เมล็ดองุ่น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

สารสกัดจากเมล็ดองุ่น งานวิจัยและสรรพคุณ 19ข้อ

ชื่อสามัญ Grape.
ชื่อวิทยาศาสตร์  Vitis vinifera L.
ชื่อวงค์  VITACEAE

ถิ่นกำเนิดองุ่น

องุ่น (Vitis vinifera L.) เป็นไม้ผลที่มีถิ่นกำเนิดแถบ Asia Minor บริเวณทางตอนใต้ระหว่างทะเลดำและทะเลแคสเปียน สามารถเจริญเติบโตได้ดีในช่วงละติจูด 15 – 45 องศาเหนือและใต้ อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 15 – 35 องศาเซลเซียส เป็นพืชเถาเลื้อยชนิดที่มีเนื้อไม้ซึ่งมีอายุยืนยาวได้หลายสิบปีหรือนับร้อยปี องุ่นจัดอยู่ในวงศ์ (Family) Vitis โดยทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 60 ชนิด (Species) แต่ชนิดที่นิยมปลูกกันมากที่สุดคือ Vitis vinifera เนื่องจากปลูกง่าย ให้ผลดก และผลผลิตมีคุณภาพสูง ทำให้องุ่นเป็นไม้ผลที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในโลกถึง 46.9 ล้านไร่ ซึ่งกระจายอยู่ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก เช่น สเปน ฝรั่งเศส อิตาลี จีน ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ ตุรกี เป็นต้น ส่วนในประเทศไทยนั้น มีการสันนิษฐานว่าน่าจะมีการนำเข้ามาปลูกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระองค์ได้นำพันธุ์ไม้แปลกๆจากหลายๆที่ที่เสด็จประพาส เข้ามาปลูกในไทย โดยเชื่อกันว่าหนึ่งในนั้นน่าจะมีต้นองุ่นด้วย แต่ที่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดก็คือ ในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้เริ่มมีการปลูกองุ่นกันบ้างแล้วแต่ผลองุ่นที่ได้นั้นมีรสเปรี้ยว จึงไม่เป็นที่นิยมปลูกเท่าที่ควร และใน พ.ศ.2493 หลวงสมานนวกิจ ได้นำพันธุ์องุ่นจากแคลิฟอเนียมาปลูก อันเป็นการเริ่มทดลองปลูกอีกครั้งอย่างจริงจัง  จนถึงปี พ.ศ.2497 ดร.พิศ ปัญญาลักษณ์ นำพันธุ์องุ่นจากยุโรปมาทดลองปลูกแล้วได้ผลดีนับแต่นั้นการปลูกองุ่นในไทยจึงแพร่หลายขึ้น

องุ่น

 

ประโยชน์และสรรพคุณของสารสกัดจากเมล็ดองุ่น

1. เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระชั้นเลิศ เพราะอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและโรคมะเร็ง และช่วยเสริมภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย
2. ช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยชะลอไม่ให้ผิวหนังแก่ก่อนวัยและแห้งกร้านของเซลล์ผิว ด้วยการเสริมสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนัง
3. ช่วยปกป้องดวงตาของคุณหรือโรคที่เกี่ยวกับการมองเห็นอื่น ๆ ด้วยการป้องกันและรักษาโรคต้อหิน ศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม
4. ช่วยในการรักษาโรคเบาหวานขึ้นตา
5. ช่วยลดกระบวนการสร้างเม็ดสีที่ผิดปกติอันเป็นสาเหตุของฝ้า กระ หรือจุดด่างดำ
6. ช่วยลดปัญหาสำหรับผู้ที่มีสีผิวไม่สม่ำเสมอกัน
7. ช่วยในการป้องกันการเกิดโรคข้ออักเสบ
8. ช่วยป้องอันตรายจากรังสีและเคมีบำบัดบางชนิดได้ด้วย
9. ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตด้วยการยับยั้งการถูกทำลายของคอลลาเจน
10. มีประโยชน์ต่อหัวใจ โดยการช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
11. มีผลคล้ายกับยาแอสไพรินในการชะลอการเกิดลิ่มเลือดอีกด้วย
12. ช่วยรักษาความผิดปกติของหลอดเลือดและเส้นเลือดขอด เส้นเลือดฝอยแตก หรือเส้นเลือดฝอยเปราะได้ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
13. ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ ซึ่งสารสกัดจากเมล็ดองุ่นจะเข้าไปทำลายเซลล์สมองจากอนุมูลอิสระ
14. ช่วยบรรเทาอาการของโรคภูมิแพ้ และหอบหืด
15. ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและไวรัสต่าง ๆ
16. ช่วยลดอาการอักเสบต่าง ๆ
17. ช่วยลดอาการบวมหลังจากเข้ารับการผ่าตัด
18. ช่วยรักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน ลดแผลในช่องปาก และโรคเริมในช่องปาก
19. ช่วยลดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย แต่ทั้งนี้ควรออกกำลังกายด้วยเป็นประจำ


              องุ่น (Vitis vinifera L.) สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายได้แก่ บริโภคสด ผลิตไวน์ ผลิตน้ำองุ่น เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แยม น้ำมันจากเมล็ดองุ่น อาหารเสริมในรูปของสารสกัดจากเมล็ด และยังใช้สารสกัดจากองุ่นผสมลงในเครื่องสำอางด้วย เนื่องจากในผลองุ่นมีสารประกอบฟีนอลิตสูง ซึ่งสารเหล่านี้มีคุณสมบัติ เป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ หรือแอนติออกซิแดนท์ ซึ่งสามารถข่วยป้องกันโรคร้ายแรงต่างๆ ได้ เช่น โรคมะเร็ง เนื้องอก โรคหัวใจ เป็นต้น ส่วนใหญ่จะพบในปริมาณสูงที่เปลือกและเมล็ด ปริมาณของสารขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม สารพันธุ์ กระบวนการหลังการเก็บเกี่ยวและจีโนไทป์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อปริมาณสารที่แตกต่างกันในองุ่น ในประเทศไทยองุ่นพันธุ์คาริดินัล เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากเนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ปลูกง่ายและให้ผลผลิตสูง ลักษณะทั่วไปคือ ผลองุ่นพันธุ์คาริดินัลเป็นพันธุ์ที่นิยมนำมาบริโภคสูง

สารสกัดที่ได้จากเมล็ดองุ่น

สารสกัดจากเมล็ดองุ่น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Oilgomeric Proanthocyanidins (โอลิโกเมอริก โปรแอนโธไซยานิดินส์) หรือ OPCs OPCs เป็นสาระสำคัญอีกชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในกลุ่มของไบโอฟลาโวนอยด์ มีคุณสมบัติที่สำคัญ ในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงมีประสิทธิภาพมาก ในการปกป้องเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย จากการถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ นอกจากนนี้ ในการวิจัยของนพ.คล๊าก แฮนเซน พบว่า ในเมล็ดองุ่นจะมีสารเปลโวนอยด์ (Flavonoid) ที่เรียกกันว่า โปรแอนโธไซยานิดิน ซึ่งสารดังกล่าวเมื่อมีการรวมตัวกันจะอยู่ในรูปของ โอริโกเมริค โปรแอนไธไซยานิดิน (Oilgomeric Proanthocyanidins) หรือเรียกย่อๆ ได้ว่า OPC ที่มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระสูงมากกว่าวิตามินซีถึง 20 เท่า และมากกว่าวิตามินอีถึง 50 เท่า OPCS ที่สกัดจากเมล็ดองุ่น ยังมี OPCs เข้มข้นถึง 80 – 90% ในขณะที่สกัดจากเปลือกสนจะมี OPCs เพียง 85% สารสกัดจากเมล็ดองุ่น มีสัดส่วนของ OPCs ชนิดต่างๆ ซึ่งต่างจากสารสกัดจากเปลือกสน จึงทำให้คุณสมบัติแตกต่างกัน โดยที่สารสกัดจากเปลือกสน จะเด่นในเรื่อง ลดเลือนฝ้า กระ จุดด่างดำ เท่านั้น ในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง สารสกัดจากเมล็ดองุ่น เป็น 1 ใน 10 ของสมุนไพรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเลยทีเดียว

 รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากเมล็ดองุ่น

เมล็ดองุ่น

Proanthocyanidins


แหล่งที่พบสารสกัดจากเมล็ดองุ่น

แหล่งที่มา ของ สารสกัดจากเมล็ดองุ่น (Grape seed extract, GSE) เป็นสารประกอบ phenolic compounds ที่สกัดจากส่วนของเมล็ดองุ่น (Vitis vernifera Linn) ปกติ ได้จากเมล็ดขององุ่นแดง Vitis vinifera ซึ่งเป็นผลพลอยได้ (by product) จากการผลิตน้ำองุ่น

 

กลไกลการทำงานของสารสกัดจากเมล็ดองุ่นในร่างกายมนุษย์

สารสกัดจากเมล็ดองุ่น เป็น Super antioxidant สามารถจับกับอนุมูลอิสระได้ดี ต้านอนุมูลอิสระได้ทุกรูปแบบและจำนวนมากถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 20 – 30 นาที จากนั้นจึงกระจายไปสู่อวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ และยังคงอยู่ภายในร่างกายได้นาน 72 ชั่วโมง สามารถรวมตัวได้ดีกับคอลลาเจนซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบของผิวหนัง หลอดเลือดและอวัยวะต่างๆ จึงทำให้เซลล์ผิวหนังแข็งแรงไม่เหี่ยวย่น หลอดเลือดมีความยืดหยุ่นดี ไม่เปราะหรือแตกง่าย และผลที่น่าพอใจมาก คือ กรณีเส้นเลือดขอด (varicose vein) ริดสีดวงทวาร โดยเฉพาะอวัยวะที่มีเส้นเลือดฝอยละเอียดอ่อนมากที่สุด คือ ดวงตา ซึ่ง Retina ต้องใช้เลือดหล่อเลี้ยงมาก จึงใช้ในการป้องกัน การเสื่อมของดวงตา โรคต้อกระจก โรคจอประสาทตาเสื่อม จากโรคเบาหวาน (หลอดเลือดฝอยเสื่อมสภาพจากน้ำตาลล้นเกิน)ทำงานร่วมกับวิตามินซี ในการทำให้คอลลาเจนทั่วร่างกายแข็งแรงขึ้น และยังช่วยป้องกันการสูญเสียวิตามินซี และวิตามินอีสามารถผ่านแนวกั้นสมอง (blood brain barrier) ได้ จึงป้องกันสมองมิให้เสียหายจากอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคสมองเสื่อมหรือ โรคอัลไซเมอร์ โดยที่ OPCs จะเข้าไปขัดขวางการทำลายเซลล์สมองจากอนุมูลอิสระลดการหลั่งสารพรอสตาแกลนดินบางชนิด ที่ทำให้ปวดและอักเสบ จึงอาจใช้ลดอาการปวดก่อนมีประจำเดือนได้ในระบบหัวใจและหลอดเลือด สารสกัดจากเมล็ดองุ่นจะช่วยยับยั้งการเกาะตัวของคอเลสเตอรอลที่ผนังหลอดเลือด เพิ่มความสามารถในการไหลเวียนโลหิต ส่งเสริมให้เส้นเลือดฝอยแข็งแรงไม่เปราะหรือแตกหักง่าย ช่วยบรรเทาอาการเส้นเลือดขอดหรือโป่งพองได้ ป้องกันโรคหัวใจ บรรเทาอาการมือและเท้าชาลดอาการภูมิแพ้ มีคุณสมบัติในการต้านสารฮีสตามีนจึงช่วยลดอาการภูมิแพ้ หอบหืดช่วยลดริ้วรอย ฝ้าและกระให้จางลง โดย OPCs จะช่วยต้านอนุมูลอิสระที่มาทำลายคอลลาเจน อิลาสตินและการผลิตเม็ดสี อันเป็นสาเหตุทำให้ผิวเสื่อมสภาพและเกิดริ้วรอยก่อนวัยอันควรจากคุณสมบัติยับยั้งเอนไซม์ที่ทำลายคอลลาเจนใต้ผิว ทำให้หลอดเลือดฝอยแข็งแรง สามารถนำสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์ผิวได้ดี ดังนั้น สารสกัดจากเมล็ดองุ่น จึงช่วยให้ผิวยืดหยุ่นดี และดูสดใส มีน้ำมีนวลสวยอยู่เสมอ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด เพิ่มความแข็งแรงให้กับหลอดเลือด

 สารสกัดองุ่น

เมล็ดองุ่น

การศึกษาทางเภสัชและเภสัชวิทยาของสารสกัดจากเมล็ดองุ่น

ฤทธิ์ปกป้องเซลล์ประสาทของ GSE ต่อการสร้างอนุมูลอิสระและการทำลายสมองจากการเหนี่ยวนำด้วยอาหารไขมันสูงในหนูแรท การศึกษานี้ใช้หนูแรทเพศผู้พันธุ์วิสตาร์จำนวน 40 ตัว แบ่งหนูแรทแบบสุ่มออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 8 ตัว กลุ่ม 1 ได้รับอาหารพื้นฐาน กลุ่ม 2 ได้รับอาหารไขมันสูง กลุ่ม 3 ได้รับอาหารไขมันสูงร่วมกับยาลดไขมัน fenofibrate 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน โดยการป้อนทางปากและเริ่มให้ในสัปดาห์ที่ 4 ของการทดลองจัดเป็นกลุ่มอ้างอิง กลุ่ม 4 และ 5 ได้รับอาหารไขมันสูงร่วมกับ GSE ความเข้มข้น 0.5% และ 1.0% ตามลำดับ โดยให้ GSE ผสมในอาหารไขมันสูงติดต่อกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดระยะเวลา ทำให้หนูแรทหมดความรู้สึกโดยการสลบด้วย pentobarbital 60 มิลลิลิตร / กิโลกรัม เจาะเก็บเลือดจากช่องหัวใจล่างซ้ายและเก็บสมอง แยกส่วนของสมองออกเป็น 2 ส่วน ด้านซ้ายแยกออกเป็น 3 ส่วน คือ cerebral cortex, cerebellum และ hippocampus เพื่อศึกษาการตายของเซลล์ประสามโดยการนับจำนวน dark neuron และสมองซีกขวานำมาเตรียม brain homogenate เพื่อตรวจวัดปริมาณ malondialdehyde (MDA) ซึ่งเป็น marker ของการเกิด lipid peroxidation และตรวจหาปริมาณ MDA ในเลือดและในสมองลดลง และยังลดปริมารการสร้าง (NO) ที่สร้างขึ้น ผลการทดลองพบว่า GSE มีผลทำให้ปริมาณ MDA ในเลือดและในสมองลดลง และยังลดปริมาณการสร้าง NO ในสมองที่เพิ่มสูงขึ้นจากการได้รับอาหารไขมันสูง และระดับ NO ที่สร้างขึ้นในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูง

 

การศึกษาทางพยาธิวิทยา

แสดงให้เห็นการตายของเซลล์ประสาทได้เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูงผลจากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า GSE มีประโยชน์ในการปกป้องเซลล์ประสาทถูกทำลายจากอนุมูลอิสระที่เหนี่ยวนำด้วยอาหารไขมันสูงโดยมีฤทธิ์ลดไขมันในเลือดและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การลดริ้วรอย อาสาสมัครเพศหญิงที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาล มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กรุงเทพมหานคร จำนวน 36 คน โดยสุ่มแบ่ง 2 กลุ่ม กลุ่มละ 18 คน มีกลุ่มที่รับประทานโอ พีซีสารสกัดจากเมล็ดองุ่นร่วมกับวิตามินซี และกลุ่มที่รับประทานวิตามินซีเพียงอย่างเดียวเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ประเมินด้วยการวัดริ้วรอยจากเครื่อง Visioscan VC98 ก่อนการศึกษา และในสัปดาห์ที่ 12 ประเมินการเปลี่ยนแปลง ของริ้วรอยโดยอาสาสมัคร และแพทย์ 2 ท่าน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการวิจัย ในสัปดาห์ที่ 4, 8 และ 12 ผลสรุปพบว่า ประสิทธิผลของการรับประทานโอพีซีสารสกัดจากเมล็ดองุ่น ช่วยลดริ้วรอยได้มากกว่าการรับประทานวิตามินซีเพียง อย่างเดียว โดยไม่พบอาการข้างเคียงในทั้งสองกลุ่ม จึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยลดริ้วรอย

สารสกัดจากเมล็ดองุ่น

           ทำการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี โดยให้รับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เพื่อกระตุ้นให้เกิดน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จากนั้น จึงให้สารสกัดจากเมล็ดองุ่นแก่อาสาสมัครในระดับ 100 และ 300 มิลลิกรัม โดยมีการเจาะเลือดอาสาสมัครทุกๆครึ่งชั่วโมง เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ผลการศึกษาในเบื้องต้นพบว่าอาสาสมัครที่เป็นคนปกติ ซึ่งรับประทานสารสกัดจากเมล็ดองุ่น 100 และ 300 มิลลิกรัม มีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงทั้งสองกลุ่ม โดยอาสาสมัครที่รับประทานสารสกัดจากเมล็ดองุ่น 300 มิลิกรัมมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะทำการศึกษาวิจัยต่อไป ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งมีความยุ่งยากซับซ้อนและมีปัจจัยต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่าคน ที่มีสุขภาพดี เนื่องจากผู้ป่วยต้องรับประทานยาหลายชนิดที่มีฤทธิ์กระตุ้นเบต้าเซลล์ให้ทำงานดีขึ้น
          ขนาดรับประทาน ถ้าหากต้องการใช้เพื่อรักษาสุขภาพ ควรเลือกใช้สารสกัดจากเมล็ดองุ่นประมาณวันละ 50-100 มิลลิกรัม แต่หากต้องการใช้เพื่อบำบัดโรค ควรใช้ในปริมาณวันละ 150-300 มิลลิกรัม

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สารสกัดจากเมล็ดองุ่นอาจมีผลในเรื่องของการชะลอการแข็งตัวของเลือด (ทำให้เลือดแข็งตัวช้า)
• ผู้ที่รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือผู้ที่เป็นโรคเลือดไหลไม่หยุด ไม่ควรรับประทานสารสกัดจากเมล็ดองุ่น
• ก่อนการผ่าตัดหรือทำฟัน คุณควรหยุดรับประทานอาหารเสริมจากสารสกัดจากเมล็ดองุ่น เพราะจะทำให้เลือดออกง่ายไหลไม่หยุด
• หากจะรับประทานอาหารเสริม ที่ทำจากสารสกัดเมล็ดองุ่น ให้ได้ผลดี ควรทาน ก่อนอาหารเช้า และก่อนเข้านอน(ตอนท้องว่าง) จะได้ผลดีที่สุด
• จำเป็นที่ต้องพิจารณาปริมาณของสารเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพที่เหมาะสม ซึ่งโดยปกติแล้ว สารสกัดจากเมล็ดองุ่นควรมีปริมาณสาร POC อยู่ที่ประมาณ 92-95%
ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ว่า การรับประทานสารสกัดจากเมล็ดองุ่นจะทำให้เกิดผลข้างเคียงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สาร OPC ภายในเมล็ดองุ่น อาจจะทำให้เกิด “อาการโลหิตแข็งตัวช้า” เนื่องจากความเข้มของเลือดลง ตนทำให้เกิดอาการเลือดไหลไม่หยุดได้ ถ้าหากใช้ร่วมกับยาละลายลิ่มเลือด ดังนั้น ผู้ที่กำลังใช้ยาละลายลิ่มเลือดอยู่ หรือมีปัญหาเลือดแข็งตัวช้า ควรทำการปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้สารสกัดจากเมล็ดองุ่น รวมไปถึงเด็กและสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานสารสกัดจากเมล็ดองุ่น

เอกสารอ้างอิง

1. ธีรพงษ์ ขันทเจริญ , อรพิน เกิดชูชื่น , ณัฎฐา เลาหกุลจิตต์.ประสิทธิภาพการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจากสารสกัดจากสกัดเปลือกและเมล็ดขององุ่นพันธ์ คาร์ดินัล.วารสาร วิทยาศาสตร์เกษตร.ปีที่ 41 ฉบับที่ 3/1 (พิเศษ) กันยายน – ธันวาคม หน้า 617 – 619
2. Malovana, S., Garcia Montelongo, F.J., Perez, J.P. and Rodriguez-Delgado, M.A., 2001, Optimisation of Sample Preparation for the Determination of trans-Resveratrol and Other Polyphenolic Compounds in Wines by High Performance Liquid Chromatography, Analytica Chimica Acta, 428: 245–253
3. Poudel, P.R., Tamura, H., Kataoka, I. and Mochioka, R., 2008, Phenolic Compounds and Antioxidant Activities of Skins and Seeds of Five Wild Grapes and Two Hybrids Native to Japan, Journal of Food Composition and Analysis, 21: 622-625.
4. ปวีณ ปุณศรี.2504.องุ่น.พิมพ์ครั้งที่ 2.สโมสรพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.กรุงเทพฯ.
5. Chadha and S. D. Shikhamany. 1999. The Grape: Improvement, Production and Postharvest Management. Malhotra Publishing House, New Delhi, India.
6. FAO.2006. FAO:Statistics. Available Source:
7. ชณิศา พานิช.ประสิทธิผลของการรับประทาน โอพีซีสารสกัดจากเมล็ดองุ่นและวิตามินซี เปรียบเทียบกับวิตามินซี เพียงอย่างเดียวในการลดริ้วรอยอาสาสมัครเพศหญิงที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กรุงเทพมหานคร.สาขาวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
8. ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงษ์, ศาตรจารย์เกียรติคุณ ดร.นิธิยา รัตนาปนนท์.สารสกัดจากเมล็ดองุ่น.ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร.
9. ผู้จัดการออนไลน์.นักวิจัยจุฬาฯ เผยสารสกัดเมล็ดองุ่นช่วยลดน้ำตาลในเลือด (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.manager.co.th/Campas/ViewNews.aspx?NewsID=9550000133793
10. นาย อภิรัต มณฑา คณะวนศาสตร์ สาขาวิทยาเทคโนโลยีเยื่อและกระดาษ.ลักษณะทั่วไปขององุ่น(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://pirun.ku.ac.th
11. วิตามินไบเบิล.ดร.เอิร์ล มินเดลล์.เขียน.พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล แปล.สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ.หน้า 251