แคปไซซินอยด์

แคปไซซินอยด์

ชื่อสามัญ  Capsaicinoids

ประเภทและข้อแตกต่างของสารแคปไซซินอยด์

แคปไซซินอยด์ (capsaicinoids) เป็นสารประกอบสำคัญของพริก ที่ทำให้เกิดกลิ่น และรสเผ็ดร้อนซึ่งจัดเป็นสารในกลุ่มอัลคาลอย์ ที่มีสมบัติไม่ละลายน้ำ แต่ละลายได้ในตัวทำละลายอินทรีย์ที่ไม่มีขั้ว เช่น อะซิโตน เมทธานอลไดคลอโรมีเทน ไดเอทธิล อีเทอร์ และเฮกเซน ซึ่งสารในกลุ่มนี้สามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้ แคปไซซิน มีชื่อทางเคมีว่า N-[(4-hydroxy-3-methoxyphenyl) methyl]-8-methyl-6-nonanamide : C18H27NO3  มีสมบัติทางกายภาพเป็นผลึกผงละเอียดสีขาว ไม่มีกลิ่น น้ำหนักโมเลกุล 305.4 g mol-1 จุดเดือด 210-220 องศาเซลเซียส (˚C) และมีจุดหลอมเหลวที่อุณหภูมิ 64.5 ˚C และมีสมบัติเป็นกรดอ่อนสามารถละลายได้ในน้ำเล็กน้อย แต่ละลายได้ดีในไขมัน และแอลกอฮอลล์ ไดไฮโดแคปไซซิน เป็นสารที่มีปริมาณมากรองจากสารแคปไซซิน มีชื่อทางเคมีว่า N-[(4-hydroxy-3-methoxyphenyl) methyl]-8-methylnonanamide มีสูตรทางเคมี คือ C18H29NO3  มีน้ำหนักโมเลกุล 307.44 g mol-1 นอร์ไฮโดรแคปไซซิน เป็นสารที่พบปริมาณมากรองจากสารไดไฮโดรแคปไซซิน มีสูตรทางเคมี คือ C17 H27 NO3 มีน้ำนักโมเลกุล 293.407 g.mol-1 โดยเป็นสารในกลุ่มแคปไซซินอย์ที่มีจำนวนคาร์บอนอะตอมน้อยที่สุด คือ 17 ตัว โฮโมแคปไซซิน เป็นสารในสารกลุ่มแคปไซซินอยด์ ที่พบในปริมาณน้อย และมีสูตรทางเคมี คือ C19H29NO3 มีน้ำหนักโมเลกุล 319.439/mol-1 โฮโมไดไฮโดรแคปไซซิน เป็นสารที่พบในปริมาณน้อยเหมือนสารโฮโมแคปไซซิน (1%) และมีสูตร ทางเคมีคือ C19H31NO3 มีน้ำหนักโมเลกุล 321.461 g.mol-1

สูตรโครงสร้างและปริมาณของสารแคปไซซินอยด์ในพริก

แต่ทั้งนี้ สารแคปไซซินอยด์ จะพบมากที่สุด และให้ความเผ็นร้อนมากที่สุดในพริก ซึ่งประกอบด้วยแคปไซซิน (capsaicin) ในปริมาณสูงสุดถึง 61 % ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงแคปไซซินเป็นหลัก


แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสารแคปไซซินอยด์

แคปโซซิน (Capsaicin) หรือ 8-methyi N-vanilly-6 nonenmide เป็นสารระคายเคืองและทำให้เกิดรสเผ็ดร้อน ที่พบมากที่สุดในพริก (chili peiiers) ปกติแล้วแคปไซซิน จะกระจายอยู่ทุกส่วนของ ผลพริก แต่จะพบมากที่สุด คือ ส่วนของรกพริก หรือ ส่วนที่เป็นไส้ของพริกซึ่งเป็นที่เกาะของเม็ดในส่วนเม็ด และเปลือกของพริกมีปริมาณแคปไซซินน้อย 

            ทั้งนี้ปริมาณของสารแคปไซซินจะมีความแตกต่างกันออกไป ตามสายพันธุ์และระยะกรสุกของพริก โดยปริมาณแคปไซซินจะใช้เป็นดัชนีในการกำหนดราคาซื้อขายของพริก ซึ่งวิลเบอร์ ลินคอร์นสโกวิลล์ นักเคมีชาวอเมริกัน ได้คิดค้นระดับวัดความเผ็ดนี้ขึ้นในปี ค.ศ.1912 ซึ่งเรียกว่า สโกวิลล์ (Scobille)  เช่น มีการศึกษาวิจัยโดยกลุ่ม capsaicinoids ในพริก 10 สายพันธุ์ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ พริกเขียวมัน พริกจินดา พริกจินดาดำ พริกขี้หนู พริกยอดสน พริกซุปเปอร์ฮอท พริกชี้ฟ้า พริกหยวก และพริกสร้อยเกษตร พบว่า พริกขี้หนู และพริกชี้ฟ้ามีปริมาณสารกลุ่ม capsacinoids สูงสุดส่วนพริกหยวกมีปริมาณสารกลุ่ม capsaicinoids น้อยที่สุด

            นอกจากนี้สารแคปไซซินนี้ยังสามารถพบได้ในพืชที่ให้รสเผ็ดร้อนอื่นได้ เช่น พริกไทย กระเทียม หอมหัวใหญ่ และขิง เป็นต้น โดยในพืชแต่ละชนิดนั้นจะมีความเผ็ดร้อนไม่เท่ากัน หากชนิดไทยมีสารแคปไซซิน อยู่มากก็จะมีความเผ็ดร้อนมากกว่าชนิดที่มีสารแคปไซซินอยู่น้อย

แคปไซซินอยด์

ปริมาณที่ควรได้รับสารแคปไซซินอยด์

ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดปริมาณที่ควรได้รับสารกลุ่มแคปไซซินนอยด์ ในแต่ละวัน แต่มีประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยาเรื่องรายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ประกาศ ณ.วันที่ 7 สิงหาคม 2560 ได้ระบุถึงขนาดการใช้สารแคปไซซินที่สกัดได้จากพริกต่างๆ (ทั้งสกัดแบบบดผง และสกัดด้วยน้ำ หรือ เอทานอล) ให้มีปริมาณสารแคปไซซินอยด์ น้อยกว่า 15 มิลลิกรัม/วัน ส่วนในผลิตภัณฑ์ บรรเทาอาการปวดเมื่อยในรูปแบบเจลแคปไซซินให้ใช้ความเข้มข้นร้อยละ 0.0125 และ 0.025 โลชั่นแคปไซซินให้ใช้ความเข้มข้นร้อยละ 0.025 และพลาสเตอร์ปิดทับผิวหนังให้ใช้ความเข้มข้นร้อยละ 0.025-0.25

ประโยชน์และโทษสารแคปไซซินอยด์

แคปไซซิน ถูกนำมาใช้ประโยชนในด้านต่างๆ มากมายในชีวิตประจำวัน เช่น ใช้บริโภคโดยตรงในรูปแบบพริกสด ต่างๆ หรือ แปรรูปให้เป็นพริกแห้ง พริกป่น พริกแกงต่างๆ ด้านอุตสาหกรรมจะนำพริกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ซอสพริก เครื่องปรุงในอาหารสำเร็จรูป สเปรย์ป้องกันตัว และในด้านการแพทย์ เช่น ยาขับลม ยาแก้โรคขัดตามไขข้อ ยาทาเจลแก้ปวดเมื่อย หรือ แผ่นปิดแก้ปวด เมื่อย เป็นต้น

            นองจากนี้แคปไซซินยังมีประโยชน์อีกหลายรูปแบบ เช่น ช่วยในการเจริญอาหาร ซึ่งกลิ่นของพริกไปกระตุ้นเซลล์ประสาทในจมูกให้เกิดความ ตื่นตัวในการรับกลิ่น และเมื่อรับประทานพริกเข้าไป สารแคปไซซินจะช่วยกระตุ้นปลายประสาทที่ปุ่มรับรสที่ลิ้นทำให้มีการหลั่งน้ำลายมากขึ้น ซึ่งจะไปย่อยอาหารจำพวกแป้งทำให้การย่อยอาหารสมบูรณ์ ส่งผลให้รับประทานอาหารอร่อยขึ้น และนอกจากนี้ยังเพิ่มการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารซึ่งสามารถ ช่วยย่อยอาหารแก่อาการท้องผูกใด ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด สารแคปไซซินจะออกฤทธิ์ตอเซลล์ประสาทโดยชะลอการหลั่ง neurotransmitter ที่ปลายประสาทส่งผลให้สมองส่วนกลางรับรู้ความเจ็บปวดช้าลงโดยจะพบผลิตภัณฑ์ของสารแคปไซซินอยู่ในรูปครีมเพื่อบรรเทาอาการปวด และจะสารแคปไซซินเป็นส่วนผสมในยาเพื่อไปเสริมฤทธิ์ของยาแก้ปวดต่างๆ  ช่วยลดปริมาณคอเลสเทอรอลในร่างกาย โดยมีการวิจัยและพบว่าเมื่อรับประทานอาหารที่มีโปรตีนต่ำ ไขมันสูง และมีพริกอยู่ 5% ของอาหารในตับของหนูทดลองจะมีการสะสมไขมันต่ำลง และปริมาณไตรกลีเซอไรดลดลงโดยจะทำให้อัตราการดูดซึมไขมันลดลง และยับยั้งการสราง apoprotein ได้อีกด้วย

            อีกทั้งยังมีการศึกษามากมายที่รายงานผลของการใช้แคปไซซิน เป็นยาทาผิวหนังเพื่อระงับอาการปวดของเส้นประสาท (nerve pain) ที่เกิดจากโรคต่างๆ เช่น ปวดจากรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis pain) ปวดจากเบาหวาน (diabetic neuropathy) ปวดกล้ามเนื้อ และข้อ (fibromyalgia) และปวดจากมะเร็ง (cancer pain) ซึ่งอาการปวดดังกล่าวเป็นอาการปวดเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาแก้ปวดทั่วไปอีกด้วย

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารแคปไซซินอยด์

มีผลการศึกษาวิจัยเมแทบอลิซึมของแคปไซซินพบว่าการดูด ซึม และเมแทบอลิซึมของสารกลุ่ม capsaicinoids ในหนูขาว มีการดูดซึมอย่างรวดเร็วในระบบทางเดินอาหารแต่จะมีการเกิดเมแทบอลิซึมเกือบสมบูรณ์ก่อน เข้าสู่กระแสเลือด และหลังจากได้รับแคปไซซินจากทางเดินอาหาร ภายใน 15 นาที สามารถตรวจพบในกระแสเลือด และในสมองได้แต่พบเพียง 5% ของปริมาณที่ได้รับเท่านั้น ซึ่งจำนวนนี้รวมถึงสารกลุ่ม capsaicinoids ในรูปเดิมอยู่ด้วย แต่เมื่อให้ทางหลอดเลือดดำภายใน 3 นาที ยังพบสารในรูปเดิมถึง 50% สาร metabolites ของ capsainoids ไม่แสดงฤทธิ์ของแคปไซซิน และการดูดซึมในระบบทางเดินอาหาร พบว่าสารแคปไซซิน และไดไฮโดรแคปไซซินหายไปจากกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนเจจูนัม และไอเลียม ประมาณ 50, 80 และ 70% ตามลำดับในเวลา 60 นาที และในมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน จากการศึกษาวัดปริมาณแคปไซซินในอาสาสมัคร 12 คน โดยให้กินพริกขี้หนูสดคนละ 5 กรัม และเก็บตัวอย่างเลือดทุกๆ 15 นาที เป็นเวลา 2 ชั่วโมง แล้วนำมาวิเคราะห์หาระดับแคปไซซิน ด้วยเครื่อง HPLC พบค่าเภสัชจนศาสตร์ของแคปไซซิน ได้แก่ค่าความเข้มข้นที่พบสูงสุด (Cmax) เท่ากับ 2.47±0.46 นาโนกรัม/มิลลิลิตร และช่วงเวลาที่พบสารความเข้มข้นสูงสุด (Tmax) เท่ากับ 47.8±6.89 นาที ค่าพื้นที่ได้กราพระหว่างเวลา และความเข้มข้นของสาร (AUC) เท่ากับ 103.6±38.99 นาโนกรัม.นาที/มิลลิลิตร และค่าครึ่งชีวิต (T1/2) เท่ากับ 24.87±17.2 นาที

            นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารกลุ่มแคปไซซินอยด์ ต่างๆ อีกหลายฉบับอาทิ เช่น

           ฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอล มีการทดสอบฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของสารแคปไซซินอยด์ซึ่งเป็นสารสำคัญในพริก โดยการให้สารแคปไซซินอยด์ขนาด 10 มก./กก. น้ำหนักตัว แก่หนูแรท 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ได้รับอาหารที่ไม่มีคอเลสเตอรอล และกลุ่มที่ 2 ได้รับอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง (มีคอเลสเตอรอลในอาหาร 20 ก./กก. น้ำหนักอาหาร) พบว่าสารแคปไซซินอยด์ลดการสร้างเอนไซม์ hepatic 3-hydroxyl-3-methylglutaryl CoA (HMG-CoA) reductase และ hepatic cholesterol-7α-hydroxylase (CYP7A1) ได้ 0.55 เท่า และ 0.53 เท่าตามลำดับ ในหนูกลุ่มที่ 1 แต่เพิ่มระดับของ CYP7A1 1.38 เท่า ในหนูกลุ่มที่ 2 อีกทั้งยังเพิ่มการแสดงออกของโปรตีนที่จับกับกรดน้ำดี (bile acid) และ apical sodium-dependent bile acid transporter ที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum) ส่งผลให้การดูดกลับกรดน้ำดีบริเวณลำไส้เล็กเพิ่มขึ้น แต่จากผลการทดลองพบว่าหนูกลุ่มที่ 2 มีการขับน้ำดีออกทางอุจจาระของเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอลของสารแคปไซซินอยด์ไม่เกี่ยวข้องกับกลไกดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบว่าสารแคปไซซินอยด์ มีผลลดปริมาณของกรดน้ำดีในอุจจาระ และลำไส้เล็กของหนูกลุ่มที่ 1 แต่จะเพิ่มปริมาณของกรดน้ำดีในอุจจาระและลำไส้เล็กของหนูกลุ่มที่ 2 ด้วย จากผลการทดลองข้างต้นทำให้สามารถสรุปได้ว่า ฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลของสารแคปไซซินอยด์ในหนูกลุ่มที่ได้รับอาหารที่ไม่มีคอเลสเตอรอล (กลุ่มที่ 1) เกิดจากการยับยั้งการสร้างคอเลสเตอรอลในตับ ในขณะที่ฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลของสารแคปไซซินอยด์ในหนูกลุ่มที่ได้รับอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง (กลุ่มที่ 2) เกิดจากการกระตุ้นการเปลี่ยนคอเลสเตอรอลให้กลายเป็นกรดน้ำดี และเพิ่มการขับออกทางอุจจาระ

           ฤทธิ์บรรเทาอาการโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ มีการศึกษาแบบสุ่มปกปิดข้อมูลทั้งสองด้าน แบบกลุ่มคู่ขนาน (randomized, double-blind, parallel trial) ในผู้ป่วยมีอาการของโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ จำนวน 42 คน โดยแบ่งให้ได้รับยาพ่นจมูกจากแคปไซซิน (ICX72) หรือ ยาหลอก พ่นวันละ 2 ครั้ง นาน 2 สัปดาห์ เมื่อสิ้นสุดการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับยาพ่นจมูกจากแคปไซซินลดอาการของโรคทางจมูกโดยรวม (Total nasal symptom score: TNSS) และอาการเฉพาะส่วน (Individual nasal score: ISS) อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับก่อนได้รับยาพ่น และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยพบว่า ICX72 ให้ประสิทธิผลในการรักษาอาการภายใน 52.6 วินาที หลังการพ่นช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก ปวดไซนัส ลดความดันในไซนัส และปวดศรีษะ ได้ภายใน 5, 10, 15 และ 30 นาที ตามลำดับ และสามารถออกฤทธิ์ได้นานถึง 60 นาที ในการบรรเทาอาการคัดจมูก และปวดไซนัส โดยไม่พบอาการข้างเคียงใดๆ หรือ อาการผิดปกติของการได้รับกลิ่นเนื่องจากการใช้ยาพ่นแคปไซซิน แสดงให้เห็นว่ายาพ่นจากแคปไซซินมีประสิทธิผล และมีความปลอดภัยเมื่อใช้ในการรักษาอาการของโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ได้   

           ฤทธิ์รักษาอาการข้อเข่าเสื่อม มีการศึกษาแบบ cross-over, double blinded, randomized, controlled trial ในผู้ป่วยหญิงจำนวน 99 คน อายุ 44-82 ปี ที่มีอาการโรคข้อเข่าเสื่อมระดับรุนแรงเล็กน้อยถึงปานกลาง (ระดับความรุนแรงของข้อเสื่อมตามเกณฑ์ของ KL เกรด 2 จำนวน 83 คน และเกรด 3 จำนวน 16 คน) โดยแบ่งให้ผู้ป่วยได้รับยาทาแคปไซซิน (Capsika gel® มีแคปไซซิน 0.0125%) หรือยาหลอก ทาบริเวณเข่าวันละ 3 ครั้ง นาน 4 สัปดาห์ แล้วหยุดพัก 1 สัปดาห์ จากนั้นสลับการให้ยาระหว่างกลุ่มที่ได้รับยาแคปไซซิน และยาหลอก แล้วใช้ต่อเนื่องอีก 4 สัปดาห์ ทำการประเมินประสิทธิผลการรักษาของยาทาแคปไซซินโดยประเมินความปวด (VAS) และการประเมินความรุนแรงของอาการโดยวิธี WOMAC ทุกสัปดาห์ พบว่าค่าเฉลี่ยของ VAS และคะแนน WOMAC ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในผู้ป่วยที่ใช้ยาทาแคปไซซิน และเมื่อพิจารณาหน่วยย่อยของการประเมินโดยวิธี WOMAC ได้แก่ คะแนนความเจ็บปวด ความฝืดของข้อ และความสามารถในการทำงานของข้อเข่า พบว่ามีความแตกต่างกันระหว่างผู้ป่วยที่ได้รับยาทาแคปไซซินกับผู้ป่วยที่ได้ยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามมีรายงานอาการข้างเคียงจากการใช้ยาทาแคปไซซินคือ ร้อยละ 67 มีอาการแสบร้อนที่ผิวหนังบริเวณที่ทายาแคปไซซิน แต่อยู่ในเกณฑ์ที่ผู้ป่วยยอมรับได้ และไม่มีผู้ป่วยถอนตัวจากการทดลองด้วยเหตุผลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ายาทาแคปไซซิน 0.0125% มีประสิทธิผลในการลดอาการปวดของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่มีความรุนแรงเล็กน้อยถึงปานกลางได้

           ผลของสารแคปไซซินต่อค่าชีวประสิทธิผลของยา cyclosporine มีการศึกษาอันตรกิริยาระหว่างแคปไซซินอยด์ (capsaicin; สารสำคัญที่ให้รสเผ็ดในพริก) กับยา cyclosporine (ยากดภูมิคุ้มกัน ใช้ในการรักษาโรคแพ้ภูมิตนเอง หรือ SLE) ในหนูแรทที่ ได้รับสารแคปไซซินทางสายยางสู่กระเพาะอาหาร ต่อเนื่องกัน 7 วัน ก่อนการป้อนยา พบว่าแคปไซซินในขนาดต่ำ (0.3 มก./กก.) และปานกลาง (1.0 มก./กก.) ไม่มีผลต่อระดับยาในเลือด แต่เมื่อให้แคปไซซินในขนาดสูง (3 มก./กก.) จะทำให้ระดับยา cyclosporine ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ลดอัตราการกำจัดยาออกจากร่างกาย ส่งผลให้ค่าชีวประสิทธิผล (bioavailability คือ สัดส่วนของยาที่เข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต และกระจายไปสู่บริเวณที่ยาออกฤทธิ์) ของยาเพิ่มขึ้น 1.44 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ในขณะเดียวกันพบว่าแคปไซซินออกฤทธิ์ลดระดับ P-glycoprotein (โปรตีนที่ทำหน้าที่ขับสารออกจากเซลล์) และ CYP3A1/2 (เอนไซม์ที่ทำหน้าที่กำจัดยาออกจากร่างกาย) บริเวณตับและลำไส้เล็ก ทั้งในระดับ mRNA และระดับโปรตีน ทำให้ร่างกายกำจัดยาออกทางตับ และลำไส้ได้ลดลง ส่งผลให้ยานั้นคงอยู่ร่างกายได้นานขึ้น การศึกษานี้จึงชี้ให้เห็นว่าการบริโภคแคปไซซินในปริมาณมากติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะมีฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกของยีนของ P-glycoprotein และ CYP3A1/2 ซึ่งส่งผลต่อค่าชีวประสิทธิผลของยา cyclosporine

โครงสร้างแคปไซชินอยด์

ข้อแนะนำและข้อปฏิบัติ

เนื่องจากสารกลุ่มแคปไซซินอยด์ เป็นสารกลุ่มอัคคาลอยด์ที่ให้รสชาติเผ็ดร้อนโดยเฉพาะสารแคปไซซินที่มีความเผ็ดร้อนมากที่สุด ดังนั้นในการใช้ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในรูปแบบการรับประทาน หรือ ใช้ภายนอกควรระมัดระวังในการใช้ เพราะความเผ็ดของสารกลุ่มนี้หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการต่างๆ ที่ไม่พึงประสงค์ในระบบทางเดินอาหารได้ และหากใช้ทาภายนอกนั้นอาจทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนังได้ ในส่วนผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตนเอง (SLE) ที่รับประทานยา Cyclosporine จึงควรระมัดระวังเมื่อรับประทานร่วมกัน เพราะจะทำให้ยาออกฤทธิ์มากเกินไป หรือก่อให้เกิดอาการข้างเคียงอื่นๆ จนเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

 

เอกสารอ้างอิง แคปไซซินอยด์
  1. นุชรีย์ ถาปันแก้ว.ผลของพริกต่อระบบเมแทบอลิซึม และระบบประสาทอัตโนมัติ.วารสารวิจัยสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นปีที่ 4. ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2554. หน้า 69-74
  2. ฤทธิ์ลดคลอเรสเตอรอลของสารแคปไซซินอยด์ (capsaicinoids) .ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพรสำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. วราภรณ์ จรรยาประเสริฐ.แคปไซซิน (capsaicin) จากพริกระงับปวดที่ผิวหนัง.จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 25. ฉบับที่ 1 ตุลาคม 2550. หน้า 3-6
  4. ผลของสารแคปไซซินต่อค่าชีวประสิทธิผลของยา cyclosporine .ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. ตติยา โชคบุญเปี่ยม.การศึกษาการทำให้สารแคปไซซิน ในพริกบริสุทธิ์.ปัญหาพิเศษสายวิชาวิทยาศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์และจิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.2550
  6. ยาพ่นจมูกจากแคปไซซินช่วยบรรเทาอาการโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ได้.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยามหิดล.
  7. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา เรื่องรายชื่อที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560.
  8. แคปไซซินจากพริกช่วยรักษาอาการข้อเข่าเสื่อม.ข่าวความเคลื่อนไหว.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลับมหิดล
  9. ประเสริฐ ประภานภสินธุ์. 2544. เปรียบเทียบเทคนิคการสกัดสารแคปไซซิน. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ
  10. กรองแก้ว เนาสราญ และวุฒิชัย นุตกุล. 2535. ปริมาณและองค์ประกอบของสารรสเผ็ดร้อนจากพริก.วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. 34(3):133-140
  11. ศุภวรรณ ถาวรชินสมบัติ. 2538. ประสิทธิภาพการเป็นสารกันหืนของโอเลโอเรซินจากพริก.วิทยานิพนธ์ปริญญาโท. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.
  12. ลัดดาวัลย์ บุญรัตนกรกิจ, นภดล ทองนพเนื้อ, สถาพร นิ่มกุลรัตน์ และอรลักษณา แพรัตกุล. 2541. ยาสมุนไพรและการกีฬา. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
  13. ยงยศ มนต์เสรีนุสรณ์และ มณีอัชวรานนท์. 2541. แคปไซซิน–สารเผ็ดในพริก. ไทยเภสัชสาร 5(4): 257–264.
  14. ทวีศักดิ์ นวลพลับ.2531.การปลูกพริก.ศูนย์ผลิตตำราเกษตรเพื่อชุมชน.กรุงเทพฯ.
  15. กมล ไชยสิทธิ์ . (2550).  เภสัชวิทยาของสาร capsaicin. กรุงเทพฯ  : ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (จุลสาร)
  16. Donnerer, J., Amann, R., Schuligol, R., and Lembeck, F. (1990). Absorption and metabolism of capsaicin following intragastric administration in rats. Naunyn-Schmiedeberg’s Arch Pharmacol, 342, 357-361.
  17. Watson CPN,Evans RJ,Watt VR. Post-hepetic neuralgia and topical capsaicin, Pain 1988;33:333-340.
  18. Chaiyasit, K., Khovidhunkit, W. and Wittayalertpanya, S. (2009). Phamacokinetic and the effect of capsaicin in Capsicum frutescens on decreasing plasma glucose level. Journal of the Medical Association of Thailand, 92(1), 108-13.
  19. Capsaicin study group.Treatment of diabetic neuropathy with topical capsaicin:a multicenter double-blind,vehicle-controlled study Arch Intern  Med1991;151:2225-2229.
  20. Salzer, U.J.; Haarmann G.; and Reimer, G. Analytical evaluation of seasoning extracts (oleoresin) and essential oils from seasonings. Flavours. 1975, 6(4), 206-210.
  21. Kawada, T. and Iwai, K. (1985), In vivo and in vitro metabolism of dihydrocapsaicin, a pungent principle of hot pepper, in rats. Agricultural and biological chemistry, 49(2), 441-448.
  22. Deal CL,Schinizer TJ, Lipstein E, Seibold JR, Stevens RM, Levy MD, Albert D, Renold F. Treatment of arthritis with topical capsaicin:a double-blind trial.Clin Ther 1991;13:383-395.
  23. Scoville W. L. ( 1912) . Note on capsicums. The Journal of the American Pharmaceutical Association 1: 453-454
  24. Peusch, M. 1997. Extraction of capsaicinoids from chillies (Capsicum frutescens L.) and paprika (Capsicum annuumL.) using supercritical fluids and organic solvents. Z Lebensm Unters Forsch A 204 : 351 – 355.
  25. Watson CPN,Evans RJ.Watt VR The postmastectomy pain syndrome and effective of topical capsaicin Pain 1989;38:177-186.
  26. Reyes- Escogido M. L. , Gonzalez- Mondragon E. G. , VazquezTzompantzi E. (2011). Chemical and Pharmacological Aspects of Capsaicin. Molecules 16: 1253-1270
  27. Cisneros- Pineda O. , Torres- Tapia L. W. , Gutie´rrez- Pacheco L. C. Contreras- Martı´n F. , Gonza´lez- Estrada T. , PerazaSa´nchez S. R. ( 2007) . Capsaicinoids quantification in chili peppers cultivated in the state of Yucatan, Mexico. Food Chemistry 104: 1755–1760