นมผึ้ง

นมผึ้ง

ชื่อสามัญ Royal jelly

ประเภทและข้อแตกต่างของนมผึ้ง

นมผึ้ง (Royal jelly) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งเป็นอาหารประเภทหนึ่งของผึ้งที่ใช้ในการเลี้ยงตัวอ่อนของผึ้งงานและตัวอ่อนของผึ้งตัวผู้ ภายใน 3 วันแรก ส่วนตัวอ่อนที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นนางพญาผึ้ง (Queen Bee) จะได้รับนมผึ้ง ต่อไปจนตลอดชีวิต ทั้งนี้นมผึ้ง (royal jelly) จะมีลักษณะเป็นครีม เหลว ข้น สีขาวนวลคล้ายครีมนมมีรสฝาด และเผ็ดเล็กน้อย นอกจากนี้ส่วนประกอบของนมผึ้งนั้นยังมีสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น โปรตีน 14-15% น้ำตาล 10-12% ไขมัน 3-5% และยังมีวิตามินบีวิตามินซี กรดโฟลิก อะเซทิลโคลีน อิโนซิทิล ฮิสตามีน กรดแพนโตเทนิค และกรดอะมิโนต่างๆ รวมถึง สารสำคัญอีกหลายชนิด เช่น royalisin, acetylcholine, insulin-like peptide, sebacic acid และฮอร์โมนเพศชาย เป็นต้น สำหรับประเภทของนมผึ้งนั้นพบว่ามีเพียงประเภทเดียวเท่านั้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของนมผึ้ง

ดังที่กล่าวมาแล้วว่านมผึ้งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งผึ้งงาน (Worker Honey Bees) ที่มีอายุ 5-15 วัน ผลิตขึ้นโดยเก็บกินเกสรและน้ำหวานเข้าไปย่อยแล้วผลิตเป็นนมผึ้งจากต่อมบริเวณหัว ที่เรียกว่า hypopharyngeal gland และต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร ที่เรียกว่า mandibular salivary gland ทั้งนี้ผึ้งจะผลิตนมผึ้งได้ในปริมาณน้อยมาก เฉลี่ยวันละประมาณ 1.5-3.5 กรัม เท่านั้น อีกทั้งในนมผึ้ง นอกจากจะประกอบไปด้วยสารอาหารต่างๆ ที่มีประโยชน์มากมายดังที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อก่อนหน้านี้ ยังมีสาระสำคัญอีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ กรดไขมัน HDA (10-hydroxy-2-decanoic acid) ซึ่งเป็นสารที่พบเฉพาะในนมผึ้งเท่านั้นและยังใช้สารดังกล่าวเป็นดัชนีบ่งบอกคุณภาพของนมผึ้ง โดยถือว่านมผึ้งที่มีคุณภาพดีจะต้องมีกรดไขมันนี้อยู่มาก

นมผึ้ง

ปริมาณที่ควรได้รับนมผึ้ง

การบริโภคนมผึ้ง ด้วยวิธีรับประทานในขนาด ครั้งละ 1-2 แคปซูล (แคปซูลละ 250-350 มิลลิกรัม) วันละ 1-2 ครั้ง น่าจะมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่หากเกิดอาการแพ้ให้หยุดรับประทานทันที สำหรับผู้ที่เริ่มรับประทาน หรือ มีโรคประจำตัวอยู่ (โดยเฉพาะอาการภูมิแพ้) ควรระมัดระวังมากกว่าคนปกติเป็นพิเศษ

ประโยชน์และโทษของนมผึ้ง

ในปัจจุบันได้มีการนำนมผึ้งมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น ใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (supplement food) ใช้บำรุงร่างกาย (health tonic) และนำมาผสมในเครื่องสำอางเพื่อบำรุงผิวพรรณ เป็นต้น เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยถึงสารอาหารต่างๆ ในนมผึ้งพบว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะโปรตีนในนมผึ้ง อาทิ เช่น Major royal jelly proteins(MRJPs) ซึ่งจัดเป็นกลุ่มโปรตีนที่พบมากที่สุดในนมผึ้ง ประมาณ 82-90% ของโปรตีนในนมผึ้ง มีกรดอะมิโนจำเป็น (essential amino acid) ในปริมาณสูง ปัจจุบันพบโปรตีนในกลุ่มนี้ 5 ชนิด คือ MRJP1, MRJP2, MRJP3, MRJP4 และ MRJP5 ซึ่งจากการวิเคราะห์ด้วยกระแสไฟฟ้าบนอะคริลาไมด์เจลซึ่งเป็นตัวกลาง (SDS-PAGE) พบว่าโปรตีนกลุ่มนี้มีน้ำหนักโมเลกุลอยู่ระหว่าง 49-87 กิโลดาลตัน โดย MRJP1 จะเป็นโปรตีนที่พบมากที่สุดร้อยละ 31 และพบ MRJP3, MRJP2 และ MRJP5 รองลงมาร้อยละ 26,16 และ 9 ตามลำดับส่วน MRJP4 จะไม่สามารถพบได้เมื่อทำการวิเคราะห์ในระดับโปรตีน  

            Royalisin จัดเป็นโปรตีนในนมผึ้งที่ได้จากการนำนมผึ้งมาผ่านกระบวนการ acid extraction, gel filtration และ reverse phase high performance liquid chromatography ประกอบด้วยกรดอะมิโน 51 โมเลกุล ที่มี disulfide link ภายในโมเลกุล 3 แห่ง ณ ตำแหน่ง 3 และ 31, 21 และ 38, 17 และ 36 โครงสร้างแบบปฐมภูมิ (primary structure) มีลักษณะขดกันแน่นมีความคงตัวที่ pH ต่ำและอุณหภูมิสูง แม้ว่าจะให้ความร้อนสูงถึง 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15 นาที แต่ฤทธิ์การต้านเชื้อแบคทีเรียของ royalisin ก็ยังคงอยู่ได้ซึ่ง royalisin มีน้ำหนักโมเลกุล 5, 523 มีคุณสมบัติเป็น amphipathic protein สามารถต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดกรัมบวก แต่ไม่มีผลต่อแบคทีเรียชนิดกรัมลบ  

            Neopterin เป็นโปรตีนที่พบในตัวอ่อนของผึ้ง ผึ้งงาน และนมผึ้ง บทบาททางสรีรวิทยาที่สำคัญ คือ เป็นพิษต่อเซลล์ (cytotoxic) เร่งให้เกิดการตายแบบ apoptosis ด้านปฏิกิริยาออกซิเดชันในลักษณะ chain breaking antioxidant

            Royal jelly protein-1 (RJP-1) มีน้ำหนักโมเลกุล 57,000 ใช้สำหรับเป็น marker ตัวใหม่ที่ใช้บอกความสดใหม่ของนมผึ้ง ซึ่ง RJP-1 มีคุณสมบัติเป็น monomeric glycoprotein ที่เสื่อมสภาพได้เมื่อทดลองเก็บในสภาวะที่มีอุณหภูมิต่ำหรือสูงเกินไป กล่าวคือ หากทดลองเก็บรักษานมผึ้งที่แปรอุณหภูมิตั้งแต่ 4 องศาเซลเซียส ไปจนถึง 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 7 วัน จะพบว่า RJP-1 เสื่อมสภาพไปแล้วขณะที่ 10-hydroxy-2-decenoic acid และ วิตามินอีกหลายตัวยังคงสภาพอยู่ดีตามเดิม และ RJP-1 ยังมีคุณสมบัติพิเศษอีกประการหนึ่งคือ สามารถกระตุ้นการสังเคราะห์ DNA ของเซลล์ตับได้ ในขณะที่นมผึ้งที่เก็บรักษาไว้ ณ อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 7 วัน ซึ่ง RJP-1 เสื่อมสภาพไปแล้วจะไม่สามารถกระตุ้นการสังเคราะห์ DNA ได้ อีกทั้งในปัจจุบันยังเชื่อกันว่านมผึ้ง ช่วยบำรุงร่างกายชะลอความแก่ บำรุงผม บรรเทาอาการของโรคเบื่ออาหาร ตับอักเสบ โรคของระบบประสาท เช่น นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม และโรคของระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง, arterioaclerosis อีกด้วย

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องนมผึ้ง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของนมผึ้ง ดังนี้

            ฤทธิ์ในการยังยั้งการเจริญของเซลล์เนื้องอกและเซลล์มะเร็ง มีการศึกษาวิจัยที่รายงานความสามารถในการต้านเซลล์มะเร็งของนมผึ้ง เริ่มขึ้นเมื่อประมาณกว่า 40 ปี มาแล้ว โดยในปี ค.ศ.1959 มีการทดลองทำการผสมนมผึ้งกับเซลล์มะเร็ง leukemia ก่อนที่จะปลูกลงในหนูทดลอง ผลปรากฏว่าสามารถหยุดยั้งการเจริญของเซลล์ leukemia หลังจากฉีดเข้าไปในหนูทดลองได้อย่างสมบูรณ์ และเมื่อทำการสกัดแยกนมผึ้งออกเป็นส่วนๆ ด้วยตัวทำละลายชนิดต่างๆ กันก็พบว่าฤทธิ์การต้านมะเร็งน่าจะมาจากกรดไขมันที่ชื่อ 10-hydroxy-2-deconoic acid  

            ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาวิจัยโดยการกระตุ้นเซลล์ macrophage ในหนูทดลองด้วย Lipopolysaccharide (LPS) และ Interferon-gamma (IFN-gamma) และนำเซลล์ macrophage ที่ถูกกระตุ้นมาเลี้ยงในสภาวะที่มีนมผึ้งในส่วนละลายน้ำ จะพบว่า มีผลต่อการยังยั้งการสร้าง pro-inflammatory cytokine อันได้แก่ และ TNF-alpha, IL-1 และ IL-6 โดยปริมาณที่ใช้ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ และ ต่อมามีศึกษาถึงผลของโปรตีนหลักของนมผึ้งชนิด  MRJP1 ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีปริมาณมากที่สุด ต่อการกระตุ้นการสร้างสารสื่อกลาง cytokine ของเซลล์เยื่อบุที่ผิวหนังมนุษย์ (human keratinocyte cell) จากการตรวจวัดระดับปริมาณการแสดงออกของยีน TNF-alpha, IL-1-beta, Transforming growth factor-beta (TGF-beta) รวมทั้ง MMP-9 พบว่า โปรตีน MJRP1 ที่ความเข้มข้น 25 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร มีผลกระตุ้นการแสดงออกของยีน TNF-alpha เป็นสองเท่าของเซลล์ปกติ อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงมีผลต่อการกระตุ้นการแสดงออกของยีน IL-1-beta, TGF-beta และ MMP9 แต่ผลที่ได้ไม่แตกต่างกับเซลล์ควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ

            ฤทธิ์ลดระดับไขมันในเลือด มีการศึกษาวิจัยโดยให้ผู้หญิงวัยทองสุขภาพดีจำนวน 36 คน รับประทานนมผึ้ง ขนาด 150 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 เดือน โดยทำการตรวจปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจรวมถึงระดับไขมันในเลือดทั้งก่อนและหลังการทดลอง พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในเลือดอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL) ลดลง 4.1% ระดับคอเลสเตอรอลรวม (TC) ลดลง 3.09% และระดับคอเลสเตอรอลที่ดี (HDL) เพิ่มขึ้น 7.7% และยังมีอีกการศึกษาหนึ่งที่ให้อาสาสมัครซึ่งมีภาวะไขมันในเลือดสูงชนิดไม่รุนแรงจำนวน 40 คน รับประทานนมผึ้งขนาด 350 มิลลิกรัม วันละ 9 แคปซูล เป็นเวลา 3 เดือน พบว่าระดับไขมันในเลือดที่ลดลงเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นฮอร์โมนเพศ (Dehydroepiandrosterone Sulphate : DHEA-S) และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจได้อีกด้วย

            ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการสันนิษฐานว่าฤทธิ์การต้านจุลชีพ (ทั้งแกรมบวกแกรมลบ รวมทั้งเชื้อราบางชนิด) ในนมผึ้งมาจากสารสำคัญ 2 ชนิด คือ โปรตีน royalisin ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกได้ดี และกรดไขมัน 10-hydroxy-2-decenoic acid มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมลบได้หลายชนิด แต่จะมีประสิทธิภาพประมาณ 1 ใน 4 ของ penicillin และปริมาณ 1 ใน 5 ของ chloramphenicol นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามีฤทธิ์ ต่อการปรับสมดุลร่างกายและฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยมีผลต่อการเพิ่มจำนวนทีเซลล์ (T-cell) ในสัตว์ทดลองซึ่งจะกระตุ้นการผลิตแอนติบอดี้และการเพิ่มจำนวนของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภูมิคุ้มกัน รวมทั้งมีผลต่ออัตราการเพิ่มจำนวนเซลล์ชนิดต่างๆ ซึ่งมีผลต่อการกระตุ้นเซลล์ลายน์ U-937 และ เซลล์ไฟโบรบลาต์ของหนูได้ สำหรับผลการศึกษาทางพิษวิทยานั้น พบว่า จากศึกษาพิษเฉียบพลันของนมผึ้ง โดยการป้อนนมผึ้งในหนูถีบจักร และหนูขาวขนาด 1, 2.5, 5 กรัมต่อกิโลกรัม โดยการตรวจวัดน้ำหนักสัตว์ทดลอง และสังเกตพฤติกรรมเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ไม่พบความผิดปกติของน้ำหนักและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป จากนั้นฆ่าหนูแล้วชันสูตร และตรวจวัดขนาดของอวัยวะต่างๆ ได้แก่ ปอด, หัวใจ, ตับ, ไต และม้าม ไม่พบว่าแตกต่างจากกลุ่มควบคุม โดยเฉพาะตับถูกนำมาศึกษาทางด้านจุลกายวิภาคด้วยการย้อมสีเอช แอนด์ อี ไม่พบว่ามีโครงสร้างเปลี่ยนแปลงไปจากกลุ่มควบคุม จึงอาจสรุปได้ว่านมผึ้งที่ขนาดสูง 5 กรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่สูงที่สุดในการทดลองนี้ ไม่แสดงพิษเฉียบพลันในสัตว์ทดลองหนูถีบจักร และหนูขาว แต่อีกรายงานหนึ่งพบว่า จากการสำรวจการใช้ “นมผึ้ง” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2536-2540 พบการเกิดปฏิกิริยาตอบสนองไวเกิน จากการได้รับนมผึ้งเกือบ 40 ราย โดยมีอาการหืด อาการหลอดลมหดเกร็ง หลอดลมบวม ความดันโลหิตต่ำ เยื่อบุตาอักเสบ ผื่นคัน และเมื่อทำการทดสอบทางผิวหนัง (skin test) พบว่าเกิดปฏิกิริยาเป็นบวกกับนมผึ้ง สรุปได้ว่าอาจเกิดจากโปรตีนในนมผึ้งไปกระตุ้นแอนติบอดี (antibody) ชนิด IgE

Neopterin

โครงสร้างนมผึ้ง

Major royal jelly protein

นมผึ้ง

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ถึงแม้ว่ารายงานการศึกษาวิจัยจะระบุว่านมผึ้ง จะมีประโยชน์ต่อร่างกายแต่ทั้งนี้การใช้นมผึ้งก็ควรใช้ด้วยการระมัดระวังโดยเฉพาะบุคคลดังต่อไปนี้ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือ ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรและเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลรับรองความปลอดภัย, ผู้ที่แพ้ผึ้งและผู้ที่แพ้ผลิตภัณฑ์ที่มีนมผึ้งเป็นส่วนประกอบ รวมถึงผู้ที่มีประวัติเป็นภูมิแพ้, ผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน (warfarin) หรือต้านการแข็งเลือดชนิดอื่นๆ เนื่องจากพบรายงานการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ (ปัสสาวะปนเลือด) จากการรับประทานร่วมกัน

เอกสารอ้างอิง นมผึ้ง
  1. ปิยมาศ นานอก. ผึ้งและการใช้ประโยชน์. วารสารก้าวทันโลกวิทยาศาสตร์ปีที่ 8. ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2551. หน้า 75-81
  2. อุบลทิพย์ นิมมานนิตย์. เภสัชสนเทศ. นมผึ้ง หรือ Royal Jelly: ไทยเภสัชสาร 2531 ; 13 : 85-89.
  3. สิริวัฒน์ วงษ์ศรี, เพ็ญศรี ตังคณะสิงห์. ชีววิทยาของผึ้ง. กรุงเทพฯ : ฝ่ายวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529-39-43, 128-31.
  4. รุ้งตะวัน สุภาพผล. เรียนรู้เรื่องนมผึ้ง. วชิรเวชสาร ปีที่ 46. ฉบับที่ 1 มกราคม 2545. หน้า 79-85
  5. สุภาภรณ์ พงศกร. Royal jelly (นมผึ้ง). นิตยสารใกล้หมอ 2531;12:72-3.
  6. พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ. นมผึ้งและเกสรผึ้ง. วารสารคลินิก ปีที่ 5 ฉบับที่ 10 ตุลาคม 2532: 733-5.
  7. เพ็ญโฉม พึ่งวิชา, ยุงดี วงษ์กระจ่าง, ปราณี ใจอาจ. ฤทธิ์ขยายหลอดเลือดของนมผึ้ง. วารสารเภสัชวิทยา ปีที่ 14-15. ฉบับที่ 1 มกราคม-ธันวาคม 2535-2536. หน้า 19-26
  8. นมผึ้งและโสม. จุลสารข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 มกราคม 2532: 17-20.
  9. นมผึ้งและคุณประโยชน์ที่น่ารู้. พบแพทย์ดอทคอม (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
  10. Fujiwara S, Imai J, Fujiwara M, Yaeshima T, Kawashima T, Kobayashi K. A potent antibacterial protein in royal jelly. J Biol Chem 1990;265:11333-7.
  11. Lercker G, Capella P, Conte LS, Ruini F. Components of royal jelly : I. identification of the organic acid. Lipids 1981;16:912-9.
  12. Hamerlinck FF. Neopterin : a review. Exp Dermatol 1999;8:167-76.
  13. Sver L, Orsolic N, Tadic z, Njari B, Valpotic I, Basic I. A royal jelly as a new potential immunomodulator in rats and mice. Comp Immunol Microbiol Infect Dis. 1996;19(1): 31-8.
  14. Townsend GF, Morgan JF, Hazlett B. Activity of 10-hydroxydecenoic acid from royal jelly against experimental leukemia and ascetic tumors. Nature 1959;183:1270-1.
  15. Majtan J, Kumar T, Walls AF, Klaudiny J. Effect of honey and its major royal jelly protein I on cytokine and MMP-9 transcripts in humane keratinocytes. Experimental dermatology. 2009;19:e73-e79.
  16. Kamakura M, Suenobu N, Fukushima M. Fifty-seven-kDa protein in royal jelly enhances proliferation of primary cultured rat hepatocytes and increases albumin production in the absence of serum. Biochem Biophys Res Commun 2001;13:865-74.
  17. Kobayashi N, Unten S, Kakuta H, Komatsu N, Fujimaki M, Satoh K, et al. Diverse biological activities of healthy foods. In Vivo 2001;15:17-23.
  18. Barker SA, Foster AB, Lamp DC. Biological origin  and configuration of 10-hydroxy-2-decenoic acid. Nature 1959;184:634.
  19. Lee NJ, Fermo JD. Warfarin and royal jelly interaction. Pharmacotherapy. 2006;26(4):583-6.
  20. Albert S, Klaudiny J, Simuth J. Molecular characterization of MRJP3, highly polymorphic protein of honeybee (Apis mellifera) royal jelly. Insect Biochem Mol Biol 1999;29:427-34.
  21. Gasic L, Tugyan K, Oncel S, Pinar E, Demirtasoglu F, Calli AO, Tolon B, Yilmaz O, Kiray A. Effectiveness of royal jelly on tympanic membrane perforations: an experimental study. J Otolarygol Head Neck Surg. 2008;37(2): 179-84.
  22. Kamakura M, Fukuda T, Fukushima M, Yonekura M. Storage-dependent degradation 0f 57-kDa protein in royal jelly: a possible marker for freshness. Biosci Biotechem 2001;65:277-84.
  23. Nimmannit U. Royal jelly: drug information. Th J Pharm Sci 1988;13:85-9.
  24. Blum MS, Novak AF, Taber S. 10-hydroxy-2-decenoic acid, an antibiotic found in royal jelly. Science 1959;130:452-3.