รูติน

รูติน

ชื่อสามัญ Rutin, Rutoside, quercetin-3-O-rutinoside

ประเภทและข้อแตกต่างรูติน

รูติน (Rutin) เป็นสารพฤกษเคมี ชนิดหนึ่งที่พบได้ในธรรมชาติ จัดอยู่ในกลุ่ม ไบโอฟลาโวนอยด์ (Bioflavonoid) ประเภท flavonol มีสูตรทางเคมี คือ C27 H30 O16 มีมวลโมเลกุล 610.521 g/mol มีจุดหลอมเหลวที่ 242 เซลเซียส โดยมีคุณสมบัติเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำได้ ซึ่งลักษณะของรูติน จะเป็นผลึกรูปเข็ม ที่ประกอบด้วยน้ำ 3 โมเลกุล โดยจะทำให้ปราศจากน้ำได้ที่ 110 องศาเซลเซียส และ 10 มิลลิเมตร ปรอทเป็นเวลา 24 ชั่วโมง รูติน 1 กรัม ละลายได้ในน้ำประมาณ 8 ลิตร และละลายในน้ำร้อนประมาณ 200 มิลลิลิตร ละลายในเมทานอลที่เดือด 7 มิลลิลิตร ทั้งนี้ชื่อของรูติน (Rutin) มาจากพืชชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Ruta graveolens ซึ่งเป็นพืชที่พบสารรูตินด้วย สำหรับประเภทของรูตินนั้นจากการศึกษาวิจัยพบว่ามีเพียงชนิดเดียว

แหล่งที่พบและแหล่งที่มารูติน

รูตินเป็นสารพฤกษาเคมีที่พบได้ในธรรมชาติโดยเป็นสารไบโอฟลาโวนอยด์ที่พบมากในพืช ผัก ผลไม้เปลือกแข็งและสมุนไพรหลายชนิดในธรรมชาติ อาทิ เช่น บัควีท (Buckwheat) พืชตระกูลส้มต่างๆ พริกแดง ไวน์แดง ผิวมะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง หัวหอม ราสเบอร์รี่ แอปเปิล มะเดื่อฝรั่ง ใบแปะก๊วย ลูกพลัม องุ่น มะกอก เป็นต้น นอกจากนี้จากการศึกษาวิจัยยังมีรายงานว่าพบสารรูตินในทองพันชั่ง ใบตะขบฝรั่ง และผักบุ้งขันอีกด้วย แต่ทั้งนี้แหล่งที่จะพบปริมาณสารของสารรูตินมากที่สุด คือ เปลือกของผลไม้ตระกูลส้ม (Citrus)

รูติน

ปริมาณที่ควรได้รับรูติน

สำหรับประมาณและขนาดการใช้สารรูติน นั้นในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์ของขนาดและปริมาณการใช้อย่างชัดเจน เนื่องจากการใช้สารรูตินในปัจจุบันนั้นจะเป็นการใช้ร่วมกับสารสกัดชนิดอื่นมากกว่าใช้เป็นสารสกัดเดี่ยวๆ แต่ทั้งนี้ในต่างประเทศได้มีการสกัดเอาสารรูติน มาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในรูปแบบยาเม็ด 500 มิลลิกรัม ที่ประกอบไปด้วย Rutin concentrate 500 mg โดยมีการกำหนดเกณฑ์การรับประทานไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/วัน

ประโยชน์และโทษรูติน

รูตินถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านสุขภาพ และความงาม โดยถูกนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในรูปแบบต่างๆ รวมถึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และเครื่องสำอางต่างๆ เช่น โลชั่นทาผิว และครีมบำรุงผิวหน้า เป็นต้น เนื่องจากมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ เสริมสร้างสุขภาพที่ดีของหลอดเลือด ปรับปรุงการไหลเวียนโลหิต ลดคอเลสเตอรอล ช่วยให้หลอดเลือดฝอย และหลอดเลือดดำแข็งแรง และช่วยรักษาอาการเส้นเลือดขอด สำหรับในทางการแพทย์นั้นมีการศึกษาวิจัยพบว่าสารรูติน สามารถช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ต้านไวรัส ต้านการอักเสบ ต้านจุลินทรีย์ ต้านการเกิดเนื้องงอกและเซลล์มะเร็ง แก้อาการภูมิแพ้ ยังยังการเกิดลิ่มเลือด ต้านฮีสตามีน และยังช่วยเสริมสร้างระบบหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องรูติน

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีรายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของรูติน หลายฉบับดังนี้ มีการศึกษาวิจัยพบว่า รูตินช่วยทำให้วิตามินซี ถูกดูดซึมไปทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยจะทำให้มีส่วนช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ ซ่อมแซมและให้ความแข็งแรงเซลล์ผิว ชะลอการเกิดริ้วรอยบนผิวหนัง ทำให้ผิวมีความยืดหยุ่น ช่วยในการสร้างคอลลาเจน และเมื่อวิตามินซี ทำงานร่วมสารกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับผนังหลอดเลือดฝอย ป้องกันหลอดเลือดเปราะแตกง่าย และช่วยลดอาการเส้นเลือดขอดได้
           ฤทธิ์ลดการอักเสบ มีการศึกษาวิจัยใบผักบุ้งขัน (Ipomoea asarifolia) ในการแก้พิษของแมงป่อง (Tityus serrulatus) โดยฉีดสารสกัดน้ำ ขนาด 10, 20 และ 30 มก./กก. ส่วนสกัดไดคลอโรมีเทน และส่วนสกัดเอ็น-บิวทานอล ขนาด 20 มก./กก. ส่วนสกัดเอทิลอะซีเตรท ขนาด 10, 15 และ 20 มก./กก. และสารรูติน ขนาด 2, 2.5 และ 5 มก./กก. เข้าทางหลอดเลือดดำของหนูเม้าส์ก่อน 2-3 นาที หลังจากนั้นฉีดพิษของแมงป่อง ขนาด 0.8 มก./กก. เข้าทางช่องท้องของหนู ผลพบว่าสารสกัดน้ำ ส่วนสกัดทั้ง 3 และ รูตินในทุกขนาดที่ใช้ จะลดการเคลื่อนย้ายของเซลล์เม็ดเลือดขาวเข้าไปในช่องท้อง และลดระดับของ interleukin (IL)-6, IL-12 และ IL-1β ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ แสดงว่าสารสกัดจากใบผักบุ้งขันและสารสำคัญกลุ่มฟลาโวนอยด์ คือ รูติน มีฤทธิ์ลดการอักเสบเนื่องจากพิษของแมงป่องได้
           นอกจากนี้ยังมีการศึกษากลไก การออกฤทธิ์ปกป้องกระเพาะอาหารของสารสกัดเมทานอลจากใบตะขบฝรั่ง (Muntingia calabura L.; MEMC) ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยวิธีการผูกที่รอยต่อระหว่างกระเพาะอาหารกับลำไส้เล็ก (pylorus ligation) โดยการแบ่งหนูเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว กลุ่มที่ 1–5 จะได้รับ 8% Tween 80 (ชุดควบคุมผลลบ), ยารักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร ranitidine ขนาด 100 มก./กก. (ชุดควบคุมผลบวก), หรือ MEMC ขนาด 100, 250 หรือ 500 มก./กก. ตามลำดับ โดยการป้อนให้กินวันละครั้ง เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นจึงเหนี่ยวนำให้หนูเกิดแผลในกระเพาะอาหาร จากผลการทดลองพบว่า MEMC สามารถลดขนาดของแผลใน กระเพาะอาหาร ทำให้การหลั่งกรดในกระเพาะลดลง และ MEMC ที่ขนาด 100 และ 500 มก./กก. สามารถลดความเป็นกรดภายในของกระเพาะอาหารด้วย นอกจากนี้หนูที่ได้รับ MEMC ทุกขนาด ยังมีสารเมือกในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น แต่ประสิทธิภาพในการปกป้องกระเพาะยังต่ำกว่ายา ranitidine เล็กน้อย การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ พบว่า MEMC มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ต้านการอักเสบสูง การศึกษาทางเคมีพบว่า MEMC มีสารในกลุ่มแทนนิน และซาโปนินอยู่สูง รวมทั้งมีสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ด้วย ทำให้สามารถสรุปได้ว่า MEMC ออกฤทธิ์ปกป้องกระเพาะอาหารผ่านหลายกลไก เช่น การยับยั้งการหลั่งกรด ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านการอักเสบ ซึ่งคาดว่าสารออกฤทธิ์น่าจะเป็นสารในกลุ่มแทนนิน ซาโปนิน และฟลาโวนอยด์ เช่น รูติน(rutin), เควอซิตริน (quercitrin), ไฟเสติน(fisetin) และ ไดไฮโดรเควอซิติน(dihydroquercetin).
           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาเกี่ยวกับสภาวะคงตัวของรูติน ระบุว่ารูตินที่สกัดได้จากพืชควรเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้จะคงตัวได้นาน 1 เดือน ส่วนรูตินในของเหลวของร่างกายมนุษย์ถ้าเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส จะคงตัวได้ 24 ชั่วโมง และถ้าเก็บที่ -20 องศาเซลเซียส จะคงตัวได้ 1 เดือน

โครงสร้างรูติน

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ในการใช้สารสกัดรูตินถึงแม้ว่าจะเป็นสารสกัดทีได้จากธรรมชาติแต่ในการนำมาใช้ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในรูปแบบสารผสมหรือสารสกัดเดี่ยว ก็ควรระมัดระวังในการใช้ เช่น เดียวกันกับการใช้สารกสัดจากธรรมชาติชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณและขนาดที่เหมาะสมตามที่แพทย์ หรือ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ อีกทั้งไม่ควรใช้เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับหญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยนการใช้รูติน เพราะมีผลต่อระบบน้ำเหลือง และระบบสร้างน้ำนม ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนใช้สารสกัดรูตินควรปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง รูติน

⦁ เอกชัย จารุเตรวิลาส.อาหารฟังก์ชัน.สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี.มีนาคม 2558.245 หน้า
⦁ กลไกการออกฤทธิ์ปกป้องกระเพาะอาหารของใบตะขบฝรั่ง.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ เรวดี คงชูศรี.สุนทร คำนา.การสกัดรูติน จากทองพันชั่ง.ปริญาญานิพนธ์หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาเคมีอุตสาหกรรม คณะเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ พ.ศ.2547. 31 หน้า
⦁ ผักบุ้งขันลดการอักเสบจากพิษแมงป่อง.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ Manthey, J.A. & Grohmann, K., (2001). Phenols in citrus peel byproducts.concentrations of hydroxycinnamates and polymethoxylated flavones in citrus peel molasses. J. Agric. Food Chem. 49, 3268-3273.
⦁ Lazuo,LH, Takashi,F.T. and Yasuji.K.Y., 2001,”Determine of rutin in human by Hight Performance Liquid Chromatography utilizing solid phase extraction and ultraviolet detection” Journal of Chromatography b, vol.759.pp.161-168.
⦁ Krewson CF, Naghski J (Nov 1952). "Some physical properties of rutin". Journal of the American Pharmaceutical Association. 41 (11): 582–7.
⦁ Chen, G., Zhange, H.W. and Ye, J.N. 2000, “Determination of rutin and queroetin in plants by capillary electrophoresis with electrochemical detection” ,Jeurnal of Analytica Chlmica Acta,vol.423,pp69-76.