แตงกวา ประโยชน์ดีๆ สรรพรคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

แตงกวา งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ

ชื่อสมุนไพร แตงกวา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น บะแต๋ง, มะแตง (ภาคเหนือ), บักแตง (ภาคอีสาน), แตงเบา (ภาคใต้) แต๋ง (ไทใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cucumis sativus Limm.
ชื่อสามัญ Cucumber
วงศ์ CUCURBITACEAE

 

ถิ่นกำเนิดแตงกวา

เชื่อกันว่าแตงกวา มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศอินเดีย โดยมีการบันทึกประวัติการปลูกมากกว่า 3,000 ปี และยังมีบันทึกการปลูกในประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเมื่อก่อน 2,000 ปี โดยนำผ่านเอเซียกลาง และตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ในศตวรรษที่ 6 มีบันทึกการนำแตงกวาไปปลูกในประเทศจีนโดยสันนิษฐานว่าได้นำเข้าสองทาง คือ เส้นทางสายไหม โดยผ่านประเทศในเอเซียตะวันออกไปภาคเหนือของประเทศจีน ส่วนอีกเส้นทาง คือ ผ่านประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่า ไทย ลาว ไปสู่ทางภาคใต้ของประเทศจีน สำหรับในประเทศไทยในปัจจุบันนั้นสามารถพบเห็นแตงกาได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยถือว่าเป็นผักยอดนิยมชนิดหนึ่งเลยทีเดียว

ประโยชน์และสรรพคุณแตงกวา

  1. แก้ร้อนใน
  2. แก้กระหายน้ำ
  3. แก้เจ็บคอทอนซิลอักเสบ
  4. ช่วยขับปัสสาวะ
  5. แก้แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
  6. แก้อาการท้องเสีย
  7. ช่วยลดความดันโลหิต
  8. แก้หนองใน
  9. แก้นิ่ว
  10. แก้ไข้
  11. แก้เจ็บคอ
  12. แก้ขัดเบา
  13. แก้ปัสสาวะพิการ
  14. บำรุงกระเพาะ
  15. บรรเทาการระคาย
  16. ลดกรดในกระเพาะ
  17. แก้โรคบิดในเด็ก
  18. แก้สิว
  19. บำรุงผิว
  20. แก้ท้องเสีย
  21. แก้บวมอักเสบ
  22. ช่วยลดอาการบวม
  23. ช่วยลดรอยหมองคล้ำ
  24. ใช้ป้องกันสิว และสิวหัวดำ
  25. แก้นอนไม่หลับ
  26. แก้ผดผื่นคัน
  27. ขับพยาธิ
    แตงกวา

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ไข้ เจ็บคอ บำรุงกระเพาะ ลดกรดในกระเพาะ แก้ขัดเบา ปัสสาวะพิการ แก้โรคบิด แก้นอนไม่หลับ ลดอาการบวม โดยนำผลแตงกวามารับประทานสด หรือ นำไปประกอบอาหารรับประทานก็ได้ ใช้แก้บิด แก้ท้องเสีย แก้บวมอักเสบ โดยใช้ราก หรือ เถามาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ขับปัสสาวะ แก้ไข้ตัวร้อน ลดความดันโลหิต แก้บิด หนองใน แก้เจ็บคอกระหายน้ำ แก้นิ่ว โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้แผลน้ำร้อนลวก ไฟลวก แก้ผดผื่นคัน โดยใช้น้ำคั้นจากใบมาทาบริเวณที่เป็น ใช้ป้องกันสิว และสิวหัวดำ ใช้เนื้อแตงกวาขูดฝอยพอกบริเวณหน้า และคอเป็นเวลา 15-20 นาที  แก้อาการเจ็บคอโดยกลั้วคอด้วยน้ำคั้นผลแตงกวาวันละอย่างน้อย 3 ครั้ง ใช้บำรุงผิวโดยผสมน้ำคั้นแตงกวา น้ำมะนาว น้ำส้ม น้ำแช่กลีบกุหลาบ กลีเซอรีน และน้ำผึ้งอย่างละเท่าๆ กัน ใช้ทาผิว ใช้บำรุงผิวหน้าผุดผ่องโดยใช้น้ำคั้นผลแตงกวา และนมสดปริมาณเท่าๆ กัน เติมน้ำลอยกลีบกุหลาบ 2-3 หยด ทาหน้านาน 15-20 นาที ใช้ลบถุงดำใต้ตาโดยใช้น้ำคั้นผลแตงกวา 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำคั้นมันฝรั่ง 1 ช้อนโต๊ะ ทารอบขอบตา ทิ้งไว้ 15 นาที จึงล้างออก


ลักษณะทั่วไปแตงกวา

แตงกวา จัดเป็นพืชล้มลุกใบเลี้ยงคู่ หรือ เป็นไม้เถาฤดูเดียว ระบบรากเป็นระบบรากแก้ว (tap root system) และมีรากแขนงเป็นจำนวนมาก ซึ่งรากสามารถแผ่ทางด้านกว้าง และหยั่งลงได้ลึกถึง 1 เมตร ลำต้นเป็นเถาเลื้อยลักษณะเป็นเหลี่ยม มีขนขึ้นปกคลุมทั่วไป มีข้อยาว 10-20 ซม. มีมือเกาะเกิดออกมาตามข้อ เป็นใบเดี่ยวใบมีก้านใบยาว 5-15 ซม. ส่วนลักษณะของใบจะหยาบมีขนใบขึ้นปกคลุมทั้งใบมีมุมใบ 3-5 มุม ปลายใบแหลม ใบใหญ่แบบ palmate มีเส้นใบ 5-7 เส้น ดอกเป็นแบบแยกเพศในต้นเดียวกัน โดยดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยวเกิดบริเวณมุมใบ หรือ ข้อมีกลีบเลี้ยงสีเขียว 5 กลีบ กลีบดอกสีเหลือง 5 กลีบ รังไข่มีลักษณะกลมยาว 2-5 ซม. มีปุ่มนูนของหนาม และขนชัดเจน ยอดเกสรตัวเมียมี 2-5 แฉก ส่วนดอกเพศผู้อาจเป็นดอกเดี่ยว หรือ เป็นช่อมีกลีบเลี้ยง และกลีบดอกเหมือนดอกเพศเมีย มีละอองเกสรตัวผู้ 3 อัน และมีก้านชูเกสรสั้นๆ ผลแตงกวา มีลักษณะกลมยาวทรงกระบอก ความยาวผลระหว่าง 5-60 ซม. แล้วแต่สายพันธุ์ ผลอ่อนมีหนามขึ้นปกคลุม แต่เมื่อแก่หนามจะค่อยๆ หายไป ผลของแตงกว่าจะมีไส้ภายในผล เนื้อกรอบฉ่ำน้ำ ส่วนสีผลมีสีขาว เขียวอ่อน เขียว และเขียวเข้มดำตามสายพันธุ์

แตงกวา

การขยายพันธุ์แตงกวา

แตงกวาสามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการใช้เมล็ด โดยมีการปลูกทั้งวิธีการหยอดเมล็ดโดยตรง และเพาะกล้าก่อนแล้วย้ายปลูก การหยอดเมล็ดโดยตรงนั้นอาจจะมีความสะดวกในการปลูก แต่มีข้อเสียคือสิ้นเปลืองเมล็ด ส่วนวิธีการเพาะกล้าก่อน มีข้อดีหลายประการ อาทิเช่น ประหยัดเมล็ดพันธุ์ดูแลรักษาง่าย ต้นกล้ามีความสม่ำเสมอประหยัดค่าแรงงานในระยะกล้า เป็นต้น 

           ดังนั้นในปัจจุบันจึงนิยมเพาะต้นกล้าจากเมล็ดแล้วย้ายมาปลูก โดยมีวิธีการเริ่มจากการเตรียมดินสำหรับเพาะกล้า โดยอัตราส่วนดิน : ปุ๋ยคอก 3:1 และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 0.5 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่ คลุกให้เข้ากัน แล้วบรรจุลงในถุงพลาสติกขนาด 6x10 เซนติเมตร จากนั้นคัดเลือกเมล็ดพันธุ์แตงกวา ที่มีความสมบูรณ และควรคลุกสารเคมีเพื่อป้องกันศัตรูพืชที่อาจติดมากับเมล็ดด้วย แล้วจึงนำเมล็ดบรรจุถุงพลาสติกที่เจาะรูพรุนแล้ว แช่ในสารละลายเคมีป้องกัน และกำจัดศัตรูพืช เช่น แคปเทน ออโธไซด์โดยผสมอัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร นาน 30 นาที เพื่อทำลายเชื้อราที่ผิวเมล็ด จากนั้นนำมาแช่น้ำ 4 ชั่วโมง แล้วจึงบ่มในผ้าชุบน้ำหมาดๆ ซึ่งบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกรัดปากถุงให้แน่น บ่มในสภาพอุณหภูมิห้องนาน 24 ชั่วโมง หลังจากรากงอกยาว 0.5 เซนติเมตร จึงนำไปหยอดลงแต่ละถุง จำนวนถุงละ 1 เมล็ด แล้วใช้ดินผสมหยอดกลบประมาณ 1 เซนติเมตร  สำหรับการย้ายกล้าปลูกนั้น ให้ฉีกถุงพลาสติกที่ใช้เพาะกล้าออกแล้วให้นำต้นกล้าย้ายปลูกลงในหลุม โดยเว้นระยะระหว่างต้น 50x50 เซนติเมตร และระหว่าแถวประมาณ 1 เมตร

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของแตงกวา ระบุว่าสารออกฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้  

           ใบพบสาร ferredoxin,cucurbitasides B และ C, α-spinasterol นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่ม flavone C-glycosides,  C-glycosyl flavonoids ได้แก่ cucumerin A,cucumerin B, vitexin, isovitexin, isoorientin, orientin, p-coumaricacid และสารกลุ่ม methyl ester ทั้งต้นพบสารกลุ่ม phenolic, caffeic, ferulicacids และ p-coumaric acid methyl ester ดอกพบสาร quercetin, isorhamnetin, kaempferol, kaempferol 3-O-rhamnoside, เมล็ดแห้งพบสารกลุ่ม albumins, globulins และ glyoxysomal enzymes (เอนไซม์สำหรับวัฏจักรไกลออกซิเลตซึ่งเป็นการเปลี่ยนไขมันเป็นคาร์โบไฮเดรตระหว่างการงอกของเมล็ด) ได้แก่ malate synthase, citrate synthase, malate dehydrogenase, isocitrate  lyase, catalase และ crotonase ส่วนผลแตงกวา พบกลูโคส Rhamnose, Mannose,Galactose, Xylose, fructose, Arginine, Rutin, Isoqucrcitrin และสารกลุ่ม Gylcoside เช่น Glucosid นอกจากนี้ยังมี Caffeic acid, Chlorogenic acid และยังพบน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบด้วย 2,6-Nona dicnal เป็นต้น และยังมีรายงานว่าเนื้อบริเวณใกล้ขั้ว ของแตงกวามีรสขม ซึ่งรสขมนี้ประกอบด้วย Cucurbitacin A,B,C,D ส่วนเมล็ดแตงกวา มีไขมัน ซึ่งประกอบด้วย Oleic acid, Linoleic acid, Palmitic acid และ Stearc acid

โครงสร้างแตงกวา 

           นอกจากนี้ผลของแตงกวายังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของแตงกวา พร้อมเปลือก (100 กรัม) พลังงาน 16 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต 3.63 กรัม  น้ำ 95.23 กรัม  น้ำตาล 1.67 กรัม เส้นใย 0.5 กรัมไขมัน 0.11 กรัมโปรตีน 0.65 กรัม วิตามิน B1 0.027 มิลลิกรัม  วิตามิน B2  0.033 มิลลิกรัม วิตามิน B3 0.098 มิลลิกรัม วิตามิน B5 0.259 มิลลิกรัม วิตามิน B6 0.04 มิลลิกรัม วิตามิน B9 7 ไมโครกรัม วิตามิน C 2.8 มิลลิกรัม วิตามิน K16.4 ไมโครกรัม แคลเซียม 16 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 0.28 มิลลิกรัม โซเดียม 2 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 13 มิลลิกรัม ธาตุแมงกานีส 0.079 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 24 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 147 มิลลิกรัม สังกะสี 0.2 มิลลิกรัม ฟลูออไรด์ 1.3 ไมโครกรัม


การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของแตงกวา

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของแตงกวา ระบุว่ามีฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้

           ฤทธิ์ลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด  มีการศึกษาวิจัย โดยทดลองให้หนูแรทกิผงแตงกวา ที่ได้จากการนำน้ำคั้นของแตงกวา (Cucumis sativus L.) ไปผ่านความร้อนอุณหภูมิ 80°C เป็นเวลา 40 นาที แล้วทำให้เป็นผงแห้งที่อุณหภูมิ -20°C ขนาด 10, 100 และ 500 มก./กก. ทั้งในช่วงก่อน, หลัง และระหว่างที่ป้อนแอลกอฮอล์เข้มข้น 22% ให้แก่หนูแรท ผลการทดลองพบว่า การกินผงแตงกวาทุกขนาดในช่วงก่อนป้อนแอลกอฮอล์ 30 นาที มีผลลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดหนูลงในชั่วโมงที่ 7 ของการทดลองอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และมีผลเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ในกระบวนการเมทาบอลิซึมของแอลกอฮอล์ในตับ ได้แก่ dehydrogenase (ADH) และ acetate dehydrogenase (ALDH) ผลการทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แตงกวามีฤทธิ์ลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดได้

           ฤทธิ์ลดไขมัน มีการศึกษาฤทธิ์ลดไขมันในเลือดของเมล็ดแตงกวา (Cucumis sativas L.) โดยทำการศึกษาแบบ randomized double-blind placebo-controlled trial ในผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง จำนวน 47 คน แบ่งให้รับประทานสารสกัด 70% เอทานอลจากเมล็ดแตงกวา ขนาดวันละ 500 มก. (24 คน) หรือ ยาหลอก (23 คน) ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ แล้วทำการตรวจวัดค่าดัชนีมวลกาย (body mass index) และค่าไขมันต่างๆ ในเลือดเปรียบเทียบก่อน และหลังรับประทาน ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดจากเมล็ดแตงกวามีผลลดระดับคอเลสเตอรอลรวม คอเลสเตอรอลชนิด LDL ไตรกลีเซอร์ไรด์และดัชนีมวลกายลง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลดี (HDL-cholesterol) ได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก แสดงให้เห็นว่าการรับประทานสารสกัดจากเมล็ดแตงกวาวันละ 500 มก. มีผลลดระดับไขมันของผู้ป่วยไขมันสูง

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางคลินิกแบบสุ่มและปกปิดสองฝ่ายที่มีกลุ่มควบคุม (randomized double - blind placebo controlled clinical trial) ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีระดับไขมันในเลือดสูงจำนวน 47 คน โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 จำนวน 24 คน ได้รับสารสกัดเมล็ดแตงกวาแห้ง ขนาด 500 มก. จำนวน 1 แคปซูล โดยรับประทานพร้อมอาหาร วันละ 1 ครั้ง นาน 6 สัปดาห์ และกลุ่มที่ 2 จำนวน 23 คน ให้รับประทานยาหลอก (placebo) พบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดเมล็ดแตงกวาแห้ง มีระดับคอเลสเตอรอลรวม (total cholesterol) ระดับ low density lipoprotein cholesterol (LDL-C) และระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลดลง รวมถึงมีดัชนีมวลกาย (BMI) ลดลงจากเดิม ส่วนระดับ high density lipoprotein cholesterol (HDL-C) ในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก จากการศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่าการรับประทานสารสกัดเมล็ดแตงกวา แห้งในขนาด 500 มก. วันละ 1 ครั้ง สามารถลดระดับไขมันในเลือดในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีไขมันในเลือดสูงได้

           ฤทธิ์ลดความดันโลหิต ในประเทศจีนมีการใช้น้ำยาที่ต้มจากเถาแตงกวากับผู้ป่วย 64 ราย (ระยะแรก 17 ราย ระยะที่สอง 45 ราย ระยะที่สาม 2 ราย) พบว่าได้ผลชัดเจน 34 ราย ได้ผล 19 ราย ไม่ได้ผล 11 ราย คิดเป็นอัตราได้ทั้งหมด 82.8%  ซึ่งโดยทั่วไปได้ผลดีไม่มีผลข้างเคียง มีอยู่เพียง 5 รายหลังจากกินยา (ก่อนอาหาร) จะรู้สึกร้อนบริเวณท้อง แต่หลังจากเปลี่ยนเป็นกินหลังอาหาร อาการดังกล่าวก็ลดลงหรือหายไป มีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่กินเข้าไปแล้วมีอาการวิงเวียน

           ฤทธิ์ปกป้องตับ มีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า สาร isoorientin (ที่พบในแตงกวา) ที่ขนาด 15 มก./กก. มีฤทธิ์ปกป้องตับ (hepatoprotective  effect) ได้ในหนูทดลอง นอกจากนี้ยังพบฤทธิ์อื่นๆ ได้แก่ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant Activity) ฤทธิ์ต้านมะเร็ง (Anticancer Activity) ฤทธิ์ต้านจุลชีพ (Antimicrobial Activity) ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด (Hypolipidemic Activity) ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด (Hypoglycemic Activity) ฤทธิ์ต้านไม่ให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร (Antiulcerogenic Activity) ช่วยทำให้ผิวขาว และลดเลือนริ้วรอย (Skin-whitening and Antiwrinkle Activity) ฤทธิ์ต้านหลอดเลือดแดงแข็ง (Antiatherogenic Activity) และฤทธิ์ฆ่าพยาธิ (Anthelminthic Activity) อีกด้วย

การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของแตงกวา

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่าแตงกวา จะเป็นผักผลไม้ที่เราคุ้นชิน และนิยมนำมารับประทานแบบสด หรือ นำมาแปรรูป แต่อย่างไรก็ตามก็ควรระมัดระวังในการรับประทาน เนื่องจากในแตงกวาจะมีกรดยูริก (uric acid) อยู่ในน้ำเมือกใสๆ โดยถือว่าแตงกวาเป็นผักผลที่มีระดับกรดยูริกในระดับกลาง ดังนั้นหากบริโภคในปริมาณที่มากติดต่อกันอาจทำให้เกิดการสะสมของกรดยูริกได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นการนำมาปั่นสดๆ แล้วรับประทานทุกวัน ร่างกายก็อาจจะสะสมกรดยูริกเข้าไป ซึ่งหากร่างกายกำจัดออกไม่หมด ก็จะไปสะสมทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนแคลเซียมในกระบวนการสร้างเซลล์กระดูก ความแข็งแรงของเม็ดเลือด และอาจทำให้เกิดอาการอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเกาต์ได้

            นอกจากนี้ในกระบวนการปลูก เก็บ ขนส่ง หรือ ขายแตงกวามีผลการสำรวจพบว่าโอกาสที่แตงกวาได้รับเชื้อ Colibacilus สูง 70-80 % และยังได้พบเชื้อ Bacillus dysenteriae, Typhoid bacillus และไข่พยาธิ ดังนั้น การกินแตงกวาดิบๆ ควรจะต้องล้างให้สะอาดก่อนทุกครั้ง

 

เอกสารอ้างอิง แตงกวา
  1. วิทิต วัณนาวิบูล,แตงกวา สมุนไพร ใช้เสริมสวย.คอลัมน์ อาหารสมุนไพร.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 98.มิถุนายน 2530
  2. นันทวัน บุณยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพรพื้นบ้าน (2). กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด, 2542. หน้า 126-31
  3. กรมการค้าภายใน. 2531. รายงานการศึกษาเรื่องแตงกวา. กองเศรษฐกิจการเกษตร.กรมการค้าภายใน หน้า 1-65.
  4. ฤทธิ์ลดไขมันของเมล็ดแตงกวา.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ.แตงกวา เพื่อสุขภาพ และความงาม.คอลัมน์บทความพิเศษ.นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 353.กันยายน 2551
  6. กมล เลิศรัตน์. 2536. การผลิตเมล็ดพันธุ์ผัก. กองขยายพันธุ์พืช. กรมส่งเสริมการเกษตรหน้า 189-213.
  7. ผลของสารสกัดเมล็ดแตงกวาต่อระดับไขมันในเลือดในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. เฉลิมเกียรติ โภคาวัฒนา.ภัสรา ชวประดิษฐ์.การปลูกแตงกวา.กลุ่มพืชผัก การส่งเสริมพืชสวน กรมสส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2539. 12 หน้า
  9. จานุลักษณ์ขนบดี. 2535. การผลิตเมล็ดพันธุ์ผัก. กรุงเทพ: สํานักพิมพ์โอเยนสโตร์หน้า 102-125.
  10. ฤทธิ์ลดแอลกอฮอลล์ในเลือกของแตงกวา. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  11. CulpeperN. Culpeper’s complete herbal illustrated & annotated edition. New York:  Sterling Publishing Co., Inc.; 2019. 540 p
  12. C.P. Khare. Indian Medicinal Plants An Illustrated Dictionary. New Delhi: Springer; 2007. 836 p.
  13. Lim T.K. Edible Medicinal And Non-Medicinal Plants vol.2, fruits. Dordrecht: Springer; 2012. 1112p