ผักเขียด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ผักเขียด งานวิจัยและสรรพคุณ 10 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ผักเขียด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น นิลบล, ขาเขียด, ขากบขาเขียด (ภาคกลาง), ผักฮิ้น, ผักฮิ้นน้ำ (ภาคเหนือ), ผักอีฮิน, ผักอีฮินใหญ่ (ภาคอีสาน), ผักริ้น (ภาคใต้), ผักเผ็ด (โคราช), ผักเป็ด (ชลบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Monochoria vaginalis (Burm.f.) C.Presl ​ex Kunth
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Monochoria junghuhniana Hassk., Monochoria ovata Kunth., Gomphima vaginalis (Burm.f.) Raf.
ชื่อสามัญ pickerel weed
วงศ์ Pontederiaceae

ถิ่นกำเนิดผักเขียด 

ผักเขียด เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย ซึ่งสามารถพบได้ตลอดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และมาเลเซีย สำหรับประเทศไทยพบขึ้นในบริเวณที่มีน้ำขัง ตามบ่อเลี้ยงปลา และในนาข้าว หรือ บริเวณดินแฉะๆ และพบทั่วไปในประเทศไทย โดยจัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง และจะพบมากในนาข้าวทางภาคเหนือ

ประโยชน์และสรรพคุณผักเขียด

  1. รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก
  2. ใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู โค กระบือ
  3. ช่วยลดความร้อนในร่างกาย
  4. ช่วยขับพิษร้อน
  5. ช่วยถอนพิษไข้
  6. ช่วยขับปัสสาวะ
  7. แก้ไอ
  8. แก้พิษเห็ดเมา
  9. ใช้รักษาแผลอักเสบ ฝี หนอง
  10. แก้เมาค้าง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ไอ ขับปัสสาวะ โดยนำทั้งต้นมาคั้นเอาน้ำรับประทาน ใช้แก้พิษร้อน ถอนพิษไข้ ขับปัสสาวะ โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาแผลอักเสบ ฝี หนอง โดยใช้ต้นผักเขียด สดทั้งต้นมาตำพอกบริเวณที่เป็น ใช้แก้พิษของเห็ด โดยการใช้ทั้งต้นร่วมกับผักกระเฉด ต้นน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของผักเขียด

ผักเขียด จัดเป็นพืชน้ำ มีเหง้า หรือ ลำต้นใต้ดินสั้นมาก โดยส่วนที่เห็นเป็นลำต้นที่ทอดเลื้อยนั้น คือ ส่วนของก้านใบที่อัดรวมกันแน่นและ มีรากฝอยหยังลึกลงในดินซึ่งจะมีสีน้ำตาลแดงจำนวนมาก ใบออกเป็นใบเดี่ยวจากโคนต้นแบบเรียงสลับ ก้านใบกลมเรียงยาว 9-55 มิลลิเมตร ลักษณะ อวบน้ำ ภายในกลวง บริเวณโคนก้านใบมีลักษณะเป็นกาบหุ้มอัดรวมกันอยู่แน่น ลักษณะของใบมีรูปร่างต่างกันไป เช่น คล้ายรูปหัวใจ รูปเรียวยาว รูปไข่ รูปหัวใจแกมรูปไข่ เป็นต้น โดยมีขนาดกว้าง 2.5 เซนติเมตร ยาว 6-13 เซนติเมตร ส่วนโคนใบลักษณะเว้า ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ใบมีความยาวประมาณ 9-85 มม. ดอกเป็นช่อแบบ Raceme ช่อดอกหนึ่งๆ จะประกอบด้วยดอกย่อยสีขาว หรือ สีน้ำเงิน มีตั้งแต่ 2-15 ดอก ซึ่งแต่ละดอกจะมี กลีบทั้งหมด 6 กลีบ แต่ละกลีบยาว 11-15 มิลลิเมตร ด้านนอกของกลีบมีสีเขียว โดยจะมีก้านดอกยาว 2.5-25 มิลลิเมตร ยื่นออกจากก้านใบด้านบน และมีเกสรตัวผู้ 6 อัน ติดกันเป็นแผงตั้งอยู่บนฐานรองดอก (Receptacle) ส่วนเกสรตัวเมียมีสีม่วงมีรังไข่อยู่เหนือโคนกลีบรวม รูปร่างยาวรี ผล เป็นแคปซูล ยาวประมาณ 1 ซม. เมื่อแก่ผลจะแตกออกโดยแตกตามยาวเป็น 3 ซีก ด้านในมีเมล็ดสีน้ำตาลอยู่ภายในเป็นจำนวนมาก

ผัดเขียด

ผักเขียด

การขยายพันธุ์ผักเขียด

ผักเขียดสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด แต่ส่วนมากเป็นการขยายพันธุทางธรรมชาติ ไม่มีการนำมาปลูกแต่อย่างใด เพราะผักเขียด ถูกจัดให้เป็นวัชพืชในนาข้าวชนิดหนึ่ง ซึ่งผักเขียดมีรากยืดกับดินที่เป็นโคลนดม ตามหนองน้ำ หรือ ในนาข้าวที่มีระดับน้ำไม่ลึก และจะเจริญอยู่ในที่มีน้ำขังเท่านั้น หากมีการปล่อยน้ำออกจากนา หรือ หนองน้ำมีน้ำแห้งมาก ผักเขียดจะตายทันที แต่เมื่อถึงฤดูดำนาหรือฤดูฝนที่ทำให้มีน้ำขัง เมล็ดผักเขียด ที่ตกหล่นอยู่ในดินจากฤดูที่ผ่านมาจะงอกเป็นต้นอ่อน และจะเจริญอย่างรวดเร็ว แตกกอเป็นกอใหญ่ พร้อมทั้งออกดอก และออกผลทิ้งเมล็ดไว้เช่นเดิม

องค์ประกอบทางเคมี

            มีรายงานการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของผักเขียด ด้วยวิธีแก๊สโครมาโทกราฟิแมสสเปกโทรเมตรี พบว่ามีองค์ประกอบทางเคมีที่มีองค์ประกอบหลัก 8 ชนิด ได้แก่ Linoleicacid, Palmitic acid, 9-cis-Oleic acid, Methyl linolenate, Acetic acid, Stearic acid, Neophytadiene และ trans-Oleic acid โดยมี Linoleic acid มีปริมาณ 17.13% และ 9-cis-Oleic acid มีปริมาณ 6.6%

            นอกจากนี้ผักเขียดยังถูกนำมารับประทานเป็นอาหาร โดยมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของผักเขียด (100 กรัม)

-           พลังงาน                                          13                                กิโลแคลลอรี่

-           เส้นใย                                             0.8                               กรัม

-           แคลเซียม                                      13                                มิลลิกรัม

-           ฟอสฟอรัส                                       6                                 มิลลิกรัม

-           ธาตุเหล็ก                                       6                                 มิลลิกรัม

-           วิตามิน A                                        3000                            หน่วยสากล

-           วิตามิน B1                                     0.04                             มิลลิกรัม

-           วิตามิน B2                                      0.10                             มิลลิกรัม

-           วิตามิน B3                                     0.1                               มิลลิกรัม

-           วิตามิน C                                        18                                มิลลิกรัม

โครงสร้างผักเขียด

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของผักเขียด

เนื่องจากผักเขียด เป็นวัชพืชในนาข้าว อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่ค่อยมีการนำมาใช้ประโยชน์เหมือนในอดีต ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผักเขียดเท่าที่ควร แต่มีรายงานการศึกษาทางเภสัชวิทยาในไทยอยู่ฉบับหนึ่งระบุว่า จากการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพด้วยวิธี Agar disc diffusion พบว่าสารสกัดหยาบเอทิลอะซีเดดจากผักเขียดทุกความเข้มข้น ไม่แสดงฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียแกรมบวก S. aureus, B. cereus แบคทีเรียแกรมลบ E. coli, K. pneumoniae, S. marcescen, P. aeruginosa เชื้อรา A. nigerและยีสต์ C. albican

การศึกษาทางพิษวิทยาของผักเขียด

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการนำผักเขียด มาใช้เป็นสมุนไพรตามตำรายาต่างๆ นั้น เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาวิจัย และรายงานความเป็นพิษมากพอ ดังนั้นในการใช้จึงควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกันกับสมุนไพรอีกหลายชนิด โดยควรใช้ในปริมาณตามที่กำหนดไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ รวมถึงไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้ผักเขียดเป็นสมุนไพร สำหรับบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ผักเขียด
  1. สุชาดา ศรีเพ็ญ และ คุณหญิง. 2545. พรรณไม้น้ำในประเทศไทย. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 312 หน้า.
  2. กัญจนา ดีวิเศษ.ไฉน น้อยแสง และจิรัชยา แก้วสนธยา (2542) ผักพื้นบ้านภาคใต้ กรุงเทพฯ สถาบันการแพทย์แผนไทย มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา
  3. อธิรวิทย์ จันทร์แก้ว.องค์ประกอบทางเคมี และฤทธิ์ทางชีวภาพของผักเขียว. วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต. สาขาวิชาเคมีศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา. 2558. 57 หน้า.
  4. ก่องกานดา ชยามฤต และนันท์นภัส ภัทรหิรัญไตรสิน. (2551) ลักษณะประจำวงศ์พรรณไม้ 3. กรุงเทพฯสำนักหอพรรณไม้ สำนักอนุรักษ์ป่าไม้ และพันธุ์พืช กรมอุทยาแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช.
  5. Honderson, M. R. (1954). Malayan Wild Flowers Monocotyledons. Kuala Lumpur:The Malayan Nature Society
  6. Machshwari, J. K. (1963). The Flora of Delhi. New Deihi: Council of Scientific & Industrial Research.
  7. Anonymous. (1962). The Wealth of India: A Dictionary Indian Raw Materials, Vol. VI. L-M. New Delhi: Council of Scientific & Industrial Research.