สันโศก ประโยนช์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

สันโศก งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร สันโศก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สมัดใหญ่, สมัดขาว, หัสคุณเทศ (ภาคอีสาน), เพี้ยฟาน, หมี่, ขี้ฮอก, เฮือนหม่น, เหมือดหม่น (ภาคกลาง), มะหรุย (ภาคใต้), หัสคุณโคก (เพชรบูรณ์), รุ้ย (กาญจนบุรี), อ้อยช้าง (สระบุรี), ขี้ผึ้ง, แสนโศก (โคราช), สามเสือ (ชลบุรี), สามโสก (จันทบุรี), ยม (ชุมพร), สำรุย (ยะลา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Clausena excavata Burm.f.
วงศ์ RUTACEAE

 

ถิ่นกำเนิดสันโศก

สันโศก เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้นของทวีป เช่นในแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยจัดเป็นไม้พื้นถิ่น เพราะสามารถพบสันโศก ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักพบได้ตามป่าดงดิบ, ป่าละเมาะ หรือ ตามป่าเบญจพรรณ ที่มีความชื้นปานกลาง แต่มีแสงแดดส่องถึงแบบเต็มวัน

ประโยชน์และสรรพคุณสันโศก

  • ช่วยขับเลือด
  • รักษาริดสีดวง
  • รักษาคุดทะราด
  • ช่วยขับพยาธิ
  • แก้โรคผิวหนัง
  • ช่วยกระจายเลือดลม
  • แก้โลหิตในลำคอ
  • แก้โลหิตในลำไส้
  • ช่วยขับลม
  • แก้ลมอัมพฤกษ์อัมพาต
  • แก้ขัดยอก เสียดแทง
  • แก้ไข้
  • แก้หืดไอ
  • แก้ผื่นคัน
  • ช่วยขับเสมหะให้ตก
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • แก้ผอมแห้ง
  • ช่วยขับหนองให้ตก
  • แก้โรคงูสวัด
  • แก้ปวดฟัน
  • ช่วยแก้แผลเปื่อย
  • แก้อาการคันจากผื่นคัน

           นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ประโยชน์ในการกำจัดริ้นไรไก่ได้อีกด้วย โดยการนำต้น และใบแก่ของสันโศก มาเผารมควันตามเล้าไก่ หรือ นำใบแก่ไปใส่ไว้ในรังไข่จะช่วยไล่ไรไก่ได้เช่นกัน เพราะใบมีกลิ่นเหม็นรุนแรง หรือ อาจจะนำใบแก่มาต้มกับน้ำอาบให้ไก่ชนเพื่อกำจัดไรไก่ก็ได้ ยอดอ่อน และใบอ่อนมักจะใช้รับประทานร่วมกับขนมจีน น้ำพริก ลาบ และแกงหน่อไม้

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ยอดอ่อนใช้รับประทานสดเป็นยาระบายแก้อาการท้องผูก
  • รากสันโศก นำมาต้มกินเป็นยาบำรุงกำลัง ใช้ขับลม กระจายเลือดลม แก้โรคงูสวัด แก้ไข้
  • ลำต้น และใบ นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้พิษต่างๆ
  • ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำกลั้วปาก แก้อาการปวดฟัน
  • ส่วนใบนำมาต้มกับน้ำอาบจะช่วยแก้แผลเปื่อย และอาการคันจากผื่นคันต่างๆ หรือ นำใบสันโศก นำมาตำพอกจะแก้อาการอักเสบบวมอันเกิดจากไฟ เช่น น้ำร้อนลวก เป็นต้น

ลักษณะทั่วไปของสันโศก 

สันโศก จัดเป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านมาก มีความสูงของต้นได้ประมาณ 1-4 เมตร ลำต้นโตมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขาไม่เป็นระเบียบ ตามกิ่งก้านมีขนสั้นๆ ที่บริเวณปลายกิ่ง เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล ผิวเรียบ    

           ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงแบบสลับ มีใบย่อย 3-6 คู่ รูปรี หรือ รูปหอก เห็นเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ใบไม่หนา สีเขียวอ่อน กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 5-8 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ฐานใบเบี้ยว ขอบใบเรียบ มีซี่จักเล็กน้อย ใบมีขนนุ่มสีน้ำตาล ท้องใบมีขนบางๆ ดอก ออกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยจะออกที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 0.5-2 มิลลิเมตร วงกลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กมาก กลีบดอกมี 4-5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ยาวประมาณ 3.5-5 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีขาวแกมเหลือง หรือ สีขาวปนเขียว ดอกมีเกสรเพศผู้ 8 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1.5-3.5 มิลิเมตร ส่วนก้านชูเกสรเพศเมีย มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ปลายกว้าง ยาวได้ถึง 1.8 มิลลิเมตร ส่วนรังไข่เป็นรูปไข่ มีขนละเอียดขึ้นปกคลุม ผล มีลักษณะกลม รี หรือ รูปกระสวย ขนาดเล็ก ผิวใสฉ่ำน้ำ ผลอ่อนสีเขียวปนเหลือง ผลแก่สีส้มอมชมพูภายในมีเมล็ดมาก

สันโศก

การขยายพันธุ์สันโศก 

สันโศก สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธี เพาะเมล็ด, ปักชำ และการตอนกิ่ง โดยวิธีที่นิยมในการขยายพันธุ์มากที่สุด คือ การเพาะเมล็ด ส่วนวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปลูกสันโศก นั้น ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้พุ่มทั่วๆไป


องค์ประกอบทางเคมี

จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมี ของสันโศก พบว่า ประกอบด้วย สารในกลุ่มอัลคาลอยด์ (alkaloids) คูมาริน (coumarin) ลิโมนอยด์(limonoids) และคาร์บาโซล (carbazoles)

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของสันโศก

โครงสร้างสันโศก

ที่มา : Wikipedia

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่าเปลือกต้นหวดหม่อนมีสาร clausine-D ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด wedelolactone และอนุพันธ์ของ coumentan ที่มีฤทธิ์ต้านสารพิษที่ทำลายตับ และต้านอาการปวดและอักเสบ

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของสันโศก

มีรายงานการศึกษาวิจัย และทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาจากส่วนต่างๆ ของสันโศก พบว่า มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ยับยั้งเชื้อเอดส์ (HIV-1) ช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน ฤทธิ์แก้ปวด (antinociceptive activity) ฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือด (antiplatelet activity) ฤทธิ์ต้านมาลาเรีย (anti-malarial activity) และ ฤทธิ์กำจัดแมลง (insecticidal activity)

สันโศก
การศึกษาทางพิษวิทยาของสันโศก

มีการศึกษาผลของน้ำสกัดสันโศก 38.5% w/v โดยให้ในหนูขาว 2 กลุ่ม ในปริมาณ 0.5 มล./วัน และ 1 มล./วัน ตามลำดับ ติดต่อกัน 2 เดือน จากผลการทดสอบพบว่าได้ค่าการทดสอบสมรรถภาพของตับ ไต และค่าทางโลหิตวิทยาไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และเมื่อทดลองให้น้ำสกัดสันโศกแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย 8 ราย โดยให้ผู้ป่วยนำกลับไปรับประทานที่บ้าน สามารถสรุปเบื้องต้นได้ว่า ผู้ป่วยไม่มีการเปลี่ยนแปลงของ complete blood count, platelet count และ performance status การตรวจสอบหาค่า LD50 ของน้ำสกัดจากเนื้อไม้สันโศกในหนูขาว เมื่อฉีดสารสกัดดังกล่าวเข้าทางช่องท้อง พบว่าค่า LD50 เท่ากับ 1.6 ก./กก. แต่เมื่อป้อนสารสกัดนี้ให้กับหนูขาว ค่า LD50 มากกว่า 10 ก./กก. ซึ่งในกรณีนี้จะจัดสารสกัดสันโศกให้อยู่ในระดับไม่เป็นพิษเชิงปฏิบัติ (practically nontoxicity)

           ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ มีการศึกษาฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของน้ำสกัดและสารสกัดอัลกอฮอล์ของสันโศก พบว่าสารสกัดดังกล่าวไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ เมื่อทดสอบกับ Salmonella typhimurium TA98 และ TA100

           พิษต่อระบบสืบพันธุ์ มีการทดลองให้น้ำสกัดสันโศก ความเข้มข้น 0.4 มก./มล. ทุกวัน วันละ 2 มล. เป็นเวลา 2 เดือน พบว่าสารสกัดนี้ไม่มีความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ของหนูขาวเพศผู้ คือ จำนวน sperm และน้ำหนัก testis มีค่าปกติ ไม่พบความผิดปกติใน sperm analysis และหนูตัวผู้มี normal fertility potential ในขณะที่หนูตัวเมียทุกตัวมีการตั้งท้องและมีจำนวน และขนาดของตัวอ่อนที่ฝังตัวในมดลูกอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เกี่ยวกับการรักษาหรือยับยั้งโรคเอดส์จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการวิเคราะห์สันโศก พบว่ายาที่ได้จากสันโศกไม่ว่าจะมาจากส่วนใดของต้นก็ตาม ยังไม่พบตัวยาที่จะรักษา หรือ ชะลอโรคเอดส์ได้

           ดังนั้นผู้ที่ต้องการนำสันโศก ไทยใช้เพื่อรักษา หรือ ยับยั้งโรคเอดส์ จึงยังไม่สมควรนำไปใช้ เนื่องจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยังมีไม่เพียงพอ ควรต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ส่วนในการนำสันโศกมาใช้ในการบำบัดรักษาโรคอื่นๆ ตามตำรายาต่างๆ นั้น ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นกัน โดยไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินกว่าที่ตำรายาต่างๆ ได้ระบุเอาไว้ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานต่อเนื่อง ก่อนจะใช้สันโศก ในการบำบัดรักษาต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง สันโศก
  1. สันโศก. สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อเอดส์. สำนักงานข้อสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หวดหม่อน”. หน้า 71.
  3. จีรเดช มโนสร้อย อรัญญา มโนสร้อย กิตติพันธ์ ตันตระรุ่งโรจน์ และคณะ. การศึกษาฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่นและการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของสมุนไพรสันโศก (Clausena excavata Burm. F) และฤทธิ์ต้านมะเร็งของสมุนไพรนมนาง (Pouteria cambodiana Baehni) และสันโศก. สัมมนาวิชาการเทคโนโลยีชีวภาพเภสัชกรรม ครั้งที่ 2 “การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อการแพทย์แผนไทย”, เชียงใหม่, 21-23 มิ.ย. 2543:241-6.
  4.  กนกพร กวีวัฒน์. ผลของพืชสมุนไพรบางชนิดต่อระบบสืบพันธุ์ของสัตว์ทดลอง : กวาวเครือ หญ้าหวาน นมนาง และสันโศก. สัมมนาวิชาการเทคโนโลยีชีวภาพเภสัชกรรม ครั้งที่ 2 “การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อการแพทย์แผนไทย”, เชียงใหม่, 21-23 มิ.ย. 2543: 148-53. 
  5. วิทวัส.ศาศวัตสุวรรณ, อนันตชิน อินทรรักษา, ธเนศ ตรีสุวรรณวัฒน์, วรศักดิ์ ชัยวิภาส, อาริยา รัตนทองคำ. ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดหยาบจากสันโศก ส่องฟ้า และมาไฟจีน ต่อเชื้อสเตรปโตคอคคัส มิวแทนส์ .วารสารวิทยาสารทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่ 17. ฉบับที่ 1.มกราคม-มิถุนายน 2557. หน้า 1-7
  6.  อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ รวิวรรรณ พัวธนาโชคชัย อรัญญา มโนสร้อย จีรเดช มโนสร้อย. ฤทธิ์ก่อการกลาย และฤทธิ์ต้านการกลายของสารสกัดสมุนไพรนมนาง, สันโศก, และหญ้าหวานในการทดสอบเอมส์. เชียงใหม่วารสาร 2544;40(3):147-53. 
  7. จีรเดช มโนสร้อย อัมพวัน อภิสริยะกุล อรัญญา มโนสร้อย. การศึกษาพิษเฉียบพลันโดยหาค่า LD50 ของสมุนไพรในสัตว์ทดลองหนู. สัมมนาวิชาการเทคโนโลยีชีวภาพเภสัชกรรม ครั้งที่ 2 “การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อการแพทย์แผนไทย”, เชียงใหม่, 21-23 มิ.ย. 2543:253.   
  8. Aritajat S, Kaweewat K, Manosroi J, Monosroi A. Dominant lethal test in rats treated with some plant extracts. สัมมนาวิชาการเทคโนโลยีชีวภาพเภสัชกรรม ครั้งที่ 2 “การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อการแพทย์แผนไทย”, เชียงใหม่, 21-23 มิ.ย. 2543:276. 
  9. สมัดใหญ่,ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargen.com/main.php?action=viewpage&pid=113
  10. Arbab IA, Abdul AB, Aspollah M, Abdullah R, Abdel-wahab SI, Mohan S, et al. Clausena excavata Burm. f. (Rutaceae): A review of its traditional uses, pharmacological and phytochemical properties. J Med Plants Res 2011; 5(33): 7177-84
  11. Wuthamawech W. Thai traditional medicine. Bangkok: Odean Store; 1997.