ผักโขม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ผักโขม งานวิจัยและสรรพคุณ 25 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ผักโขม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักขม, ผักโขม (ภาคกลาง), ผักโหม, ผักโหมเกลี้ยง (ภาคเหนือ), ผักหม (ภาคใต้, ภาคอีสาน), กะเหม่อลอเดอ (กะเหรี่ยง), Hinn choy (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Amaranthus lividus Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Amaranthus blitum subsp. oleraceus (L.) Costea
ชื่อสามัญ Amaranth, Amaranth green
วงศ์ AMARANTHACEAE

ถิ่นกำเนิดผักโขม 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าผักโขมเป็นพืชที่มีสายพันธุ์อยู่กว่า 70 สายพันธุ์ทั่วโลก แต่ในบทความนี้ขอกล่าวถึงผักโขมสายพันธุ์ A .livdus L. หรือ Amaranth green ซึ่งเป็นผักโขมที่ใช้รับประทานเป็นอาหารได้ชนิดหนึ่งที่พบได้ในประเทศไทย ผักโขม (A .livdus L.) เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นเดียวกันกับอีกหลายสายพันธุ์ โดยมีถิ่นกำเนิดบริเวณประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา รวมถึง มาเลเซีย อินโดนีเซียด้วย ดังนั้นจึงถือได้ว่าผักโขมพันธุ์นี้เป็นพืชเมืองของไทยที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป และมีการใช้ประโยชน์ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยจะพบได้ตามที่รกร้างทั่วไป ริมทาง ป่าทั่วไป ตามแปลงเกษตรของเกษตรกร รวมถึงมีการเพาะปลูกไว้จำหน่ายตามท้องถิ่นต่างๆ อีกด้วย
 

ประโยชน์และสรรพคุณผักโขม

  1. ช่วยบำรุงสายตา
  2. บำรุงกระดูก
  3. บำรุงกำลัง
  4. บำรุงสมอง
  5. ช่วยบำรุงฟัน
  6. แก้บิด
  7. แก้เป็นมูกเลือด
  8. แก้รำมะนาด
  9. แก้ริดสีดวงทวาร
  10. แก้ริดสีดวงจมูก
  11. แก้ผื่นคัน
  12. ช่วยดับพิษ
  13. แก้ไข
  14. แก้ไอ
  15. แก้รักษาฝี
  16. แก้แผลพุพอง
  17. แก้อาการไอหอบ
  18. แก้อาการแน่นหน้าอก
  19. แก้ดับพิษร้อนถอนพิษไข้
  20. แก้ขับปัสสาวะ
  21. แก้เด็กลิ้นเป็นฝ้า
  22. ช่วยขับเสมหะ
  23. ใช้ขับน้ำนม
  24. แก้ตกเลือด
  25. แก้หนองใน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้บำรุงกำลัง, บำรุงสายตา, บำรุงสมอง, บำรุงกระดูกและฟัน, ดับพิษ, แก้ไข้, แก้บิด, ขับปัสสาวะ โดยใช้ผักโขมทั้งต้นไปปรุงอาหารรับประทาน ใช้ดับพิษร้อน แก้ไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ โดยการนำรากต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาแผลพุพองโดยการนำใบมาต้มน้ำตบ ใช้รักษาฝี แผลหนอง แผลพุพอง โดยการนำใบสดผักโขม มาตำให้แหลกแล้วใช้ประคบบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของผักโขม

ผักโขม (A .livdus L.) จัดเป็นพืชล้มลุกปีเดียว สำต้นเล็กตั้งตรง ผิวเรียบสีเขียวลักษณะเป็นทรงกระบอก หรือ สามเหลี่ยมทู่ สูงได้ถึง 80 เซนติเมตร มักจะแตกกิ่งจากโคนต้น ใบออกเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับบนกิ่งขนาดเล็ก แผ่นใบมีลักษณะเป็นรูปไข่หัวกลับ-คล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน โคนใบรูปสามเหลี่ยม ปลายเว้าตื้น หรือ ติ่งหนาม ใบเป็นสีเขียว หรือ มีจุดสีม่วงกระจายทั่ว ยาว 3-6 เซนติเมตร กว้าง 2-4 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อ ออกตามซอกใบ หรือ ปลายช่อคล้ายช่อเชิงลด อาจเกิดบนกิ่งแขนง ดอกย่อยออกเป็นกระจุกแน่น ใบประดับ เป็นใบประดับย่อย รูปไข่ ปลายแหลม กลีบรวมมี 3 กลีบ สีเขียว ขอบใบบางใส ส่วนกลีบรวมเพศเมียรูปขอบขนาน กลีบรวมเพศผู้รูปช้อนยาวมากกว่า สำหรับเกสรเพศผู้จะมี 3 อัน และจะยาวเท่ากับกลีบรวมหรืออาจสั้นกว่าเล็กน้อยรังไข่ ในส่วนของรังไข่เป็นรูปขอบขนาน มียอดเกสรเพศเมีย 3 แฉก ผลมีลักษณะเป็นแบบผลกระเปาะ ทรงรีตามยาว ผิวเรียบ เมื่อแก่จะไม่แตก และมักจะมีกลีบรวมติดอยู่เมล็ด เมล็ดมีลักษณะนูนทั้งสองด้าน ผิวมัน ดำเข้ม-น้ำตาล กว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร

ผักโขม

การขยายพันธุ์ผักโขม

ผักโขมสามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดเป็นหลัก โดยมักจะเกิดเองตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันมีการนำเมล็ดมาเพาะขยายพันธุ์มากขึ้น

           สำหรับวิธีการขยายพันธุ์ผักโขม สามารถทำได้โดยเริ่มจากการเตรียมดินปลูกควรใช้ดินร่วน หรือ ดินร่วนปนทรายผสมกับวัสดุทางการเกษตร เช่น แกลบ ขี้เถ้า ขี้เลื่อย มูลสัตว์ เป็นต้น ในอัตราส่วนดินกับวัสดุ 2:1 แล้วเตรียมแปลงปลูกโดยการยกร่องแล้วไถพรวนดินร่วมกับการใส่วัสดุเหลือใช้ทางเกษตรข้างต้นในอัตรา 2-3 กิโลกรัม/ตารางเมตร

            จากนั้นหว่านเมล็ดผักโขม ทั้งแปลงหรือหว่านเป็นแถว โดยหากหว่านเมล็ดทั้งแปลงให้ใช้เมล็ดในอัตรา 10 กก./ไร่ ด้วยการหว่านเมล็ด และคราดดินกลบ 1-2 รอบ พร้อมรดน้ำให้ชุ่ม แต่หากหว่านเมล็ดเป็นแถว ควรให้มีระยะห่างระหว่างแถว 20-30 ซม. ในอัตราเดียวกัน พร้อมคราดดินกลบและรดน้ำให้ชุ่ม ทั้งนี้อัตราส่วนเมล็ดพันธุ์กับขนาดแปลงอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ขนาดลำต้น และทรงพุ่มของผักโขม หลังจากการหว่านเมล็ดผักโขม จะงอกประมาณ 3-7 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม สำหรับการให้น้ำ จะให้น้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง ตั้งแต่หลังการหว่านเมล็ดจนถึงก่อนระยะเก็บผลผลิต 1-2 วัน ทั้งนี้ ควรให้น้ำในปริมาณที่เหมาะสมไม่ให้ดินอุ้มน้ำ หรือ มีน้ำท่วมขัง ส่วนการเก็บผลิตมักเก็บในระยะต้นอ่อน โดยมีใบแห้งประมาณ 5-10 ใบ หรือ ความสูงประมาณ 15-25 ซม.
รูปผักโขม

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของผักโขมพบว่ามีสารสำคัญอยู่หลายชนิด เช่น xanthophylls, lysine, β-carotene, cystine, threonine, isoleucine, leucine, tocotrienol, valine, arginine, methionine, histidine, tyrosine และ phenylalanine เป็นต้น

            นอกจากนี้ผักโขม ยังมีคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของใบผักโขมสด (100 กรัม)

            พลังงาน                                    36.0                  แคลอรี่

            โปรตีน                                       3.5                    กรัม

            ไขมัน                                        0.5                    กรัม

            คาร์โบไฮเดรต                             6.5                  กรัม

            เส้นใย                                       1.3                     กรัม

            เบต้าแครอทีน                             4                      กรัม

            แคลเซียม                                  267.0               มิลลิกรัม

            ฟอสฟอรัส                                 67.0                 มิลลิกรัม

            ธาตุเหล็ก                                    3.9                  มิลลิกรัม

            โซเดียม                                     -                       มิลลิกรัม

            โปตัสเซียม                                 411.0              มิลลิกรัม

            วิตามิน B1                                0.08                  มิลลิกรัม

            วิตามิน B2                                0.16                  มิลลิกรัม

            วิตามิน B3                                 1.4                   มิลลิกรัม

            วิตามิน C                                   80.0                 มิลลิกรัม

โครงสร้างผักโขม 

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของผักโขม

มีการศึกษาฤทธิ์ลดระดับคลอเรสเตอรอลในหนูทดลอง พบว่าหนูที่ได้รับอาหารที่มีคอเลสเตอรอลร่วมกับเมล็ดผักโขม หรือ น้ำมันผักโขม มีคอเลสเตอรอลในตับ และระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และเมื่อทดลองฉีดสารละลายน้ำเกลือ สารสควอลีนจากผักโขม หรือ สารสควอลีนจากตับฉลามในปริมาณเท่าๆ กันให้กับหนูที่กินอาหารคอเลสเตอรอลสูง ผลชี้ว่าสารสควอลีนที่ได้จากผักโขมอาจมีประสิทธิภาพในการลดระดับคอเลสเตอรอลด้วยการช่วยเพิ่มการขับถ่ายคอเลสเตอรอล และกรดน้ำดี ในขณะที่ไม่พบผลลัพธ์ในหนูที่ได้รับสารละลายน้ำเกลือหรือสารสควอลีนจากตับฉลาม

           ฤทธิ์ลดความดันโลหิต มีผลการวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งทดลองให้ไก่กินน้ำมันผักโขมแล้วพบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจลดน้อยลง เนื่องจากน้ำมันผักโขมส่งผลให้เกิดการลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และระดับความดันโลหิต ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ต่างเป็นปัจจัยให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

           ฤทธิ์ต้านเบาหวาน มีงานวิจัยที่พบว่าผักโขม มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระในหญิงวัยทอง และยังพบว่าผงสกัดจากใบผักโขมยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ

           ฤทธิ์ต้านมะเร็ง มีการศึกษาวิจัยในห้องทดลอง และการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองโดยให้หนูกินผักโขมโดยตรง ซึ่งการศึกษาในห้องทดลองพบว่าหลังจากหยดสารสกัดสควอลีนจากผักโขมลงบนเซลล์มะเร็ง สารสกัดดังกล่าวมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งตับ เซลล์มะเร็งเต้านม และเซลล์มะเร็งสำไส้ใหญ่ได้ แต่ในเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่จะเห็นผลน้อยกว่า

           ส่วนการทดลองในหนูที่ได้รับสารก่อเกิดโรคมะเร็ง ปรากฏว่าการให้หนูกินอาหารเสริมสารสกัดสควอลีน 5%, 7.5% หรือ 10% จากผักโขม สามารถช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ก่อมะเร็ง โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดสควอลีน 10 เปอร์เซ็นต์ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารเสริมต้านมะเร็งจากชะเอมตามปริมาณที่แนะนำ (0.005%) ก็ไม่พบว่าอาหารเสริมชะเอมมีประสิทธิภาพควบคุมหรือยับยั้งมะเร็งได้อย่างสารสกัดสควอลีนจากผักโขมแต่อย่างใด

การศึกษาทางพิษวิทยาของผักโขม

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ผักโขมเป็นผักที่มีปริมาณสารออกซาเลตค่อนข้างสูง ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาเรื่องนิ่ว เกาต์ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ รวมถึงผู้ที่มีความแพทย์ระบุว่าต้องการสะสมปริมาณแคลเซียม ในร่างกายควรจะต้องหลีกเลี่ยงการกินผักโขมในปริมาณมาก
  2. ในการนำผักโขม มาบริโภคเป็นอาหารควรทำให้สุกก่อนรับประทานเพราะจะเป็นการลดปริมาณกรด  ค็อกซาสิคได้
  3. ในการใช้ผักโขมเป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดที่พอดีที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้ผักขมเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคควรปรึกษาแพทย์ก่นใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ผักโข
  1. สมชาย ชคตระการ, 2537. เรื่องของผักโขม .วารสารศักยภาพ. สมาคมนักวิชาชีพไทยในประเทศญี่ปุ่น 2(2):26-30.
  2. เดชา  ศิริภัทร.ผักขม. ความขมที่เป็นทั้งผัก และยา.คอลัมน์ ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 198. ตุลาคม 2538
  3. สมชาย ชคตระการ, 2536. ผักโขมพืชโภชนาการ, วารสารเกษตรก้าวหน้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2(2):23-33.
  4. ภัทร์พิชชา ชุจิระพงศ์ชัง.ศิริพร ซึ่งสนธิพร, กาญจนา พฤกษพันธ์.สัณฐานวิทยาของเมล็ดวัชพืชวงศ์ผักโขม. รายงานผลงานวิจัยประจำปี 2556. สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน้า 2083-2105
  5. รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ.ผักโขม.คอลัมน์ เรื่องเด่นจากปก.นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่. 333.มกราคม 2550
  6. สมชาย ขคตระการ,เพ็ญนภา อริยาเดช. ผักโขม (Amaranthu) ผักพื้นบ้านโภชนาการล้ำค่า,วารสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีปีที่ 4. เล่มที่  2. พฤศจิกายน 2538-เมษายน 2539. 57 หน้า
  7. สมุนไพร อะไรที่ช่วยเสริมสร้าง L-Arginine.กระดานถาม-ตอบ .สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6873
  8. ผักโขมมีสรรพคุณทางยารักษาโรคได้จริงเหรอ?พบแพทย์ดอทคอม (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://podpad.com