มะแขว่น ประโยชน์ดีๆ สรรพรคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

มะแขว่น งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ


ชื่อสมุนไพร มะแขว่น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น พริกหอม, ลูกระมาศ, กำจัดต้น (ภาคกลาง) มะแข่น, มะข่อง (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Zanthoxylum limonwlla (Dennst.) Alston, Zanthoxylum myriacanthum
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Zanthoxylum myriacanthum Wall. Ex Hook. F.
วงศ์ Rutaceae


ถิ่นกำเนิดมะแขว่น

มะแขว่น เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียบริเวณเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงคาบสมุทรอินโดจีน และตามเกาะต่างๆ ในทวีปดังกล่าว อาทิเช่นในประเทศ อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และปาปัวนิวกินีตอนใต้ ส่วนในประเทศไทยพบได้ตามภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ แต่จะพบมากทางภาคเหนือในบริเวณป่าดิบแล้ง หรือ ป่าดิบเขก ในพื้นที่สูงประมาณ 800-1000 เมตร จากระดับน้ำทะเล


ประโยชน์และสพรรคุณมะแขว่น

  • ช่วยขับลมในลำไส้ลม
  • ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร
  • ช่วยลดความดันโลหิต
  • แก้หน้ามืดตาลาย วิงเวียน
  • ใช่เป็นยาขับระดูของสตรี (ไม่ใช้กับหญิงมีครรภ์)
  • แก้รำมะนาด
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • ช่วยบำรุงหัวใจ
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • แก้หนองใน
  • แก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • แก้อาเจียน
  • แก้ท้องเสีย
  • รักษาโรคหอมหืด
  • รักษาโรคหลอดลมอักเสบ
  • รักษาโรคหัวใจ
  • แก้อักเสบ
  • รักษาโรคอหิวาตกโรค
  • รักษาอาการปวดฟัน
  • ป้องกันโรคหัวใจ
  • ป้องกันโรคมะเร็ง
  • ป้องกันเบาหวาน
  • แก้ปวดบวม ใช้คลายความเมื่อยล้า

           สำหรับการใช้ประโยชน์จากมะแขว่น ทางภาคเหนือ และชาวเขา เช่น กระเหรี่ยง และไทยใหญ่มักจะนิยมนำผล และเมล็ดแห้งมาประกอบอาหารเนื่องจากผลแห้งมีกลิ่นหอมแรง  และมีรสเผ็ดร้อนช่วยดับกลิ่นคาว และเพิ่มรสชาติของอาหารให้อร่อย จึงมักนิยมนำมาใส่ส่วนผสมในพริกแกง หรือ พริกลาบสำหรับประกอบอาหาร ส่วนใบ และยอดอ่อนของมะแขว่นก็ยังสามารถนำมารับประทานเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก

           นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังนิยมนำผลแห้งมาสกัดน้ำมันหอมระเหยมะแขว่น สำหรับใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง เช่น แชมพู ครีมบำรุงผิวหรือทำเป็นผลิตภัณฑ์ฉีดพ่นป้องกันยุง และไล่แมลงศัตรูพืช


รูปแบบและขนาดวิธีใช้มะแขว่น

ใช้แก้ลมขึ้นเบื้องสูง ขับลมในลำไส้ แก้ความดันโลหิต ขับระดูของสตรี โดยนำราก หรือ เนื้อไม้ มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้รำมะนาด ปวดฟัน โดยใช้ใบสดมาเคี้ยว อมน้ำแล้วบ้วนทิ้ง ใช้บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้หอบหืด บำรุงโลหิต ขับลม แก้อักเสบ โดยใช้เมล็ดแห้ง มาใช้เป็นส่วนผสมในการประกอบอาหารรับประทาน หรือ ใช้เมล็ดมะแขว่น สดมารับประทาน ใช้แก้ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจ ขับลม โดยใช้น้ำมันหอมระเหย จากเมล็ดมาสูดดม หรือ ใช้มาถูนวดบริเวณที่ปวดบวมและใช้คลายความเมื่อยล้าก็ได้


ลักษณะทั่วไปของมะแขว่น

มะแขว่น จัดเป็นไม่ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ลำต้นมีเปลือกสีเทาอมขาว และกิ่งมีตุ่มหนามแหลม รูปกรวยขนาดใหญ่ ปลายตรง หรือ โค้ง ขึ้นปกคลุม

           ใบ เป็นแบบเรียงสลับแบบขนนกชั้นเดียว ยาว 15-20 เซนติเมตร และมีใบย่อยจำนวน 10-28 ใบ (อาจมีใบย่อยที่ปลายหรือไม่มีก็ได้) มีก้านใบย่อยสีแดงยาว 0.5-1.0 เซนติเมตร ใบย่อยเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนานกว้าง 4-5 เซนติเมตร ยาว 10-14เซนติเมตร

           ดอก ออกเป็นช่อแบบกระจายบริเวณปลายยอด หรือ ก้านซอกใบ ช่อดอกมีความยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ประกอบด้วยช่อดอกย่อยจำนวนมาก ส่วนตัวดอกออกเป็นกระจุก ที่ปลายช่อของแต่ละก้านช่อย่อย ตัวดอกเป็นรูปทรงกลม ขนาดเล็ก สีขาวอมเขียว ขนาดประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร ประอบด้วยกลีบรองดอก 4 กลีบ และกลีบดอก 4 กลีบ ตรงกลางมีเกสรเพศผู้ 4 อัน และเกสรตัวเมีย 1 อัน โดยดอกตัวผู้และตัวเมียจะอยู่ต่างต้นกัน

           ผล มีรูปร่างกลม เมื่อยังอ่อนมีสีเขียว เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-0.7 เซนติเมตร รสเผ็ดซ่า เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีอมแดง หากผลแห้งเปลือกเป็นสีน้ำตาลและแตกอ้า 2 ซีก เห็นเมล็ดที่เป็นสีดำเป็นมันขนาด 0.25-0.35 เซนติเมตร

มะแขว่น

มะแขว่น

การขยายพันธุ์มะแขว่น

มะแขว่น เป็นพืชที่พื้นที่กลางแจ้ง ต้องการสภาพอากาศที่เย็น และมีความชื้นในอากาศสูงแต่ไม่ต้องการน้ำมาก และชอบดินที่ระบายน้ำได้ดี และสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด โดยมีวิธีการคือเริ่มจากนำเอาเมล็ดที่แก่จัดจากผลที่ยังสดอยู่ไปแช่ในน้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส นาน 5-10 นาที จากนั้นนำไปแช่ในน้ำเย็นทิ้งไว้ 1 คืน เพื่อให้เปลือกนอกแตกและเป็นการทำลายไขที่เคลือบเมล็ด ที่จะช่วยให้เมล็ดสามารถงอกได้เร็ว และได้ผลดีขึ้น นำไปเพาะในกระบะทราย รดด้วยน้ำเป็นระยะ แต่ต้องคอยระวังไม่ให้น้ำขังมากเกินไป จากนั้นประมาณ 1-2 เดือน ต้นกล้าของมะแขว่นจะงอกมีใบจริงจึงย้ายลงปลูกในถุงเพาะชำเพื่อเตรียมย้ายลงแปลงปลูก โดยต้นกล้าที่เหมาะสมในการย้ายปลูกควรมีอายุประมาณ 3 เดือน ความสูงประมาณ 3-5 นิ้ว สำหรับการปลูกมะแขว่นควรเว้นระยะ 4x4 เมตร เมื่อต้นมะแขว่นมีอายุประมาณ 1-2 ปี ควรเด็ดยอดเพื่อให้แตกกิ่งก้าน จะช่วยให้สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตและยังทำให้ต้นเตี้ยสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้มะแขว่นจะให้ผลผลิตเมื่ออายุประมาณ 3 ปีขึ้นไป นอกจากนี้เรื่องที่ต้องทราบอีกเรื่องหนึ่ง คือ พืชในสกุลมะแขว่น มีสายพันธุ์ทั้งหมด 200 กว่าสายพันธุ์ แต่ในประเทศไทยมีอยู่ 8-9 สายพันธุ์ ซึ่งในแถบภาคเหนือของประเทศไทย จะนิยมปลูกอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ะแขว่น (Zanthoxylum myriacanthum) มะข่วง (Zanthoxylum rhetsa) หม่าล่า ชวงเจียว ฮัวเจียว (Zanthoxylum armatum) และมะแขว่นใต้หวัน


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของผล และน้ำมันหอมระเหยจากมะแขว่น ดังนี้ จากการศึกษาวิจัยพบว่าผลมะแขว่นประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ หลายชนิดเช่น lupeol alkaloid nutaecarpine coumarins scopoletin xanthoxyletin β-pheliandrene linalool limonene pinene terpineol และ terpinene-4-ol ส่วนในน้ำมันหอมระเหยประกอบด้วย สาร geranial citral neral neryl acetate β-caryophyllene sabinene ocimene geranyl acetate n-octyl aetate Dl-limonene 8-heptadecene linalool และ trans-anethole เป็นต้น

 โครงสร้างมะแข่วน

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะแขว่น

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของของมะแขว่นหลายฉบับดังนี้ มีรายงานว่าการสกัดมะแขว่นด้วยคลอโรฟอร์ม มี antituberculous activity ที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อวัณโรคชนิด Mycobacterium tuberculosis H37 Ra ได้ ส่วนสารสกัดจากผลมะแขว่นด้วยเอมิล อะซีเตท มีสารประกอบฟีนอลิก คือ Xanthoxyline ซึ่งมี antifungal activity และฤทธิ์ในการต่อต้านจุลินทรีย์ กลุ่ม Trichophyton mentagophytes, Stephylococcus aureus ATCC25923 และ E.coli ATCC25922 โดยวิธี agar well diffusion ได้ และยังมีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าน้ำมันหอมระเหยเข้มข้น 5% จากผลมะแขว่นที่ประกอบด้วย monoterpenes ได้แก่ Sebinene, limonene และ terpenen-4-ol มีฤทธิ์ยับยั้งการก่อจุลินทรีย์ก่อโรคชนิด Pseudomonas aeruginosa ได้ 2.5% นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยจากมะแขว่นยังช่วยเพิ่มการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ หลอดเลือดแดงใหญ่ และท่ออสุจิของหนูขาว รวมทั้งลำไส้เล็กส่วน ileum ของหนูตะเภาโดยกลไกที่ไม่เฉพาะเจาะจงกับตัวรับสัมผัสใดๆ และยังช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อระบบทางเดินอาหารและกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของอวัยวะภายในของหนูทดลองได้ อีกทั้งยังพบฤทธิ์ในการต้านอนุมูงอิสระในน้ำมันหอมระเหยจากผลมะแขว่นซึ่งมีปริมาณ total phenolic compound อยู่สูง ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน ในการต้านอนุมูลอิสระ FRAP สูง และมีค่า IC50 (ค่าความเข้มข้นของสารสกัดจากตัวอย่างที่สามารถกำจัดอนุมูลอิสระ DPPH ได้ 50%) เท่ากับ 5.66 mg/L

           ส่วนการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่า สารสกัดน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ฆ่าพยาธิตัวตืด พยาธิตัวแบน และพยาธิปากขอ ในขณะที่สารสกัดน้ำมันหอมระเหยจากลำต้น ใบ และผลมะแขว่น มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านแบคทีเรีย ไวรัส และมะเร็งได้

           ส่วนการศึกษาวิจัยอื่นๆ ยังระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของมะแขว่น ไว้ว่าน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากเมล็ด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของหนูทดลอง ที่เกิดจากพิษของสาร formalin และ Carragenin และเมื่อทดลองกับคนก็สามารถระงับการอักเสบบนผิวหนังได้ และน้ำมันยังมีฤทธิ์ในการทำให้กระจกตาของหนูทดลองชาเมื่อใช้ในความเข้มข้น 0.25% แต่ไม่ทำให้ผิวหนังของกระจกตาชาไปด้วย นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ทำให้ความดันโลหิตลดลงเมื่อมดลองกับแมวและสุนัขอีกทั้ง น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากผลก็มีฤทธิ์ในการขับพยาธิลำไส้ชนิด Teania solium, Ascaridia galli และ Pheretima postuma ส่วนฤทธิ์อื่นๆ นอกจากนี้ได้แก่ ต้านอหิวาตกโรคในกระต่าย ต้านฮิสตามีน และคลายกล้ามเนื้อเรียบ


การศึกษาทาวพิษวิทยาของมะแขว่น

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้มะแขว่นเป็นส่วนประกอบในนั้นค่อนข้างปลอดภัยเพราะใช้ในปริมาณที่น้อยแต่การใช้เป็นสมุนไพร นั้นควรระมัดระวังในการใช้โดยใช้ในขนาด และปริมาณ ที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณ ที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับสตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้มะแขว่นเป็นสมุนไพ และมีฤทธิ์ในการขับระดูในสตรีอาจทะให้แท้งบุตรได้


เอกสารอ้างอิง มะแขว่น
  1. รัตนาพรหมพิชัย. (2542). สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 1, หน้า 483). กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทยธนาคารไทยพาณิช.
  2. เกรียงไกรและคณะ, 2551. พืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูงชุดที่ 1 บ้านปางมะโอสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน), 190 หน้า.
  3. ยุทธยา อยู่เย็น, นงนุช อุตคุด, ธนากร บุญกล่ำ, ณัฐณิชา มีงาม. “มะแขว่น ” หม่าล่าเมืองไทย ความเหมือนที่แตกต่าง. วารสารวัฒนธรรมอาหารไทย ปีที่ 1. ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2562. หน้า 63-72
  4. มหาวิทยาลัยมหิดลเภสัชศาสตร์คณะเภสัชศาสตร์. (2539), สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ, กรุงเทพมหานครมหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. นทร์เพ็ญตั้งจิตรเจริญกุล, 2553. สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากต้นมะแขน Zanthoxylum limonella Alston. วิทยานิพนธ์ปริญญาโทสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพคณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 178 น.
  6. (กลุ่มส่งเสริมผลิตพืชสมุนไพรกรมส่งเสริมการเกษตร). (2561), มะแขว่นเครื่องเทศของชาวเหนือกรุงเทพมหานคร: ภูมิปัญญาชาวบ้าน.
  7. โชติรสโตวณิชย์, 2545 องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ต้านจุลชีพของน้ำมันระเหยง่ายจากผลของพืชในสกุลแซนโทไซลุม, วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาเภสัชเวทมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่ 99 หน้า
  8. สุวดีโพธิ์วิจิตรและคณะ (2019). ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและการวิเคราะห์ปริมาณฟีนอลิก และฟลาโวนอยด์ของสารสกัดจากสมุนไพรไทยพื้นบ้านสะค้าน และมะแขว่นในเขตท้องถิ่นภาคเหนือ Rajamangala University of Technology Thanyaburi, Vol 18, Issue 1, 25-39.
  9. กีรติตันเรือน. 2548. การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและประสิทธิภาพของน้ำมันหอมระเหยจากเครื่องเทศในการยับยั้งแบคทีเรียและฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระ, ผลงานวิชาการนักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาชีวเคมีและชีวเคมีเทคโนโลยีคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  10. มะแขว่นและเนียมหูเสือ. กระดานถาม-ตอบ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahodol.ac.th/user/reply.asp?id=5558
  11.  Moore, J. A. 1936. Floral anatomy and phylogenty in the Rutaceae. New phytol. 35: 318-322.
  12. Soonwera, M. and Phasomkusolsil, S. (2017). Adulticidal, larvicidal, pupicidal and oviposition deterrent activities of essential oil from Zanthoxylum limonella Alston (Rutaceae) against Aedes aegypti (L. ) and Culex quinquefasciatus (Say). Asian Pacific Journal of Tropical Biomedicine, 7 (11), 967-978.
  13. Ratchuporn, S, Chusie, T, Paritat, T. and Prasit, W. 2009. Notes on spice plants in the genus Zanthoxylum (Rutaceae) in Northern Thailand. Thai for. BULL. (Bot). 197-204.
  14. Rajamangala University of Technology Thanyaburi, Vol 18, Issue 1, 25-39. 2)Roongtawan, S. and Janpen, T. (2014). Chemical Constituents and Biological Activities of Zanthoxylum limonella (Rutaceae): A Review. Tropical Journal of Pharmaceutical Research, 13 (12), 2119-2130.
  15. Charoenyinga, P. , Teerarak., M. , and Laosinwattana, C. 2010. An allelopathic substance isolated from Zanthoxylum limonella Alston fruit. Scientia Horticulturae, 125: 411 416.
  16. Wipoosanapan, p., Kangsadalampai, k. and Tongyonk, L. (2019). Antiformation and antimuta genic activities of extracts from pericarp and seed of Zanthoxylum limonella (Dennst.) Alston. Thai Journal of Pharmaceutical Sciences, 43 (2): 90-95.
  17. Gut, B. J. 1966. Beitrage zur morphology des gynoeceums und der blutenachse einiger Rutaceen. Bot. Jb. 85: 151-247.
  18. Nanasombat, S. , and Wimuttigosol, P. 2011. Antimicrobial and antioxidant activity of spice essential oils. Food Science and Biotechnology, 20 (1): 45-53. 10