สบู่เลือด (เปล้าเลือด) ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

สบู่เลือด (เปล้าเลือด) งานวิจัยและสรรพคุณ 38 ข้อ 

ชื่อสมุนไพร สบู่เลือด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เปล้าเลือด, เปล้าเลือดเครือ (ภาคเหนือ), กระท่อมเลือด (ภาคอีสาน), บอระเพ็ดยางแดง (ภาคใต้), กลิ้งกลางดง (ภาคตะวันตก), ฮ่อง, ชอเกอโท (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Stephania venosa Spreng
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Stephania venosa (Blume) spreng, Clypea venosa Blume
วงศ์ MENISPERMACEAE

ถิ่นกำเนิดสบู่เลือด

สบู่เลือด จัดเป็นพรรณพืชป่า มีการสันนิษฐานกันว่ามีถิ่นกำเนิดในป่าเขตร้อนชื้นในทวีปเอเชียบริเวณประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น และบริเวณป่าดิบแล้งของเขาหินปูน ในระดับน้ำทะเลจนถึง 1500 เมตร โดยจะพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ

ประโยชน์และสรรพคุณสบู่เลือด

  • ช่วยบำรุงร่างกาย
  • ช่วยบำรุงเลือด
  • ช่วยบำรุงธาตุไฟ
  • ช่วยบำรุงประสาท
  • ช่วยบำรุงกำหนัด
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้ไข้
  • แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • ช่วยรักษาแผลเรื้อรัง
  • เป็นยาอายุวัฒนะ
  • ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  • ช่วยลดไขมันในเลือด
  • ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ
  • แก้ไมเกรน
  • ป้องกันโรคอัลไซเมอร์
  • มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน
  • ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
  • ช่วยรักษาโรคมะเร็งต่างๆ
  • ช่วยรักษาโรคหัวใจ
  • ช่วยรักษาโรคเบาหวาน
  • ช่วยลดความดันโลหิต
  • แก้ปอดพิการ
  • ช่วยรักษาโรคลมชัก หรือ ลมบ้าหมู
  • ช่วยขับผายลม
  • ช่วยทำให้อุจจาระละเอียด
  • บำรุงประจำเดือน แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติของสตรี
  • ช่วยแก้โรคเรื้อนใหญ่ เรื้อนน้อย
  • ช่วยแก้โรคมือเท้าไม่มีกำลังได้
  • แก้ผอมแห้ง
  • แก้โลหิตจาง
  • แก้เลือดลม
  • แก้หืดหอบ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • ช่วยขับพยาธิ
  • แก้ตกเลือด
  • แก้มุตกิด
  • แก้ฤดูขาว
     

รูปแบบและขนาดวิธีใช้สบู่เลือด

ใช้บำรุงกำลัง แก้ปวดท้อง ช่วยระบาย แก้ไข้ บำรุงร่างกาย แก้ปวดเมื่อย โดยใช้หัวต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงประสาท บำรุงธาตุไฟ บำรุงกำหนัด ช่วยทำให้กระชุ่มกระชวย สุขภาพแข็งแรง โดยใช้หัวสบู่เลือด นำมาดองกับเหล้ากิน ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ขับเสมหะ โดยใช้หัวมาตากแห้ง แล้วบดเป็นผงปั้นกับน้ำผึ้งเป็นลูกกลอนกิน ใช้เป็นยาบำรุงของสตรี แก้อาการผอมแห้ง มีน้ำมีนวล ไม่มีเรี่ยวแรงได้ โดยใช้หัวนำมาต้มอาบ หรือ ต้มกิน ใช้แก้มุตกิดฤดูขาว หรือ ตกขาว โดยใช้สบู่เลือดสดๆ นำมาหั่นเป็นชิ้นบาง 3-4 แว่น แล้วนำมาตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำซาวข้าว หรือ เหล้าขาว 40 ดีกรี แล้วคั้นเอาเฉพาะน้ำกิน 1 ถ้วยชา ในช่วงเช้า เย็น และก่อนนอน ใช้แก้ปวดเมื่อยตามร่างกายโดยใช้หัวสบู่เลือดฝานบางๆ ประมาณ 2 กำมือ นำมาดองกับเหล้าขาว 1 ขวด แล้วเติมน้ำผึ้งพอประมาณ ดองทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน ใช้ดื่มครั้งละ 1 เป๊ก ก่อนอาหาร 3 มื้อ และก่อนนอน ใช้รักษาโลหิตจาง หรือ เลือดน้อย แก้เลือดลม แก้ไข้ ลดไข้ของเด็ก แก้หอบหืด ใช้หัวนำมาต้มกินใช้ขับพยาธิในลำไส้โดยใช้เถานำมาต้มกับน้ำดื่ม

ลักษณะทั่วไปของสบู่เลือด

สบู่เลือด จัดเป็นไม้เลื้อยหรือไม้เถา มีอายุราว 1 ปี มีลำต้นเป็นเถาเกลี้ยง กิ่ง และก้านของเถามีน้ำยางสีแดงคล้ายเลือด โดยจะงอกมาจากหัวขนาดใหญ่ ใต้ดิน หัวมีลักษณะกลมแป้น เปลือกหัวมีสีน้ำตาล เนื้อในสีขาวนวล มีรสชาติมัน เฝื่อน

           ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวรูปไข่ ออกแบบเรียงสลับ ขอบใบเว้าเล็กน้อย คล้ายรูปสามเหลี่ยม หรือ รูปหัวใจ ใบกว้าง 7-12 เซนติเมตร ยาว 6-11 เซนติเมตร ส่วนฐานใบรูปตัด หรือ เว้าเล็กน้อย และปลายใบตัด หรือ มีติ่งเล็กๆ ท้องใบเป็นมันวาว มีขนเล็กน้อย สามารถเห็นเส้นใบเด่นชัด มีก้านใบยาว 5-15 เซนติเมตร

           ดอก ออกเป็นช่อ ดอกเป็นแบบแยกเพศต่างต้นกัน ช่อดอกตัวผู้เป็นช่อแบบซี่ร่ม ยาวประมาณ 4-16 เซนติเมตร มีช่อย่อยเป็นกระจุก และมีก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงด้านในเป็นรูปไข่กลับ หรือ รูปสี่เหลี่ยมกลับมีอยู่ 3 กลีบ ยาวประมาณ 1.25 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงด้านนอกมี 6 กลีบ ยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ติดรวมกันอยู่ที่ก้าน มีลักษณะเป็นวงแหวน ก้านชูเกสรยาวประมาณ 1-1.75 มิลลิเมตร ส่วนช่อดอกเกสรเพศเมียจะออกหนาแน่นกว่า และจะออกติดกันมีกลีบเลี้ยง 1 กลีบ เป็นรูปรี ยาวประมาณ 0.75 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกคล้ายรูปไต ยาวประมาณ 0.75 มิลลิเมตร มีรังไข่ค่อนข้างเป็นรูปรี มีความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร กลีบของดอกมีสีส้ม และมีก้านดอกสั้นมาก

          ผล เป็นแบบผลสด เมล็ดเดียว มีเปลือกเมล็ดแข็ง ผลเป็นรูปไข่กลับ ยาว 7 มิลลิเมตร

 สบู่เลือด

สบู่เลือด

การขยายพันธุ์สบู่เลือด

สบู่เลือด เป็นพืชป่าโดยในธรรมชาติสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการใช้เมล็ดที่แก่ที่ร่วงลงพื้นงอกเป็นต้นใหม่แต่สำหรับการขยายพันธุ์เพื่อการเพาะปลูกนั้น สามารถทำได้ทั้งวิธีการเพาะเมล็ด รวมถึงการแยกหัวปลูก ส่วนวิธีการขยายพันธุ์ทั้ง 2 วิธี นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และการแยกหัว แยกเหง้า พืชอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางองค์ประกอบทางเคมีของหัว หรือ เหง้ารวมถึงสารสกัดจากหัวของสบู่เลือด พบว่ามีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ ดังนี้ Dehydroroemerine, xylopinine, Corydalmine, thailandine, tetrandrine, fanychiniline, tetrahydroalmatine, Cepharanthine และสาร stephanine เป็นต้น

โครงสร้างสบู่เลือด

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของสบู่เลือด

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาจากหัวของสบู่เลือดดังนี้

           ฤทธิ์ต้านมาลาเรีย มีการศึกษาวิจัยสารสกัดน้ำ (SA) สารสกัดสกัดไดคลอโรมีเทน (SD1 และ SD2) และสาร dehydroroemerine, tetrahydroalmatine, xylopinine และ cepharanthine จากต้นสบู่เลือด โดยนำไปทดสอบในหลอดทดลองต่อการต้านเชื้อมาลาเรียชนิด Plasmodium falciparum   W2 พบว่าสาร dehydroroemerine, cepharanthine และ SD1 มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ P. falciparum   W2 ได้ดีที่สุด ซึ่งค่าความเข้มข้นที่มีฤทธิ์ยับยั้งได้ 50% (IC50) มีค่าเท่ากับ 0.36, 0.61 ไมโครโมล และ 0.7 มคก./มล. ตามลำดับ (ในขณะที่ IC50 ของ chloroquine ต่อเชื้อมาลาเรียเท่ากับ 0.516 ไมโครโมล) และ IC50 ต่อการทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวในคนมีค่าเท่ากับ 10.8, 10.3 ไมโครโมล และมากกว่า 250 มคก./มล.ตามลำดับ ในขณะที่สาร cepharanthine, SD1 และ SA เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียชนิด P. berghei ในหนูถีบจักร พบว่าสาร SD1 และ SA ขนาด 150 มก./กก. สามารถลดระดับเชื้อมาลาเรียในเลือดได้ 89 และ 74% เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้อง และ 62.5 และ 46.5% เมื่อป้อนให้หนูกินในขณะที่ cepharanthine ขนาด 10 มก./กก. สามารถลดระดับเชื้อมาลาเรียในเลือดได้ 47% เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้อง และ 50% เมื่อป้อนให้หนูกิน ซึ่งยา chloroquine (ใช้เป็นยารักษามาลาเรีย) สามารถลดระดับเชื้อมาลาเรียได้ 96% ทั้งฉีด และกิน ส่วนปฏิกิริยาสัมพันธ์การใช้ยาร่วมระหว่าง chloroquine cepharanthine และ tetrahydropalmatine-xylopinine จะช่วยเสริมฤทธิ์ในการต้านเชื้อมาลาเรีย

          ฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด มีการศึกษาฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดของสารสกัดสมุนไพรสบู่เลือด โดยใช้ เกล็ดเลือดจากอาสาสมัครสุขภาพดี และเหนี่ยวนำให้เกิดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดด้วย ADP พบว่าสารสกัดจากเอทานอลของสบู่เลือดมีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่ม ของเกล็ดเลือดค่าร้อยละของการยับยั้ง (% inhibition) เท่ากับร้อยละ 67.5, 42.1, 31.1 และ 9.8 ที่ความเข้มข้น 100, 50, 25 และ 10 mg/ml ตามลำดับ และคำนวณค่า IC50 เท่ากับ 55.9 mg/ml ในขณะที่ ibuprofen ซึ่งในการทดลองนี้ใช้เป็น positive control สามารถยับยั้งการเกาะ กลุ่มของเกล็ดเลือดได้ร้อยละ 88.3, 81.8, 79.4 และ 75.4 ที่ความเข้มข้น 100, 50, 25 และ 10 mg/ml ตามลำดับ

          ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมีการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดสบู่เลือดด้วยวิธี DPPH assay พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยมีค่า IC50 เท่ากับ 164.77 mg/ml ในขณะที่ trolox ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระมาตรฐาน แสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่สูงกว่าโดยมีค่า IC50 เท่ากับ 15.58 mg/ml และสารสกัดสบู่เลือดยังคงแสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเมื่อทดสอบโดย FRAP assay โดยมีค่า FRAP value เท่ากับ 0.3572 ± 0.02 mmol Fe2+/ mg ของสารสกัด

           ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง มีการศึกษาวิจัยระบุว่าสาร Thailandine ที่พบในหัวสบู่เลือด มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งปอด โดยมีค่าเท่ากับ IC50-0.3 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร และไม่เป็นพิษกับเซลล์ปกติ และสาร stephanine มีฤทธิต้านเซลล์มะเร็ง HeLa, MDA-MB231 และ MCF-7 เท่ากับ 3.33, 5.66 และ 6.49 ไม โครโมลาร์ตามลําดับ ซึ่งใกล้เคียงกับยา paclitaxel ที่มีค่าเท่ากับ 2.29, 2.56 และ 3.99 ไมโครโมลาร์ ตามลําดับ)

            นอกจากนี้สารสกัดสบู่เลือดยังมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งช่องปาก โดยสารสกัดหยาบไดคลอโรมีเทนมีค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งการมีชีวิตของ เซลล์มะเร็งได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 78.62 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ส่วนสารสกัดหยาบเอทานอล มีค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งการมีชีวิตของ เซลล์มะเร็งได้ร้อยละ 50 เท่ากับ 231.60 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร

           ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ มีการทดสอบฤทธิในการยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย A. baumannii, P. aeruginosa, E. faecalis, K. pneumoniae และ C. albicans ของสารสกัดสบู่เลือดพบว่าสารสกัด ไดคลอโรมีเทน สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ A. baumannii ได้ดีที่สุด ซึ่งมีค่า MIC เท่ากับ 0.31 มิลลิกรัมต่อ มิลลิลิตร รองลงมาคือ E. faecalis, K. pneumoniae, C. albicans และ P. aeruginosa มีค่า MIC เท่ากับ 0.62, 1.25, 2.50 และ 10 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลําดับ ส่วนความเข้มข้นตํ่าสุดที่สามารถฆ่า (Minimum bactericidal concentration: MBC ) เชื้อ A. baumannii ได้ดีที่สุดที่ MBC เท่ากับ 0.62 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร รองลงมา คือ E. faecalis และ C. albicans ที่ MBC เท่ากับ 5 มิลลิกรัม ต่อมิลลิลิตร ตามด้วย P. aeruginosa และ K. pneumoniae เท่ากับ 10 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร และมากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลําดับ

            ส่วนสารสกัด เอทานอล สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของ A. baumannii ได้ดีที่สุดที่ MIC เท่ากับ 0.62 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร รองลงมา คือ E. faecalis และ C. albicans ที่ MIC เท่ากับ 1.25 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ตามด้วย K. pneumoniae, และ P. aeruginosa ที่ MIC เท่ากับ 5 และ 10 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลําดับ และสามารถฆ่าเชื้อ A. baumannii ได้ดีที่สุดที่ MBC เท่ากับ 1.25 มิลลิกรัม ต่อมิลลิลิตร รองลงมา คือ E. faecalis และ C. albicans ที่ MBC เท่ากับ 10 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ตามด้วย P. aeruginosa และ K. pneumoniae ที่ MBC มากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร

            นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพพบว่าสารสกัดจากสบู่เลือด มีฤทธิ์แก้ปวด ต้านการอักเสบ และยับยั้งเอนไซม์ acetylcholine sterase ได้ อีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของสบู่เลือด

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้สบู่เลือดเป็นยาสมุนไพร นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดที่เหมาะสม ที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ อีกทั้งไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นรายะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีที่ให้นมบุตร ไม่ควรใช้สบู่เลือดเป็นยาสมุนไพร เพราะยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัยรองรับ

เอกสาารอ้างอิง สบู่เลือด
  1. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์; 2545.

  2. ขวัญชัย รัตนมณี. ฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด และต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดสมุนไพรสบู่เลือด. thai journal of pharmacology Vol 36 (1). 2014. 36-44.

  3. โชติกา ภูวงศ์ และคณะ. การศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสบู่เลือด. เอกสารการประกอบการประชุมวิชาการต่างชาติ “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งที่ 11 วันที่ 27-28 มีนาคม 2562. 7 หน้า

  4. ฤทธิ์ต้านมาลาเรียของสารสกัดแอลคาลอยด์รากต้นสบู่เลือด. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

  5. Ingkaninan, K., Phengpa, P., Yuenyongsawad, S., & Khorana, N. (2006). Acetylcholinesterase inhibitors from Stephania venosa tuber. Journal of Pharmacy and Pharmacology, 58(5), 695-700.

  6. Semwal DK1, Badoni R, Semwal R, Kothiyal SK, Singh GJ, Rawat U. The genus Stephania (Menispermaceae): chemical and pharmacological perspectives. J Ethnopharmacol. 2010;132(2):369-83.

  7. Tappayuthpijarn P, Itharat A, Makchuchit S. Acetylcholinesterase inhibitory activity of Thai traditional nootropic remedy and its herbal ingredients. J Med Assoc Thai 2011;94 Suppl 7:S183-9.

  8. Semwal, D.K., Badoni, R., Semwal, R., Kothiyal, S.K., Singh, G.J.P., & Rawat, U. (2010). The genus stephania (Menispermaceae): Chemical and pharmacological perspectives. Journal of Ethnopharmacology, 132(2), 369-383.

  9. Guinaudeau H, Shamma M, Tantisewie B, Paradai K. Aporphine alkaloids oxygenated at C-7. J Nat Prod. 1982;45(3):355-7.

  10. Angerhofer CK, Guinaudeau H, Wongpanich V, Pezzuto JM, Cordell GA. Antiplasmodial and cytotoxic activity of natural bisbenzylisoquinoline alkaloids. J Nat Prod 1999;62(1):59-66.

  11. Le, P.M., Srivastava, V., Nguyen, T.T., Pradines, B., Madamet, M., Mosnier, J., & Lee, H. (2017). Stephanine from stephania venosa (Blume) spreng showed effective antiplasmodial and anticancer activities, the latter by inducing apoptosis through the reverse of mitotic exit. Phytotherapy Research, 31(9), 1357-1368.

  12. Ingkaninan K, Yuyaem T, Thongnoi W. Anti-cholinesterase activity of Stephania. Naresuan University Journal. 2001;1(1):35-40.

  13. Makarasen, A., Sirithana, W., Mogkhuntod, S., Khunnawutmanotham, N., Chimnoi, N., & Techasakul, S. (2011). Cytotoxic and antimicrobial activities of aporphine alkaloids isolated from stephania venosa (Blume) spreng. Planta Medica, 77(13), 1519-1524.