กุ่มน้ำ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กุ่มน้ำ งานวิจัยและสรรพคุณ 30 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กุ่มน้ำ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักกุ่ม (ภาคเหนือ, ภาคอีสาน) กุ่ม (เลย), อำเภอ (สุพรรณบุรี), เหาะเถาะ (กะเหรี่ยง, กาญจนบุรี), ด่อต้า (ปะหล่อง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Crateva religiosa G.Forst.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Crateva brownii Korth. ex Miq., Crateva macrocarpa Kurz
ชื่อสามัญ Crateva
วงศ์ CAPPARACEAE

ถิ่นกำเนิดกุ่มน้ำ 

สำหรับถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของกุ่มน้ำนั้น เชื่อกันว่ากุ่มน้ำมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย แล้วได้กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณเขตร้อนใกล้เคียง เช่นใน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เป็นต้น โดยจะพบได้ตามบริเวณริมน้ำ หรือ ในที่ที่มีความชื้นสูงในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง สำหรับในประเทศไทยสามารถพบกุ่มน้ำ ได้ทั่วทุกภาคของประเทศตามริมน้ำลำธารในป่าที่มีความสูงระดับ 30-700 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณกุ่มน้ำ

  1. ช่วยขับเหงื่อ
  2. ช่วยให้เจริญอาหาร
  3. ช่วยบำรุงธาตุ
  4. ช่วยระบาย
  5. ช่วยขับพยาธิ
  6. แก้ปวดเส้น
  7. แก้โรคไขข้ออักเสบ
  8. แก้อัมพาต
  9. แก้ลมขึ้นเลื้อยสูง
  10. ช่วยขับผายลม
  11. แก้เจ็บในตา
  12. แก้เจ็บคอ
  13. แก้ไข้ครั่นเนื้อครั่นตัว
  14. แก้ไข้
  15. แก้สะอึก
  16. แก้กษัย
  17. แก้ในกองลม
  18. แก้อาเจียน
  19. แก้ริดสีดวงผอมแห้ง
  20. ช่วยระงับพิษที่ผิวหนัง
  21. ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย
  22. เป็นยาบำรุง
  23. ช่วยขับน้ำดี
  24. ช่วยขับนิ่ว
  25. ช่วยขับน้ำเหลือง
  26. ช่วยขับลม
  27. แก้ริดสีดวงทวาร
  28. แก้ริดสีดวงผอมแห้ง
  29. ช่วยขับน้ำในทางเดินปัสสาวะ
  30. แก้ปวดเมื่อย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ในกองลม ขับเหงื่อ ขับลมในลำไส้ บำรุงกำลัง แก้ริดสีดวงผอมแห้ง แก้ไข้ ขับน้ำดี ขับนิ่ว ขับน้ำเหลือง ขับลม แก้กษัย โดยใช้เปลือกต้นตากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาบำรุงธาตุโดยใช้รากแห้งมาทุบแล้วแช่น้ำดื่ม แก้ไข้ แก้เจ็บตา โดยใช้ดอกกุ่มน้ำ แห้งมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ชงแบบชาดื่มก็ได้ แก้ริดสีดวงทวารโดยใช้กระพี้มาต้มกับน้ำดื่ม

 

ลักษณะทั่วไปของกุ่มน้ำ

กุ่มน้ำ จัดเป็นไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 20 เมตร มีกิ่งก้านสาขามาก เปลือกลำต้น และกิ่งก้านค่อนข้างเรียงเป็นสีเทา ใบเป็นใบรวม มี 3 ใบย่อย บนก้านใบเดียวกัน ใบย่อยแต่ละใบเป็นรูปรี หรือ รูปไข่กว้าง 3-7 เซนติเมตร ยาว 5-6 เซนติเมตร ปลายในเรียวแหลมโคนใบสอบแหลมมีเส้นใบ 5-9 คู่ ใต้ท้องใบสีขาวนวล จะออกใบอ่อนในฤดูร้อน ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง และซอกใบ โดยจะติดดอกพร้อมกันทั้งต้นประมาณ 20-60 ดอก ซึ่งกลีบรองดอกจะเป็นรูปไข่ปลายแหลม ส่วนกลีบดอกจะมีลักษณะกลมยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มี 4 กลีบ มีกลีบบน และกลีบล่างอย่างละ 2 กลีบ แต่กลีบบนจะใหญ่กว่า กลีบดอกเมื่อแรกบานสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน ผลเป็นรูปไข่สีเทา เปลือกเรียงหนา และแข็ง เมื่อเป็นผลอ่อนผิวจะเป็นสะเก็ดสีเหลือง เทา แต่เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเทาผลยาว 5-8 เซนติเมตร  เมล็ดเป็นรูปเกือกม้า ยาว 6-9 มิลลิเมตร โดยใน 1 ผลจะมีหลายเมล็ด

กุ่มน้ำ

การขยายพันธุ์กุ่มน้ำ

กุ่มน้ำ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำ สำหรับวิธีการขยายพันธุ์กุ่มน้ำ นั้นสามารถทำได้ เช่นเดียวกับการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำ ไม้ยืนต้นประเภทอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้การขยายพันธุ์ของกุ่มน้ำ ในปัจจุบันนั้นเป็นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติมากกว่า การนำมาเพาะปลูกโดยมนุษย์ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะกุ่มน้ำต้องอาศัยแหล่งน้ำ เช่น ลำธาร ลำคลอง ในการเจริญเติบโตจึงไม่เป็นที่นิยมในการนำมาปลูกตามเรือกสวนไร่นา

องค์ประกอบทางเคมี 

มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของเปลือกต้นของกุ่มน้ำ ที่มีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรในตำรับยาต่างๆ พบว่าพบสาร กลุ่มไตรเทอร์ปีนอยด์เช่น lupeol, diosgenin,betulin, phragmalin triacetateepiafzelechin 5-glucoside, สารกลุ่มอัลคาลอยด์ ได้แก่ cadabicine และ cadabcine diacetate

           นอกจากนี้ใบและยอดของกุ่มน้ำยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
           คุณค่าทางโภชนาการของผักกุ่มดอง (ส่วนของใบและยอด 100 กรัม)

  • พลังงาน                        88                    กิโลแคลอรี
  • เส้นใย                           4.9                   กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต              15.7                 กรัม
  • โปรตีน                          3.4                   กรัม
  • ไขมัน                           1.3                    กรัม
  • วิตามินA                      6,083                หน่วยสากล
  • วิตามินB1                     0.08                  มิลลิกรัม
  • วิตามินB2                    0.25                  มิลลิกรัม
  • วิตามินB3                     1.5                    มิลลิกรัม
  • วิตามินC                      5                       มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม              124                   มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                    5.3                    มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส             20                     มิลลิกรัม

โครงสร้างกุ่มน้ำ

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกุ่มน้ำ

ฤทธิ์ปกป้องตับ มีการศึกษาทดลองในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้ตับเป็นพิษด้วยแคดเมียม ส่งผลให้ระดับสาร malondialdehyde เพิ่มขึ้น และระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระในตับลดลง และเมื่อป้อนสารไตรเทอร์ปีน lupeol หรือ lupeol linolate ที่แยกได้จากเปลือกต้นแก่หนู พบว่าทำให้เนื้อเยื่อตับกลับสู่ปกติได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยการยับยั้งอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้น และทำให้ระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น โดยสาร lupeol linolateออกฤทธิ์ได้ดีกว่า lupeol

            และในการทดสอบในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้ตับเป็นพิษด้วยเชื้อรา aflatoxin B1 ส่งผลให้ระดับสาร lactate dehydrogenase (LDH), alkaline phosphatase, alanine และ aspartate aminotransferase และเกิด lipid peroxide เพิ่มขึ้น ในขณะที่ระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระในตับลดลง แต่เมื่อป้อนสาร lupeol ที่แยกได้จากเปลือกต้นแก่หนู พบว่าทำให้เนื้อเยื่อตับ และค่าระดับเอนไซม์ต่างๆ กลับสู่ปกติได้ โดยเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน silymarin ซึ่งแสดงว่าสาร lupeolมีฤทธิ์ดีมากในการปกป้องตับจากเชื้อรา aflatoxin B1

           ฤทธิ์ลดปวด ลดการอักเสบของข้อ สารสกัดเอทานอลจากเปลือก ลดการปวดในหนูถีบจักรที่เกิดจากการเหนี่ยวนำความเจ็บปวดด้วยกรดอะซิติกได้อย่างมีนัยสำคัญ

           ส่วนสารไตรเทอร์ปีน lupeol และ lupeol linolate ที่แยกได้จากเปลือกต้น มีฤทธิ์ลดการอักเสบข้อในหนูขาว เมื่อทดสอบด้วยวิธีการฉีดสารกระตุ้นการอักเสบข้อ (Freund’s adjuvant) โดย lupeol linolateออกฤทธิ์ได้ดีกว่า lupeolนอกจากนี้สารทั้งสองชนิดสามารถลดการบวมที่อุ้งเท้าสัตว์ทดลองได้

           ฤทธิ์ลดความเป็นพิษต่อไต สารไตรเทอร์ปีน lupeol ที่แยกได้จากเปลือกต้นมีฤทธิ์ลดความแป็นพิษต่อไตในสัตว์ทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำความเป็นพิษต่อไตด้วย cisplatin  โดยทำให้ระดับของ BUN, creatinine และ lipid peroxidation ที่บ่งบอกความเป็นพิษต่อไตลดลงได้ และสามารถเพิ่มระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระglutathione และ catalase ได้

           ยับยั้งการเกิดนิ่วที่ไต มีการศึกษาวิจัยถึงสารสกัดน้ำจากเปลือกป้องกันการเกิดนิ่วที่ทางเดินปัสสาวะที่เกิดจากสารออกซาเลต เมื่อทดสอบในหนูตะเภาที่ได้รับ sodium oxalate ร่วมกับ methionine และมีรายงานว่าสารสกัดน้ำจากเปลือกต้น ช่วยขับก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นที่ไตได้

           สารไตรเทอร์ปีน lupeol และ betulin (อนุพันธ์ของ lupeol) ที่แยกได้จากเปลือกต้น เมื่อนำมาทดสอบในหนูขาวที่มีการขับ oxalate ออกทางปัสสาวะมาก (hyperoxaluric) พบว่าสามารถลดการทำลายของท่อไต และลดผลึกที่จะทำให้เกิดเป็นก้อนนิ่วที่ไตได้ โดย lupeol มีฤทธิ์ดีกว่า betulin และมีรายงานว่า lupeol ลดการสะสะมของแคลเซียม และออกซาเลตที่ไต โดยยับยั้งการทำงานของ glycolic acid oxidase ที่ตับ ทำให้การรวมตัวของสารที่จะทำให้เกิดก้อนนิ่วที่ไตลดลง

การศึกษาทางพิษวิทยาของกุ่มน้ำ

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1.  เปลือกต้นกุ่มน้ำ สดมีสารไซยาโนเจเนติกไกลโคไซด์ ที่สลายตัว และทำให้เกิดก๊าซไซยาไนด์ได้ ในการนำมาทำยาจึงต้องใช้เปลือกแห้งเท่านั้น จึงจะไม่เกิดอันตรายต่อร่างกาย
  2. กิ่ง และใบมีสารไฮโดรเจนไซยาไนด์ ซึ่งเป็นพิษจึงไม่ควรใช้รับประทานสดๆ แต่ควรทำให้สุกก่อนด้วยการนำมาดอง หรือ ต้มเพื่อกำจัดพิษก่อนนำมารับประทาน ส่วนใบแก่มีพิษ มีฤทธิ์ต่อระบบการไหลเวียนโลหิต ทำให้อาเจียน มึนงง ไม่รู้สึกตัว มีอาการหายใจลำบาก กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย กระดูก ชัก ก่อนจะหมดสติ และหากรับในปริมาณมาก อาจเกิดอาการรุนแรงได้ภายใน 10-15 นาที

เอกสารอ้างอิง กุ่มน้ำ
  1. เดชา ศิริภัทร. กุ่ม. ผักพื้นบ้านที่มีเป็นกลุ่ม.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 187. พฤศจิกายน 2537
  2. วงศ์สถิต ฉั่วสกุล. กุ่มพืชพิษกินได้ใช้ทำยา. เรื่องน่ารู้ของพรรณไม้. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. กุ่มน้ำ. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=178
  4. กุ่มน้ำ . ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=15
  5. Chayamarit K. CAPPARACEAE. In: Smitinand T, Larsen K, eds. Flora of Thailand, Volume five part three. Bangkok: The chutima press Co. Ltd., 1991:241-71.
  6. Patil UH, Gaikwad DK. Medicinal profile of a scared drug in ayurveda: Crataeva religiosa. J Pharm Sci & Res. 2011:3(1):923-929.