กระทิง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กระทิง งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระทิง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สารกีแนน (ภาคเหนือ), นอ (ภาคอีสาน), ทิง, ทึง, ถาทึง (ภาคใต้), กระทึง, กากะทิง, กากะทึง (ภาคกลาง), สารภีทะเล (ประจวบคีรีขันธ์),เนาวการ (น่าน), ไท่กว๋อโฮว่เขอ (จีน) 
ชื่อวิทยาศาสตร์ Calophyllum inophyllun Linn.
ชื่อสามัญ Alexandrian laurel, Indian laurel, Laurel wood, Berneo mahogany
วงศ์ CLUSIACEAE GUTTIFERAE

ถิ่นกำเนิดกระทิง

กระทิง จัดเป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชียชนิดหนึ่งโดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมบริเวณเอเชียใต้ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณประเทศ อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่สามารถพบได้มากบริเวณภาคใต้ บริเวณชายป่าใกล้ทะเล และป่าดงดิบ ใกล้ชายฝั่ง

ประโยชน์และสรรพคุณกระทิง

  1. ช่วยขับปัสสาวะในโรคหนองใน
  2. แก้บวม
  3. เป็นยาระบาย
  4. ใช้ขับปัสสาวะ
  5. ใช้ทาแผล
  6. ใช่ขับอาเจียน
  7. ช่วยสมานพอกทรวงอกแก่วัณโรคปอด
  8. แก้แผลอักเสบเรื้อรัง
  9. แก้เมาเย็น
  10. แก้ตาแดง ตาฝ้า ตามัว
  11. แก้โรคริดสีดวงทวาร
  12. แก้ปวดข้อ
  13. แก้ผื่นคัน
  14. แก้โรคผิวหนัง
  15. แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  16. ช่วยแก้อาการปวดประจำเดือน
  17. แก้หิด
  18. แก้เหา
  19. แก้อาการเคล็ดขัดยอก
  20. ใช้เป็นยาชูกำลัง
  21. แก้อาการหัวใจเต้นผิดปกติ
  22. แก้กลาก
  23. ช่วยบำรุงหัวใจ

ต้นกระทิง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้กระทิง

ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้อาการหัวใจเต้นผิดปกติ ใช้เป็นยาชูกำลัง โดยใช้ดอก และใบกระทิง แห้งมาปรุงเป็นยาหอม ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบายอย่างรุนแรง ขับปัสสาวะ อาเจียน โดยใช้ยางจากต้นมารับประทาน ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติและช่วยแก้อาการปวดประจำเดือน โดยใช้ดอกและใบแห้ง 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ขับปัสสาวะในโรคหนองใน แก้บวม ใช้เป็นยาระบาย โดยใช้เปลือกต้นแห้ง 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้อาการตาแดง ตาฝ้า ตามัว โดยใช้ใบตำกับน้ำสะอาดล้างตา ใช้ชำระล้างบาดแผล โดยใช้เปลือกต้น หรือ รากสด 20-30 กรัม มาต้มกับน้ำใช้ชำระล้างบาดแผล ใช้แก้อาการปวดข้อ แก้อาการเคล็ดขัดยอก แก้บวมได้ โดยใช้น้ำมันจากเมล็ดมาทาถูนวดบริเวณที่เป็น ใช้แก้หิดและกลากเกลื้อน แก้โรคผิวหนัง แก้หิด แก้เหา โดยใช้น้ำมันจากเมล็ดมาทาบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของกระทิง

กระทิง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ แตกพุ่ม ไม่เป็นระเบียบ สูง 8-20 เมตร ลำต้นสั้น บิดแตกเป็นกิ่งใหญ่ๆ จำนวนมากทั้งในแนวตั้ง และแนวนอน หรือห้อยลงเปลือกเรียบสีน้ำตาลปนเทา หรือ ค่อนข้างดำ เมื่อลำต้นแก่จะแตกเป็นร่อง ภายในน้ำยางสีเหลืองใส จำนวนมากเปลือกในสีชมพู แก่นไม้สีน้ำตาลอมแดง ส่วนบริเวณตายอดเป็นรูปกรวยคว่ำ มีขนสีน้ำตาลแดงประปราย

           ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปรี หรือรูปไข่กลับแกมขอบขนาน สีเขียวเข้ม กว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนาและแข็งผิวใบเกลี้ยงเป็นมันเคลือบ ท้องใบเรียบสีเขียวอ่อน มีเส้นแขนงใบถี่ ส่วนเส้นกลางใบนูนเป็นร่องทางด้านหลังใบ ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลและแห้ง มีก้านยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร

           ดอก ออกเป็นช่อสีขาวมีกลิ่นหอม โดยจะออกเป็นช่อตามง่ามใบ และปลายกิ่ง ซึ่งจะมีดอกย่อยช่อละ 5-8 ดอก เมื่อดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร กลับดอกมี 4 กลีบรูปไข่กลับ หรือรูปช้อน ขอบงอ กว้าง 7-8 มิลลิเมตร ยาว 9-12 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้สีเหลืองจำนวนมาก รังไข่ค่อนข้างกลม สีชมพู ก้านเกสรเพศเมียยาว ส่วนกลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ ยาว 2.7-10 มิลลิเมตร ชั้นนอกรูปร่างกลม ค่อนข้างหนา เกลี้ยง ชั้นในรูปไข่กลับคล้ายกลีบดอก

           ผล เป็นผลสดค่อนข้างกลม และฉ่ำน้ำ ผิวผลเรียบปลายกิ่งเป็นติ่งแหลม ผิวผลหนา มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผลสดสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และแดงอมส้มแต่เมื่อผลแห้งจะย่น และเปลี่ยนเป็นสีออกน้ำตาลปนแดง ภายในมีเมล็ดขนาดใหญ่อยู่ 1 เมล็ด ซึ่งเมล็ดมีเปลือกแข็งหุ้มอยู่

ต้นกระทิง 

ผลกระทิง

การขยายพันธุ์กระทิง

กระทิง จัดเป็นไม้ยืนต้นที่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่งแต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันคือ การเพาะเมล็ด ส่วนวิธีการเพาะเมล็ดกระทิง นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้กระทิงเป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบแสงแดดจัด ชอบดินที่มีการระบายน้ำได้ดี เช่น ดินร่วนปนทราย และชอบสภาพความชุ่มชื้นปานกลาง

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของกระทิง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น รากพบสาร Caloxanthone A,B,C,E macluraxanthone และ 6-doxyjacareubin ลำต้นพบสาร calophyllolide ใบและกิ่งพบสาร calanolide A,B inophyllum B,P เมล็ดพบสารกลุ่ม แลคโตนชื่อ calophyllolide, calophyllic acid เปลือก พบสาร tannin และ inophyllic aicd นอกจากนี้พบสารออกฤทธิ์ในกลุ่มซาโปนินที่มีความเป็นพิษในใบของกระทิง คือ hydrocyanin acid อีกด้วย

โครงสร้างกระทิง 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระทิง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของต้นกระทิง ระบุว่า มีการศึกษาวิจัยสารสกัดชั้นน้ำและชั้นเมทานอลของใบและกิ่งต้นกระทิงพบว่า พบสารประเภท คูมินส์ 2 ชนิด คือ inophyllum B, P ที่สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อ HIV-1 และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HIV-1 reverse transcriptase ได้ ส่วนสารสกัดจากเปลือกรากของต้นกระทิงมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย แกรมบวกและมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และสารสกัดจากลำต้นของต้นกระทิงพบว่ามีสาร calophyllolide ซึ่งเป็นสารจำพวก lactone มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและไวรัสจำพวก retovirus ได้อีกด้วย นอกจากนี้มีรายงานว่า การศึกษาวิจัยในต่างประเทศระบุว่าสารสกัดจากเปลือกต้นและเมล็ดมีฤทธิ์ต้านการปวดข้อในสัตว์ทดลองอีกด้วย และยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ป้องกันความดันโลหิตต่ำ สาร caloxanthone E, Caloxanthone C, Caloxanthone A, Caloxanthone B, Macluraxanthone, Caloxanthobe B, 6-doxyjacareubin methyl ether ที่สกัดได้จากรากกระทิง ขนาด 10 มก./กก. เมื่อให้หนูถีบจักรกินจะช่วยป้องกันการเกิดความดันโลหิตต่ำได้ โดยมีฤทธิ์ยับยั้ง platelet activating factor โดยสาร caloxanthone E, 6-dioxyjacareubin จะให้ผลในการยับยั้งสูงที่สุกมากกว่า 60%

การศึกษาทางพิษวิทยาของกระทิง

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

กระทิงจัดเป็นพืชมีพิษชนิดหนึ่งดังนั้นในการใช้จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษซึ่งมีรายงานว่า เมื่อรับประทานราก เปลือก และใบเข้าไปจะมีผลต่อหัวใจ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ยางจากต้นกระทิงมีพิษ มีฤทธิ์ทำให้อาเจียนและมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างรุนแรง ส่วนใบกระทิง มีสาร sponin เมื่อละลายน้ำ แล้วจะให้สาร Hydrocyanic acid ออกมา ซึ่งทำให้เป็นพิษต่อมนุษย์และปลา ดังนั้นในการใช้ควรใช้ในผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

เอกสารอ้างอิง กระทิง 
  1. กระทิง (Kre thing). ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. หนังสือสมุนไพรเล่มที่ 1. หน้า 28.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน.2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กทม. เพื่อนพิมพ์.
  3. เศรษฐมนตรี กาญจนกุล. ไม้มีพิษ กทม. เศรษฐศิลป์ 2552.
  4. วิทยา บุญวรพัฒน์. กระทิง. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร ไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้าที่ 36.
  5. กองโรคเอดส์ กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณะสุข. 2544. แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพ ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พิมพ์ครั้งที่ 2 โรงพิมพ์การศาสนา กทม. 106 หน้า.
  6. พญ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ,รศ.ดร.นิจศิริ เรืองรังษี,อาจารย์กาญจนา ดีวิเศษ.กระทิง. หนังสือสมุนไพรอุทยานแห่งชาติ ภาคกลาง. หน้า 57.
  7. มณรดา ทองรวด และคณะ. พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน และเภสัชวิทยาพื้นบ้านของพืชสมุนไพรไทยจากตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จ.สงขลา. วารสารไทยไภษัยนิพนธ์ ปีที่ 16. ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2564. หน้า 141-164.
  8. Xabthones จากรากกระทิงป้องกันความดันโลหิตต่ำ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. คณะกรรมการโครงการพัฒนาระบบบริการดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์อย่างครบถ้วนและต่อเนื่อ 2545. แนวทางการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์อย่างครบถ้วนและต่อเนื่อง กองโรคเอดส์ กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข 41 หน้า
  10. สารภีทะเล. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=116
  11. Perumal SS, Ekambaram SP, Dhanam T. In vivo antiarthritic activity of the ethanol extracts of stem bark and Calophyllum inophyllum in Freund's complete adjuvant induced arthritis. Pharm Biol. 2017;55(1):1330-6.