ขมิ้นขาว ประโยชน์ดีๆ สรรพรคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ขมิ้นขาว งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ขมิ้นขาว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ขมิ้นม่วง, ว่านม่วง (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma manga valeton & Zijp
ชื่อสามัญ Curcuma white, White turmeric
วงศ์ ZINGIBERACEAE


ถิ่นกำเนิดขมิ้นขาว

สำหรับถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของขมิ้นขาว นั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีการกระจายพันธุ์ในคาบสมุทรอินโดจีน บริเวณประเทศไทย พม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังระบุว่าสามารถพบได้ในอินเดียอีกด้วย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศ โดยถือว่าขมิ้นขาวเป็นทั้งผัก และสมุนไพร พื้นบ้านที่รู้จักกันเป็นอย่างดีอีกด้วย


ประโยชน์และสรรพคุณขมิ้นขาว

  • เป็นยารักษาโรคกระเพาะ
  • รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
  • บรรเทาอาการคลื่นไส้
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • ช่วยบำรุงธาตุ
  • ช่วยกระตุ้นการหลั่งอาหารของน้ำดี
  • ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  • ช่วยขับลม
  • ช่วยลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง
  • แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  • ขับปัสสาวะ
  • ช่วยขับน้ำนมมารดา
  • รักษาโรคไข้ผอมเหลือง
  • รักษานิ่วในถุงน้ำดี
  • รักษาโรคผิวหนัง

            ขมิ้นขาว ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน เช่น ใช้รับประทานเป็นพืชผัก เรียกว่า ขมิ้นขาว โดยส่วนที่ใช้เป็นอาหาร คือ เหง้าสด ที่เป็นสีเหลืองอ่อน และจะต้องปลอกเปลือกด้านนอกออกจะเหลือส่วนที่เป็นสีขาวด้านใน แล้วจึงสามารถนำมารับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก หรือ นำไปยำแกง และใช้เป็นเครื่องปรุงอาหาร ต่างๆ
           แต่หากใช้ในการมงคลจะเรียกว่า ว่านม่วง โดยขมิ้นขาวถือว่าเป็นพืชมงคล เพราะถือว่ามีสีขาวบริสุทธิ์ เหมือนสีของไข่มุกมีความหมายบ่งบอกถึง ความปรารถนาดี ความหวังดี ความบริสุทธิ์ใจอีกทั้งยังเชื่อกันว่าหากนำขมิ้นขาวใส่กระถางตั้งวางไวทิศตะวันออกของบ้านจะเป็นมงคล ช่วยเสริมบารมี ศักดิ์ศรี เสน่ห์ ความรัก เอื้ออาทร ความเจริญ และความยั่งยืน

ขมิ้นขาว

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ขมิ้นขาว

หากใช้ขมิ้นขาว เป็นยาสมุนไพรนั้น หากเป็นการบำรุงธาตุ ช่วยให้เจริญอาหาร หรือ ช่วยรักษาภายในตามที่ได้กล่าวมาในหัวข้อที่ผ่านมา จะสามารถใช้ได้โดยนำแง่งมารับประทานสด หรือนำเหง้า และแง่งมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้ แต่หากเป็นการรักษาภายนอกเช่นโรคผัวหนังต่างๆ ก็ให้นำเหง้ามาฝนทาบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของขมิ้นขาว

ขมิ้นขาว จัดเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปีมีลำต้นใต้ดินเรียกว่า เหง้า หรือ หัว ซึ่งเว้ามีลักษณะเป็นรูปรีสีน้ำตาล และแตกแขนงย่อยเป็นสีขาว มีกลิ่นหอมส่วนลำต้นเหนือพื้นดินจะเป็นลำต้นเทียม มีลักษณะคล้ายขมิ้นชัน และขมิ้นอ้อย แต่จะค่อนข้างสูงกว่าโดยจะสูงราว 90-110 เซนติเมตร ใบ เป็นใบเดี่ยวเจริญจากลำต้นใต้ดิน ประกอบด้วยกาบใบซ้อนทับกันแบบชั้นๆ แบบเรียงสลับจากโคนถึงปลาย รูปทรงของใบเป็นรูปหอกหรือใบพายสีเขียว โคนสอบปลายแหลม กว้าง 12-15 ซม. และยาว 30-40 ซม. เจริญเติบโตในหน้าฝน แต่ในช่วงหน้าหนาวถึงฤดูแล้งจะเริ่มมีใบเหลืองและเหี่ยวแห้งแต่จะยังมีหัวฝังอยู่ใต้ดินแต่ไม่ตาย เมื่อถึงฤดูฝนถัดไปก็จะพร้อมแตกใบขึ้นมาใหม่อีกครั้งดอก ออกเป็นช่อคล้ายกับดอกขมิ้นชันกับขมิ้นอ้อย มีก้านช่อยาวแทงจากเหง้าใต้ดิน กลีบประดับสีเขียงอมชมพูซ้อนทับแบบเวียนสลับหลายกลีบ และหลายชั้นเมื่อดอกบานจะมีสีเหลืองอ่อน

ขมิ้นขาว

 ขมิ้นขาว 

ขมิ้นขาว 

การขยายพันธุ์ขมิ้นขาว

ขมิ้นขาว สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการแยกเหง้า เช่นเดียวกันกับขมิ้นชัน และขมิ้นอ้อย โดยมีวิธีการดังนี้ เริ่มจากไถพรวนดินเพื่อให้ดินร่วนซุยจากนั้นตากดินไว้ 7-10 วัน เพื่อทำลายเชื้อโรคในดินแล้วขุดหลุมลึกประมาณ 10 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก นำเหง้าขมิ้นขาวที่มีอายุ 10-12 เดือน หั่นเป็นท่อน โดยแต่ละท่อนให้มีตาที่ข้อประมาณ 2-3 ตาต่อท่อน นำไปปลูกหลุมละ 1-2 ท่อน แล้วกลบดิน เว้นระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถว ประมาณ 25-30 เซนติเมตร แล้วจึงรดน้ำให้ สัก 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ ในระยะแรกๆ หากฝนตกชุกก็ไม่ต้องให้น้ำ และเมื่อขมิ้นขาวมีอายุได้ 8-9 เดือน จึงเอาหัวขึ้นมาได้ ทั้งนี้ขมิ้นขาวเป็นพืชที่ชอบดินที่มีลักษณะเป็นดินร่วนปนทรายและเป็นพืชชอบแดดไม่ชอบน้ำขัง


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบเคมีของขมิ้นขาว พบว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น สารกลุ่ม sesquiterpenes ได้แก่ Caryophyllene oxide, Caryophyllane 2,6,11,15-tertramethyl-hexadeca-2,6,8,10,14-pentaene สารกลุ่ม Coumarin ได้แก่ Scopoletin สารกลุ่ม Monoterpenes ได้แก่ Myrcene, Trans-ocimene  สารกลุ่ม Diterpenes ได้แก่ 15,16 Bisnorlabda-8,11 dien-13-one (E)-15,15-Diethoxylabda-8,12-dien-16-al Calcatatarins A, Communic acid, Copallic acid, Zerumin A, Zerumin B สารกลุ่ม Curcuminiods ได้แก่ 1,7-Bis(4-hydroxyphenyl)-1,4,6-heptatrien-3-one, Demethoxycurcumin, Bisdemethoxycurcumin, Curcumin และสารกลุ่ม Steroid ได้แก่ β-sitosterol   เป็นต้น นอกจากนี้ขมิ้นขาวยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของขมิ้นขาว

พลังงาน 22 กิโลกรัมแคลลอรี่
ความชื้น 93.9 กรัม
โปรตีน 0.5 กรัม
ไขมัน 0.5 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 3.8 กรัม
เส้นใยหยาบ 0.8 กรัม
เถ้า 0.3 กรัม
ฟอสฟอรัส 158 มิลลิกรัม
เหล็ก 26.0 มิลลิกรัม
วิตามิน บี1 0.03 มิลลิกรัม
วิตามิน บี2 0.01 มิลลิกรัม
วิตามิน บี3 0.5 มิลลิกรัม
วิตามิน ซี 16 มิลลิกรัม

โครงสร้างขมิ้นขาว

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของขมิ้นขาว

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของขมิ้นขาว ระบุว่ามีฤทธิ์ต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้

           ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งจากรายงานการศึกษาพบว่า สารสกัดหยาบเมธานอล ส่วนสารสกัดย่อยเฮกเซน และส่วนสกัดย่อยเอธิลอะซีเตต แสดงฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยงชนิดต่าง ๆ ได้แก่ เซลล์มะเร็งเต้านม (MCF-7) เซลล์มะเร็งหลอด อาหาร (KB) เซลล์มะเร็งปอด (A549) เซลล์มะเร็งปากมดลูก (Ca Ski) และเซลล์มะเร็งลําไส้ใหญ่ (HT-29) เป็นต้น เมื่อแยกสารให้บริสุทธิ์พบว่าสารออกฤทธิ์เป็นสารกลุ่มไดเทอร์ปีนส์ชนิด (E)-labda-8(17), 12-dien-15,16-dial และ zerumin A

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สารสกัดเมธานอลของเหง้าว่านขมิ้นขาวแสดงค่าร้อยละ 50 ของฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระดีพีพีเฮช (DPPH) 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และมีความสามารถยับยั้งอนุมูลอิสระไนตริกออกไซด์ได้ร้อยละ 19.2 + 10.1 ที่ความเข้มข้น 250 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร

           ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อจุลชีพมีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าของว่านขมิ้นขาว มีสารกลุ่มเซสควิเทอร์ปีนส์เป็นองค์ประกอบหลัก โดยเซสควิเทอร์ปีนส์หลัก ได้แก่ caryophyllene oxide, caryophyllane และ 2, 6, 11, 15-tetramethyl-hexadeca-2, 6, 8, 10, 14-pentaene โดยน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าแสดงฤทธิ์ ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกชนิด S. aureus และ B. cereus โดยมีคาความเข้มข้นต่ำสุดของการยับยั้งเชื้อจุลชีพ (MIC) ที่ 1.2 และ 11.1 ไมโครลิตร/มิลลิลิตร และสามารถยับยั้งเชื้อราชนิด C. neoformans และ C. albicans โดยมี MIC ที่ 3.7 และ 0.1 ไมโครลิตร/มิลลิลิตร

           ฤทธิ์ลดอาการปวด และฤทธิ์ต้านการอักเสบ จากรายงานการทดสอบฤทธิ์ลดอาการปวด และฤทธิ์ต้านการอักเสบของเหง้าขมิ้นขาว ในหนูทดลองด้วยการกิน โดยทำการทดสอบทั้งสารสกัดหยาบเอธานอล และส่วนสกัดย่อย (fractions) ที่แยกออกมา ได้แก่ส่วนเฮกเซน สวนคลอโรฟอร์ม ส่วนเอธิลอะซีเตต และส่วนน้ำ พบว่าสารสกัดหยาบเอธานอล และส่วนสกัดย่อยทุกชั้นแสดงฤทธิ์ลดอาการปวดในหนูทดลองที่ความเข้มข้น 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ส่วนการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูทดลอง พบว่าที่ความเข้มข้น 150 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สารสกัดรวมเอธานอล และส่วนสกัดย่อยทุกชั้นมีฤทธิ์ลดอาการอักเสบของอุ้งเท้าหนูเมื่อถูกกระตุ้นด้วยคาราจีแนน เมื่อทดสอบฤทธิ์ลดการอักเสบในรูปแบบการใช้ภายนอก ซึ่งทำการทดลองโดยการทำให้หูสัตว์ทดลองอักเสบ และบวม จากนั้นทาสารสกัดหยาบ และส่วนสกัดชั้นต่างๆ ความเข้มข้น 0.5 มิลลิกรัม/หู พบว่าสารสกัดรวมเอธานอล และสารสกัดย่อยคลอโรฟอร์มออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดโดยลดอาการอักเสบได้ร้อยละ 53.97 และ 50.29 ตามลําดับ

           ฤทธิ์ต้านภาวะภูมิแพ้ ภูมิแพ้เป็นภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งที่มากระตุ้น เมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายจะจดจำ และสร้างไอจีอีแอนติบอดี (IgE-antibody) ขึ้น จากนั้นเมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ซ้ำเข้าไป สารก่อภูมิแพ้จะไปจับกับไอจีอีแอนติบอดีที่อยู่บนเม็ดเลือดขาว เช่น มาสต์เซลล์ (mast cell) หรือ เบโซฟิลล์ (basophiles) แล้วทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวแตกออกเกิดการปล่อยสารฮีสตามีน (histamine) ออกมากระตุ้นให้เกิด อาการแพ้ต่างๆ รวมทั้งมีการปล่อยเอนไซม์ b-hexosaminidase ออกมาด้วย ซึ่งเอนไซม์นี้ใช้บ่งชี้ภาวะการเกิด ภูมิแพ้ได้ พบรายงานการศึกษาว่าสารสกัดเอธานอล และน้ำของเหง้าว่านขมิ้นขาว ที่ความเข้มข้น 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร แสดงฤทธิ์ยับยั้งการปลดปล่อยเอนไซม์ b-hexosaminidase จากเซลลมะเร็งเม็ดเลือดขาวเบโซฟิลล์ (RBL-2H3 cells) เมื่อถูกกระตุ้นด้วยแอนติเจนได้ร้อยละ 79.1 + 4.1 และ 82.6 + 6.1 ตามลำดับ และแสดงค่า ร้อยละ 50 ของการยับยั้งการปลดปล่อยเอนไซม์ (IC50) ที่ 37.71 และ 37.7ตามลำดับ

การศึกษาทางพิษวิทยาของขมิ้นขาว

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำของข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ขมิ้นขาว นั้นน่าจะมีความปลอดภัยสูงเนื่องจากเป็นพืชสกุลเดียวกับขมิ้นชัน และขมิ้นอ้อยซึ่งมีการศึกษาทางพิษวิทยาระบุว่า มีความเป็นพิษน้อยมาก และสารออกฤทธิ์ที่พบก็เป็นสารชนิดเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามการใช้ขมิ้นขาวก็ควรมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาด และปริมาณ ที่เหมาะสมไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ นอกจากนี้ ผู้ที่แพ้พืชวงศ์ขิงควรหลีกเลี่ยงการใช้ขมิ้นขาวเนิ่งจากขมิ้นขาวเป็นพืชวงศ์เดียวกันกับ ขิง (Zingiberaceae)

เอกสารอ้างอิง ขมิ้นขาว
  1. เอื้อมพร วีสมหมายและคณะ. 2541. พฤกษาพัน. 2541. กรุงเทพมหานคร.
  2. จุไรรัตน์ แสงสวัสดิ์. ขมิ้นขาว ...สมุนไพร และผักพื้นบ้าน. สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  3. สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2542. ผักพื้นบ้านภาคกลาง. กรุงเทพมหานคร.
  4. รศ.ดร. ระวิวรรณ แก้วอมตวงศ์, ผศ.ดร. สุดารัตน์ หอมนวล. พืชสมุนไพรจากตำรายาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี: ขมิ้นขาว. บทความสมุนไพร. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  5. Malek SNA, Lee GS, Hong SL, et al. Phytochemical and cytotoxic investigations of Curcuma mangga rhizomes. Molecules. 2011;16:4539-4548
  6. กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. 2535. ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการขงอาหารไทย. กรุงเทพมหานคร.
  7. Kaewkroek K. Study on anti - inflammatory activity of Curcuma mangga rhizomes [ Master thesis ] . Songkhla , Thailand : Prince of Songkla University ; 2009.
  8. Ruangsang P, Tewtrakul S, Reanmongkol W. Evaluation of the analgesic and anti-inflammatory activities of Curcuma mangga Val and Zijp rhizomes. Journal of Natural Medicines. 2010;64:36-61.
  9. Abas F , Lajis NH , Shaari K , Israf DA , Stanslas J , Yusuf UK , Raof SM . Labdane diterpene glucoside from the rhizomes of Curcuma mangga . Journal of Natural Products 2005 ; 68 : 1090-1093.
  10. Abas F, Lajis NH, Israf DA, et al. Antioxidant and nitric oxide inhibition activities of selected Malay traditional vegetables. Food Chemistry 2006;95:566-573.
  11. Liu Y , Nair MG . Labdane diterpenes in Curcuma mangga rhizomes inhibit lipid peroxidation , cyclooxygenase enzymes and human tumour cell proliferation . Food Chemistry 2011 ; 124 : 527-532 .
  12. Tewtrakul, S. Subhadhirasakul S. Anti-allergic activity of some selected plants in the Zingiberaceae family. Journal of Ethnopharmacology. 2007;109:535-538.
  13. Sirirugsa P , Larsen K , Maknoi C. The genus Curcuma L. ( Zingiberaceae ) : distribution and classification with reference to species diversity in Thailand . Gardens ' Bulletin Singapore 2007 ; 59 : 203-220 .
  14. Malek SNA, Lee GS, Hong SL, et al. Phytochemical and cytotoxic investigations of Curcuma mangga rhizomes. Molecules. 2011;16:4539-4548.
  15. Baharudin M , Hamid S , Susanti D. Chemical composition and antibacterial activity of essential oils from three aromatic plants of the Zingiberaceae family in Malaysia . Journal of Physical Science 2015 ; 26 : 71-81 .
  16. Siti TG, Kamazeri TG, Samah OA, Taher M, et al. Antimicrobial activity and essential oils of Curcuma aeruginosa, Curcuma mangga, and Zingiber cassumunar from Malaysia Asian Pacific Journal of Tropical Medicine. 2012;202-209.
  17. Sakunsom P. Plants for anticancer and their mechanism [ Master thesis ] . Nakorn Prathom , Thailand : Silpakorn University ; 2009 .