แซนทอร์ไรซอล

แซนทอร์ไรซอล

ชื่อสามัญ Xanthorrhizol, 2-methyl-5[(2r)-6-methylhept-5-en-2-yl] phenol,

ประเภทและข้อแตกต่างของสารแซนทอร์ไรซอล

สารแซนทอร์ไรซอล (Xanthorrhizol, XNT) จัดเป็นสารเทอร์ปีน ชนิดหนึ่งในกลุ่มเซสควิเทอร์ปีน (sesquiterpene) ที่พบได้ในพืชธรรมชาติ มีสูตรทางเคมี คือ C15H22O และมีมวลโมเลกุล 218.33 g/mol โดยจะมีลักษณะเป็นน้ำมันไม่มีสีหรืออาจเป็นสีเหลืองอ่อน มีความไวต่อแสง สำหรับประเภทของสารแซนทอร์ไรซอล จากการศึกษาวิจัยมีเพียงชนิดเดียว เท่านั้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของสารแซนทอร์ไรซอล

สารแซนทอร์ไรซอล (Xanthorrhizol) สามารถพบได้ในพืชตามธรรมชาติ โดยสามารถพบได้จากน้ำมันหอมระเหยในเหง้าของว่านชักมดลูก ชนิด Curcumar xanthorrhiza Roxb. ว่านคันทมาลา (Curcuma sp.) และว่านนางคำ (curcuma aromatic Salisb.) ซึ่งเป็นพืชในวงศ์ขิง (Zingiberaceae) ที่มีการใช้ในตำรับตำรายาไทยมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว ซึ่งนอกจากสารแซนทอร์ไรซอล และยังพบสารที่สำคัญอื่นๆ อีกเช่น สารกลุ่มไดแอริลแฮปตานอยด์ ได้แก่ (curcumin, demethoxy curcumin ฯลฯ) สารกลุ่มไดแอริลเพนตานอยด์ ได้แก่ (3, 3’-bis- (7, 7’-dihydroxy-6-6’-dymethoxyphenyl)-penta-(3E,2E’)-3, 2’-dien-1-one เป็นต้น)

แซนทอร์ไรซอล

ปริมาณที่ควรได้รับจากสารแซนทอร์ไรซอล

สำหรับขนาดและปริมาณของสารแซนทอร์ไรซอล (Xanthorrhizol) ที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยต่อวันนั้นในปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดขนาดและปริมาณการใช้รวมถึงเกณฑ์การใช้สารดังกล่าวอย่างชัดเจน เนื่องจากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาวิจัยในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองเท่านั้น ยังไม่มีการนำมาใช้ในมนุษย์ส่วนที่มีการนำประโยชน์มาใช้ในด้านต่างๆ นั้นส่วนมากจะเป็นการนำมาใช้เป็นส่วนผสมกับสารอื่นๆ ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยขนาด และปริมาณในการนำมาใช้เป็นส่วนผสมนั้นจะขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละผลิตภัณฑ์รวมถึงข้อกำหนดในการอนุญาตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศนั้นๆ

ประโยชน์และโทษของสารแซนทอร์ไรซอล

ในปัจจุบันในต่างประเทศมีการนำสารแซนทอร์ไรซอล (Xanthorrhizol) มาใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยนำมาใช้เป็นส่วนผสมกับสารอื่นๆ ในผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาดในช่องปาก อาทิเช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก หมากฝรั่ง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณต่างๆ นอกจากนี้ในรายงานการศึกษาวิจัยยังพบว่าสารแซนทอร์ไรซอล มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ เช่น ลดน้ำตาลในเลือด ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อจุลชีพ ต้านมะเร็งมีฤทธิ์แก้ไขลดปวด มีฤทธิ์ปกป้องไตและตับ รวมถึงมีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง อีกด้วย

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องของสารแซนทอร์ไรซอล

มีรายงานการศึกษาวิจัยของสารแซนทอร์ไรซอล เกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายฉบับดังนี้

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาผลของ xanthorrhizon ต่อฤทธิ์ต้านการอักเสบพบว่า มีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบใน macropharge และในสมองหนูทดลอง โดยยับยั้งการทำงานของสารก่อกระบวนการอักเสบ เช่น TNF-α, IL-6 ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ cyclooxygenase-2 (COX-2)  รวมถึงยับยั้งการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับเอนไซม์ของการอักเสบ เช่น nitricoxide synthase, COX-2 และยับยั้งการกระตุ้นของยีน nuclear factor κ-B ในหนูทดลองที่ถูกทำให้อักเสบด้วย 12-O-tetradecanoylphorbolacetate นอกจากนั้นยังมีผลต่อการทำงานของยีนที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบในหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้ลำไส้อักเสบอีกด้วย

           ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง มีรายงานระบุว่าสาร Xanthorrhizol  มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ CT2 และ HT29 ในหลอดทดลอง ส่วนการศึกษาในหนูทดลองพบว่าสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ CT26 ไปยังปอดได้ ส่วนการศึกษาผลการยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งตับของมนุษย์ HepG2 พบว่าสาร xanthorrhizol มีฤทธิกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเกิดการตายแบบ apoptosis โดยมีกลไกลการออกฤทธิ์ผ่านโปรตีนกลุ่ม B-cell lymphoma 2 (Bcl-2) นอกจากนี้ยังพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวและการเจริญของเซลล์มะเร็งเต้านมชนิด MCF-7 และ MDA-MB 231 รวมถึงกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งช่องปากชนิด squamous ตายแบบ apoptosis ในหนูทดลอง อีกด้วย

           ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ มีการศึกษาวิจัยระบุว่า Xanthorrhizol  มีฤทธิ์ยับยั้ง เชื้อที่เกี่ยวข้องกับการเกิดฟันผุ ได้แก่ Streptococcusmutans, S. salivarius, S. sobrinus และ S. sanguis เชื้อ ที่ทำให้เหงือกอักเสบ ได้แก่ Actinomyces viscosus และ Porphyromonas gingivalis และเชื้อก่อโรคในอาหาร ได้แก่ Bacillus cereus, Costridiumperfingens, Listeria monocytogenes และ Staphylococcus parahaemolyticus และยังมีความสามารถยับยั้งการสร้าง biofilm ของ S. mutans โดยมีการทดลองพบว่าสารสกัด 70 % เอธานอลแสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ S. aureus, S. mutans และ B. subtilis รวมถึง สาร xanthorrhizol ยังมีผลยับยั้งการเจริญของราหลาย ชนิด ได้แก่ C.albicans  และยังสามารถยับยั้งการสร้าง biofilms ของ C.albicans, C.glabrata, C.guilliermondii และ C.parapsilosis นอกจากนี้ยังพบรายงาน ว่ามีฤทธิ์ต่อ Aspergillus niger, Fusarium oxysporum, Rhizopus oryzarae, Trichophyton mentagrophytes, Malassezia furfur และ M. pachydermatis อีกด้วย

           นอกจากนี้ยังมีรายงานอีกฉบับหนึ่งระบุว่า สาร xanthorrhizol จากว่านชักมดลูก (Curcuma xanthorrhizol) มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราฉวยโอกาส ได้แก่ Aspergillus flavus, A. fumigatus, A.niger, Fusarium oxysporum, Rhizopus oryzae  และ Trichophyton mentagrophytes  ด้วยความเข้มข้นของสารต่ำสุดที่ยับยั้งเชื้อราได้ (MIC) เท่ากับ 2, 2, 2, 4, 1 และ 1 มคก./มล. ตามลำดับ และความเข้มข้นของสารต่ำสุดที่ฆ่าเชื้อราได้ (MFC) เท่ากับ 4, 4, 4, 8, 2 และ 2 มคก./มล. ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับยา amphotericin B พบว่า สาร xanthorrhizol ออกฤทธิ์ยับยั้งและฆ่าเชื้อรา Aspergillus และ T.mentagrophytes ได้ต่ำกว่า amphotericin B แต่ออกฤทธิ์ยับยั้งและ ฆ่าเชื้อรา R.oryzae  ได้ดีกว่า และออกฤทธิ์ยับยั้งและ ฆ่าเชื้อรา F.oxysporum  เท่ากัน อีกทั้งยังแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Streptococcus mutans ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฟันผุโดยความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อนี้ได้ คือ 2 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร และที่ความเข้มข้น 5 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร สามารถฆ่าเชื้อ S. Mutans ได้ภายในเวลา 1 นาที อีกด้วย

           ฤทธิ์ลดน้ำตาลและฤทธิ์ลดไขมันในเลือด มีผลการศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลและฤทธิ์ลดไขมันใน เลือดของสารสกัดชั้น เอธานอลและสาร xanthorrhizol ในหนูทดลองที่ถูกทำให้อ้วนด้วยอาหารไขมันสูง พบว่า ทั้งสารสกัดและสาร (104) มีฤทธิ์ลดปริมาณอินซูลินน้ำตาล ไขมันอิสระ และไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด รวมถึงลดไขมันที่สะสมในตับด้วย

           ฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน มีการศึกษาการยับยั้งการเกิดออกซิเดชันในไลโพโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (LDL) ของมนุษย์ในหลอดทดลองยืนยันว่า curcumin, demethoxycurcumin, bisdemethoxycurcumin และ xanthorrhizol เป็นสารต้านออกซิเดชันของเหง้าว่านชักมดลูกชนิด C. xanthorrhiza

           ฤทธิ์ปกป้องตับไต จากการศึกษาฤทธิ์ปกป้องไตของ xanthorrhizol พบว่า สาร มีฤทธิ์ปกป้องไตจากการเหนี่ยวนำให้ไตเสียหายโดยใช้ cisplatin ในหนูทดลองและจากการทดลองฤทธิ์ปกป้องตับ พบว่าสารสกัดจากเหง้า และ สาร xanthorrhizol มีฤทธิ์ปกป้องตับจากการเหนี่ยวนำด้วยสารต่างๆ เช่น α-galactosamine, cisplatin และ carbon tetrachloride

           ฤทธิ์เหมือนเอสโตรเจน มีรายงานการศึกษาผลของ xanthorrhizol  ซึ่งเป็นสารสำคัญที่แยกจากเหง้า C.xanthorrhiza ต่อฤทธิ์เหมือนเอสโตรเจนโดยใช้เซลล์เพาะเลี้ยงไตลิง COS-7 และ เซลล์มะเร็งเต้านม MCF-7 พบว่า สารนี้จับกับตัวรับเอสโตรเจนและออกฤทธิ์เหมือนเอสโตร-เจนโดยใช้กลไกแบบผ่านยีน

โครงสร้างแซนทอร์ไรซอล

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

มีการศึกษาปฏิกิริยาระหว่างสมุนไพร กับยา โดยมีการทดลองให้ xanthorrhizol ร่วมกับยารักษามะเร็งเต้านม tamoxifen ในการรักษาหนูทดลองที่ถูกปลูกถ่ายเซลล์มะเร็งเต้านม MCF-7 พบว่าก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีตัวบ่งชี้การเจริญของมะเร็งเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในการรักษามะเร็งเต้านมด้วยยา tamoxifen จึงไม่ควรใช้ร่วมกับ xanthorrhizol และสารสกัดเหง้าว่านชักมดลูก ชนิด C.xanthorrhiza นอกจากนี้ยังมีการศึกษาด้านพิษวิทยาของสาร xanthorrhizol (XNT) การให้ XNT ขนาด 500 มก./กก.ทางปากเพียงครั้งเดียว ไม่พบการตายในหนูทดลอง ส่วนที่จะใช้ว่านชักมดลูกในรูปแบบต่างๆ เพื่อหวังผลในสรรพคุณและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารแซนทอร์ไรซอล นั้น เนื่องจากว่านชักมดลูกมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งเมื่อได้รับฮอร์โมนมากเกินไปอาจจะมีผลไปกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งหรือเนื้องอกให้โตขึ้นได้ รวมถึงข้อควรระวังเมื่อรับประทานว่านชักมดลูกติดต่อกันเป็นเวลานานหรือรับประทานเกินขนาด อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง และไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาท่อน้ำดีอุดตัน เนื่องจากว่านชักมดลูกมีฤทธิ์กระตุ้นทางเดินน้ำดีได้

เอกสารอ้างอิง แซนทอร์ไรซอล
  1. ราวิวรรณ แก้วอมตวงศ์. สารมุติยภูมิและฤทธิ์ทางชีวภาพของว่านชักมดลูกที่จำหน่ายในท้องตลาดไทย. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีที่ 19. ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2560. 22 หน้า
  2. สาร Xanthorrhizolจากว่านชักมดลูกยับยั้งเชื้อราฉวยโอกาส.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. ฤทธิ์ต้านเชื้อ Steptococcus mutans จากว่านชักมดลูก. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. Lin, S. et al. 1996. “Protective and therapeutic effect of the Indonesian medicinal herb Curcuma xanthorrhiza on α-D-galactosamine-induced liver damage”.Phytother. Res. 10, 131-135.
  1. Tri, H. et al. 2007. “Regulation of p53-, Bcl-2-and caspase-dependent signaling pathway in xanthorrhizol-induced apoptosis of HepG2 hepatoma cells”.Anticancer Res. 27, 965-971.
  2. Rukayadi, Y. and Hwang, J. K. 2007. “In vitro anti-Malassezia activity of xanthorrhizol isolated from Curcuma xanthorrhiza Roxb”. Lett. Appl. Microbiol. 44, 126-130.
  3. Yanti, A. et al. 2009. “Estrogenic activity of xanthorrhizol isolated from Curcuma xanthorrhiza Roxb”. Biol. Pharm. Bull.32, 1892-1897.
  4. Rukayadi, Y. and Hwang, J. K. 2006. “In vitro activity of xanthorrhizol against Streptococcus mutans biofilms”. Lett. Appl. Microbiol. 42, 400-404.
  5. Noomhorm, N. et al. 2014. “In vitro and in vivo effects of xanthorrhizol on human breast cancer MCF-7 cells treated with tamoxifen”. J. Pharmacol. Sci. 125, 375-385.
  6. Rukayadi, Y. et al. 2006. “In vitro anticandidal activity of xanthorrhizol isolated from Curcuma xanthorrhiza Roxb”. J Antimicrob. Chem. 57, 1231-1234.
  7. Lim, C. S. et al. 2005. “Antioxidant and antiinflammatory activities of xanthorrhizol in hippocampal neurons and primary cultured microglia”. J. Neurosci. Res. 82,831-838.
  8. Yamazaki M, Maebayashi Y, Iwase N, Kaneko T. Studies on pharmacologically active principles from Indonesian crude drugs. I. Principle prolonging pentobabitol-induced sleeping time from Corcuma xanthorrhiza Roxb. Chem Pharm Bull. 1988;36 (6): 2070-2074.
  9. Itokawa, H. et al. 1985. “Studies on the antitumor bisabolane sesquiterpenoids isolated from Curcuma xanthorrhiza”.Chem. Pharm. Bull. 33, 3488-3492.
  10. Lee, L. Y. et al. 2008. “Antibacterial activity of xanthorrhizol isolated from Curcuma xanthorrhiza Roxb. against foodborne pathogens”. J. Food Protect. 71, 1926-1930.
  11. Cheh, Y. H. et al. 2008. “Antiproliferative property and apoptotic effect of xanthorrhizol on MDA-MB-231 breast cancer cells”. Anticancer Res. 28, 3677-3689.
  12. Kim, M. B. et al. 2014. Antihyperglycemic and anti-inflammatory effects of standardized Curcuma xanthorrhiza Roxb. extract and its active compound xanthorrhizol in high-fat diet-inducedobese mice.http://dx.doi.org.10.1155/2014/205915.
  13. Rukayadi, Y. and Hwang, J. K. 2013. “In vitro activity of xanthorrhizol isolated from the rhizome of Javanese turmeric (Curcuma xanthorrhiza Roxb.) against Candida albicans biofilms”. Phytother. Res. 27,1061-1066.
  14. Choi, M. A. et al. 2005. “Xanthorrhizol, a natural sesquiterpenoid from Curcuma xanthorrhiza, has an anti-metastatic potential in experimental mouse lung metastasis model”. Biochem. Biophys.Res. Commun. 326, 210-217.
  15. Mangunwadoyo, W. et al. 2012. “Antimicrobial and identification of active compounds of Curcuma xanthorrhiza Roxb”. Intern. J. Basic Appl. Sci. 12, 69-78.
  16. Cho, J. Y. et al. 2011. “Xanthorrhizol attenuates dextran sulfate sodium-induced colitis via the modulation of the expression of inflammatory genes in mice”. Life Sci. 88, 864-870.