คันทรง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

คันทรง งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร คันทรง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักหวานทะเล (ภาคกลาง), ก้านเถิง, ผักก้านเถิง (ภาคเหนือ), ก้านตรง, ผักก้านตรง (ภาคอีสาน), กะทรง, ทรง (ภาคใต้), เพลโพเด๊าะ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Colubrina asiatica (L.) Brongn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Colubrina capsularis G. Forst., Pomaderris capsularis (G. Forst.) G. Don, Ceanothus asiaticus L., C. capsularis G.Forst., Rhamnus acuminata Colebr. ex Roxb.
วงศ์ Rhamnaceae

ถิ่นกำเนิดคันทรง 

เชื่อกันว่าคันทรง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีเอเชีย (เพราะชื่อทางวิทยาศาสตร์มีปรากฎชื่อของทวีปเอเชียด้วย) แต่ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในภูมิภาคไหนของทวีปเอเชีย แต่สำหรับในประเทศไทยสามารถพบเจอได้ทั่วทุกภาคของประเทศโดยเฉพาะภาคเหนือจะพบได้มากกว่าภาคอื่น และจะพบได้ตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป หรือ ตามป่าละเมาะป่าตามพื้นราบทั่วๆ ไป หรือ ป่าดงดิบรวมถึงตามชายหาดหินปูนในภาคใต้

ประโยชน์และสรรพคุณคันทรง

  1. แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  2. แก้อาการบวม
  3. ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย
  4. ช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองที่ผิว
  5. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง
  6. แก้เม็ดผื่นคัน
  7. แก้บวมทั้งตัว เนื่องจากโรคไต หรือ โรคหัวใจพิการ
  8. แก้เหน็บชา
  9. แก้โรคพยาธิในเด็ก
  10. แก้โรคกระเพาะอาหาร
  11. ช่วยเจริญอาหาร
  12. แก้อาการแพ้
  13. แก้ไข้
  14. ช่วยบรรเทาปวด
  15. แก้ตานขโมยในเด็ก
  16. รักษาโรคข้อรูมาติก
  17. แก้อาการปวดศีรษะ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้อาการบวม โดยใช้ราก หรือ เปลือกต้นคันทรง มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ช่วยให้เจริญอาหาร แก้น้ำเหลืองเสีย โดยใช้ใบมากินเป็นผักสด หรือ นำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้ ใช้แก้อาการบวม แก้เหน็บชา แก้เม็ดผดผื่นคัน โดยใช้ใบ และเปลือกต้นมาต้มกับน้ำอาบ ใช้แก้ตานขโมยในเด็ก แก้บวมโดยใช้รากมาฝนผสมน้ำมะพร้าว ดื่ม


ลักษณะทั่วไปของคันทรง

คันทรง จักเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง หรือ ไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ลำต้นตั้งตรงสูง 2-9 เมตร เปลือกต้นสีเขียวเข้มเป็นมัน มีรอยแตกเป็นร่องตื้น ถี่ๆ และมีตาที่ทิ้งใบเป็นตุ่มห่างๆ โดยมักจะแตกกิ่งก้านมากตั้งแต่โคนต้นกิ่งก้านมีสีเขียวลักษณะเส้นกลม ใบเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหอกกว้าง รูปไข่กว้าง หรือ รูปหัวใจ กว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร ส่วนปลายใบมีลักษณะเรียวแหลม โคนใบมนหยักเว้าคล้ายรูปหัวใจ ขอบใบหยักมนแกมจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบบาง หลังใบเรียบเป็นมันมีสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเรียบเป็นมันสีเขียวอ่อนกว่าหลังใบ มีขนที่เส้นใบ โดยมีเส้นใบ 3 เส้น ออกจากโคนใบ ส่วนอีก 3-4 เส้น ออกจากเส้นกลางใบ และมีก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผลเป็นผลเดี่ยว ลักษณะเป็นผลสดรูปทรงกลม ผิวเรียบเป็นมัน ปลายผลเว้าเข้าแบ่งออกเป็นพู 3 พู มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5-0.6 เซนติเมตร ผลดิบมีสีเขียว และเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายในมีเมล็ดจำนวน 3 เมล็ด ที่ขั้วผลมีวงกลีบเลี้ยงสีเขียวติดอยู่ โดยผลจะเรียงห้อยลงเป็นแถวๆ ตามกิ่ง ดอกออกเป็นช่อกระจุก ออกที่ซอกใบ ตามกิ่งก้าน โดยจะออกเรียงเป็นแถวเป็นช่อเล็กๆ มีขนาดยาว 1 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อยมี 8-14 ดอก/ช่อ ขนาดเล็ก ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปไข่กลับมีสีเหลืองแกมเขียว มีก้านดอกย่อยยาว 2-3 มิลลิเมตร สำหรับดอกย่อยจะประกอบด้วยดอกสมบูรณ์เพศ 2-3 ดอก และดอกตัวผู้หลายดอกเมล็ด ลักษณะแบน ขนาดเล็ก ประมาณ 4-6 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาลเทา มี 3 เมล็ดใน 1 ผล

คันทรง

การขยายพันธุ์คันทรง

คันทรง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการปักชำลำต้น แต่ในปัจจุบันคันทรงยังไม่เป็นที่นิยมในการนำมาปลูกเพื่อใช้ประดยชน์ หรือ เพื่อการค้า ดังนั้นการขยายพันธุ์ของคันทรงจึงเป็นการขยายพันธุ์ทางธรรมชาติ โดอาศัยเมล็ดที่ร่วงหล่นจะงอกขึ้นมาเอง หรือ อาศัยนกมากินผลสุกแล้วไปขับถ่ายเอาเมล็ดไปแพร่กระจายพันธุ์ยังบริเวณอื่น แต่หากต้องการปลูกคันทรง ไว้ใช้ประโยชน์ก็สามารถทำได้โดยการนำเมล็ดไปเพาะให้เป็นต้นกล้าแล้วจึงนำต้นกล้าไปปลูก โดยมีวิธีการเช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดไม้ยืนต้นอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของคันทรง พบว่า พบสารกลุ่มซาโปนิน เช่น colubrine, colubrinoside ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน, สารกลุ่มแลคโตน เช่น ebelin lactone และสารกลุ่มฟลานอยด์ เช่น kaemp ferol, kaempferol-3-O-rutinoside, rutin เป็นต้น

            นอกจากนี้ยังพบสาร ceanotic acid, granulosic acid, zizyberenalic acid, alphitolic acid, betulinic acid, erqosterol peroxide และ -sitosterol เป็นต้น

โครงสร้างคันทรง

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของคันทรง

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี DPPH รายงานผลเป็น % radical scavenging ซึ่งจากการทดสอบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดในตัวทำละลายเมทานอล พบว่าสารสกัดของผักพื้นบ้านสดที่มีฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระมากที่สุด คือ ผักแขยง น้อยที่สุด คือ ผักก้านตรง โดยมี % radical scavenging เท่ากับ 86.24±0.05 30.39±0.09% ตามลำดับ และมีการศึกษาความสามารถในการรีดิวซ์สารประกอบเชิงซ้อนของเหล็ก Fe 3+- TPTZ จากการทดลองพบว่า สารสกัดจากผักพื้นบ้านสดที่มีความสามารถในการรีดิวซ์ Fe 3+ มากที่สุด คือ ผักแขยง น้อยที่สุด คือ ผักก้านตรง โดยมีปริมาณ Fe 2+ เท่ากับ 15.48±0.01 9.98±0.01 g/g ตามลำดับ และสารสกัดจากผักพื้นบ้านแห้งที่มีความสามารถในการรีดิวซ์ Fe 3+ มากที่สุด คือ ผักแขยง น้อยที่สุดคือ ผักก้านตรง โดยมีปริมาณ Fe 2+ เท่ากับ 20.99±0.02 12.31±0.02 g/g ตามลำดับ

การศึกษาทางพิษวิทยาของคันทรง

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานคันทรง เพราะมีฤทธิ์ทำให้แท้งบุตร
  2. คันทรง มีสารซาโปนิน มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน หากบริโภคมากเกินไปอาจทำให้เกิดอันตรายได้
  3. ในการใช้คันทรงเป็นสมุนไพรตามตำรับตำรายาต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดี และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้คันทรง เป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง คันทรง
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “คัดเค้า”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 179.
  2. มัณฑนา นวลเจริญ. พรรณไม้ป่าชายหาด. ปทุมธานี. สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2552 หน้า 101
  3. พรพิมล บัวชุม, รัตติกาล วงศ์ศิริ, อรสา อินทร์น้อย. การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากผักพื้นบ้าน และผักทั่วไป. สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี
  4. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “คันทรง (Khan Song)”. หนังสือสมุนไพร ไทย เล่ม 1. หน้า 78.
  5. อรทัย เนียมสุวรรณ นฤมล เล้งนนท์ กรกนก ยิ่งเจริญ พัชรินทร์ สิงห์ดำ. 2555. พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของพืชกินได้จากป่าชายเลน และป่าชายหาดบริเวณเขาสทิงพระ จังหวัดสงขลา. วารสารวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 40 (3): 981 – 991
  6. บุหรัน พันธุ์สวรรค์, อนุมูลอิสระ สารต้านอนุมูลอิสระ และการวิเคราะห์ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ, สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิทยาลัยพลังงาน และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา, 2556
  7. คันทรง. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=184
  8. Baxter RL, Walkinshaw MD. 1988. Isolation and structure of a ring contracted triterpenoid from Colubrina texensis tissue culture. Phytochemistry. 27:2350–2352
  9. M.B. Hossain, C. Barry-Ryan, A.B. Martin-Diana, N.P. Brunton, Effect of drying method on the antioxidant capacity of six Lamiaceae herbs, Dublin Institute of Technology, Dublin, Ireland, 2010
  10. Qiao C, Xu L, Shen Y, Hao X. 1999. Chemical constituents from Globba racemosa smith. Huaxue Yanjiu Yu Yingyong. 11:575–576
  11. Roitman JN, Jurd L. 1978. Triterpenoid and phenolic constituents of Colubrina granulose. Phytochemistry. 17:491–494.
  12. Shin Y, Tamai Y, Terazawa M. 2001. Chemical constituents of Inonotus obliquus IV. Triterpene and steroids from cultured mycelia. Eurasian J For Res. 2:27–30
  13. Kundu AB, Barik BR, Mondal DN, Dey AK, Banerji A. 1989. Zizyberanalic acid, A pentacyclic triterpenoid of Zizyphus jujuba. Phytochemistry. 28:3155–3158.