ฟอสฟอรัส

ฟอสฟอรัส

ชื่อสามัญ Phosphorus

ประเภทและข้อแตกต่างสารฟอสฟอรัส

สารฟอสฟอรัส (phosphorus) เป็นธาตุอโลหะ เลขอะตอม 15 มีสัญลักษณ์ P ฟอสฟอรัสอยู่ในกลุ่มไนโตรเจนมีวาเลนซ์ได้มาก ปรากฏในหลายอัลโลโทรป พบทั้งในหินฟอสเฟต และเซลล์สิ่งมีชีวิตทุกเซลล์ (ในสารประกอบในดีเอ็นเอ) ทั้งในพืช และสัตว์ทุกชนิดคำว่า ฟอสฟอรัส มาจากภาษากรีกแปลว่า 'ส่องแสง' และ 'นำพา' เพราะฟอสฟอรัสเรืองแสงอ่อนๆ เมื่อมีออกซิเจน หรือ มาจากภาษาละติน แปลว่า 'ดาวประกายพรึก' ค้นพบประมาณปี 1669 โดยนักเล่นแร่แปรธาตุชาวเยอรมัน เฮนนิก แบรนด์ ในขณะที่ภาษาไทยในสมัยก่อนเรียกฟอสฟอรัสว่า 'ฝาสุภเรศ' นอกจากนี้ฟอสฟอรัส ยังเป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อร่างกายทั้งในภาวะปกติเพื่อการเจริญเติบโตและในขณะเจ็บป่วย เช่น มีบทบาทสำคัญในการเป็นส่วนประกอบของกระดูก ผนังเซลล์ กรดนิวคลีอิก และ adenine triphosphate (ATP) เป็นต้น ส่วนประเภทของฟอสฟอรัส นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ตามลักษณะทางกายภาพ คือ ฟอสฟอรัสขาว, ฟอสฟอรัสดำ, ฟอสฟอรัสแดง ซึ่งจะมีข้อแตกต่างกันตามลักษณะสี, จุดหลอมเหลว ความหนาแน่น การละลาย และการลุกไหม้ รวมถึงคุณสมบัติทางเคมีอื่นๆ อีกด้วย

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสารฟอสฟอรัส

โดยปกติแล้วในร่างกายมนุษย์จะมีฟอสฟอรัส อยู่ในร่างกายปริมาณมากเป็นอันดับ 2 รองจากแคลเซียม โดยอยู่ในรูปของสารประกอบฟอสเฟต ซึ่งจะมีฟอสฟอรัสประมาณร้อยละ 0.5 ของน้ำหนักตัวในวัยทารก และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.65-1.1 ของน้ำหนักตัวในผู้ใหญ่ ฟอสฟอรัสส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 พบในเนื้อเยื่อโครงสร้างกระดูก และฟันอีกประมาณร้อยละ 20 อยู่ในเนื้อเยื่อ และของเหลวในร่างกายทุกเซลล์ โดยมีหน้าที่เกี่ยวกับพลังงาน และ metabolism ดังนั้น ทุกเซลล์ที่ยังมีชีวิตอยู่จึงจำเป็นต้องมีปฏิกิริยา และกลไกดังกล่าว ส่วนในเลือดพบฟอสฟอรัสที่ความเข้มข้น 13 มิลลิโมล/ลิตร (40 มิลลิกรัม/100มิลลิลิตร) แต่อย่างไรก็ตามในการร่างกายจะได้ฟอสฟอรัส มาใช้ประโยชน์นั้น จำเป็นจะต้องได้รับจากการรับประทานอาหาร โดยอาหารที่เป็นแหล่งของฟอสฟอรัสมีทั้งทีเป็นส่วนประกอบตามธรรมชาติ ส่วนที่เติมลงในอาหารเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ โดยอยู่ในรูปเกลือฟอสเฟตต่างๆ และกรดฟอสฟอริก ดังนั้น อาหารทั้งหลายที่เป็นพืช และสัตว์จึงมีฟอสฟอรัสอยู่ด้วยเสมอ แหล่งอาหารที่สำคัญของฟอสฟอรัส เช่น น้ำนม และผลิตภัณฑ์นม เนื้อสัตว์ต่างๆ ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ และสัตว์ปีก ไข่แดง รำข้าว ถั่วเมล็ดแห้ง และผลิตภัณฑ์ถั่ว เช่น ถั่วคั่ว ถั่วทอด เนยถั่ว นมถั่วเหลือง ลูกชุบ กระยาสารท เต้าฮวย เต้าหู้  เมล็ดพืชแห้ง ธัญพืช และผลิตภัณฑ์ เมล็ดแตงโม เมล็ดฟักทอง เมล็ดดอกทานตะวัน ข้าวบาร์เล่ย์มอลต์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ลูกเดือย งาดำ เครื่องดื่มธัญพืชต่างๆ เครื่องดื่มสีเข้ม กาแฟ ชา เครื่องดื่มโกโก้  โคล่า เบียร์ อาหารที่ทำจากยีสต์ เช่น ขนมปังปอนด์ โดนัท ขนมอบ เบเกอรี่ เค้ก แป้งซาลาเปา หมั่นโถว 

ปริมาณฟอสฟอรัสในอาหารที่พบบ่อย

 ฟอสฟอรัส

ฟอสฟอรัส

ปริมาณที่ควรได้รับสารฟอสฟอรัส

สำหรับธาตุฟอสฟอรัส ไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับโภชนาการเนื่องจากอาหารที่คนบริโภคมักจะมีฟอสฟอรัสเพียงพอ และได้รับมากกว่าแคลเซียม ดังนั้นจึงมักไม่ค่อยพบการขาดธาตุนี้ โดยในการกำหนดปริมาณฟอสฟอรัสที่คนไทยปกติควรได้รับต่อวันจะใช้ข้อมูลส่วนใหญ่จากการกำหนดปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน ซึ่งจัดทำโดย Food and Nutrition Board, Institute of Medicine ประเทศสหรัฐอเมริกา และข้อมูลบางส่วนที่ได้จากการศึกษาในประเทศไทย เช่น ทารกอายุ 0-5 เดือน การกำหนดปริมาณฟอสฟอรัสที่ควรได้รับในแต่ละวัน จะใช้ข้อมูลปริมาณฟอสฟอรัสที่ได้รับจากน้ำนมแม่ เนื่องจากข้อมูลในประเทศไทยมีจำกัดจึงใช้ข้อมูลปริมาณน้ำนมแม่จากข้อกำหนดสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันของประเทศสหรัฐอเมริกา คือ 780 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งจะมีความเข้มข้นของฟอสฟอรัสในน้ำนมแม่ 124 มิลลิกรัมต่อลิตร ดังนั้นจึงกำหนดปริมาณฟอสฟอรัสที่ควรได้รับจากน้ำนมแม่เท่ากับวันละ 100 มิลลิกรัม ทารกอายุ 6-11 เดือน การกำหนดปริมาณฟอสฟอรัสที่ควรได้รับ ใช้ข้อมูลปริมาณฟอสฟอรัสที่ได้รับจากน้ำนมแม่ และอาหารตามวัย โดยใช้ข้อมูลปริมาณน้ำนมแม่จากข้อกำหนดสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันของประเทศสหรัฐอเมริกา คือ 600 มิลลิกรัมต่อวัน และมีความเข้มข้นของฟอสฟอรัสในน้ำนมแม่เท่ากับ 124 มิลลิกรัมต่อลิตร ดังนั้นจึงได้ปริมาณฟอสฟอรัส ที่ได้รับจากน้ำนมแม่เท่ากับ 75 มิลลิกรัมต่อวัน  เด็กอายุมากกว่า 1 ปี เด็กวัยรุ่น และผู้ใหญ่ ช่วงอายุเหล่านี้ไม่มีข้อมูลการศึกษาในคนไทย จึงใช้ข้อมูลข้อกำหนดสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งได้จากการศึกษาสมดุลฟอสฟอรัส และระดับฟอสฟอรัสในเลือด

ดังแสดงไว้ในตารางปริมาณฟอสฟอรัสอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับกลุ่มบุคคลวัยต่างๆ

ฟอสฟอรัส 

            นอกจากนี้ในสหรัฐอเมริกายังมีการกำหนดปริมาณสูงสุดของฟอสฟอรัส ที่รับได้ในแต่ละวันไว้เท่ากับ 3-4 กรัมต่อวัน ในกลุ่มอายุต่างๆ

ดังแสดงไว้ในตารางต่อไปนี้ปริมาณสูงสุดของฟอสฟอรัสที่รับได้ในแต่ละวันสำหรับกลุ่มบุคคลวัยต่างๆ

 ฟอสฟอรัส

ฟอสฟอรัส

ประโยชน์และโทษสารฟอสฟอรัส

         ฟอสฟอรัสเป็นแร่ธาตุที่มีบทบาทหน้าที่ในร่างกายมากกว่าแร่ธาตุชนิดอื่น ตัวอย่างเช่น ฟอสฟอรัสรวมตัวกับแคลเซียมเป็น complex ของแคลเซียมฟอสเฟต พบมากในส่วนที่เป็นโครงสร้างของร่างกาย เช่น กระดูก และฟัน ทำให้กระดูก และฟันเกิดความแข็งแรง และฟอสฟอรัสยังเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาเคมีมากมายในร่างกาย และเป็นประจุลบที่สำคัญอยู่ภายในเซลล์ทั่วไปของร่างกาย ส่วนฟอสฟอรัสที่อยู่ในเลือด และเซลล์จะพบในรูปของฟอสเฟตอิออนที่ละลายได้ เหมือนกับที่พบในไขมัน โปรตีน คาร์บอไฮเดรต และในเอ็นไซม์ ที่ใช้ขนถ่าย และแลกเปลี่ยนพลังงาน อีกทั้งฟอสเฟอตในร่างกายยังเสริมการทำงานของวิตามินบีหลายตัว และยังมีหน้าที่สำคัญในการ metabolism ของ muscle energy, คาร์บอไฮเดรต โปรตีน ไขมัน เนื้อเยื่อของระบบประสาทกลไกเคมีของเลือด ซึ่งสามารถสรุปบทบาทหน้าที่ และประโยชน์ของฟอสฟอรัสได้ว่า ฟอสฟอรัสมีบทบาทหน้าที่สำคัญในร่างกาย ทั้งด้านโครงสร้างการทำหน้าที่ของเซลล์และอวัยวะต่างๆ ด้านโครงสร้างฟอสฟอรัสมีบทบาทหน้าที่ดังนี้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของกระดูก โดยรวมตัวกับแคลเซียมเป็น hydroxyapatite ทำให้กระดูก และฟันแข็งแรงเป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์โดยอยู่ในรูปของ phospholipids เป็นส่วนประกอบของ nucleotide ซึ่งร่างกายใช้สร้างกรดนิวคลีอิกใน DNA และ RNA ดังนั้นจึงเป็นส่วนประกอบของโครโมโซม และมีบทบาทในการแบ่งเซลล์ ส่วนด้านการทำหน้าที่ของเซลล์และอวัยวะต่างๆ ฟอสฟอรัส มีบทบาทดังนี้ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของ ATP โดยอยู่ในรูปของ high-energy phosphate bond ทำหน้าที่สะสมพลังงานที่ได้จากขบวนการเมตาบอลิสมต่างๆ ภายในเซลล์ไว้ชั่วคราว และเป็นแหล่งพลังงานที่ใช้ในกระบวนการของเซลล์ด้วย เป็นส่วนประกอบสำคัญของ cyclic adenosine monophosphate (cAMP) ซึ่งเป็นสารประกอบภายในเซลล์ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางการทำงานของฮอร์โมน และสารหลายชนิด กระตุ้นการทำงานของโปรตีนและเอนไซม์หลายชนิดโดยรวมตัวกับโปรตีนเหล่านี้ ทำหน้าที่เป็น buffer ควบคุมภาวะกรดด่างของร่างกาย

            ส่วนโทษของฟอสฟอรัสนั้นสามารถแยกออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

  1. ภาวะขาดฟอสฟอรัส โดยทั่วไปคนที่บริโภคอาหารครบทุกหมู่จะไม่มีปัญหาการขาดฟอสฟอรัส แต่ก็มีในกรณีที่ได้รับฟอสฟอรัสจากอาหารไม่เพียงพอ เช่น มีภาวะทุพโภชนาการอย่างรุนแรง รวมถึงการได้รับยาลดกรดที่มีอลูมิเนียมซึ่งจะจับกับฟอสฟอรัสในลำไส้ทำให้ลดการดูดซึมของฟอสฟอรัสจากอาหาร ก็จะทำให้ระดับฟอสฟอรัสในเลือด และในเซลล์ต่ำ มีผลทำให้เซลล์ และอวัยวะต่างๆ ทำงานผิดปกติอาการ และอาการแสดงของการขาดฟอสฟอรัส คือ เบื่ออาหาร ซีด ปวดกระดูก เป็นโรคกระดูกอ่อน (rickets) ในเด็ก หรือ โรคกระดูกน่วม (osteomalacia) ในผู้ใหญ่ และความผิดปกติของระบบประสาท ได้แก่ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ataxia, paresthesia สับสน และอาจเสียชีวิตได้ปัจจัยเสี่ยงของการขาดฟอสฟอรัส
  2.  ภาวะมีฟอสฟอรัสเกิน ซึ่งโดยส่วนมากผู้ที่มีภาวะนี้จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคไตที่มีภาวะไตทำงานไม่เป็นปกติ โดยจะมีอาการคันตามผิวหนัง เพราะฟอสฟอรัสที่มีมากในเลือดไปสะสมตามเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคันตามผิวหนังได้ง่าย และยังมีอาการกระดูกบางและเปราะ เพราะเมื่อไตทำหน้าที่ลดลงการขับฟอสฟอรัสจะน้อยลง ทำให้เกิดการสะสมของฟอสฟอรัสมากขึ้นในหลอดเลือดร่างกายจะตอบสนองโดยการนำแคลเซียมมาจับกับฟอสฟอรัส หากระดับของแคลเซียมในเลือดไม่พอ จะเกิดการกระตุ้นต่อมพาราธัยรอยด์ ทำให้แคลเซียมละลายออกมาจากกระดูก จนในที่สุดเนื้อกระดูกจะบางลง เปราะและหักง่าย อาการหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนของแคลเซียมกับฟอสฟอรัส เหมือนกับการเกิดตะกร้าในท่อน้ำทิ้ง ซึ่งการเกาะของแคลเซียมนี้มักเกิดตามหลอดเลือดหัวใจ หรือ หลอดเลือดที่ใช้ฟอกเลือดทำให้อุดตันได้ง่าย นอกจากนี้ยังอาจพบอาการที่มีก้อนแคลเซียมเกาะตามเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้มีแผลเรื้อรังอีกด้วย

           สำหรับระดับของฟอสฟอรัสในเลือดนั้น สามารถแบ่งออกได้ดังนี้

  • ระดับฟอสฟอรัสปกติในเลือด     3.5 – 5.5 mEq/L
  • ระดับฟอสฟอรัสต่ำในเลือด     < 3.5 mEq/L  อาจทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ระดับฟอสฟอรัสสูงในเลือด      > 5.5 mEq/L อาจทำให้มีอาการคันตามผิวหนัง หลอดเลือดแดงแข็ง มีก้อนแคลเซียมเกาะตามเนื้อเยื่อ ภาวะต่อมพาราไทรอยด์โต กระดูกบาง และเปราะฟอสฟอรัส

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารฟอสฟอรัส

มีผลการศึกษาวิจัยระบบการดูดซึม และขับถ่ายฟอสฟอรัส พบว่าฟอสฟอรัสที่ดูดซึมจากอาหาร และจากการสลายของกระดูก (bone resorption)  จะเข้ามาในส่วนของฟอสฟอรัสอนินทรีย์นี้ ฟอสฟอรัสส่วนใหญ่ที่ขับถ่ายออกทางปัสสาวะอยู่ในรูปของฟอสฟอรัสอนินทรีย์

            ซึ่งฟอสฟอรัสในอาหารถูกดูดซึมร้อยละ 55-70 ในผู้ใหญ่ และร้อยละ 65-90 ในทารก และเด็กโดยการดูดซึมส่วนใหญ่ใช้กลไกแบบ passive transport ซึ่งขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของฟอสฟอรัสในอาหาร และส่วนใหญ่เป็นกลไกแบบ active transport โดยอาศัยวิตามินดีในรูปของ 1,25-dihydroxycholecalciferol {1,25(OH)2D} อีกทั้งฟอสฟอรัสที่ถูกย่อยจากอาหารจะถูกดูดซึม โดยน้ำย่อย phosphatase จากลำไส้เล็กจะขับไล่ simple phosphorus compound จากลำไส้ก่อนการดูดซึม และการดูดซึมจะเกิดได้ดีในตัวกลางที่เป็นกรด แต่หากมีเหล็กอะลูมิเนียม และแมกนีเซียม จำนวนมากๆ อยู่ร่วมด้วยจะรบกวน และขัดขวางการดูดซึมของฟอสฟอรัส เพราะทำให้เกิดฟอสเฟตชนิดที่ไม่ละลาย

            ส่วนการขับฟอสฟอรัสในปัสสาวะส่วนใหญ่เป็น inorganic phosphate แต่จะมีมากน้อยเท่าใดไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปริมาณที่ดูดซึมได้จากอาหาร และยังขึ้นกับสาเหตุอื่น ได้แก่การ catabolism ของเนื้อเยื่อในร่างกาย และในระหว่างการอดอาหาร หรือ ขณะหิว (starvation) ร่างกายจะขับฟอสฟอรัสจำนวนมากไปยังปัสสาวะ และยังมีผลการศึกษาวิจัยอีกหลายฉบับที่เกี่ยวกับการบริโภคฟอสฟอรัสระบุว่า คนอายุมากกว่า 30 ปี หากบริโภคฟอสฟอรัสมากเกินไป จะทำให้โรคกระดูกผุ เนื่องจากการสูญเสียแคลเซียม (osteoporosis) คือ กระดูกจะบาง สั้น เปราะ ไม่แข็งแรง และในผู้หญิงจะมีผลมากกว่าผู้ชาย ซึ่งมักจะเกิดร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลังจากการหมดประจำเดือน คือ มีการเปลี่ยนแปลงของ metabolism ของแคลเซียม รวมถึงผู้ที่บริโภคอาหารที่มีโปรตีนสูงมากเกินไป รวมทั้งการเติมสารผสมอาหารที่มีฟอสฟอรัสเป็นส่วนประกอบมีความเสี่ยงต่อการได้รับฟอสฟอรัสมากเกินความจำเป็น การบริโภคฟอสฟอรัส มากเกินไปทำให้ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงผิดปกติ ซึ่งทำให้เกิดผลเสียแก่ร่างกาย เช่น มีการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสมดุลของแคลเซียม คือ ฮอร์โมนพาราไทรอยด์ เพิ่มขึ้น และ 1,25(OH)2 D ลดลง และยังเกิดการสะสมแคลเซียมในเนื้อเยื่อต่างๆ ที่ไม่ใช้กระดูก เช่น ectopic/metastatic calcification เกิดจากการตกผลึกของแคลเซียม และฟอสฟอรัสที่มีความเข้มข้นในเลือดสูง ถ้ามีการสะสมแคลเซียมที่ไตจะทำให้การทำหน้าที่ของไตสูญเสียไป ในคนปกติไม่พบภาวะนี้แต่พบในผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้ายและผู้ที่ได้รับวิตามินดีมากเกินไปจนเกิดพิษจากวิตามินดี

โครงสร้างฟอสฟอรัส

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

โดยปกติแล้วหากรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ร่างกายจะได้รับฟอสฟอรัส ในปริมาณที่เพียงพอ แต่ในบางกรณีที่ร่างกายได้รับฟอสฟอรัสไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหาร แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานฟอสฟอรัสเพิ่มในรูปแบบอาหารเสริม แต่อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริมฟอสฟอรัส ควรปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยโรค โรคไต โรคตับ โรคปอด ผู้ป่วยโรคแอดดิสัน (Addison’s Disease) มีระดับแคลเซียมในเลือดผิดปกติ และผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์หรือต่อมพาราไทรอยด์

 

เอกสารอ้างอิง ฟอสฟอรัส
  1. Anderson JJB, Sell ML, Garner SC, Calvo MS. Phosphorus. In: Bowman BA, Russell RM, eds. Present knowledge in nutrition. 8th ed. Washington, D.C.: ILSI Press,2001;281-91.
  2. ผอ.นพ.อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์. ฟอสฟอรัส .วารสารมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทยปีที่ 22. ฉบับที่ 43 มกราคม 2551. หน้า 27-31
  3. พงศ์ธร สังข์เผือก ประภาศรี ภูวเสถียร สมศรี เจริญเกียรติกุล ประไพศรี ศิริจักรวาล ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์นวลศรี ทิวทอง คุณภาพ และปริมาณของน้ำนมแม่ไทย โภชนาการสาร 2526;17:181-95
  4. คณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย. ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน สำหรับคนไทย พ.ศ.2563. กรุงเทพมหานคร ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.วี.โปรเกรสชีพ 2563
  5. คณะกรรมการจัดทำข้อกำหนดสารอาหารประจำวันที่ร่างกายควรได้รับของประชาชนชาวไทย กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข ข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวัน และแนวทางการบริโภคอาหารสำหรับคนไทยกรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 2532
  6. ฟอสฟอรัสกับคำแนะนำในการบริโภค. พบแพทย์ดอทคอม (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
  7. Allen JC, Keller RP, Archer P, Neville MC. Studies in human lactation: milk composition and daily secretion rates of macronutrients in the first year of lactation. Am J Clin Nutr 1991;54:69-80.
  8. Hegsted,D.M. Calcium and phosphorus. In Modern nutrition in health and disease . 5 th ed Eidited by R.S. Goodhart and M.E. Shils, eds Philadelphia Lea and Fediger, 1973.p.6p.
  9. Insititute of Nutrition, Mahidol University. Thai food composition tables. 1st ed. Bangkok: Paluk Tai,1999.
  10. Calvo MS, Park YK. Changing phosphorus content of the US diet: potential for adverse effects on bone. J Nutr 1996;126(4 Suppl):1168S-1180S.
  11. Anderson JJB, Sell ML, Garner SC, Calvo MS. Phosphorus. In: Bowman BA, Russell RM, eds. Present knowledge in nutrition. 8th ed. Washington, D.C.: ILSI Press,2001;281-91.
  12. Atkinson SA, Alston-Mills BP, Lonnerdal B, Neville MC, Thompson MP. Major minerals and ionic constituents of human and bovine milk. In: Jensen RJ, ed. Handbook of milk composition. California: Academic Press, 1995;593-619
  13. Calvo MS, Heath H 3rd. Acute effects of oral phosphate-salt ingestion on serum phosphorus, serum ionized calcium, and parathyroid hormone in young adults. Am J Clin Nutr 1988;47:1025-9.
  14. Dewey KG, Finley DA, Lonnerdal B. Breast milk volume and composition during late lactation (7-20 months). J Pediatr Gastroenterol Nutr 1984;3:713-20.