ตะไคร้ต้น ประโยชน์ดีๆ สรรพรคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ตะไคร้ต้น งานวิจัยและสรรพคุณ 32 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ตะไคร้ต้น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตะไคร้ดอย, สะไค้ (ทั่วไป), จ๊ะไคต้น (ภาคเหนือ), เกล๋อ (ลั๊วะ, ฉือจือ (มูเชอ), กวางจา (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Litsea cubeba (Lour.) Pers.
ชื่อสามัญ Pheant pepper tree
วงศ์ LAURACEAE


ถิ่นกำเนิดของตะไคร้ต้น

ตะไคร้ต้นเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียบริเวณประเทศจีน ไต้หวัน และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย ลาว กัมพูชา พม่า มาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นต้น โดยมักจะพบตามพื้นที่ป่าที่ระดับความสูง 500-3,200 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เช่น ในบริเวณป่าโปร่งที่มีความชื้นในดินสูงและแสงแดดปานกลาง สำหรับในประเทศไทยส่วนใหญ่พบตามภาคเหนือบริเวณป่าดิบเขาทั่วไปที่ระดับความสูง 1,600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และมีรายงานว่า พบตะไคร้ต้น ได้ในหลายประเทศ เช่น อินเดีย มาเลเซีย ไต้หวัน ที่ระดับความสูง 500-2,300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล อีกด้วย


ประโยชน์และสรรพคุณตะไคร้ต้น

  • ช่วยเจริญอาหาร
  • บำรุงประสาทและสมอง
  • บำรุงสตรีหลังคลอด
  • ช่วยลดไข้
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • ช่วยขับลม
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้ท้องเสีย  
  • ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ
  • ช่วยให้ผ่อนคลาย
  • ช่วยลดอาการเครียด ทำให้ผ่อนคลาย และสงบ
  • ป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
  • ป้องกันโรคหอบหืด
  • ป้องกันโรคลมบ้าหมู
  • ช่วยลดอาการเกร็งชักของกล้ามเนื้อ
  • บรรเทาอาการปวดเมื่อย
  • รักษาโรคอุจจาระร่วง
  • รักษาโรคบิด
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ช่วยรักษาโรคผิวหนัง
  • ใช้ถอนพิษ
  • รักษาสิว
  • ใช้แก้โรคเกี่ยวกับมดลูก
  • บรรเทาอาการปวดหลัง
  • แก้ปวดตามกระดูก
  • แก้ปวดตามข้อ
  • ช่วยระงับประสาท
  • ช่วยต้านเชื้อโรคต่างๆ
  • ช่วยต้านอักเสบ
  • ช่วยขยายหลอดเลือด
  • ช่วยลดความดันโลหิต
  • ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย

            ตะไคร้ต้น ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องเทศของชนเผ่าต่างๆ บนที่สูงมาเป็นเวลานานแล้วโดยมีการนำส่วนผลมาใช้เป็นเครื่องเทศปรุงอาหาร เนื่องจากผลแห้งมีกลิ่นหอมคล้ายตะไคร้ผสมมะนาว และมีรสเผ็ดซ่าจึงสามารถช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ และยังช่วยเพิ่มความหอม รวมถึงยังช่วยปรุงรสให้อร่อยขึ้น 

            อีกทั้งในปัจจุบันมีการนำราก กิ่งแก่นลำต้น ดอก และผลแห้ง มาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งจะได้น้ำมันสีน้ำตาลอ่อน มีกลิ่นหอมคล้ายมะนาว หรือ ตะไคร้ มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้แก่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสำหรับแต่งกลิ่นอาหารใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง เช่น สบู่ ครีมบำรุงผิว แซมพูสระผม และน้ำหอม เป็นต้นใช้ทานวดเพื่อบรรเทาอาการเมื่อยล้าใช้ฉีดพ่นป้องกัน และไล่ยุง หรือ ใช้เป็นส่วนผสมของโลชั่น สำหรับทาป้องกันยุง เป็นต้น

ตะไคร้ต้น

ตะไคร้ต้น

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

สำหรับรูปแบบการใช้และขนาดวิธีใช้ตะไคร้ต้นในด้านสมุนไพร ตามตำรายาพื้นบ้านนั้น ได้ระบุถึงการใช้โดยหากเป็นการใช้ผล หรือ เมล็ด (ทั้งแห้ง และสด) จะเป็นการนำมาปรุงอาหาร หรือ ใช้ดอกกับน้ำผึ้งป่ากิน หากเป็นการใช้เนื้อไม้ รากกิ่ง จะใช้ต้นกับน้ำดื่ม หรือ นำมาต้มอาบ ตามสรรพคุณต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อก่อนหน้านี้


ลักษณะทั่วไปของตะไคร้ต้น

ตะไคร้ต้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ย่อย ได้แก่ Litsea  cubeba var. cubeba และ Litsea cubeba var. formosana ซึ่งมีลักษณะดังนี้ 

            Litsea cubeba var. cubeba  จัดเป็นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อน สูง 10-15 เมตร ลำต้นตอนยังอ่อนมีเปลือกสีเขียวแต่เมื่อต้นแก่จะมีสีน้ำตาลปนเทา ผิวกิ่งย่อยเรียบ ใบเดี่ยวเรียงตัวแบบสลับ (alternate) ก้านใบเรียบ รูปร่างใบเป็นแบบ elliptic , oblong หรือ lanceolate ฐานใบเป็นแบบ cuneate ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ผิวใบทั้งสองด้านเรียบ ดอกออกเป็นช่อ บริเวณซอกใบและปลายยอด เป็นแบบแยกเพศและแยกต้น (dioecious) มีช่อดอกแบบ umbelliform raceme ดอกไม่มีขนและมี 4-6 ดอกย่อยต่อช่อดอก ส่วนผลเป็นแบบ berry ผลดิบสีเขียว ผลสุกมีสีดำ มีต่อมน้ำมันจำนวนมากในชั้น mesocarp มีเมล็ด 1 เมล็ดต่อผล

            ส่วนสายพันธุ์ Litsea cubeba var.formosana จัดเป็นไม้พุ่มเนื้ออ่อน ขนาดเล็กสูง 2-5 เมตร ผลัดใบ ลำต้น เมื่อยังอ่อนมีเปลือกสีเขียว แต่เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลปนเหลือง บริเวณผิวกิ่งย่อย ตา และผิวใบด้านบนมีขนอ่อนนุ่มขนาดเล็กปกคลุมเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงแบบสลับ (alternate) รูปร่างเป็นแบบ ovale ฐานใบเป็นแบบ cuneate ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ผิวใบด้านล่างมีขนอ่อนนุ่มขนาดเล็กปกคลุมจำนวนมาก ดอกออกเป็นช่อบริเวณซอกใบและปลายยอดเป็นแบบแยกเพศและแยกต้น (dioecious) มีช่อดอกเป็นแบบ umbelliform raceme มีดอกย่อย 4-6 ดอกต่อช่อ ผลเป็นแบบ berry พบดิบสีเขียว ส่วนผลสุกมีสีดำ พบต่อมน้ำมันจำนวนมากในชั้น mesocarp มีเมล็ด 1 เมล็ดต่อผล

ตะไคร้ต้น

ตะไคร้ต้น

การขยายพันธุ์ตะไคร้ต้น

ตะไคร้ต้นสามารถขยายพันธุ์ได้ ด้วยการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง แต่ส่วนมากจะนิยมใช้วิธีเพาะเมล็ดให้เป็นต้นกล้าแล้วจึงนำไปปลูก เพราะเป็นวิธีที่ง่าย และสะดวกกว่าวิธีอื่น โดยหลังจากการเพาะ เมล็ดจะงอก ประมาณ 30-60 วัน จากนั้น และดูแลจนกว่าต้นกล้าจะอายุ 6-8 เดือน ซึ่งนำลงปลูกในแปลง หรือ ตามที่ที่ต้องการต่อไป


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของตะไคร้ต้น พบว่า มีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดดังนี้  ส่วนผลพบสาร coumarin, camphor, cineole, liralool, murcenol, β-pinene และ eugenol และในน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากส่วนผล จะได้น้ำมันสีเหลืองมีกลิ่นคล้ายตะไคร้ มีองค์ประกอบทางเคมีหลักได้แก่ geranial, cis-citral และ limonene ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากใบของตะไคร้ต้น พบสารประเภท terpene เช่น  α-thujene, myrcene, α-pinene, β-pinene, β-phellandrene, sabinene, γ-terpinene, trans-sabinene hydrate และ cis-sabinene hydrate นอกจากนี้ยังมีสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มี oxide เป็นองค์ประกอบ เช่น 1,8-cineole, α-terpineol และ terpinen-4-ol

 โครงสร้างตะไคร์ต้น

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของตะไคร้ต้น

มีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของตะไคร้ต้น ระบุถึงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ต้นเอาไว้ว่า องค์ประกอบทางเคมีที่มีผลต่อการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากตะไคร้ต้น คือ citral, limonene, α-terpinene, α-terpinolene, citonellal, linalool, 1,8-cineole, sabinene และ geraniol และมีรายงานอีกฉบับหนึ่งระบุว่าสารสกัดเมธานอล คลอโรฟอร์ม บิวทานอล์ และน้ำ ของส่วนเปลือกต้น (bark) ของตะไคร้ต้น มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระสูงใกล้เคียง หรือ มากกว่าคุณสมบัติดังกล่าวใน α-tocopherol และ ascorbic acid เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH, peroxidase guaiacol assay และ TBA method นอกจากนี้ยับพบว่าไม่มีความเป็นพิษ (cytotoxic) ต่อเซลล์เนื้อเยื่อของสัตว์ทดลอง และยังมีผลในการลดปริมาณของสารที่มีคุณสมบัติชักนำให้เกิดอาการอักเสบ (inflammatory mediator) ได้แก่ NO, PGE2 และ ROS ซึ่งผลิตโดย macrophage ที่ได้รับการกระตุ้นด้วยสารก่ออาการแพ้ โดยสารสกัดที่ให้ผลการทดลองดีที่สุดคือสารสกัดเมธานอล 

           อีกทั้งยังมีการทดลองใช้น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ต้น มาใช้ไล่ยุงโดยนำมาเตรียมเป็นผลิตภัณฑ์ในความเข้มข้น 15 % พบว่าสามารถให้ผลในการไล่ยุง Cx. Quinquefasciatus ได้ 48.1- 76.2 % ขณะที่ให้ผลในการไล่ยุง Ae. Aegypti ได้ 20.5- 28.9 % ซึ่งให้ผลดีพอๆ กับน้ำมันตะไคร้หอม แต่เป็นที่พึงพอใจมากกว่าเนื่องจากกลิ่นที่ดีกว่า จึงมีการศึกษาวิจัยต่อโดยทีมวิจัย ได้เลือกน้ำมันหอมระเหยที่ความเข้มข้น 5 %, 10 % และ 1 5 % มาเตรียมผลิตภัณฑ์ 4 รูปแบบ ได้แก่ ครีม โลชัน เจล และสเปรย์ และจากการศึกษาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงทั้ง 4 ชนิด พบว่า ผลิตภัณฑ์เจล 15 % สเปรย์ 10 % และเจล 10 % มีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงกัดดีที่สุด และมีความแตกต่างทางสถิติกับทุกผลิตภัณฑ์ ( p > 0.05) โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงกัด ดังนี้ 5.87 ± 0.47 ชั่วโมง, 5.37 ± 0.72 ชั่วโมง และ 4.62 ± 0.87 ชั่วโมง ตามลำดับ

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยอื่นๆ พบว่าน้ำมันตะไคร้ต้น ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานเอนไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase) ช่วยลดจุดด่างดำบนใบหน้า ยับยั้งเชื้อ Staphylococcus  aureus และ Propionibacterium acnes ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิว และยังมีฤทธิ์ในการควบคุมความมันบนใบหน้าซึ่งจะช่วยลดอาการเกิดสิวได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อรา Malassezia furfur สาเหตุรังแคอีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของตะไคร้ต้น

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ตะไคร้ต้นเป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ อีกทั้งเด็ก และสตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ตะไคร้ต้น เป็นสมุนไพร เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาวิจัยด้านความปลอดภัยรวมถึงขนาดและปริมาณในการใช้ที่ปลอดภัย


เอกสารอ้างอิง ตะไคร้ต้น
  1. ทิพย์สุดา ตั้งตระกูล.2541.พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวขม ชาวลัวะ และชาวถิ่นในบางพื้นที่ของจังหวัดน่าน.วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่ 242 น.
  2. ชูศรี ไตรสนธิ และ ปริทรรศน์ ไตรสนธิ,2543.หน้า 161-168.รายงานการประชุมวิชาการผลงานวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวง.พืชอาหาร และสมุนไพรบนดอยอ่างขาง.พิมพ์ครั้งที่ 1. ฝ่ายวิจัยมูลนิธิโครงการหลวง.เชียงใหม่.
  3. สำนักวิชาการป่าไม้ 2531.คุณสมบัติ และการใช้ประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยตะไคร้ต้น กรมป่าไม้ 21 หน้า
  4. เยาวนิต พลพิมพ์.2539.พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวเขาเผ่าต่างๆ ในเขตศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อย และหนองเขียว, จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่ 258.น.
  5. ปิยาภัทร ไตรสนธิ.ผลของความสูงพื้นที่และสายพันธุ์ต่อกิจกรรมในการต้านอนุมูลอิสระของตะไคร้ต้น.วิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัยหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาวิชาพืชสวน มหาวิทยาเชียงใหม่. สิงหาคม 2550. 139 หน้า
  6. พฤษภา ภู่ปาน.2546.การเปรียบเทียบลักษณะทางสัณฐานวิทยา กายวิภาค และนิเวศวิทยาของตะไคร้ต้น (Litsea cubeba Pers.) จากแหล่งต่างๆ ในจังหวัดน่านและจังหวัดเชียงใหม่.วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,เชียงใหม่.134 หน้า.
  7. สสี ปันยารชุน และปราณี นันทศรี.2524.น้ำมันหอมระเหยจาก Litsea cubeba Pers.ในประเทศไทย.วารสารเภสัชศาสตร์ 8(3):65.70.
  8. สุพรรณ สารภี, พิทยา สงบศิริ.การขยายพันธุ์ตะไคร้ต้นในสภาพปลอดเชื้อ:ผลของความชื้นและวัสดุปลูกต่อการรอดตายของต้นกล้า.วารสารเกษตรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปีที่ 17 ฉบับที่ 2.พฤษภาคม 2544.หน้า 92-99.
  9. มทินา แก้วกันใจ, 2547,การศึกษาปริมาณและองค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหยจากใบตะไคร้ต้น (Litsea cubeba Pers. Var.cubeba). ปัญหาพิเศษ วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่.28หน้า.
  10. เบญจวรรณ ซื่อสัตย์. 2542.น้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรที่ปลูกในภาคเหนือของไทย.วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการสอนเคมี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,เชียงใหม่,49 น.
  11. ตะไคร้ต้นประโยชน์และสรรพคุณตะไคร้ต้น.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  12. Hwang,J.K., E.M. Choi and J.H. Lee. 2005. Antioxidant activity of Litsea cubeba, Fitoterapia 76:684-686,
  13. Choi, E.M. and J.K. Hwang, 2004. Effect of methanolic extract and fractions from Litsea cubeba bark on the prodyction of inflammatory mediators in RAW264.7 cells. Fitoterapia 75:141-148.