมวลกระดูกได้ และยังมีการศึกษาผลของ genistein และ daidzein ซึ่งเป็น isoflavone จากถั่ว พบว่าสารดังกล่าวมีฤทธิ์ยับยั้ง TNF-alpha ต่อเซลล์กระดูกซึ่ง TNF-alpha จะกระตุ้นให้เซลล์กระดูกผลิต cytokines เช่น IL-6 และ PGE2 ทำให้เกิดกระดูกพรุน ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าสารทั้ง 3 ชนิด สามารถช่วยป้องกันภาวะกระดูกพรุนได้

           อีกทั้งยังมีการทดลองในหนูเพศเมียที่ถูกตัดรังไข่ และได้รับสารisoflavone 3 ชนิด ได้แก่ daidzin, genistin, glycitin จากถั่วเหลือง (Glycine max Linn.) โดยการกิน เปรียบเทียบกับ estrone (7.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม/วัน) ที่ให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังพบว่า สาร daidzin, genistin และ glycitin ในขนาด (50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน) สามารถป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกและสาร genistin ยังสามารถป้องกันการฝ่อของมดลูกได้ในขนาด (100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน) ได้อีกด้วย

           นอกจากนี้ยังมีการทดสอบฤทธิ์ต้านภาวะกระดูกพรุน จากสารสกัดเอทานอลของรากกวาวเครือขาว (Pueraria mirifica ; PM) และสารไฟโตเอสโตรเจนที่แยกได้ เช่น genistein และ puerarin ในเซลล์สร้างกระดูกออสติโอบลาสต์ (primary osteoblasts) ของลิงบาบูนตัวเต็มวัยเพศเมีย โดยให้เซลล์ดังกล่าวได้รับ PM ขนาด 100 มคก./มล. genistein หรือ puerarin ในขนาด 1000 นาโนโมลาร์ เป็นเวลา 48 ชม. พบว่าสารทดสอบทั้ง 3 ชนิด ทำให้อัตราการแบ่งตัวของเซลล์ออสติโอบลาสต์เพิ่มขึ้น ระดับ mRNA ของ alkaline phosphatase (ALP), type I collagen และ osteocalcin เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับสารทดสอบ ซึ่งบ่งชี้ว่ามีการสร้างกระดูกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้สารทดสอบทั้ง 3 ชนิด ยังสามารถลดกระบวนการสลายกระดูกโดยเซลล์ออสติโอคลาสต์ (osteoclast-mediated bone resorption) แต่ไม่มีผลต่อระดับการสะสมแคลเซียมในเซลล์ออสติโอบลาสต์

           ฤทธิ์ต้านมะเร็ง มีการศึกษาวิจัยพบว่สารเจนิสเตอีนเป็นสารไอโซฟลาโวนที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งดีที่สุด มีรายงานว่าเจนิสเตอีนเป็นสารที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าเจนิสตินในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากและยังพบอีกว่าเจนิสเตอีนนั้นมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าเจนิสตินและเดดซีน

           ส่วนอีกการศึกษาทดลองหนึ่งที่ทำการศึกษาฤทธิ์การยับยั้งไลปิดเปอร์ออกซิเดชัน (lipid peroxidation inhibition) ในตับหนูพบว่าเจนิสเตอีนจะมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระดีที่สุด โดยเจนิสเตอีนจะมีฤทธิ์ที่ดีกว่าเดดเซอีน สารเจนิสติน และเดดซีน นอกจากนี้ยังมีรายงานถึงฤทธิ์ของเจนิสเตอีนในการยับยั้งกระบวนการแบ่งตัวระยะไมโตเจเนซิสของเซลล์ (cell transformation) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของเซลล์ (cell survival) กระบวนการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ (cell transformation) และยับยั้งกระบวนการ angiogenesis ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งได้อีกด้วย และยังมีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของเจนิสเตอีนในสัตว์ทดลอง พบว่าสารดังกล่าวแสดงฤทธิ์เป็น anti-estrogen ซึ่งจะสามารถลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมที่เกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมนได้

           ฤทธิ์ต้านไวรัส มีรายงานการศึกษาวิจัยระบุสาร Genistin ออกฤทธิ์ทางชีวภาพภายในลำไส้ของทารกแรกเกิดและอาจลดความรุนแรงของการติดเชื้อโรตาไวรัสโดยสารเจนิสติน สามารถยับยั้งการติดเชื้อไวรัสได้ 40-60% นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยถึงเภสัชศาสตร์ของสารเจนิสตินและเจนิสเตอีนที่ระบุว่า จากการศึกษาเกี่ยวกับการดูดซึมและเมตาโบลิสสารของสารเจนิสเตอีนพบว่าจะถูกดูดซึมได้สมบูรณ์และรวดเร็ว โดยการดูดซึมจะเกิดที่บริเวณ epithelial cell ของลำไส้เล็ก ทั้งนี้เนื่องจากสารเจนิสตินมีหมู่น้ำตาลเป็นโมเลกุลหมู่ใหญ่ที่มีส่วนทำให้การดูดซึมช้ากว่าเจนิสเตอีน แต่อย่างไรก็ตามเจนิสตินก็ยังสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ และจะถูกเมตาบอลิสมต่อไปเป็นกลัยโคน โดยพบว่าเจนิสตินบางส่วนจะถูกเปลี่ยนเป็นเจนิสเตอีนโดยกรดไฮโดรคลอริก (HCL) ในระบบทางเดินอาหาร และเอนไซม์เบต้ากลูโคสิเดส (β-glucosidase) ในลำไส้ใหญ่ อีกทั้งยังพบว่าเอนไซม์จาก Lactobacilli, Bacteroides และ Bifidolbacteria ที่พบในลำไส้ใหญ่และทางเดินอาหารของมนุษย์ก็มีฤทธิ์เหมือนเบต้ากลูโคซิเดส ที่สามารถช่วยเปลี่ยนไกลโคไซด์เป็นอะกลัยโคนได้เช่นกัน และภายหลังจากการย่อยสลายไกลโคไซด์เป็นอะกลัยโคนแล้ว เจนิสเตอีนก็จะถูกดูดซึมต่อที่บริเวณลำไส้ใหญ่ และถูกเมตาโบลิสึมที่ตับต่อไป โดยอะกลัยโคนส่วนมากจะเกิดการคอนจูเกตกับ glucolonic acid โดยอาศัยเอนไซม์ UDP-glucoronosyl yransferase คิดเป็น 97 เปอร์เซ็นต์ของอะกลัยโคนทั้งหมด และจำนวนน้อยจะเกิดจากคอนจูเกตกับซัลเฟต โดยอาศัยเอนไซม์ sulfotransferase จากนั้นจะถูกขับออกทางปัสสาวะและน้ำดี

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีรายงานถึงการทดลองในห้องปฏิบัติการอย่างมากมายถึงสรรพคุณของสารเจนิสติน และเจนิสเตอีน ซึ่งเป็นสารที่สำคัญในไอโซฟลาโวน แต่งานวิจัยทางคลินิกยังมีไม่เพียงพอยังขาดข้อมูลในด้านต่างๆ เช่น ขนาดรับประทานที่เหมาะสมในการใช้เป็นฮอร์โมนทดแทน อัตราการดูดซึม ความเร็วของการเกิดเมตาบอลิสึมรวมทั้งฤทธิ์ข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้นการใช้สารเจนิสตินและเจนิสเตอีน แบบสารเดี่ยวจึงยังขาดการยอมรับทางวิชาการและทางการแพทย์ถึงผลทางการรักษาที่แน่ชัด ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีการวิจัยและพัฒนาต่อไป แต่สำหรับการใช้และบริโภคในรูปแบบของสารไอโซฟลาโวน (ซึ่งรวมกับสารอื่นๆ เช่น เดดซีน, เดดเซอีน, ไกลซิติน และ ไกลซิเตอีน) ซึ่งได้มีการศึกษาวิจัยถึงประโยชน์และปริมาณการใช้รวมถึงความปลอดภัยมาแล้ว ก็สามารถใช้หรือบริโภคได้ตามขนาดและปริมาณที่มีการแนะนำหรือกำหนดเอาไว้ โดยในปัจจุบันก็มีสารสกัดไอโซฟลาโวนออกมาจำหน่ายในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และโภชนเภสัชภัณฑ์มากมาย เพื่อใช้สรรพคุณเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในสตรีหมดประจำเดือนให้เลือกมาใช้ได้ แต่ทั้งนี้ก็ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เชื่อถือได้และมีการขึ้นทะเบียนกับองค์กรอาหารและยาอย่างถูกต้องเท่านั้น

 

เอกสารอ้างอิง เจนิสติน
  1. ธิดารัตน์ จันทร์ดอน. ถั่วเหลือง...ธัญพืชเพื่อสุขภาพ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. สาร Isoflavone จากถั่วกับผลต่อเซลล์กระดูก. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. จารุวรรณ ธนาวิรุฬห์, ระวิวรรณ แก้วอมตะวงศ์. การสกัดและแยกสารบริสุทธิ์สารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพของสารไอโซฟลาโวนในถั่วเหลือง. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 83 หน้า
  4. ฤทธิ์ของถั่วเหลืองต่อกระดูกและการเมตาบอลิซึมของไขมัน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องรายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560
  6. ฤทธิ์ต้านภาวะกระดูกพรุน จากกวาวเครือขาว.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  7. Brown, J.P. (1988) Hydrolysis of glycosides and esters. In Role of the gut flora in toxicity and cancer (pp.109-144). San Diego, CA;Academic Press.
  8. Adlercteutz, H., Goldin, BR., Gorbach, SL. (1995) Soybean phytoestrogen intake and cancer risk. J. Nutr. 125, 757S-770S.
  9. Setchell, K.D.R., Brown, N.M., Desai, P., Zimmer, L., Wolfe, B.E., and Wrashear, W.T.(2001) Biovailability of pure isoflavones in healthy humans and analysis of commercial soy isoflavone supplements. J. Nutr. 131, 1362S-1375S.
  10. Nechuta SJ, Caan BJ, Chen WY, Lu W, Chen Z, Kwan ML, et al. Soy food intake after diagnosis of breast cancer and survival: an in-depth analysis of combined evidence from cohort studies of US and Chinese women. Am J Clin Nutr 2012;96(1):123-32.
  11. Hendrich, S., and Lee, K. (1993) Antioxidant and anticarcinogenic effect of soybean isoflavones. Int. News Fats Oil Related Mater. 4, 529(Abstract).
  12. Wang, H., and Murphy, PA. (1994) Isoflavone content in commercial soybean foods. J. Agri. Food Chem. 42,1666-1673.
  13. Zava, D., Duwe, G.(1997) Estrogenic and antiproliferative properties of genistein and other flavonoids in human breast cancer cells. Nutr. Cancer. 27, 31-40.
  14. Moreira AC, Silva AM, Santos MS, Sardão VA. Phytoestrogens as alternative hormone replacement therapy in menopause: What is real, what is unknown. J Steroid BiochemMol Biol 2014;143:61-71.
  15. Anderson, J.J., ambrose W.W., and Garner, S.C.(1995) Orally dosed genistein from soy and prevention of cancerous bone loss in two overieoctomized rat models. J. Nutr. 123, 799S.
  16. Donovan SM, Andres A, Mathai RA, Kuhlenschmidt TB, Kuhlenschmidt MS(2009). “Soy formula and isoflavones and the developing intestine”. Nutr. Rev. 67 (S2): 192-200.
  17. Zheng, W., Dai, Q., Custer, L.J., Shu, X.O., Wen, W.Q., Jin, F., and Franke, A.A. (1997) Urinary excretion of isoflavonoids and the risk of breast cancer. Canc. Epid. Biomarkers Prev. 8, 35-40.
  18. Haeksworth, G., Drasar, B.S., and Hill, M.J. (1971) Intestinal bacteria and hydrolysis of glycosidic bonhs. J. Med. Microbiol. 4, 451-459.