ทองหลางลาย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ทองหลางลาย งานวิจัยและสรรพคุณ 26 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร ทองหลางลาย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ทองหลางใบด่าง, ทองหลางด่าง, ทองหลางดอกแดง, ทองบ้าน, ปาริชาติ (ทั่วไป), ทองเผือก (ภาคเหนือ), ไหถ่งฝี, ซื่อกง (จีน), มังการา (ฮินดู)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Erythrina variegata Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Erythrina alba Cogn. & Marchal, Erythrina indica Lam, Erythrina orientalis  Murray, Erythrina divaricata DC.
ชื่อสามัญ Indian coral tree, Variegated tiger's claw, Tiger Claw.
วงศ์ LEGUMINOSAE-PAPILIONACEAE

ถิ่นกำเนิดทองหลางลาย

ทองหลางหลายสี เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตอบอุ่น และเขตร้อนของทวีปเอเชีย เช่น ในอินเดีย, จีน,ไต้หวัน, มาเลเซีย แล้วมีการแพร่กลายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียง แต่อีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า ทองหลางลาย อาจมีถิ่นกำเนิดในทวีปอื่นๆ ด้วย เช่น ในทวีปอเมริกาใต้ แอฟริการวมถึงออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ เพราะเป็นพรรณไม้ที่ขึ้นง่าย สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด และยังมีความทนทานต่อโรคและความแห้งแล้งได้ดี

ประโยชน์และสรรพคุณทองหลางลาย

  • ช่วยขับโลหิตระดู
  • ช่วยบำรุงน้ำดี
  • แก้พิษฝี
  • แก้ฝีในท้อง
  • แก้พิษทั้งปวง
  • แก้โรคตับ
  • แก้ริดสีดวง
  • แก้ลม
  • แก้นิ่ว
  • ช่วยลดไข้
  • แก้ปวดท้อง
  • ช่วยบำรุงกระดูก
  • ช่วยกระตุ้นหัวใจ
  • แก้ปวดฟัน
  • ช่วยขับเสมหะ
  • ใช้ขับพยาธิไส้เดือน
  • แก้ลมเป็นพิษ
  • แก้ตาแดง
  • แก้ตาฝ้าฟาง
  • แก้ตาแฉะ
  • แก้มะเร็ง
  • ช่วยในการนอนหลับ
  • รักษาแผลฝีหนอง
  • แก้ฟกช้ำ
  • แก้ปวดบวม
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชา

           มีการนำใบอ่อนทองหลางลาย มาใช่รับประทานร่วมกับเมี่ยงคำ เมี่ยงปลาทู ส้มตำ และใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก ซึ่งพบว่าเป็นผักที่ให้คุณค่าทางโภชนาการมากอีกชนิดหนึ่งเลยทีเดียว ส่วนใบแก่นิยมนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ เพราะเป็นพืชที่มีโปรตีนสูง นอกจากนี้ยังมีการนำไปปลูกเป็นไม้ประดับ ตามสถานที่ต่างๆ เพราะมีดอก และลวดลายบนใบ สวยงาม ส่วนเกษตรกรยังนิยมปลูกทองหลางลายไว้เพื่อเป็นปุ๋ยให้กับพืชเพราะรากของทองหลางลาย มีปมคล้ายกับถั่ว ซึ่งสามารถดูดธาตุไนโตรเจนมาให้กับพืชได้เป็นอย่างดี

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้เป็นยาแก้ไข้ โดยใช้ใบสด 40 กรัม หรือ ใช้ใบแห้ง 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน หรือ อาจจะใช้เปลือกต้นทองหลางลาย แห้ง 15 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินได้เช่นกัน แก้โรคตับ แก้ปวดท้อง แก้ลม แก้นิ่ว ขับพยาธิไส้เดือน บำรุงกระดูก โดยใช้เปลือกต้นแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ขับเสมหะ โดยใช้ใบสด หรือ รากสด 30 กรัม นำมาผสมกับน้ำตาลทราย 15 กรัม แล้วนำมาต้มกับน้ำกินวันละ 2 ครั้ง แก้ปวดฟัน ให้ใช้เปลือกต้นแห้งบดให้เป็นผล ใช้อุดฟันที่ปวด รักษาแผลฝีหนอง โดยการนำใบแก่มานึ่งแล้วชงกับสุราปิดแผล หรือ ฝี ที่บวมใกล้แตก จะทำให้แผลหายเร็ว และจะดูดหนองที่ฝีจนหมด แก้อาการปวดบวมตามข้อ ปวดกระดูก ให้ใช้เปลือกสดๆ 40 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มกิน วันละ 2 ครั้ง เช้า–เย็น


ลักษณะทั่วไปทองหลางลาย

ทองหลางลาย จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่เป็นไม้ผลัดใบ สูงได้ประมาณ 10-20 เมตร เรือนยอดทรงกลมทึบเปลือกลำต้นบาง เป็นสีเทาเปลือกเป็นลายคล้ายร่องแตกตื้นๆ สีเทาอ่อน หรือ เหลืองอ่อนส่วนลำต้นและกิ่งก้านมีหนามเล็กๆ แหลมคมสีดำ

           ใบเป็นรูปไข่แกมรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือ จะคล้ายๆ ใบพลูคาว แต่ก้นใบจะไม่เว้าเหมือนใบโพธิ์ และมีใบย่อย 3 ใบ โดยที่ใบกลางจะมีขนาดใหญ่กว่าใบข้างทั้งคู่แหลม โคนใบมนไม่เว้า ใบอ่อนมีขนประปราย ส่วนใบแก่เกลี้ยงสีเขียวเข้มเป็นมันมีลายเหลืองตามแนวเส้นใบแผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนังมีเส้นแขนงใบข้างละ 7-8 เส้น ก้านใบยาวได้ ถึง 15 ซม.ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ

           ดอกมีสีแดง หรือ สีขาว คล้ายดอกถั่ว ออกเป็นแบบช่อกระจะขนาดใหญ่บริเวณปลายกิ่ง และบริเวณข้อของต้น ส่วนกลีบดอกกว้างประมาณ 1-2 นิ้ว ยาวประมาณ 2-3 นิ้ว

           ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน โค้งเล็กน้อยยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร เป็นสีน้ำตาลเข้ม เมื่อแก่ฝักจะแตกที่ปลายอ้าออก ภายในฝักมีเมล็ด 2-4 เมล็ด เมล็ด รูปไข่ หรือ เป็นเหลี่ยมมีสีน้ำตาลแดง ขนาด 1.5 เซนติเมตร

ทองหลางลาย 

การขยายพันธุ์ทองหลางลาย

ทองหลางลาย สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด และการปักชำ โดยมีวิธีการดังนี้

            เพาะในกระบะเพาะ โดยหว่าน เมล็ดทองหลางให้กระจายทั้งกระบะ แล้วโรยดินกลบให้ มีความหนาประมาณ 3-5 มิลลิเมตร แล้วรดน้ำให้ชุ่ม จากนั้นใช้พลาสติกใสคลุมจะช่วยให้ดินรักษาความชื้นได้นาน ทำให้ความชื้นของอากาศ และอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งเมล็ดทองหลางลาย จะงอกได้ดีในอุณหภูมิ 10-30 องศาเซลเซียส และเมื่อกล้าไม้ตั้งตัวได้ จึงเอาพลาสติกที่คลุมออกแล้วดูแลต่อไปจนกล้าไม้ได้ขนาดจึงย้ายชำลงถุงพลาสติกต่อไป
            การปักชำควรใช้กิ่งที่มีอายุไม่อ่อนไม่แก่เกินไป และมีขนาดพอเหมาะกับวัสดุชำ โดยตัดให้มีขนาดยาวประมาณ  25-50 เซนติเมตร เสียบลงในถุงที่เตรียมวัสดุชำไว้แล้ว หรือ อาจจะปักลงในแปลงวัสดุชำก็ได้ จากนั้นประมาณ 3-4 สัปดาห์ จะมีรากงอกออกมาเลี้ยงต่อไปจนมีใบจริง 2-3 คู่ แล้วจึงย้ายลงปลูกในหลุมต่อไป

ทองหลางลาย

องค์ประกอบทางเคมีทองหลางลาย

เปลือกทองหลางลาย พบสารกลุ่ม isoflarone ได้แก่5,7,4’trihydroxy-6-(3,3-dimethylallyloxiranylmethyl)isoflavone, 5,4’-dihydroxy-2’-methoxy-8-(3,3-dimethylallyl)-2'’,2'dimethyl pyrano[5,6:6,7]isoflavanone, 5,4’-dihydroxy-8-(3,3-dimethylallyl)-2’'-methoxyisopropylfurano[4,5:6,7]isoflavone, 5,4’-dihydroxy-8-(3,3-dimethylallyl)-2’'-hydroxymethyl-2'’-methylpyrano[5,6:6,7]isoflavone

             ส่วนในสารสกัดจากเปลือกต้น ด้วยเมทานอล พบสาร alpinum isoflavone, 6-hydroxygenistein, 3β,28-dihydroxyolean-12-ene ,epilupeol, betaine, resins, choline, potassium chloide, hypaphorine, potassium carbonate

            ใบ เมล็ด และ ราก พบสาร erythrinine, erythraline, erythyine, hapaphorine, hydrocyanic acid และยังพบสารอื่นๆ ตามส่วนต่างๆ อีกเช่น erythrodiol, euchrenone b10, isoerysenegalensein E, laburnetin, wighteone, lupiwighteone, และ oleanolic acid, erysodine, butyric acid.

 รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของทองหลางลาย

โครงสร้างทองหลางลาย

ที่มา : Wikipedia

          นอกจากนี้ ทองหลางลาย ยังมีคุณค่าทางโภชนาการอีกด้วย ดังนี้

          คุณค่าทางโภชนาการของใบทองหลาย (100 กรัม)

พลังงาน                                    52                                แคลลอรี่

ไขมัน                                        0.3                               กรัม

ใยอาหาร                                 1.3                               กรัม

คาร์โบไฮเดรต                           6.0                               กรัม

โปรตีน                                       6.4                               กรัม

แคลเซียม                                56                                มิลลิกรัม

ฟอสฟอรัส                                 101                              มิลลิกรัม

ธาตุเหล็ก                                   1.9                               มิลลิกรัม

วิตามิน เอ                                 7,875                           หน่วยสากล

วิตามิน  บี 1                               0.25                             มิลลิกรัม

วิตามิน บี 2                                0.19                             มิลลิกรัม

วิตามิน ซี                                 100                              มิลลิกรัม

การศึกษาทางเภสัชของทองหลางลาย

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองของสารสกัดจากส่วนเปลือกต้นทองหลางลาย ด้วยวิธีการจับอนุมูลอิสระ 1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl (DPPH) พบว่าสารสกัดทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่ methanol, n-hexane, carbon tetrachloride และ chloroform มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในระดับปานกลาง (IC50เท่ากับ 82.35-484.4 ug/ml) ในขณะที่สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากเปลือก 3 ชนิด ได้แก่ 4',5,7-trihydroxy-8-prenyl isoflavone, alpinum isoflavone และ 6- hydroxygenistein มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง โดยมีค่า IC50 เท่ากับ  6.42, 8.30 และ 8.78 ug/ml ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน ได้แก่ tert-butyl-1-hydroxytoluene (BHT) มีค่า IC50 เท่ากับ 5.88 ug/ml การทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ β-glucosidase ของสารสกัดทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ methanol, n-hexane, carbon tetrachloride และ chloroform พบว่าสามารถยับยั้งได้ 34.75, 95.04, 91.49 และ 55.32% ตามลำดับ 

            ฤทธิ์ป้องกันโรคกระดูกพรุน มีการศึกษาผลของสารสกัดเปลือกต้นทองหลางลาย ด้วย 65% เอทานอล ต่อภาวะกระดูกพรุนของหนูขาวที่ถูกตัดรังไข่ โดยป้อนสารสกัดทองหลางลายในขนาดต่ำ 300 mg/kg และขนาดสูง 600 mg/kg แก่หนูขาวเพศเมีย ทุกวันเป็นเวลา 14 สัปดาห์ พบว่าสามารถป้องกันภาวะกระดูกพรุนในหนูที่ถูกตัดรังไข่ได้ จากการทดสอบพบว่า สารสกัดขนาดต่ำสามารถป้องกันการลดลงของระดับแคลเซียมในเลือด และลดการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ ขณะที่สารสกัดขนาดสูง จะลดการขับออกของแคลเซียมทางปัสสาวะเท่านั้น และยังพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฟอสฟอรัสในเลือด ส่วนการวัดระดับของสาร osteocalcin (OCN) และ alkaline phosphatase (ALP) ในเลือด พบว่าเพิ่มขึ้น 80% และ 55% ตามลำดับ

          ทั้งนี้สารสกัดสามารถปกป้องกระดูก โดยลดการสลายของกระดูกเนื้อโปร่ง (trabecular bone) และเพิ่มมวลของกระดูกเนื้อ เมื่อทดสอบโดยใช้กระดูกหน้าแข้ง (tibea) ของหนู โดยออกฤทธิ์ได้เช่นเดียวกับฮอร์โมน estradiol  

           และยังได้ทดสอบฤทธิ์ของสารสกัด 65%เอทานอล จากเปลือกต้นทองหลางลาย ต่อการยับยั้งการสูญเสียมวลกระดูก ในหนูขาวเพศเมีย สายพันธุ์ Sprague–Dawley ที่ถูกตัดรังไข่  ให้ได้รับสารสกัดทองหลางใบด่างในขนาดต่ำ (200 mg/kg), ขนาดปานกลาง (500 mg/kg) และขนาดสูง (1000 mg/kg) จากนั้นจึงศึกษาคุณสมบัติของกระดูก ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดทองหลางใบด่างในขนาดสูง (1000 mg/kg) สามารถลดการขับแคลเซียม และฟอสฟอรัส ทางปัสสาวะ นอกจากนั้นสารสกัดยังทำให้ระดับแคลเซียม และฟอสฟอรัส ในเลือดคงที่ มีผลทำให้โครงสร้างภายใน ของกระดูก trabecular (กระดูกเนื้อโปร่ง) และกระดูก cortical (เนื้อกระดูกส่วนทึบแน่น) คงรูปดีขึ้น 

การศึกษาทางพิษวิทยาของทองหลาง

การศึกษาพิษเฉียบพลันของสารสกัดน้ำจากเปลือกทองหลางลาย ใบด่าง เมื่อทดสอบในหนูขาวเพศผู้สายพันธุ์ Wistar โดยสารป้อนสารสกัดด้วยน้ำจากทองหลางใบด่าง เพียงครั้งเดียว ในขนาด 500, 1000 และ 2000 mg/kg แก่หนู 3 กลุ่ม แล้วสังเกตผลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ชั่วโมง และสังเกตเป็นระยะต่อไปอีก 6 ชั่วโมง ของการได้รับสารทดสอบ ซึ่งผลการศึกษาพิษเฉียบพลันพบว่าไม่มีการตายของหนู และเมื่อให้สารสกัดน้ำจากเปลือกทองหลางใบด่าง ในขนาดสูงถึง 2000 mg/kg ก็ไม่มีหนูตายเช่นเดียวกัน และยังไม่พบอาการง่วงนอน ไม่มีผลต่ออัตราการหายใจ ไม่มีอาการพิษเกิดขึ้น ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของหนู และเนื้อเยื่อไม่เปลี่ยนแปลง โดยสารทดสอบที่ให้ทางปาก มีค่า LD 50 มากกว่า 1000 mg/kg ซึ่งแสดงว่ามีพิษในระดับต่ำ และมีความปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตามยังมีรายงานการศึกษาวิจัยความเป็นพิษบางฉบับ รายงานผลว่าเมล็ดของทองหลางลา มีสารบางชนิดที่ทำให้เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อลายของกบได้เมื่อใช้ในปริมาณสูง

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ทองหลางลาย เพราะมีสรรพคุณขับระดูของสตรี
  2. ผู้ป่วยโลหิตจางหรือผู้ที่มีเลือดน้อยไม่ควรใช้ทองหลางลาย
  3. ควรระวังการใช้ใบทองหลางลาย เพราะมีฤทธิ์เสพติดและกดประสาทส่วนกลาง ทั้งยังอาจทำให้อาเจียน
  4. การใช้ทองหลางลายเป็นสมุนไพรควรระมัดระวังเช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ ควรใช้ตามปริมาณที่กำหนดไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้มาก หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็กผู้ป่วยเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้ทองหลางลายเป็นยาสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ทองหลางลาย
  1. วิทยา บุญวรพัฒน์. “ทองบ้าน”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร ไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 256.
  2. วีณา เชิดบุญชาติ. 2543. ปลูกผักไทยได้ทั้งอาหารและยา. พิมพ์ครั้งแรก. สำนักพิมพ์บ้านและสวน. กรุงเทพมหานคร.
  3. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ทองบ้าน”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 364-366.
  4. วชิรพงศ์ หวลบุตตา. 2542. ไม้ต้นประดับ เล่ม 1-2. พิมพ์ครั้งแรก. สำนักพิมพ์บ้านและสวน. กรุงเทพมหานคร. 
  5. เอื้อมพร วีสมหมาย และปณิธาน แก้วดวงเทียน. 2552. ไม้ป่ายืนต้นของไทย 1. พิมพ์ครั้งที่ 2. เอช เอ็น กรุ๊ป จำกัด. กรุงเทพมหานคร.
  6.  Anupama, V, Narmadha R, Gopalakrishnan VK, Devaki K. Enzymatic alteration in the vital organs of streptozotocin diabetic rats treated with aqueous extract of Erythrina variegata bark. Int J Pharm Pharm Sci. 2012;4(1):134-147.
  7. Xiaoli L, Naili W, Sau WM,Chen ASC, Xinsheng Y. Four new isoflavonoids from the stem bark of Erythrina variegata. Chem Pharm Bull. 2006;54(4): 570-573.
  8. Zhang Y, Li X-L, Lai W-P, Chen B, Chow H-K, Wu C-F, et al. Anti-osteoporotic effect of Erythrina variegata L. in ovariectomized rats. J Ethnopharmacology. 2007; 109:165-169.
  9.  RahmanMZ,  Rahman  MS, KaisarA, HossainA, Rashid MA. Bioactive isoflavones from Erythrina variegata L. Turk J Pharm Sci. 2010;7(1): 21-28.
  10. Zhang Y, Li Q, Li X, Wan H-Y, Wong M-S. Erythrina variegata extract exerts osteoprotective effects by suppression of the process of bone resorption. British journal of nutrition. 2010;104: 965-971.