ประดู่บ้าน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ประดู่บ้าน งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ประดู่บ้าน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ประดู่กิ่งอ่อน, ประดู่, ประดู่ลาย, อังสนา (ภาคกลาง), ดู่บ้าน (ภาคเหนือ), ปะดู่ (ภาคอีสาน), สะโน (มลายู)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pterocarpus indicus Willd. 
ชื่อสามัญ Angsana Norra, Malay Padauk, Indian rosewood,  Andaman Redwood.
วงศ์ PAPILIONOIDEAE
 

ถิ่นกำเนิดประดู่บ้าน 

ประดู่บ้าน เป็นพันธุ์ไม้ที่มีการสันนิษฐานถึงถิ่นกำเนิดอยู่ 2 แนวทาง คือ แนวทางแรกเชื่อกันว่า มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ส่วนอีกแนวทางหนึ่งเชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณแถบทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล และในประเทศมาเลเซีย สำหรับในประเทศไทยประดู่บ้านน่าจะมีการแพร่กระจายพันธุ์เข้ามานานมากแล้ว เพราะปรากฏหลักฐานการใช้ประโยชน์ในด้านสมุนไพรมาตั้งแต่อดีตแล้ว ปัจจุบันในประเทศไทยสามารถได้ทุกภาคของประเทศแต่จะพบมากในป่าเบญจพรรณทางภาคใต้

ประโยชน์และสรรพคุณประดู่บ้าน

  1. แก้อาการไอ
  2. แก้ระคายคอ
  3. ใช้สระผม
  4. ใช้พอก ฝี
  5. ใช่พอกพอกแผล
  6. แก้ผดผื่นคัน
  7. ใช้สมานบาดแผล
  8. แก้ท้องเสีย
  9. แก้บิด
  10. ช่วยบำรุงร่างกาย
  11. แก้ปากเปื่อย
  12. แก้ปากเป็นแผล
  13. แก้คุดทะราด
  14. แก้เสมหะ
  15. แก้เลือดกำเดาไหล
  16. แก้ไข้
  17. ใช้บำรุงเลือด
  18. ช่วยบำรุงกำลัง
  19. ช่วยขับปัสสาวะ
     

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

ใช้แก้อาการไอ ระคายคอ โดยใช้ใบประดู่บ้าน ตากแห้งแล้วนำมาบดชงแบบดื่ม ใช้แก้ท้องเสีย แก้บิด บำรุงร่างกาย แก้ปากเปื่อย ปากเป็นแผล โดยใช้เปลือกต้นต้มกันน้ำดื่ม ใช้แก้เสมหะ ใช้พอกแผลฝี โดยใช้ใบ หรือ ดอกสดมาตำให้ละเอียดใช้พอกบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของประดู่บ้าน

ประดู่บ้าน จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 20-25 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่มกว้าง (กว้างกว่าประดู่ป่า) ปลายกิ่งห้อยลง ส่วนเปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลเทา เป็นร่องลึกแต่ไม่มีน้ำยางสีแดงไหลออกมาเหมือนประดู่ป่า ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ แต่ละช่อจะมีใบย่อยประมาณ 7-11ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปมนรี หรือ รูปไข่ค่อนข้างมน ปลายใบแหลม โคนใบมนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-12 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ก้านใบอ่อนมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย โคนก้านใบมีหูใบ 2 อัน เป็นเส้นยาว ดอกออกเป็นแบบช่อกระจะ โดยจะออกบริเวณซอกใบใกล้กับที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลืองแกมแสด มี 5 กลีบ ลักษณะคล้ายรูปผีเสื้อแต่จะออกดอกยากกว่าประดู่ป่า และ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 อัน ดอกมีกลิ่นหอมแรง จะบาน และร่วงพร้อมกันทั้งต้น ส่วนโคนก้านมีใบประดับ 1-2 อัน เป็นรูปรี กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ติดกันเป็นถ้วยสีเขียว ปลายแยกเป็นแฉก 2 แฉก ผลเป็นผลแห้งลักษณะของผลเป็นรูปกลม หรือ รี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-7 เซนติเมตร ที่ขอบมีปีกบาง แผ่นปีกบิด และเป็นคลื่นเล็กน้อย นูนตรงกลางลาดไปยังปีก โดยบริเวณปีกยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ตรงกลางนูนป่องเป็นที่อยู่ของเมล็ด โดยภายในจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด

ประดู่บ้าน

การขยายพันธุ์ประดู่บ้าน

ประดู่บ้าน สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและปักชำกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ด เพราะสะดวกในการจัดหาเมล็ด และสามารถทำได้รวดเร็ว รวมถึงประหยัดกว่าวิธีอื่นโดยสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้จากต้นแม่ที่เจริญเติบโตเต็ม ที่ ที่สามารถให้เมล็ดมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยการเลือกต้นแม่พันธุ์ที่เจริญเติบโตดี ไม่มีโรค ต้นตรง และควรเก็บในระยะที่ฝักแก่เต็มที่ หรือ ล่นจากต้นแล้ว ส่วนการเตรียมแปลงสามารถเตรียมได้ทั้งแบบเพาะกลางแจ้ง และแบบแปลงในโรงเรือน ซึ่งควรเตรียมแปลงในลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 0.70-1.0 เมตร ส่วนความยาวขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ แล้วทำการยกร่องสูงประมาณ 10-20 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอก หรือ มูลสัตว์ผสมในแปลงดินด้วย ก่อนเพาะให้นำเมล็ดไปแช่น้ำนาน 1-2 วัน ก่อนการเพาะ จากนั้นหว่านเมล็ดลงแปลงที่เตรียมไว้ ในอัตราส่วนเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม/ตารางเมตร จากนั้นทำการคราดหน้าดินไปมาหนึ่งถึงสองครั้งแล้วรดน้ำให้ชุ่ม พร้อมนำฟางข้าว หรือ ขี้เถ้า แกลบกลบเพื่อรักษาความชื้นให้แก่ดิน ซึ่งหลังจากหว่าน เมล็ดใช้เวลางอกประมาณ 7-20 วัน

            และเมื่อต้นกล้าตั้งต้นได้ หรือ หลังจากแตกใบคู่ที่ 2 สักประมาณหนึ่งอาทิตย์ ให้ทำการย้ายต้นกล้าจากแปลงเพาะเมล็ดใส่ในถุงเพาะกล้าไม้ขนาด 5×8 นิ้ว โดยใช้ดินผสมขี้เถ้าแกลบบรรจุถุง เมื่อทำการย้ายกล้าเสร็จให้ ทำการรดน้ำเพียงเล็กน้อย 2 ครั้ง เช้าเย็นในช่วงอาทิตย์แรก หลังจากนั้นอาจรดน้ำเพียงวันละครั้ งหรือ วันเว้นวันเมื่อกล้าโตแล้ว เมื่ออายุกล้าไม้ประมาณ 6 เดือน ความสูงที่ 20–40 เซนติเมตร แล้วสามารถย้ายลงหลุมปลูกได้

องค์ประกอบทางเคมี 

มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของประดู่บ้าน พบว่าพบสาระสำคัญดังนี้ Narrin, Angiolensin Homopterocarpin, β-eudesmol, Prunetin, Formononetin, Santalin, Isoliquirtigenin, Pterostilben, Pterocarpin, Pterofuran, Pterocarpon, P-hydroxyhydratropic acid ส่วนใบพบคลอโรฟิลล์ 3 ชนิด คือ Xanthophyll, Chlorophyll A และ Chlorophyll b เมื่อนำส่วนของเปลือก ราก และใบมาสกัดด้วยตัวทำละลาย พบว่าสารที่พบในทุกๆส่วนที่กล่าวมา คือ สารกลุ่ม Tannin, Flavonoid และ Saponin เป็นต้น

โครงสร้างประดู่บ้าน

ที่มา :Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของประดู่บ้าน

ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด มีการศึกษาทางเภสัชวิทยาในสมุนไพรพื้นบ้านของประเทศอินเดียชนิดต่างๆ 30 ชนิด ที่มีการใช้เพื่อลดน้ำตาลในเลือด ศึกษาโดยใช้สารสกัดเอทานอล 95% ทำให้แห้ง นำมาศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดโรคเบา หวานด้วย alloxan เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยใช้สารสกัดประดู่บ้าน ขนาด 250 มก./กก. 1 ครั้ง, 2 ครั้ง และ 3 ครั้งต่อวันจนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงจนถึงระดับปกติเมื่อสัตว์ทดลองอด อาหาร พบว่าสมุนไพร 24 ชนิด ที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด โดยประดู่บ้านเป็นสมุนไรที่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีเป็นลำดับที่ 3 จาก 24 ชนิด

           นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ยังระบุว่าประดู่บ้าน มีฤทธิ์ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ต้านมาลาเรีย ทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว และต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของประดู่บ้าน

มีการศึกษาและทดสอบความเป็นพิษ ของประดู่บ้าน โดยใช้สารสกัดจากส่วนที่อยู่เหนือดินด้วยเอทานอล 50% ผลปรากฏว่าเมื่อนำมาฉีดเข้าท้องของหนูถีบจักรทดลอง พบว่าขนาดที่ทำให้หนูตาย คือ ขนาดมากกว่า 1 กรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม)

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ประดู่บ้านเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคตามตำรับตำรายาต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดที่พอเหมาะที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มาก หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยเรื้อรัง หรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้ประดู่บ้าน เป็นสมุนไพรรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ประดู่บ้าน
  1. เดชา  ศิรภัทร.ประดู่. ตำนานความหอมและบิดาแห่งราชนาวี. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 291. กรกฎาคม 2546
  2. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ประดู่”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพร ไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 446.
  3. เต็ม สมิตินันทน์. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, พ.ศ.2549
  4. เปรียบเทียบสมุนไพรลดน้ำตาลในเลือดในเลือดในหนูขาวที่เป็นเบาหวานจาก alloxan. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. การปลูกไม้ประดู่. พืชเกษตรดอมคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com