โคเอนไซม์ คิวเท็น

โคเอนไซม์ คิวเท็น

ชื่อสามัญ Coenzym Q10, Ubiquinone

ประเภทและข้อแตกต่างโคเอนไซม์ คิวเท็น

โคเอนไซม์ คิวเท็น มีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น Ubiquinone หรือ Ubidecarenone Ubiquitous หรือ Coenzyme quinine แต่มีชื่อเรียกทางเคมีว่า 2,2- dimethoxy-5-methyl-6-decaprenyl benzoquinone มีสูตรโครงสร้างทางเคมี ที่ประกอบไปด้วยวงแหวนของเบนโซควิโนน (benzoquinone ring) ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญในการป้องกัน หรือ ยับยั้งการเกิดปฏิกิริยารีดอกซ์ (redox) และส่วนของสายยาว จะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละหน่วยไอโซปรีน (isoprene unit, 5 carbon structure) ที่มาเชื่อมในส่วนหางของโมเลกุล ส่วนหางนี้เองที่เป็นส่วนที่ละลายไขมันได้ดีทำให้โคเอนไซม์ คิวเท็น สามารถดูดซึมเข้าสู่เซลล์ได้ โดยปกติโคเอนไซม์ คิวเท็น จะไม่ละลายในน้ำแต่จะละลายได้เล็กน้อยในแอลกอฮอล์ และเมื่อเกิดปฏิกิริยาการรีดิวซ์วงแหวนควิโนนจะได้ผลิตภัณฑ์เป็นควินอล (quinol) ซึ่งจะมีสภาพขั้วสูงกว่า โดยโคเอนไซม์ คิวเท็น จัดเป็นสารประกอบสำคัญที่อยู่ในหน่วยย่อยภายในเซลล์ที่เรียกว่า ไนโตคอนเดรีย (mitochondria) และเป็นสารชีวภาพที่มีน้ำหนักโมเลกุล 863.36 จุดหลอมเหลวที่ 48 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำหน้าที่รับส่งอิเล็กตรอนที่เป็นกระบวนการสำคัญในขั้นตอนการสร้างพลังงานเพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ ทั้งนี้โคเอนไซม์ คิวเท็น ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ.1957 โดย Fredenck Crane โดยแยกได้จากไทโทคอนเดรียของหัวใจวัว มีลักษณะเป็นผงละเอียดสีส้ม เรียกว่า Ubiquinone ซึ่งหมายถึงสารควินินที่พบจำนวนมาก (Ubiquinone) ต่อมาในปี ค.ศ.1958 ศาสตราจารย์ Karl Folkers และคณะได้พบสูตรโครงสร้างของโคเอนไซม์ คิวเท็น และได้รับการสังเคราะห์ครั้งแรกโดยใช้กระบวนการหมัก (fermentation) หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการสนใจ และศึกษาโคเอนไซม์ คิวเท็น มากขึ้น 

            สำหรับประเภทของโคเอนโซม์ คิวเท็นนั้น หากจะแบ่งเป็นประเภทตามแหล่งที่ร่างกายได้รับแล้ว จะสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ร่างกายสังเคราะห์ได้เอง ซึ่งถือเป็นแหล่งโคเอนไซม์ คิวเท็นที่สำคัญของร่างกาย ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ ประเภทที่เป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่มีโคเอนไซม์ คิวเท็นอยู่ในอาหารนั้น ซึ่งโคเอนไซม์ คิวเท็นจากแหล่งนี้จะมีบทบาทสำคัญหลังจากที่ร่างกายเริ่มสังเคราะห์ หรือ สร้างโคเอนไซม์ คิวเท็นได้น้อยลง

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาโคเอนไซม์ คิวเท็น

โคเอนไซม์ คิวเท็นที่ร่างกายมนุษย์นำมาใช้งานส่วนใหญ่ได้มาจากการสังเคราะห์เอง โดยปกติแล้วร่างกายมนุษย์ก็จะสามารถสังเคราะห์โคเอ็นไซม์ คิวเท็นได้เองจากรกอะมิโนไทโรซีน (tyrosine) และฟินิลอะลานีน (Phenylalanine) โดยกรดอะมิโน 2 ชนิด นี้จะสร้างวงแหวนควิโนน (quinone ring) ส่วนสายยาว (side chain) สร้างจากอะซิติลโคเอ (acetyl CoA) ร่วมกับวิตามิน 7 ชนิด ได้แก่ วิตามินบี 2  วิตามินบี 3  วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 กรดโฟลิก กรดแพนโททีนิก และแร่ธาตุอีกจำนวนหนึ่ง แต่เมื่ออายุมากขึ้นปริมาณการสร้างโคเอนไซม์ คิวเท็น ของร่างกายจะลดลง ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่าปริมาณโคเอนไซม์ คิวเท็นในร่างกายจะมีมาก 3-5 เท่า เมื่ออายุแรกเกิดจนถึง 20 ปี และเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่ออายุมากกว่า 20 ปี โดยเฉลี่ยแล้วความหนาแน่นของโคเอนไซม์ คิวเท็น ในร่ากายของเราจะลดลงอย่างชัดเจนเมื่อมีอายุ 30 ปีขึ้นไป
           นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอกที่ทำให้ปริมาณ โคเอนไซม์ คิวเท็นในร่างกายลดลงได้อีก เช่น ผลกระทบจากสภาพแวดล้อม การพักผ่อนไม่เพียงพอ การได้รับยา หรือ สารเคมี แม้แต่ความเครียด ก็ล้วนแต่มีผลทำให้ปริมาณโคเอนไซม์ คิวเท็น ในร่างกายลดลงทั้งสิ้น ดังนั้นร่างกายจึงควรได้รับ โคเอนไซม์ คิวเท็น จากแหล่งอาหารด้วย ซึ่งแหล่งอาหารที่มีปริมาณโคเอนไซม์ คิวเท็น สูงได้แก่อาหารประเภทเนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น เนื้อวัว เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาแมคคอเรล ปลาเเซลมอน น้ำมันตับปลา น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง ผักขม ถั่วลิสง บร็อคโคลี เป็นต้น ทั้งนี้โคเอนไซม์ คิวเท็นเป็นสารที่ไวต่อความร้อน ดังนั้นในการปรุงอาหารจึงควรใช้ระดับความร้อน และกรรมวิธีที่ช่วยรักษาโคเอนไซม์ คิวเท็นเอาไว้ เพื่อให้ได้ประโยชน์อย่างสูงสุด นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการสกัด และผลิตโคเอนไซม์ คิวเท็น จากวัตถุดิบต่างๆ โดยอยู่ในรูปแบบของยา และอาหารเสริมเพื่อสุขภาพมาวางจำหน่ายตามท้องตลาดเพื่อเป็นทางเลือดในการใช้อีกด้วย

ภาพโคเอนไซม์ คิวเท็น

ปริมาณที่ควรได้รับจากโคเอนไซม์ คิวเท็น

มีการศึกษาวิจัยกับปริมาณของโคเอนไซม์ คิวเท็น ที่ควรรับประทานต่อวันระบุว่าร่างกายของคนสุขภาพดีทั่วไปควรได้รับโคเอนไซม์ คิวเท็นในปริมาณวันละ 30 mg. ต่อวันเพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ดี ซึ่งปริมาณโคเอนไซม์ คิวเท็น 30 mg. นี้อาจเทียบเท่าได้กับการรับประทานปลาซาร์ดีน 480 กรัม หรือ เนื้อวัว 900 กรัม หรือ ถั่วลิสง 1,150 กรัม (โดยควรรับประทานร่วมกับอาหารที่มีไขมัน เพราะ “คิวเท็น” ละลายได้ดีในไขมัน)
           ส่วนโคเอนไซม์ คิวเท็น ที่อยู่ในรูปการสกัด ยา อาหารเสริมโคเอนไซม์ คิวเท็น เพื่อสุขภาพนั้น ควรเลือกประเภทที่ร่างกายดูดซึม และนำไปใช้ได้ดี โดยจะต้องอยู่ในรูปแบบที่ละลายในน้ำมันและน้ำ เช่น รูปแบบที่เรียกว่า อีมัลชัน ในแคปซูลนิ่ม ที่ร่างกายจะดูดซึมได้ดีกว่า โคเอนไซม์ คิวเท็น ที่อยู่ในรูปผงในแคปซูลชนิดแข็งหรือเม็ดแข็ง และขนาดที่แนะนำให้รับประทานจะขึ้นอยู่กับการสั่งใช้ของแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจจะสั่งใช้ตามลักษณะอาการดังนี้
           ⦁ ผู้ที่ใช้ยาลดไขมันคลอเลสเตอรอลกลุ่มสแตติน
           ⦁ ขนาดรับประทานที่แนะนำ ครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
           ⦁ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หรืออ่อนเพลียเรื้อรัง
           ⦁ ขนาดรับประทานที่แนะนำ ครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
           ⦁ ผู้ที่ใช้ยาลดไขมันคลอเลสเตอรอลกลุ่มสแตติน มีโรคเบาหวาน และ ความดันโลหิตสูงร่วม
           ⦁ ขนาดรับประทานที่แนะนำ ครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
           ⦁ ผู้ที่มีภาวะการทำงานของสมองผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ
           ⦁ ขนาดรับประทานที่แนะนำ ครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
           ⦁ ผู้ที่ต้องการเสริมเพื่อป้องกันโรคจากความเสื่อมต่างๆ ของร่างกาย หรือ เป็นโรคเหงือกอักเสบ
           ⦁ ขนาดรับประทานที่แนะนำ ครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นต้น

ประโยชน์และโทษโคเอนไซม์ คิวเท็น

จากผลการศึกษาวิจัยพบว่าโคเอนไซม์ คิวเท็น มีหน้าที่หลัก 3 ประการ ได้แก่ สร้างพลังงานให้เซลล์ ป้องกัน และต่อต้านอนุมูลอิสระ และลดการสะสมของไขมันบริเวณผนังหลอดเลือดและผนังดันไขมันชนิด LDL (Low-density lipprotein) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

รูปโคเอนไซม์ คิวเท็น

            หน้าที่สร้างพลังงานให้แก่เซลล์ โคเอนไซม์ คิวเท็น จะทำหน้าที่เป็นเอนไซม์หลัก ในวงจรเครป หรือ วงจรกรดชิดริก (Kreb’s or Citric Acid Cycle) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำการเปลี่ยนแปลงอาหารพวกคาร์โบไฮเดรต และไขมันให้อยู่ในรูปของพลังงานที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ โดยหน้าที่ของเอนไซม์โดยทั่วไปก็ คือ จะเข้าไปช่วยเร่งปฏิกิริยาภายในร่างกาย โดยตัวของเอนไซม์เองไม่ถูกทำลาย หรือ ถูกเปลี่ยนแปลงเมื่อปฏิกิริยาดังกล่าวสิ้นสุดลง และเนื่องจากโคเอนไซม์ คิวเท็นเป็นสาระสำคัญที่มีส่วนร่วมในการผลิตพลังงานจึงมักพบได้ในทุกเซลล์ของร่างกาย โดยพบมากในเซลล์ที่ใช้พลังงานสูง เช่น หัวใจ ปอด ม้าม ตับ ตับอ่อน ต่อมหมวกไต สมอง และยังพบในชั้นหนังกำพร้า (epidermis) มากกว่าหนังแท้ (dermis) อีกด้วย

ปริมาณโคเอนไซม์ คิวเท็นในอวัยวะต่างๆ

ป้องกัน และต่อต้านอนุมูลอิสระ จากการศึกษาพบว่าระดับโคเอนไซม์ คิวเท็นในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน มีปริมาณโคเอนไซม์ คิวเท็น ในสมองลดลง และเมื่อให้โคเอนไซม์ คิวเท็น แล้วช่วยให้อาการต่างๆ ของโรคดีขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น และยังช่วยให้ออกกำลังการได้นานขึ้น ลดอาการเหนื่อย อ่อนเพลียเรื้อรัง และช่วยลดภาวะเหงือกอักเสบ ป้องกันอันตรายที่เกิดจากรังสียูวี และชะลอการเกิดริ้วรอยของผิวได้อีกด้วย

           ลดการสะสมของไขมันบริเวณผนังหลอดเลือด และป้องกันไขมัน LDL โคเอนไซม์ คิวเท็น ช่วยยับยั้งคอเลสเตอรอลไม่ให้จัดตัวอยู่ตามผนังหลอดเลือด ลดการเกิดปัญหาเส้นเลือดอุดตัน บรรเทาอาการปวดร้าวบริเวณหน้าอก อันเกิดจากโรคความดันโลหิตสูงและภาวะแทรกซ้อน

           สามารถป้องกันความเสียหายของ กล้ามเนื้อหัวใจระหว่างการผ่าตัด โดยมีการทดลองให้ โคเอนไซม์ คิวเท็น กับผู้ป่วยก่อนผ่าตัดและพบว่า การทำงาน ของกล้ามเนื้อหัวใจหลังผ่าตัดฟื้นฟูได้ดีขึ้น และลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อหัวใจ 22 นอกจากนี้ยังพบว่าการ ให้โคเอนไซม์ คิวเท็น ร่วมกับกระบวนการฟื้นคืนชีพผู้ป่วย (cardiopulmonary resuscitation: CPR) จะทำให้ผู้ป่วยมี การฟื้นฟูของระบบประสาทได้ดีขึ้นได้อีกด้วย
           นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยพบว่าถ้าระดับของโคเอนไซม์ คิวเท็น ลดลง การหายใจระดับเซลล์แบบใช้ออกซิเจนขาดประสิทธิภาพ ในการสร้างพลังงานเซลล์หรืออวัยวะต่างๆ ก็จะทำงานได้ ไม่เต็มศักยภาพ ดังนั้นจึงจะทำให้เกิดการเจ็บป่วย ร่างกายอ่อนเพลีย ระบบภูมิคุ้มกันเสื่อมสภาพตามมาได้

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสารโคเอนไซม์ คิวเท็น

มีผลการศึกษาวิจัยถึงบทบาทของโคเอนเซนไซม์ คิวเท็นต่อการป้องกัน รักษา ลดภาวะและความเสี่ยงของโรคต่างๆ หลายฉบับดังรายละเอียดดังนี้
           การป้องกันความเสื่อมของระบบประสาท อัน เนื่องมาจากภาวะเครียดออกซิเดชัน โรคความเสื่อมของระบบประสาท (neurodegenerative disease) พบว่ามีความสัมพันธ์กับภาวะเครียดออกซิเดชัน ของเซลล์ประสาท และความเสียหายต่อไมโทคอนเดรียอัน นำไปสู่การตายของเซลล์ประสาท เช่น มีรายงานว่าสาเหตุของโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) นั้นสัมพันธ์กับ ความเสียหายจากภาวะเครียดออกซิเดชัน ร่วมกับการสูญ เสียหน้าที่ของไมโทคอนเดรีย ซึ่งการให้โคเอนไซม์ คิวเท็น เข้าไปจะช่วยในการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น รวม ทั้งการป้องกันความเสียหายต่อไมโทคอนเดรียเพื่อป้องกัน การปลดปล่อยสารที่เป็นอันตรายต่อเซลล์
           โคเอนไซม์ คิวเท็น กับการรับประทานร่วมกับ ยาลดโคเลสเตอรอล เนื่องจากวิถีชีวสังเคราะห์ของโคเอนไซม์ คิวเท็น มีวิถีร่วมกันกับชีวสังเคราะห์ของโคเลสเตอรอล ดังนั้นการให้ยายับยั้งการสังเคราะห์โคเลสเตอรอล ในกลุ่มยาสเตติน (statin) จึงมีผลต่อการลดระดับของโคเอนไซม์ คิวเท็น ในซีรัมของผู้ป่วยด้วย และคาดว่าอาการข้างเคียงจากการใช้ ยาสเตติน เช่น การปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาจมาจากผลของการลดระดับโคเอนไซม์ คิวเท็น  แม้ประเด็นผลข้างเคียงของ ยากับการลดระดับของโคเอนไซม์ คิวเท็น ยังคงเป็นประเด็น ที่ถกเถียงกันอยู่ 23 แต่การให้โคเอนไซม์ คิวเท็น รูปแบบรับประทานร่วมกับการใช้ยาสเตติน พบว่าจะช่วยลดภาวะเครียด ออกซิเดชัน ลดอัตราส่วนระหว่างโคเลสเตอรอลและไขมันดี (HDL: High Density Lipoprotein) และช่วยรักษา ระดับไนตริกออกไซด์ในเลือดของผู้ป่วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อ ระบบหัวใจร่วมหลอดเลือดได้
           บทบาทการบำรุงผิวหนัง ผิวหนังเป็นบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากรังสีอัลตราไวโอเลต (ultraviolet: UV) จากการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง โดยรังสี ดังกล่าวสามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้างอนุมูลอิสระในชั้น ผิวหนัง ก่อให้เกิดการชราภาพ และการตายของเซลล์ผิวหนัง ดังนั้นโคเอนไซม์ คิวเท็น จึงใช้คุณสมบัติในการเป็นสารต้าน อนุมูลอิสระป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบ ผิวหนังจากการสัมผัสกัลรังสีอัลตราไวโอเลตได้
           นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า โคเอนไซม์คิวเท็นมีส่วนช่วยในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะหัวใจล้มเหลง หรือ เบาหวาน ด้วยการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่มีออกซิเจนเข้าไปยังหัวใจ ซึ่งส่งผลต่อการบรรเทา และป้องกันไม่ให้เกิดการก่อตัวของคอเรสเตอรอลยิ่งกว่านั้นโคเอนไซม์ คิวเท็นยังช่วยเพิ่มการใช้พลังงานของร่างกาย เนื่องจากคอยทำหน้าที่เคลื่อนย้ายอิเล็กตรอนจาก NADH และ FADH2 ไปยังออกซิเจน
           ส่วนอีกรายงายวิจัยหนึ่งระบุว่าอีกหน้าที่หนึ่งของโคเอนไซม์คิวเท็นซึ่งมีความสำคัญมาก คือ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) โคเอนไซม์คิวเท็นจึงช่วยชะลอความเสื่อมของโปรตีนรวมถึงเซลล์ไขมัน แล ะสารพันธุกรรมอย่างดีเอนเอ (DNA) การขาดโคเอนไซม์คิวเท็นของร่างกายจะนำมาด้วยโรคหลายชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคประสาทเสื่อม เอชไอวี และมะเร็ง เป็นต้น ด้วยโรคที่กล่าวมามีความสัมพันธ์ต่อปริมาณโคเอนไซม์คิวเท็นต่ออนุมูลอิสระในร่างกายนั่นเอง กรณีร่างกายไม่สามารถสร้างโคเอนไซม์คิวเท็นได้อย่างเพียงพอ ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ โดยเนื้อเยื่อเหล่านั้นจะเกิดสภาวะถดถอยได้ รวดเร็วขึ้น การรับประทานโคเอนไซม์คิวเท็นเพิ่มร่วมกับกรดโฟลิก (folic acid) และยากลุ่มวิตามินบี มีรายงานว่าจะช่วยชะลอและบำบัดสภาวะถดถอยดังกล่าว และนอกจากจะให้ผลในการช่วยบำบัดรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ แล้ว ยังมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า โคเอนไซม์คิวเท็น ช่วยลดอาการปวดหัวจากโรคไมเกรมได้อีกด้วย โดยมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการทดลองให้ผู้ป่วยไมเกรนรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโคเอนไซม์คิวเท็ โดยจากการทดลองพบว่า โคเอนไซม์คิวเทนสามารถช่วยลดได้ทั้งความรุนแรงของอาการปวด ความถี่ และระยะเวลาในการปวดศีรษะที่เกิดจากไมเกรนในกลุ่มตัวอย่างได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผลการรักษานี้เกิดจากการที่โคเอนไซม์คิวเท็นซึ่งมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ได้เข้าไปลดระดับของเป็ปไทด์ในสมองที่ส่งผลให้เกิดอักเสบ และเจ็บปวดที่เรียกว่า calcitonin gene-related peptide (CGRP) ให้ทำงานได้น้อยลง และจากการตรวจร่างกายยังพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคไมเกรนถึง 1 ใน 3 เป็นผู้ที่มีภาวะร่างกายบกพร่องในการผลิตโคเอนไซม์คิวเทน หรือ ผลิตได้น้อยกว่าร่างกายของคนปกติทั่วไป หลังจากได้ทดลองให้กลุ่มตัวอย่างรับประทานโคเอนไซม์คิวเท็นในปริมาณ 150-300 มิลลิกรัมต่อวัน พบว่าเกิดอาการปวดหัวจากไมเกรนน้อยลง จำนวนวันที่ปวดหัวน้อยลงกว่า 50% ความพี่ในการปวดหัวในแต่ละเดือนลดน้อยลงกว่า 50% ความถี่ในการปวดหัวในแต่ละเดือนลดน้อยกว่า 50% และไม่มีผลข้างเคียงปรากฏ

โครงสร้างโคเอนไซม์ คิวเท็น

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

เนื่องจากร่างกายจะสังเคราะห์ โคเอนไซม์ คิวเท็นได้ดีตอนช่วงอายุน้อยๆ และจะสังเคราะห์ลดลงหลังจากอายุ 21 ปี นอกจากนี้การได้รับยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่ม HMG-CoA reductase inhibitors ซึ่งเป็นยาที่ใช้ลดคอเลสเทอรอล และไขมันในเลือด ยังมีผลยับยั้งการสังเคราะห์ โคเอนไซม์ คิวเทน ด้วย อีกทั้งการเจ็บป่วยก็จะทำให้ร่างกายมีระดับ โคเอนไซม์ คิวเทน ต่ำมาก ดังนั้นการได้รับ โคเอนไซม์ คิวเท็น จากอาหาร จึงมีความจำเป็นมากขึ้นหลังอายุ 21 ปี
           ในการใช้อาหารเสริมที่มีสารสกัดของ Q10 อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ในบางรายเช่นเกิดอาการแพ้รวมทั้งก่อให้เกิดผื่นลมพิษ หายใจลำบาก ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และคอบวมได้ซึ่งควรไปพบแพทย์ทันทีนอกจากนี้อาจพบผลข้างเคียงอื่นๆ ที่ไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ยานี้ และควรหยุดใช้ยาทันทีหากเกิดอาการเหล่านี้ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน สูญเสียความอยากอาหาร ท้องเสีย มีผื่นขึ้น ความดันโลหิตต่ำ
           ในระหว่างการใช้ยาอาหารเสริมโคเอนไซม์ คิวเท็น ควรหมั่นตรวจความดันโลหิตอยู่เสมอ เนื่องจากอาจทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ และหากต้องเข้ารับการผ่าตัดควรหยุดใช้ยานี้ก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ควรติดตามระดับน้ำตาลในเลือดอย่าง สม่ำเสมอ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อระดับของน้ำตาลได้

เอกสารอ้างอิงโคเอนไซม์ คิวเท็น

⦁ อารี ศชฤทธิ์.โคเอนไซม์ Q10 (Co-enzyme Q10). สำนักพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์บริการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม. 3 หน้า
⦁ รัศมี เหล็กพรม, จารุพงษ์ แสงบุญมี. โคเอนไซม์ คิวเท็น:จากเคมีพื้นฐานสู่การประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์. ศรีนครินทร์เวชสารปีที่ 28. ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2556. หน้า 589-595
⦁ โคเอนไซม์ คิวเทน.รายงานความก้าวหน้าครั้งที่3.โครงการเพิ่มศักยภาพข้อมูลอุตสาหกรรมทางยาชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ. 9 หน้า
⦁ เบญจมาศ โกมล.(2550). การศึกษาความคงตัวทางกายภาพของโคเอนไซม์ คิวเท็น ที่เก็บกักในไลโปโซมเพื่อใช้ทางเครื่องสำอาง. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง.
⦁ Bonakdar RA, Guarneri E. Coenzyme Q10. Am Fam Physician. 2005;72: 1065-70.
⦁ Quinzii CM, DiMauro S, Hirano M. Human coenzyme Q10 deficiency. Neurochem Res. 2007;32: 723-7.
⦁ Greenberg S, Frishman WH. Co-enzyme Q10: a new drug for cardiovascular disease. J Clin Pharmacol. 1990;30: 596-608
⦁ Bentinger M, Tekle M, Dallner G. Coenzyme Q--biosynthesis and functions. Biochem Biophys Res Commun. 2010;396: 74-9.
⦁ Chapidze G, Kapanadze S, Dolidze N, Bachutashvili Z, Latsabidze N. Prevention of coronary atherosclerosis by the use of combination therapy with antioxidant coenzyme Q10 and statins. Georgian Med News. 2005: 20-5
⦁ Ernster L, Forsmark-Andree P. Ubiquinol: an endogenous antioxidant in aerobic organisms. Clin Investig. 1993;71: S60-5.
⦁ Dahri M, Tarighat-Esfanjani A, Asghari-Jafarabadi M,et al. (2018). Oral coenzyme Q10 supplementation in patients with migraine:Effects on clinical features and inflammatory markers. Nutr Neurosci,1-9.
⦁ Beal MF. Mitochondrial dysfunction and oxidative damage in Alzheimer’s and Parkinson’s diseases and coenzyme Q10 as a potential treatment. J Bioenerg Biomembr. 2004;36: 381-6
⦁ Tran MT, Mitchell TM, Kennedy DT, Giles JT. Role of coenzyme Q10 in chronic heart failure, angina, and hypertension. Pharmacotherapy. 2001;21: 797-806.
⦁ Nowicka B, Kruk J. Occurrence, biosynthesis and function of isoprenoid quinones. Biochim Biophys Acta. 2010;1797: 1587-605.
⦁ Chew GT, Watts GF. Coenzyme Q10 and diabetic endotheliopathy: oxidative stress and the ‘recoupling hypothesis’. QJM. 2004;97: 537-48.
⦁ Belardinelli R, Mucaj A, Lacalaprice F, et al. Coenzyme Q10 improves contractility of dysfunctional myocardium in chronic heart failure. Biofactors. 2005;25: 137-45.
⦁ Szkopinska A. Ubiquinone. Biosynthesis of quinone ring and its isoprenoid side chain. Intracellular localization. Acta Biochim Pol. 2000;47: 469-80.
⦁ Lopez-Lluch G, Rodriguez-Aguilera JC, Santos-Ocana C, Navas P. Is coenzyme Q a key factor in aging? Mech Ageing Dev. 2010;131: 225-35.