นมน้อย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

นมน้อย งานวิจัยและสรรพคุณ 11 ข้อ

ชื่อสมุนไพร นมน้อย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น น้ำเต้าแล้ง,น้ำน้อย,ต้องแล่ง (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Polyyalthai evecta (Pierre) Finet & Gagnep
วงศ์ ANNONACEAE


ถิ่นกำเนิดนมน้อย

นมน้อย จัดเป็นพืชในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณเขตร้อนต่างๆ ของโลก ซึ่งยังไม่ได้มีการชี้วัดว่าเป็นที่ใด มีแต่เพียงรายงานว่า สามารถพบนมน้อยได้บริเวณเขตอบอุ่นและเขตร้อน เช่น ทางภาคตะวันออกของอเมริกาเหนือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเขตร้อนของอเมริกาใต้ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณ ชายป่า ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าชายหาด และป่าละเมาะทั่วไป ที่มีความสูตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 350 เมตร

ประโยชน์และสรรพคุณนมน้อย

  1. ใช้บำรุงน้ำนม
  2. แก้กล้ามเนื้อท้องเกร็ง
  3. แก้ปวดเมื่อย
  4. แก้ร้อนใน
  5. แก้ท้องอืด
  6. แก้ท้องเฟ้อ
  7. ช่วยขับลม
  8. แก้ปวดท้อง
  9. แก้คลื่นใส้อาเจียน
  10. ช่วยลดไข้
  11. ช่วยลดอาการเกร็ง

           นอกจากนี้ตามชนบท ในอดีตเด็กๆ ยังนิยมเก็บผลสุกของนมน้อย มารับประทาน เล่นกันอีกด้วย

ผลนมน้อย

ดอกนมน้อย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ของนมน้อย

ใช้แก้โรคกระเพาะอาหารโดยใช้ราก เข้ายากับเครือไส้ไก่ และตะไคร้ป่าต้มน้ำดื่ม ใช้บำรุงน้ำนมหญิงหลังคลอดโดยใช้รากนมน้อยเข้ากับรากลกคก และรากหุ่นไห้ ต้มน้ำดื่ม ใช้แก้ร้อนใน ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ฝีภายใน แก้กล้ามเนื้อท้องเกร็ง แก้ปวดเมื่อย โดยใช้รากนมน้อยต้มกับน้ำดื่ม นอกจากนี้ยังมีการใช้แก่น หรือ รากนมน้อยมาใช้เป็นยาบำรุงหลังคลอดโดยนำมาเข้ากับสมุนไพรหลายชนิดเช่น แก่นนมสาว Scleropyrum pentandrum Dennst. Mabb. นมวัว Anomianthus dulcis James Sinclair และนมน้อย Polyalthia evecta Pierre Finet&Gagnep. ต้มกินต่างน้ำ


ลักษณะทั่วไปนมน้อย

นมน้อย จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 0.5-1 เมตร แตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบกิ่งก้านเล็ก เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาลดำเปลือกต้นมีช่องแลกเปลี่ยนอากาศจำนวนมาก

           ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปรี กว้าง 2.4 ซม. ยาว 6-12 ซม. โคนใบรูปลิ่ม ปลายใบแหลม ขอบ และผิวใบเรียบด้านบนสีเขียวเข้ม เกลี้ยง ด้านหลังมีขนสั้น ประปราย เส้นกลางใบเป็นร่อง

           ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยว ออกบริเวณซอกใบ ของกิ่งอ่อน หรือ ตามรอยร่วงของใบ ดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงที่มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมบางๆ ผิวด้านในของกลีบเลี้ยงส่วนด้านนอก มีขนสั้นบางสีเหลืองปกคลุม กลีบดอกหนาสีเหลืองมีทั้งหมด 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ แบ่งเป็นกลีบดอกชั้นนอก ซึ่งลักษณะคล้ายกลีบเลี้ยง มีสีเขียวอมเหลือง ส่วนกลีบดอกชั้นในหนาอวบมีสีเหลืองนวล และขนาดใหญ่กว่า กลีบดอกชั้นนอก ภายในดอกประกอบด้วยเกสรเพศผู้ รูปลิ่มจำนวนมากล้อมรอบเกสรเพศเมียซึ่งมีรังไข่อยู่กลางฐานของดอก

           ผล ออกเป็นกลุ่ม มีหลายผลย่อยรวมเป็นช่อ มีก้านช่อยาว 3-4 ซม. ส่วนผลย่อยเป็นรูปทรงกลม ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียวผลแก่สีน้ำตาล ปนแดงและเมื่อสุกจะมีสีแดง สามารถรับประทานได้

ดอกนมน้อย

นมน้อย

การขยายพันธุ์นมน้อย

นมน้อย จัดเป็นไม้พุ่มที่มีการขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง แต่ที่ผ่านมานั้นการขยายพันธุ์มักจะเป็นการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดในธรรมชาติ มากกว่าการขยายพันธุ์โดยมนุษย์ สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่งไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากสารสกัดจากส่วนรากนมน้อย ระบุว่า พบสารที่ออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด ดังนี้ จากการศึกษาสารสกัดชั้นเฮกเซนจากส่วนรากของนมน้อยพบว่าสามารถแยกสารกลุ่ม diynoic acid ใหม่ 4 ชนิด คือ สาร 19-2-furyl nonadeca-5,7-diynoic acid, 19-20furyl nonadeca-5-diynoic acid, 1-2-furyl pentacosa-7,9-diyne และสาร ester 21-2-furyl heneicosa-14,16-diyne-19-2-furyl nonadeca-5,7-diynoate ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่ามีสารออกฤทธิ์เพิ่มเติมอีก 1 ชนิด คือ evectic acid อีกด้วย

โครงสร้างนมน้อย

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของนมน้อย

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยของสารสกัดนมน้อย จากส่วนราก ระบุว่า สาร 19-2-furyl nonadeca-5,7-diynoic acid และสาร 19-2-furyl nonadeca-5-diynoic acid ที่แยกได้จากสารสกัดเฮกเซนจากส่วนรากของนมน้อย มีฤทธิ์ยับยั้งต่อเชื้อโรคเริม เพียงเล็กน้อย ด้วยค่า IC50 เท่ากับ 19.4 ug/ml ตามลำดับ ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่า มีการศึกษาและแยกสารประกอบจากรากของ Polyalthia evecta โดยการสกัดด้วย hexane แล้วนำสารสกัด hexane ไปทำการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพพบว่าสามารถออกฤทธิ์ต้านเชื้อรา Phytophthora palmivora ในพืชได้ นอกจากนี้สารสกัดจากใบด้วยเอทานอล และนำ 50% ของนมน้อย แสดงฤทธิ์ต้านมะเร็ง ในระดับสูงโดยมีความเป็นพิษต่อเซลล์สูง IC50=62.8+- 7.3 ug/ml อีกด้วย

 

การศึกษาทางพิษวิทยาของนมน้อย

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้นมน้อยเป็นสมุนไพร สำหรับบำรุงน้ำนมนั้นส่วนมากจะเป็นการใช้สมุนไพรร่วมกับสมุนไพรชนิดต่างๆ อีกหลายชนิด สำหรับการใช้ในด้านสรรพคุณอื่นๆ ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดต่างๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายา ไม่ควรใช้มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำควรจะใช้นมน้อย เป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง นมน้อย
  1. ประไพรรัตน์ ศรีพลไกร, รัตนาภรณ์ ตรัยสกิตย์. สรรพคุณทางยา สารเมแทบอลิซึมทุติยถูมิและฤทธิ์ทางชีวภาพของพืชสมุนไพรบำรุงน้ำนมบางชนิด. วารสารวิทยาศาสตร์บูรพา ปีที่ 25. ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2563. หน้า 1281-1282.

  2. นมน้อย. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=75

  3. Kumae M., Zhao X., Wang XW. Molecular carcinogenesis of heoatocellular carcinoma and intrahepanic chilangiocaecinoma: One step closer to persernalized medicine? Cell Biosci. 2011;1:5.

  4. Kanokmedhakul, S., Kanokmedhakul K., Kaniykeaw I& Phonkerd N. 2006. 2-Subtituted furans from the roots of polyalthia evacta. Journal of natural Products 69, 68-72.

  5. Tanaka H., Fujita N., Sukimoto R., Urawa N., Horiike S., Konayashi Y, et al. Heoatic oxidative DNA damage is associated with increased risk for hepatocellular carcinoma. BMC Cancer 2006;5:1-6.

  6. Sasipawan machana et al. Asian pacific journal of tropical iomedicine volume 2, Issue 5,May 2012, Pages 368-374.

  7. Sithitawan P, Haswell-elkinsM. Epigdemiology of opisthorchis viverrini. Acta tropica 2003;88:187-194.

  8. Singh G. 2010. Plant systematics an integrated approach. India: Science Publishers.

  9. Park SH., Lee Y, Kwon SY, Kwon OS, Kim SS, et al. systemic chemotherapy eith doxorubicin ciplatin and carpecitabine for metastatic hepatocellular carcinoma. BMC. Cancer. 2006;5:1-6.

  10. Kanokmwhakul S., Hotani I.I. et al. 1998. A diynoic acid from Polyalthia evecta, Phytochemistry. 47:131-133