ประดู่ป่า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ประดู่ป่า งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ประดู่ป่า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ดู่ป่า (ภาคเหนือ), ประดู่เสน (ภาคกลาง), ประดู่ (ภาคอีสาน), เตอะเลอ (กะเหรี่ยง), จิต๊อก (ฉาน) ,ฉะนอง (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pterocarpus macrocarpus Kurz.
ชื่อสามัญ Burmese Padauk, Burma Padauk, Burmese ebony, Narva
วงศ์ PAPILONACEAE


ถิ่นกำเนิดประดู่ป่า

ประดู่ป่า จัดเป็นไม้พื้นบ้านดั้งเดิมของไทยอีกชนิดหนึ่ง โดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในบริเวณประเทศอินเดีย บังคลาเทศ พม่า และไทย ซึ่งจะต่างจากประดู่บ้าน ที่เชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในบริเวณแถบทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล และในมาเลเซีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้มากในภาคเหนือและภาคอีสานบริเวณป่าเบญจวรรณและป่าดิบแล้งทั่วไป


ประโยชน์และสรรพคุณประดู่ป่า

  • ช่วยบำรุงเลือด 
  • แก้โลหิตจาง
  • บำรุงกำลัง
  • แก้กษัย
  • แก้คุดทะราด
  • แก้ไข้
  • แก้เสมหะ
  • แก้เลือดกำเดาไหล
  • แก้พิษเบื่อเมา
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้ผื่นคัน
  • บำรุงร่างกาย
  • แก้ท้องเสีย
  • ช่วยสมานบาดแผล
  • ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
  • แก้พอก ใช้เป็นยาพอกฝีให้สุกเร็ว ใช้พอกบาดแผ
  • แก้ผดผื่นคัน
  • แก้อาเจียน
  • แก้ท้องร่วง

           ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าประดู่ป่า เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของไทยมาตั้งแต่โบราณแล้ว ดังนั้นจึงได้มีการนำประดู่ป่ามาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ มาตั้งแต่ในอดีตแล้วเช่นกัน โดยจากการศึกษาค้นกว้าพบว่ามีการนำมาใช้ประโยชน์หลายประเภทดังนี้ เนื้อไม้เป็นไม้มีค่าทางเศษฐกิจ เนื้อแข็ง สีแดงอมเหลือง เนื้อละเอียดปานกลาง มีคุณภาพดี ปลวกไม่ทำลาย ลวดลายงดงาม ตกแต่งขัดเงาได้ดี สามารถนำมาใช้สร้างบ้านเรือน ทำเครื่องเรือน ทำเกวียน เรือ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เครื่องดนตรี เป็นต้น และเปลือกไม้ประดู่ยังสามารถนำมาใช้ย้อมผ้าให้เป็นสีน้ำตาล ส่วนแก่นก็สามารถนำมาใช้ย้อมผ้าได้เช่นกัน โดยให้สีแดงคล้ำ และยังสามารถใช้นำฝาดสำหรับใช้ฟอกหนังได้อีกด้วย

ประดู่ป่า

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยใช้ใบประดู่ป่า 1 กำมือต้มกับน้ำ 3 แก้ว แบ่งดื่มก่อนอาหาร เช้า-เย็น ใช้บำรุงเลือด บำรุงกำลัง แก้ไข้ แก้คุดทะราด แก้เสมหะ ขับปัสสาวะ แก้พิษเบื่อเมา แก้กษัยโดยใช้แก่นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงร่างกาย แก้ท้องเสีย ใช้เป็นยาฝาดสมาน โดยใช้เปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้อาเจียน แก้ท้องร่วง โดยนำผลมาต้มกับน้ำดื่มหรือฝนกินกับน้ำ


ลักษณะทั่วไปของประดู่ป่า

ประดู่ป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงได้ถึง 15-30 เมตร ทรงพุ่มไม่แผ่กว้าง ลำต้น ตรงไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขาเปลือกลำต้นหนา แตกระแหงมีสีน้ำตาลเทาถึงเทาเข้ม เปลือกในสีน้ำตาล เมื่อถากเปลือกจะมียางสีแดงไหลออกมา (ซึ่งประดู่บ้านจะไม่มีน้ำยางสีแดง) เนื้อไม้แข็งมีสีน้ำตาลอมเหลือง แก่นสีน้ำตาลแดงกิ่งและก้านอ่อนมีขนนุ่มขึ้นทั่วไป แต่เมื่อแก่ผิวจะเกลี้ยง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ โดยในแต่ละช่อใบจะมีใบย่อยประมาณ 5-11 ใบย่อย โดยจะออกเป็นคู่ยกเว้นปลายช่อจะเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปค่อนข้างมน โคนใบมนปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเหนียว ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ใบอ่อนมีขนเล็กน้อย ส่วนใบแก่จะเกลี้ยง ดอกออกเป็นช่อขนาดใหญ่ บริเวณซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอก ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร (มีขนาดใหญ่กว่าประดู่บ้าน) แต่จะออกดอกประปราย ดอกเรียบ ดอกเป็นสีเหลือง มีลักษณะเป็นรูปดอกถั่วขนาดเล็กสีเหลือง มี 5 กลีบ ลักษณะคล้ายรูปผีเสื้อ กลีบยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ 10 อัน เมียมี 1 อัน ดอกมีกลิ่นหอม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีน้ำตาลอมเขียว หรือ สีเขียว มี 5 กลีบ ติดกันเป็นถ้วย ปลายแยกเป็น 2 แฉก แบ่งเป็นอันบน 2 กลีบติดกัน และอันล่าง 3 กลีบติดกัน ยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ดอกเป็นฝักลักษณะเป็นวงกลม โดยจะใหญ่กว่าฝัก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-7 เซนติเมตร ประดู่บ้าน ฝักจะมีขนปกคลุม ฝักอ่อนมีสีเขียวส่วนฝักแก่จะมีสีน้ำตาลแกมเทาตรงกลางมีเปลือกคลุมแข็งหนาด้านในมีเมล็ด 1-2 เมล็ด ซึ่งเมล็ดมีสีน้ำตาลแดงยาว 0.4-0.5 นิ้ว

ประดูป่า

ผลประดู่ป่า

ดอกประดูป่า

การขยายพันธุ์ประดู่ป่า

ประดู่ป่าสามารถได้โดยวิธีการใช้เมล็ด ซึ่งในอดีตจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติเท่านั้นแต่ในปลูกในเชิงพาณิชย์กันมากขึ้น หลังจากมีการปลดล๊อคกฎหมายไม้หวงห้าม สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดวิธีการปลูกและการดูแลรักษาสามารถทำได้ เช่นเดียวกับการปลูกประดู่บ้าน ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความ ประดู่บ้าน ก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของประดู่ป่า ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น Homopterocarpin,Cryptomeridiol, Alloaromacdendrene oxide Spathulenol, 2(3H)-Furanone, 5-butylditydro-4-methyl, alpha-acorenol, 2-Propen-1-ol, 3-(2,6,6-trimethyl-1-cyclohexen-1-y1)-,1,2-Benzenedicarboxylic acid, butyl 2-merhylpropyl ester ส่วนในเนื้อไม้พบสาร epicatechin, narrin, santalin, tannic acid และ anholensin เป็นต้น นอกจากนี้ในน้ำมันหอมระเหยของประดู่ป่า ยังพบสาร β-eudesmol, machilol, espatulenol, dimethyl 2,3-dicyano-2-butenedioate อีกด้วย 

โครงสร้างประดู่ป่า

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของประดู่ป่า

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของประดู่ป่า ในต่างประเทศ ระบุว่าประดู่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้ ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ฤทธิ์ลดความดันโลหิต, ฤทธิ์กระตุ้นการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย, ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด, ฤทธิ์ต้านเชื้อุจุลชีพ, ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง, และฤทธิ์ต้านอัลไซเมอร์ เป็นต้น


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของประดู่ป่า

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ประดู่ป่าเป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ หรือ ผู้ป่วยเรื้อรังก่อนจะใช้ประดู่ป่าเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง


เอกสารอ้างอิง ประดู่ป่า
  1. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “ประดู่”. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 100-101.
  2. ประดู่ป่า .สวนปลูกป่าภาคเอกชน สำนักส่งเสริมการปลูกป่ากรมป่าไม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 17 หน้า
  3. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 705.
  4. เดชา ศิริภัทร.ประดู่:ตำนานความหอมและบิดาแห่งราชนาวี.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 291.กรกฎาคม 2546
  5. Ataa S , Hazmi L.R., Samsudin S.F. Insect’s visitation on visitation on melastomamalabathricum in UKM Bangl forest reserve Environ. Ecosyst Sci 2017;(1):20-22.
  6. Gao W., Wang Y., Basavanagoud B., jamil M.K. Characteristics studies of molecular structures in drugs. Saudi Pharm J.2017;25(4):500-586.