เปลาโนทอล

เปลาโนทอล

ชื่อสามัญ Plaunotol, (2E, 6Z, 10E)-7-hydroxymethyl-3, 11, 15-trimethyl-2, 6, 10, 14-hexadecatetraen-1-0l


ประเภทและข้อแตกต่างสารเปลาโนทอล

สารเปลาโนทอล(plaunotol) จัดเป็นสารทุติภูมิ (Secondary metabolite) ที่อยู่ในรูปอะโชคลิกไดเทอร์ปีนแอลกอฮอล์ (Acyclic diterpene alcohol) โดยเป็นไดเทอร์ฟินอยด์ที่ได้มาจากกระดานการสังเคราะห์ในพืชธรรมชาติของ geranylgerniol ที่มีสารทดแทนไฮดรอกซีเพิ่มเติมที่ตำแหน่ง 18 ซึ่งมีสูตรทางเคมี คือ C20H34O2 และมีน้ำหนักโมเลกุล 306.256 g/mol  ส่วนสมบัติทางเคมีของเปลาโนทอล พบว่ามีลักษณะเป็นของเหลวเหนียวข้น มีสีเหลืองถึงน้ำตาลอ่อน มีกลิ่นเฉพาะตัว รสขม ไม่ละลายน้ำ แต่สามารถละลายได้ในตัวทำละลายอินทรีย์หลายชนิด เช่น เอทานอล เมทานอล อีเทอร์ เอทิลอะซีเตต ไดออกเซน คลอโรฟอร์ม โทลูอีน และน้ำมันพืช เป็นต้น สารเปลาโนทอล ถูกแยกได้เป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1978 สำหรับประเภทของสารเปลาโนทอลนั้น จากการศึกษาค้นคว้าพบว่ามีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสารเปลาโนทอล

สารเปลาโนทอล(plaunotol) เป็นสารที่สามารพบได้ในส่วนลำต้นและใบของเปล้าน้อย (Croton sublyratus Kurz หรือ ชื่อใหม่ Croton stellatopilosus Ohba)  โดยในปี ค.ศ.1978 นักวิทยาศาสตร์ของบริษัทซังเกียว ของประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการสำรวจสมุนไพร ในประเทศไทยร่วมกับกรมป่าไม้และได้รายงานการค้นพบสารสำคัญได้จากใบเปล้าน้อย คือ เปลาโนทอล (Plaunotol) ต่อมาได้มีการรายงานการศึกษาวิจัยว่าในบรรดาพืชสกุล Croton sp. มีรายงานว่ามีเพียง C.stellapiiosus Ohba. (หรือ Croton sublyratus Kurz.) เพียงสกุลเดียวเท่านั้นที่มีการสะสมสาร planotol โดยมีรายงานว่ามีการสะสมในใบเปล้าน้อย ประมาณ 0.5-0.6 % (W/W dry weight)

            ซึ่งแต่เดิมยังไม่มีรายงานใด แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการสังเคราะห์เปลาโนทอลในธรรมชาติ มีแต่รายงานการถึงสมมุติฐานของการเกิดเปลาโนทอล ในปี ค.ศ.1998 โดยรายงานการค้นพบ Geranylgeraniol ซึ่งเป็นสารที่มีการสะสมในขณะทำการทดลองเลี้ยงเซลล์แขวนลอย (Cell suspension) ของเปล้าน้อย ซึ่งสารด้งกล่าวมีลักษณะโครงสร้างเคมีใกล้เคียงกับรูปอย่างง่ายของเปล่าโนทอลคือ 18-hydroxygeranylgeraniol และเมื่อนำ Geronylgeraniol มาผ่านกระบวนการ 18-hydroxylation ก็จะได้ 18-hydroxygeranylgeraniol หรือ สารเปลาโนทอล

เปล้าน้อย

ปริมาณที่ควรได้รับสารเปลาโนทอล

สำหรับขนาด และปริมาณของสารเปลาโนทอล (plaunotol) ที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยต่อวันนั้น ที่มีการกำหนดขนาด และปริมาณการใช้ซึ่งผ่านการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) จะเป็นการใช้ในการรักษาโรคกระเพาะอาหาร ลดการหลั่งกรดในกระเพาะ กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อทำให้แผลในกระเพาะหายเร็วขึ้น โดยมีขนาด และปริมาณการใช้ ครั้งละ 80 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ โดยมีทั้งในรูปแบบของเหลวบรรจุแคปซูล (soft gelatin capsule) ขนาด 80 มิลลิกรัม และชนิดผงบรรจุของ (micro granule)

ประโยชน์และโทษสารเปลาโนทอล

มีการใช้ประโยชน์ของสารเปลาโนทอล (plaunotol) โดยหลักๆ แล้วจะใช้เป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ กันได้ หลายชนิดเช่น แผลในกระเพาะอาหาร (gastric ulcers)  แผลในลำไส้ตอนบน (duodenal ulcers) และยังสามารถฆ่าเชื้อ Helicobacter pylon ที่ก่อให้เกิดโรคแผลในทางเดินอาหารได้อีกด้วย โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ทำให้ขนาดแผลลดลง กระตุ้นทำให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ลดการหลั่งกรด ลดปริมาตรของน้ำย่อย ทำให้ระบบป้องกันการดูดซึมกรดของเนื้อเยื่อบุกระเพาะอาหารซึ่งอาจถูกทำลายด้วยสารบางอย่างกลับดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการสังเคราะห์สารประกอบของเยื่อเมือก (mucosa) และพรอสต้าแกลนดิน (prostaglandins) ป้องกันการแตกสลายของชั้นเมือก  (mucosa barrier) และมีฤทธิ์โดยตรงต่อตำแหน่งเยื่อเมือก (mucosa site) อีกทั้งไม่มีผลข้างเคียงเหมือนยาสังเคราะห์ที่ใช้ในปัจจุบันอีกด้วย

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารเปลาโนทอล

มีรายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสาร เปลาโนทอล (plaunotol) ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะเป็นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหาร และฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของแผลในกระเพาะอาหาร โดยผลการศึกษาวิจัยส่วนใหญ่ระบุว่า สาร plaunotol จะช่วยเพิ่ม defense factors เช่น เพิ่มการไหลเวียนโลหิตในเยื่อบุกระเพาะอาหาร เพิ่มการหลั่งสาร bicarbonate gastric และ mucous ในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มปริมาณ prostaglandin ในเยื่อบุกระเพาะอาหาร ทำให้จัด plaunotol เป็น cytoprotective antiulcer agent นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยพบว่าเชื้อแบคทีเรีย H  pylori ที่เป็นสาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหาร โดยเมื่อนำสาร plaunotol มาทดสอบกับเชื้อ H pylori จำนวน 15 สายพันธุ์ในหลอดทดลอง ก็พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อ H pylori ได้ โดยมีค่า MIC50 และ MIC90 เท่ากับ 6.25 และ 12.5 mg/L ตามลำดับ ส่วนการทดสอบในสัตว์ทดลองที่ทำให้เกิด gastritis ด้วยเชื้อ H pylori  พบว่าจำนวนเชื้อลดลงอย่างชัดเจน โดย plaunotol มีฤทธิ์เป็น bactericide โดยออกฤทธิ์ที่ cell membrane ของเชื้อ

โครงสร้างเปลาโนทอด

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ถึงแม้ว่าจากการศึกษาทางเภสัชวิทยาของเปลาโนทอล จะรวมถึงประโยชน์ในการรักษาโรคกระเพาะอาหารและแผลในกระเพาะอาหาร และจากการใช้เปลาโนทอล เป็นยารักษาโรคกระเพาะจะผ่านการศึกษาถึงความปลอดภัยก่อนนำออกจำหน่าย และพบว่ามีประสิทธิภาพดี รวมถึงมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาสังเคราะห์ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามการใช้เปล้าน้อยในการรักษาโรคกระเพาะก็ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ในการใช้เปลาโนทอลในรูปแบบยารักษาโรคกระเพาะอาหาร และแผลในกระเพาะอาหารก็อาจมีอาการข้างเคียงบ้าง แต่ก็พบได้ในปริมาณน้อย โดยมีอาการข้างเคียงคือ อาจมีอาการท้องเสีย ท้องร่วง แน่นท้อง ท้องผูก มีผื่นขึ้น เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง เปลาโนทอล
  1. วีณา วิรัจฉริยากูล,อ้อมบุญ ล้านรัตน์,เอมอร โสมนพันธุ์ และนพมาศ สรรพคุณฯ 2533.ยาจากสมุนไพร. กรุงเทพมหานคร.มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. เสาวลักษณ์ พงษ์ไพจิตร, วัชรินทร์ รุกขไชวศิริกุล, เมตตา องค์สกุล, ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย Helicobacter pylori ของสารสกัดจากพืชสมุนไพรไทยบางชนิด.รายงานการวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.2543.25 หน้า
  3. สุพจน์ อัศวพันธะนกุล และคณะ.เปล้าน้อย...สมุนไพรไทย เพื่อประโยชน์ของใคร? ข่าวสารสมุนไพร. กรุงเทพมหานคร.โครงการหนังสือเกษตรชุมชน.หน้า 31-40
  4. พรหทัย พุทธวัน, สัมฤทธิ์ รักพนาลี, อานันท์ ณ.หนองคาย.การวิเคราะห์สารสำคัญ และกิจกรรมการต้านอนุมูลอิสระของพืชสมุนไพรท้องถิ่นในภาคเหนือเพื่อพัฒนาเป็นชาสมุนไพรสำเร็จรูป.วารสารวิทยาศาสตร์ มข.ปีที่ 46.ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2561.หน้า 235-247
  5. ชมรมสมุนไพรไทย. 2539. สมุนไพรไทยยาอายุวัฒนะ กรุงเทพมหานคร.จัดพิมพ์โดยรพไฟหนังสือ. หน้า 151.
  6. เปล้าน้อย.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedeug.com/main.php?action=viewpage&pid=85
  7. Shiratorl, K., Watanabe, S., Taceuchi, T., and Shimizu, K 1990. Plaunltol inhibits postprandial gastrin release by its unique secretin-releasing action in humans. Digestive Diseases and Sciences 35(9):1140-1145.
  8. Koga T Kawada H., Ytsui Y., Domom H., lshii, C. and Yasuda H, 1996a. In – vitro and in-vivo antibacterial activity of plaunotol.a cytoprotective anticulcer agent against Helicobacter pylori J Antimecrob Chemother 37:919-929.
  9. Takagi, A., Koga, Y., Alba. Y ., Kabir . A. M., Watanalbe. S., Ohta-tada, U., Osaki, T., Kamiya , S., and Miwa , T., 2000. Plaunotol suppresses interteukin-8 secretion induced by Helicobacter pylori Therapeutic effecl of plaunotol on H pylori tnfectionJoumal of Gastroenteroiogy and Hepatalogy 15:374-380
  10. Ushlyama s Matsuda K Asai F Konrlyama T., Oda T., lijima Y., et al. 1985. The anti-ulcer mechanism of plaunotol. Of [laaunatol Progress in Medicine 5, Suppl 1:825-831.
  11. Chang J H Watanabe S Shiratori K Morlyoshi Y., and Takeuchi T.1989. Plaunotol stimulates endogenous secretin release and exocrine pancreatic seretion in rats. Digestion 44(3):142-147.
  12. Koga T., Kawada H., Ytsul Y Domom, H., lshii, C. and Yasuda K 1996b. Bactericidal effect of plaunotol a cytoprotective anticulcer agent against Helicobacter pylori J Antimicrob Chemother 38:387-397
  13. Okabe, S., Tabata K., and Kunimi H 1982 Effect of (2E,6Z10E)-7-hydroxymethyl-3,11,15-trimethyl-2,6,10,14-hexadecatetraen-1-ol(CS-684) on Aspirin Ulcers in rats and dogs, Pharmacometics 23(5):758-880.
  14. Ogiso A Miishima H Kobayashi S 1997. Diterpene alcohol from Croton-plants. Japan Kokai 77(70):46-50.