โรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ (Allergy)

1.  โรคภูมิแพ้คืออะไร โรคภูมิแพ้ (Allergy)  คือโรคที่เกิดจาการตอบสนองของร่างกายมากผิดปกติต่อสิ่งกระตุ้นบางชนิด จึงทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้นั้น  ซึ่งจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอาการไวผิดปกติต่อสิ่งที่สามารถก่อให้เกิดภูมิแพ้ ซึ่งธรรมชาติสารเหล่านี้อาจไม่ก่อให้เกิดภูมิแพ้กับคนปกติทั่วไป โดยโรคภูมิแพ้เกิดได้ทุกเพศทุกวัย เด็กอายุ 5 ถึง 15 ปี มักพบว่าเป็นบ่อยกว่าช่วงอายุอื่นๆ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่โรคแสดงออกหลังจากได้รับ “สิ่งกระตุ้น” มานานเพียงพอ อย่างไรก็บางคนอาจเริ่มเป็นโรคภูมิแพ้ตอนเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ได้ โรคภูมิแพ้ (Allergy)   เป็นโรคที่พบบ่อยทั่วโลกและในประเทศไทย จากการสำรวจในประเทศ ไทยพบว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้น 3 - 4 เท่าภายในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา  จากรายงานการเกิดภาวะภูมิแพ้ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จำนวนประมาณ 10-15 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก 3-4 เท่าภายใน 5 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ ชนิดของโรคภูมิแพ้ สามารถแบ่งได้เป็น 4 โรค คือ

·         โรคหืด (Asthma)

·         โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) หรือ โรคแพ้อากาศ

·         โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic conjunctivitis)

·         โรคผื่นภูมิแพ้ (Atopic eczema)

2.  สาเหตุของโรคภูมิแพ้โรคภูมิแพ้ เกิดจากการที่ร่างกายผลิตภูมิคุ้มกันเพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอมที่รับเข้ามา ด้วยการขับสารตัวกลางออกมาต้านสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้น กล่าวคือ จะสร้างโปรตีนอีกชนิดหนึ่งขึ้นมา (ทางแพทย์เรียกว่า อิมมูนโนโกบูลิน-อี) ซึ่งมีคุณสมบัติชอบจับกับเซลล์พิเศษ 2 ชนิด คือ มาสต์เซลล์ และเม็ดเลือดขาวชนิดเบโซฟิล และสารตัวกลางนั้นก็ก่อให้เกิดการอักเสบและอาการแพ้แก่ร่างกายด้วย การเกิดโรคภูมิแพ้เป็นเหตุมาจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำงานมากเกินไป ทำให้เกิดอาการแพ้ต่อบางสิ่งที่อาจไม่เป็นอันตรายต่อคนทั่วไป แต่เป็นอันตรายต่อตัวบุคคลที่แพ้เท่านั้น    สารที่ร่างกายรับเข้ามาและกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ในลักษณะต่าง ๆ เรียกว่า สารก่อภูมิแพ้โดยร่างกายจะมีปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้ด้วยการแสดงอาการแพ้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ตามชนิดของโรคภูมิแพ้ชนิดต่างๆ โดยสารภูมิต้านทานซึ่งเป็นโปรตีนที่อยู่ในเลือด มีหน้าที่คอยป้องกัน รวมทั้งขจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ทำปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้บางชนิดที่ผู้ป่วยแพ้อาทิเช่น ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาหารส่วนใหญ่ มักแพ้อาหารจำพวกไข่ นม ถั่ว ปลาและอาหารทะเล การแพ้อาหารจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีร่างกายแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ในอาหารชนิดนั้นเท่านั้น ผู้ที่ไม่ได้ป่วยจะไม่ปรากฏอาการแพ้   สารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยจากภูมิแพ้จมูกหรือภูมิแพ้อากาศ มักมาจากไรฝุ่น เชื้อรา หญ้า ละอองเกสร ขนสัตว์ ที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศและเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ  สารก่อภูมิแพ้ที่เข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังมีหลายชนิด เช่น สารเคมีจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ถุงมือยาง ยาย้อมสีผม โลหะ เงิน หรือแม้แต่ผงฝุ่นหรือเชื้อโรคที่ลอยปะปนอยู่ในอากาศ   ส่วนภูมิแพ้ตา มักเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ประเภทไรฝุ่น ควัน สารเคมี ละอองเกสร ขนหรือสะเก็ดผิวหนังของสัตว์ที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศและกระแสลม เข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุดวงตา ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและมีอาการแพ้ที่แสดงออกทางดวงตาในหลายรูปแบบเป็นต้น

ตัวอย่าง กลไกการเกิดภูมิแพ้ โรคภูมิแพ้ที่มีสาเหตุจากฝุ่นและควัน มักเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน โดยสิ่งที่เราแพ้ในฝุ่นคือโปรตีนนั่นเอง ซึ่งคล้ายคลึงกับกลไกการแพ้อาหารในบางคน เช่น แพ้กุ้ง เนื่องจากโปรตีนบางอย่างในเนื้อหรือเปลือกกุ้ง ทั้งนี้ ในครั้งแรกที่รับฝุ่นดังกล่าวเข้าไป ร่างกายจะยังไม่แพ้ แต่ระบบภูมิคุ้มกันจะเรียนรู้ว่าโปรตีนซึ่งเป็นส่วนประกอบของฝุ่นดังกว่างนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอก และจากนั้นจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนชนิดดังกล่าว (lgE) เมื่อได้รับฝุ่นประเภทเดียวกันในครั้งถัดไป โปรตีนในฝุ่นจะเข้าไปจับกับ (lgE) ซึ่งอยู่บนเม็ดเลือดขาว ทำให้เม็ดเลือดขาวนี้แตกออกและปล่อยสารชนิดหนึ่งเรียกว่าฮีสตามีน (Histamine) ออกมา ส่งผลให้เยื่อบุจมูก เยื่อบุตา ลำคอ เกิดการอักเสบ บวม และสร้างเมือกออกมามากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และคันจมูกตามมา

ทั้งนี้ สาเหตุที่เกิดโรคภูมิแพ้เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันมีปฏิกิริยาที่ไวเกินไปในการตอบสนองสิ่งแปลกปลอมแบบผิดปกติทั้งๆ ที่สิ่งแปลกปลอมนั้นไม่มีอันตรายต่อร่างกาย แต่เป็นความเข้าใจผิดของร่างกายที่คิดว่าสิ่งแปลกปลอมบางอย่างเป็นอันตรายจึงมีปฏิกิริยาตอบสนอง โดยการผลิตภูมิต้านทางขึ้นเพื่อกำจัดและทำลายสิ่งแปลกปลอมนั้น และแทนที่สารภูมิต้านทานที่ร่างกายผลิตขึ้นจะเป็นเครื่องป้องกันร่างกาย กลับกลายเป็นสิ่งกระตุ้นให้ร่างกายเจ็บปวดเอง จึงทำให้เกิดอาการแพ้นั่นเอง

3.  อาการของโรคภูมิแพ้เราสามารถแบ่งอาการของโรคภูมิแพ้ตามระบบอวัยวะที่แสดงอาการได้ 6 อย่าง คือ

·         อาการแพ้ทางตา เรียกว่า เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic conjunctivitis) ผู้ป่วยจะมีอาการคันและเคืองตา  ตาแดง  น้ำตาไหล  หนังตาบวม  แสบตา

·         อาการแพ้ทางจมูก เรียกว่า โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic rhinitis) หรือโรคแพ้อากาศ ผู้ป่วยจะมีอาการจาม  คันจมูก  น้ำมูกไหลออกมาทางจมูก หรือไหลลงคอ  คัดจมูก  คันเพดานปากหรือคอ

·         อาการแพ้ทางหลอด เรียกว่า โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคหอบหืด (asthma) ผู้ป่วยจะมีอาการ ไอ หอบเหนื่อย หายใจขัด แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด หายใจลำบากหรือหายใจเร็ว โดยเฉพาะเวลาตอนกลางคืน   ตอนเช้ามืด หรือขณะออกกำลังกาย  หรือขณะเป็นไข้หวัด

·         อาการแพ้ทางผิวหนัง เรียกว่า โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (atopic dermatitis) ผู้ป่วยจะมีอาการคัน  มีผดผื่นตามตัว  ผื่นมักแห้ง แดง มีสะเก็ดบางๆ หรือมีน้ำเหลืองแห้งกรังปกคลุมอยู่  ในเด็กเล็ก มักเป็นที่แก้ม, ก้น, หัวเข่าและข้อศอก  ในเด็กโตมักเป็นที่ข้อพับของแขนและขา  ในรายที่เป็นเรื้อรัง ผิวหนังบริเวณที่เป็นจะหนาตัวขึ้นและมีสีคล้ำขึ้น    นอกจากนั้นผิวหนังอาจเกิดการอักเสบจากการสัมผัสกับสารบางชนิดที่แพ้ได้ เช่น ผงซักฟอก  เครื่องสำอาง    ผิวหนังอาจมีการอักเสบเป็นตุ่มนูนคัน หรือใหญ่เป็นปื้นนูนแดง และคันมากที่เรียกว่า ลมพิษ  ซึ่งมักจะเกิดจากการแพ้อาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเล หรือ แพ้แมลงกัดต่อย หรือแพ้ยา

·         อาการแพ้ ทางเดินอาหาร เรียกว่า โรคแพ้อาหาร (food allergy) ผู้ป่วยจะมีอาการ อาเจียน  คลื่นไส้  ท้องเสีย ปากบวม  ปวดท้อง  ท้องอืด อาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจ (เช่น หอบหืด, แพ้อากาศ) และผิวหนัง (เช่น ผื่นคัน, ลมพิษ) ร่วมด้วย  อาหารที่เป็นสาเหตุได้บ่อย ได้แก่ นมวัว ไข่ ถั่ว อาหารทะเล ผักและผลไม้บางชนิด ผงชูรส สารกันบูด สารแต่งกลิ่นและสี

·         อาการช็อกจากภูมิแพ้  อาการภูมิแพ้ชนิดนี้ถือว่าน่ากลัวและรุนแรงที่สุด มักเกิดจากการแพ้สารหรือยาที่ฉีดมากกว่า แต่อาจแพ้สารหรือยาที่กินเข้าไป หรือยาที่นำมาทาผิวหนังก็ได้ ซึ่งพบน้อยกว่า การรักษาทำได้ไม่ยาก ถ้าพบแพทย์ทันท่วงที แต่ถ้าเป็นรุนแรงมาก หรือรักษาไม่ทันอาจถึงแก่ชีวิตได้

4.  ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ทางพันธุกรรม หากพ่อหรือแม่เป็นโรคนี้ เปอร์เซ็นต์ที่ลูกจะเป็น 30% แต่หากทั้งพ่อและแม่เป็น ลูกมีสิทธิ์เป็นถึง 50% โดยมีการศึกษาวิจัยและมีหลักฐานหลายอย่างที่ทำให้เชื่อว่า โรคนี้ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เพราะถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ร้อยละ 30 ถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้เพียงคนเดียว ลูกมีโอกาสเป็นภูมิแพ้ได้ร้อยละ 25 แต่ถ้าพ่อแม่ไม่มีใครเป็นเลย ลูกมีโอกาสเป็นร้อยละ 12.5 พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าพ่อและแม่เป็นภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นภูมิแพ้สูงกว่าเด็กอื่นถึง 2-4 เท่าเลยทีเดียว สัมผัสสารก่อภูมิแพ้ คือ สารที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการของโรคภูมิแพ้ซึ่งอาจเป็นสารที่ร่างกายได้รับโดยการ ฉีด กิน หายใจ สัมผัส หรือ ถูกกัดต่อยบนผิวหนังก็ได้ มีทั้งสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน (เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ เศษผิวหนังและขนของสัตว์เลี้ยง เชื้อรา ควันบุหรี่) และสารก่อภูมิแพ้นอกบ้าน (เช่น ฝุ่นในที่ทำงาน เกสรดอกไม้ ควันต่างๆ) นอกจากนี้ อุณหภูมิของอากาศก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของอาการภูมิแพ้ อากาศหนาวเย็นจะทำให้มีอาการแพ้ง่ายขึ้นซึ่งสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้จะเข้าไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้ก่อเป็นภูมิแพ้ขึ้นได้

5.  แนวทางการรักษาโรคภูมิแพ้ การวินิจฉัยโรค
ซักประวัติ โดยอาศัยลักษณะเฉพาะของอาการ เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้และแพทย์จะถามถึงโรคภูมิแพ้อื่นๆ (atopic diseases) และอาการของโรคเหล่านั้น ที่ผู้ป่วยอาจเป็นด้วย เช่น โรคหอบหืด โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ นอกจากนี้จะถามเรื่อง อาชีพ สัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อม ของผู้ป่วยทั้งที่บ้านและที่ทำงานรวมทั้งสารที่ผู้ป่วยคิดว่าตนแพ้ ประวัติครอบครัวก็มีส่วนช่วยในการวินิจฉัยโรค โดยผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาจมีพ่อ แม่ หรือญาติพี่น้อง เป็นโรคนี้ได้

ตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจร่างกายภายนอกว่ามีอาการแสดงใดบ้างที่บ่งชี้ถึงโรคภูมิแพ้ ได้แก่ ตรวจตา จมูก ลำคอ ช่วงอก และผิวหนังทั่วไป ในบางรายอาจต้องตรวจการทำงานของปอดด้วยเครื่องเป่าลม หรืออาจต้องเอกซเรย์เพื่อดูการทำงานของปอดร่วมด้วย

การหา IgE ที่ผิวหนัง  โดยการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (allergy skin test) จะช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้ป่วยแพ้ ทำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงได้ถูกต้อง และให้ข้อมูลในกรณีที่ต้องรักษาผู้ป่วยด้วยวิธี immunotherapy การตรวจวิธีนี้เป็นวิธีที่มีความไวและความจำเพาะสูงสุด ในการตรวจวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ มี 2 วิธีคือ

·         Skin prick test ใช้น้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ หยดลงบนผิวหนังที่แขน แล้วใช้เข็มสะกิดตรงกลางหยดน้ำยา เพื่อเปิดผิวหนังชั้นบนออก ถ้าผู้ป่วยมี IgE ที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้นั้น ก็จะเกิดปฏิกิริยา allergic inflammation ขึ้นโดยเกิดรอยนูน (wheal) และผื่นแดง (flare) อ่านผลได้ในเวลา 20 นาที หลังการทดสอบ

·         Intradermal test ใช้น้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ จำนวน 0.02 มล.ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง ให้เกิดรอยนูนที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 ม.ม.อ่านผลในเวลา 20 นาที หลังฉีดโดยวัดขนาดของรอยนูนที่ขยายใหญ่ขึ้น

·         สารก่อภูมิแพ้ที่นำมาทดสอบ มักเป็นสารก่อภูมิแพ้ ที่พบได้บ่อย เช่น ฝุ่นบ้าน ตัวไรในฝุ่น แมลงต่างๆที่อาศัยในบ้าน เช่น แมลงสาบ และจะมี positive (histamine) และ negative control (carrier substance) ร่วมในการทดสอบด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยไม่ได้แพ้สารที่ใช้ละลายในสารก่อภูมิแพ้ที่นำมาทดสอบ และผิวหนังตอบสนองได้ดีต่อ histamine โดยทั่วไปจะทดสอบโดยวิธี skin prick test ก่อนโดยถือว่าเป็น screening test ถ้าผล skin prick test ให้ผลลบ จึงทดสอบโดยวิธี intradermal test ต่อไป ถ้า skin prick test ให้ผลบวกชัดเจน ไม่จำเป็นต้องทำการทดสอบโดยวิธีintradermal test อีก เพื่อลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิด รon dermal test systemic reaction IgE resuscitationารที่ใช้ละลายในสารก่อภูมิแพ้ที่นำมาทดสอบ และผิวหนังตอบสนองได้ดีต่อ ี ิ่งแวดลsystemic reaction การทดสอบโดยตรวจหา IgE ที่ผิวหนังนี้ ควรมีเครื่องมือเตรียมพร้อมสำหรับ  resuscitation ด้วยเสมอ เผื่อในกรณีเกิด anaphylactic reaction

·         การหาปริมาณ IgE ในเลือด ซึ่งหาได้ทั้ง total IgE คือเป็นระดับของ IgE รวมทั้งหมด ไม่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งหาได้โดยวิธี Paper Radio – Immunosorbent Test (PRIST) และหา specific LgE คือหาระดับ IgE ที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด ซึ่งหาโดยวิธี Radio Allergosorbent test (RAST) การหา total IgE ไม่ช่วยมากนักในการวินิจฉัยโรค ส่วนการหา specific IgE เป็นที่นิยมในต่างประเทศ เนื่องจากไม่เสี่ยงต่อ systemic reaction ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องงดยา ไม่ต้องใช้เวลาของผู้ป่วยนานในการทดสอบ ไม่เหมือนการทำ skin test ทำให้สะดวกเพียงแค่เจาะเลือด 1 ครั้ง หาสารที่ผู้ป่วยแพ้ได้หลายชนิด แต่ในประเทศไม่นิยมใช้ เนื่องจากมีราคาแพง

·         X-ray sinus เพื่อดูว่าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ มีโรคไซนัสอักเสบร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย และควรทำทุกราย จากการศึกษา plain film sinus ในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ที่ รพ.ศิริราช จำนวน 356 ราย พบว่ามีพยาธิสภาพเกิดขึ้นที่ sinus ถึงร้อยละ 40

 การรักษาโรคภูแพ้ อาจแบ่งได้เป็น 3 วิธี คือ

·         การใช้ยาในการรักษา ขณะนี้มียารักษาอาการของโรคภูมิแพ้หลายสิบชนิด แต่พอจะแบ่งประเภทได้ 4 ประเภท คือ

ยาแก้แพ้ (แอนติฮิสตะมีน) ที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดี คือ คลอร์เฟนิรามีน (ยาแก้แพ้เม็ดสีเหลือง จริงๆ แล้วมีหลายสีแล้วแต่บริษัทผลิต) ปัจจุบันมียาแก้แพ้ผลิตออกมากว่า 30 ชนิด ราคาตั้งแต่เม็ดละไม่กี่สตางค์จนถึง 7-8 บาท เชื่อว่าประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่กินแล้วง่วง คอแห้ง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมียารุ่นใหม่ๆ ที่กินแล้วไม่ง่วงและมีฤทธิ์แก้แพ้ได้นาน โดยกินเพียงวันละ 1-2 ครั้งก็พอ แต่ข้อเสียคือ ราคายังแพงอยู่ ยานี้ใช้รักษาอาการคันจมูก จาม ลดน้ำมูก และรักษาลมพิษผื่นคัน

ยาแก้คัดจมูก มักเป็นยาทำให้เส้นเลือดฝอยหดตัว และทำให้น้ำมูกลดลง คนไข้จึงรู้สึกสบายขึ้น มีทั้งยากินและยาพ่น แต่ยาพ่นมีปัญหา คือ เมื่อใช้แล้วในระยะแรกจะได้ผลดี แต่ถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ จะทำให้ดื้อยาและเป็นมากขึ้นได้ จึงควรใช้ในระยะสั้นๆ เท่านั้น

ยาขยายหลอดลม (ยาแก้หืด) สำหรับคนที่แพ้จนมีอาการเป็นหืด มีทั้งยากิน ยาฉีด และยาพ่นโดยทั่วไปยังนิยมใช้ยากิน  ส่วนยาพ่น ในต่างประเทศเป็นที่ยอมรับกันมาก ส่วนในเมืองไทยกำลังเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ข้อดีคือ มีผลข้างเคียงน้อย ไม่ดูดซึมเข้ากระแสเลือดและออกฤทธิ์รวดเร็ว แต่มีข้อเสียคือ ก่อนใช้ต้องมีการสาธิตวิธีใช้อย่างถูกต้อง มิฉะนั้นจะไม่ได้ผล ส่วนยาฉีดจะใช้กรณีที่หอบมากและกินยา พ่นยาแล้วไม่ได้ผล

ยาป้องกันภูมิแพ้ มีทั้งยากินและยาพ่น ยากินป้องกันภูมิแพ้ได้ผลในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ส่วนยาพ่นบางชนิดมีประโยชน์ในผู้ใหญ่ด้วย

·         การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น จัดห้องนอนและบ้านให้ง่ายต่อการขจัดฝุ่นหรือมีฝุ่นน้อยที่สุด วิธีการหลักๆ ก็คือ อย่าให้บ้านรก มีเฟอร์นิเจอร์เท่าที่จำเป็น เฟอร์นิเจอร์ควรเป็นไม้ พลาสติก หรือหุ้มเบาะหนัง ไม่ควรบุนวม หุ้มผ้า เพื่อจะได้ลดฝุ่นและทำความสะอาดง่าย พื้นควรเป็นพื้นธรรมดาหรือไม้ขัดเงา ไม่ควรปูพรม การทำความสะอาดพื้น ควรใช้ผ้าชุบน้ำถูหรือเช็ด หรือใช้เครื่องดูดฝุ่น ไม่ควรใช้ไม้ปัดกวาด แต่อาจให้ผู้อื่นปัดกวาดขณะที่คุณไม่อยู่ก็ได้ ไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงเข้าในบ้าน คนที่แพ้ไรฝุ่น ควรหุ้มที่นอนด้วยหนังหรือพลาสติก (ก่อนนอนคลุมด้วยผ้าปูที่นอนอีกชั้นหนึ่ง) จะได้ใช้น้ำอุ่นเช็ดทุกครึ่งเดือนหรือหนึ่งเดือนได้ ควรใช้หมอนชนิดใยสังเคราะห์และซักน้ำร้อนทุกหนึ่งเดือนเป็นอย่างน้อย การตากแดดไม่ได้ฆ่าไรฝุ่นแต่อย่างใด ไม่ควรปลูกต้นไม้ดอกไม้ในห้องนอน เพราะเป็นแหล่งชื้นแฉะอย่างหนึ่ง ควรขจัดเพื่อลดปริมาณเชื้อรา หน้ากากเครื่องแอร์ที่ชื้นแฉะหรือผนังที่ชื้น ควรใช้น้ำยาไลซอลเพื่อขจัดเชื้อรา การหลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองต่างๆ ก็มีความสำคัญ คือ ควันบุหรี่ ควันไฟ และกลิ่นฉุนทั้งหลาย

·         วิธีภูมิคุ้นกันบำบัด (Immuno therapy)หรือการฉีดวัคซีน หากพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้อย่างเต็มที่แล้ว รวมทั้งกินยารักษาอาการที่แพ้ต่างๆ แล้วอาการยังเป็นอยู่มาก หรือต้องใช้ยาหลายตัว แพทย์อาจพิจารณาแนะนำให้ฉีดวัคซีนภูมิแพ้ จุดประสงค์ของการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ ก็คือ ต้องการปรับเปลี่ยนสภาพการตอบสนองของร่างกายจากภูมิแพ้ให้กลายเป็นมีภูมิต้านทานแพ้แทน วิธีการฉีดวัคซีนภูมิแพ้มีว่าหลังจากทดสอบทางผิวหนังจนทราบแล้วว่าแพ้อะไรบ้าง แพทย์ก็จะนำสารสกัดที่แพ้มาฉีดเข้าใต้ชั้นผิวหนัง โดยเริ่มจากขนาดต่ำๆ และค่อยๆ เพิ่มขนาดและปริมาณมากขึ้น โดยช่วงแรกฉีดทุกหนึ่งสัปดาห์จนถึงขนาดเหมาะสม ต่อไปจะฉีดห่างออกไปเรื่อยๆ จากทุกหนึ่งสัปดาห์ในที่สุดเป็นทุกเดือนถึงเดือนครึ่ง  เมื่ออาการแพ้ดีขึ้นมากและลดขนาดยากินต่างๆ ได้ แสดงว่าได้ผล ซึ่งมักต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือนกว่าจะเห็นผล ต่อไปจะฉีดทุก 1-2 เดือนจนครบ 3-4 ปี (เฉลี่ยแล้วฉีดปีละ 6-12 ครั้งเท่านั้น) ท่านใดที่อาการแพ้หายไป และหยุดยาต่างๆ ได้ เมื่อครบกำหนด 3-4 ปี แพทย์จะพิจารณาหยุดฉีดยาในที่สุด

6.  การปฏิบัติตนเมื่อเป็นโรคภูมิแพ้

·         ใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นขณะทำงานกับฝุ่นละออง

·         ทำความสะอาด เอาวัตถุที่ไม่จำเป็นออกจากห้องทำงานและห้องนอนให้มากทีสุด ในห้องนอนควรมีเครื่องตกแต่งน้อยชิ้นที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งเก็บฝุ่น

·         ในกรณีแพ้ไรฝุ่น ควรทำความสะอาดเครื่องนอน (ที่นอน หมอน ผ้าห่ม) โดยซักด้วยน้ำร้อน 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15-20 นาที อย่างน้อยทุก 2 สัปดาห์

·         ควรตัดหญ้า หรือ วัชพืชบริเวณบ้านบ่อยๆเพื่อลดจำนวนเกสรและสารก่อภูมิแพ้ในวัชพืชและดอกไม้

·         ไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขนในบ้าน เช่น สุนัข แมว นก

·         กำจัดเศษอาหารและขยะต่างๆ รวมทั้งปิดฝาท่อระบายน้ำเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงสาบ

·         ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศบ่อยๆ และใช้แบบที่มีเครื่องกรองอาการชนิด HEPA filter (High Efficiency Particulate Air Filter)

·         ระวังไม่ให้บ้าน ห้องน้ำ อับชื้น และไม่ควรปลูกต้นไม้ในบ้านเพาะทำให้เชื้อราเติบโต

·         หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีควันบุหรี่ ควันไฟ และบริเวณที่มีฝุ่นมาก

·         ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ หากมีอาการหอบเหนื่อยเวลาออกกำลังกาย ควรสูดยา ป้องกันอาการหอบก่อน

·         ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง เพราะบางชนิดถ้าใช้ต่อเนื่องนานอาจมีอันตรายได้

7.  การติดต่อของโรคภูมิแพ้ เนื่องจากโรคภูมิแพ้เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากการทำงานที่ผิดปกติที่ไวต่อสารก่อภูมิแพ้ของภูมิคุ้มกันในร่างกายของบางคนเท่านั้น จึงไม่มีการติดต่อจากคนสู่คนและจากสัตว์สู่คน (แต่มีการสืบทอดทางกรรมพันธุ์ได้)

8.  การป้องกันตนเองจากโรคภูมิแพ้   เป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดโรค คือการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพประจำปี  และเนื่องจากโรคภูมิแพ้เป็นโรคไม่ติดต่อ และจะเกิดกับผู้ที่ร่างกายแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้เท่านั้น ดังนั้น การป้องกันส่วนใหญ่จึงเป็นวิธีการสำหรับผู้ป่วย เพื่อไม่ให้อาการแพ้นั้นกำเริบรุนแรง  เช่นหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ หากป่วยเป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือเผชิญกับสิ่งที่มีสารที่ตนแพ้ เช่น ผู้ป่วยที่แพ้อาหารทะเล ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ทำมาจากสัตว์ทะเลทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นอาหารแปรรูป อาหารสด หรืออาหารแห้ง ผู้ที่แพ้ฝุ่นควรหลีกเลี่ยงการเดินทางบนท้องถนนที่มีฝุ่นควัน ไม่ลดกระจกลงขณะโดยสารอยู่บนรถ หลีกเลี่ยงการเดินผ่านเขตบริเวณที่มีการก่อสร้าง และดูแลรักษาความสะอาดภายในบ้านและห้องนอน ให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก แสงแดดเข้าถึง เพื่อป้องกันการสะสมฝุ่นและไรฝุ่นที่จะก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ เขียนบันทึก ลงบันทึกประจำวันว่าทำกิจกรรมอะไรหรือรับประทานอะไรแล้วมีอาการอย่างไร เป็นการศึกษาอาการแพ้ รวมถึงให้ทราบสิ่งที่แพ้และสิ่งที่ไม่แพ้ เพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่แพทย์ผู้รักษา และการวางแผนรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป กินยา ยาจะช่วยป้องกันและบรรเทาอาการแพ้ โดยผู้ป่วยภูมิแพ้ต้องกินยาตามที่แพทย์กำหนด ไม่หยุดใช้ยาโดยพลการ เพราะอาจมีผลข้างเคียง มีอาการดื้อยา หรือมีอาการแพ้ที่กำเริบขึ้น  เตรียมการในภาวะฉุกเฉิน สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการแพ้รุนแรง ควรแจ้งอาการป่วยของตนกับบุคคลใกล้ชิด หรือในบางราย แพทย์จะให้ผู้ป่วยพกยาฉีดเอพิเนฟรินสำหรับฉีดรักษาด้วยตนเองหากอาการกำเริบ และเตรียมเบอร์โทรฉุกเฉินที่จำเป็นไว้ในกรณีเร่งด่วนเสมอ

นอกจากนี้ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการต่อไปนี้

·         น้ำมูลไหล คัดจมูก จาม คันจมูกเรื้อรัง

·         ไซนัสอักเสบเรื้อรัง

·         ไอมากหรือเหนื่อยเวลาเป็นหวัด ตอนออกกำลังกาย หรือตอนกลางคืน

·         ผื่นคันเรื้อรังตามผิวหนังส่วนต่างๆ ของร่างกาย

·         เป็นลมพิษบ่อย

·         สัมผัสสารบางอย่างแล้วผื่นขึ้น

·         รับประทานอาหารบางชนิดแล้วมีผื่น น้ำมูกไหล หรือแน่นหน้าอก

·         คันตา แสบตา น้ำตาไหลเรื้อรัง

9.  สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/รักษาโรคหอบหืด

·         ถั่งเช่า มีสรรพคุณลดการติดเชื้อและบรรเทาอาการ อย่าง ไซนัสอักเสบ หอบหืด ถั่งเช่ามีฤทธิ์ในการควบคุมสมดุลของ Allergen-reactive helper T cells Type I และ II ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้มักมีการทำงานของ Type II มากเกินปกติ อันเป็นต้นเหตุของการเกิดโรค นอกจากนี้มีฤทธิ์ลดการจับตัวของสารก่อภูมิแพ้กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การลดกลไกนี้ลงจะทำให้ร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้น้อยลง และยังช่วยลดกระบวนการสร้างอิมมูโนกลอบูลิน ชนิด อี (IgE) +ที่มากเกินไป ซึ่งเป็นสารเคมีที่ร่างกายสร้างขึ้นเมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้และเป็นตัวกระตุ้นให้อาการกำเริบ

·         กระเทียม สารอัลลิซินที่สกัดได้จากกระเทียมมีคุณสมบัติ ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยให้ผู้ป่วยไม่เป็นหวัด ช่วยบำบัดอาการโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง

·         ไพล เหง้าไพลมีน้ำมันหอมระเหย และมีสารให้สี ซึ่งจากการทดลองพบว่ามีฤทธิ์ลดอาการของโรคหอบหืด

·         เห็ดหลินจือ มีสารสำคัญคือ กลุ่มสารโพลีแซ็กคาไรด์ (Polysaccharides) ช่วยกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว เพิ่มสารอิมมูโนโกลบูลิน และ สารอินเตอร์ลิวคินอันเป็นตัวต้านสารที่ทำให้แพ้ และกลุ่มสารไตรเทอร์ปินนอยด์ (Triterpenoids) อันเป็นสารช่วยยั้บยั้งไม่ให้ร่างกายผลิตสาร ฮีสตามีน (Histamine)

·         ขมิ้นชัน เพิ่มภูมิคุ้มกันอิมมูโนโกลบูลิน ชนิดจี (IgG) และลดความไวต่อตัวกระตุ้น ช่วยขยายหลอดลม

10.  รูปแบบและวิธีการนำสมุนไพรที่หาได้ง่ายมาใช้รักษาและบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้

1.ฟ้าทะลายโจร ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอคัดจมูก ให้นำใบฟ้าทะลายโจรสดตากแห้ง บดเป็นผงละเอียด นำมาปั้นเป็นยาลูกกลอน ผึ่งลมให้แห้ง รับประทาน 3-6 เม็ด วันละ 4 ครั้ง 3 เวลา หลังอาหารและก่อนนอน

หรือใช้แคปซูลของผงใบฟ้าทะลายโจร ขนาด 250 มิลลิกรัม จำนวน 2 แคปซูล รับประทานวันละ 4 ครั้งหลังอาหารและก่อนนอน

2.หอมแดง ช่วยทำให้หายใจสะดวก ใช้หัว 2-4 หัว ทุบพอบุบ ห่อผ้าขาวบางวางไว้บนหัวนอนและทานผลสดหรือนำมาต้มใส่เกลือรับประทานทำให้หายใจสะดวกขึ้น

3.กระเทียม ช่วยลดอาการคัดจมูกและอาการไอ โดยนำกระเทียม และขิงสดอย่างละเท่ากันตำละเอียด ละลายน้ำอ้อยสด คั้นเอาน้ำจิบแก้ไอ กัดเสมหะ ทำให้เสมหะแห้ง ตำรายาไทยบางตำรับให้คั้นกระเทียมกับน้ำมะนาวเติมเกลือใช้จิบหรือกวาดคอแล้วอาการไอและคัดจมูกจะดีขึ้น

4.ขิง ช่วยลดน้ำมูก ลดอาการไอเจ็บคอ ใช้เหง้าขิงสดอายุ 11-12 เดือน ขนาดเท่าหัวแม่มือ หนักประมาณ 5 กรัม ทุบให้แตก แล้วต้มเอาน้ำมาดื่ม ถ้ามีอาการไอร่วมด้วยก็อาจผสมน้ำผึ้งในน้ำขิง หรืออาจเหยาะเกลือลงในน้ำขิงเล็กน้อยหากมีอาการไอร่วมกับเสมหะ

เกลือจะทำให้ระคายคอและขับเสมหะที่ติดในลำคอออกมา จิบน้ำขิง บ่อยๆ แทนน้ำ รับรองอาการหวัดหายเป็นปลิดทิ้ง

5.ตะไคร้ ช่วยแก้อาการแน่นอกหายใจไม่ออก ลำต้นสด หรือแห้ง 1 กำมือ หรือน้ำหนักสด 40-60 กรัม แห้ง 20-30 กรัม ทุบต้มกับน้ำพอควร แบ่งดื่ม 3 ครั้ง ๆ ละ 1 ถ้วยชา ก่อนอาหาร แก้อาการหายใจไม่สะดวกได้ดีมาก

 

เอกสารอ้างอิง

1.  ดร.กรรณณิกา แท่นคำ.ฝุ่นกับโรคภูมิแพ้.สำนักความปลอดภัยแรงงาน.กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน.กระทรวงแรงงาน

2.  รศ.พญ.อรพรรณ โพธนุกูล.โรคภูมิแพ้ (Allergy) .หาหมอ.com.ออนไลน์(เข้าถึงได้จาก)http://haammor.com/th.

3.  รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน.โรคภูมิแพ้(ตอนที่1).ภาควิชาโสตนาสิกลาริงซ์วิทยา.คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล.มหาวิทยาลัยมหิดล

4.  Sibbald B.Strachem DP” Epidemiology of rhinitis In: Busse WW, Holgate ST, eds. Asthma and Rhinitis. Boston: Blackwell Scientific Publications, 1995:32-43.

5.  โรคภูมิแพ้ (Allergy) พบแพทย์.com.ออนไลน์(เข้าถึงได้จาก)http://www.pobpad.com

6.  Bunnag C, Khanjanasthiti P, Dorranintra B. The incidence B. The incidence of sinus involvemet in allergic rhinitis in Thai patients. In: Takahashi R, ed Proceeding international symposium of infection and allergy of the nose and paranasal sinuses. Tokyo: Scimed Publications, 1977:273-277.

7.  ผศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน. โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) .สาขาวิชาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้.ภาควิชาโสตนาสิก ลาริซ์วิทยา.คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล.มหาวิทยาลัยมหิดล

8.  นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม.ข่าวล่าน่าสนสำหรับผู้ใช้ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วงเป็นประจำ.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่132.คอลัมน์อื่นๆ.เมษายน.2533

9.  Naclerth P, Feather LH, Howarth PH, et al. Inflammators in the late antigen-induced rhinitis. N Eng J Med 1985;313:65-70.

10.  Mc Devitt HO. Benacerraf B. Genetic control of specific immune responses. Adv Immunol 1969;11:31-74.