ย่านางแดง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ย่านางแดง งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ย่านางแดง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เครือขยัน (ภาคเหนือ), เถาขยัน, ขยัน, (ภาคกลาง), สยาน (ลำปาง, ตาก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia Strychnifolia Craib.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Bauhinia Strychnifliavar. pubescens Craib.
วงศ์ LEGUMINOSAE-FABACEAE

ถิ่นกำเนิดย่านางแดง

ย่านางแดงเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในไทย โดยมีการศึกษาและบันทึกเอาไว้ว่าย่านางแดง เป็นพืชถิ่นเดียวในประเทศไทย สามารถพบเจอได้บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสานซึ่งมักจะพบได้บริเวณป่าดิบเขา ป่าแดง ป่าเบญจพรรณที่ค่อนข้างแห้งแล้ง


ประโยชน์และสรรพคุณย่านางแดง

  • ใช้แก้พิษ ถอนพิษ ยาเมา ยาเบื่อ ยาสั่ง
  • แก้ไข้พิษทั้งปวง
  • ถอนพิษผิดสำแดง
  • ช่วยขับพิษโลหิตและน้ำเหลือง
  • ช่วยบำรุงธาตุ
  • ช่วยบำรุงหัวใจ
  • แก้ท้องผูกไม่ถ่าย
  • แก้ไข้กาฬ
  • แก้ไข้หัว
  • แก้ไข้เซื่องซึม
  • แก้ไข้สุกใส
  • แก้ไข้ทับระดู
  • แก้ไข้ป่าเรื้อรัง
  • ช่วยลดพิษยาฆ่าแมลง
  • ใช้เป็นยาบำรุงโลหิต สำหรับสตรีหลังคลอด ขณะอยู่ไฟ
  • ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
  • ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อราได้
  • แก้อาการท้องผูกไม่ถ่าย
  • ช่วยล้างสารพิษหรือสารตกค้าง

           ย่านางแดงถูกนำมาใช้ประโยชน์หลายๆ ด้าน เช่น ยอดอ่อน และใบอ่อนสามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริกลาบ ส่วนเปลือกต้นสามารถนำมาลอกใช้ทำเป็นเชือกได้ และยังมีการนำย่านางแดง มาปลูกเป็นไม้ประดับให้เถาเลื้อยตามซุ้ม หรือ ตมรั้วเนื่องจากมีสีดอกที่งดงาม


รูปแบบและขนาดวิธีใช้ย่านางแดง

ใช้แก้พิษทั้งปวง ยาเบื่อ ยาสั่ง แก้พิษเบื่อเมา เบื่อเมาของเห็ด ถอนพิษยาเมา พิษผิดสำแดง โดยใช้เหง้าต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้อาการท้องผูกไม่ถ่าย โดยใช้เถาหรือรากมาฝนกับน้ำหรือน้ำซาวข้าว ใช้เป็นยาแก้ไข้หรือถอนพิษ ด้วยการต้มทั้งเถา ราก ใบ ของย่านางแดง ใส่น้ำ 3 ส่วน เคี้ยวเหลือ 1 ส่วน ดื่มครั้งละ 120 มล. 3 เวลาก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็น ติดต่อกัน 7 วัน ล้างสารพิษหรือสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงในร่างกาย หรือเกิดอาการแพ้ต่างๆ ด้วยการใช้ใบหรือเถานำมาต้มดื่มเป็นประจำหรือใช้กินแทนน้ำ ก็จะช่วยลดอาการดังกล่าวได้ (ใบ,เถา)

           ใช้เป็นชาในการส่งเสริมสุขภาพ ใช้เถาหรือใบ 1 กำมือ หรือ ขิง แก่ 2-3 แว่น ต้มใส่น้ำ 1.5-2 ลิตร ต้มเดือด 5 นาที ดื่มเป็นชา หรือ ใช้ใบเถาหรือใบ 1 กำมือ ใส่น้ำ 1.5-2 ลิตร ต้มเดือด 5 นาที น้ำย่านางแดง 1 แก้วมาชงกับน้ำผึ้ง 2 ช้อนชา น้ำมะนาว 1-2 ช้อนชา ใช้ล้างสารพิษหรือยาฆ่าแมลงในร่างกาย หรือใช้ล้างสารพิษจากยาเสพติด โดยการใช้ใบ หรือ เถานำมาต้มดื่มเป็นประจำหรือใช้กินแทนน้ำ


ลักษณะทั่วไปของย่านางแดง

ย่านางแดง จัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง พาดพันไปตามต้นไม้อื่น สามารถยาวได้ถึง 5 เมตร เถาอ่อนมีขนาดกลาง เถาแบนมีร่องตรงกลางเป็นสีเทาน้ำตาล ส่วนเถาแก่ลม สีน้ำตาลแดง มีมือพันสำหรับยึดเกาะเป็นคู่ ปลายม้วนงอ

           ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน กว้างประมาณ 3-7 ซม. ยาวประมาณ 6-12 ซม. ปลายใบแหลม มีติ่งหนาม โคนใบมนเว้าตื้นๆ ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงมันเป็นสีเขียวเข้ม (แต่ยอดอ่อน หรือ ใบอ่อนมีสีออกแดง) ท้องใบ และหลังใบเรียบ มีเส้นแขนง 3-5 เส้น และมีก้านใบยาวประมาณ 2.3-5 ซม.

           ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ ที่ปลายกิ่งมีรูปทรงกระบอกแคบ หรือ เป็นหลอดกลวงปลายบางหอยลง มาทางโคน ยาว 15-100 ซม. และมีดอกย่อยจำนวนมากโดยมีลักษณะ กลีบดอกสีแดงสด 5 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 1.2-1.5 ซม. มีขนสีขาวปกคลุม ปลายกลับดอกแหลมมน เป็นแฉก 5 แฉก ฐานรองดอกรูประฆัง มีเกสรเพศผู้ 3 อัน ก้านเกสรสีแดงยื่นพ้นกลีบดอก ไข่ยาวประมาณ 0.7 ซม. มีขนสั้นปกคลุม ก้านสั้น

           ผล ออกเป็นฝักลักษณะแบนรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 15-16 ซม. โคนฝักมีลักษณะเป็นรูปหอก ส่วนปลายฝักแหลมมีขนนุ่มๆ สีน้ำตาลขึ้นปกคลุม เปลือกฝักแข็ง เมื่อแก่จะแตกอ้า และภายในฝักมีเมล็ดอยู่ประมาณ 8-9 เมล็ด มีลักษณะแบนสีดำ รูปขอบขนานยาวประมาณ 1.7 ซม.

ย่านางแดง

ใบย่านางแดง

การขยายพันธุ์ย่านางแดง

ย่านางแดง สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีได้แก่ การใช้เมล็ด การตอนกิ่ง และการแยกกอปลูก แต่ในปัจจุบันวิธีที่เป็นที่นิยมคือการใช้เมล็ด และการแยกกอปลูก สำหรับวิธีการปลูกนั้นก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการใช้เมล็ดและการแยกกอพันธุ์ไม้อื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ย่านางแดง เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้เร็วในดินร่วนและระบายน้ำและอากาศได้ดีและมีความต้องการน้ำในปริมาณปานกลางและยังชอบแสงแดดแบบจัด


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาสมุนไพร ย่านางพบว่า มีการแยกสารบริสุทธิ์ ซึ่งได้แก่ 3,5,7-trihydroxychromone-3-o-α-1-rhamnopyronoside,3,5,7,3,5-pentahydroxyflavonol-3-o-α-1-rhamnopyronoside และ β-sitosterol นอกจากนี้ยังพบว่าในใบย่านางแดงพบสารออกฤทธิ์ เช่น gallic acid, syringic acid, P-cormarin acid, Catechin, myricentin เป็นต้น

โครงสร้างย่านางแดง

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของย่านางแดง

มีผลการศึกษาวิจัยของย่านางแดงระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้

           ฤทธิ์ลดระดับแอลกอฮอลล์ในเลือด มีการศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครสุขภาพดีเพศชาย จำนวน 59 คน อายุระหว่าง 20-45 ปี โดยจัดแบ่งออกเป็น 2 ช่วงอายุ คือ 20-30 ปี และ 31-45 ปี ในกลุ่มช่วงอายุ 20-30 ปี แบ่งเป็นกลุ่มทดลองที่ได้รับยาสมุนไพร จำนวน 28 คน และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก จำนวน 15 คน และสำหรับช่วงอายุ 31-45 ปี แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 8 คน และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก จำนวน 8 คน อาสาสมัครทุกคนจะได้รับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 35% ปริมาตร 120 มล. (มีปริมาณเอทิลแอลกอฮอล์ 42 มล.) แล้วตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดด้วยเครื่องตรวจวัดชนิดเป่าลม จากนั้นอาสาสมัครในกลุ่มทดลอง จะได้รับยาผงฟองฟู่ย่านางแดง 1 ซอง (5 ก.) ซึ่งประกอบด้วยผงแห้งของสารสกัดน้ำย่านางแดง 1.3 ก. กับผงฟองฟู่ 3.7 ก. และกลุ่มยาหลอกที่ได้รับผงฟองฟู่ที่ปราศจากย่างนางแดง 1 ซอง ทำการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดทุก 15 นาที จำนวน 8 ครั้ง ในเวลา 2 ชม. พร้อมใช้แบบสอบถามประเมินผลร่วมด้วย ผลพบว่ากลุ่มอาสาสมัครในช่วงอายุ 20-30 ปี ที่ได้รับผงยาย่านางแดง จะมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากรับประทานยาตั้งแต่ 45 นาที เป็นต้นไป เมื่อเทียบกับยาหลอก สำหรับอาสาสมัครในช่วงอายุ 31-45 ปี พบว่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดในกลุ่มที่ได้รับผงยาย่านางแดงและกลุ่มยาหลอกไม่มีความแตกต่างกัน การศึกษาผลข้างเคียงโดยการสัมภาษณ์ ไม่พบอาการข้างเคียงแต่อย่างใด สรุปได้ว่า ย่านางแดงมีประสิทธิภาพในการลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของอาสาสมัครในช่วงอายุ 20-30 ปี ได้ โดยไม่พบอาการข้างเคียงที่เป็นอันตราย

           ฤทธิ์ลดการบาดเจ็บในเซลล์ตับจากแอลกอฮอลล์ มีการศึกษาวิจัยโดยให้หนูทดลองได้รับแอลกอฮอล์เป็นเวลา 7 วัน แล้วให้สารสกัดย่านางแดงต่อเป็นเวลา 7 วัน หลังจากนั้นตรวจระดับเอนไซม์ aspartate aminotransferase (AST) และ alanine aminotransferase (ALT) ในเลือด ผลการทดลองพบว่าระดับ AST ในกลุ่มหนูทดลองที่ได้รับสารสกัดย่านางแดงที่ความเข้มข้น 500, 1,000 และ 1,500 mg/kg มีค่าเท่ากับ 101.7 +24.03, 71.3 +26.76 และ 72.3 +9.07 U/L ตามลำดับซึ่งน้อยกว่าระดับ AST ในหนูทดลองที่ได้รับแอลกอฮอล์อย่างเดียวอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.01) ส่วนระดับ ALT มีค่าเท่ากับ 54.0 +39.28, 35.7 +4.04 และ 28.7 +3.51 U/L ตามลำดับซึ่งน้อยกว่าระดับ ALT ในหนูทดลองที่ได้รับแอลกอฮอล์อย่างเดียวอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงฤทธิ์ของสารสกัด ย่านางแดงที่ช่วยลดการบาดเจ็บของเซลล์ตับ

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยอีกหลายฉบับพบว่าสารสกัดจากย่านางแดง มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง ได้แก่ non-small cell lung adenocarcinoma และ breast cancer cell lines ยังมีฤทธิ์ต้าน HIV-1 integrase และฤทธิ์ต้านอาการภูมิแพ้ ได้อีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของย่านางแดง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ย่านางแดง เป็นสมุนไพร นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณ ที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์รวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ก่อนจะใช้ย่านางแดเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ ทั้งนี้ควรระวังในการใช้ย่านางแดง ในผู้สูงอายุเพราะยาเย็นจัดจะมีผลต่อหัวใจและตับได้

 

เอกสารอ้างอิง ย่านางแดง
  1. พีระพล ใสสะอาด, วรรณชัย ชาแท่น สุธิรา มณีฉาย. 2015. ความหลากหลายของพืชสกุลชงโค (Buahinia L.) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย. วารสารวิจัย มสด. สาขา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 8(2), 87-116.
  2. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. ขยัน (Khayan). หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 58.
  3. เต็ม สมิตินันท์, 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการกรมป่าไม้ กรุงเทพมหานคร หน้า 71.
  4. รัชนี นามมาตย์ และไชยา สนิท. (2556). การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชา สมุนไพรจากสมุนไพรพื้นบ้านในผลิตภัณฑ์ชาเพื่อสุขภาพ (รายงานผลการวิจัย). มหาสารคาม: ศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม.
  5. นวรัตน์ จัดเจน และคณะ. คุณภาพทางเคมีของใบย่านางแดง. รายงานการวิจัย. สถาบันวิจับสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ กระทรวงสาธารณะสุข.
  6. นวพร เหลืองทอง ชาคริยา หลิน วีระสิงห์เมืองมั่น และ สุรพจน์วงศ์ใหญ่. (2559).การศึกษาผลเบื้องต้นของสมุนไพร ย่านางแดงต่อระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของอาสาสมัครสุขภาพดี.วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ ทางเลือก, 14(2), 177–187.
  7. สุวิทย์ คล่องทะเล และคณะ. ฤทธิ์ของสารสกัดย่านางแดงต่อเซลล์ตับของหนูทดลองที่ได้รับบาดเจ็บจากแอลกอฮอลล์. เอกสารประกอบการประชุม. งานประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2562. ( 26 เมษายน 2562). หน้า 85-92.
  8. รัชนี นามมาตย์, ชลธี โพธิ์ทอง. องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในผลิตภัณฑ์ย่านางแดง ที่ย่างด้วยเครื่องย่างแบบสองสายพานลำเลียง. บทความวิจัย. วารสารสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย ปีที่ 23. ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2560. หน้า 44-51.
  9. ย่านางแดง. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=113.
  10. ย่านางแดง. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงไดจาก http://www.phargarden.com/main.php.?action=viewpage&pid=147.
  11. Kaewpiboon, C., Lirdprapamongkol, K., Srisomsap, C., Winayanuwattikun, P., Yongvanich, T., Puwaprisirisan, P., Assavalapsakul, W. (2012). Studies of the in vitro cytotoxic, antioxidant, lipase inhibitory and antimicrobial activities of selected Thai medicinal plants. BMC Complementary and Alternative Medicine, 12(1).
  12. Wutthithammavet, W. 1997. Thai Traditional Medicine. Odean Store Press. Bangkok.
  13. Bunluepuech, K., Wattanapiromsakul, C., Madaka, F., & Tewtrakul, S. (2013). Anti-HIV-1 integrase and antiallergic activities of Bauhinia strychnifolia. Songklanakarin Journal of Science and Technology, 35(6), 659–664.
  14. Yuenyongsawad, S., Bunluepuech, K., Wattanapiromsakul, C., & Tewtrakul, S. (2013). Anti-cancer activity of compounds from Bauhinia strychnifolia stem. Journal of Ethnopharmacology, 150(2), 765–769.